นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

จุลินทรีย์น้ำทำเองได้ ไม่ต้องซื้อ

เมื่อสักเจ็ดแปดปีที่แล้วกระแสการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเพื่อใช้สอยในครัวเรือนสำหรับผู้ที่ปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆน้อยๆไว้หลังบ้านเป็นที่นิยมกันอย่างมาก เพราะมีนโยบายจากรัฐบาลในขณะนั้นที่มุ่งมั่นให้ครัวไทยก้าวไกลไปสู่ครัวโลก การเกษตรเกือบทุกแขนงให้ความสนใจในการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีจึงมีบทบาทอย่างมากในขณะนั้น บางคนที่มีความชำนาญในการหมักปุ๋ยและเป็นที่ทราบในหมู่เพือนฝูงก็ต้องหมักเผื่อไว้เอื้อเฟื้อแบ่งปันญาติสนิทมิตรสหายที่มาเอ่ยปากถามไถ่ (ในอดีตเรื่องการหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพถือเป็นเรื่องไหม่)

การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำชีวภาพสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กากน้ำตาลหรือโมลาสคือกลุ่มและชนิดจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลาย ยิ่งได้จุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหลากหลายสายพันธ์ุก็จะยิ่งประโยชน์ต่อการนำไปใช้ ได้จุลินทรีย์ที่มีความแข็งแรงย่อยสลายเศษอาหารอาหาร ซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยเหมาะสมต่อการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกจะเน้นความหลากหลายของจุลินทรีย์มีทั้งกลุ่มแอคติโนมัยซีท รา แบคมีเรีย ยีสต์หลายๆชนิดไม่เฉพาะเจาะจงชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ มักอยู่ในรูปของสปอร์ (spores)และมัยซีเลียม (mycelium) จำนวนและชนิดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ ความชื้น พีเอช ชนิดของดินและความตื้นลึกของดินด้วย บางครั้งอาจพบมัยซีเลียมอยู่รวมกับอนุภาคของสารต่าง ๆ ในดิน บางชนิดใช้มัยซีเลียมยึดเกาะกันและแทรกเข้าไปในเนื้อดินบางชนิดเจริญข้างในหรือด้านบนของอนุภาคอินทรียสาร เป็นต้น (ท่านที่สนใจในเรื่องนี้โดยตรงสามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ปฐพีเบื้องต้น ซึ่งมีอยู่หลากหลายหรือสนใจของรองศาตราจารย์ดร.ยงยุทธ์ โอสถสภาก็ละเอียดใช้ได้)

จุลินทรีย์พวกนี้เมื่ออาศัยอยู่ในดินจะช่วยแลกเปลี่ยนสารอาหารกับพืชช่วยทำให้พืชโตเร็ว ช่วยเพิ่มสารประกอบพวกคาร์บอนและไนโตรเจน สร้างความชุ่มชื้นและช่วยย่อยอนุภาคของอินทรีย์วัตถุให้มีขนาดเล็กลงได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดินสามารถอุ้มและกักเก็บน้ำได้ดี แล้วจะหาจุลินทรีย์เหล่านี้ได้ที่ไหน? อาจจะมีผู้อ่านที่เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ไฟแรงของชมรมเกษตรปลอดสารพิษที่คิดในใจ จึงจะได้ช่วยชี้แจงแถลงไข ณ บัดนาว!! จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถหาได้จากแหล่งธรรมชาติโดยทั่วไป แต่ถ้าจะให้ดีหน่อยก็ควรเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยที่ดูดี (housing) เช่นตอซัง ฟางข้าว กอไผ่ ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ที่จะนำมาแนะนำในวันนี้ในมุมมองของนักส่งเสริมที่สามารถให้เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคสามารถเสาะแสวงหาวัตถุดิบมาใช้ง่ายที่สุด นั่นก็คือกล้วยหรือหน่อกล้วยนั่นเอง

ให้เสาะหาคัดเลือกหน่อกล้วยที่จ้ำม่ำ อวบ อ้วน สมบูรณ์สูงไม่เกินหนึ่งเมตร ชาวบ้านเรียกหน่อกล้วยขันหมากอย่าไปคัดเลือกกล้วยที่เสื่อมโทรม อมโรค ผอมแห้ง ตายพรายมาเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะกลายเป็นนำจุลินทรีย์ผู้ร้ายมาเยือนแปลงเกษตรของท่านได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำการขุดจนถึงเหง้า รากและให้ดินติดปนเปื้อนมาด้วยเล็กน้อยประมาณ 2-3 ช้อนแกง ในส่วนของดินนี้ก็เพื่อให้มีกลุ่มของแอคติโนมัยสีท แบคทีเรีย รา ยีสต์ติดมาด้วยนั่นเองทำการหั่น บด สับ ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวน 3 กิโลกรัม ร่วมกับกากน้ำตาลอีก 1 กิโลกรัม(ให้ชั่งเป็นกิโลไม่ต้องตวงเพราะความข้นหนืดและเหลวของกากน้ำตาลในปััจจุบันคุณภาพไม่แน่นอน) หมักใส่ถังขนาดที่พอดีเหมาะสมให้เหลือพื้นที่สำหรับอากาศบ้างเล็กน้อยไม่ต้องเต็มหรือล้นภาชนะหมักให้ได้ 7 - 15 วันคั้นเอากากออกและเก็บน้ำไว้ใช้เท่านี้ท่านก็จะได้จุลินทรีย์อเนกประสงค์ที่ไม่ต้องซื้อหาไว้ทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ใส่ในเลือกสวนไร่นา ปรามโรค(ผสมกับเหล้าขาวและน้ำส้มสายชู) ฯลฯ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com



Create Date : 13 มีนาคม 2555
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:30:31 น. 0 comments
Counter : 660 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]