ทหารพระธรรมนูญเข้ากล่าวโทษ "เสธ.เจมส์" ตร.เผยต้องขึ้นศาลพลเรือน อึ้ง ผู้ค้าบางส่วนรวมกลุ่มหนุน
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่  31 กรกฎาคม ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ได้เชิญตัว พล.ต.เจนรณรงค์ เดชวรรณ หรือ "เสธ.เจมส์" อายุ 55 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม น.ส.นงนุช  สิทธิรัตน์ อายุ 44 ปี นายปานทอง ศิริวรรณ์ อายุ 40 ปี นางจันทิมา โชติกิตติเกษม  อายุ 44 ปี และ น.ส.สุรัตน์ พุ่มพวง อายุ 46 ปี รวม 5 คน มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนบก.ป.สอบปากคำ  หลังจากทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการย่านพัฒน์พงศ์ เขตบางรัก ว่า ภายหลังฝ่ายทหาร ได้ควบคุมตัว พล.ต.เจนรณรงค์ ไปกักตัวในเขตทหารแล้วนั้น ในส่วนของพลเรือนทั้ง 4 คน ยังคงถูกกักตัวที่ห้องขัง บก.ป.โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

ต่อมาทาง พ.ท.บุรินทร์ ได้พาเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ พล.ต.เจนรณรงค์ กับพวก โดยนำหลักฐานประกอบด้วย เงินสด 27,000 บาท  สำเนาธนบัตรที่กลุ่มผู้ค้าได้จ่ายเงินค่าคุ้มครอง โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง  สมุดบัญชีที่มีการจดรายชื่อแผงค้าและยอดเงิน   และหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสกล้องวงจรปิดของโรงแรมตะวันนา ถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก  มามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี

ด้าน   พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. กล่าวว่า หลังจากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว ทางพนักงานสอบสวนก็จะพิจารณาดำเนินการโดยเรียกพยานมาสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ   ทางกลุ่มผู้ค้าที่จ่ายเงินค่าคุ้มครอง ส่วนการกระทำดังกล่าวนั้น ในเบื้องต้นน่าจะเข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์  แต่จะมีการพิจารณาตามข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  จากนั้นก็จะพิจารณาต่อไปว่ามีใครกระทำความผิด และกระทำผิดฐานใดบ้าง โดยหากเชื่อมโยงถึงใครก็ดำเนินคดีทุกรายเนื่องจากเป็นกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจ  ผู้บังคับบัญชาก็ให้ความสำคัญ ยืนยันว่าทางตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวอีกว่า คดีนี้เป็นที่เฝ้าจับตาจึงขอเรียนว่าพนักงานสอบสวนจะดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุด และจะเร่งสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้เร็วที่สุด และในส่วนของทหารที่กระทำความผิดต่อพลเรือน เป็นคดีอาญา ก็จะต้องขึ้นศาลพลเรือน รวมทั้งฐานความผิดก็ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะไปดำเนินคดีในศาลทหาร แต่เนื่องจากคดีนี้มีพยานบุคคลเป็นจำนวนมาก ตนจะเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อตั้งเป็นรูปคณะพนักงานสอบสวนบก.ป.ในการดำเนินคดี

ต่อข้อถามถึงพยานหลักฐานต่างๆว่ามีเพียงพอหรือไม่รอง ผบก.ป.กล่าวว่า สำหรับหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับมานั้นคงต้องตรวจสอบก่อนว่ามีอะไรบ้าง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเพียงพอที่จะดำเนินคดีได้ เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้กระทำการมานานเพียงใด พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า  น่าจะกระทำกันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ส่วนจะมีผู้ใดเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ คงต้องขอเวลาในการสอบสวนก่อน เพราะต้องถือว่ากระบวนการต่างๆ ในการพิจารณาดำเนินคดีเพิ่งจะเริ่มต้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.ต.รายนี้ ระบุว่าได้เข้าไปดำเนินการเพื่อล้างมาเฟียเดิมนั้นฟังขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า คงเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหา ก็แล้วแต่เขาจะให้การซึ่งจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาด้วย อย่างที่เรียนไว้ว่าเราจะให้ความเป็นธรรมอย่างแน่นอ แต่เบื้องต้นพยานหลักฐานที่มีก็ค่อนข้างแน่นหนาพอสมควร มีทั้งเงินที่ยึดมาและได้ลงบันทึกประวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว

ขณะที่ พ.ท.บุรินทร์ กล่าวว่า จากกรณีที่ พล.ต.เจนรณรงค์ กับพวกมีพฤติการณ์เรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้าแม่ค้าที่ถนนพัฒน์พงศ์พบรายละเอียดว่ามีการจ่ายให้กันแยกเป็นขนาดของแผงค้าเช่น แผงร้านขายนาฬิกา ความกว้าง 2 เมตร เก็บเงิน 10,000 บาท ร้านขายกระเป๋า เครื่องหนัง เก็บร้านละ 5,000 บาท ส่วนร้านขายของเบ็ดเตล็ด ร้านละ 2,000 บาท โดยร้านทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 200 ร้านค้า รวมยอดเงินประมาณ 7 แสนบาทต่อเดือน ภายหลังจากรับเรื่องร้องเรียนแล้วตนจึงนำข้อมูลไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชา ก่อนจะส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปสืบสวนและดำเนินการ

พ.ท.บุรินทร์ กล่าวต่อว่า มีการเฝ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงระยะหนึ่งก็พบว่า มีการเรียกรับเงินในส่วนดังกล่าวจริง และมีใครเกี่ยวข้องเป็นคนเรียกเก็บเงินก่อนไปส่งให้กับใคร กระทั่งพบข้อมูลว่า มีทหารยศนายพล เข้ามาเกี่ยวพันด้วย แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารที่แฝงตัวเข้าไปนั้นยังไม่มั่นใจในข้อมูลและหลักฐานต่างๆจึงมีการประสานผู้บังคับบัญชาตลอดเวลาก่อนจะมีการวางแผนจับกุม โดยที่แม่ค้าซึ่งเป็นคนจ่ายเงินให้ความร่วมมือจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท ที่มีการถ่ายสำเนาและไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาที่เป็นพลเรือนทั้ง 4 คน จะคอยเดินเก็บเงิน มีพฤติกรรมคือผู้หญิงเป็นคนเก็บ ส่วนผู้ชายจะคอยยืนบัง แล้วจดใส่สมุดบัญชีว่าผู้ค้ารายใดจ่ายเงินแล้วบ้าง

"มีการเก็บเงินมาได้แล้ว 20,000 กว่าบาท จากนั้นก็เอาไปส่งให้ พล.ต.คนนี้ ที่กำลังนั่งรออยู่ที่ล็อบบี้โรงแรมตะวันนา เจ้าหน้าที่ซึ่งเฝ้าตามมาอยู่แล้ว จึงเข้าควบคุมตัวและยึดของกลางทั้งหมด ก่อนจะเข้าไปพบกับ พล.ต.คนดังกล่าว ระหว่างนั้นจึงได้แจ้งทางตำรวจสน.บางรัก เจ้าของท้องที่มาดำเนินการ เพราะฉะนั้นหลักฐานส่วนนี้ก็มีอยู่ รวมทั้งแม่ค้าที่จ่ายเงินก็พร้อมเป็นพยานด้วย" พ.ท.บุรินทร์ กล่าว

พ.ท.บุรินทร์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบหลักฐานที่พบยังมีการระบุว่าเงินที่ได้มานั้นมีการนำไปจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่อีกหลายหน่วยงานรวมทั้งหมด 12 หน่วย เป็นยอดที่เขาอ้างว่ามีการส่งให้ นอกจากนี้แม่ค้าที่เป็นพยานยังเปิดเผยด้วยว่าจำเป็นต้องจ่ายเงิน  ถ้าไม่จ่ายก็ขายของไม่ได้ หรือไม่ก็จะโดนจับ หรือถูกกลั่นแกล้ง แล้วยังพบหลักฐานอีกส่วนคือการออกสติ๊กเกอร์ในนาม "ศูนย์ประสานงานราชการจัดระเบียบถนนพัฒน์พงศ์" นำไปแจกจ่ายกับกลุ่มผู้ค้า เหมือนเป็นการอ้าง คสช.จัดระเบียบต่างๆ เลย

พ.ท.บุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วยังน่าจะขยายผลได้ถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีการรับส่วยจากส่วนนี้ ระบุได้ว่ามีใครบ้างครบทั้งวงจร เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ แม้จะพ้นจากมาเฟียกลุ่มเดิม แต่กับเจ้าหน้าที่เขาก็ยังต้องส่ง

ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดพัฒน์พงศ์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าเก็บค่าคุ้มครองจากพ่อค้า แม่ค้าเป็นจำนวนมากและถูกกดขี่ข่มแหงเป็นเวลากว่า 20 ปี พ่อค้า แม่ค้าจึงรวมตัวกันไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งได้ขอให้ พล.ต.เจนรณณรงศ์ เดชวรรณ เข้าจัดการกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ ซึ่งพล.ต.เจนรณณรงค์ได้เข้าช่วยเหลือจัดระเบียบให้กลุ่มพ่อค้า แม่ค้ามากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังถูกผู้มีอิทธิพลกลั่นแกล้งโดยแจ้งไปยัง คสช.ให้เข้าไปจับกุม พล.ต.เจนณรงค์ โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้พล.ต.เจนรณณรงค์และกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าอีก 4 รายถูกจับกุม ทั้งที่พยายามเข้ามาช่วยเหลือ จึงมาขอความเป็นธรรมให้พล.ต.เจนณรงค์และคณะได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

"เสธเจมส์เป็นคนเข้าช่วยเหลือและจัดระเบียบในตลาดถ้าผมเป็นคนเสียผลประโยชน์ถูกเก็บค่าคุ้มครองจากเสธเจมส์จริง จะรวมตัวมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้เขาทำไม" หนึ่งในตัวแทนพ่อค้ากล่าว

"เรายินดีเสียค่าส่วย แต่ที่ผ่านมามีทั้ง สคบ. เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานรัฐหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องเสียค่าส่วยเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น แรงงานต่างด้าวเดิมเคยเก็บที่ 2,000 บาทต่อหัว แต่ตอนนี้เก็บเรา 4,000 บาทต่อหัว เมื่อเสธ.เจมส์เข้ามาจัดระเบียบเราก็ไม่ต้องเสียค่าส่วยให้พวกมาเฟีย เรายินยอมที่จะจ่ายส่วยให้ผู้มีอิทธิพล เราไม่ได้ต่อต้านการจ่ายส่วย แต่ขอให้จ่ายในราคาที่เราอยู่ได้ เพราะทุกวันนี้แพงมาก ต้องจ่ายค่าส่วยก่อนที่จะมีเงินจ่ายค่าแผงเสียอีก" หนึ่งในตัวแทนแม่ค้ารายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้นายสาธิต สุทธิเสริม รองหัวหน้าส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน หลังจากนั้นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่กองบัญชาการทหารบกต่อไป


credit: //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406806109




Create Date : 31 กรกฎาคม 2557
Last Update : 31 กรกฎาคม 2557 23:42:49 น.
Counter : 391 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

MStaRT
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



All Blog