นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

จุลินทรีย์หน่อยกล้วย ช่วยลดต้นทุน สนับสนุนอาชีพเกษตรกร

ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด จะคิดอ่านทำอะไรก็ควรจะนึกถึงต้นทุนไว้ก่อน อย่าทำอะไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง มิฉะนั้นพลาดพลั้งไปก็จะทำให้ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียเวลาโดยใช่เหตุ ทำให้ครอบครัวตัวเราเองเดือดร้อน อาชีพเกษตรก็เหมือนกัน ควรให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง เรียนรู้ สังเกต พัฒนาอยู่เสมอเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าในสาขาอาชีพของตัวเราเอง

วิธีการที่จะช่วยทำให้ลดต้นทุนอีกทางหนึ่งก็คือ กลับมาใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบทรงพุ่ม รอบโคนต้น หรืออาณาบริเวณของแปลงที่ได้ทำการปลูกว่าอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินนั้นมีปริมาณเพียงพอหรือน้อยเกินไปหรือไม่ แล้วรีบทำการปรับปรุงเพิ่มเติมเข้าไปให้เพียงพอ เพื่อที่จะช่วยให้โครงสร้างของดินมีความแข็งแรง อุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศน์ที่เพียบพร้อมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งพืชหลักที่เราปลูกลงไปด้วย
อินทรียวัตถุถ้าชิ้นใหญ่เกินไปก็จะทำให้ แร่ธาตุสารอาหารต่างๆ ไม่สามารถละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ทันที จะต้องมีจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสลาย เพื่อย่นระยะเวลาของกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้อย่างทันท่วงที จุลินทรีย์ที่ว่านี้ก็จะแนะนำจุลินทรีย์ที่อยู่ในท้องถิ่นของเราเองนั่นแหละดีที่สุด แข็งแรงที่สุด ปลอดภัยที่สุด ประหยัดที่สุด...จุลินทรีย์ที่ว่าก็คือจุลินทรีย์หน่อกล้วยนั่นเองครับ
“กล้วย” ปลูกที่ไหน ดินบริเวณกอกล้วย ก็จะอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายถ่ายเทน้ำดี เบื้องหลังของความอุดมสมบูรณ์ร่วนซุยอุ้มน้ำของดินดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน รอบ ๆ รากกล้วย ซึ่งหากขยายเชื้อให้มากแล้ว ย่อมนำไปใช้ปรับปรุงดินในที่อื่น ๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วย นอกจากนั้น หน่อกล้วย มีน้ำยางฝาดหรือสารแทนนินมาก เมื่อหมักแล้วน้ำที่หมักได้ ยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชบางอย่างได้ ทั้งสามารถนำไปใช้ ปรับปรุงสภาพน้ำที่เน่าเสียให้ฟื้นสภาพกลับดีขึ้นได้อีกด้วย
วิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วยก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็นอะไรมากมายเพียงแต่ให้ไปขุดหน่อกล้วยต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไม่เป็นโรค ขนาดหน่อกล้วยใบธงหรือใบหูกว้าง สูงไม่เกิน 1 เมตร เอาเหง้าพร้อมรากให้มีดินติดรากมาด้วยประมาณ 2-3 ช้อนแกง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเรียกกันว่าหน่อกล้วยขันหมาก คือหน่อที่เขามักนำไปเดินนำหน้าขบวนขันหมากของงานแต่งงานของบ่าวสาวนั่นเองครับ หลังจากนั้นนำมาหั่น, สับ, บดย่อยหรือตำโขลกให้ละเอียดเละทั้งต้นเพื่อให้เข้ากัน และไม่ต้องเอาใบนะครับรวบรวมให้ได้ประมาณ ประมาณ 3 กก ทำการชั่งตวงกากน้ำตาลอีก 1 กิโลกรัมแล้วนำมาราดรด คลุกเคล้าให้เข้ากัน (อัตราส่วนหน่อกล้วย 3 ส่วน : กากน้ำตาล 1 ส่วน) ทำการหมักในภาชนะพลาสติกมีฝาปิดเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นคน เช้า – เย็น ทุกวัน จนครบ 7 วัน แล้วคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ เรียกน้ำหมักนี้ว่า “จุลินทรีย์หน่อกล้วย” เก็บไว้ใช้หรือหมักต่อขยายก็ได้ในคราวต่อไป
หลังจากที่เราได้จุลินทรีย์หน่อกล้วยมาแล้ว ก็นำไปผสมน้ำราดรดที่พื้นดินเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นคอยปกป้องคุ้มครองจุลินทรีย์โรคพืชต่างๆ ที่จะเข้ามาทำลาย และเจ้าจุลินทรีย์หน่อกล้วยยังช่วยทำให้อินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในดินสามารถย่อยสลายได้รวดเร็ว ทำให้อินทรียวัตถุต่าง ๆ กลับกลายเป็นปุ๋ยสร้างประโยชน์ให้แก่พืชของเรา ช่วยทำให้เราประหยัดเงินในการนำไปจับจ่ายซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อมากเหมือนในอดีตเนื่องจากระบบนิเวศน์ดี ความอุดมสมบูรณ์ดี ต้นไม้ก็เจริญเติบสมบูรณ์แข็งแรงได้แบบธรรมชาติ


มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreeangro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:26:38 น.   
Counter : 472 Pageviews.  

ใช้ “จุลินทรีย์และสมุนไพร” กำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมี

ปัจจุบันประชาชนหันมาใส่ใจในเรื่องการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยจากสารพิษ อีกทั้งผู้ผลิตเองก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องหันมาศึกษาพัฒนาและปลูกพืชผักให้ปลอดสารพิษจริง ๆ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จะได้เกิดผลดีทั้งแก่ตัวเกษตรกรและผู้บริโภคเอง อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ทางด้านการส่งออกสินค้าประเภทผักและผลไม้ไปยังต่างประเทศอีกด้วย



คุณนารี พูลสวัสดิ์ บ้านเลขที่ 43/2 ต. บางแม่นาง อ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี 11140 เป็นสมาชิกชมรมเกษตรปลอดสารพิษเลขที่ 10007647 คุณนารี เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีอาชีพเกษตร ในการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อการส่งออก ซึ่งมีเนื้อที่ทำการเกษตร 2 ไร่ ผักส่วนใหญ่ที่คุณนารีปลูกจะเป็นประเภท ผักบุ้ง ผักกาด ถั่วฝักยาว โหระพา คะน้า มะเขือ ฯลฯ หมุนเวียนกันไป แล้วแต่ตลาดจะต้องการ มีระยะการเก็บเกี่ยว ประมาณ 35-40 วัน ซึ่งในการปลูกผักมักจะรู้กันอยู่แล้วว่าจะต้องมีโรคและแมลงศัตรูพืช เข้ามารบกวนอยู่เสมอ เกษตรกรทั่วไปคงหนีไม่พ้นที่จะใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด แต่คุณนารีมีวิธีการป้องกันกำจัด ที่ปลอดภัยกว่า


ปัญหาที่คุณนารีพบส่วนใหญ่จะเป็นหนอนใยผัก หนอนกระทู้ ผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เข้ามาทำลายกัดกินพืช คุณนารีไม่รู้จะทำเช่นไร เพราะมันระบาดมาก เลยเข้ามาปรึกษาที่ชมเกษตรปลอดสารพิษ โดยนักวิชาการแนะนำให้ทดลองใช้จุลินทรีย์ ทริปโตฝาจ ซึ่งประกอบด้วยเชื้อรา บูวาเรีย บาสเซียน่า และ เมธาไรเซี่ยม แอนิโซเฟีย เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ที่นำมาใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช คุณนารีได้ทดลองใช้จุลินทรีย์ในแบบฉบับของตนเองโดยร่วมกับไคโตซาน 5 ซีซี + ทริปโตฝาจ 4-5 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกวัน 3 วันติดต่อกันในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง และจะใช้ฉีดพ่นในอัตรา 2 – 3 ช้อนแกง ในช่วงปกติหรือไม่มีการระบาด ทุก ๆ 3 วัน และจะเน้นฉีดในช่วงเวลาเย็นแดดอ่อน หรือเกษตรกรบางท่านอาจจะใช้จุลินทรีย์ บีทีชีวภาพ ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในปราบหนอนโดยเฉพาะก็ได้โดยใช้เพียง 5 กรัมหมักขยายกับน้ำมะพร้าวอ่อนหรือนมยูเฮชทีให้ได้ 24 – 48 ชั่วโมงและนำมาผสมน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น ก็ได้ผลไม่แตกต่างกันนะครับ


นอกจากนี้คุณนารียังใช้ “ไทเกอร์เฮิร์บ” ผงสมุนไพร จากฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และ ตะไคร้หอม 2-3 ช้อนแกง + ไคโตซาน 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3-4 วัน คุณนารียังบอกต่อว่า หลังจากที่ใช้ “ไทเกอร์เฮิร์บ” แล้วด้วยกลิ่นฉุนและรสชาดที่ขมเคลือบอยู่ ทำให้ ไม่มีหนอน เข้ามาวางไข่ และกัดกินใบอีกเลย


ท้ายนี้คุณนารีได้บอกต่อว่า การที่เราปลูกผักที่ปลอดสารพิษจริง ๆ ให้ผู้บริโภคได้ทาน ทำให้เราได้รู้สึกว่าเราสุขภาพแข็งแรงขึ้นเพราะไม่ต้องได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงตัวผู้บริโภคเองก็มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง สมบูรณ์ขึ้น เพราะทานผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริง


มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:25:40 น.   
Counter : 707 Pageviews.  

1  2  

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]