คีย์บอร์ดต่างกระบี่.........ร่ายวจีสยบวายุ
 
 

ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนที่ 21.2 เมตตา & หมาวัด


=====================================
ประกาศ


ผมจะตีพิมพ์บทความชุดนี้เป็นหนังสือพ็อคเก๊ตบุ้คแล้วนะครับ  โดยเ ป็นการตีพิมพ์เอง(โดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์)แบบปริ๊นท์ออนดีมานด์   ทีแรกแม่ผมเค้าก็คิดว่าจะไว้พิมพ์แจกกันเองในหมู่ญาติๆ  แต่เห็นมีคุณผู้อ่านสนใจถามไถ่กันมาหลายคน  ผมเลยคิดว่าถ้างั้นก็ทำให้มันดีๆแล้วพิมพ์ขายเลยแล้วกัน  แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ บทความชุดนี้ผมเขียนขึ้นด้วยความตั้งใจจะเผยแพร่ธรรมะจริงๆไม่ได้หวังผลกำไร เพราะฉะนั้นรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์แล้วผมจะนำไปถวายวัดป่าอัมพวันที่ผมบวชกับไปบริจาคมูลนิธิครับ  ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้น ผมคงต้องรบกวนให้คุณผู้อ่านช่วยโหวตกันอีกทีนึง


ขณะนี้แฟนผมได้ทำการตรวจพรู๊ฟไปได้เยอะแล้วครับ  คาดว่าอีกไม่นานก็คงเสร็จและส่งให้ทางสำนักพิมพ์ประเมินราคาได้  ถึงตอนนั้นผมคงจะต้องขออณุญาตแจ้งให้คุณผู้อ่านเข้ามาจองกัน (อาจจะต้องรบกวนให้ช่วยเลือกแบบปกด้วย) จะได้รู้จำนวนคร่าวๆในการตีพิมพ์ 


อ้อ  ใครไม่สนใจสั่งซื้อก็ไปไม่เป็นไรนะครับ   จะปริ๊นท์ไปอ่านก็ได้ไม่ว่ากัน  หรือจะอ่านเอาจากในบล๊อกผมเฉยๆก็ได้  ผมไม่หวงหรอกครับ   แต่หากอยากจะช่วยสนับสนุนให้กำลังใจผู้เขียน  ผมก็ขอกราบขอบพระคุณงามๆ เน่อ ^^
========================================




NOTE : เนื่องจากตอนนี้เพิ่งเขียนขึ้นหลังจากที่เขียนตอนจบไปแล้ว ผมจึงไม่ได้เอาไปลงที่เว็บ Pantip นะครับ


=================================
ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนที่ 21.2 เมตตา & หมาวัด
=================================
ครูบาแหล่มักจะสอนผมบ่อยๆว่า ให้หมั่นเจริญเมตตาเอาไว้ ท่านว่าสังสารวัฎนี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาลนัก พวกเราเองล้วนแล้วแต่เคยเวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายกัปหลายกัลป์ โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่า ใครหรือสัตว์อะไรก็ตามที่เราได้พบเจอในแต่ละวันนั้นอาจจะเคยเป็นญาติเรามาในชาติก่อนๆ ทุกก้าวย่างที่เดิน ท่านจะสอนให้เดินอย่างระมัดระวังตัว เพราะอาจจะไปเหยียบมดเหยียบแมลงตัวเล็กๆเข้าให้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีบางตัวที่เคยเป็นพ่อเป็นแม่เรามาก่อนก็เป็นได้



แม้กระทั่งใครก็ตามที่ทำอะไรให้เราไม่พอใจ ชอบสร้างปัญหาหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ครูบาท่านก็บอกให้หมั่นแผ่เมตตา และอโหสิกรรมให้เขา ท่านบอกว่าคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นครูของเราทั้งสิ้น เค้าสอนให้รู้ว่าหากเราทำตัวแบบนี้ จะได้ผลยังไง? คนอื่นจะคิดยังไงกับการกระทำของเรา? โดยที่เราไม่ต้องไปลองทำเองดูด้วยซ้ำ ท่านว่าหากคิดได้แบบนี้ ก็จะไม่ต้องไปคิดอาฆาตพยาบาทใคร เพราะเขาก็มีบุญคุณกับเราที่ได้สอนเรา แม้จะโดยทางอ้อมก็ตาม และไม่แน่ว่าที่เขามาทำแบบนี้กับเรา มันอาจจะเป็นวิบากกรรมที่เราเคยทำกับเขามาก่อนเมื่อชาติก่อนๆก็เป็นได้ หากเราคิดที่จะแก้แค้นเพื่อความสะใจมันก็จะเป็นการสานต่อบ่วงกรรมต่อไปอย่างไม่รู้จบ สู้เราแผ่เมตตาให้เค้าก็ไม่ได้ …ง่ายซะยิ่งกว่าต้มมาม่ากินซะอีกครับ



เห็นมั้ยครับ? ว่าไฟพยาบาทอันคุกรุ่นร้อนแรง ..กลับดับลงได้อย่างง่ายดายเพราะ ‘เมตตา’



ผมเชื่อเลยครับที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ว่า ‘เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก’



หลังจากนั้นมาผมก็หมั่นเจริญเมตตาอยู่บ่อยๆ พอได้ทำอะไรที่เป็นกุศลแม้จะเป็นเรื่องน้อยนิดอย่างเช่น กวาดลานวัด หรือ หลังจากที่ระลึกได้ว่าจิตเกิดสมาธิ หรือ เกิดปีติขณะเดินบิณทบาต (อันนี้ครูบาไก่ท่านบอกว่าเป็นสมถะ) ผมก็จะหมั่นแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ และเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายอยู่เสมอ ก็จะเห็นเลยครับว่าจิตเค้าจะสว่างปิ๊ง เกิดจิตที่เป็นกุศลขึ้นมา อ้า ช่างง่ายดายจริงๆครับ



และไม่รู้ว่าผมคิดไปเองรึเปล่า ตั้งแต่อยู่ที่วัดมา แม้จะต้องอยู่กลางป่าเขา ได้ประสบพบเจอกับสัตว์แมลงมีพิษทั้งหลายมาก็มาก แต่ก็ไม่เคยถูกกัดถูกทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจริงๆจังๆซะที จะมีก็แต่ยุงกัดจนตัวลายไปหมด กับเห็บหมูป่าที่ฝากรอยเขี้ยวฝังเอาไว้ที่ไหล่จนบวมแดงไปหลายวัน (แต่ก็ไม่ได้เจ็บแสบอะไรนะครับ แค่คันอย่างเดียว)



พอพูดถึงเรื่องเมตตาแล้ว ก็มีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟังครับ…



เป็นเรื่องของหมาวัดที่มีชื่อว่าเจ้าดำ

เจ้าลิ้นดำ หรือ เจ้าดำนี่เป็นหนึ่งในแก๊งหมาวัดที่มีอยู่ไม่กี่ตัวที่วัดนี้ หน้าตาก็เหมือนหมาวัดที่พบเจอได้ดาษดื่นตามวัดวาอารามทั่วไทย

ทุกๆวันเจ้านี่จะมารอกินข้าวก้นบาตรพระ พร้อมกับสหายตัวอื่นๆ แต่เจ้านี่เค้าจะค่อนข้างเรียบร้อยกว่าตัวอื่นสักหน่อย ไม่ตะกละตะกรามเหมือนเจ้าแดงแฟนมัน ครั้งหนึ่งผมก็เคยเอาอาหารเหลือจากบาตรเทให้มันเหมือนกัน ซึ่งมันก็กินอย่างไม่เหลือหลอ ผมเองก็ไม่ลืมแผ่เมตตาให้มันไปด้วย



หลังจากวันนั้น บางทีพอผมเจอมันผมก็ทักมันบ้าง มันก็จะวิ่งมาหาใกล้ๆ เหมือนอยากจะเล่นด้วย แต่ผมก็ไม่ได้ลูบหัวมัน เนื่องจากเกรงว่าจะผิดวินัย (มีอยู่ข้อหนึ่งห้ามให้พระแตะต้องสัตว์ตัวเมีย) ก็ได้แต่แผ่เมตตาให้มันไป

แล้ววันหนึ่งพอผมออกเดินบิณทบาตตอนรุ่งเช้า จู่ๆมันก็เดินตามมาซะงั้น…



มันวิ่งนำหน้าบ้าง ตามหลังบ้าง ไปเรื่อย แรกๆผมก็นึกว่ามันคงอยากจะออกมาเที่ยวเล่นตามประสา แต่พอผมเดินออกไปได้ไกล ก็ยังคงเห็นมันเดินเลียบๆเคียงๆผมมาอยู่ บางทีก็วิ่งนำหน้าไปดมนู่นดมนี่ บางทีก็รอให้ผมเดินไปได้ซักพักแล้วก็เดินตามมา ผมเห็นว่ามันชักจะมาไกลจากวัดมากแล้ว กลัวมันจะถูกรถชน หรือไม่ก็หมาเจ้าถิ่นแถบอื่นกัด ผมเลยหันไปพูดกับมันว่า

“ ดำเอ้ย ไม่ต้องตามมาหรอก เดี๋ยวก็กลับแล้ว ”



ไม่รู้ว่ามันฟังไม่ออกหรือมันดื้อก็ไม่รู้ แต่พอพูดจบมันก็ยังคงเดินตามมาอยู่ดี ผมก็เลยบอกมันไปอีกครั้ง แต่มันก็ยังคงตามมาอย่างไม่ลดละ จะเดินนำมันกลับไปวัดมันก็ยังไงๆอยู่ ผมก็เลยปล่อยเลยตามเลยก็แล้วกัน

เดินไปได้หน่อยก็เจอถิ่นบ้านคน ผมกำลังจะเดินผ่านไป ก็เห็นมีหมาสามสี่ตัววิ่งมารุมเห่าเจ้าดำ ผมก็นึกแผ่เมตตาให้เจ้าดำและหมาเหล่านั้นพร้อมกับภาวนาไม่ให้มันกัดเจ้าดำเลย กลัวมันจะต้องบาดเจ็บเป็นอะไรเพราะตามผมมาถึงนี่ แต่เจ้าดำเค้าดูไม่กลัวเลยครับ กลับขู่เสียงแฮ่สู้ซะอีก ขนาดสี่รุมหนึ่ง แถมมันยังเป็นหมาตัวเมียอีกต่างหาก ไม่นานนักเจ้าหมาหมู่พวกนั้นก็ยอมให้เดินผ่านไป ซึ่งมันก็วิ่งตามผมมาต้อยๆ ผมล่ะนับถือใจเจ้าดำเค้าเลยจริงๆ

เจ้าดำเค้าตามผมไปเรื่อยตั้งแต่ออกบิณทบาตจนกลับเข้าวัด ขนาดไปรับบิณทบาตที่บ้านโยมที่มีหมาเยอะๆมันก็ยังตามมาอีก (ครูบาชัยแซวว่า ชาวบ้านที่ใส่บาตรคงจะงงที่เห็นหมาเดินตาม แถมหมากับพระสีเดียวกันอีกต่างหาก ) แล้วก็ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ตอนค่ำๆเค้าก็จะมานอนรอผมที่ลานม้าหินข้างศาลาการเปรียญรอผมทำวัดเย็นเสร็จมันก็จะเดินตามไปส่งผมที่กุฏิทางฟากนู้นเกือบทุกคืน ช่วงไหนที่ทางเดินมืดๆที่ไฟฉายส่องไม่ถึง เค้าก็จะวิ่งนำหน้าไปก่อน เหมือนว่าจะคอยดูแลความปลอดภัยให้ รอให้ผมเดินผ่านไปแล้วค่อยเดินตามมา ครูบาจิตวีโรเล่าให้ฟังว่าบางทีมันก็ตามท่านไปนอนใต้กุฏิของท่านเหมือนกัน

ที่แปลกก็คือ พอผมสึกแล้วกลับไปที่วัดแล้วไปหามันใหม่ มันกลับทำเหมือนไม่รู้จักซะงั้น…. ทั้งๆที่ก็น่าจะจำกลิ่นได้แท้ๆเออ ก็แปลกดีนะครับ??

















 

Create Date : 18 ตุลาคม 2553   
Last Update : 18 ตุลาคม 2553 9:11:17 น.   
Counter : 700 Pageviews.  


ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนที่21 ธุดงควัตร ฉันในบาตร

ตอนที่ 21 ธุดงควัตร ฉันในบาตร
==================================

ช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนจะถึงกำหนดการที่ผมจะต้องลากลับวัดที่กรุงเทพ ผมได้ตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะฉันตกบาตร (หรือฉันในบาตร) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุดงควัตร 13*
(* ธุดงควัตร การถือธุดงคบำเพ็ญได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมเป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น ข้อมูลอ้างอิงจาก //www.dhammajak.net/phrapa/13.html)

การฉันตกบาตรนี้หมายความว่า ฉันเท่าที่ตัวเองไปเดินบิณทบาตมาได้เท่านั้น ไม่ตักอาหารจากที่ญาติโยมเอามาถวายเพิ่มมาในตอนหลังอีก ถึงเรียกว่าฉันตกบาตรไงครับ คือฉันเท่าที่โยมใส่’ตก’ลงมาในบาตรเท่านั้น ถือเป็นการฝึกให้กินง่ายอยู่ง่ายตามแบบฉบับของพระป่าครับ

การทำธุดงควัตรนี่หลวงพ่อท่านสนับสนุนให้ลูกศิษย์ทำครับ เนื่องจากช่วยเสริมสร้างความเพียรในการปฏิบัติ และจิตให้จิตของผู้ปฏิบัติ เป็นอิสระพ้นจาก พันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย ส่วนที่ผมทำก็ตั้งใจจะเอาไว้ช่วยฝึกสติด้วยครับ คือดูกิเลสตัวเองไป เวลาที่ไม่ได้กินอะไรที่ตัวเองอยาก แต่ครูบารุ่นพี่ก็เตือนๆผมเอาไว้เหมือนกันว่า ผู้ที่จะทำธุดงควัตรได้ต้องจะมีสติควบคุมตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หลงไปเป็นทาสของมิจฉาทิฏฐิที่เรียกว่า มานะอัตตา หรือความเห็นผิดว่าตัวเองเก่งตัวเอง ตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น และแม้แต่จะปฏิบัติเพื่อหวังผลให้ไปเกิดในภพภูมิของพรหมเทวดาก็ไม่ได้

อาทิตย์นี้ผมได้เวรเดินบิณทบาตสายสี่ (ไม่ใช่พุทธมณฑลสายสี่นะครับ แต่เป็นเส้นทางการบิณทบาตที่พวกเราจัดกันเอง ) ซึ่งถือว่าโชคดีพอสมควรเพราะจะได้รับบิณทบาตอย่างน้อยๆก็สามบ้านแล้วล่ะ ซึ่งถ้าโหดๆหน่อยบ้านเดียวก็มี (ครูบาไก่เคยโดนมาแล้ว ได้ไข่ต้มมาลูกเดียว และกับข้าวอีกอย่างหนึ่ง) ชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวไร่ชาวสวนน่ะครับ กับข้าวส่วนใหญ่ก็เลยจะเป็นกับข้าวง่ายๆ โดยเฉพาะแกงนี่เรียกว่าได้มาแทบทุกวัน ไอ้ผมเป็นคนกินเผ็ดไม่เก่งซะด้วย บางทีได้มาแต่แกงอย่างนี้ พระป่ามือใหม่อย่างผมก็แอบร้อนๆหนาวๆเหมือนกัน (ไม่ลืมดูความรู้สึก’ร้อนๆหนาวๆ’ตามไปด้วยครับ) บางทีก็โชคดีหน่อยได้ของกินที่ชอบ ก็เห็นกิเลสโผล่หน้าออกมาสลอนเลยครับ ก็รู้ทันตามไปจึงจะสงบลงได้

พอกลับมาที่วัด ถึงช่วงที่ต้องเอาอาหารในบาตรไปใส่ถาดรวมกัน ผมก็แบ่งส่วนที่ผมจะฉันไว้ในบาตรครับ แล้วส่วนเหลือผมก็ถวายเป็นสังฆทานไป เช่นได้ข้าวในบาตรมาสามถุงกับกับข้าวสามอย่าง ผมก็แบ่ง ข้าวกับกับข้าวอย่างหนึ่งถวายสังฆทานไป (ครูบาแหล่เคยบอกผมว่า เป็นพระนี่ไม่มีโอกาสทำสังฆทานเหมือนอย่างโยมเขา ก็มีแต่วิธีนี้เนี่ยแหละครับที่จะได้ทำสังฆทานได้บ้าง ซึ่งบางทีครูบาแหล่ท่านก็ทำสังฆทานไปหมดทั้งบาตรเลยก็มี ส่วนผมยังไม่อาจทำได้ขนาดนั้นครับ ….โหดเกิ๊น ) แค่นี้ก็รู้สึกอิ่มบุญแล้วครับ

แล้วผมก็เอาอาหารที่เหลือในบาตร แกะถุงแล้วเทใส่ลงไปในบาตร (บางอย่างก็ไม่แกะครับ เพราะเดี๋ยวมันจะเย็น พาลให้เกิดท้องเสียได้ขึ้นมาได้) จากนั้นก็ปิดฝาบาตรเอาไว้แล้วแยกย้ายกันไปทำความสะอาดวัด และรับประเคน ซึ่งช่วงรับประเคนนี่ผมก็จะได้มีโอกาสดูกิเลสไปด้วย คือรับอาหารที่โยมจัดใส่จานมาถวายแล้วเอาไปเรียงเอาไว้ตามโต๊ะโดยแบ่งเป็นโซนๆไป ระหว่างที่รับมากิเลสเค้าก็บอกผมใหญ่เลยครับ ไอ้นู่นก็น่ากินนะ ไอ้นี่ก็น่ากินนะ ซึ่งผมก็ต้องตั้งสติตามรู้ตามเค้าไปครับ อย่าไปหลงตาม

และสำหรับการฉันตกบาตรนี้ จะมามันส์เอาถึงขีดสุดก็ตอนที่ ได้เวลาที่จะเดินลงไปตักอาหารในโรงครัวนี่แหละครับ ผมต้องนั่งรออยู่ตรงอาสนะนั้น ให้พระทุกรูปเดินลงไปตักอาหารให้เสร็จ แล้วกลับขึ้นมานั่งฉันตามลำดับภันเต ซึ่งวันแรกผมก็ไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ครับ แต่หลังจากที่ครูบาชัยท่านแนะนำว่าวันหลังให้เดินถือบาตรลงไปกับเค้าด้วย (ท่านบอกว่าที่ทำแบบนี้ โยมที่มาใส่บาตรจะได้ไม่เสียน้ำใจ)แต่ไม่ต้องตักอะไรเพิ่ม แค่เดินตามไปเฉยๆ (ท่านเรียกว่าไปเดินดูกิเลส) เท่านั้นแหละครับ โอ้โห เห็นเลยครับ กิเลสทั้งหลายออกมาเดินพล่านกันให้สลอนเลยทีเดียว

แล้วเหมือนจะแกล้งกันครับ ช่วงที่ผมถือธุดงควัตรฉันตกบาตรอยู่นี่ ก็มีญาติโยมมาทำบุญกันเยอะเหลือเกิน มีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนแถวนั้น (ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนเดียวกันรึเปล่า) มาถวายจังหันที่วัดติดต่อกันสองวันเลยครับ อาหารนี่เรียกได้ว่า วางกันพร้อมพรั่งเต็มโต๊ะเลยทีเดียวครับ ในเวลาหิวๆแบบนี้แล้วได้แต่มองดูอาหารที่ชอบผ่านหน้าผ่านตาไป กิเลสนี่เรียกได้ว่าแทบจะออกมาสไตรค์กันเลยทีเดียว ผมก็ต้องใจแข็งสู้กับมันอย่างชนิดที่ว่าตาต่อตาฟันต่อฟันเอาแบบให้ตายกันไปข้างนึงเลยครับ (ไม่ผมก็กิเลสแหละ)

หลังจากไปเดินเสร็จแล้ว ก็มานั่งที่อาสนะอย่างเก่าเพื่อที่ทำการฉัน เรียงตามลำดับภันเต พอครูบาที่แก่พรรษากว่า เริ่มฉันหมดแล้ว ( ในตอนนั้นผมมีพรรษาน้อยสุด เลยต้องฉันเป็นรูปสุดท้าย) ผมก็ลงมือฉัน เริ่มจากการคลุกเคล้าแกงให้เข้ากับกับข้าวแห้งจะได้ไม่เผ็ดมาจนแสบกระเพาะ แล้วก็ค่อยๆฉันไปทีละคำๆ อย่างมีสติ ฟันกระทบข้าว ลิ้นกระทบอาหารสักแต่ว่ารู้รสตามไปอย่างมีสติ แม้อาหารจะปนๆกันอย่างนั้น แถมเลือกก็ไม่ได้ แต่ในช่วงที่หิวๆแบบนั้นก็ยังรู้สึกอร่อยได้ครับ ซึ่งก็ต้องพยายามรับรู้ตามไปอย่าไปหลงเพลินกับมัน

จะว่าไป แม้จะฉันเพียงน้อยนิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่น่าเชื่อครับว่าจะสามารถอยู่ได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกหิว จะมีบ้างช่วงบ่ายๆแต่ก็ไม่ถึงขนาดหิวแบบจะเป็นจะตาย เป็นแค่เพียงท้องร้องบ้างเป็นประปรายซึ่งพอรู้ทันกิเลสตามไปเดี๋ยวก็หายไปเองครับ

แต่ก็จริงอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าครับ พอฉันตกบาตรแล้ว ภาวนาดีจริงๆครับ สติเกิดบ่อย และตอนสายๆไม่มีกิเลสความง่วงมาเข้ามากวนใจอีกต่างหาก (ใครที่เคยไปปฏิบัติธรรมสายวัดป่าที่ฉันเพียงมื้อเดียว คงจะรู้ดีว่า เจ้ากิเลสความง่วงหลังฉันเช้านี่มันช่างหนักหนาสาหัสสากัณท์เพียงใด )

ผมฉันตกบาตรอยู่กี่วันก็ไม่รู้ (น่าจะ 4-5 วันเนี่ยแหละ ) ก็ถึงวันต้องลากลับวัดบ้านที่กรุงเทพที่ผมจากมาตั้งหนึ่งเดือนเต็มๆ เพราะครบกำหนดที่จะต้องลาสิกขา (สึก)แล้ว แถมโยมพ่อก็ไปขอฤกษ์สึกจากที่วัดนู้นมาแล้วด้วย ก็เลยต้องกลับไปอยู่ที่วัดนู้นซักสองสามวันก่อนที่จะสึก

และเรื่องราวประสบการณ์การบวชของผมก็ใกล้จะดำเนินมาถึงตอนจบแล้วล่ะครับ ตอนหน้านี้ก็คงจะเป็นตอนสุดท้ายแล้ว ยังไงก็ต้องขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านทั้งที่ร่วมติดตามกันมาตั้งแต่ตอนแรก และทั้งผู้อ่านขาจร
อนึ่ง ธรรมะที่ผมได้เรียนรู้และนำมาบอกเล่าต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายนั้น ยังถือว่าเล็กน้อยจิ๊บจ้อยนักหากเทียบกับธรรมะของครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้สั่งสอนเอาไว้ ทั้งนี้ผมจึงไม่ได้หวังให้บทความของผมนี้สอนธรรมะอะไรคุณผู้อ่านมากนัก เพียงแต่อยากให้มันเป็นบันไดเล็กๆขั้นหนึ่งที่จะส่งคุณผู้อ่านไปสู่ โลกแห่งธรรมะอันสงบร่มเย็นและแสนจะอัศจรรย์ดังที่ผมได้เคยประสบพบเห็นมากับตัว … หากคุณผู้อ่านจะนำไปศึกษาต่อยอด หรือนำไปเผยแพร่ต่อไปผมก็ยินดี และขออนุโมทนา




 

Create Date : 29 กันยายน 2553   
Last Update : 29 กันยายน 2553 10:06:28 น.   
Counter : 520 Pageviews.  


ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนจบ ลาสิกขา

ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนจบ ลาสิกขา

===========================================

และแล้วก็ใกล้วันที่ผมจะต้องลาจากวัดป่าอัมพวัน กลับไปยังวัดบ้านที่ผมบวชในตอนแรก หลังจากที่เจ้าอาวาสกับพระอุปัชชาที่นู่นได้ให้ฤกษ์สึกมาเป็นวันจันทร์หน้า ซึ่งเป็นเวลาอีกสี่วันให้หลัง (จริงๆผมก็ไม่ได้สนใจเรื่องฤกษ์ยามอะไรนี่เท่าไหร่หรอกครับ แต่เพื่อให้ทางบ้านเค้าสบายใจ ) แต่ในวันรุ่งขึ้นผมก็ต้องย้ายไปวัดนู้นแล้ว เนื่องจากผมอยากจะมีโอกาสในช่วงเช้าแวะไปกราบหลวงพ่อปราโมทย์ ครูบาอาจารย์ที่ผมนับถืออีกรูปหนึ่ง



เช้าวันนั้นผมก็ไปเดินบิณทบาตตามปรกติครับ ซึ่งในตอนนี้เวลาที่เดินย่ำไปบนกรวดขรุขระบนพื้นถนน แทบจะไม่รู้สึกเจ็บแล้ว ผิดจากวันแรกลิบลับ เวลาเปลี่ยนท่าสะพายบาตร เพื่อให้โยมได้ใส่บาตร ก็ทำได้อย่างคล่องแคล่วไม่เก้ๆกังๆเหมือนตอนแรก หลังจากรับบิณทบาตรโยมเสร็จ ผมก็เดินมาตามถนนคดเคี้ยวสายเดิมที่เคยเดินทุกวัน ผ่านหมู่แมกไม้ที่ฉาบแสงอาทิตย์สีส้มยามเช้า เสียงไก่ขันรับอรุณระคนกับเสียงหมาเห่ามาจากไกลๆ ….จะว่าไป ผมก็แอบนึกใจหายเหมือนกันที่วันพรุ่งนี้ผมจะไม่ได้มาเดินแบบนี้แล้ว ……แต่ก็นี่แหละครับ อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต สิ่งที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกงล้อแห่งธรรม สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้พร่ำสอนอยู่เสมอไม่ให้ไปยึดมั่น ถือมั่น แม้กระทั่งตัวธรรมะเอง (ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ : ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดติด)



วันนี้โยมพ่อกับโยมเพื่อนพ่อได้มาที่วัดเพื่อมาอยู่ปฏิบัติธรรมที่นี่หนึ่งคืน เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้รับกลับแต่เช้า ระหว่างนั้นก็ช่วยกันบูรณะปฎิสังขรกุฏิสงฆ์ที่ชำรุดตามที่ผมได้แนะนำท่านไป (เค้าเตรียมอุปกรณ์มาเองเสร็จสรรพ) ส่วนผมก็จัดการเตรียมย้ายข้าวของจากกุฏิในป่าไปไว้ใต้โบสถ์ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรมากมายเท่าไหร่หรอกครับ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือธรรมะซะเยอะ กับมุ้งอีกหนึ่งหลัง (ซึ่งตอนหลังก็ไม่ได้ใช้แล้ว)



หลังจากขนของเสร็จ วันทั้งวันผมก็ทำกิจวัตรเหมือนเดิมแหละครับ เพียงแต่ตอนเย็นผมก็ไปเตรียมตัวสรงน้ำให้หลวงพ่อ (จริงๆก็สรงมาให้ท่านมาสองสามวันแล้วล่ะครับ) อย่างน้อยๆจะได้ตอบแทนบุญคุณท่านซักหน่อยก็ยังดีครับ



ผมขอเล่าเรื่องการสรงน้ำครูบาอาจารย์ให้ทุกท่านฟังกันหน่อยครับ ซึ่งในตอนแรกผมเองก็ไม่นึกว่ามันจะเป็นเรื่องยุ่งยากขนาดนี้ แต่พอได้ลองมาทำถึงรู้ว่ามันก็วุ่นวายไม่ใช่น้อย (ไม่แน่ใจว่าที่อื่นจะเป็นเหมือนกันรึเปล่า)



การสรงน้ำนั้น อย่างน้อยๆต้องใช้ครูบาครับ เริ่มแรกก็ต้องเตรียมกาละมังและถังน้ำสังกะสีสองใบให้พร้อม ในกาละมังนั้นจะมีไม้ท่อนเล็กๆสองท่อน (ลักษณะเหมือนขาโต๊ะเรียน ยาวประมาณหนึ่งไม้บรรทัด) ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าเอาใช้ทำอะไรเหมือนกัน แต่เดี๋ยวค่อยบอกให้ฟัง จากนั้นก็แบ่งหน้าที่กันไปทำ คนหนึ่งต้มน้ำ อีกคนไปเก็บผ้าไตรจีวรที่ตากไว้ พร้อมทั้งผ้าอาบน้ำฝน เอามาพับเตรียมไว้ แล้วก็มานั่งรอ



พอหลวงพ่อท่านมาถึง ก็ต้องเข้าไปขอโอกาสท่านก่อน จากนั้นก็มีคนหนึ่งเอาน้ำที่ต้มใส่ถังสังกะสีมา ส่วนอีกคนก็เอาสายยางเปิดรองน้ำใส่กาละมังเอาไว้ พอท่านมานั่งที่แท่น ( ถอดจีวรออก แล้วนุ่งผ้าอาบน้ำฝน) โดยนั่งห้อยขาลงไป (จะมีแท่นสำหรับไว้ให้ท่านนั่งสรงน้ำอยู่กลางแจ้ง โดยด้านหน้าจะเป็นกอไผ่บังเอาไว้) คนหนึ่งก็เอาฟองน้ำขัดหลังให้ท่านส่วนอีกคน ก็คอยล้างขาล้างเท้าให้ท่าน เสร็จแล้วก็ให้ท่านอาบเองซักพัก ระหว่างนี้ก็ให้อีกคนเอาจีวรไปใส่ไว้ในถังสังกะสีที่ใส่น้ำร้อนเตรียมไว้ แล้วทำการซักโดยการใช้ไม้สองอันทิ่มๆลงไปในน้ำร้อน สลับกับเกี่ยวขึ้นมาบิด ซึ่งตอนแรกผมก็ทำไม่เป็นครับ โชคดีที่มีครูบาฝรั่งมาช่วยสอนอีกคน ท่านทำได้อย่างชำนิชำนาญมากครับ ใช้ไม้อันนึงเกี่ยวผ้าด้านหนึ่งขึ้นมา ส่วนอีกอันก็เกี่ยวม้วนเข้าหาเพื่อบิดน้ำออก (ดูแล้วก็ทึ่งในภูมิปัญญาคนสมัยก่อนจริงๆครับ แค่ไม้สองท่อนก็ใช้ซักผ้าได้) พอผมขอลองทำมั่ง ก็โอ้โหยากแท้ครับ น้ำก็ร้อน ต้องค่อยๆทิ่มผ้าเบาๆเดี๋ยวน้ำกระฉอก แถมพอเวลาเกี่ยวผ้าขึ้นมา ผ้าที่อุ้มน้ำก็หนักอีกต่างหาก ก็พอถูๆไถๆไปได้จนเสร็จแหละครับ



พอท่านสรงน้ำเสร็จแล้ว ก็จะมีคนหนึ่งยื่นผ้านุ่งผืนใหม่ให้ท่านเปลี่ยน โดยจะต้องจับจีบและพับทบเข้ามาให้ท่าน และรัดด้วยรัดประคด (เหมือนเข็มขัดอะครับ) จังหวะนั้นอีกคนหนึ่งก็จะนั่งยองๆรอที่เท้าท่าน แล้วก็ดึงผ้าอาบน้ำฝนที่เปียกออก แล้วก็เอาไปซัก ส่วนอีกคน (คนที่เปลี่ยนผ้านุ่งให้นั่นแหละครับ) ก็จะไปช่วยท่านห่มจีวรต่อไป จึงเป็นการเสร็จขั้นตอนการสรงน้ำ



วันนั้นพอสรงน้ำหลวงพ่อเสร็จ ผมก็คลานถือพานธูปเทียน(ที่โยมพ่อเตรียมมาให้)ไปหาท่านแล้วบอกท่านว่าผมจะมาขอขมาท่าน และลากลับวัด ท่านก็ยิ้มๆแล้วบอกให้ผมไปนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อยก่อน (ตอนนั้นผมอยู่ในชุดลำลอง) ผมก็ลืมไปเลยไปรีบนุ่งผ้าเสร็จแล้วค่อยคลานไปหาท่านใหม่ ท่านก็ให้ผมกล่าวคำขอขมา ผมก็ว่าไป ท่องติดๆขัดๆบ้างด้วยความตื่นเต้น ซึ่งท่านก็ช่วยแก้ให้ พอกล่าวเสร็จผมก็มอบพานธูปเทียนให้ท่าน ซึ่งท่านก็รับไปแล้วก็พูดคุยกับผมซักพัก ท่านบอกว่าจริงๆก็อยากให้ผมบวชนานกว่านี้อีกซักหน่อย แต่ท่านก็เข้าใจว่ามีกิจทางโลกที่ต้องกลับไปทำ ท่านสอนผมว่าสึกออกไปแล้ว ก็ต้องไปเผชิญกับโลกภายนอกซึ่งมีแต่ความวุ่นวายก็อย่าได้ลืมนำธรรมะที่ได้มีโอกาสมาศึกษาในช่วงบวชไปใช้บ้าง ผมก็บอกท่านว่า แม้ผมจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่แบบฆราวาส แต่ผมก็จะไม่ลืมปฏิบัติธรรมและจะช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมะของพระพุทธองค์ดังที่ผมได้กล่าวเอาไว้แล้วในตอนที่ 20 ท่านก็ยิ้มแล้วพยักหน้ารับ แล้วผมก็กราบเท้าท่านสามครั้ง ด้วยความมีปีติ ขนลุกซู่ขึ้นมา รู้สึกได้ถึง ‘เมตตา’ อันร่มเย็นของหลวงพ่อ



แล้วจากนั้นผมก็กลับไปทำวัตรเย็นตามปกติ พอเสร็จจากทำวัตรเย็น ผมก็เตรียมไปลาครูบา(ศิษย์พี่)ทั้งหลาย เนื่องจากถ้ามาลาในตอนเช้าทีเดียวเดี๋ยวจะไม่ทันเอา (เพราะต้องออกแต่เช้า) เริ่มจากครูบาไก่ครับ ผมกราบลาท่านที่ใต้โบสถ์ ซึ่งท่านก็บอกให้รอซักพักแล้วท่านก็ไปไรท์ซีดีธรรมะมาให้ ผมก็กล่าวขอบคุณท่านแล้วก็ทำการสละผ้าจีวรและสังฆาฏิ เนื่องจากวัดบ้านที่ผมจะกลับไปใช้จีวรคนละสี (เป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์ หากจะนุ่งจีวรผืนใหม่ ก็ต้องทำการสละผืนเก่าก่อนโดยการลูบผ้านั้นสามครั้งแล้วกล่าวคำสละเป็นภาษาบาลี ) จากนั้นก็เดินกลับไปยังฝั่งวัดเก่า แวะไปกราบครูบาจิตวีโรที่กุฎิ ท่านก็คุยซักพักแล้วก็ให้พร เสร็จแล้วผมก็ค่อยเดินขึ้นเขาไปยังกุฎิหลังที่อยู่ลึกสุดของครูบาแหล่ ครูบาแหล่ท่านก็ยิ้มๆ แล้วก็บอกกับผมว่า แม้จะสึกออกไปแล้วก็อย่าลืมสู้กับกิเลสมันบ่อยๆ อย่าไปยอมตามมันมากเดี๋ยวจะเคยตัว แล้วท่านก็ไปหยิบสมุดเก่าๆ(เหมือนสมุดลายเส้นของโรงเรียนวัดอะครับ)แบบที่มีคนเขียนมาแล้วบ้าง(สมกับเป็นครูบาแหล่จริงๆ) ซึ่งเป็นสมุดท่านเขียนธรรมะของท่านเอาไว้เต็มไปหมดมาให้ผม ผมก็เกรงใจท่านไม่กล้ารับ ท่านก็บอกว่าเอาไปเถอะท่านตั้งใจจะให้จริงๆ ผมก็เลยรับมาแล้วกล่าวขอบคุณในความเมตตาของท่าน จากนั้นก็กลับไปยังกุฏิตัวเอง



วันรุ่งขึ้นผมก็ตื่นขึ้นมาตีสามตามปกติแล้วไปเตรียมแปรงฟันล้างหน้า แล้วไปนั่งสมาธิ ทำวัตรเช้า ขนข้าวของไปไว้ที่รถของโยมพ่อ แล้วก็ไปกราบลาครูบารูปอื่นๆ เพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง

ผมกลับมาถึงบ้านที่ผมบวชเมื่อตอนแรกประมาณบ่ายโมงกว่าๆ ก็เข้าไปกราบพระอุปัชชา ท่านก็ทักทายแล้วให้ผมเอาข้าวของไปเก็บไว้ที่กุฎิ เสร็จแล้วผมก็เดินจงกรมนั่งสมาธิซักพักแล้วก็ค่อยไปทำวัตรเย็นร่วมกันที่โบสถ์ (ที่นี่ทำวัตรเย็นตอนสี่โมงเย็นครับ)

กลับมาคราวนี้ปรากฏว่ามีพระใหม่ๆมาบวชกันหลายรูปทีเดียวครับ แถมวันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ก็เห็นว่าจะมีทะยอยกันมาบวชอีกสองรูป พระหนึ่งที่บวชพร้อมกันกับผมก็ยังอยู่ ท่านบอกว่าคงจะได้สึกก่อนหน้าผมวันนึง ทั้งที่จริงๆแล้วท่านกะไว้ว่าจะสึกเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสเพิ่งจะกลับมาจากกิจนิมนต์ทางเหนือ ท่านเลยต้องรอมาถึงอาทิตย์นี้



หลังจากทำวัตรเย็นกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็กลับไปยังกุฏิเพื่อสรงน้ำแล้วก็แวะเอาหนังสือธรรมะที่ยืมหลวงพี่สุริยนไปอ่านที่วัดป่ามาคืน ก็เห็นพระใหม่รุ่นน้องผมนั่งคุยกันอยู่ที่ม้านั่งหน้ากุฎิ ผมก็เข้าไปทักทายปราศรัยซักหน่อย พระหนึ่งก็แนะนำให้พระรุ่นน้องฟังว่า ผมเป็นใคร แล้วทำไมจู่ๆถึงมาอยู่ที่นี่ได้



ผมอยู่คุยกับพระใหม่ๆซักพัก แล้วค่อยขอปลีกตัวออกมา เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่จะคุยกันแต่เรื่องทางโลก ซึ่งผมเห็นว่าไม่มีสาระสำคัญอะไรต่อการปฏิบัติ แถมบางรูปก็เอาทีวีมือถือออกมาดู เอาบุหรี่มานั่งสูบกันซะอีก …..แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร พยายามดูอย่างเป็นอุเบกขาไป ก็อย่างที่ครูบาแหล่เคยสอนผมไว้ว่า ใครเขาจะทำอะไร เป็นยังไงก็ช่างเขา เราเพียงแต่ปฏิบัติตัวของเราเองให้ดีก็พอแล้ว



ผมกลับมายังกุฎิ ในใจก็ยังวางอุเบกขาไม่ลง แอบนึกเสียดายช่วงเวลาอันแสนจะมีค่าในการบวชของพระน้องใหม่แทนไม่ได้ ผมเลยคิดว่าจะบริจาคหนังสือธรรมะที่ผมได้มาสี่เล่ม ถวายเป็นสังฆทานไป แล้วผมก็เขียนคำแนะนำและข้อเตือนใจเท่าที่ผมนึกได้ใส่กระดาษแผ่นหนึ่งแนบไปด้วย แล้วพรุ่งนี้ค่อยเอาไปให้ ผมถือว่าได้ทำ ‘เหตุ’ คือ หน้าที่ของพระรุ่นพี่ที่ดีแล้ว ส่วนที่เหลือ ไม่ว่า ’ผล’จะเป็นอย่างไร ผมก็ขอวางอุเบกขาแล้วครับ



สองสามวันนี้ที่กลับมาอยู่วัดบ้าน ผมก็ช่วยทำความสะอาดวัด เก็บกวาดขยะ และทำความสะอาดกุฏิ ไปพลาง ระหว่างนี้ผมก็ได้สังเกตุเห็นถึงความแตกต่างมากมายระหว่างที่นี่กับที่วัดป่า เสียงรถเสียงรา เสียงผู้คน ระคนกับเสียงกลอง เสียงประโคมดนตรีงานบวชที่ดังระงมไปทั่ววัด กิจนิมนต์ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย (จนถึงขนาดต้องไปนิมนต์เณรจากวัดอื่นมาช่วย)โดยเฉพาะช่วงเสาร์อาทิตย์ที่เป็นวันพระใหญ่(วิสาขบูชา)เช่นนี้ พอเดินลงจากกุฏิมาข้างล่างญาติโยมก็เดินกันขวักไขว่มากมายเหลือเกินจนแทบจะชนพระอยู่แล้ว



ผมเดินฝ่าฝูงชนเข้าไปยังโบสถ์ แล้วไปกราบพระประธาน น่าแปลกที่บรรยากาศในตัวโบสถ์นั้นช่างเงียบสงบ มีโยมอยู่เพียงสองสามคน ผิดแผกแตกต่างไปจากข้างนอกราวกับอยู่กันคนละโลก ผมนั่งสมาธิอยู่ที่นั่นซักพักใหญ่ แล้วค่อยเดินกลับออกมาข้างนอก มาเผชิญกับความอึกทึกวุ่นวายในวัดต่อไป



ดูๆไปแล้วผมรู้สึกปลงนิดๆครับ ทุกวันนี้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นั้นยังคงเข้าวัดกันด้วยความเชื่อแบบผิดๆอยู่ บางเข้ามาทำบุญ บางคนเข้ามาสะเดาะเคราะห์ บางคนมาขอของดีของขลัง (ขอเลข??) บ้างก็มาเอาน้ำมนตร์ มานั่งฟังธรรมกันแบบส่งๆ (คือนั่งพนมมือแล้วก็คุยกันเพราะนึกว่า แค่ฟังแล้วจะได้บุญ) วัดวาอารามนั้นจึงลดค่าลงเป็นเพียงแค่ ‘สถานประกอบพิธีกรรม’เท่านั้น และหากถามชาวพุทธเหล่านี้ว่าแก่นแท้ของศาสนาพุทธคืออะไร? ผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าพวกเขาจะตอบกันอีท่าไหน?



ผมพลอยนึกถึงคำของหลวงปู่ชาที่ท่านได้พูดเปรียบเปรยเอาไว้ว่า เหมือน ‘กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว’ คืออยู่ใกล้ๆสิ่งที่ดีงามแท้ๆ แต่กลับไม่เห็น ไม่ได้กลิ่นหอมของดอกบัว อาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้เกินไปจนมองไม่เห็นคุณค่าของมัน เฉกเช่นกัน หากจะเปรียบชาวพุทธที่ไม่สนใจศาสนาพุทธ ไม่สนใจธรรมะเป็น ‘กบเฒ่า’ ผมก็เห็นว่าควรจะเปรียบ ‘พระ’ ที่บวชเข้ามาแล้วไม่สนใจศึกษาธรรม ว่าเป็นหนอนที่อยู่ในใบบัว คืออยู่ใกล้ชิดกับดอกบัวจนอาศัยดอกบัวเป็นที่พึ่งอาศัย แต่กลับไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แถมค่อยๆกัดกินบัวเป็นอาหารอีกต่างหาก



กลับเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ…



และแล้วในที่สุด ก็ถึงวันจันทร์ที่ผมได้ฤกษ์สึก ลูกศิษย์วัดได้จัดการเตรียมถังน้ำมนตร์ไว้ใช้อาบเรียบร้อย ส่วนโยมพ่อผมก็มาแต่เช้า เตรียมเสื้อผ้าชุดขาวและพวงมาลัยสำหรับไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆรอบวัดมาให้ พิธีกรรมเริ่มตอนประมาณตีห้าหลังจากทำวัตรเช้าเสร็จเรียบร้อย ผมกับพระอีกรูปที่สึกวันนี้เหมือนกัน ก็คลานเข่าเอาพานธูปเทียนและพวงมาลัยไปถวายแก่ท่านเจ้าอาวาสและกล่าวคำลาสิกขาที่เตรียมท่องมาเป็นภาษาบาลี จากนั้นก็ค่อยๆคลานเข่าเอาดอกไม้กับซองปัจจัยไปถวายให้แก่พระทุกรูปตามลำดับ แล้วค่อยออกมาข้างนอก เปลี่ยนเป็นผ้านุ่งขาว (แบบที่ใส่ตอนเป็นนาค) แล้วไปนั่งเก้าอี้พนมมือ ให้โยมพ่อ เอ้ย ต้องเป็น ‘พ่อ’ เฉยๆแล้วสินะ เอาน้ำมนต์มาอาบให้ จากนั้นก็แต่งตัวด้วยชุดขาวอยู่วัดไปก่อนจนถึงฤกษ์ออกวัดตอนเก้าโมงเก้านาที ( …ก็อีกแหละครับ ให้ผู้ใหญ่เค้าสบายใจ)



37 วันในการบวช แม้มันจะดูไม่มากนัก แต่สำหรับผมแล้วมันก็ไม่ได้น้อยเกินกว่าความตั้งใจในการศึกษาธรรมะและความเพียรในการหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอย่างไม่ย่อท้อ ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตั้งแต่วันแรกที่ผมปฏิญาณตนว่าจะเป็น ‘พระที่ดี’ จนถึงวันที่ผมลาสิกขานั้น ผมได้ใช้ช่วงเวลานี้อย่างมีคุณค่าสมกับเป็นเนื้อนาบุญที่ดีผืนหนึ่งพระพุทธศาสนา และผลแห่งบุญที่ได้งอกงามมาในนาผืนนี้ก็คงจะตกต้องแก่พ่อแม่ ญาติๆ และเหล่าครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพรัก ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณของท่านเหล่านั้นได้อย่างเต็มภาคภูมิ

………

หกโมงเช้า …. พระทั้งหลายต่างทยอยกันกลับกุฎิเพื่อเตรียมออกบิณทบาต ไฟที่โบสถ์ถูกดับลงไปแล้ว คงเหลือเพียงความมืดสีดำสนิทที่ลอยคว้างอยู่ในโบสถ์ มีเพียงแสงไฟที่ส่องลงมายังพระประธาน ผมก้มลงกราบครั้งหนึ่ง กราบพระพุทธ พลางนึกว่าได้กราบลงแทบเบื้องพระบาทขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่สองกราบพระธรรม พลางนึกถึงธรรมะอันสงบร่มเย็นของท่านที่มอบให้ไว้แก่ชาวโลก กราบครั้งที่สาม พลางนึกถึงครูบาอาจารย์ของผม แบบอย่างแห่งพระสุปฏิปัณโณที่ยังคงมีอยู่มากมายทั่วเมืองไทย รู้สึกปีติแผ่ซ่านขึ้นมาทั่วร่าง



กราบครั้งนี้…แม้จะอยู่ในสถานะที่ต่างออกไป หากแต่ใจของผมที่มั่นคงต่อพระรัตนตรัยต่อไปจากนี้จะไม่มีวันเสื่อมคลาย



ผมแหงนหน้ามองที่พระประธานเบื้องหน้า สีทองอร่ามขององค์พระสะท้อนแสงไฟ ส่องเป็นประกายเรื่อเรืองอยู่ท่ามกลางความมืดมิดภายในโบสถ์ ประหนึ่งธรรมะของพระพุทธองค์ที่ยังคงเปล่งประกาย ราวกับดวงไฟประภาคารที่ส่องแสงโชติช่วงแหวกฝ่าความมืดมิดแห่งมวลอวิชชา และนำทางสรรพสัตว์ผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลทุกข์แห่งสังสารวัฏไปสู่ห้วงนิพพานอยู่ทุกเมื่อเชื่อยาม



…..ผมเองก็จะขออาสาเป็นเทียนเล่มเล็กๆหนึ่งที่ต่อไฟสว่างของท่าน ไปสู่ผู้คนรอบข้างสืบไป



ธรรมรักษาครับ

ซงย้ง


สุดท้ายนี้ผมต้องขอกราบขอบพระคุณ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย

…ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติๆทั้งหลาย และคุณตาของผมที่มั่นคงในธรรม แฟนผมและเหล่ากัลญาณมิตรญาติธรรม ครูบารุ่นพี่ทั้งหลาย และอาจารย์ที่ผมเคารพรัก ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อจรัญ หลวงพ่อวิริยังค์ หลวงพ่อจันดี ท่านพ่อลี หลวงปู่ชา ท่านว.วชิรเมธี ท่านป.อ.ปยุตโต หลวงพ่อไพศาล วิศาโล หลวงพ่อปราโมทย์(ซึ่งใครจะว่ายังไง ผมก็ยังเคารพอยู่เสมอ) และอีกหลายท่านที่ผมไม่ได้เอ่ยชื่อ สิ่งศักด์สิทธิ์เทวดาทั้งหลายที่ปกป้องคุ้มครองผมตลอดการบวชผม ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลทั้งหลายที่ได้จากการเผยแพร่บทความธรรมะของผมนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายรวมทั้งท่านผู้อ่านได้รับถ้วนหน้ากันเทอญ




 

Create Date : 29 กันยายน 2553   
Last Update : 29 กันยายน 2553 10:02:56 น.   
Counter : 571 Pageviews.  


ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนที่20 หลวงพ่อจันดีผู้เปี่ยมด้วยเมตตา

ตอนที่ 20 หลวงพ่อจันดีผู้เปี่ยมด้วย
====================================

ผมเชื่อว่าญาติโยมทุกคนที่เคยมาวัดป่าอัมพวัน นอกจากจะได้พบกับความสงบของบรรยากาศแมกไม้ชายป่าอันร่มรื่นของวัดแล้ว หากได้มีโอกาสเข้าไปนั่งที่ศาลาการเปรียญ ทุกคนก็คงจะสัมผัสได้ถึงความร่มเย็น อันเกิดจากเมตตาบารมีของหลวงพ่อจันดี และรอยยิ้มอันเปี่ยมด้วยเมตตาของท่าน

และที่ผมได้มีโอกาสเขียนเล่าประสบการณ์การบวชของผมให้ทุกท่านได้อ่านกันอยู่นี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ท่านได้เมตตาให้ผมย้ายมาศึกษาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการจะมาบวชที่วัดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมาอยู่เป็นผ้าขาวเพื่อดูความประพฤติก่อน อย่างน้อยๆหนึ่งเดือนถึงจะบวชได้ แต่ผมนั้นเพิ่งจะมากราบท่านครั้งเดียวท่านก็อนุญาตให้แล้ว

ก่อนอื่นผมขอเล่าประวัติหลวงพ่อให้ฟังพอสังเขปแล้วกันนะครับ (จริงๆคือรู้แค่นี้แหละ = =” ) ท่านบวชเป็นพระตั้งแต่หนุ่มๆ และเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่ชาที่หลวงปู่ได้ทำการบวชให้เอง ซึ่งพอท่านได้บวชแล้วก็ได้ปฏิบัติตนเป็นศิษย์ที่ดี คอยอุปถัมภ์อุปัฎฐากช่วยบีบนวดให้หลวงปู่ชาอยู่เสมอ

ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน (คือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ) และ มีปฏิปทา ที่งดงามมากครับ ท่านเคยได้ถูกส่งไปเป็นพระตัวอย่างที่วัดสาขาหนองป่าพงที่เพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลาสองปี และเคยถูกทาบทามให้เป็นเจ้าอาวาสที่นู่น แต่ท่านก็ปฏิเสธ และหลังจากหลวงปู่ชามรณภาพ ท่านก็ได้มาก่อตั้งวัดสาขาหนองป่าพงแห่งที่ 42 ซึ่งก็คือวัดป่าอัมพวันนี่เอง

ด้วยความที่ท่านเป็นพระปฏิบัติที่รักสันโดษ และไม่ปรารถนาจะไปยุ่งเกี่ยวกับลาภยศชื่อเสียงใดๆ ท่านจึงไม่สนใจที่จะไปสอบเพื่อเลื่อนสมณศักดิ์ คราวหนึ่งเมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสมาซักระยะแล้ว ก็มีจดหมายเชิญท่านให้เข้าไปสอบในเมือง(ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสอบอะไร) ท่านก็ยอมไป แต่แล้วพอนั่งทำข้อสอบไปเรื่อยๆ ท่านก็เห็นถึงความไร้สาระแก่นสารในข้อสอบ ท่านจึงลุกออกมากลางคันและเลิกทำการสอบ ภายหลังก็มีจดหมายมาถึงท่าน บอกว่าท่านจะต้องมีสมณศักดิ์อะไรซักอย่างเนี่ยแหละ(ผมจำไม่ได้) ถึงจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ท่านก็ตอบกลับไปว่า ท่านไม่ไปสอบเพื่อที่จะเอาสมณศักดิ์อะไรทั้งนั้น หากเห็นว่าท่านไม่สมควรกับการเป็นเจ้าอาวาส ก็ให้มาปลดท่านออกเถอะ …ปรากฏว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครมาปลดท่านเลย

ฟังจากคำบอกเล่าของครูบาที่บวชมาแล้วหลายพรรษา ท่านบอกว่า สมัยก่อนหลวงพ่อนั้นจะเข้มงวดกับข้อวัตรปฏิบัติของลูกศิษย์มากและจะค่อนข้างดุ หากว่าศิษย์ผู้นั้นประพฤติย่อหย่อน แต่มาระยะหลังๆนี้ พอท่านเริ่มอายุมากเข้า สุขภาพร่างกายของท่านก็ไม่ค่อยดี ท่านก็เลยปล่อยๆไปบ้าง ซึ่งลูกศิษย์ส่วนใหญ่ก็เกรงใจไม่กล้า ”ดื้อ”มากเพราะต่างก็เป็นห่วงสุขภาพท่านด้วยกันทั้งนั้น

ท่านเป็นพระที่ิพูดน้อย ผมเคยไปถามท่ีีานเรื่องการปฎิบัติ ท่านก็ตอบมาเพียงสั้นๆ (ตามแบบฉบับครูบาอาจารย์วัดป่า) ครูบาแหล่บอกผมว่า หลวงพ่อท่านสามารถล่วงรู้สภาวะจิตของลูกศิษย์ ถ้าท่านไม่เห็นว่ามีอะไรต้องแก้ไข ท่านก็จะไม่พูดอะไรมาก ครูบาแหล่ท่านเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งท่านเคยติดสภาวะบางอย่างที่แก้ไม่ได้ เลยไปถามท่าน ซึ่งท่านก็เมตตาอธิบายวิธีการแก้ไขให้ฟังอย่างละเอียดและชี้แนะอย่างตรงจุด

ด้วยความพูดน้อยของท่านนี่เอง ท่านจึงไม่ค่อยว่าลูกศิษย์ แต่ท่านจะสั่งสอนศิษย์ด้วยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ครั้งหนึ่งท่านคงเห็นลูกศิษย์ชอบฉันอาหารเหลือในบาตรเยอะ ท่านก็เลยแสดงให้ดูโดยการฉันจนหมดเกลี้ยงบาตรชนิดที่ว่าไม่มีเมล็ดข้าวตกค้างอยู่ซักเม็ด เพราะเวลาลูกศิษย์เอาบาตรของท่านไปล้างจะได้เห็นกันถ้วนหน้า พอวันรุ่งขึ้นลูกศิษย์ทุกคนก็เลยพากันฉันแทบไม่เหลือก้นบาตร ครูบาแหล่บอกผมว่า เมื่อก่อนท่านยิ่งกว่านี้อีก ไม่เคยฉันเหลือเลยซักวัน แต่หลังๆมานี้ท่านแก่ลงไป ก็เลยฉันได้น้อยลง ก็เลยมีเศษอาหารเหลือค้างบ้าง แถมญาติโยมบางคนก็ชอบเอามาถวายให้ท่านนอกรอบ (คือ ถวายบนโต๊ะที่พระนั่งฉันเลย ส่วนใหญ่จะเป็นโยมที่มาสายแล้วไปประเคนอาหารที่โรงครัวไม่ทัน ) ครั้นจะไม่ตักใส่บาตรก็กลัวโยมจะเสียน้ำใจ

แม้จะเห็นว่าท่านพูดน้อยแบบนี้ แต่หากพูดถึงการเทศน์แล้ว ผมว่าท่านเป็นพระที่เทศน์ ได้ดีและน่าฟังทีเดียวครับ ท่านจะเทศน์ไปเบาๆและยิ้มไปด้วย ฟังแล้วจะเย็นๆ สบายใจ (แต่อย่าหลงติดความ’สบายใจ’ จนขาดสติแล้วกันครับ) ธรรมะของท่านฟังง่าย แต่บางครั้งก็ค่อนข้างลึกพอสมควร สามารถฟังได้ทั้งผู้ปฏิบัติใหม่และผู้ที่ปฏิบัติมานานแล้ว แต่ถ้าจะฟังต้องตั้งใจฟังหน่อยนะครับเพราะเสียงท่านค่อนข้างที่จะนุ่มและเบา เนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพ (ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับกล่องเสียงรึเปล่า แต่เป็นเรื้อรังมานานแล้วรักษาไม่หาย) โดยท่านจะลงเทศน์ทุกวันพระและวันเสาร์อาทิตย์ทั้งตอนเช้าหลังฉันจังหันและตอนหลังทำวัตรเย็นครับ แม้ว่าท่านจะป่วยเพียงไร ท่านจะพยายามมาลงเทศน์ไม่ขาด (ยกเว้นถ้าป่วยหนักจริงๆ) บางครั้งลูกศิษย์อย่างเราก็อดสงสารท่านไม่ได้เพราะรู้ว่าท่านต้องฝืนสังขารที่เจ็บป่วยของท่าน มานั่งขัดสมาธิสวดมนตร์และเทศน์ติดต่อกันนานๆ และที่ท่านยอมทนลำบากเช่นนั้น นั่นก็เพราะว่าท่านเมตตาต่อพวกเราเหล่าลูกศิษย์และญาติโยมผู้ศรัทธาจริงๆครับ (ที่วัดจะมีครูบาที่คอยอัดเสียงเทศน์ของท่านไว้ใส่ซีดี หากสนใจไปติดต่อขอรับได้จากคุณยายที่วัดได้เลยครับ )

พวกเราทุกคนในฐานะศิษย์ของท่าน (แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นศิษย์ที่ท่านบวชให้ก็ตาม) รักและเคารพหลวงพ่อด้วยใจจริงๆครับ เราสัมผัสรับรู้ได้ถึงเมตตาของท่านที่ส่งผ่านออกมาทางรอยยิ้มและคำพูด(แม้จะไม่มากนัก)ของท่าน และแม้ว่าท่านจะเป็นถึงระดับพระมหาเถระ ท่านก็ไม่เคยมีท่าทีถือตัวต่อลูกศิษย์เลยซักนิด ทุกครั้งที่มีงานอะไรที่วัด ท่านก็จะลงมาช่วยพวกเราอย่างไม่เกี่ยง ซึ่งพวกเราต้องรีบไปแย่งท่านทำ เนื่องจากห่วงสุขภาพท่าน ครูบาชัยเคยเล่าให้ผมฟังว่า บางวันหลวงพ่อท่านก็จะแอบมากวาดรอบอุโบสถ โดยไม่ให้พวกเรารู้ (มีอยู่สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อท่านจะต้องทำเองเสมอ คือทำความสะอาดรูปเหมือนหลวงปู่ชา ซึ่งพอผมเห็นท่านปฏิบัติต่อรูปเหมือนของหลวงปู่ชาแล้ว ผมก็ตระหนักได้เป็นอย่างดีเลยว่าท่านรักและเคารพหลวงปู่ชาเพียงใด )

ถึงตอนนี้ผมจะสึกออกมาหลายเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังเคารพรักครูบาอาจารย์ของผมท่านนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย เมื่อมีโอกาส ผมก็จะกลับไปที่วัดเพื่อไปทำบุญและไปกราบท่านอยู่เสมอ ผมไม่รู้ว่าจะตอบแทนพระคุณท่านยังไง แต่เท่าที่ผมทำได้ก็คือ… วันที่ผมไปกราบลาท่านเพื่อจะกลับวัดที่กรุงเทพ ผมตรงเข้าไปกราบเท้าท่านแล้วบอกกับท่านว่า ผมจะขอปฏิบัติบูชา แม้สึกออกไปแล้วผมก็จะตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ไม่ให้ขาด และจะขอเอาธรรมะที่ผมได้ร่ำเรียนมาไปเผยแพร่ให้คนอื่นๆได้รับรู้ทั่วกัน

……และนั่นก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้มาเขียนบทความ ’ผมจะเป็นพระที่ดี’ ที่ทุกท่านได้อ่านอยู่ในตอนนี้

ปล. หากมีโอกาส ผมอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านได้ลองไปกราบ ไปฟังเทศน์หลวงพ่อที่วัดดูซักครั้ง (หากได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมด้วยก็จะดีมาก) แล้วท่านจะได้รู้สึกอย่างที่ผมรู้สึก
ปล.2 ผมไม่ได้ไปที่วัดมานานซักระยะแล้ว เนื่องจากอยู่ห่างไกลเกิน หากท่านใดได้แวะไป รบกวนช่วยแวะมาส่งข่าวคราวหน่อยนะครับว่า อนุสรณ์สถานหลวงปู่ชาตอนนี้สร้างเสร็จถึงไหนแล้ว และครูบาแหล่ท่านย้ายไปวัดอื่นหรือยัง
ปล 3 เว็บไซท์ครับ
//watpahampawan.com/




 

Create Date : 14 กันยายน 2553   
Last Update : 14 กันยายน 2553 7:28:25 น.   
Counter : 2432 Pageviews.  


ผมจะเป็นพระที่ดี ตอนที่ 19 เนสัชชิก 2

ตอนที่ 19 เนสัชชิก 2
=====================================

หลังจากที่เนสัชชิกครั้งแรกของผม (ตอนที่ 13) มีข้อผิดพลาดนิดหน่อย (ผมเผลอเอนหลังนอนไปแป๊บนึงครับ)
คราวนี้ผมก็เลยตั้งสัจจะอธิษฐาน*ไว้เป็นมั่นเหมาะครับว่า เนสัชชิกครั้งหน้า ผมจะต้องทำให้สำเร็จให้จงได้
(สัจจะบารมี กับ อธิษฐานบารมี เป็นส่วนหนึ่งใน บารมี 10ทัศน์ ที่เป็นเครื่องมือส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้าครับ อันนี้ครูบาไก่บอกมา )

เมื่อวันพระใหญ่เวียนมาถึงอีกครั้ง ผมก็ชวนครูบาแหล่ ครูบาจิตวีโร และครูบาไก่อยู่เนสัชชิกด้วยกัน

ครูบาจิตวีโรท่านบอกปฏิเสธ เนื่องจากท่านบอกว่าวันนี้เหนื่อยแล้ว คงจะอยู่ไม่ไหว ส่วนครูบาไก่ท่านก็ว่าจะอยู่ปฏิบัติซักพัก แต่คงไม่ได้ถึงกับข้ามคืน
……ทีนี้ก็เหลือแต่ผมกับครูบาแหล่ครับ แต่กระนั้นผมก็บ่ยั่นครับ

หลังจากฟังเทศน์หลวงพ่อจบ วันนั้นท่านเทศน์เรื่องอิทธิบาท 4 กับเรื่องอะไรซักอย่างเนี่ยแหละ แต่ก็ยาวเหมือนกันครับเกือบชั่วโมง กว่าจะเสร็จก็ประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ซึ่งพอเสร็จปุ๊บผมก็นั่งสมาธิต่อเลย

ก็นั่งดูลมหายใจไปธรรมดาแหละครับ แต่คราวนี้จิตสงบค่อนข้างเร็วทีเดียวครับ แป๊บๆก็ลมหายใจละเอียด อีกประเดี๋ยวก็เข้าสู่ภาวะไร้ลมหายใจ แล้วก็หลุดออกมาใหม่ (แรกๆยังไม่ค่อยเสถียรครับ จิตยังตื่นเต้นอยู่) หลุดๆเข้าๆอยู่ซักพักก็ค่อยเริ่มนิ่ง

ช่วงนี้ผมรู้ตัวครับว่าแอบมีกิเลสเจือหน่อยๆ ครับ เป็นตัวปรุงแต่งในทาง ’อยากดี’ คือพยายามแอบกำหนดลมหายใจให้เป็นเส้นแสงครับ แต่พอรู้ตัวก็เลิกทำ เดี๋ยวมันจะไปเพิ่ม มานะอัตตา หลงว่ากูเก่งซะเปล่าๆ

เรื่องลมหายใจเป็นเส้นแสงนี่ผมขออธิบายให้ฟังหน่อยนะครับ คือผมได้ยินครูบาแหล่กับครูบาไก่ท่านชอบพูดถึงสภาวะนี้กันบ่อยๆครับ (หลวงปู่ชาท่านก็เคยพูดถึงเอาไว้) เป็นสภาวะที่ลมหายใจนิ่งมากๆ และจะเริ่มเปลี่ยนเป็นเส้นแสงเข้าออก เข้าออก จากนั้นถ้าตามแสงนี่ไป ก็จะเข้าไปยัง ’อุโมงค์แสง’ (ผมไม่แน่ใจว่าเค้าเรียกกันว่า ‘ภวังค์’ รึเปล่า) ช่วงจังหวะที่เข้านี้ครูบาไก่เคยอธิบายว่ามันมีปีติมากมายล้นพ้นทีเดียว เหมือนกับมีแท่งน้ำแข็งพุ่งเข้ามาตามทุกอณูรูขุมขน (ซึ่งครูบาแหล่ก็บอกว่าคล้ายๆกับของท่านเลย) ครูบาแหล่บอกว่า เวลาทำวิปัสสนาเหนื่อยๆแล้วก็แวะมาพักที่นี่ได้ บางทีเข้ามาพักโดยไม่ต้องนอนก็มี ( ผมเลยเข้าใจเลยว่า ทำไมครูบาอาจารย์บางรูปถึงนั่งสมาธิติดต่อกันได้เป็นวันๆ )

ขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ เวลาผมฟังสองคนนี้คุยกันทีไร อดตื่นเต้นไม่ได้ทุกทีครับ เพราะสภาวะธรรมทั้งหลายที่ท่านพูดกันนั้น ล้วนแล้วแต่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ผมยังไม่เคยเจอกับตัวซักทีครับ ทำให้ผมรู้สึกว่า จิตของมนุษย์เรานี้มันช่างน่าอัศจรรย์จริงๆครับ เหมือนกับเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส ….ซึ่งตรงนี้ผมขออนุญาต ไม่เล่ารายละเอียดให้ฟังแล้วกันนะครับ เพราะอย่างที่ครูบาแหล่ท่านพูดบ่อยๆว่า ธรรมะเป็นปัจจัตตัง…คือ รู้ได้เฉพาะตน ต่อให้ผมอธิบายให้ฟังยังไง คุณผู้อ่านก็ไม่เข้าใจถ่องแท้เท่ากับปฏิบัติเอาเองหรอกครับ เดี๋ยวเล่ามากเดี๋ยวจะเกิดกิเลสซะเปล่าๆอย่าลืมนะครับว่า…. เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อ’เอา’ แต่ให้ปฏิบัติเพื่อ ’ละ’ครับ

เอ้าเข้าเรื่องกันต่อ….
พอรู้ว่ามีเจ้ากิเลส ‘ อยากได้เส้นแสง’ เจือ… ผมก็รู้ตามไปแล้วมันก็ดับไปเองครับ จิตก็เลยกลับมานิ่งเหมือนเก่า แล้วผมก็บริกรรมพุทโธๆไป คือพอไม่มีลมหายใจแล้ว จิตมันก็เลยไม่มีอะไรเป็น ’เครื่องอยู่’(วิหารธรรม)แล้วครับ (ปกติใช้ดูลมหายใจ) ทีนี้ผมก็เลยต้องหาอะไรไปเป็น ’เครื่องอยู่’ อันใหม่ให้มัน ซึ่งผมก็จะใช้คำบริกรรม หรือไม่ก็ไปรู้เวทนาเอา (ตรงนี้ ไม่ต้องทำตามผมนะครับ ใครถนัดอะไรก็ทำไปอย่างนั้น )

จิตผมอยู่ในสภาวะไร้ลมหายใจ และนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวนานพอดูครับ (ไม่แน่ใจว่าเรียก เอกคตารึเปล่า) อย่างที่ผมเคยว่าไว้ในตอนเนสัชชิก 1 จิตช่วงนี้เค้าไวจริงๆครับ อะไรเข้ามานี่ตัดเป๊ะ ตัดเป๊ะ รู้ทันหมดเลยครับ ก็จะเริ่มมาตามไม่ทันก็ตอนที่มาเกิดปวดขานี่แหละครับ มันเริ่มอีกแล้วครับ ทุกขเวทนาตัวปักเอ้ก
ผมตามดูมันไปเรื่อยๆ มันค่อยเกิดตรงนู้นที ตรงนี้ที จนปวดระบมไปหมดทั้งขาเลยครับ ผมเลยใช้เทคนิคของท่านพ่อลี วัดอโศการาม ที่เพิ่งอ่านมาจากในหนังสือที่โยมน้าเอามาถวาย กำหนดลมหายใจให้พุ่งไปตามส่วนที่ปวด เพื่อไปดับธาตุไฟที่เกิดขึ้นมา ซึ่งก็ช่วยบรรเทาได้พอสมควร วิธีนี้เป็นออกจะแนวทาง ’สมถะ’หน่อยครับ คือไม่ใช่การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงโดยไม่แทรกแซง แต่ผมว่าก็น่าจะดีสำหรับผู้ที่เริ่มหัดดูเวทนาใหม่ๆ อย่างน้อยก็จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ซักหน่อยก็ยังดี

ช่วงดึกๆหน่อย(จริงๆผมก็ไม่รู้หรอกว่าดึกไม่ดึก ใช้เดาเอา) พอลมเริ่มสงบ ยุงก็เริ่มมากัดตามแขนขาจนคันยิบๆไปหมด บางทีรู้สึกได้ตั้งแต่ตอนมันบินมาเกาะ รู้สึกเจ็บจี๊ดๆตอนมันใช้ปากเจาะดูดเลือด และเริ่มรู้สึกคัน จังหวะนั้นอยากปัดมันไป และอยากเกาจะแย่ครับแต่ก็พยายามอดทน ดูกิเลสไปเรื่อย จนกระทั่งมันดูดจนอิ่มแล้วถอนปากออกไปเอง ซึ่งจะว่าไปมันก็ดีเหมือนกันครับ จะได้เอาไว้ดูสลับกับปวดขาอันเป็นทุกขเวทนาตัวใหญ่กว่ากันเยอะ

วิธีผ่อนลมหายใจช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยได้ซักพักครับ แต่ไม่นานมันก็กลับมาปวดใหม่อีก คราวนี้ปวดหนักกว่าเดิมอีกครับ ปวดเหมือนว่าเส้นเอ็นขาจะฉีกขาดออกมาให้ได้ ผมก็พยายามดูตามไปครับ …… นึกถึงคำหลวงพ่อที่เพิ่งสอนมาหมาดๆเมื่อครู่นี้ ว่าให้ตามดูเค้าไปอย่างมี ’ฉันทะ’ บางทีอาจจะดูเหมือนว่าเวทนาเค้าเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่ดับไปซะที (เพราะมันรู้สึกเหมือนนานจริงๆครับ) ทีนี้ก็ให้ใช้ ‘วิริยะ’ หรือความเพียรเฝ้าดูไปเรื่อยๆ พร้อมกับใช้ ’จิตตะ’ ให้จิตจดจ่อ ไม่วอกแวก…………มันอาจจะเหมือนว่าจะอยู่ถาวรก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องดับไปในที่สุด

ซึ่งผมก็เชื่อหลวงพ่อครับ ตามดูทุกขเวทนาไปให้ถึงที่สุด มันจะเจ็บมันจะปวดยังไงก็ทนเอา ให้มันรู้กันไปว่า ไอ้’ที่สุด’เนี่ยมันอยู่ตรงไหน เหงื่อผมไหลออกมาเต็มตัว ขาก็ปวดซะเหมือนมีใครกำลังมาบิดกระชากออกไป เห็นกิเลสตัวเบ้อเริ่มผุดขึ้นมาหลายตัวเลยครับ บางตัวก็สั่งให้ผมขยับขา บางตัวก็สั่งให้เลิกนั่งได้แล้ว ถ้านั่งต่อไปเดี๋ยวเส้นเอ็นจะขาด แล้วจะเดินไม่ได้นะ ตอนนั้นผมได้แต่นึกถึงพระพุทธคุณ และคำสอนครูบาอาจารย์ที่เคยได้อ่านได้ฟัง ซึ่งอยู่ๆมันก็ผุดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ (เข้าใจที่ครูบาแหล่เคยบอกเลยครับ ว่าให้อ่านให้ฟังไปก่อน ตอนนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอถึงคราวคับขัน จิตเค้าจะเอามาสอนเราเอง ) ผมเชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อพระพุทธเจ้ามากกว่ากิเลสครับ ตอนนั้นผมเลยตั้งใจไว้อย่างเด็ดเดี่ยวว่า ขามันจะขาดยังไงก็เป็นไงเป็นกันครับ ผมจะขอปฏิบัติแบบเอาชีวิตเข้าแลก

แล้วซักพักหนึ่งผมก็รู้สึกขนลุกขึ้นมาทั่วร่าง ความรู้สึกเจ็บปวด(ทุกขเวทนา)ต่างๆก็เหมือนกับว่ามันค่อยๆห่างออกไป คล้ายกับว่ามันไม่ใช่ความเจ็บปวดของผม แล้วทันใดผมก็เห็นร่างกายตัวเองถอยห่างออกมา เหมือนกับว่าตัวเองลอยออกมาอยู่ข้างนอก เห็นตัวผมนั่งขัดสมาธิอยู่ แล้วมันก็หมุนวนไปดูทั่วร่าง เห็นเหมือนร่างตัวเองหมุนคว้างไปมา (ตัวที่ไปเห็นผมเดาว่าน่าจะเป็น‘จิตผู้รู้’นะครับ) ผมรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็พยายามดูความรู้สึกตามไป ไม่ให้หลงไปกับมัน ซักพักผมก็เห็นเหมือนกับร่างตัวเองกำลังยืดออกแล้วก็เริ่มเปลี่ยนรูปร่างไปมา เห็นแสงสีต่างๆมากมาย แปลกตา และร่างกายค่อยๆแยกส่วนออกมา จากนั้นก็ค่อยๆหลอมรวมกลายเป็นลูกกลมๆหลากสี …..ผมไม่รู้ว่าที่ผมเห็นนั้นคือนิมิตหรืออะไร แต่ผมรู้สึกได้อย่างหนึ่งว่า เหมือนจิตเค้าต้องการแสดงธรรมให้ผมได้เห็นว่า แท้จริงแล้วกายของผมมันก็คือธาตุขันธ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา …..
ความจริงเรื่องนี้มันก็เป็นสิ่งที่ผมรู้มานานแล้วจากการฟังเทศน์ครูบาอาจารย์บ้าง อ่านจากหนังสือบ้าง …แต่ว่าคราวนี้มันไม่เหมือนกัน มันเหมือนกับว่า จู่ๆมันก็รู้ขึ้นมาเองยังไงยังงั้น ซึ่งพอได้รู้อย่างนี้แล้ว ไอ้ที่เราเคยอ่านเคยเรียนมาถือว่าน้อยนิดจิ๊บจ้อยไปเลยครับ

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ได้แต่รู้ตามไปโดยไม่แทรกแซง รู้สึกว่าตัวเองกำลังปีติ และมีความสุขมากมายมหาศาลอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งจิตเค้าก็แสดงให้ผมดูซักพัก แล้วพอรู้สึกขนลุกซู่อีกครั้ง ก็กลับไปเป็นเหมือนเก่า รู้สึกว่ามีร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกถึงเวทนาที่กำลังเกิดขึ้นที่ขา …เห็นว่ากระทั่งความสุขนั้นก็ไม่เที่ยงจริงๆ เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ดับไปเหมือนกับสภาวะธรรมอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นกับผม
จากนั้นผมก็ลืมตาขึ้นมา แล้วยกมือขึ้นประนมไหว้พระพุทธรูปและรูปเหมือนหลวงปู่ชาเบื้องหน้า ใจรู้สึกมีปีติและซาบซึ้งถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้มอบให้กับชาวโลก และรู้สึกดีใจที่ผมได้มีโอกาสได้มาเห็นมารู้เองกับตัว แม้จะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวอณูธรรมเท่านั้น แต่เพียงแค่นี้ก็ทำให้ผมรู้ซึ้งแล้วครับว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นอัศจรรย์เพียงไหน และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงบทสวดธรรมคุณที่เคยท่องอยู่ทุกวัน ถึงคำว่า ‘ โอปนยิโก ‘ คือ ให้น้อมใจเข้ามาสู่
‘ปัจจัตตัง’ คือ เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน
’เอหิปัสสิโก ’ คือ เป็นสิ่งที่ควรบอกกับผู้อื่นว่า จงมาดูเองเถิด (เพราะบอกไปก็ไม่เข้าใจจริงๆครับ)

ผมค่อยขยับขา แล้วยืดออก รู้สึกว่ามันปวดจนชาไปหมดเลยครับ แต่ก็ไม่มีเส้นเอ็นตรงไหนฉีกขาดนี่นา (ไอ้เจ้ากิเลสนี่มันขี้โม้จริงๆ ให้ตายเถอะ ) ผมกราบพระประธานสามครั้ง และรูปเหมือนหลวงปู่ชาสามครั้ง จากนั้นก็แผ่ส่วนกุศลผลบุญให้พ่อแม่ญาติมิตรและสัตว์ทั้งหลายจากนั้นก็ค่อยๆเดินกะโผลกกะเผลกลุกขึ้นไปครับ

ผมดูนาฬิกา เห็นว่าใกล้จะตีสามเข้าไปแล้ว โอ้โห นี่ผมนั่งมาตั้งเกือบ 5 ชั่วโมงเลยเหรอเนี่ย ออกมาข้างนอกกะว่าจะมาเดินจงกรมข้างหลังโบสถ์ แต่เห็นครูบาแหล่ท่านเดินอยู่ พอท่านเห็นผมท่านก็หยุดเดินแล้วยิ้มให้ ผมเลยเดินไปคุยกับท่าน ก็ถามเรื่องสภาวะที่ผมพบเจอแหละครับ ครูบาแหล่ท่านก็ชมว่าดีแล้วล่ะ อย่าไปหลงยึดติดกับสิ่งที่เห็น แค่เห็นแล้วก็รู้ทันตามไป จากนั้นท่านก็เล่าถึงเมื่อสมัยที่ท่านหัดนั่งดูเวทนาใหม่ๆให้ฟัง (ซึ่งตรงนี้ผมขอไม่เล่าให้ฟังแล้วกัน) และก็บอกผมว่า คืนนี้ระหว่างที่ผมกับครูบาแหล่นั่งปฏิบัติอยู่ในโบสถ์ ท่านเห็นมีพวกเทวดามาร่วมอนุโมทนากันเยอะเลย

จากนั้นผมกับครูบาแหล่ฉันน้ำปานะที่โยมเอามาถวายเอาไว้ เสร็จแล้วก็กลับไปปฏิบัติธรรมกันต่อ ผมเดิน(กะเผลก)จงกรมต่อไปซักพักก็ไปนั่งสมาธิต่ออีกซักชั่วโมงก็ได้เวลาทำวัตรเช้า

เช้าวันนั้นผมรู้สึกอิ่มบุญจริงๆครับ หลังจากทำวัตรเช้าเสร็จผมก็เลยแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่มาร่วมงานบวชผม ให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย …..เสร็จแล้วผมก็โทรบอกโยมแม่ให้ร่วมอนุโมทนา รู้สึกตื้นตันใจที่อย่างน้อยๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตผมก็ได้ตอบแทนพระคุณบุพการี ให้ท่านได้ภาคภูมิใจใน ‘เนื้อนาบุญ’ของผม และดึงท่านเข้ามาสู่ภายใต้ร่มกาสาวพักตร์อันร่มเย็น ดังที่ผมได้รู้สึกอยู่เช่นนี้


=======================
เสริมนิดครับ ผมไปถามครูบาไก่ในตอนหลัง ถึงช่วงที่จิตเค้าแสดงธรรมให้ดู ครูบาไก่บอกว่าตอนนั้นจิตของผมได้แยกขันธ์*ออกมาให้เห็นได้เป็น 3 ส่วนแล้ว นั่นคือ กายส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง และจิตผู้รู้ส่วนหนึ่ง
(*สำหรับผู้ที่ไม่ทราบ ขันธ์ 5 คือสิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวเราครับ มี กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งสี่อันหลังสามารถเรียกรวมๆได้ว่าจิตครับ )




 

Create Date : 09 กันยายน 2553   
Last Update : 9 กันยายน 2553 11:32:20 น.   
Counter : 505 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  

ซงย้ง
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จอมยุทธพเนจร ...ผู้มีมิตรแท้คือจันทราและราตรี
[Add ซงย้ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com