Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
15 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
10 อันดับหนังที่ชอบที่สุดประจำปี 2011 ของข้าพเจ้า...

หนังปี 2011 ที่อยากดู...แต่ก็ยังไม่ได้ดู: The Artist, We Need to Talk About Kevin, The Help, 50/50, Take Shelter, Shame, A Dangerous Method, Hugo, The Descendants


ห้าหนัง Runner-up ...

15. The Adventures of Tintin

14. The Flowers of War

13. Warrior

12. Midnight in Paris

11. Harry Potter and the Deadly Hallows: Part 2


...


10. Contagion



น่าเสียดายที่เรายังเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น"Traffic แห่งหนังโรคระบาด"ได้ไม่เต็มปากนัก เพราะความขาดแคลนตัวละครที่มีมิติตื้นลึกบางหนามากพอแก่การสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดู

กระนั้น หากมองข้ามในส่วนของตัวละครอันเป็นข้อด้อยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของหนังเรื่องนี้ไปแล้ว หนังเรื่องนี้ก็มีจุดแข็งอีกหลายข้อที่ทำให้ฉายา“Traffic แห่งหนังโรคระบาด”ไม่ใช่อะไรที่เกินตัวไปนัก

โดยเฉพาะในส่วนของความสมจริงของหนัง ทั้งในส่วนของข้อมูลทางวิชาการของหนังที่ได้กรมอนามัยโลกมาคุมความถูกต้องให้เองกับมือและการกำกับของผกก. Steven Soderbergh ที่สร้างสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงจากบทของ Scott Z. Burns ได้อย่างสมจริงราวกับเป็นภาพเหตุการณ์จริงยังไงอย่างงั้น


...


9. X-Men: First Class



หลังการจากไปของผู้สร้างรากฐานหนังแฟรนไชส์ X-Men เอาไว้อย่างมั่นคงด้วยหนัง X-Men สองภาคแรกอย่างผกก. Bryan Singer ทิศทางของแฟรนไชส์หนังซูเปอร์ฮีโร่มนุษย์กลายพันธุ์ชุดนี้ก็ดูจะดิ่งลงเหวลึกลงเรื่อยๆจนอาจถึงขั้นไม่มีสิทธิ์ได้เห็นเดือนเห็นตะวันอีกด้วยน้ำมือของหนัง X-Men สองภาคต่อมาจากการกำกับของผกก. Brett Ratner (X-Men: The Last Stand) และผกก. Gavid Hood (X-Men: Origins - Wolverine) ที่เพิ่มปริมาณฉากแอ็คชั่นขึ้นจากสองภาคแรกแต่กลับขาดพล็อตเรื่องที่ชาญฉลาดและกึ๋นในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ทำให้หนังสองภาคแรก(รวมถึงซีรีส์หนังสือการ์ตูน X-Men เอง)เป็นที่จดจำไปอย่างน่าใจหาย

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ปั้นแฟรนไชส์นี้มากับมืออย่าง Singer ที่จะต้องกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการสร้างพร้อมกับดึงตัวผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ไฟแรงผู้มีสไตล์อันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความขบถ แหวกแนวของวัยรุ่นและความจริงจัง กร้านโลกของผู้ใหญ่อย่างผกก. Matthew Vaughn (Layer Cake, Stardust, และ Kick-Ass) ให้มาช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ในหนังที่เป็นดั่งจุดเริ่มต้นใหม่อันสดใสของแฟรนไชส์นี้ในนามของ X-Men: First Class

การผสานเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเข้ากับเรื่องราวการก่อตั้งและความขัดแย้งของเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ได้อย่างแนบเนียน,เหล่าตัวละครมนุษย์กลายพันธุ์ที่ได้รับการเขียนมาอย่างดี ทุกตัวละครล้วนมีปมและอุดมการณ์เป็นของตัวเองชัดเจน,และทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ Michael Fassbender ผู้แจ้งเกิดไปเต็มๆกับการแสดงอันข้นขลักด้วยความคลั่งแค้นและความเศร้าโศกของ Magneto

ส่วนตัวแล้วยังคงมองว่า X2 คือหนังภาคที่ดีที่สุดในแฟรนไชส์หนังมนุษย์กลายพันธุ์ชุดนี้ แต่ก็จะไม่ปฏิเสธเลยหากมีใครมาบอกว่า X-Men: First Class คือหนัง X-Men ภาคที่ซื่อตรงต่อซีรีส์หนังสือการ์ตูน X-Men ต้นฉบับมากที่สุด


...


8. War Horse



องค์ประกอบความเป็นอนุรักษ์นิยม เช่นบรรยากาศบ้านไร่แถบชนบทที่ชวนให้นึกถึงหนังคลาสสิกของผกก. John Ford ที่ไม่ใช่หนังคาวบอยอย่าง How Green was My Valley, The Quiet Man หรือฉากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ชวนให้นึกถึงหนังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง(ที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีการสร้างกันแล้ว)คลาสสิกอย่าง All Quiet on the Western Front, Paths of Glory

ผนวกเข้ากับลายเซ็นของ Spielberg ในการเนรมิตฉากสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ถือได้ว่าน้องๆบรรยากาศวัน D-Day ใน Saving Private Ryan, ถ่ายทอดความยากลำบากของสงครามผ่านสายตาของม้าศึกตัวหนึ่งที่ชวนให้นึกถึงความทารุณของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านสายตาของชาวยิวใน Schindler’s List, และถักถอเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มชาวไร่กับอาชาคู่ใจที่ดูๆไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากความสัมพันธ์ของเด็กชายกับเอเลี่ยนพลัดหลงใน E.T.: The Extra-Terrestrial

แม้ว่าจะยังมีบางองค์ประกอบที่ประดัดประเดิดไปบ้าง(โดยเฉพาะในส่วนของสายสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มกับอาชาที่ออกมาล้นๆ ไม่สมจริงนัก) แต่โดยรวมแล้ว War Horse ก็เป็นหนังของ Spielberg ที่กล่มกล่อม ลงตัวมากเรื่องหนึ่ง(อย่างน้อยก็ลงตัวกว่า The Adventures of Tintin ที่เรื่องนั้นยังหลงเหลือข้อกำจัดของหนังสือการ์ตูนต้นฉบับอยู่เยอะเกินไปหน่อย)

และก็คงจะไม่มีใครปฎิเสธว่าไม่มีใครในฮอลลีวู้ดยุคนี้ที่มีความสามารถ(และอำนาจบารมี)มากพอแก่การทำหนังแนวที่ถือได้ว่า"เชย"แล้วในยุคนี้ให้ออกมา"ดี"ได้มากไปกว่า"พ่อมดฮอลลีวู้ด"อย่าง Spielberg แล้ว


...


7. Mission: Impossible – Ghost Protocol



การเลือกผู้กำกับหนังแอนิเมชั่นชื่อดังที่ไม่เคยจับงานหนังคนแสดงแบบจริงๆจังๆมาก่อนอย่าง Brad Bird (The Iron Giant, The Incredibles, Ratatouille) ให้มากำกับหนังภาคที่สี่ของแฟรนไชส์หนังสายลับที่เปลี่ยนตัวผู้กำกับทุกภาคจนเป็นธรรมเนียมนับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ...พอๆกับที่เป็นตัวเลือกที่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับใครที่ได้ไปดูหนังภาคนี้มาแล้ว เพราะ Ghost Protocol อาจถือได้ว่าเป็น Mission: Impossible ภาคที่มีฉากแอ็คชั่นที่มโหฬาร ระเบิดระเบ้อมากที่สุดเท่าที่หนังชุดนี้เคยมีมาเลยก็ว่าได้

ฉากแอ็คชั่นจากฝีมือการกำกับของผกก. Bird นั่นมีความลื่นไหล เปี่ยมไปด้วยกึ๋นและความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่คนดูไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักจากหนังแอ็คชั่นทั่วไป พร้อมกับมีกลิ่นอายความเป็นหนังแอนิเมชั่นแอบแฝงอยู่ชนิดที่ใครที่เคยดู The Incredibles มาก่อนคงจะสัมผัสได้ถึงความคล้ายคลึงบางอย่าง ในขณะเดียวกัน ผกก. Bird ก็สามารถควบคุมระดับความโม้ของฉากแอ็คชั่นของเขาให้อยู่เกณฑ์ที่พอดี คือถึงจะโม้แต่ก็ไม่ได้ดูเป็นการ์ตูนมากเกินรับ(ต่างจากภาคสองและบางช่วงของภาคแรก) รวมถึงฉากปล่อยมุขและฉากดราม่าต่างๆที่มีเพียงไว้พอแค่ให้เป็นน้ำจิ้มให้คนดูได้แก้เลี่ยนจากฉากแอ็คชั่นเป็นครั้งคราว(ต่างจากภาคสามที่ดราม่าเยอะแต่ยังเขย่าให้เข้ากับความเป็นแอ็คชั่นได้ไม่ลงตัวเท่าที่ควร)

ฉะนั้นสบายใจหายห่วงได้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่เป็นแค่หนังฉายแปะหลังตัวอย่างหกนาทีของ The Dark Kngiht Rises ในโรง IMAX เพราะแม้แต่บรรดานักวิจารณ์ยังยกให้ Ghost Protocol เป็นหนังภาคที่ลงตัวกล่มกล่อมที่สุดและดีที่สุดของแฟรนไชส์หนังสายลับชุดนี้เลย


...


6. Rise of the Planet of the Apes



คล้ายๆกับกรณีของ X-Men: First Class … Rise of the Planet of the Apes คือหนังที่คืนชีวิตให้กับแฟรนไชส์หนัง Sci-Fi ที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่(แต่ก็หลงหลุมไปอย่างอเนจอนาถเพราะ Planet of the Apes ฉบับ Re-imagine เสียจนลูกไม้หล่นไปไกลต้นของผกก. Tim Burton) ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง

ต้องขอบคุณการกำกับที่เอาอยู่หมัดทั้งในส่วนของดราม่าตอนต้นและแอ็คชั่นตอนท้ายของผกก. Rupert Wyatt, บทที่มีสเต็ปการดำเนินเรื่องที่ง่ายแต่ก็ใช้”ลิง”วิพากษ์วิจารณ์”คน”ได้อย่างเจ็บแสบไม่แพ้ Planet of the Apes ต้นฉบับ,และอีกหนึ่งการแสดงโมชั่นแคปเจอร์อันยอดเยี่ยมของ Andy Serkis ในบทว่าที่จักรพรรดิแห่งพิภพวานร Caesar

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็น Reboot หรือภาคต้น(หรืออาจจะทั้งคู่?)ของแฟรนไชส์พิภพวานร แต่ Rise of the Planet of Apes ก็คือหนังที่คงเอาไว้ซึ่งจิตวิญญาณความเป็นพิภพวานรเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ


...


5. The Ides of March



คนเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักการเมืองก็รู้ได้ว่าเกมการเมืองไม่ใช่เกมที่จะเล่นกับแบบซื่อๆ แต่เป็นเกมที่เล่นกันด้วยเล่ห์กลฉ้อฉลสกปรก

The Ides of March ของผกก. George Clooney คือหนังที่หยิบเอาเล่ห์กลเหล่านั้นมาเปิดโปงให้คนดูได้เห็นกันแบบเข้มข้น จะๆลูกตา พร้อมด้วยพลังดาราของทีมนักแสดงรวมดาวนำโดย Ryan Gosling ในอีกหนึ่งบทบาทการแสดงที่ยอดเยี่ยมประจำปี 2011 ของเขาและเหล่านักแสดงสมทบอย่าง Philip Seymour Hoffman, Paul Giamatti, Marisa Tomei, และตัว Clooney เองที่ต่างก็ร่ายโมโนล็อกเฉือดเฉือนกันได้อย่างน่าจดจำ สมศักดิ์ศรีความเป็นนักแสดงดีกรีออสการ์/เข้าชิงออสการ์

คอหนังการเมืองห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง


...


4. The Tree of Life



หกปีหลังจาก The New World ผกก. Terrence Malick ผู้กำกับจอมอภิปรัชญาแห่งยุคได้หวนคืนสู่จอเงินเป็นครั้งที่ห้ากับผลงานชิ้นที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในแง่ของสเกลและสโคปการเล่าเรื่องพอๆกับที่อาจจะเป็นผลงานชิ้นที่เป็นส่วนตัวที่สุดของเขาจนสามารถคว้ารางวัลสูงสุดของเทสกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ไปครอง

การฉายภาพจุดกำเนิดของโลกและจักรวาลแบบเดียวกับในพระธรรมปฐมการ (Book of Genesis) สู่เรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางอเมริกันยุค 50’s ที่เปรียบได้กับเป็นการนำเรื่องราวในพระธรรมโยบ (The Book of Job) มาบอกเล่าใหม่(แบบเดียวกับหนังเรื่อง A Serious Man ของพี่น้อง Coen) เมื่อลูกชายคนโตของครอบครัวนี้(รับบทได้อย่างกระแทกใจโดยนักแสดงเด็กหน้าใหม่ Hunter McCracken) เริ่มตั้งคำถามกับบิดา(ไม่ว่าบิดาในที่นี้จะหมายถึงพ่อแท้ๆของเขา (Brad Pitt กับหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของเขา)หรือพระเจ้าก็ตาม)ผู้เดี๋ยวมีเมตตา เดี๋ยวทารุณของเขา

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสายธารชีวิตที่ผกก. Malick นำมานำเสนออย่างสวยงาม ประณีตมีจิตวิญญาณในแบบฉบับของเขา

แน่นอนว่า The Tree of Life ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน แต่ในขณะเดียวกันมันก็คือ“ประสบการณ์”ที่ไม่ควรค่าแก่การมองข้าม


...


3. The Girl with the Dragon Tattoo



The Girl with the Dragon Tattoo ฉบับหนังสวีเดนเป็นหนังรหัสคดีสืบสวนสอบสวนที่ดีมากๆ...แต่ The Girl with the Dragon Tattoo ฉบับอเมริกันรีเมคของผกก. David Fincher คือหนังของ David Fincher ที่ดีมากๆ เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันเกินไปเสียจนไม่อยากเอามาเทียบกันให้เจ็บช้ำน้ำใจใคร

ส่วนตัวแล้วยังมีใจให้หนังสวีเดนต้นฉบับอยู่เสมอ เพียงแต่พอได้มาดูฉบับอเมริกันรีเมคแล้วก็อดเทใจให้กับการกำกับของผกก. David Fincher ในหนังเรื่องนี้ที่มันท็อปฟอร์มเสียจน The Social Network ที่นักวิจารณ์จากทั่วสารทิศยกย่อง(a.k.a. อวย)ให้เป็นงานท็อปฟอร์มของเจ้าตัวเมื่อปีที่แล้วดูหงิมๆลงถนัดตาด้วยเสียไม่ได้ หายคิดถึงเสียทีกับสไตล์การเล่าเรื่องอันสวิงสวายแต่พร้อมเอาตายได้ทุกเมื่อของผกก. Fincher แต่ครั้งกาลงานมาสเตอร์พีซของเจ้าตัวอย่าง Fight Club

รวมถึงการแสดงของแม่สาว Rooney Mara (a.k.a. แฟนเก่า Mark Zuckerberg ใน The Social Network) ที่แบกรับรอยสักมังกรเอาไว้ได้อย่างแตกต่างแต่ก็น่าประทับใจไม่แพ้รุ่นพี่ Noomi Rapace ในหนังสวีเดนต้นฉบับ

แต่ที่ชอบยิ่งไปกว่านั้นคือความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองของผกก. Fincher ความกล้าที่จะตัด,ปรับเปลี่ยน,และเพิ่มรายละเอียดต่างๆ(รวมถึงดีกรีความแรง)ของ The Girl with the Dragon Tattoo ให้เป็นของๆเขาเองแบบไม่กลัวแฟนานุแฟนของนิยายต้นฉบับและ/หรือต้นฉบับหนังสวีเดนรุมสับ ทำให้เราคนดูสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่คือหนังของ David Fincher เสียยิ่งกว่าพูดว่านี่คือหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายหรือหนังรีเมคเสียอีก

เป็นถึงอันดับสาม(ในใจ)ประจำปี 2011 ทั้งทีก็ต้องไม่ใช่หนังอเมริกันรีเมคแบบฉากต่อฉาก(เช่น The Departed, Funny Games U.S.) ที่ได้ผู้กำกับมือดีมาทำให้เองกับมือจนออกมารูปสวยแต่รสชาติจำเจแน่นอน


...


2. Tinker Tailor Soldier Spy



เชื่อขนมตัวเองกินได้เลยว่าต่อให้หนังเรื่องนี้ได้ผู้กำกับที่เป็นคนอังกฤษแท้ๆมาทำก็ยังยากที่จะทำออกมาให้ดีเท่ากับที่ผู้กำกับสวีเดนอย่าง Tomas Alfredson ทำไว้ได้

ผกก. Alfredson ใช้อาวุธลับของคนทำหนังสวีเดนแบบเดียวกับที่เขาเคยใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันพิลึกพิลั่นระหว่างเด็กหนุ่มเก็บกดกับแวมไพร์สาว(?)ท่ามกลางบรรยากาศหิมะตกใน Let the Right One In นั่นคือความเงียบงันและบรรยากาศอันเย็นยะเยือกมาปรับใช้ในการเล่าเรื่องราวที่เปรียบได้กับเป็นเกมหมากรุกท่ามกลางสมรภูมิ(สงคราม)เย็นระหว่างสองขั้วอำนาจแห่งโลกตะวันออก(รัสเซีย)กับโลกตะวันตก(อังกฤษ)ที่มีเหล่าสายลับเป็นตัวหมากมีชีวิตนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของหนังเรื่องนี้ก็คือทีมนักแสดงที่รวมดาวหัวหอกของวงการหนังเกาะอังกฤษในขณะนี้จนเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล ทั้ง Gary Oldman, Colin Firth, John Hurt, Tom Hardy, Benedict Cumberbatch, Mark Strong, Toby Jones, และ Ciaran Hinds ซึ่งนักแสดงทุกคนล้วนมอบการแสดงที่น่าเชื่อถือในบทตัวเอง แต่ก็แน่นอนว่าคนที่ได้รับการจับตามองจากคนดูมากกว่าใครเพื่อนย่อมต้องเป็น Gary Oldman ผู้มอบการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยความนิ่งเงียบ สุขุมนุ่มลึกในแบบที่หัวกะทิขององค์กรสายลับพึงเป็นในบทตัวเอกของเรื่อง George Smiley

ขอออกตัวเลยว่านี่คือหนึ่งในหนังสายลับที่สมจริงที่สุดเท่าที่ตัวเองเคยดูมา ชอบมาก ควรพลาดสำหรับใครก็ตามที่หวังไปดูหนังสายลับอย่าง James Bond, Mission: Impossible, The Bourne แต่ห้ามพลาดสำหรับใครก็ตามที่ต้องการหนังสายลับอารมณ์ espionage ยุคคุณพ่อยังหนุ่มและ/หรือหนังสายลับที่มีความสมจริงและจริงจังสูงปรี๊ดอย่าง Munich, Syriana, The Good Shepherd


...


1. Drive



นับว่า Ryan Gosling ตาแหลมมากที่เลือกผู้กำกับชาวเดนมาร์กที่กำลังร้อนแรงในวงการหนังต่างประเทศในขณะนี้อย่าง Nicolas Winding Refn มาคุมบังเหียนโปรเจ็กต์หนังแอ็คชั่นที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามหนังโชว์พาวประจำปี 2011 ของ Gosling (อีกสองเรื่องคือ Crazy, Stupid, Love และ The Ides of March) เพราะชื่อชั้นของตัวผกก. Refn ที่เหมือนเป็นตัวรับประกันอย่างดีว่าถึงนี่จะเป็นโปรเจ็กต์หนังใต้ร่มเงาฮอลลีวู้ดเรื่อง แต่ก็จะไม่มีทางถูกแทรกแทรงการกำกับศิลป์โดยฮอลลีวู้ดจนผลลัพธ์ออกมากลายเป็นแค่หนังแอ็คชั่นสเตอริโอไทป์อย่างแน่นอน

การใช้ Tracking shot ที่เหมือนกับเป็นดวงตาของพระเจ้า(คนดู)ที่จับจ้องสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในหนัง,การใช้ฉากสโลว์โมชั่นคลอกับดนตรีประกอบแนวอิเล็กโทรป๊อปที่ค่อยๆบิวต์อารมณ์ในแต่ละฉากของหนัง ไม่ว่าจะอารมณ์โรแมนติกเหงาๆประหนึ่ง In the Mood of Love ของหว่องกาไวในครึ่งแรกของหนังที่คู่พระ-นางของเรื่องได้มาพานพบกันในฐานะเพื่อนร่วมอพาร์ทเมนท์ หรืออารมณ์ตึงเครียด กดดันตอนที่ตัวหนังเปลี่ยนแนวเรื่องจากความโรแมนติกสู่ความเป็น Action - Thriller อย่างเต็มตัวในครึ่งหลังของหนัง,

และผลงานของฝั่งทีมนักแสดงโดยเฉพาะการแสดงขรึมๆของ Ryan Gosling ที่ชวนให้นึกถึงพระเอกหนังแอ็คชั่นแนวพูดน้อยต่อยหนักยุคเก่าอย่าง Steve McQueen, Charles Bronson และการผลิกบทบาทเป็นตัวร้ายครั้งแรกได้อย่างน่าดูชมถึงขั้นมีสิทธิ์ลุ้นออสการ์ของ Albert Brooks

ไม่ว่าจะรู้ตัวเองหรือไม่ก็ตาม...แต่ Drive คือหนังที่เท่ในทุกถ่วงท่า

...และเป็นหนังที่เท่ที่สุดของปี 2011 อย่างไร้ข้อกังขา


Create Date : 15 มกราคม 2555
Last Update : 15 มกราคม 2555 12:06:00 น. 3 comments
Counter : 5118 Pageviews.

 
ว้าว มีแต่หนังแจ่มๆ เลยครับ เออออห่อหมกกับโผนี้ด้วยทุกประการจ้า


โดย: Nanatakara วันที่: 15 มกราคม 2555 เวลา:21:15:35 น.  

 
Gclubclick ศูนย์รวมคาสิโนดัง พนันบอล แค่คลิกเดียวที่มีให้ท่านได้ร่วมสนุกกับเราไม่ว่าจะเป็นคาสิโนยอดนิยม และคาสิโนใหม่ ๆ เช่น GClub , Royal1688 , Ruby888 , Holiday-Palace , Genting-Crown ,Reddragon88 ท่านจะได้สัมผัสบรรยากาศจริง sภายในคาสิโนจริงทุกเกมส์การ เล่นตื่น เต้นเราใจ และนอกจากคาสิโนคุณภาพที่เราคัดสรรมาให้ ท่าน แล้วทาง
Gclubclick.com เองยังมี SportBetting Onlineให้ท่านได้เลือกเดิมพนันกีฬาโปรด ที่ท่านชื่นชอบอย่างจุใจ อาทิ เช่น SBOBET ,IBCBET , WinningFT , MMMBET ท่าน สามารถเปิดเล่นกับเราได้แล้ววันนี้ ทางเรามีพนักงาน Call Center ไว้คอยบริการท่านด้วยความเป็นกับเองประทับ ในตลอด 24 ชม.
ติดต่อสอบถาม 24 ชัวโมง
081-122-5019 , 081-122-4019 , 080-559-7275
//www.Gclubclick.com
//gclubclick.blogspot.com/


โดย: gclubclick IP: 183.89.76.240 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:17:29:11 น.  

 
แนะนำให้ดู 50/50 นะคะ สนุกดี ได้ข้อคิดเยอะแยะเลย


โดย: DaRaDoRa วันที่: 11 พฤษภาคม 2555 เวลา:8:59:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Apple101
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add Apple101's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.