Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
29 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ปัญหาภาคใต้กับการแทรกแซงจากต่างชาติ

ในวันที่ ๒๔ ก.ค.๔๙ เป็นวันครบรอบการให้ความเห็นชอบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว การละเมิดทางเพศ หรือการสู้รบ โดยได้มีการมอบหมายให้องค์การ unicef จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและปฏิบัติการอย่างจริงจังในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์การสู้รบ ที่เรียกว่า The Special Representative of the Secretary-General for Children and Armed Conflict (SRSG-CAAC),ทั้งนี้เนื่องจากในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้มีเด็กมากกว่า ๒ ล้านคนต้องเสียชีวิตไปจากการสู้รบในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก (www.unicef.org/media/media_35041.html) ทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ในโลกที่ดูแลให้ความคุ้มครองเด็กในอีกด้านหนึ่งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

ผลจากการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบกับเหตุการณ์สังหารนายประสาน มากชู อายุ ๔๘ ปี ครูโรงเรียนบ้านบือแรง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตอย่างอุกอาจขณะสอนหนังสือในห้องเรียนเมื่อ ๒๕ ก.ค.๔๙ ดังนั้น องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยให้การรับประกันด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียน ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า องค์การยูนิเซฟวิตกอย่างยิ่งกับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะภายใต้กฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โรงเรียนจะต้องได้รับการดูแลให้เป็นเขตปลอดความรุนแรง เพื่อป้องกันเด็กนักเรียน ครูและโรงเรียน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการคุกคามในรูปแบบต่างๆ (www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=13959)

นับเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยจากองค์การต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอในกรณีเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงดังกล่าว อันจะทำให้สามารถกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม ผู้เขียนจึงได้จัดทำบทความวิชาการนี้ขึ้น เพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

๑. ลักษณะของความเกี่ยวพัน และ/หรือ การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย จากต่างประเทศหรือจากองค์การระหว่างประเทศ สำหรับกรณีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. ท่าทีขององค์การระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ
๓. การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแทรกแซงของต่างชาติในกรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๔. สรุป และข้อเสนอแนะ

ลักษณะของความเกี่ยวพัน และ/หรือ การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย จากต่างประเทศหรือจากองค์การระหว่างประเทศ สำหรับกรณีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในปัจจุบัน หลายประเทศกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย และการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างใกล้ชิดในแง่มุมต่างๆ อาทิเช่น การกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล แนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดน ความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม การจัดตั้งองค์การอาชญากรรม บทบาทของผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ขบวนการยาเสพติดในประเทศไทย รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการและความด้อยสมรรถภาพของตำรวจ ซึ่งเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอ่อนแอลง ฯลฯ ซึ่งในส่วนของขบวนการปลดปล่อยแห่งปัตตานีนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเชื่อว่า ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากประเทศมุสลิมหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิเบียและอาฟกานิสถาน ซึ่งจัดการฝึกให้กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ในพื้นที่ประเทศของตน นอกจากนี้ยังมีสิ่งบอกเหตุหลายประการบ่งชี้ว่า มีความเคลื่อนไหวของขบวนการ Jemaah Islamiah ในประเทศไทย รวมทั้งการจับกุมตัวฮัมบาลีที่หลบซ่อนอยู่ในบ้านพักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขบวนการอัลกออิดะห์ได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่จะทำการก่อการร้ายประเทศหนึ่ง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกัน ระหว่างกลุ่มก่อการร้ายสากลกลุ่มนี้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย (Emma Chanlett-Avery. 2005:6)

บทบาทของสหรัฐอเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีการติดต่อร่วมมือกันทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการทหารอย่างใกล้ชิด โดยไทยอยู่ในฐานะผู้ตามและกำหนดนโยบายสอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ มาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา ที่มีการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และหลังจากนั้นอีก ๘ ปี ก็มีการลงนามในข้อตกลง ถนัด-รัสส์ (นายถนัด คอมันตร์-นายดีน รัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสหรัฐฯ) ซึ่งทำให้ความใกล้ชิดทางการทหารระหว่างประเทศทั้ง ๒ เพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การที่ไทยส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วยกำลังพลมากกว่า ๖,๕๐๐ นาย (//korea50.army.mil/history/factsheets/allied.shtml) ส่วนในกรณีสงครามเวียดนาม ไทยอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้พื้นที่เป็นแหล่งสะสมสิ่งอุปกรณ์ (สป.) ประเภทต่างๆ และการส่งกำลังบำรุงให้หน่วยรบในเวียดนามและลาว อันเป็นผลมาจากนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยที่ยึดถือตามที่สหรัฐฯ ชักจูงในขณะนั้น ส่วนในปัจจุบันกรณีการรุกรานของสหรัฐฯ เข้ายึดครองอิรัคโดยไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกโดยทั่วไป รัฐบาลไทยได้ส่งทหารช่างและหน่วยแพทย์จำนวน ๔๕๐ นายเดินทางไปปฏิบัติการ ณ เมืองคาบาร่า ทางตอนใต้ของอิรัคท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ ส่งผลให้ทหารไทยเสียชีวิตจำนวน ๒ นายในเดือน ธ.ค.๔๖ และประชาชนไทยมีความคลางแคลงถึงเหตุผลที่ไทยส่งทหารไปช่วยสหรัฐฯ ในอิรัค ทั้งที่เป็นการรุกรานโดยปราศจากเหตุผลที่ชัดเจน และมิได้เป็นมติขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้น ในปีต่อมาไทยจึงได้ถอนกำลังทหารทั้งหมดกลับเมื่อครบกำหนดปฏิบัติการ การกำหนดนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้รัฐบาลและกองทัพไทย มีความสนิทสนมกับกองทัพสหรัฐฯ โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างดียิ่งประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออก ในระดับเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ (Emma Chanlett-Avery. 2005:7)

สำหรับกรณีความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย สหรัฐฯ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และเสนอรัฐบาลไทยในยุคของนายชวน หลีกภัย เพื่อจัดตั้งหน่วยงานข่าวกรองอันเป็นหน่วยขึ้นตรงขององค์การข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency-CIA) ขึ้น เพื่อการเฝ้าตรวจและรวบรวมข่าวสารขององค์การก่อการร้ายสากลที่เคลื่อนไหวในประเทศไทย หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Counter Terrorism Intelligence Center-CTIC มีการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๔ และปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการไทย ๓ หน่วยงาน คือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพไทย ทำการแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกัน โดยใช้งบประมาณในระยะแรกจำนวน ๑๕ ล้านดอลล่าร์ และทวีมากขึ้นทุกปี (Emma Chanlett-Avery, Richard Cronin, Larry Niksch and Bruce Vaughn. 2004:22) หน่วยงานนี้ประสบความสำเร็จในการสืบสวนจับกุมนายฮัมบาลี ผู้ก่อการร้ายคนสำคัญของขบวนการอัลกออิดะห์ในประเทศไทย รวมทั้งการจับกุมสารกัมมันตภาพรังสีอันตรายที่มีชื่อว่า Cesium 137 จำนวน ๓๐ ก.ก.ที่ผลิตในอดีตสหภาพโซเวียตและลักลอบนำเข้ามาจากประเทศลาวสู่กรุงเทพมหานคร อันเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะผลิตระเบิด Dirty Bomb โดยมีการเตรียมการจะระเบิดสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ๖ ประเทศทีตั้งอยู่ในกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ (Center for Strategic and International Studies. 2003:3)

ท่าทีขององค์การระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ

องค์การสหประชาชาติ

องค์การสหประชาชาติ ได้แสดงความต้องการที่จะให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาภาคใต้ภายใต้หลักการของความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน และความปรองดอง ภายหลังเหตุการณ์ “ตากใบ” ซึ่งเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของไทยในการควบคุมผู้ต้องหาการก่อเหตุจลาจล โดยข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ นางหลุยส์ อาร์เบอร์ ออกคำแถลงจากนครเจนีวาเมื่อ ๒๘ พ.ย.๔๗ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สอบสวนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ประท้วงหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อย่างรวดเร็ว เป็นอิสระ และละเอียดถี่ถ้วน ทั้งนี้เพราะ ประเทศไทยมีพันธะข้อตกลง ดังต่อไปนี้
(www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000074435)
๑. ต้องละเว้นจากการเข้าจับกุมโดยพลการ
๒. ต้องรับประกันให้บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรมภายในระยะเวลาอันสมเหตุสมผล มิฉะนั้นก็ต้องปล่อยตัวไป
๓. ต้องดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตในแต่ละรายด้วยความรวดเร็วและเป็นอิสระ
๔. ต้องละเว้นจากการใช้กำลังจนเกินสมควร โดยไม่ใช้วิธีปฏิบัติที่โหดเหี้ยม ทารุณผิดมนุษย์ และลดทอนความเป็นมนุษย์

นาย ฟิลิป อัลสตัน ผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติ ด้านการวิสามัญฆาตกรรม แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เสนอตัวเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ ๑๘ พ.ย.๔๗ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การปฏิเสธ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นการ “ไม่เหมาะสม” ที่จะให้ตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินงานของรัฐบาลไทย แต่ในขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีไทยเคยประกาศต่อสื่อมวลชนว่า ยินดีที่จะให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในกรณี “ตากใบ” ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๕ ต.ค.๔๗ อย่างเต็มที่ (www.geocities.com/thai_faitai/art27oct_20.htm)

องค์การสหประชาชาติ มีความชอบธรรมตามที่ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี และยอมรับกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนั้นประเทศไทยจะต้องยอมรับในมาตราที่ ๒ ของข้อบังคับ ที่มีเนื้อหาว่า

“...รัฐภาคีแต่ละรัฐ รับที่จะให้ความมั่นใจว่า บุคคลใดก็ตามที่สิทธิหรือเสรีภาพของตนอันยอมรับแล้ว ณ ที่นี้ ถูกล่วงละเมิด ย่อมจะต้องหาทางบำบัดแก้ไขอย่างเป็นผลจริงจัง โดยมิพักต้องคำนึง แม้ว่า การล่วงละเมิดนั้น ๆ จะเกิดจากบุคคลซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ก็ตาม…”

การเสียชีวิตของคน ๘๕ คน ในจังหวัดนราธิวาส โดยที่ประมาณ ๗๘ คน เสียชีวิตหลังการจับกุม เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการละเมิดภายใต้มาตราที่ ๒ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะได้ตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมกับการสอบสวนของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของรัฐสภา ได้จัดทำรายงานสรุปถึงความบกพร่องของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า (คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. ๒๕๔๗:๘)

“…คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีหน้าที่สอบสวนปราบปรามการกระทำความผิด สมควรดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดในทางอาญา และเรียกร้องให้ชดใช้ความเสียหายทางแพ่งด้วย กรณีดังกล่าว สมควรที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง พึงกล่าวโทษผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในขั้นต่ำฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในความควบคุมของตนถึงแก่ความตาย และโดยที่เห็นได้ชัดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของทหาร หรือคนในบังคับของฝ่ายทหาร ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการทหาร ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไปด้วย…”

ภายหลังเหตุการณ์ “ตากใบ” ประเทศมุสลิมหลายประเทศ แสดงท่าทีไม่พอใจการกระทำของไทยอย่างชัดเจน เช่น อินโดนีเซีย โดยนายมาร์ตี นาตาเลกาวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียแถลงว่า รัฐบาลไทยจะต้อง “เปิดเผยให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทันที" และ “ต้องฟ้องดำเนินคดีนายทหารและนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้น” แต่จนบัดนี้ (๒๕๔๙) ก็ยังไม่มีการนำผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี และ มทภ.๔ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในเหตุการณ์ “ตากใบ” กลับได้รับการปูนบำเหน็จให้เลื่อนยศเป็น พล.อ. หลังเหตุการณ์ความรุนแรงนี้

ดังนั้น ความเคลือบแคลงของประชาคมโลกถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาภาคใต้ จึงกระจายไปอย่างมีเหตุผลสมควร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เงื่อนไขในการแทรกแซงจากต่างชาติ เกิดขึ้นเพราะการกระทำของรัฐบาลไทยนั่นเอง

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

คณะกรรมการนี้ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านการรณรงค์และตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเอเชีย ตั้งขึ้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ได้แสดงความคิดเห็นต่อประชาคมโลกในการสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาปฏิบัติงานติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลไทย ในกรณีความขัดแย้งภาคใต้ อันจะยังประโยชน์ในการลดปัญหาการละเมิดสิทธิ และสนับสนุนกระบวนการเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ ภายใต้บรรทัดฐานระหว่างประเทศ คณะกรรมการฯ ได้พยายามโน้มน้าวมติของประเทศต่าง ๆ ในโลกให้สนับสนุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗

ประเทศมาเลเซีย

มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทยทางภาคใต้ มีประเพณี วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ฯลฯ ใกล้เคียงกับประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการกล่าวขวัญกันอยู่เสมอว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในระดับรัฐบาลหรือระดับพรรคการเมืองท้องถิ่นในรัฐกลันตัน ประกอบกับผู้นำของมาเลเซียก็ได้แสดงความคิดเห็นก้าวก่ายการกำหนดนโยบายความมั่นคงภายในประเทศของไทยหลายครั้ง โดยแนะนำว่าไทยควรให้อำนาจการปกครองตนเองให้แก่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเลิกกระทำการข่มเหงชาวมลายู ดังคำกล่าวของมหาเธร์ นักการเมืองอาวุโสของมาเลเซีย ภายใต้การสนับสนุนของพรรค Islamic อันเป็นพรรคมุสลิมที่เคร่งจารีตประเพณี ซึ่งพากันประณามว่าผู้นำของไทยเป็นพวก ไซออนนิสต์ (เป็นการประณามอย่างรุนแรง หมายถึง พวกสนับสนุนยิวให้ล่วงละเมิดและกีดกันชาวมุสลิม)
(www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000074435)

นอกจากท่าทีล่วงละเมิดกิจการภายในของไทยโดยผู้นำมาเลเซียที่กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยก็แสดงท่าทีละเมิดมาเลเซียเช่นเดียวกัน จากการแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อสื่อมวลชนเมื่อ ๑๗ ธ.ค.๔๗ กล่าวหาประเทศมาเลเซียว่า กลุ่มโจรก่อการร้ายซึ่งได้สังหารชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วมากกว่า ๕๖๐ คนนั้น ส่วนหนึ่งได้รับการฝึกฝนอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยใช้คำพูดว่า
(www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9470000098605)

“...หากถามผมว่ากลุ่มโจรพวกนี้ได้รับการฝึกฝนมาจากที่ไหน แน่นอนเลยว่ามีจำนวนหนึ่งที่ได้รับการฝึกฝนในมาเลเซีย...”

นาย อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวปฏิเสธด้วยความไม่พอใจในข้อกล่าวหาดังกล่าวของไทย ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน และแจ้งว่า หากทางการไทยมีข้อมูลซึ่งทางการมาเลเซียไม่รู้จริงๆ ก็ควรจะส่งข้อมูลไปให้อย่างเป็นทางการ โดยผ่านช่องทางทางการทูตไม่ใช่ให้ข่าวออกไปลอยๆ ผ่านทางสื่อมวลชน อันเป็นการสอนแนวทางการปฏิบัติทางการทูตในระดับพื้นฐานให้แก่รัฐบาลไทย (นายกรัฐมนตรี) โดยตรง

การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแทรกแซงของต่างชาติ ในกรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

การก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทยจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เป็นผลมาจากปัจจัยใหญ่ ๆ ๒ ประการ คือ
๑. ปัจจัยดึงดูด
๒. ปัจจัยผลักดัน

ระดับความลึกของการแทรกแซงกิจการภายในของไทย เกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากปัจจัยดึงดูดที่ทวีกำลังมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ปัจจัยผลักดัน ก็มีกำลังลดน้อยลงในหลายด้าน โดยจะได้ทำการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

ปัจจัยดึงดูดที่เอื้อต่อการแทรกแซงกิจการภายในของไทยจากต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ

๑. ท่าทีของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

ท่าทีแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีในการถ่ายทอดส่งมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ได้ส่งสัญญาณนำไปสู่ความรุนแรงในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่า สอบสวนทารุณกรรม หรือ การปฏิเสธแนวทางสันติวิธีที่เคยได้มอบหมายให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงพื้นที่ไประดมความคิดเห็นของประชาชน หรือในกรณีที่จัดตั้ง กอส.ขึ้นภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ แต่รัฐบาลก็มิได้แสดงความใส่ใจในข้อเสนอของ กอส. เท่าที่ควร ซึ่งทำให้คณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้งประชาชนและผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกใช้เพียงเฉพาะในยามที่มีปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน โดยรัฐบาลไม่เคยสนใจและนำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ไปใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้น นายกรัฐมนตรียังใช้คำพูดที่ชี้นำอยู่เนืองๆ ให้มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาภาคใต้อยู่เป็นประจำ อาทิเช่น (คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. ๒๕๔๗:๒๐)
“โจรกระจอก”
“ตายไปนึกว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ต้องลงนรก”
“บ้ามาก็บ้าไป”
“จะปราบให้สิ้นซาก”
“at any cost at any price”
“มันเหมือนอาการคนใกล้ตาย ต้องรุนแรงหน่อย”
ฯลฯ

คำพูดดังกล่าว เสมือนหนึ่งว่าพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่ใช่แบบอย่างของผู้นำที่มีวุฒิภาวะในทางประชาธิปไตย ดังนั้น จากท่าทีต่างๆ ที่ประกาศออกไป จึงเป็นเงื่อนไขชัดเจนที่ประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศจำนวนมาก ใช้เป็นหลักฐานในการแสดงความชอบธรรม ที่จะเข้ามาปฏิบัติการในลักษณะต่างๆ ต่อกรณีปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

๓. นโยบายในการเชื้อเชิญให้ต่างประเทศเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไทย

ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบายอย่างชัดเจนในการดำเนินการต่อขบวนการก่อการร้ายสากลที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศของตน โดยถือว่าอเมริกามีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการทำลายล้างองค์การก่อการร้ายทุกรูปแบบ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ประธานาธิบดีบุช ได้กำหนดหลักการในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย และมอบให้ส่วนรัฐการที่เกี่ยวข้องนำไปกำหนดมาตรการเฉพาะไว้ ด้วยคำพูดสั้น ๆ ว่า (US Department of State ๒๐๐๓)

“…อเมริกาจะไม่สามารถป้องกันตนเองได้โดยอาศัยเพียงมหาสมุทรที่ล้อมรอบอยู่เท่านั้น แต่เราจะต้องป้องกันตนเองจากการโจมตี โดยการสร้างอิทธิพลภายนอกประเทศ พร้อมกับการเพิ่มมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็งภายในบ้านของเรา...”

เพื่อสนองตอบนโยบายให้เป็นรูปธรรม รัฐบาลอเมริกาจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4D คือ การทำลายล้างให้สิ้นซาก (Defeat) การต่อต้านทุกรูปแบบ (Deny) การทอนอำนาจ (Diminish) และ การป้องกัน (Defence) ซึ่งยุทธศาสตร์ 4D นี้ กระทำได้โดยการใช้มาตรการทางการทูต การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การกระจายข่าวสาร การออกกฎหมายควบคุม การใช้กำลังทหาร การใช้อำนาจและนโยบายทางด้านการเงิน การสืบสวน และกำลังอำนาจด้านอื่น ๆ เพื่อกดดันเครือข่ายก่อการร้ายและผู้ก่อการร้าย รวมทั้งประเทศที่ให้การสนับสนุน ให้หมดขีดความสามารถในการปฏิบัติการไปในที่สุด

จากยุทธศาสตร์ที่กำหนดนี้ ประกอบกับความร่วมมืออย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทย จึงทำให้อเมริกาสามารถขยายอิทธิพล และเพิ่มการปฏิบัติการลับในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเสมือนดาบสองคม ซึ่งมีส่วนเกื้อกูลและเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยตรง

ข้อดีของการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอเมริกา คือ การได้รับประโยชน์จากข่าวกรองคุณภาพสูง ซึ่งรัฐบาลไทยไม่มีขีดความสามารถจะแสวงหามาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ข่าวกรองเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ไทยจะได้รับเฉพาะในกรณีที่อเมริกาประสงค์จะมอบให้เท่านั้น ซึ่งย่อมต้องเป็นการสนองตอบผลประโยชน์ของอเมริกาอย่างแน่นอน แต่ในส่วนที่เป็นข้อเสียประการสำคัญก็คือ การดำเนินงานของอเมริกาในประเทศไทย มิใช่เป็นความลับอย่างสมบูรณ์ แต่กลับเป็นที่รู้กันทั่วไป ดังเช่นที่ผู้เขียนได้ค้นคว้ามาเสนอนี้ ก็เป็นเพียงส่วนน้อยจากปริมาณข้อมูลมหาศาลในแหล่งข้อมูลเปิดที่มิได้มีชั้นความลับใดๆ ทั้งสิ้น ความจริงนี้แสดงให้ทั่วโลกเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยมิได้มีอิสระในการดำเนินนโยบายของตนเอง แต่กลับตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา ซึ่งเป็นข้ออ้างอย่างดีของพวก Anti-Semitic ที่จะสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่ได้นำกรณีความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการทำสงครามจิตวิทยากับทางการ

๔. ความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้

๔.๑ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะเน้นไปที่เป้าหมายสำคัญ คือ
๔.๑.๑ กลุ่มประเทศมุสลิม
๔.๑.๒ องค์การการประชุมอิสลาม
๔.๑.๓ สันนิบาตมุสลิมโลก
๔.๑.๔ สภามุสลิมโลก
๔.๑.๕ สภาอิสลามแห่งยุโรป
๔.๑.๖ สมาคมเพื่อการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม

เพื่อให้องค์การเหล่านี้เข้าใจรัฐบาลไทยในทางที่ผิด และพยายามให้ปัญหาเรื่องคนมุสลิมในภาคใต้ เป็นปัญหาที่นานาชาติจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

๔.๒ หัวข้อที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักนำไปโฆษณาชวนเชื่อในต่างประเทศที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
๔.๒.๑ โฆษณาชวนเชื่อว่า คนมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นชนชาติมลายู มิได้เป็นคนไทย
๔.๒.๒ กล่าวบิดเบือนว่า รัฐบาลไทยกดขี่ข่มเหงคนมุสลิมในภาคใต้อย่างทารุณ บังคับในด้านการนับถือศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และในด้านการศึกษา เช่น บังคับให้ชาวมุสลิมในภาคใต้ให้เรียนหนังสือไทย และขัดขวางไม่ให้เรียนภาษามลายูซึ่งอ้างว่าเป็นภาษาแม่ หรือ การห้ามตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นใหม่ เป็นต้น
๔.๒.๓ กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยไม่เปิดโอกาสให้คนมุสลิมเข้าราชการหรือรับการศึกษาในระดับสูง ถ้าหากว่าไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทย
๔.๒.๔ กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยพยายามกลืนชาวมุสลิมในพื้นที่ ด้วยการอพยพคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นจากต่างพื้นที่ เข้าไปประกอบอาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตามนิคมต่าง ๆ)
๔.๒.๕ ขอให้ประเทศกลุ่มมุสลิมยอมรับการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่าเป็นไปโดยชอบธรรม กับขอให้สนับสนุนขบวนการฯ ในการดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดน

จากผลการดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว ทำให้นายพลกาดาฟี ประธานาธิบดีของประเทศลิเบีย ได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนต่อหนังสือพิมพ์นิวส์วิคแห่งอเมริกาว่า ปัญหาคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น เป็นปัญหาที่นานาชาติควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศ (พล.ต.ต.ธานี ทวิชศรี. ๒๕๔๖:๒๔-๒๕)

ปัจจัยผลักดันหรือปัจจัยต่อต้าน ที่เป็นอุปสรรคต่อการแทรกแซงกิจการภายในของไทยจากต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ

๑. การจำกัดขอบเขตในการรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา และการสร้างความเข้าใจอันดีกับรัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ แม้ว่าอเมริกา จะเสนอให้ความช่วยเหลือในการส่งกำลังทหารหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ แก่ไทยหลังจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในปี พ.ศ.๒๕๔๗ โดยนายลารี่ แซลมอน ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตด้านความมั่นคง ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ที่แสดงความเห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายสากลและขบวนการอัลกออิดะห์ อาจจะใช้พื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานปฏิบัติการนั้น (สำนักพิมพ์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ ธ.ค.๔๗) ทางการไทยได้แสดงความขอบคุณและปฏิเสธความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านทางสื่อมวลชน นับว่าเป็นการจำกัดขอบเขตการรับความช่วยเหลือจากอเมริกา อันมีผลในเชิงบวกในสายตาของนานาประเทศ ประกอบกับการใช้มาตรการทางด้านการทูตในการโน้มน้าวกลุ่มประเทศมุสลิม ให้เข้าใจถึงสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ว่ามิได้เป็นผลจากการกดดันชาวไทยมุสลิม แต่เกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่จะนำศาสนามาเป็นเครื่องสนับสนุนในการสร้างแนวร่วมเพื่อก่อการร้าย ซึ่งได้รับความสำเร็จในระดับสูง จากการที่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ มิได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอย่างชัดเจน มีเพียงการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไทยในบางกรณีเท่านั้น

๒. สถานการณ์ก่อการร้ายที่แพร่กระจายไปในภูมิภาคโดยทั่วไป ไม่เลือกว่าจะเป็นประเทศมุสลิมหรือไม่ ทำให้นานาประเทศหันมาให้ความร่วมมือกันในการปราบปรามการก่อ
การร้ายอย่างจริงจัง และในประเทศเพื่อนบ้านก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการลอบวางระเบิดในเกาะบาหลีของนายฮัมบาลี ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตไปกว่า ๒๐๐ คน หรือการต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มกบฏโมโรในฟิลิปปินส์ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์ และ ฯลฯ

๓. ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป มีผลอย่างสำคัญต่อความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศ สามารถสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้นานาประเทศวางใจในการปฏิบัติการของรัฐบาลไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสนามฉันท์ และปราศจากอคติต่อชนชาวมุสลิมในประเทศไทย

สรุปและข้อเสนอแนะ

การก่อความไม่สงบ หรือความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งในเรื่องการเงิน ยุทโธปกรณ์ การฝึก และความเห็นอกเห็นใจ จึงจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งในส่วนของเจ้าของประเทศก็จะต้องกระทำการตรงกันข้าม โดยพยายามชี้แจงให้นานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น และการจับกุมคนร้ายตั้งอยู่บนหลักฐานที่เป็นที่เชื่อถือได้ ดังเช่นกรณีของสหพันธรัฐรัสเซีย ที่กำหนดรูปแบบองค์ปกครองท้องถิ่นในเชชเนียที่มีปัญหารุนแรงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน โดยมอบหน้าที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจหลักในการสร้างความเข้าใจกับประชาคมยุโรปและสมาชิกองค์การนาโต ถึงความจำเป็นของรัสเซียที่จะต้องปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนียอย่างจริงจังและรุนแรง พร้อมกันนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงภัยของการก่อการร้ายที่สามารถจะแพร่กระจายไปในยุโรปทุกประเทศ ดังคำกล่าวของประธานิบดีปูติน ที่ว่า (//english.people.com.cn)

“...We defend our and your interests in the Caucasus and Chechnya. If we allow terrorists to raise their head in one region they will raise it in another one.”

คำกล่าวนี้ทำให้นานาประเทศมีความตระหนัก และไม่ให้การสนับสนุนชาวเชชเนียในการต่อสู้กับรัฐบาลรัสเซีย ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวนี้จึงถูกจำกัดขอบเขตเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยไม่สามารถขยายปฏิบัติการออกไปได้ เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มปฏิวัติไอริชหรือ IRA ซึ่งต่อต้านรัฐบาลสหราชอาณาจักรในพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ จนต้องหันมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตย ความรุนแรงต่าง ๆ จึงลดน้อยลง

ประเทศไทย จะต้องกำหนดนโยบายทางด้านการทูตและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประชาคมโลกและองค์การระหว่างประเทศ ให้ชัดเจนโดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการแทรกแซงพร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องปราบปรามการก่อความไม่สงบเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติใด ๆ โดยมีแนวทางเป็นของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขในการก้าวก่ายกิจการภายในและการละเมิดอธิปไตยของไทยจากประเทศหรือองค์การภายนอกในอนาคต

หมายเหตุ : ท่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยตรง สามารถติดต่อผ่านช่องทาง MSN Messenger ที่ anuchartbunnag@hotmail.com ด้วยความยินดียิ่งครับ

บรรณานุกรม

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. กรณีความขัดแย้งรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพ:อัดสำเนา. ๒๕๔๗.

สำนักพิมพ์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ ธ.ค.๔๗ คอลัมน์ บทบรรณาธิการ. ๒๕๔๗.

ธานี ทวิชศรี, พล.ต.ต. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. ๒๕๔๖.

Center for Strategic and International Studies. Transnational Threats Update. Washington D.C. : CSIS Publishing. 2003.

Emma Chanlett-Avery. Thailand : Background and U.S. Relations. Washington D.C. : Congressional Research Service. 2005.

Emma Chanlett-Avery, Richard Cronin, Larry Niksch and Bruce Vaughn. Terrorism in Southeast Asia. Washington D.C. : Congressional Research Service. 2004.

The National Bureau of Asian Research. The War on Terrorism in Southeast Asia. 2004.

//www.geocities.com/thai_faitai/art27oct_20.htm

//www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9470000098605

//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000074435

//www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9470000076565

//www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=13959

//www.unicef.org/media/media_35041.html

//english.people.com.cn

//korea50.army.mil/history/factsheets/allied.shtml]

//usinfo.state.gov


Create Date : 29 กรกฎาคม 2549
Last Update : 29 กรกฎาคม 2549 21:14:25 น. 0 comments
Counter : 1160 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.