พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
14 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
ผักตบชวา (คอลัมน์ รู้ไปโม้ด)

ผักตบชวา

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



สวัสดีค่ะ น้าชาติ

รบกวนขอรายละเอียดของผักตบชวาค่ะ ทำไมเรียกชวาคะ เพราะว่ามาจากอินโดนีเซียใช่ไหม และเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อใด

ขอขอบพระคุณน้าชาติมากค่ะ ขอให้มีความสุขและเป็นที่พึ่งของหลานๆ ตลอดไปนะคะ

เรียงร้อย

ตอบ เรียงร้อย

ผักตบชวาเป็นพืชน้ำ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Eichhornia crassipes ภาษาอังกฤษใช้ Water Hyacinth จัดเป็นวัชพืชลอยน้ำ คงทนต่อดินฟ้าอากาศ ดอกสีม่วงอ่อน สวยงามคล้ายช่อดอกกล้วยไม้ เจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ น่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล จนในปี 2424 ชาวดัตช์ของเนเธอร์แลนด์ที่ปกครองประเทศอินโดนีเซีย นำผักตบชวาเข้ามายังประเทศอินโดนีเซีย

พ.ศ.2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งนั้นเจ้านายฝ่ายในตามเสด็จประพาสที่ประเทศอินโดนีเซีย เห็นพืชชนิดนี้ออกดอกสวย งามทั่วไป ใช้ประดับสระน้ำได้ดี จึงได้แยกต้นนำกลับมาปลูกในประเทศไทย และเรียกชื่อตามถิ่นที่มา

ช่วงแรกเริ่มจากการนำใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม ภายหลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น

จนกระทั่งเกิดน้ำท่วม และไหลเข้าสู่ภายในวังสระปทุม พัดเอาผักตบชวาล่องลอยกระจายไปตามแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ

และขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นปัญหาและอุปสรรคสร้างความเสียหายต่อการคมนาคมทางน้ำและการระบายน้ำทางชลประทาน

จนกระทั่งปี 2456 จึงมีพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาออกมา เพราะปัญหาดังนี้

1.การชลประทาน เมื่อผักตบชวาเกาะกลุ่มเป็นแพขนาดใหญ่ ทำให้ลดการไหลของน้ำลงประมาณ 40% น้ำไหลช้า จนทางเดินของน้ำตื้นเขิน

2.การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ผักตบชวาตายทับถมกันทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน ปริมาณน้ำจะลดลงไม่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้

3.การกสิกรรม ผักตบชวาที่ลอยมากับกระแสน้ำเข้าสู่ที่นา จะทับต้นข้าวจนตาย และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนู

4.การประมง ผักตบชวาเป็นอุปสรรคแก่การเจริญเติบโตของปลา เบียดเบียนที่อยู่อาศัย บดบังแสงสว่าง เป็นผลให้พืชอาหารปลาขนาดเล็ก อย่างไฟโตแพลงตอน-Phytoplankton ซึ่งผลิตก๊าซออกซิเจนด้วย ไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด

5.การสาธารณสุข ผักตบชวาเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หอยไบธีเนีย-Bithynia เป็นพาหะนำโรคพยาธิใบไม้ในตับ ทั้งเป็นที่อาศัยของลูกน้ำของยุงหลายชนิด รวมถึงงูพิษจำนวนมาก

6.การคมนาคม เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสัญจรทางน้ำ ทั้งเรือขนาดเล็กและขนาดใหญ่

7.การท่องเที่ยว ผักตบชวาที่ขึ้นอยู่หนาแน่นทำลายความสวยงามของแหล่งน้ำ และรบกวนกิจกรรมตามแหล่งน้ำ

8.เศรษฐกิจและสังคม ทำให้แผนพัฒนาประเทศไม่ได้ผลตามความมุ่งหมาย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมประมง และเทศบาลท้องถิ่นต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดปีละหลายสิบล้านบาท

ต่อมามีการคิดค้นเพื่อทำลายผักตบชวา ด้วยการนำผักตบชวาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิ การทำเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย เพาะเห็ด ทำก๊าซหุงต้ม เยื่อกระดาษ ตลอดจนทำเป็นเส้นใยที่ใช้ทำหัตถกรรมเครื่องจักสานประเภทกระจาด กระบุง ตะกร้า ฯลฯ บางพื้นที่ผลิตจนเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ผักตบชวาใช้ช่วยบำบัดน้ำเสียได้ โดยทำหน้าที่กรองน้ำที่ไหลผ่านกอผักตบชวาอย่างช้าๆ ทำให้ของแข็งแขวนลอยต่างๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกั้นกรองออก ระบบรากที่มีจำนวนมากจะช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียด และจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จะช่วยดูดสารอินทรีย์ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง รากผักตบชวาจะดูดสารอาหารที่อยู่ในน้ำ ทำให้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียถูกกำจัดไป




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2556 4:39:33 น. 0 comments
Counter : 1230 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.