Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
13 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
สรุปผลการสัมมนา เรื่อง การก่อการร้าย ณ เมืองเฮิสสิยา อิสราเอล

คณะกรรมการกิจการ ออสเตรเลีย/อิสราเอล และ ยิว (Australia/Israel and Jewish Affair) ได้จัดการสัมมนาเรื่อง การก่อการร้ายสากล ขึ้น ณ เมืองเฮิสลิยา ประเทศอิสราเอล ระหว่าง ๗ – ๑๕ ก.ย.๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการก่อการร้ายในภูมิภาคต่างๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นระหว่างกัน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะเชิญเข้าร่วมการสัมมนาเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยด้านการก่อการร้าย

คณะกรรมการฯ ได้เชิญ พ.อ.อนุชาติ บุนนาค ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นักวิจัยด้านการก่อการร้ายประจำสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังต่อไปนี้

๑. การบรรยายสรุปสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแดนเลบานอน

ใน ๑๒ ก.ค.๔๙, ๐๙๐๕ ฝ่ายติดอาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เริ่ม Operation Truthful Promise ทำการโจมตีข้ามพรมแดน โดยกำลังรบของฮิซบอลเลาะห์ได้เข้าโจมตีกองทหารอิสราเอล ขณะลาดตระเวนอยู่บริเวณชายแดนของสองประเทศ ส่งผลให้ทหารอิสราเอลเสียชีวิต ๓ นาย และถูกจับเป็นเชลย ๒ นาย หลังจากนั้นทหารอิสราเอลที่ถูกส่งไปช่วยเหลือทหารที่ถูกจับกุมได้ถูกสังหารอีก ๕ นาย อิสราเอลได้ส่งกองทหารเข้าไปในเลบานอนภายใต้ปฏิบัติการชื่อ Operation Just Reward ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Operation Change of Direction โดยทำการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในเลบานอน ณ กรุงเบรุต ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์อับมาน่าของฮิซบอลเลาะห์ ที่ตั้งกองกำลังต่อต้านอิสราเอล และสนามบินนานาชาติเบรุต รวมทั้งทำการครองอากาศเหนือน่านฟ้าเลบานอนทั้งหมด ร่วมกับการปิดล้อมทางบกและทางเรือ

อิสราเอลทำการวิเคราะห์ถึงภัยคุกคามในส่วนของฮิซบอลเลาะห์ ว่ามีขีดความสามารถในการควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของเลบานอนไว้ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ในช่วงที่อิสราเอลถอนทหารกลับสู่มาตุภูมิ และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้วางกำลังควบคุมชายแดนของเลบานอนตลอดแนว แต่มีจุดอ่อนในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัด หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกประเทศจะไม่สามารถทำการรบยืดเยื้อได้ มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ ๒,๕๐๐ - ๓,๕๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาดีและมีประสบการณ์ทางการรบ มีแกนนำที่มีขีดความสามารถในการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมประมาณ ๓๐๐ นาย ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและการฝึกจากอิหร่านและซีเรีย ซึ่งอิสราเอลได้กำหนดเป้าหมายหลักในการปฏิบัติการทางทหารไว้ ๕ ประการ คือ

๑.๑ ทำลายอิทธิพลของอิหร่านก่อนที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางนิวเคลียร์
๑.๒ ธำรงไว้ซึ่งอิทธิพลของอิสราเอลในพื้นที่เป้าหมาย หลังจากที่ต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเลบานอนในปี พ.ศ.๒๕๔๓ และในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้ทำการถอนทหารออกจากบริเวณกาซา โดยสร้างภาพลักษณ์ของความเข้มแข็งของอิสราเอลให้คงอยู่
๑.๓ ปลดปล่อยเลบานอนให้เป็นรัฐอิสระที่ปราศจากการครอบงำของฮิซบอลเลาะห์
๑.๔ ทำลายกองกำลังและขีดความสามารถของฮิซบอลเลาะห์มิให้มีอิทธิพลในการชี้นำทางการเมืองต่อเลบานอน
๑.๕ ช่วยเหลือทหารอิสราเอล ๒ นายที่ถูกจับเป็นตัวประกันกลับสู่มาตุภูมิ

องค์การสหประชาชาติพยายามไกล่เกลี่ยและสามารถเจรจาให้ทั้ง ๒ ฝ่ายหยุดยิงเมื่อ ๑๔ ส.ค.๔๙ และจากการสำรวจพบว่า การสู้รบในระยะเวลา ๔ สัปดาห์ มีผลทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยฝ่ายอิสราเอล มีทหารเสียชีวิต ๑๑๖ นาย ตำรวจ ๔๓ นาย และประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน อาคารเสียหายประมาณ ๓๐๐ หลัง ส่วนทางด้านเลบานอน มีทหารเสียชีวิต ๑,๑๐๙ นาย สมาชิกฮิซบอลเลาะห์ประมาณ ๕๓๐ คน ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย ๙๑๕,๗๖๒ คน อาคารเสียหายประมาณ๗,๐๐๐ หลัง

๒. การบรรยายสรุปสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

เมื่อ ๒๕ มิ.ย.๔๙ นักรบชาวปาเลสไตน์ภายใต้รัฐบาลของกลุ่มฮามาส ทำการโจมตีฐานทัพอิสราเอลที่พรมแดนอิสราเอล-กาซา สังหารทหาร ๒ คน และจับเป็นเชลย ๑ คน และในวันต่อมานักรบปาเลสไตน์ ๓ กลุ่ม ซึ่งประกอบกลุ่ม The Popular Resistance Committee-PRC กลุ่มนักรบติดอาวุธของฮามาสในปาเลสไตน์ และกองกำลังอิสลาม ร่วมกันจับตัวสิบโทกิลัด ชาลิต วัย ๑๙ ปี เพื่อต่อรองให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษหญิงและเด็กซึ่งถูกจับกุมตัวในฐานะที่กระทำการต่อต้านรัฐยิว อิสราเอลจึงใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการตั้งแต่ ๒๘ มิ.ย.๔๙ เป็นต้นมา โดยใช้กำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คน พร้อมอาวุธหนัก รุกเข้าไปในเขตฉนวนกาซา เพื่อกดดันปาเลสไตน์ให้ปล่อยตัวทหารอิสราเอล ในปัจจุบันแม้การสู้รบจะบรรเทาลง แต่ความตึงเครียดยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกขณะ อันเป็นผลมาจากความเกลียดชังซึ่งกันและกันอย่างรุนแรงมาแต่ครั้งอดีตกาล

อิสราเอล พยายามลดความสูญเสียและเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนโดยการสร้างรั้วกั้นเขตแดนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน มีความยาวประมาณ ๖๐๐ ก.ม. ลักษณะของรั้วโดยทั่วไปจะเป็นลวดตาข่ายสูง ๔ เมตร แต่ในส่วนที่กั้นระหว่างชุมชนของทั้ง ๒ ประเทศจะก่อสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตสูง ๘ เมตร ซึ่งตลอดแนวรั้วมีถนนคู่ขนานเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการตรวจการณ์ พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์ ทำงานร่วมกับอากาศยานไร้นักบิน ซึ่งจะทำการบินลาดตระเวนตลอดแนวรั้วอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การลักลอบเข้ามาก่อการร้ายในเขตแดนอิสราเอลลดจำนวนลงกว่าร้อยละ ๗๐

๓. การสัมมนาในหัวข้อ สงครามจิฮัด : ภัยคุกคามของโลกยุคใหม่

จากความเกลียดชังอิสราเอลและโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาของชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ยังชื่นชมกลุ่มฏอลิบาน อัลกออิดะฮ์ และ อุสามะฮ์ บินลาดิน ประกอบกับอิทธิพลของซายิด กูเทบ ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอิยิปต์ ซึ่งเป็นผู้นำแนวคิดของกลุ่มวาฮาบิอันเป็นกลุ่มผู้ที่อุทิศตนเพื่อคงไว้ซึ่งศาสนาอิสลาม มาขยายผลเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านตะวันตก พร้อมทั้งส่งเสริมการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าจิฮัด เพื่อเอาชนะพวกนอกศาสนา ก่อให้เกิดภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในโลก นั่นคือการก่อการร้ายด้วยวิธีการพลีชีพเพื่อพระเจ้า

การกล่อมเกลาจิตใจของชาวมุสลิมบางกลุ่มให้ยอมรับและพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า ชาฮาดา มีทั้งกระบวนการทางสังคมและการจัดระบบการศึกษา กล่าวคือ ผู้ที่พลีชีพจะได้รับเกียรติยศสูงสุดทั้งจากครอบครัวและสังคมโดยทั่วไป พร้อมกันนั้นผู้ที่กระทำการดังกล่าวก็มีความเชื่อว่าเป็นวิถีทางไปสู่สรวงสวรรค์และมีความสุขอย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้ารับการฝึกและพร้อมที่จะทำการพลีชีพเพื่อทำลายล้างผู้ที่ตนเชื่อว่าเป็นศัตรูกับศาสนาอิสลาม

ข้อมูลดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอิรักที่การก่อการร้ายด้วยระเบิดพลีชีพมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายในอิรักจะเป็นผู้ส่งออกซึ่งอาวุธ เทคนิค และแนวความคิดในการทำลายล้างชาติตะวันตก ไปสู่ยุโรปและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ

๔. การสัมมนาในหัวข้อ แนวโน้มของการก่อการร้ายในอนาคต

รูปแบบของการก่อการร้ายในอนาคต มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แวดล้อมทางด้านการเมือง สังคมจิตวิทยา และเทคโนโลยี ที่ประชุมสัมมนาได้สรุปแนวโน้มของการก่อการร้ายในอนาคตไว้ดังต่อไปนี้

๔.๑ การก่อการร้ายโดยมุ่งไปยังเป้าหมายที่มีความอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลเรือนและการทำลายที่อยู่อาศัยของประชาชนจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น
๔.๒ การปลูกฝังแนวความคิดเรื่องจิฮัดจะกระจายไปสู่กลุ่มชนมุสลิมทั่วโลก มิได้จำกัดวงเฉพาะในตะวันออกกลางอีกต่อไป
๔.๓ กลุ่มคนที่มีความรู้สึกแบ่งแยกทางด้านเชื้อชาติจะมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก
๔.๔ อินเทอร์เน็ตจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการทำสงครามจิฮัด
๔.๕ กลุ่มก่อการร้ายจะเร่งพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง

ข้อพิจารณา

๑. แนวทางในการจัดการสัมมนา
๑.๑ การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดย สถาบันต่อต้านการก่อการร้าย ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นองค์การในการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยเน้นไปที่ภัยคุกคามที่มีต่อประเทศอิสราเอลเป็นหลัก ดังนั้น วัตถุประสงค์ประการหนึ่งนอกจากเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้แล้ว ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการดำเนินนโยบายใดๆ ของอิสราเอลต่อองค์การก่อการร้าย รวมทั้งประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล เช่น อิหร่าน ซีเรีย เลบานอน รวมทั้งกลุ่มชาวปาเลสไตน์หัวรุนแรง
๑.๒ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและ ปราบปรามการก่อการร้ายจากนานาชาติ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว และผู้สนใจทางด้านการเมืองและความขัดแย้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม จากประเทศต่างๆ จำนวนประมาณ ๔๒๐ คน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของแต่ละคน

๒. เนื้อหาในการสัมมนา

การพิจารณาหัวข้อและเนื้อหาของการสัมมนาในปีนี้ เน้นไปที่กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางเป็นหลัก รวมทั้งได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะ

๑ ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติการ
๑.๑ การส่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในระยะยาว จึงควรจัดงบประมาณสนับสนุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการวางแผนจัดการประชุมในลักษณะนี้ในประเทศไทยในโอกาสต่อไป
๑.๒ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ อิสราเอล-เลบานอน และข้อมูลที่ได้รับจากการสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา รวมทั้ง ฯพณฯ เอกอัครราชทูต ประจำกรุงเทลอาวีฟ ต่างมีความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่ควรส่งกำลังทหารเข้าร่วมการปฏิบัติการกับองค์การสหประชาชาติ ณ ประเทศเลบานอนในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่มีความชัดเจน และจะส่งผลให้ภัยจากการก่อการร้ายในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

๒.ข้อเสนอแนะทางวิชาการ

กห. ควรพิจารณาส่งนักวิจัยเข้าร่วมนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประเทศไทย ให้แก่ที่ประชุมซึ่งจะจัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการก่อการร้ายในประเทศไทยให้แก่นักวิชาการจากประเทศต่างๆ ได้รับทราบ อันจะส่งผลให้มีการต่อยอดองค์ความรู้ให้มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรง จากการที่ใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์การก่อการร้ายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว นานาประเทศจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในแต่ละประเทศอีกด้วย

พ.อ.อนุชาติ บุนนาค
//www.anuchart.org
MSN Messenger : anuchartbunnag@hotmail.com



Create Date : 13 ตุลาคม 2549
Last Update : 13 ตุลาคม 2549 20:56:48 น. 0 comments
Counter : 1046 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.