Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
16 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๔)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทำให้คน

เริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่าจะมีการ “เปลี่ยนยุค” หรือไม่

เช่น การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2550

ต่อมาวิกฤติก็เกิดในยุโรปเริ่มจากกรีซ ขยายไปไอร์แลนด์

ไปโปรตุเกส วันนี้ลามมาอิตาลี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่

อันดับ 3 ของยุโรป ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจบอกว่าปีหน้า

ยุโรปจะเผชิญหน้ากับวิกฤติสุด ๆ เมื่อปัญหาลามไปถึงฝรั่งเศส

และเยอรมนี 2 พี่เบิ้มของสหภาพยุโรป

นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว เราพบปรากฏการณ์บางอย่าง

ในทางการเมืองที่ไม่ค่อยเห็นบ่อย ๆ ในตะวันตกนั่นก็คือ

การที่วัยรุ่นเกิดความไม่พอใจ และลงมือก่อการจลาจล

โดยเริ่มในฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีการเผารถ

และทำลายทรัพย์สินในปารีสแล้วลามไปทั่วฝรั่งเศส มาปีนี้

วัยรุ่นอังกฤษก็ก่อการจลาจลเผารถ ปล้นสะดมในลอนดอน

และเมืองใหญ่ทั่วอังกฤษนี่ยังไม่นับที่มีการเปลี่ยนแปลงในตูนิเซีย

ในอียิปต์ที่ประท้วงจนมีการปราบปรามคนตายไป 850 ศพ

ในลิเบียเกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน

คนตายไปเท่าใดยังไม่มีใครนับศพ แต่คาดว่าตายเรือนหมื่น

ในซีเรียการประท้วงนำไปสู่การปราบปราม

คนตายไปกว่า 8,000 ศพแล้ว

สิ่งเหล่านี้ เป็นสัญญาณที่คนเริ่มถามกันแล้วว่า

“ยุคสมัย” กำลังเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะปราชญ์ตะวันตก

จำนวนหนึ่งกำลังพูดถึง “ประจิมอัสดง”

หรือในประเทศตะวันตก เช่น อเมริกาและยุโรปที่ครองโลก

มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เปรียบเหมือนอาทิตย์อัสดง

ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์ “บูรพาอุทัย”

คือประเทศในตะวันออกไกล เช่น จีน อินเดีย

เปรียบเสมือนอาทิตย์กำลังขึ้น หรืออาทิตย์อุทัย

บางคนเริ่มพูดถึง “บูรพาภิวัตน์” (Orientalization)

แทนที่โลกาภิวัตน์ โดยพวกนี้เห็นว่า ศตวรรษนี้

เป็นยุคของประเทศทางตะวันออก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน

จริงหรือไม่จริง ต้องเฝ้าดูกันต่อไป

แต่ปัญหาของการเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

สังคมแบบปัจเจกชนนิยม ที่เริ่มในตะวันตกมาตั้งแต่

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และถูกแผ่ขยายโดยประเทศตะวันตก

จนอาจกลายเป็นค่านิยมของโลกทั้งโลกไปแล้วนั้น

ในตัวของมันเองเริ่มแสดงให้เห็นปัญหา ดังปรากฏในอเมริกาและยุโรป

วันนี้ การที่เราหันกลับมาสำรวจของดี ๆ ของเราในบูรพทิศ

จึงเป็นสิ่งที่ไม่เพียงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

แต่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เรามีดีในบูรพารยธรรม

อาจเป็นสิ่งที่ไปอุดรูรั่วและซ่อมแซมซากปรักหักพังของตะวันตก

ได้ธรรมาภิบาลของพุทธที่เรา-ท่านกำลังช่วยกันศึกษานี้

อาจเป็นทางรอดของประชาธิปไตยเสรีนิยม แบบตะวันตก

ซึ่งเห็นชัด ๆ ว่า กำลังมีปัญหาได้! ผมจึงใคร่เชิญชวนนักคิดทั้งหลาย

ให้หันมาสำรวจ สิ่งดี ๆ ในอารยธรรมตะวันออก

แล้วช่วยกันนำเสนอความคิดเห็นดังกล่าวให้แพร่หลาย

เหมือนกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำเสนอแนวคิด

“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) และวันนี้

กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

( ในวันที่ 18-19 ตุลาคม นี้

สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ร่วมกันจัดสัมมนาระหว่างประเทศเรื่องนี้ โดยมีนักวิชาการชั้นนำ

จากทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมเสนอเอกสารและถกเถียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” กันหลายสิบรายแล้ว

ใครสนใจติดต่อสถาบันพระปกเกล้าได้ครับ )

พูดเกริ่นมายาว แต่จะขอสำรวจหลักธรรมาภิบาล

ตามหลักพระพุทธศาสนาต่อครับ

วันนี้จะขอพูดถึงหลักธรรมาภิบาลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ใน โขมทุสสสูตร มีความตอนหนึ่งว่า

เนสา สภา ยตฺถ น สนฺโต สนฺโต น เต เย น มทนฺติ ธมฺมํ

แปลว่า “ที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ (คนดี) ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา

เหล่าชนใดไม่พูดคำที่เป็นธรรม เหล่าชนนั้นไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ”

ที่มาของพุทธพจน์นี้ก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ประทับ

อยู่ที่โขมทุสสนิคมของเจ้าศากยะ แคว้นสักกะ

ทรงตรวจดูผู้ควรจะโปรดในวันนั้น ก็พบว่า

ควรโปรดพราหมณ์ และคหบดีที่มาประชุมกันในสภา

จึงเสด็จไปบิณฑบาต ฝนเกิดตก จึงทรงเข้าไปหลบฝนในสภา

โดยทรงแกล้งละเมิดกฎของสภาโดยทรงพระดำเนิน

เข้าไปกลางสภาที่กำลังประชุม โดยมิได้เข้าทางหลังหรือข้าง

ทำให้การประชุมสภาต้องหยุดลง และมีคนแสดงความไม่พอใจ

และถามพระพุทธองค์เชิงประชดประชันว่า

“คนพวกไหน ชื่อว่าสมณะโล้น

คนพวกไหน รู้จักสภาธรรม”

เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่รู้จักธรรมเนียมของสภา

นี่เองจึงเป็นที่มาของพุทธพจน์ตอบไป ซึ่งเป็นเหตุให้พวกพราหมณ์

และคหบดีสรรเสริญว่า พุทธภาษิต ชัดแจ้งไพเราะยิ่งนัก

เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด

บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด

แล้วชวนกันประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก

ท่านศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์ ทองบุญ อธิบายไว้ในบทความ

“ศึกษาวิเคราะห์คำว่าสภาในพระไตรปิฎก :

กรณีศึกษาสภาธรรมตามแนวพุทธกับสภาไทย”

ไว้อย่างน่าสนใจมากว่า พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า

จะเป็น “สภา” ได้ต้องเป็นที่ประชุมของ สัตบุรุษ

สัตบุรุษคือคนดีนั้นต้องมี สัปปุริสธรรม คือธรรมของคนดี 7 ประการ

คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน

และรู้จักบุคคลยิ่งกว่านั้นในสภาของสัตบุรุษนั้น

ต้องพูดคำที่ “เป็นธรรม” ซึ่งหมายถึงวาจาสุภาษิต

ที่มีองค์ประกอบ 5 คือ พูดจริง พูดอ่อนหวาน พูดถูกกาล

พูดเป็นประโยชน์ และพูดด้วยมีเมตตาจิต

นอกจากนั้น หากเราย้อนไปดูธรรมที่พระพุทธองค์

แสดงแก่เจ้าวัชชีผู้ปกครองแคว้นวัชชีครั้งแรก

โดยสามัคคีธรรมที่เรียกว่า ราชอปริหานิยธรรม

หลักการเพื่อความเจริญของผู้ปกครอง

บางทีก็เรียกว่า วัชชีธรรม 7 ประการคือ

1.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

2.เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม

ก็พร้อมเพรียงกันเลิกและพร้อมเพรียงกันทำกิจอันพึงทำ

3.ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้

ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม

4.เคารพนับถือผู้ใหญ่ที่ชุมชนชาววัชชีนับถือ รับฟังคำของท่านเหล่านั้น

5.ปกป้องสตรีและเด็ก มิให้ถูกข่มเหงรังแก

6.เคารพบูชาเจดีย์และสิ่งบูชาของชาววัชชีทั้งภายในและภายนอก

ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี

7.ให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกันอันชอบธรรม แก่พระอรหันต์

และบรรพชิตทั้งปวง เชื้อเชิญท่านที่ยังไม่มา สู่แคว้นวัชชีให้มา

ที่มาแล้ว ก็ให้อยู่โดยผาสุก


ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมาภิบาลสำหรับการประชุมและ

การบริหารบ้านเมืองให้เจริญที่ทรงสอนมากว่า 2,500 ปีแล้ว

ยังทันสมัยอยู่เลยครับ!ฝรั่งเพิ่งมาพูดถึงการดูแลสตรีและเด็ก

เมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง แต่พระพุทธเจ้า

พูดมากว่า 2,500 ปีแล้วนี่แหละคือ ปัญญาแห่งบูรพทิศ

ลองคิดดูว่า ถ้าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาไทย ถือตามนี้

สภาไทยจะเป็นสภาตัวอย่างของโลกเลยเชียวแหละ!.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 14 กันยายน 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=163147



Create Date : 16 กันยายน 2554
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:15:03 น. 1 comments
Counter : 927 Pageviews.

 


โดย: พู่ (เพชรพญานาค ) วันที่: 7 ตุลาคม 2554 เวลา:13:18:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.