พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ต้นไม้สายใย งามในสวน"ดูซง" (คอลัมน์ สดจากเยาวชน สุตาภัทร หมั่นดี)

ต้นไม้สายใย งามในสวน"ดูซง"

คอลัมน์ สดจากเยาวชน
สุตาภัทร หมั่นดี



"สมัยก่อนพอถึงหน้าทุเรียนชาวบ้านจะเข้ามาทำกระท่อมหลังเล็กๆ ในสวน หุงข้าว ต้มเผือก ต้มมันกิน ผลัดเวรนอนเฝ้าเก็บทุเรียน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ชอบมาก

กลางคืนจะมีมหรสพ มะโย่ง หนังตะลุงที่เอาใบมะปรางแก่ตัดเป็นตัวหนัง และใช้ยอดใบตองคลี่ใบทำเป็นโรงหนัง เชิดเล่นกันสนุกมาก บางคนก็เอาไม้ไผ่มาทำเป็นเครื่องดนตรี แต่ที่ผมชอบที่สุดคือได้นอนฟังนิทาน เรื่องเล่าจากคนแก่ และเดินเที่ยวเล่นสวนของคนอื่น"

สมาน โดซอมิ ฉายแววตาเปี่ยมสุข เมื่อได้บอกเล่าย้อนวันวานวัยเด็กที่ผูกพันกับวิถีดั้งเดิมซึ่งทุกวันนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

บ้านกือเม็ง อ.รามัน จ.ยะลา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายบุรี ลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส บ้านกือเม็งมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับเมืองรามันในฐานะเป็นชุมชนใกล้ชิดเจ้าเมือง ผลิตเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ และช่วยดูแลช้างม้าสำหรับการทำศึกสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีน้ำสมบูรณ์ บริเวณริมแม่น้ำสายบุรีชาวบ้านทำสวนดูซง หรือสวนผสมผสานที่มีผลไม้หลากชนิด และมีทุเรียนเก่าแก่อายุมากกว่าร้อยปีจำนวนมาก

"ดูซง" คือรูปแบบการทำเกษตรกรรมของคนแถบนี้ เป็นสวนที่ไม่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์ ไม่มีโฉนด สวนมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนปลูกไว้สืบทอดสู่ลูกหลาน สวนชนิดปลูกคล้ายเลียนแบบป่านี้ไม่ต้องดูแลมาก อาศัยความสมดุลของระบบธรรมชาติเกื้อกูลกันและกัน ผลไม้จึงมีหลากหลายชนิดทั้งที่เป็นสมุนไพร ไม้ใช้สอยและไม้กินได้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลูกู ลางสาด มังคุด สะตอ ละมุด ละไม ขนุน กล้วย เพกา และอื่นๆ

พอใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็เข้าไปถากถางหญ้าใต้ต้นผลไม้ ใต้ต้นทุเรียน เวลาทุเรียนหล่นลูกหลานแต่ละคนก็ผลัดกันเข้าไปเก็บตามที่ตกลงกันมาจนกลายเป็นวงจรชีวิต

ใครไปตั้งรกรากไกลก็ฝากเก็บฝากขายฝากกวนทุเรียนส่งไปให้กัน เรียกได้ว่าเป็นระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ดูซงมี 3 ลักษณะ คือดูซงพรุ ดูซงริมแม่น้ำ และดูซงภูเขา

"ดูซงเหมือนสวนหลังบ้าน ทุกครอบครัวต้องมีดูซง"


สวนดูซงจึงให้มิติทางวัฒนธรรม สังคม เครือญาติที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในตระกูล และยังเป็นแหล่งพันธุกรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เห็นได้จากพันธุ์พืช ผลไม้โบราณที่ยังพบเห็นได้ในดูซง

สมาน โดซอมิ เล่าว่า "สวนดูซงมีต้นทุเรียนโบราณสูงใหญ่ออกผลทุกปี บางต้นก็เป็นพันธุ์พื้นเมือง ชาวบ้านเรียกตามลักษณะของลูกทุเรียน อย่างเช่น ทุเรียนนกฮูก ลูกกลมโต ทุเรียนหอยโข่ง เพราะลูกเหมือนหอยโข่ง และมีต้นลองกองอายุนับร้อยปี เจ้าเมืองรามันปลูกไว้ครั้งที่มาเยือนบ้านกือเม็ง"

ในแง่ของพิธีกรรม ทุเรียนที่ได้จากสวนครั้งแรกจะต้องทำพิธีดุอาว์ให้กับบรรพชน ผู้ที่ปลูกเอาไว้ให้ แต่ละครอบครัวจะนัดแนะกันมาพร้อมหน้าทำบุญ ชวนกันมากินข้าวเหนียวทุเรียน เป็นกุศโลบายให้คนในชุมชนทำบุญร่วมกันที่มัสยิด สร้างความสามัคคี และแสดงถึงมิตรไมตรีเอื้ออารีต่อกัน

ดูซงกว้างใหญ่ มีต้นไม้หนาแน่น ไม่มีรั้วใดแบ่งอาณาเขต แต่เด็กๆ บอกได้ว่าพื้นที่ส่วนไหนคือดูซงของครอบครัว เดินเข้าสวนดูซงอย่างมั่นใจ พร้อมชี้ให้ดูบริเวณดูซงของครอบครัว

ไซฟู ด.ช.มูฮำหมัดไซฟุตดีน ซีเซ็ง บอกว่า "ชอบมาดูซงกับแม่ มาช่วยเก็บลองกองและทุเรียนครับ"

มาโซ ด.ช.ฮาฟียี สตาวา ยิ้มหวานก่อนเรียกชื่อลองกองเป็นภาษามลายู "บูเวาะ ดอกอง บูเวาะดอกอง"

สมาน โดซอมิ เล่าว่า "หลายปีก่อนมีดูซงตลอดริมแม่น้ำสายบุรี แต่ไม่กี่ปีมานี้ดูซงเริ่มหายไป มีสวนยางเข้ามาแทนที่ ชาวบ้านหันไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น"

แม้ลูกหลานบ้านกือเม็งจะเติบโตท่าม กลางกระแสความเจริญที่รุกหน้าเข้ามาในชุมชน แต่พ่อแม่ผู้ใหญ่ยังคงรักษาสวนดูซงให้ได้ใช้ประโยชน์พึ่งพาตลอดฤดูกาล

"ดูซงช่วยรักษาดิน น้ำ และสัตว์ สานสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องครอบครัวและเพื่อนบ้าน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันด้วยความสุข" สมาน โดซอมิ กล่าวทิ้งท้าย

ทุ่งแสงตะวันร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอตอนสวนดูซง วันเสาร์ที่ 26 ต.ค.2556 เวลา 06.25 น. ช่อง 3 



Create Date : 25 ตุลาคม 2556
Last Update : 25 ตุลาคม 2556 1:19:47 น. 0 comments
Counter : 1005 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.