Group Blog
 
<<
กันยายน 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
2 กันยายน 2549
 
All Blogs
 

ความขัดแย้งระหว่าง อิหร่าน กับ สหรัฐอเมริกา

ความขัดแย้งระหว่าง อิหร่าน กับ สหรัฐอเมริกา

พ.อ.อนุชาติ บุนนาค
//www.anuchart.org



นับตั้งแต่ นาย Mamoud Ahmadinejad ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ ต่อจาก Hojjatoleslam Seyed Mohammad Khatami ก็ได้ประกาศนโยบายสำคัญโดยการผลักดันประเทศให้พึ่งพาตนเอง และมีความแข็งกร้าวต่อการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในนโยบายพลังงานด้านการพัฒนาปรมาณู ซึ่งจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อประเทศมหาอำนาจ องค์การสหประชาชาติ และ สำนักงานพลังงานปรมาณูนานาชาติ และการแสดงออกถึงการเป็นศัตรูอย่างรุนแรงต่อประเทศอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ประเทศอิหร่านถูกกีดกันทางการเมืองจากสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถทำการค้าต่อกันได้โดยตรง นอกจากนี้ ประเทศอิหร่านยังคงถูกเพ่งเล็งเรื่องการครอบครองและการพัฒนาปรมาณู ซึ่งมีผลต่อทั้งทางด้านการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสถานภาพทางการเมืองภายในประเทศ ผู้นำศาสนาและคณะกรรมการผู้พิทักษ์ด้านศาสนา มีอำนาจในการตัดสินใจในการออกกฎหมายในขั้นสุดท้าย จึงมีอิทธิพลอย่างสูงในการกำหนดและดำเนินนโยบายทุกด้านของประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา

ในอดีต สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศอิหร่าน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ หน่วยงานลับของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ให้การสนับสนุน นายมูฮัมมัด มูซาเด็ค ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนั้นก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้แก่ราชวงศ์ปาร์เลวีจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๒๒ อยาตอลล่าร์ โคไมมี ได้ทำการประท้วงขับไล่พระเจ้าชาห์ออกจากราชบัลลังก์ และเริ่มนำระบบการปกครองแบบรัฐอิสลามอย่างเข้มงวดเข้ามาใช้ในประเทศอิหร่าน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านจึงเริ่มตึงเครียด และมาประทุขั้นสูงสุดเมื่อ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ เมื่อกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงของอิหร่านได้จู่โจมเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเตหะราน และจับตัวประกันจำนวน ๖๓ คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐจะต้องส่งพระเจ้าชาห์กลับมารับการพิจารณาคดีในอิหร่าน และให้สหรัฐฯ ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของอิหร่านโดยทันที สหรัฐฯ ตอบโต้โดยการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าแย่งชิงตัวประกัน แต่การปฏิบัติการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สหรัฐฯ จึงหันมาใช้วิธีทางการทูตเพื่อแก้ปัญหาตัวประกัน และสามารถเจรจาสำเร็จในเมื่อมกราคม ๒๕๓๔ นับเป็นเวลาที่อิหร่านจับตัวประกันชาวสหรัฐฯ รวม ๔๔๔ วัน นับแต่นั้นมา ประเทศทั้งสองต่างมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง ความสัมพันธ์ในระยะเวลาต่อมาเริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๓ เมื่อ นางเมเดลีน อัลไบรท์ เริ่มการเจรจากับ นายคามาล คาราซี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในกรุงนิวยอร์ก เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๔ ฐานทัพสหรัฐฯ ในซาอุดิอาระเบียถูกลอบวางระเบิดและสหรัฐฯ เชื่อว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ซึ่งทำให้อิหร่านไม่พอใจและปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างรุนแรง แต่สหรัฐฯ ก็เชื่อมั่นว่ามีหลักฐานเพียงพอในการกล่าวหาอิหร่าน หลังจากนั้นองค์การข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ก็ประกาศว่าอิหร่านเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการสร้างอาวุธปรมาณูได้ พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยีในการสร้างขีปนาวุธจากรัสเซียและจีน ประธานาธิบดีบุช (๔๓) ถึงกับประกาศว่า ประเทศที่เป็นแก่นแกนแห่งความชั่วร้ายในโลกมี ๓ ประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก และเกาหลีเหนือ และเนื่องมาจากความสงสัยในการพัฒนาอาวุธปรมาณูของอิหร่านนี้เอง องค์การสหประชาชาติจึงมีความประสงค์จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาค้นหาข้อเท็จจริงในกรุงเตหะราน เนื่องจากช่างเทคนิคชาวรัสเซียได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางการอิหร่าน ในขณะเดียวกันจากการตรวจการณ์ด้วยดาวเทียมจารกรรม ทำให้ทราบว่าอิหร่านได้สร้างสถานีทดลองเพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่ง คือ ที่เมือง Natanz และ Arak
(//news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/3362443.stm)

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านถึงจุดที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารต่อกันสืบเนื่องจากประเด็นโครงการผลิตอาวุธปรมาณูของอิหร่าน ความเป็นอริตั้งแต่อดีตของทั้ง ๒ ประเทศยิ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออิสราเอลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ และอิสราเอลต้องการให้อิหร่านยกเลิกโครงการพัฒนายูเรเนียมเพื่อนำไปใช้ในการผลิตอาวุธปรมาณู นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงอิหร่านกับปัญหาการก่อการร้าย โดยเกรงว่าโครงการปรมาณูของอิหร่านอาจนำไปสู่การแพร่ขยายของอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งสหรัฐฯ ได้ประกาศที่จะใช้ทุกวิธีในการหยุดยั้งอิหร่าน แม้จะต้องเป็นการใช้กำลังทางทหารก็ตาม

อิหร่านได้ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาอาวุธปรมาณู แต่ย้ำว่าเป็นเรื่องของการนำปรมาณูมาใช้อย่างสันติเท่านั้น พร้อมกันนี้ก็ได้แสดง ความเห็นว่า ในฐานะที่อิหร่านเป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยก็สามารถที่จะตัดสินนโยบายต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ โดยปราศจากการกดดันจากภายนอก และในปัจจุบันโลกตะวันตกได้พยายามใช้ประเด็นอาวุธปรมาณูเป็นข้ออ้าง (pretext) ที่จะเข้ามามีอิทธิพลทางด้านการเมืองภายในของอิหร่าน ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง และเพื่อที่สหรัฐฯ จะสามารถคงอิทธิพลของตนในตะวันออกกลาง และในทางตรงกันข้ามสหรัฐฯ กลับเพิกเฉยต่อโครงการผลิตอาวุธปรมาณูของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติแบบ “double standard” และทำให้อิหร่านจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อต้านความไม่ชอบธรรมของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี เห็นว่า ควรใช้วิธีนุ่มนวลในการชักจูงให้อิหร่านล้มเลิกความคิดในโครงการผลิตอาวุธปรมาณู เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหาร ซึ่งองค์การ IAEA ได้ออกมาระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าอิหร่านมีศักยภาพในการผลิตอาวุธปรมาณู แต่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความตั้งใจของอิหร่าน
(//www.nationweekend.com/2006/04/21/NW15_551.php)

ท่าทีของนานาประเทศต่อกรณีการพัฒนาขีดความสามารถด้านปรมาณูของอิหร่าน

นักยุทธศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอาหรับ แสดงความเห็นว่า ความสำเร็จในการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของอิหร่าน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาค รวมถึงระบบใหม่ของการตรวจสอบและถ่วงดุลทางทหาร เพราะเหตุการณ์นี้จะเป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียและประเทศอาหรับอื่นๆ มีความหวาดระแวงขีดความสามารถของอิหร่าน และแนวความคิดในการส่งออกซึ่งการปฏิวัติอิสลามที่ได้รับการปลูกฝังรากลึกไว้โดยอยาตอลล่าห์ โคไมนี อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของอิหร่าน

ประเทศอียิปต์

นายอาห์เหม็ด อาบูล เกอิต รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ สะท้อนความวิตกในภูมิภาค ด้วยการกล่าวว่าอียิปต์ไม่สามารถยอมรับได้กับการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจปรมาณูทางทหารในภูมิภาค อย่างไรก็ตามทางฝ่ายทหารของอียิปต์โดย นายกาดรี ซาอีต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา
ยุทธศาสตร์ในกรุงไคโร มีความเห็นว่า หลังความสำเร็จของอิหร่าน บรรดาชาติอาหรับน่าจะหาทางครอบครองเทคโนโลยีปรมาณูและเสริมสร้างศักยภาพปรมาณูของตัวเอง พร้อมเตือนชาติอาหรับว่าไม่ควรปล่อยให้สหรัฐและพันธมิตรใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่านเพื่อสกัดกั้นโครงการดังกล่าว เพราะทั้งภูมิภาคจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกจากการโจมตี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงคาดว่าชาวชีอะห์ในอิรักจำนวนมากจะลุกฮือขึ้นทำการโจมตีต่อกองทหารสหรัฐฯ ในอิรักอย่างแน่นอน (//www.nationweekend.com/2006/04/21/NW15_551.php)

ประเทศซาอุดีอารเบีย

ภายหลังการปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศก็เสื่อมทรามลงเป็นอย่างมาก โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่านได้กล่าวโจมตีแนวทางการปกครองและความเคร่งครัดในศาสนาผู้นำซาอุดิอารเบียอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในระหว่างสงคราม อิหร่าน-อิรัก เครื่องบินรบของอิหร่านได้ละเมิดน่านฟ้าของซาอุฯ บ่อยครั้ง ซาอุฯ จึงได้ให้การสนับสนุนอิรักในการทำสงครามในครั้งนั้น แต่ภายหลังจากการสิ้นชีวิตของโคไมนี ซาอุฯ ได้พยายามปรับระดับความสัมพันธ์กับอิหร่านให้ดีขึ้น (CSIS. 2001:4) แต่การสะสมอาวุธและการพัฒนาทั้งขีปนาวุธระยะไกลและขีดความสามารถทางปรมาณูของอิหร่าน ได้สร้างความกังวลให้แก่ซาอุฯ เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อการดำรงสถานภาพทั้งของประเทศซาอุฯ และราชวงศ์ซาอุฯ ด้วย ดังนั้น ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อซาอุฯ และเชื่อว่าหากจำเป็นจะต้องเลือกฝ่ายหรือจะต้องแบ่งข้างกันแล้ว ซาอุฯ ย่อมพอใจที่จะให้การสนับสนุนสหรัฐฯ มากกว่าอิหร่านอย่างแน่นอน

สหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีบุช (๔๕) ได้เดินทางไปเยือนกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และได้โน้มน้าวให้
สหภาพยุโรปร่วมทำการกดดันทางการทูตให้อิหร่านยกเลิกโครงการพัฒนาปรมาณู ซึ่งกลุ่ม EU-3 อันประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน รวมทั้งจีนและรัสเซีย ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้มีการเจรจาอย่างจริงจังในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ และอิหร่านก็ได้มีท่าทีผ่อนปรนต่อประเทศเหล่านั้น โดยได้ลงนามในพิธีสารผนวกสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่อาวุธปรมาณู จะพัฒนาเทคโนโลยีปรมาณูที่ใช้ในทางสันติภาพจะไม่นำไปทำการวิจัยเพื่อผลิตอาวุธปรมาณูอย่างเด็ดขาด เพราะเหตุว่า "สนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่อาวุธปรมาณู" มิได้ห้ามการพัฒนาสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานปรมาณู รวมทั้งมิได้ห้ามการทดลองเพื่อสกัดยูเรเนียมเข้มข้นเพื่อใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน (//th.chinabroadcast.cn/1/2004/09/23/64@27279.htm ) แต่สหรัฐฯ ไม่ให้ความเชื่อถือคำแถลงของอิหร่านพร้อมกันนั้นกลุ่มสหภาพยุโรปก็ได้วางแผนที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมกลุ่ม G-8 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงเซ็นต์ปีเตอร์เบอร์ก เพื่อพยายามหาข้อยุติที่เหมาะสม ภายใต้นโยบายที่จะกำจัดการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง จึงเห็นได้ว่าท่าทีของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเกื้อกูลต่อสหรัฐฯ เพียงแต่ต้องการที่จะใช้วิธีทางการทูตเป็นหลัก และไม่ประสงค์จะใช้กำลังทหารเข้าทำการกดดันดังเช่นแนวทางของสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรี โดมินิก เดอ วิลเลอแปงแห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า การใช้กำลังทหารจัดการอิหร่านให้หยุดโครงการพัฒนาปรมาณูไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ส่วนประเทศรัสเซียซึ่งมีสิทธิยับยั้งมติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งในอดีตได้แสดงท่าทีไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรหรือการกดดันต่ออิหร่าน (//72.14.203.104/search?q=cache:UxaXmM-G7ikJ:th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2549+%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99+%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=11)

(หมายเหตุ:อิหร่านเป็นลูกค้าอาวุธรายใหญ่และเป็นลูกค้าของรัสเซียในการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู, ส่วนจีนก็มีการติดต่อค้าขายน้ำมันกับอิหร่านในวงเงินมหาศาล - //203.151.217.75/thairath1/2549/strange/jan/15/str1.php)

องค์การสหประชาชาติ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทำการประชุมพิจารณากรณีของอิหร่านโดยเฉพาะ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ บนพื้นฐานจากการเสนอข้อพิจารณาจากองค์การพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency-IAEA) ที่ประสงค์จะเข้าทำการตรวจสอบศูนย์วิจัยและที่ตั้งเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของอิหร่าน

เมื่อต้นเดือนนี้ (ส.ค.๔๙) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ลงคะแนนเสียง ๑๔ ต่อ ๑ ผ่านมติที่ ๑๖๙๖ ขีดเส้นตายให้รัฐบาลประเทศอิหร่าน ระงับการเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานปรมาณู และโครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมโดยเด็ดขาดภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษด้วยมาตรการคว่ำบาตร (ประเทศที่คัดค้านมตินี้คือกาตาร์) นายจาวัด ซาริฟ เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ ได้แสดงความเห็นว่า การที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาตรการเช่นนี้นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแล้วยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก
(//www.matichon.co.th/news_relate/newsrelate.php?tag950=01for04030249&pagetype=/matichon/matichon_detail.php)

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับราชอาณาจักรไทย

อิหร่านหรือเปอร์เซียในอดีต ไม่ได้เพิ่งมีความสัมพันธ์กับไทยเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อนเท่านั้น หากแต่ก่อนหน้ามิได้มีหลักฐานเอกสารอันบ่งชี้ชัดเจน เพียงแต่พบร่องรอยที่บอกถึงการเข้ามาของพ่อค้าชาวเปอร์เซียและอาหรับในดินแดนสยามตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดังปรากฏโบราณวัตถุจำนวนมากอย่างเหรียญกษาปณ์ ดวงตรา ลูกปัด ข้าวของเครื่องใช้ และประติมากรรม ตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากชาวเปอร์เซียและอาหรับรุ่งเรืองในวิทยาการการเดินเรือมาแต่โบราณกาล จึงเป็นชนชาติแรกๆ ที่เดินทางมาค้าขายในดินแดนแถบอุษาคเนย์ (สำนักพิมพ์มติชน. ๒๕๔๗:๘)

ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถตอนปลายนั้น ได้มีหลักฐานปรากฏว่า มีพี่น้องสองคนเดินทางจากเมืองคุม (Qom)* ในประเทศอิหร่าน เข้ามาทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยา จะเป็นระยะใดที่แน่นอนนั้น ก็มีหลักฐานกล่าวกันปลายกระแส บ้างก็บอกว่ามาแต่ปลายแผ่นดินสมเด็จ
พระนเรศวร บ้างก็ว่าปลายแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ บ้างก็ว่าในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่เป็นที่น่าเชื่อว่า พี่น้องสองท่านซึ่งผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยนั้นควรจะมาถึงกรุงศรีอยุธยาปลายแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะได้มีปรากฏอยู่ในตำราประวัติศาสตร์ไทยหลายเล่มว่า มุสลิมผู้พี่นั้นได้เป็นเพื่อนสนิทของพระมหาอำมาตย์ และเมื่อเข้ารับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว ก็ได้มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงเจ้าพระยาบวรราชนายก

มุสลิมผู้พี่นี้มีชื่อว่า “เฉกอะหมัด” ได้ทำการค้าขายและใกล้ชิดกับเจ้านายและขุนนางข้าราชการในสมัยนั้นมาก ทั้งเป็นเพื่อนสนิทกับพระเจ้าประสาททอง ขณะที่ทรงเป็น
พระมหาอำมาตย์ และได้สนับสนุนให้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทำความดีความชอบจนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพระราชทานตำแหน่งท่านเฉกอะหมัดให้เป็น “พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี” เป็นเจ้ากรมท่าขวา (ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี) นับว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะกรมท่าทำหน้าที่เป็นกระทรวงการต่างประเทศและกรมศุลกากรด้วย เป็นตำแหน่งที่เหมาะสำหรับผู้ชำนาญการค้าขาย และเมื่อได้ร่วมกับเจ้าพระยากลาโหมสุรวงศ์ (พระมหาอำมาตย์) ปราบการจลาจลของพวกญี่ปุ่นได้แล้ว ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น “เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตน-ราชเศรษฐี” มีตำแหน่งเป็นถึงสมุหนายกฝ่ายเหนือ (เจ้าพระยากลาโหม เป็นสมุหนายกฝ่ายใต้) ดูแลบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณถึงครึ่งประเทศ ท่านเฉกอะหมัดก็ได้รับราชการในหน้าที่สมุหนายกฯ ต่อมาจนอายุถึง ๘๗ ปี เจ้าพระยากลาโหมผู้เป็นที่เพื่อนสนิทก็ขึ้นครองราชย์
ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น “เจ้าพระยาบวรราชนายก” ในตำแหน่งจางวางกรมมหาดไทย หรือตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้สืบสกุลสายนี้มักจะเข้ารับราชการและได้รับเงินบรรดาศักดิ์มาแทบทุกรัชกาล

ในยุคปัจจุบัน ไทยและอิหร่านได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ โดยมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งต่อกัน โดยเฉพาะภายหลังจากไทยได้เข้าร่วมสมาชิกกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในปี ๒๕๓๖ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองยังไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร ไทยพยายามเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์กับอิหร่านเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-อิหร่านเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ฝ่ายอิหร่านพยายามส่งเสริมความร่วมมือ และให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นสำคัญ

จากอดีตที่ประเทศทั้งสองมีความใกล้ชิดกันเป็นเวลาช้านาน และภาพลักษณ์ของชาวไทยในสายตาของชาวอิหร่านอยู่ในระดับที่ดีมาก (พลับพลึง คงชนะ. ๒๕๔๙) ไทยได้สนับสนุนอิหร่านในด้านต่าง ๆ เช่น

๑. ช่วยเหลือด้านการเงิน และอุปกรณ์ ไปยังอิหร่านในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวที่กรุงเตหะราน

๒. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นมาโดยตลอด

๓. อิหร่านได้ทำบันทึกข้อตกลงในด้านพลังงานกับกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ซึ่งปตท.กำลังจะยื่นประมูลน้ำมันในอิหร่านในเร็ววันนี้

๔. ไทยเป็นผู้นำอิหร่านเข้าสู่เวทีแห่งความร่วมมือทางด้านวิชาการเกษตร และประมง และอิหร่านเสนอให้มีการทำ FTA ต่อกัน แต่อิหร่านยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกอันเป็นผลมาจากการกีดกันจากสหรัฐฯ ทั้งที่คณะผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก ได้แสดงท่าทีสนับสนุนในหลักการ เนื่องจากไทยเห็นพ้องกับแนวทาง universality และประสงค์ให้มีการขยายสมาชิกภาพขององค์การการค้าโลกให้มากยิ่งขึ้น (//www.mfa.go.th/web/479.php?id=354)ดังนั้น ในอนาคต การลดหย่อนภาษีระหว่างกันคาดว่าไทยจะได้ประโยชน์เพราะไทยส่งสินค้าไปอิหร่านเป็นจำนวนมาก
สรุปการกำหนดท่าทีของไทยต่อความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา

จากปัญหาการพัฒนาศักยภาพด้านปรมาณูและความหวาดระแวงของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านอาวุธปรมาณู รวมทั้งท่าทีแข็งกร้าวของอิหร่านที่มีต่อสหรัฐฯ อิสราเอล และองค์การระหว่างประเทศองค์การต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อคำนึงถึงความใกล้ชิดระหว่างไทยกับอิหร่าน แล้วพิจารณาในประเด็นของความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อิหร่านมีต่อสหรัฐฯ อิสราเอล และกลุ่มชาติอาหรับบางประเทศ ไทยควรแสดงจุดยืนในการที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการดำเนินกิจการภายในและต่างประเทศของอิหร่าน และในขณะเดียวกันก็จะต้องประกาศท่าทีที่ชัดเจนในการที่จะไม่สนับสนุนการสะสมอาวุธและการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง อันจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ โดยการให้การสนับสนุนการดำเนินงานทางการทูตโดยสันติวิธีที่พยายามไกล่เกลี่ยและเสริมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ทั้งในตะวันออกกลางและในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

บรรณานุกรม

พลับพลึง คงชนะ. ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-อิหร่าน. การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อ ๒๗ เม.ย.๔๙.

สำนักพิมพ์มติชน (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม). ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน (เปอร์เซีย) ย้อนรอยสายสัมพันธ์จากยุคสุวรรณภูมิถึงปัจจุบัน. ฉบับประจำวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๐๕)

CSIS-Center for Strategic and International Studies. Saudi Arabia and Iran. Washington D.C. 2001.

//203.151.217.75/thairath1/2549/strange/jan/15/str1.php)

//th.chinabroadcast.cn/1/2004/09/23/64@27279.htm

//news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/3362443.stm

//www.nationweekend.com/2006/04/21/NW15_551.php

//www.mfa.go.th/web/479.php?id=354

//news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/4617398.stm

//www.matichon.co.th/news_relate/newsrelate.php tag950=01for04030249&pagetype=/matichon/matichon_detail.php

//72.14.203.104/search?q=cache:UxaXmM-G7ikJ:th.wikipedia.org/wiki/ %E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2549+%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99+%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=11




 

Create Date : 02 กันยายน 2549
1 comments
Last Update : 2 กันยายน 2549 15:38:03 น.
Counter : 6773 Pageviews.

 

เรารักทุกคนมากค่า สงบสงครามนะคะ

 

โดย: หนูปีโป้ IP: 58.136.137.29 6 ธันวาคม 2550 11:32:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.