Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ผู้นำทางการเมือง

กลุ่มชน ไม่ว่าจะมีขนาดใดก็ตามย่อมจะต้องมีความต้องการ “ผู้นำ” ในทุกสถานการณ์ ซึ่งหากปราศจากผู้นำแล้ว กลุ่มชนนั้นย่อมขาดการประสานงานซึ่งกันและกัน และไม่สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้นำ คือผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ผลสำเร็จที่ดี (กาญจน์ เรืองมนตรี, //www.edu.msu.ac.th) ผลจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นที่ชี้วัดผลของ “ภาวะผู้นำ” ทั้งนี้ผู้นำที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง หรือมีชื่อเสียงที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วคนทั่วไปรู้จัก แต่เขาจะต้องเป็นผู้มีความสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามอาจจะกล่าวได้ว่า ภาวะผู้นำนั้นสามารถวัดได้ด้วยผลที่เกิดจากการนำ ไม่ได้วัดด้วยตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงค่าของคนก็ต้องอยู่ที่ผลของงาน ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นคนของใคร ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำ มีภาวะผู้นำจะต้องเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง และต้องแสดงบทบาทผู้นำอย่างถูกกาละเทศ เป็นที่เชื่อกันว่า ผู้นำ เป็นบุคลิกภาพที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ดังเช่น ฮันนิบาล เป็นผู้นำที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในขณะที่มีอายุเพียง ๒๐ ปี หรือ นโปเลียนมหาราช ได้รับความสำเร็จสูงสุดจนถึงเป็นจักรพรรดิเมื่อพระชนมายุเพียง ๓๖ พระชันษา (ประมาณ อดิเรกสาร, ๒๕๓๙ : ๑)

ผู้นำทางการเมือง

ผู้นำทางการเมือง (Political Leaders) คือ บุคคลที่ถือครองตำแหน่งที่เด่นที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นบุคคลที่มีอำนาจ และอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองอย่างแท้จริง

ความเป็นผู้นำย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ "สถานการณ์" เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความเป็นผู้นำของแต่ละคนเปลี่ยนไป ผู้นำได้รับการยอมรับต่างกันตามเวลา ดังนั้น ความเป็นผู้นำมิใช่จะดำรงอยู่ได้ตลอดกาล เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้นำที่มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งย่อมเป็นที่พึงประสงค์

พระธรรมปิฎก (๒๕๔๗) เสนอแนวคิดในเรื่องคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่ดี มีดังนี้ คือ
๑. รู้หลักการ
๒. รู้จุดหมาย
๓. รู้ตน
๔. รู้ประมาณ
๕. รู้กาล
๖. รู้ชุมชน
๗. รู้บุคคล

นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวมาแล้ว พระธรรมปิฎกยังมีความเห็นต่อว่า ผู้นำต้องมีพรหมวิหาร ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึงผู้นำสำคัญคนหนึ่งของโลก คือ ติโต แห่งยูโกสลาเวีย ว่า “…มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คาดไม่ถึงในตัวเขา ความคิดเห็นที่กว้างขวางอย่างประหลาด ความอิสระในความคิดที่เห็นได้ชัด อารมณ์ที่เย็นอยู่เสมอ ความชื่นชมอย่างไม่อับอายในความสุขพื้น ๆ ของชีวิตตามธรรมชาติ เป็นคนขี้อายในการติดต่อกับผู้อื่น แต่ก็มีจิตใจเป็นมิตรและชอบสังสรรค์ครึกครื้น อารมณ์แรง บางครั้งก็โมโหขึงขัง บางครั้งชอบที่จะแสดงโอ้อวด ความเห็นใจผู้อื่นและใจกว้าง ซึ่งเขาแสดงออกเล็ก ๆ น้อย ๆ ความพร้อมอย่างน่าประหลาดที่จะมองปัญหาในด้านต่าง ๆ และท้ายที่สุดความภูมิใจในชาติที่รุนแรงอันฝังลึกอยู่ในสันดาน...” (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ๒๕๔๔:ก-ข)

ติโต เป็นผู้นำที่ทำให้ยูโกสลาเวีย ซึ่งประกอบด้วย คนชาติต่าง ๆ ที่แตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ กลับมารวมกันอย่างเป็นปึกแผ่น ในยามวิกฤต สามารถรักษาความสมบูรณ์ และเพิ่มพูนความเจริญตลอดชีวิตของเขา เมื่อสิ้นชีวิต (มีสิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี) ในปี ๒๕๒๓ ประเทศยูโกสลาเวีย ก็ค่อย ๆ สลายลงจนกระทั่งมีสภาพแตกแยก สลายลงจนยากที่จะแก้ไขได้ดังที่เห็นในทุกวันนี้

จากพระราชนิพนธ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงบารมีอันแรงกล้าของผู้นำที่มีความเพียบพร้อมในการดึงดูดรวมศูนย์น้ำใจของประชาชน ทั้งประเทศ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้นำที่สำคัญของโลกในอดีตก็มีอยู่หลายท่านที่ควรนำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างเด่นชัดกับผู้นำในสังคมไทย เช่น จอมจักรพรรดินโปเลียน ประธานาธิบดีลินคอร์น เชอร์ชิลส์ ฮิตเลอร์ และผู้นำในเอเชีย เช่น เมาเซตุง เป็นต้น ส่วนผู้นำประเทศของไทย ในยุคสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตย และผู้นำสำคัญที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีหลายท่าน เช่น
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการบริหารประเทศ

บุคลิกของความเป็นผู้นำที่สำคัญของโลกที่มีลักษณะดีเด่น เช่น นโปเลียน โบนาปาร์ต อดีตจักรพรรดิของฝรั่งเศส เป็นผู้นำที่เก่งกล้าสามารถที่สุดในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การรบของนโปเลียน จะถูกศึกษาไปอีกนานแสนนาน แต่เรื่องของนโปเลียน ไม่ใช่มีเพียงแต่การรบเท่านั้น พระองค์ยังมีความสามารถและผลงานดีด้านอื่นอีกมาก ชีวิตของนโปเลียนและราชวงศ์ รวมทั้งหลานของพระองค์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ได้เป็นจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ เป็นเรื่องราวชีวิตที่ยิ่งใหญ่ การศึกษาความเป็นผู้นำของ นโปเลียน จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจผู้นำการเมืองโดยทั่ว ๆ ไป

อับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศสหรัฐอเมริกันเท่านั้น แต่รู้จักดีไปทั่วโลกแม้เขาจะถึงแก่อสัญกรรมไปกว่า ๑๐๐ ปี แล้วก็ตาม ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักกันดีมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักรบทั้งสิ้น เช่น นโปเลียน เจงกีสข่าน แต่อับราฮัม ลินคอร์น ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพราะคุณความดีของเขา ซึ่งคุณธรรมสูงส่งที่มีอยู่ในตัวเขานั้น ไม่ปรากฏว่าเขาได้รับการอบรมมาจากครอบครัว หรือโรงเรียนเป็นพิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นผู้นำคนหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศในเวลาที่ชาติของเขาประสบปัญหาหนักหน่วงแทบจะรักษาเอกราชของชาติไว้ไม่ได้ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นผู้นำคนหนึ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวีรบุรุษของศตวรรษที่ ๒๐ เพราะตัวเขาเองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้อังกฤษรอดพ้นจากเงื้อมมือของฮิตเลอร์ และสามารถทำให้นาซีเยอรมัน ประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในที่สุด จึงถือว่า เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นผู้นำที่มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของอังกฤษ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชีวิตของฮิตเลอร์ เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษา เป็นเรื่องราวที่ตั้งแต่ต้นจนเขาจบชีวิตลงนั้นได้สร้างความสั่นสะเทือนแก่คนเยอรมันทั้งชาติ คนยุโรปทั้งหมด หรือจะรวมทุกชาติในโลกก็ว่าได้ ที่ต้องกระทบกระเทือนหรือได้รับความเดือดร้อน จากการเป็นผู้นำของเขา คนในโลกจำนวนหลายสิบล้านคนต้องสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน เกิดความอดอยากซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการสู้รบ ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตอย่างทารุณ โดยเฉพาะชาวยิว ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ทรัพย์สินที่เสียหายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นมากมายเกินกว่าที่จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขถ้าจะสรุปสั้น ๆ ก็สามารถกล่าวว่า ฮิตเลอร์ เป็นผู้นำที่สามารถทำให้ชาวโลกต้องกระทบกระเทือนหรือพบกับความพินาศ ทนทุกข์ทรมาน มากกว่าผู้นำคนใดในประวัติศาสตร์

เมาเซตุง เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีน เป็นทั้งนักคิด นักรบ นักปกครอง กวี ที่มีความสามารถเป็นเยี่ยม เป็นผู้มีความรู้กว้างขวางทั้ง ๆ ที่ไม่เคยศึกษาในต่างประเทศ จนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชีวิตของเมาเซตุง เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้อย่างแท้จริง บิดาเป็นชาวนา และเขาถูกบังคับให้ทำงานด้านการเกษตร ตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ บิดาเป็นคนเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะในเรื่องของความประหยัดจึงทำให้ในวัยเด็กเขาต้องมีปัญหากับบิดา ซึ่งชอบใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม เป็นผู้นำที่มีความเก็บกดในวัยเด็ก และหากว่ามีคนนำเรื่องของเขาไปแต่งเป็นนวนิยาย โดยไม่ต่อเติมเสริมแต่งแล้วผู้ที่อ่านก็ยังคงจะบอกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

ผู้นำในสังคมไทย

แม้ว่าคนไทยและสังคมไทยมีลักษณะเป็นโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ ผู้นำในความหมายของโครงสร้างแบบนี้จะหมายถึงผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือ และความคุ้มครองได้ ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่เวลามีภัย ความถูกผิดไม่ใช่สิ่งสำคัญระหว่างพวกเดียวกันเอง ผู้ที่มีกำลังมากกว่าย่อมเป็น
ผู้ที่ได้เปรียบในการผลักดันการเมืองให้เป็นไปตามที่ต้องการ

สังคมทุกสังคมจะต้องมีความขัดแย้งเพราะการที่คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก หลากหลายอาชีพย่อมมีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันออกไป เรื่องที่จะดำเนินการนั้นอาจเป็นที่พออกพอใจของคนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจไม่เป็นที่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีจึงต้องเป็นผู้ที่สามารถจะรู้จักสานประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการเป็นที่ยอมรับของประชาชนมีความเจนจัดในการโฆษณาชวนเชื่อเท่า ๆ กับการต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และเจนจัดในการใช้ภาษาให้ผู้อื่นคล้อยตาม

โดยสรุปแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่าอำนาจเป็นของประชาชน ผู้นำเป็นเพียงบุคคลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ผู้นำในสังคมไทย เป็นแกนกลางขององค์การทางสังคม การเมือง แทบทุกประเภทตั้งแต่กลุ่มผลประโยชน์เล็ก ๆ ไปจนถึงองค์กรการเมืองขนาดใหญ่ อำนาจภายในกลุ่มขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำในการพิจารณาตนเอง ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นผู้นำที่มีศักยภาพในการนำ มีความรับผิดชอบต่อความเจริญก้าวหน้าของกลุ่ม ในทางตรงกันข้ามการเสื่อมสลายของการเป็นผู้นำไม่ว่าชราภาพ การตายหรือการหมดสิ้นอำนาจ ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมสลายของกลุ่ม นอกเสียจากว่าจะมีผู้นำคนใหม่ที่เหมาะสมขึ้นมาสืบแทนและสามารถสานต่อความสัมพันธ์ กลุ่มการเมืองในสังคมไทย มักไม่มีการจัดตั้งในรูปแบบขององค์การที่มีความถาวร มิได้เป็นระบบภายใต้การจัดตั้งกฎระเบียบ
เส้นทางสำคัญสายหนึ่งสู่ความเป็นผู้นำในสังคมไทย คือ การแสวงหาผู้อุปถัมภ์อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยการแสดงความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ เชื้อฟังและเป็นประโยชน์ต่อเจ้านาย ผู้หยิบยื่นความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในชีวประวัติของผู้นำที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองแทบทุกอย่าง การปรับเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์ในเวลาและโอกาสอันเหมาะสมจึงเป็นช่องทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักการเมืองทุกคน

ความอ่อนแอแปรปรวนของโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มย่อมนำมาซึ่งความอ่อนแอแปรปรวนของระบบการเมืองเช่นเดียวกัน โครงสร้างของกลุ่มและระบบการเมืองที่ยืดหยุ่นอ่อนไหวนี้เอง นำไปสู่ปัญหาวิกฤตเรื่องผู้นำและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่เสมอมา

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำทางการเมืองมักให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมส่งออก การท่องเที่ยว และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองและภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยมุ่งแก้ปัญหาความยากจนและภาวะการว่างงานในชนบท ดูเหมือนว่ารัฐบาลแทบทุกชุด ทำหน้าที่รับใช้ระบบราชการและภาคธุรกิจเอกชน อันเป็นพลังชั้นนำทางการเมืองที่มีอำนาจสูง มากกว่าที่จะมุ่งแก้ปัญหาประเทศที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ระบบรัฐสภาพซึ่งไม่เคยได้รับโอกาสนี้ให้พัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ยังทำให้ระบบการเมืองไทย เป็นระบบที่ค่อนข้างยึดติด ถูกผูกขาดโดยพรรคราชการ

ระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นการเมืองเรื่องความอยู่รอด ตราบใดที่นักการเมืองและผู้นำทางการเมืองมุ่งเอาตัวรอด และประชาชนถูกผลักให้อยู่นอกระบบ ตราบนั้นสังคมการเมืองก็ยังคงประสบปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และวิกฤตด้านผู้นำต่อไปอีกนาน

บุคลิกภาพและคุณลักษณะทางสังคมของผู้นำการเมืองไทย

การพิจารณาภาพรวมแห่งคุณลักษณะของความเป็นผู้นำในสังคมไทยเป็น สิ่งที่กระทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเพราะผู้นำแต่ละท่านมีบุคลิกลักษณะและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

ผู้นำทุกท่าน มีความทะเยอทะยานและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง มีความมุ่งมั่นและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสดงฝีมือของตนให้ผู้อื่นยอมรับ มีความขยันขันแข็งและความอดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จของตน แต่ความสำเร็จยังหมายถึง ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับเจ้านายที่มีอำนาจและทรัพยากรเหนือความสามารถในการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเจ้านาย
ผู้นำย่อมจะต้องเป็นบุคคลที่มี “พลังงาน” สูง ไม่ชอบอยู่นิ่งเฉยหากแต่ใช้ชีวิตดิ้นรนแสวงหาโอกาสในการเลื่อนสถานภาพตำแหน่ง และฐานะอยู่ตลอดเวลา

การเป็นผู้นำในสังคมไทย ยังหมายถึงความพร้อมที่จะรับผิดชอบในชะตาชีวิตของผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ตามที่สถานภาพต่ำกว่าตน ความรู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จึงเป็นคุณลักษณะที่ส่งเสริม “ภาพลักษณ์” แห่งการเป็นผู้นำที่ดี (พล.อ.ต.มนัส รูปขจร. ๒๕๔๓:๔๖-๔๘)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งผู้นำประเทศในระดับนายกรัฐมนตรี ได้รับคำครหาในเรื่องการขาดคุณธรรมและจริยธรรมในการเป็นผู้นำ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดในรัฐบาลปัจจุบัน เป็นผลเนื่องมาจากการขาดภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ทั้งการใช้วาจาจาบจ้วงก้าวล่วงไปสู่องค์พระประมุขหลายครั้งหลายคราว การประชดประชันผู้ที่มีความเห็นขัดแย้ง การลุแก่อำนาจในการตัดสินพิจารณากำหนดนโยบายหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เล่ห์เหลี่ยมแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับตนเองและครอบครัว โดยการทำนิติกรรมอำพรางในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถแสดงความผิดชัดแจ้งทางกฎหมาย แต่ในด้านคุณธรรมนั้นสังคมบางส่วนไม่ให้การยอมรับอีกต่อไป

ผู้นำทางการเมืองที่พึงประสงค์ในสังคมไทย ได้มีปูชนียบุคคลแสดงทัศนะไว้แล้ว และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป ดังคำกล่าวของ ฯพณฯ องคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานครบรอบ 50 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อ 9 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ 'จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ'ดังนี้ (www.nationwekend.com)

“...หลักสำคัญของ Good Governance มี 5 ประการ คือ (๑) Accountability ความน่าเชื่อถือและมีกฎเกณฑ์ชัดเจน (๒) Transparency ความโปร่งใส (๓) Participation การมีส่วนร่วม (๔) Predictability ความสามารถคาดการณ์ได้ และ (๕) ความสอดคล้องของทั้ง 4 หลักการข้างต้น

ผมมีความเห็นว่า จะต้องพูดถึงคุณธรรมควบคู่กับจริยธรรม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเสริมซึ่งกันและกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญของจริยธรรม เพราะเชื่อว่า การบริหารที่ยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการที่ดี หรือ Good Governance ได้ และจริยธรรมของการบริหารงานภาครัฐ ย่อมนำไปใช้ในการบริหารงานภาคเอกชนได้ด้วย
การใช้จริยธรรมและคุณธรรมในการบริหารงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ผู้บริหารพึงนำไปใช้ และขจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป คือ

๑. ความซื่อสัตย์ ซึ่งมิใช่เป็นการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องถูกต้องตามจริยธรรมและศีลธรรมด้วย มิได้หมายเฉพาะตนเองซื่อสัตย์เท่านั้น แต่ต้องควบคุมให้คนรอบตัวมีความซื่อสัตย์ องค์กร องค์การใด ผู้บริหารมีกิเลสต้องขจัดด้วยหิริโอตตัปปะ(ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป)
๒. กฎหมาย แม้กฎหมายไม่สามารถอุดช่องโหว่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกฎหมายวางมาตรฐานขั้นต่ำของการประพฤติมิชอบไว้เท่านั้น แต่มาตรฐานทางจริยธรรมในเรื่องของการประพฤติชอบและความซื่อสัตย์นั้น สูงกว่ากฎหมาย บางเรื่องกฎหมายว่าไม่ผิด แต่เมื่อดูมาตรฐานทางจริยธรรม ก็ถือว่าผิดได้

๓. ความเป็นธรรม ข้อนี้ พล.อ.เปรมได้กล่าวว่า ยากที่จะบอกว่าความเป็นธรรมคืออะไร บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่กฎหมาย

ถ้าทำถูกกฎหมายก็ถือว่าเป็นธรรม บ้างว่าความเป็นธรรมอยู่ที่จิตสำนึกของผู้บริหาร ก็ไม่น่าจะถูกนัก เพราะผู้บริหารลำเอียงได้ บ้างก็ว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด ถือว่าเป็นธรรม ผมเห็นว่า ความเป็นธรรมของการบริหาร น่าจะหมายถึง การให้โอกาสแก่คนยากจน คนด้อยโอกาส คนที่เสียเปรียบในสังคมให้พัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมสูงขึ้น อย่างมีหลักการและเหตุผล ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงและมีความได้เปรียบอยู่แล้ว ควรต้องยอมเสียประโยชน์บ้าง

ผมยังเห็นว่าในความเป็นธรรมต้องมีความยุติธรรมอยู่ด้วย ผู้บริหารจะต้องไม่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่น ใช้ช่องว่างของกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ตนเอง ต้องมีมาตรฐานในการบริหารมาตรฐานเดียวไม่ใช่สองหรือหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย นึกจะทำอย่างไรก็ทำ เพราะมีอำนาจ"

๔. ประสิทธิภาพ ในการบริหารงานมักถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในตัวประสิทธิภาพเองอาจไม่สอดคล้องกับจริยธรรม กรณีนี้จะเลือกอะไร สำหรับผมเลือกจริยธรรม เพราะผมเชื่อว่า เราสามารถหาหนทางที่จะให้ประสิทธิภาพไปด้วยกันได้กับจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส หรือความเป็นธรรม"

๕. ความโปร่งใส มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารให้รัฐเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน การหลีกเลี่ยงไม่เปิดเผยข้อมูล ถือว่าขัดจริยธรรม

๖. ความมั่นคงของรัฐ การใช้จริยธรรมในการบริหารความมั่นคงอาจจะกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องหาสมดุลให้ได้ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่ และอาจมีต่อไป เพราะผู้บริหารอาจจะยังหาความสมดุลไม่พบ

๗. ค่านิยม คนไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าความร่ำรวยสร้างชื่อเสียง เกียรติยศ และฐานะได้ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยรีบสร้างความร่ำรวย โดยไม่แยแสต่อจริยธรรม
และที่แปลกแต่จริง และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ เรามักจะนิยมยกย่องคนร่ำรวยว่าเป็นคนดี น่าเคารพนับถือ โดยไม่ใส่ใจว่าร่ำรวยมาด้วยวิธีใด และดูหมิ่นคนจนต่างๆ นานา ว่าเหม็นสาบ มอซอ พูดไม่เพราะ มีความรู้น้อย ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ตราบใดที่เหม็นสาบคนยากคนจน ยังร้องเพลง 'กอดกับคนจน หน้ามนยังบ่นว่าเหม็น' ไม่มีทางแก้ปัญหาความยากจนสำเร็จ..."

จากแนวความคิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรมฯ จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และเป็นแนวทางที่ผู้นำทางการเมืองควรจะต้องนำมาเป็นหลักในการปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็จำเป็นจะต้องนำหลักนี้มาเป็นดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพและความเหมาะสมของผู้ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้นำทางการเมืองของสังคมไทย เพื่อให้เกิดสอดคล้องกับขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย และสามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความวัฒนาถาวรอย่างยั่งยืน

บรรณานุกรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ติโต. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๔๔.

กวี วงศ์พุฒ. ภาวะผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมวิชาชีพบัญชี. ๒๕๔๒.

กาญจน์ เรืองมนตรี. ผู้นำ. //www.edu.msu.ac.th

ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต.อ. ผู้นำ. กรุงเทพฯ: เอกสารวิจัยส่วนบุคคล สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๓๙.

พล.อ.ต.มนัส รูปขจร. คุณลักษณะของผู้นำที่ต้องการในสังคมไทย. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. ๒๕๔๓

Bernard M. Bass. Transformational Leadership: Industrial, Military, and Educational Impact. New York: Lawrence Erlbaum Associates. 1977.

Gardner, John William. (1964). AID and the Universities; a report from education and world affairs in cooperation with the Agency for International Development.
New York: Educational and World Affairs

Blake Robert and Jame S. Mouton. The Managerial Grid. Houston :Gulf Publishing. 1964.



Create Date : 10 กรกฎาคม 2549
Last Update : 10 กรกฎาคม 2549 8:31:39 น. 6 comments
Counter : 23673 Pageviews.

 
++ 3 ประโยคพระราชดำรัส ที่ตรัสต่อคณะตุลาการเมื่อ 25 เม.ย.49

- ว่าเท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย
เลือกตั้งขึ้นพรรคเดียว เบอร์เดียว ไม่ใช่ทั่วไป
อย่างมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้
มันไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย

- อีกข้อหนึ่งคือการที่จะบอกว่า จะมีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข
แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่

- คือปกครองต้องมีสภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ทำงานไม่ได้
อาจจะหาวิธีที่จะตั้งสภาไม่ครบถ้วน ก็รู้สึกว่า มั่ว อยากจะขอโทษอีกที ใช้คำมั่ว
ไม่ทราบใครจะทำมั่ว จะปกครองประเทศมั่วไม่ได้ จะคิดอะไรแบบปัดๆ ไปให้เสร็จไป

** หลังจากนั้นมาศาลได้พิพากษาสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ..!!!!!

---------------------------------------------- ----------------------------------
++ และอ่านหลากหลายประโยคของทักสินที่พูดต่อหน้าข้าราชการที่ทำเนียบเมื่อ 29 ก.ค.49 ท้าชนกับสถาบันเบื้องสูงตรง ๆ โดยไม่เคยออกมาปฏิเสธด้วยตนเอง

- บางคนยังเข้าใจว่า ตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้น เสียงของตัวเอง ต้องดัง และมีความหมาย กว่าเสียงของคนอื่น ....
- คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป....
- บางองค์กร หัวหน้าองค์กร ถึงขนาดยอมทำให้ระบบขององค์กรตัวเองเสีย เพื่อที่จะทำตามนโยบาย ผู้ที่ร้องขอบางราย...
- ใครมาแอบสั่งราชการ อย่าปฏิบัติ เพราะหน้าที่ของท่านทำตามนั้นแล้ว คนที่จะสั่งราชการของท่าน คือ ผู้บังคับบัญชาโดยตรง ....


โดย: zzz IP: 61.19.54.238 วันที่: 11 กรกฎาคม 2549 เวลา:1:29:13 น.  

 
ผมเคยอ่านข้อความนี้ครับ และผมเป็นนายทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษในครอบครัวของผมก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาต่อเนื่องกันกว่า ๓๐๐ ปี ครับ


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.97.101 วันที่: 11 กรกฎาคม 2549 เวลา:18:33:14 น.  

 
ได้รับจดหมายจากเพื่อนส่งข้อความนี้มาให้ (sheesas@gmail.com) เข้ากับเรื่องที่ผมเขียนข้างต้น จึงได้นำมาเสนอในที่นี้ ชื่อเรื่อง Toxic Leadership (ภาวะผู้นำเป็นพิษ)

ความว่า

Behaviors of Toxic Leaders ลักษณะของผู้นำที่เป็นพิษเป็นภัย

Leaving their followers (and frequently non-followers) worse off than they found them (ไม่ได้ทำให้ผู้ตามมีศักยภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เคยมา)

Violating the basic standards of human rights or their own supporters. (ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ แม้กระทั่งสิทธิของผู้ที่ให้การสนับสนุนเขาเอง)

Consiciously feeding their folowers illusions that enhance the leader's power and impair the followers' capacity to act independently. (จงใจสร้างภาพที่ทำให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเป็นคนมีอำนาจ เพื่อทำให้ผู้ตามเกิดความกลัวที่จะทำอะไรต่างๆโดยไม่ต้องพึ่งเขา)

Playing to the beast fears and needs of the followers. (ทำให้ผู้ตามเกิดความเกรงกลัวที่จะต้องเสียสิ่งที่ต้องการและหวงแหนไป)

Stifling constructive criticism and forcing compliance. (ชอบบีบบังคับให้ผู้อื่นทำตามและไม่แยแสคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์)

Misleading followers through deliberate untruths and misdiagnoses of issues. (ชอบทำให้ผู้ตามไขว้เขวโดยการให้ข้อมูลเท็จ และใช้วิธีการประเมินด้วยหลักการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

Subverting processes of the system intended to generate truth (ชอบแก้กระบวนการที่จะทำให้ความจริงปรากฎ เนื่องจากตนอาจทำผิดไว้มากจึงไม่ยากให้ถูกมองว่าตนทำผิดกติกา และ/หรือ ทำในสิ่งที่ไม่ดี

Building totalitarian or narrowly dynastic regimes via subverting legal processes. (แก้กติกาที่จะทำให้ตนสามารถสร้างอาณาจักรที่ตนสามารถควบคุมได้ทั้งหมด)

Failing to nurture other leaders including their own successors. (ไม่คิดที่จะเสริมส่งผู้นำคนอื่น หรือแม้กระทั่งสร้างผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทน)

Maliciously setting constituents against one another. (ชอบที่จะเสี้ยมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความขัดแย้งกัน)

Treating their own followers well, but persuading them to hate others. (ปฏิบัติต่อลิ่วล้อของตนดี แต่ มักจะชักจูงให้ลิ่วล้อเกลียด หรือ ระแวงกันและกัน

Identifying scpegoats. (ชอบหาแพะรับบาป)

Structuring the cost of overthrowing them as a trigger for the downfall of the system they lead. (ชี้ให้ผู้อื่นเห็นถึงการพยายามที่จะทำให้ตนหมดอำนาจ จะก่อให้ระบบที่ดี เสียลง และจะสร้างความลำยากที่พาดพิงถึงคนทั้งหมด

Ignoring or promoting incompetence, cronyism, and corruption. (ไม่สนใจ หรือ ส่งเสริม ความไม่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพวกพ้องตัวเอง และ พฤติกรรมฉ้อฉล

Qualities of TOXIC LEADERS

Lack of integrity (ไม่ซื่อสัตย์และรับผิดชอบในหน้าที่)

Insatiable Ambition (ทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด)

Enormous Egos that blind them to the shortcomings of their own character (หลงตัวเอง)

Arrogance that prevents acknowledging their mistakes but instead blame others (จองหองในระดับที่มองข้อเสียของตัวเองไม่ออก)

Amorality (ไร้คุณธรรม/จริยธรรม)

Avarice that drives leaders to put money and what money can buy on top of the list (ถูกผลักดันด้วยกิเลสจนเห็นเรื่อง เงิน หรืออะไรที่ซื้อได้ด้วยเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด)

Reckless disregard for the cost of their actions (ไม่สนใจปัญหาที่ตัวเองก่อเลย)

Cowardice that leaders them to shrink from the difficult choices (กลัวที่จะเผชิญกับสถานการณ์ลำบาก)

Failure to understand the nature of the problems and act competency in leadership situations (ไม่สามารถเข้าใจถึงรากของปัญหาและวิธีการที่เหมาะสมในสภาวะที่ต้องการผู้นำ)

source:Lipman-Blumen, J., (2005), The Allure of Toxic Leaders, NY:Oxford University Press. pp. 1-35.

เพื่อความกระจ่าง

ชีซ่า




โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.97.101 วันที่: 11 กรกฎาคม 2549 เวลา:18:54:45 น.  

 
โอ้โห.......ชัดเจนๆ มากๆค่ะ


โดย: กะตั๊ก IP: 210.86.147.190 วันที่: 12 กรกฎาคม 2549 เวลา:16:43:09 น.  

 
ทำวิจัยเรื่องวิเคราะห์การเป็นผู้นำทางกาเรมือง อยากได้แนวคิดทฤษฏี และแหล่งอ้างอิงจากหนังสือ ขอช่วยแนะนำด้วยค่ะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
ส่งข้อมูลมาให้ที่เมลล์นี้น่ะค่ะ...

่juntirasunanta@hotmail.com


โดย: ขอความช่วยเหลือ IP: 58.9.64.71 วันที่: 29 พฤษภาคม 2554 เวลา:14:34:10 น.  

 
ทำวิจัยก็ต้องอ่านหนังสือเองสิครับ ไปขอข้อมูลจากคนอื่นเขา แล้วจะได้ความรู้หรือ


โดย: ดร.อนุชาติฯ (anuchartbunnag ) วันที่: 9 มิถุนายน 2554 เวลา:17:07:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.