ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2563
 
All Blogs
 
พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร

พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
ประติมากรรมสำริด “พระอิศวร” แห่งเมืองกำแพงเพชร.
พระนาม “อิศวระ” (Īśvara -Ishvara) ในความหมายของ “จิตวิญญาณสูงสุด-พระผู้เป็นใหญ่” ปรากฏในคัมภีร์พระเวท (Vedas) โดยเฉพาะในคัมภีร์พรหมาณฑปุราณะ (Brahmāṇḍa Purāṇa) ที่กล่าวว่า เมื่อเริ่มต้นกัลป์ หลังจากการสร้างโลกของพระพรหม ได้เกิดมีเด็กผิวสีน้ำเงินเข้มกำเนิดขึ้นบนตักของพระพรหมที่กำลังทำสมาธิอยู่แล้วออกวิ่งร้องไห้เสียงดังไปรอบ พระพรหมจึงตั้งชื่อเด็กว่า “รุทร” (Rudra) แต่เด็กยังร้องขอชื่ออีก 7 ครั้ง พระพรหมจึงตั้งชื่อให้อีก 7 ชื่อ ทำให้พระรุทรได้พระนามถึง 8 พระนาม คือ “ภว ศรรวะ ปศุปติ อุคร มหาเทพ รุทร อิศานและอศนิ” ทั้งทรงมอบเทวี 8 องค์ “สุวรจลา อุษา วิเกศี ศิวา สวาหา ทิศา ทิกษาและโรหิณี” ให้เป็นชายาแก่ทุกพระมูรติอีกด้วย
.
ซึ่งต่อมาจึงได้เริ่มปรากฏพระนาม “ศิวะ” (Śivā –Shiva) ที่หมายความถึงความกรุณาหรือการชำระชีวิตให้บริสุทธิ์ แทนพระรุทร ดังพระนาม "ศิโวมฺสวหะ" (ข้าคือศิวะ) ในคัมภีร์ศิวอาคมและคัมภีร์ศิวอุปนิษัท พัฒนามาเป็น “อัษฏมูรติ”(Aṣṭamūrti) หรือพลังทั้ง 8 แห่งองค์พระศิวะ ที่ประกอบด้วย พระภว-ผู้สร้าง พระศรวะ-ผู้ทำลาย พระรุทร-ผู้กำจัดความเศร้าโศก พระปศุปติ-ผู้เป็นใหญ่เหนือสรรพสัตว์ พระอุคร-ผู้น่าหวั่นหวาด พระมเหนทร-ผู้อยู่เหนือสุด พระภีมะ-ผู้มหึมาและพระอีศานะ (อิศวระ) -ผู้เที่ยงตรง ครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 เกิด “คณะอิศวร” (Ishvara Gana) ผู้บูชาพระศิวะขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมในสมัยราชวงศ์กุษาณะ (Kushan) ได้พัฒนามาเป็นคณะ “ไศวนิกาย” (Shaivism) ที่ปรากฏพระนามและเรื่องราวปกรณัมของพระศิวะอย่างชัดเจนในคัมภีร์ปุราณะทั้งหกเล่ม คือ ลิงคปุราณะ ศิวปุราณะ สกันทปุราณะ กูรมปุราณะพรหมาณฑปุราณะและคัมภีร์อัคนิปุราณะ
.
พระนามอิศวระ หรือ อิศวร (ì-sǔuan) ที่หมายถึง “พระศิวะ-พระมเหนทร-มหินทร (Mahendra) ผู้เป็นใหญ่สูงสุดเหนือทุกสรรพสิ่ง” จึงเป็นอีกพระนามหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหลายยุคสมัย โดยเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมทางพุทธศาสนาก็จะนิยมใช้พระนามนี้ครับ 
.
----------------------------------------------------------
*** ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ปี พ.ศ. 1974 อยุทธยาได้ตีเมืองพระนครศรียโสธระปุระ ศูนย์กลางอาณาจักรเขมรโบราณจนแตกพ่าย  ถึงช่วงปี พ.ศ. 1986 อยุทธยายังส่งกองทัพใหญ่เข้าไปปราบกบฏเจ้าพระยาญาติ-เจ้ายาด–เจ้าพญาคามยาต ที่ เมืองจัตุมุขอีกครั้ง ซึ่งในสงครามกับฝ่ายเขมร อยุทธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกเป็นจำนวนนับแสนคน ซึ่งก็รวมถึงช่างฝีมือทั้งหมด กลับมายังอาณาจักร อีกทั้งยังขนย้ายรูปประติมากรรมสำริดจำนวนมากที่มีทั้งรูปพระศิวะ เหล่าเทพเจ้าฮินดู รูปพระโคนนทิ ช้างเอราวัณ รวมทั้งรูปทวารบาลทั้งรูปนนทิเกศวร มหากาลและรูปสิงห์ จากเมืองพระนครธมมายังอยุทธยาอีกด้วย 
.
เมื่อเสร็จศึกปราบเขมร อาณาจักรอยุทธยาจึงได้เริ่มขยายอิทธิพลขึ้นไปทางเมืองเหนือ ในช่วงปี พ.ศ. 1981 จนถึงปี พ.ศ. 1991 พระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ได้ผนวกรัฐสุโขทัยที่เมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางไว้ในอาณาจักรได้ทั้งหมดเป็นครั้งแรก แต่เพียง 4 ปี ในปี พ.ศ. 1995 พระเจ้าติโลกราช "ราชาผู้พิชิต" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนาได้นำกองทัพลงมายึดกำแพงเพชร ปากยม (พิจิตร) เมืองเชลียง (ศรีสัชชนาลัย) เมืองเชียงชื่น (สวรรคโลก) และกำลังจะเข้าตีกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1999 จนพระบรมไตรโลกนาถต้องส่งกองทัพกลับไปยึดเมืองพิษณุโลกคืน และเสด็จขึ้นไปประทับที่พิษณุโลกในปี พ.ศ. 2006 เพื่อยับยั้งการขยายอิทธิพลของอาณาจักรล้านนา จนเกิดเป็นสงครามใหญ่โดยตรงระหว่างรัฐอยุทธยากับรัฐล้านนาที่ยาวนาน  ซึ่งในที่สุดฝ่ายอยุทธยาก็สามารถยึดดินแดนรัฐสุโขทัยเดิมกลับมาได้ทั้งหมด ในสงครามเมืองเชลียง (เชียงชื่นหรือเมืองสวรรคโลก) อันเป็นสงครามครั้งสุดท้าย (ปรากฏความเลิมพระเกียรติในลิลิตยวนพ่าย) ในปี พ.ศ. 2017 เมืองกำแพงเพชรจึงได้กลับเข้ามาอยู่ในอาณาจักรอยุทธยาอย่างชัดเจนในช่วงเวลานี้ครับ 
.
---------------------------------------------------------------
*** ประติมากรรมพระอิศวรสำริด มีองค์ประกอบทางศิลปะของรูปบุคคลตามแบบยุคพระปิถุ (Preah Pithu) หรือยุคฟื้นฟูงานศิลปะและคติฮินดู หลังศิลปะแบบบายน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ยังมีความนิยมในเมืองพระนครจนถึงสมัยสุดท้าย เป็นรูปหล่อสำริดยืนตรงแบบ “สมภังค์” (Samabhaṅga) สูง 2.10 เมตร ส่วนพระบาทสวมพระธำมรงค์ที่พระองคุลีบาททุกนิ้ว สวมกำไลข้อพระบาท นุ่งภูษาสมพตสั้น มีลายเส้นหมี่ คาดรัดพระองค์ร้อยพู่อุบะอยู่โดยรอบ ด้านหน้าชักชายผ้าบนทิ้งออกมาด้านหน้าเป็นวงขอดที่บริเวณพระอุทร ทิ้งปลายผ้าด้านหน้ายาวลงมา 3 ทบ ล่างสุดโค้งปลายแหลมแบบใบไม้โค้ง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากยุคบายนที่จะทิ้งชายผ้าเป็นหางปลาโค้งขึ้นสองด้านเพียงทบเดียว ด้านหลังทิ้งชายผ้า 3 ทบ ส่วนตีนของภูษาสมพตยังคงคาดด้วยแถบลวดลายประดับตามแบบอยุทธยา
.
ส่วนบนพระวรกายเปลือยเปล่าคาดสายสังวาลและพาหุรัดปรากฏเป็นเศียรนาควาสุกรี 5 เศียรตามขนบแบบเขมร แต่รูปนาคนั้นเป็นงานศิลปะนิยมของฝ่ายอยุธยา สวมกรอศอคาดเป็นแถบมีตาบรูปเส้นข้าวหลามตัดแระดับตรงกลาง ทิ้งพู่ใบไม้แหลมลงมาตามแบบเขมร แต่ลวดลายต่อเนื่องบนแถบถูกเปลี่ยนแปลงเป็นลายดอกไม้มีกลีบซ้อนแบบล้านนา-จีน     
.  
ส่วนพระพักตร์ก็ยังเป็นงานศิลปะพระศิวะแบบเขมรหลังบายน ที่มีพระฑาฏิกะ (เครา) แหลม และมีพระมัสสุ (หนวด) ตามคติพระศิวะผู้เป็น “พระโยคะทักษิณา” ใบพระพักตร์แบบอยุธยา-เขมร พระเนตรเบิกโพลงประดับมุกและนิล มีพระเนตรที่สามที่กลางพระนลาฏ สวมศิราภรณ์ทรงเทริด มีกระบังหน้าตามแบบเขมร แต่ด้านหลังเป็นเทริด (หมวก) ครอบเต็ม ไม่ได้เป็นเพียงปลายกระบังมารัดเชือกด้านหลังตามแบบเขมร ทั้งยังมีครีบข้าง (หูเทริด) ปลายแหลมคั่นหน้าพระกรรณ (หู) ลวดลายประดับศิราภรณ์ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นลายดอกไม้กลมซ้อนดอกต่อเนื่องแบบล้านนา-จีน สลับใบกระหนกแทนลายดอกซีกดอกซ้อนหรือประจำยาม ที่ขอบบนเทริดทำเป็นลายลายกระหนกรูปหยดน้ำมีดอกไม้กลมตรงกลางต่อเนื่อง ซึ่งก็ล้วนเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะอยุทธยาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น
.
ส่วนบนพระเศียรเป็นมุ่นมวยผม “ชฎามงกุฎ” ที่เปลี่ยนเป็นแบบเรียบไม่ทำเป็นเส้นผม ทรงกระบอกแอ่นโค้งกลางเล็กน้อย มีสัญลักษณ์รูปอุ – โอม – ตามแบบรูปอุณาโลม (Unalome) ในความหมายของผู้เป็นใหญ่ ตามแบบศิลปะและคติของอยุทธยาที่ตรงกลาง 
.
ส่วนพระกรสวมกำไลข้อพระกร สวมพระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ แสดงท่ามือหรือมุทราที่เรียกว่า "กรณะมุทรา" (Karana Mudra - กะระณะมุดทรา) เป็นท่ามือสัญลักษณ์ เพื่อการกำจัดอุปสรรคแห่งชีวิต ขับไล่พลังด้านลบและความชั่วร้าย (ปีศาจ) ที่ครอบงำจิตใจ รวมไปถึงโรคร้าย ความเจ็บป่วยที่เบียดเบียนมนุษย์ เป็นท่ามือที่พลังอำนาจของผู้เป็นใหญ่ที่ประทานพรให้แก่ทุกสรรพสัตว์ด้วยความเมตตากรุณา
.
--------------------------------------------------------- 
*** ส่วนฐานของรูปประติมากรรมมีจารึกรอบพระบาททั้ง 4 ด้าน อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย แบ่งเป็น 3 ตอน แปลความว่า (1) "...ศักราช 1432 (พ.ศ. 2053) มะเมียนักษัตร อาทิตยพารเดือน 6 (เมษายน) ขึ้น 14 ค่ำ ได้หัสตฤกษ เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา จึงเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร และช่วยเลิก (ทำนุบำรุง) พระศาสนา พุทธศาสตร์ (ศาสนาพุทธ) ไสยศาสตร์ (พราหมณ์-ฮินดู) และเทพกรรม (อำนาจเหนือธรรมชาติ) มิให้หม่นให้หมองให้ ....
.
(2) .....เป็นอันหนึ่งอันเดียว และซ่อมแปลงพระมหาธาตุและวัดบริวารในเมืองนอกเมือง ที่แดนเหย้าเรือน ถนนถลา (กลางเมือง) อันเป็นตรธาน (ชำรุดทรุดโทรม) ไปถึงเมืองบางพาน ขุดแม่ไตร (แม่น้ำที่) บางพร้อ อนึ่งแต่ก่อนย่อมขายวัวไปแก่ละว้า (พวกลั๊วะ) อันจะให้ขายดุจก่อนนั้นก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืชข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาในยุ้งไปหว่านไปดำดังทั้งหลาย..... 
.
(3) ....อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้น (ตื้นเขิน) และเขาย่อมทํานาทางฟ้า (นาน้ำฝน) และหาท่อนั้น (ให้) พบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแต่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ฯ....”
.
เมื่อพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์และคติความเชื่อในช่วงเวลานั้น ชื่อนาม “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” จึงควรเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้ทรงเคยเป็นอุปราชปกครองรัฐสุโขทัยหรือกษัตริย์แห่งสุโขทัยที่ย้ายศูนย์กลางมาที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลานานกว่า 7 ปี “สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” ก็คือ “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” พระราชบิดาที่ทรงมีเชื้อสายสุโขทัย และเป็นกษัตริย์อยุทธยาพระองค์แรก ที่ทรงเข้ายึดครองรัฐสุโขทัยได้ทั้งหมด กับ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3” พระเชษฐาธิราชต่างพระราชชนนี ที่ครองราชย์เพียงระยะเวลาสั้น ๆ
.
รูปประติมากรรมพระอิศวรสำริด พระนารายณ์และรูปพระนางลักษมี ตามคติความเชื่อของอยุทธยา ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะงานช่างเขมร ตามแบบแผนรูปประติมากรรมสำริดที่ได้ขนมาจากเมืองพระนคร โดยช่างฝีมือเชลยเมืองพระนครที่เพิ่งถูกกวาดต้อนมาอยุทธยาไม่นานนัก ผสมลวดลายอยุทธยา ล้านนาและจีน ตามคติความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูแบบเขมรโบราณที่ยังมีอิทธิพลในราชสำนักช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ได้ถูกส่งขึ้นมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรโดยสมเด็จพระรามธิบดีที่ 2 ผู้ทรงเคยเป็นพระมหาอุปราช “เอกสัตราช” ปกครองพิษณุโลกและหัวเมืองเหนือ กำแพงเพชรเปรียบเสือนเมืองแห่งจิตวิญญาณ ที่อาณาจักรอยุทธยาของพระราชบิดา สามารถชิงคืนมาจากพระเจ้าติโลกราชผู้ยิ่งใหญ่ได้เป็นผลสำเร็จ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2015 อีกทั้งกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่ต่อมาพระองค์โปรด ฯ ให้สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการและใบบังแล ด้วยหินศิลาแลงตามแบบแผนการใช้อาวุธปืนและปืนใหญ่ในการสงครามสมัยใหม่ของชาวโปรตุเกส ที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2054 เพื่อเตรียมรับศึกอาณาจักรล้านนาจากทางเหนือและพม่าจากทางตะวันตก ที่ใช้แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางสำคัญ 
------------------------------------
*** และพระนาม “บรมไตรโลกนาถ”ของพระราชบิดา ยังมีคติความหมายเดียวกันกับชื่อพระนาม “พระอิศวร” อีกด้วยครับ 
เครดิต :
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 05 กันยายน 2563
Last Update : 5 กันยายน 2563 11:02:10 น. 0 comments
Counter : 291 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.