ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2563
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
15 พฤศจิกายน 2563
 
All Blogs
 
พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก
พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน เด็กชายจ้อยมีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานและซ้อมมวยไปด้วย
ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีมาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป
เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้วแสดง ท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบาย จากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวย ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น
ขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ 18 ปี ต่อมาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้ ถูกเตะสลบไปนานประมาณ 10 นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆและได้ตลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง 4 ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ 2 ปี ก็ขอลาไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ 1 คน ชื่อบุญเกิด (หมื่นหาญณรงค์) โดยเมื่อครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้ช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว
ภาพเขียนพระยาพิชัยต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งศึกโปสุพลายกทัพมาตีเมืองพิชัยจนดาบหัก
เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าวซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตากและมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอกและเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบไป เจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป
เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น เป็นที่โปรดปรานมากและได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิดและเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อม กรุงศรีอยุธยา
พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา และทหารเข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์
ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย
ในปี พ.ศ. 2313 - 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย "ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ วัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)
ถวายชีวิตเป็นราชพลี 
พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหัก
เมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตนเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทายาทของพระยาพิชัยดาบหัก ก็ได้รับราชการสืบมา โดยท่านเป็นต้นตระกูลของนามสกุล วิชัยขัทคะ วิชัยลักขณา ศรีศรากร พิชัยกุล ศิริปาละ ดิฐานนท์ 
หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน
พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 15 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 5 มีนาคม 2564 11:58:30 น. 1 comments
Counter : 337 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 5 มีนาคม 2564 เวลา:11:33:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.