นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

ปล่อยปลากุ้งบางตา ได้เงินมากกว่าปล่อยหนาแน่น

เนื่องจากการขุดบ่อขุดสระเลี้ยงกุ้ง ปลาที่เลียนแบบให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนธรรมชาติและคิดไปเองว่านี่แหละคือธรรมชาติ แต่ลืมคิดนึกไปว่าจำนวนปลาและกุ้งที่ปล่อยลงไปต่อตารางเมตรมีจำนวนมากกว่าธรรมชาติ ซึ่งพิสูจน์ได้โดยการเหวี่ยงอวนเหวี่ยงแหลงไปทดสอบ ถ้าบ่อที่เลี้ยงกุ้งปลาของเรามีประชากรเหมือนกับธรรมชาติจริงๆ จะต้องได้ปลาหรือกุ้งที่ติดแหติดอวนขึ้นมาเพียงสองสามตัวเหมือนกับที่เราได้เหวี่ยงแหหาปลาตามแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้าติดขึ้นมาเป็นพรวนนั่นแสดงว่าประชากรต่อหัวในพื้นที่มีความหนาแน่นมากเกินไปจะต้องมีีการบริหารจัดการที่ดีตามมาด้วย จึงจะสามารถเลี้ยงปลาและกุ้งเหล่านั้นให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังดูแลแก้ไขอยู่ตลอดเวลาจนไม่เป็นอันทำการทำงานอย่างอื่นเพราะขาดการวางแผนที่ดี

ประชากรของกุ้งและปลาถ้าปล่อยจำนวนหนาแน่นมากเกินในระยะแรกๆอาจจะไม่สร้างปัญหามากนักเนื่องด้วยไซด์หรือขนาดของปลายังไม่ใหญ่มาก แต่พอเร่ิมเดือนที่สองความแออัดยัดเยียดเริ่มแสดงให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยการใช้อากาศและอ๊อกซิเจนเพิ่มขึ้นตามอัตราการเจริญเติบโต ของเสียที่กุ้งและปลาขับถ่ายออกมาจะมีโปรตีนที่หลงเหลือตกค้างด้วยเหตุส่วนหนึ่งจากเปอร์เซ็นต์โปรตีนข้างกระสอบอาหารที่แข่งกันมีตัวเลขสูงๆเพื่อให้เกษตรกรสนใจใช้ยี่ห้อของตนเอง โปรตีนจากอาหารสำเร็จรูปที่สูงมากๆนั้นเมื่อกุ้งกินเข้าไปผ่านกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร (metabolism) จะไม่สามารถย่อยโปรตีนได้หมดจดจะยังคงหลงเหลือติดค้างมากับของเสียด้วย ถ้าประชากรของกุ้งปลาไม่มากก็เพียงพอต่อการทำหน้าที่ย่อยสลายของจุลินทรีย์ในธรรมชาติ แต่ถ้าประชากรของกุ้งปลามหาศาล ของเสียก็จะถูกปล่อยออกมามาก แต่จุลินทรีย์ในธรรมชาติไม่ถูกเพิ่มตามไปด้วยอย่างสมดุลก็จะเกิดการบูดเน่าย่อยสลายเกิดก๊าซของเสียในรูปของแอมโมเนีย, ไนไตรท์, ไฮโดรเย่นซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า)และมีเธน ในส่วนที่อ๊อกซิเจนน้อยหรือขาดอ๊อกซิเจน(ควรใช้หินแร่ภูเขาไฟ สเม็คโตไทต์ จับของเสียในรูปของก๊าซ และใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายโปรตีนส่วนเกินโดยเฉพาะในบ่อกุ้งบ่อปลาบาซิลลัสMTเสริมเข้าไปให้เพียงพอสมดุลย์กับของเสียและจุลินทรีย์ในธรรมชาติเมื่อเกิดปัญหา)

วิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมน่าจะเป็นการปล่อยจำนวนกุ้งปลาแต่พอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยเกษตรกรจะต้องหมั่นสังเกตุและจดบันทึกว่าสายพันธุ์ของปลาและกุ้งที่นำมาปล่อยเลี้ยงนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมท้องถิ่นนั้นในอัตราใดดีที่สุด ไม่ต้องเน้นปริมาณให้มากนักโดยอาจจะปล่อยจำนวนกุ้งอยู่ที่ 30,000- 50,000 ตัวต่อไร่และจำนวนปลาอาจจะมากกว่าสักเล็กน้อยเพราะสามารถที่จะเคลื่อนไหวหาอาหารและฮุบอากาศได้เก่งกว่ากุ้งอาจจะอยู่ที่ 50,000 - 60,000 ตัวต่อไร่ ซึ่งสามารถช่วยให้ปลาและกุ้งอยู่อาศัยอย่างไม่หนาแน่นเกินไป ไม่ต้องเบียดเสียดแก่งแย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่ออ๊อกซิเจนเพียงพอ ของเสียในบ่อน้อย กุ้งปลาไม่เครียด กินอาหารได้มาก เจริญเติบโตไว อัตราการรอดก็สูง ลดปัญหากุ้งปลาตายก่อนจับเดือนหรือสองเดือน

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 15:24:05 น.   
Counter : 388 Pageviews.  

สร้างอาหารธรรมชาติให้สัตว์น้ำด้วยการใช้ สเม็คโตไทต์และบาซิลลัส ซับธิลิส

ยังสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยพึ่งพิงอิงอาศัยกันอยู่ใต้ท้องทะเลและก้นแม่น้ำหรือมหาสมุทร มีทั้งที่เป็นพืช ไฟโตเบนโทส (phytobenthos) และสัตว์ ซูโอเบนโทส (zoobenthos) อาศัยหากินอยู่หน้าผิวดินใต้น้ำเป็นห่วงโซ่อาหารให้แก่กุ้ง หอย ปู ปลาชนิดต่างๆ ให้สามารถดำรงชีวิตเจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติได้อย่างอิสระและสมดุลย์ เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กันสั้นๆว่าเบนโธสก็ได้ เบนโธส จะมีอยู่มากในแม่น้ำ ลำคลอง หรือท้องทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำเสียจากโรงงานหรือสารเคมี ยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษปนเปื้อนลงไป ก็สามารถสร้างอาหารธรรมชาติเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ตัวบ่งชี้ (Indicator)ที่ชัดเจนว่าแหล่งน้ำที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ดูได้จาก ความชุกชุมของกุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในต่างจังหวัดจะยิ่งสัมผัสได้โดยง่ายจากประชากรของกุ้งปลา ธัญญาหารที่ออกไปล่าไปหามาทำกับข้าวกับปลาทดแทนการใช้สตางค์ซื้อจากตลาดนัดที่มีทุกหย่อมหญ้าให้เลือกซื้อหาได้เกือบทุกวัน ปัจจุบันนั้นความชุกชุมน้อยลงมีความยากลำบากมากขึ้นเพราะผลจากการที่กุ้งหอยปูปลาตายไปกับยาเบื่อ ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหอยเชอรี่และอีกหลายๆสารพัดสารเคมีที่เป็นพิษที่นำมาใช้ในการเกษตรปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน

จนกุ้ง หอย ปู ปลาจากธรรมชาติลดน้อยถอยลงไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องทำการเพาะเลี้ยงเพิ่มเติมจากห้วยหนองคลองบึงมาสู่บ่อสระที่คิดค้นดัดแปลงให้คล้ายธรรมชาติมากที่สุด แล้วปล่อยปลาลงไปและส่วนใหญ่ขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม มีการปล่อยจำนวนปลาลงไปจำนวนมาก ระบบนิเวศน์ถูกทำลายจากความแออัดยัดเยียด จำนวนของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมาจำนวนมาก แย่งกันใช้อากาศและอ๊อกซิเจน ระบบนิเวศน์ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดอาหารหน้าดินได้ดีจึงต้องมีการเสริมเพิ่มแต่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมพื้นบ่อใต้ผิวน้ำให้สะอาดเหมาะสมกลมกลืนไปกับระบบนิเวศน์ที่มีความหนาแน่นของกุ้งปลามากกว่าธรรมชาติ

การนำ สเม็คโตไทต์ หินแร่ภูเขาไฟที่มีค่า C.E.C สูงมาช่วยจับก๊าซของเสีย ลดแอมโมเนียที่ถูกปล่อยออกมาจากทั้งกุ้งหรือปลาจำนวนมาก จะช่วยทำให้ก๊าซของเสียลดน้อยลง ทำให้อ๊อกซิเจนเพิ่มขึ้นมาแทนที่ อีกทั้ง สเม็คโตไทต์ยังมีแร่ธาตุสารอาหารและซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ เป็นประโยชน์ต่อเบนโธสในการนำไปสร้างเปลือก และใช้เป็นแหล่งอาหารช่วยเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ปริมาณเบนโธสเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อการเป็นห่วงโซ่อาหารทดแทนหรือลดจำนวนการซื้ออาหารสำเร็จรูปช่วยลดต้นทุน และการใช้บาซิลัส ซับธิลิส bacillus subtilis sp. (ชื่อการค้า บาซิลลัส MT) นำมาช่วยย่อยเศษอาหารและของเสียในรูปที่เป็นกากตะกอนจะช่วยลดต้นเหตุแห่งการเน่าเสียให้น้อยลง ลดการเกิดก๊าซแอมโมเนีย, ไฮโดเย่นซัลไฟด์และมีเธน อีกทั้งตัวเขาเองสามารถที่จะเป็นอาหารให้แก่เบนโธสโดยตรง จึงช่วยทำให้สัตว์หน้าดินโตเร็วมีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ใต้พื้นบ่อ สะอาด ปลอดโปร่งโล่งสบาย ขี้เลนน้อย กุ้งปลาไม่เครียดโตไว

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 14:16:27 น.   
Counter : 392 Pageviews.  

เตรียมน้ำเขียว สร้างอาหารธรรมชาติก่อนปล่อยกุ้งปลา

เกษตรกรที่เตรียมบ่อเลี้ยงปลาอย่างรอบคอบ โดยการสำรวจตรวจตราวัดค่าพีเอชของดินและน้ำให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม โดยดินและน้ำจะต้องมีค่ากลางๆ (เมื่อทำการตรวจด้วยน้ำยาหยดเทียบสีแล้วจะต้องมีค่าอยู่ใกล้เคียงกับ 7) ไม่เป็นกรดหรือด่างจัดเกินไป ถ้าตรวจพบว่าดินและน้ำมีค่าที่น้อยหรือมากกว่า 7 มากเกินไปจะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงให้ค่าพีเอชกลับมาอยู่ในจุดที่เหมาะสม ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่จะชอบน้ำและดินที่เป็นกลาง ส่วนปลาหรือกุ้งน้ำเค็มจะชอบน้ำที่มีค่า 8.5 อย่างน้อยในช่วงอนุบาลหรือในสองหรือสามสัปดาห์แรกก็จะต้องใช้น้ำทะเลและหลังจากนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นน้ำจืดจนปลาและกุ้งโตสามารถเลี้ยงแบบน้ำกร่อยได้ ถ้าให้ความสำคัญกับการเตรียมบ่อที่ดีสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับปลาในการให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้มากพอสมควร

ทั้งดินและน้ำจะต้องทำการตรวจเช็คให้ตระนี่ถี่ถ้วนก่อนที่จะมีการเติมปูนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปูนขาว เพราะถ้าค่าพีเอชอยู่ในช่วงที่เหมาะสมดีแล้วคือมีค่า 7 ตามกระดาษเทียบสีจากชุดตรวจวัดเรายังมัวห่วงที่จะไปใส่ไปเพิ่มปูนด้วยความเคยชินอีก ทีนี้จะทำให้ดินมีค่าพีเอชสูงขึ้นไปจนกลายเป็นด่าง จะยิ่งมีความยากลำบากในการปรับให้ลดต่ำลงมาเสียเวลาเปลืองเงินโดยใช่เหตุจึงควรทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ควรใส่ปูนเมื่อตรวจวัดน้ำและดินมีคีาเป็นกรดหรือเปรี้ยวเท่านั้น ถ้าทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมเพิ่มปัญหามากขึ้น หรือใครคิดที่จะใส่ปูนเพื่อหวังฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ควรหรือตระหนักให้ดี เพราะเท่าที่ทราบยังไม่เคยมีรายงานหรือวิจัยใดๆที่อ้างว่าปูนขาวสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มีแต่เพียงระงับยับยั้งไม่ให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียเท่านั้น แต่ไม่ได้ฆ่า คือถ้ามัวแต่ห่วงเรื่องเชื้อโรคอัดปูนขาวเข้าไปมากๆ ไอ้ที่น่าห่วงมากกว่าคือ ลูกปลาตัวเล็กๆจะตายเสียก่อน

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการเตรียมน้ำเขียวและสร้างสารอาหารหน้าดิน (Benthos) จะช่วยให้กุ้งและปลาเจริญเติบโตจากอาหารธรรมชาติ โดยอาศัยสัตว์หน้าดินเป็นอาหารจะช่วยลดต้นทุนในการซื้ออาหารจากท้องตลาดลงไปได้มากอีกทั้งช่วยให้ทั้งกุ้งและปลาเจริญเติบโตเร็วแข็งแรงแบบธรรมชาติ หลังจากเตรียมบ่อโดยทำความสะอาดลอกเลนเก็บเศษไม้ใบหญ้า (Organic Matter) ตรวจวัดปรับปรุงแก้ไขกรด-ด่างจนเหมาะสมแล้ว จึงปล่อยน้ำเข้ามาในนะระยะอนุบาลอาจจะกั้นหรือล้อมคอกผ้าใบหรือปรับพื้นที่ส่วนท้ายบ่อให้ลึกเพื่อกันไว้เป็นบ่ออนุบาลในช่วงเริ่มแรกก็ได้ ระดับน้ำไม่ต้องลึกมากเพราะปลาหรือกุ้งยังเล็กอยู่ ในระยะนี้ควรนำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกนำมาห่อมุ้งเขียวแล้วนำไปปักต้งไว้ตามจุดต่างๆของบ่อ เมื่อเริ่มได้สีน้ำเขียวเป็นที่ต้องการอย่าปล่อยทิ้งไว้จนเขียวเข้มหนืดเกินไป เพราะจะทำให้แพลงค์ตอนดรอปและตายลงเป็นจำนวนมากส่งผลให้อ๊อกซิเจนในบ่อลดลงอย่างฉับพลันจะทำให้กุ้งและปลาตายได้ อาจทิ้งไว้สักสองสามวันก็พอ ไม่ควรใช้ปุ๋ยยูเรียสำหรับมือใหม่เพราะจะมีผลทำให้แอมโมเนียตกค้างปลาตาบอดและตายได้ วันนี้ขออนุญาตบอกกล่าวเล่าให้ฟังเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ วันหน้าจะนำมาเล่าให้ฟังต่อกันใหม่ในโอกาสต่อไป

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 14:15:52 น.   
Counter : 333 Pageviews.  

เตรียมขุดบ่อเลี้ยงปลา อย่าด่วนรีบเร่งใส่ปูนขาว

อาชีพเลี้ยงปลาเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับอาชีพหลักอย่างทำนาปลูกข้าวของเกษตรกร แถมเป็นอาชีพที่ช่วยเกื้อหนุนจุนเจือเกษตรกรไทยมาช้านานยามข้าวยากหมากแพงก็ยังพออาศัยปลาในบ่อตกหรือเหวี่ยงแห ลงอวนขึ้นมาเป็นกับข้าวกับปลาในแต่ละมื้อ เมื่อโตพอได้ขนาดก็วิดบ่อจับไปขายตลาดได้เงินมาพอเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ พอใช้สอยกันไปในครัวเรือน ในอดีตตามหัวไร่ปลายนา หน้าบ้านหลังบ้านของเกษตรกรจึงมีแต่ห้วยหนองคลองบึงเป็นสระน้ำแก้มลิงสำรองเตรียมไว้ทำการเกษตรยามหน้าแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริมไปด้วย แต่ปัจจุบันก็ค่อยๆลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา แต่บ้างด้านบางมุมมีการพัฒนาขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาอย่างเป็นล่ำเป็นสันควบคู่กันมานอกจากจะมีบ่อที่ไว้สำรองน้ำเพียงอย่างเดียวอย่างแต่ก่อน

การขุดสระหรือบ่อเลี้ยงปลาในอดีตสักสิบยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ทุกครั้งหลังขุดบ่อเสร็จประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องก็คือการ โรยปูนขาว ทุกๆบ้านจะต้องโรยปูนขาว บ้างก็โรยไปไม่รู้เพราะเหตุอะไร เห็นเขาโรยก็โรยบ้าง บ้างก็โรยเพราะความสบายอกสบายใจของตนเอง บ้างก็โรยเพราะคิดว่าเป็นการฆ่าเชื้อ แต่ความจริงยังไม่เคยมีรายงานในประเทศใดในโลกว่าปูนขาวสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จึงเป็นการใส่ปูนที่ขาดเหตุผลโดยสิ้นเชิง ขาดการวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียที่จะตามมาในอนาคต เพราะการใส่ปูนขาวลงไปในบ่อจะทำให้ดินและน้ำสะเทิ้นกลายเป็นด่าง ในกรณีที่ดินนั้นมีค่าพีเอชที่เหมาะสมสวยงามอยู่แล้ว เช่นน้ำและดินมีค่าพีเอชอยู่ที่ 7 คือมีค่าเป็นกลางพอเหมาะพอดีเหมือนกับน้ำที่อยู่ตามห้วย หนอง คลองบึงจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและเคยชินของปลาน้ำจืดในบ้านเรา

แต่ถ้าเรามีการเตรียมน้ำเตรียมบ่อโดยเติมปูนขาวเพิ่มเข้าไปก่อนจะทำให้ค่าพีเอชของดินและน้ำกลายเป็น "ด่าง"... ซึ่งปลาไม่ชอบน้ำที่เป็นด่าง ปลาชอบน้ำที่เป็นกลาง จึงส่งผลให้ปลาเครียด กินอาหารได้น้อย โตช้า สร้างปัญหาซ้ำซ้อนต้องกลับไปซื้อยา วิตามิน มาบำรุงรักษาจากร้านที่ขายปูนขาวให้เราในตอนแรกอีกโดยคิดว่าปลาไม่สบายผ่ายผอมหรือเป็นโรค... หรือนี่! เป็นการวางยาของพวกฝรั่งมังค่าในอดีตที่ส่งออกยา และวิตามินมาขายให้ร้านค้าตัวแทนเกษตรในต่างจังหวัดจึงทำให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องเสียเงินซ้ำซ้อนไปกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 14:15:23 น.   
Counter : 323 Pageviews.  

น้ำเขียว น้ำหนืดในบ่อเลี้ยงปลา กลางคืนกลางวันมีผลต่ออ๊อกซิเจน ส่งผลให้พีเอชแกว่งปลาตาย

บ่อเลี้ยปลาไม่ว่าจะเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาสลิด ปลาทับทิม ปลายี่สก ปลาสวาย ฯลฯ เมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งจะเกิดอาการ น้ำเขียวน้ำหนืดโดยสีของน้ำจะเข้มมาก ยิ่งเป็นบ่อเก่าค้างปีหรือบ่อที่ผ่านการเลี้ยงมาเป็นระยะเวลานานแต่ไม่เคยล้างบ่อฉีดเลนเลย ยิ่งจะทำให้น้ำเกิดอาการเน่าเสียได้เร็ว ปลาจะเครียดขาดอากาศหายใจโตช้าตายเร็ว ส่วนบ่อที่เลี้ยงแบบคละเคล้าผสมผสานหรือแบบเบญจพันธุ์ที่ปล่อยปลากินพืชลงไปด้วยเช่น ปลากระดี่ ปลานิล ปลาตะเพียนฯลฯอาการเน่าเสียก็จะน้อยหรือช้ากว่าบ่อที่เลี้ยงปลาที่กินโปรตีนเพียงอย่างเดียว

สีของน้ำที่หนืดเขียวเข้มเกิดจากแพลงค์ตอนขยายและเพ่ิมจำนวนในปริมาณมากหรือที่ชาวบ้านเรียกกันคือแพลงค์ตอนบลูม แพลงค์ตอนพืชเมื่อรวมตัวเป็นจำนวนมากก็ทำให้สีของพื้นผิวน้ำสามารถที่จะสังเกตุเห็นสีที่มีลักษณะเขียวเข้มได้อย่างชัดเจน และเมื่อได้รับแสงแดดก็จะสังเคราะห์แสง (photosynthesis) โดยดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำออกไปใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าพีเอชของน้ำเป็นด่างกลับกันถ้าเป็นเวลากลางคืนแพลงค์ตอนพืชจะคายก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์กลับลงไปและแย่งใช้ออกซิิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชหรือแพลงค์ตอนพืชจำนวนมากปล่อยออกมาเมื่อรวมตัวกับน้ำกลายเป็นกรดคาร์บอนิค ทำให้น้ำมีค่าพีเอชเป็นกรดจัด การที่แพลงค์ตอนปล่อยและดึงก๊าซคาร์บอนไดเป็นเรื่องปรกติ แต่ถ้าปล่อยให้แพลงค์ตอนมากเกินไปก็จะมีผลต่อค่าพีเอชของน้ำ กลางคืนน้ำเป็นกรด กลางวันเป็นด่าง หรือส่วนใหญ่เรียกว่าค่าพีเอชแกว่ง ทั้งพีเอชแกว่ง อ๊อกซิเจนน้อยปลาจะเครียด กินอาหารได้น้อย ลอยฮุบอากาศผิวน้ำ หนักมากๆปลาจะตาบอดและตาย

แพลงค์ตอนพืชก็เปรียบได้ดังพืชทั่วไปที่สามารถเจริญเติบโตดีเมื่อมีปุ๋ยอันอุดมสมบูรณ์ บางท่านอาจจะแปลกใจในบ่อเลี้ยงปลาจะมีปุ๋ยอยู่ได้อย่างไร ปุ๋ยมาจากมูลของปลา และเศษอาหารที่เหลือตกค้างโดยยิ่งถ้าไม่มีการเช็คยอเช็คปริมาณอาหารว่าปลากินเหลือมากน้อยเพียงใดก็จะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำเขียวเข้มและบูดเน่าได้ง่าย ปลาเมื่อมีอายุการเลี้ยงมากขึ้นสองหรือสามเดือนความหนาแน่นเริ่มมากขึ้น มูลก็มากขึ้นบวกกับเศษอาหารที่เหลือส่งผลให้มีปริมาณของเสียมากขึ้นตามไปด้วย มูลปลาและเศษอาหารเป็นโปรตีนเมื่อถุูกย่อยสลายแตกตัวเป็นแอมโมเนีย ไนไตรท์(สองตัวนี้มีมากเกินไปปลาจะตาบอดขาดอ๊อกซิเจนปลาขับถ่ายของเสียออกมาได้ลำบาก หรือพูดง่ายๆว่าปลาฉี่ไม่ออก) ต่อมาแตกตัวเป็นไนเตรทและไนโตรเจนตามลำดับ ไนโตรเจน ถ้าเปรียบเทียบกับปุ๋ยที่ชาวบ้านใช้อย่างคุ้นเคยก็คือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 นั่นเอง ทีนี้พอเข้าใจได้ในระดับหนึ่งแล้วไช่ไหมครับว่าทำไมแพลงค์ตอนพืชในบ่อเลี้ยงปลาจึงเจริญงอกงามดีเหลือเกิน

วิธีการแก้ไขแบบง่ายๆต้องหมั่นดูแลให้มีเศษอาหารตกค้างน้อย หมั่นเช็คยอ ปล่อยปลาอย่าให้หนาแน่นมากเกินไป หมั่นดูดขี้เลน เพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ 1.80 - 2.00 เมตร ทำความสะอาดบ่อหลังจับหรือก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงปล่อยลูกปลาลงไปใหม่ ใช้เครื่องตีน้ำช่วยอาจจะไม่ต้องมากเหมือนผู้เลี้ยงกุ้งก็ได้ และผู้ที่เลี้ยงเป็นธุรกิจอาจจะใช้บาซิลลัสmt (บาซิลลัส ซับธิลิสสายพันธุ์ที่ย่อยสลายโปรตีนจากอาหารปลาและขี้ปลาโดยเฉพาะ)ตัวนี้จะช่วยย่อยสลายต้นเหตุของการเกิดปุ๋ยและก๊าซของเสียต่างๆ และควรใช้ สเม็คโตไทต์ (หินแร่ภูเขาไฟ) ช่วยจับสารพิษในน้ำและอฟลาท๊อกซินในอาหารปลาอีกทั้งช่วยจับก๊าซไฮโดรเย่นซัลไฟด์(ก๊าซไข่เน่า), ก๊าซแอมโมเนียและก๊าซมีเธนในจุดที่่อ๊อกซิเจนน้อยได้เป็นอย่างดี สองตัวนี้จะช่วยนักธุรกิจผู้เลี้ยปลาให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 14:14:56 น.   
Counter : 257 Pageviews.  

1  2  

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]