นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

เทคนิคการผลิตก้อนเชื้อเห็ดอย่างง่าย ไร้ราเขียว

ความนิยมในการรับประทานเห็ดมีเพิ่มมากขึ้นทุกทีในขณะนี้ เนื่องด้วยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายสายพันธุ์ มีประโยชน์ในเชิงสมุนไพรเป็นยาอายุวัฒนะมีโปรตีนสูงพอหรือเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ อีกทั้งเพาะปลูกและผลิตได้ง่ายอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และข้อมูลการสังเกตุจากจำนวนผู้สนใจที่ติดต่อสอบถามเทคนิคและวิธีการเพาะ การดูแลบำรุงรักษา การติดต่อซื้อหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการเพาะเห็ดเข้ามาที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษค่อนข้างหนาตามากกว่าทุกๆปี อาจเนื่องด้วยวิกฤติการณ์ต่างๆทางด้านเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 สืบเนื่องมาจนถึงปีปัจจุบัน 2555 ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่ถูกน้ำท่วมเสียหายและเตรียมอพยพไปตั้งถิ่นฐานการผลิตในประเทศอื่นที่มีนโยบายและชัยภูมิที่ชัดเจนในเรื่อง"น้ำ" คนงานถูกลอยแพส่งผลให้ ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงต้องหาอาชีพที่ช่วยให้มีรายได้เสริมเข้ามาหนุนจุนเจือ

ปัญหาและอุปสรรคของผู้เพาะเห็ดเมื่อทำการเพาะไปได้ระยะหนึ่งก็จะพบปัญหาความไม่แน่นอนในคุณภาพของก้อนเชื้อ ที่บางครั้งอายุการเก็บเกี่ยวของก้อนสั้นอาหารน้อย ก้อนหลวมจากการเร่งรีบผลิตให้ทันตามออเดอร์ การขนส่งล่าช้าไม่ทันต่อการเปลี่ยนถ่ายก้อนในโรงเรือน และที่สำคัญมีการปนเปื้อนของเชื้อราศัตรูเห็ดทำให้เมื่อเพาะไปได้ระยะหนึ่งผลผลิตต้องเสียหาจากการถูกทำลายของราดำ ราเขียว ราเมือก ราส้มฯลฯ จึงทำให้ผู้เพาะเห็ดส่วนหนึ่งคิดที่จะผลิตก้อนเชื้อขึ้นมาเอง เพื่อให้ทันต่อความต้องการและได้คุณภาพตามที่ตนเองพึงพอใจ

วันนี้จึงขอนำเสนอสูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดอย่างง่ายไร้ราเขียวเพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเห็ดนำไปเป็นทางเลือกในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเห็ดให้ดีมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยใช้สูตรที่มีขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำละเอียดประมาณ 10 กิโลกรัม ถ้าจะเพิ่มแป้งข้าวเหนียวหรือกระถินป่นก็อาจจะลดรำลงเหลือเพียง 7 – 8 กิโลกรัมตามสัดส่วน ใช้พูมิชซัลเฟอร์ 3 กิโลกรัม ใช้น้ำตาลทราย1 กิโลกรัม เมื่อเตรียมวัสดุจนพร้อมเพรียงแล้ว ให้ทำการหมักเชื้อบีเอสพลายแก้วในอัตรา 1 ช้อนชา (5 กรัม) กับมะพร้าวอ่อนหนึ่งผลหรือจะเป็นนมยูเฮชทียี่ห้ออะไรก็ได้ 1 กล่อง (ประมาณ 250 ซี.ซี.). โดยเฉาะมะพร้าวเปิดฝาแง้มแล้วหยอดเชื้อลงไป 1 ช้อนชาแล้วปิดฝาไว้อย่างเดิม ส่วนนมให้เปิดกล่องแล้วรีบเทใส่ถุงพลาสติก (ถุงก๋วยเตี๋ยว, กาแฟ, โอเลี้ยง) หยอดเชื้ิอเท่ากับสูตรมะพร้าวแล้วนำหนังยางผูกหูห้อยไว้ข้างหนึ่งแขวนไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทหมักทิ้งไว้ให้ได้ 24-48 ชั่วโมง

นำบีเอสพลายแก้วที่หมักจนได้ที่แล้วนำมาผสมน้ำ 10 ลิตรราดรดลงบนกองขี้เลื่อย 100 กิโลกรัมแล้วเติมรำละเอียดและกระถินป่นกับแป้ง (กรณีที่ใช้เพิ่มเติมเข้ามาด้วย)คลุกเคล้าให้เข้ากัน ต่อด้วยการนำน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมละลายในน้ำที่ใส่ในภาชนะถังหรือกะละมังปริมาณ 60 ลิตรรินใส่บัวราดรดให้ชุ่มโชกคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างทั่วถึงอีกครั้งจึงค่อยนำพูมิชซัลเฟอร์ (ฟอสฟอรัส,แคลเซียม, แมกนีเซียม, กำมะถัน, ซิลิก้า และจุลธาตุต่างๆจากหินแร่ภูเขาไฟ) จำนวน 3 กิโลกรัมมาผสมคลุกในตอนท้าย แล้วทำการตรวจสอบความชื้นโดยใช้มือกำขี้เลื่อยที่ผสมคลุกเคล้าแล้ว เมื่อค่อยๆคลายออกแล้วยังเป็นผงป่นไม่รวมตัวเป็นก้อนและยังไม่มีรอยบิแยะออกเป็นสามส่วนก็ให้เพิ่มน้ำเปล่าโดยค่อยๆเติมลงไปจนได้ตามที่ต้องการคือมีความชื้นประมาณ 80-90% สังเกตุได้อีกวิธีหนึ่งเมื่อค่อยกำขี้เลื่อยแล้วจะมีน้ำซึมออกมาระหว่างง่ามมือเล็กน้อยถือว่าใช้ได้เมื่อทำบ่อยๆก็จะมีความชำนาญไปเองเป็นลำดับ

เมื่อผสมวัสดุเพาะเสร็จเรียบร้อยแล้วนำมากรอกบรรจุใส่ถุง ทำให้ก้อนแน่นโดยใช้ขวดน้ำอัดลมกระทุ้งกดอัดหรือกระแทกก้นถุงลงกับพื้นหรือจะใช้เครื่องอัดก้อนก็ตามสะดวกให้ได้น้ำหนักโดยประมาณ 800-900 กรัม ใส่คอขวดอุดสำลีปิดหมวกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ใช้หนังยางรัดหมักบ่มทิ้งไว้สักสองสามคืนแล้วจึงค่อยนำไปนึ่งหรือเครปเพื่อฆ่าเชื้อปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นลงแล้วนำไปหยอดใส่เชื้อได้ตามปรกติ วิธีการนี้ช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อราเขียวได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:41:09 น.   
Counter : 831 Pageviews.  

เปรียบเทียบต้นทุน สูตรการผลิตก้อนเชื้อเห็ด เมื่อเติมหินแร่ภูเขาไฟพูมิชซัลเฟอร์ตั้งแต่ตอนเตรียมก้อน

สูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดของเกษตรกรผู้เพาะเห็ดส่วนใหญ่จะมีความหลากหลายไม่ยึดติดตายตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพและปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรรู้จัดคิดค้นดัดแปลงต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ (C & D) ไม่จมปลักอยู่กับที่จะช่วยให้ก่อเกิดการพัฒนาการด้านการผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ คนไทยก็จะมีโปรตีนในรูปของเห็ดไว้บริโภคด้วยความเต็มเปี่ยมด้านคุณภาพทางโภชนาการและความปลอดภัยไร้สารพิษ

สูตรการทำก้อนเชื้อโดยปรกติจะใช้ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำละเอียดประมาณ 10 กิโลกรัม ถ้าจะเพิ่มแป้งข้าวเหนียวหรือกระถินป่นก็อาจจะลดรำลงเหลือเพียง 7 - 8 กิโลกรัมแล้วเติมแป้งและกระถินป่นเสริมเข้าไปอีก 2 - 3 กิโลกรัม ใช้ปูนขาวหรือแคลเซียม ประมาณ 2 กิโลกรัม ใช้ดีเกลือหรือแมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม ใช้ยิปซั่มหรือแคลเซียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม ภูไมท์ 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทราย 1กิโลกรัม

1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 2.00 บาท = 200.00 บาท
2. รำละเอียด. 10 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 5.00 บาท = 50.00 บาท
3. ปูนขาวหรือแคลเซียม 2 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 4.00 บาท = 8.00 บาท
4. ดีเกลือหรือแมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม. กรัมละ. 0.01 บาท = 2.00 บาท
5. ภูไมท์. 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 8.50 บาท = 8.50 บาท
6. ยิปซั่มหรือแคลเซียมซัลเฟต. 2 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 4.00 บาท = 8.00 บาท
4. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 25.00 บาท = 25.00 บาท
รวม 301.50 บาท

รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตามสูตรดังกล่าวก็จะอยู่ที่ 301.50 บาทต่อวัตถุดิบการผลิตเห็ดทั้งสิ้น 114.2 กิโลกรัม เมื่อนำไปอัดก้อนในขนาด 800 กรัมเราจะได้จำนวนก้อนประมาณ 142 ก้อน ตกเฉลี่ยต้นทุนต่อก้อนอยู่ที่ 2.12 บาท และถ้ามรวมกับค่าพลังงานน้ำมัน แก๊ส ถ่าน ฟืน ถุงพลาสติก จุกสำลี คอขวด กระดาษหนังยางต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อยอาจจะ 1-2 บาทตามแต่ราคาในท้องตลาดของในแต่ละท้องถิ่นก็ถือว่ายังเป็นราคาที่พอรับได้ เมื่อเทียบกับคุณภาพของก้อนเชื้อที่เรียกได้ว่า "จัดเต็ม" ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสูตรของก้อนเชื้อเห็ดนั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความต้องการของแต่ละปัจเจกบุคคลเพิ่มเติมเสริมแต่งได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเราทำพื้นฐานของก้อนเชื้อให้ดีมีคุณภาพเสียแต่เริ่มแรก กระบวนการเพาะเห็ดเราก็อาจไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อฮอร์โมนหรืออาหารเสริมมาฉีดให้สิ้นเปลืองเพิ่มขึ้นง่ายต่อการบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษา

ทีนี้เราลองมาเปรียบเทียบกับการใช้หินแร่ภูเขาไฟกลุ่มตระกูล ซีโอ-พูมิชซัลเฟอร์ กันดูบ้างนะครับว่าจะมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด สูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดถุงแบบใช้กลุ่มหินแร่ภูเขาไฟก็ไม่ได้แตกต่างจากสูตรดั้งเดิมเพียงแต่เราจะลดการใช้แคลเซียม ดีเกลือ ภูไมท์และยิปซั่มออกไปเพื่อประหยัดเวลา ขั้นตอนการผลิตและต้นทุนให้ลดลงแต่ยังคงคุณภาพไว้ให้เทียบเท่าจากเดิมหรือมากกว่าโดยอาศัยแหล่งอาหารจากตัว พูมิชซัลเฟอร์ ซึ่งมีแร่ธาตุสารอาหารที่ได้จากแร่ภูเขาไฟที่ผ่านอุณหภูมิความร้อนเป็นล้านๆองศาพร้อมต่อการละลายย่อยสลายกลายเป็นอาหารของเห็ด โดยพูมิชซัลเฟอร์ประกอบไปด้วยแร่ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน โมลิดินั่ม ฯลฯ และแร่ธาตุที่สำคัญโดดเด่นในตระกูลหินแร่ภูเขาไฟคือ ซิลิสิค แอซิดหรือซิลิก้านั่นเองที่ช่วยให้เส้นไยเจริญเติบเดินเร็ว แข็งแรง อีกทั้งช่วยเพิ่มอรรถรสที่นุ่มเหนียวพอประมาณที่รู้สึกได้ถึงการขบเคี้ยวเหมือนทานสเต๊กรสนุ่มประมาณนั้นเชียว! เพราะนี่คือประโยชน์ของซิลิก้าที่โดยทั่วไปที่ใช้ในการปลูกพืชจะทำหน้าที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับผนังเซลล์ป้องกันโรคแมลงราไรที่จะเข้ามาทำลายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในการเพาะเห็ดจึงโดดเด่นมากในเรื่องรสชาติที่สัมผัสได้

1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 2.00 บาท = 200.00 บาท
2. รำละเอียด. 10 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 5.00 บาท = 50.00 บาท
3. พูมิชซัลเฟอร์ 3 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 9.00 บาท = 27.00 บาท
รวม 277.00 บาท

รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตามสูตรดังกล่าวก็จะอยู่ที่ 277บาทต่อวัตถุดิบการผลิตเห็ดทั้งสิ้น 113 กิโลกรัม เมื่อนำไปอัดก้อนในขนาด 800 กรัมเราจะได้จำนวนก้อนประมาณ 141 ก้อน ตกเฉลี่ยต้นทุนต่อก้อนเชื้อเห็ดอยู่ที่ 1.96 บาท เมื่อเทียบกับวิธีแรกก็ถือว่าประหยัดลงมาได้ถึง18% และยังได้ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการผลิตไปอีก 4 ขั้นตอน การเตรียมก้อนเช้ือให้เพียบพร้อมไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์พร้อมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ด ช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อฮอร์โมนหรืออาหารเสริมเห็ดฉีดพ่น พร้อมทั้งช่วยให้ก้อนเชื้อเห็ดมีคุณภาพหรือสารอาหารเต็มก้อนเต็มประสิทธิภาพเปิดดอกเก็บได้นาน เป็นที่ต้องการของตลาด

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:40:42 น.   
Counter : 458 Pageviews.  

การใช้หินแร่ภูเขาไฟ พูมิช, พููมิชซัลเฟอร์ ม้อนท์โมริลโลไนท์ ช่วยให้อายุก้อนเชื้อเห็ดเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน

จากที่ได้เคยเกริ่นไปในเรื่องวัสดุในการเพาะเห็ดอย่างเช่น ฟางข้าวเจ้า ฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวหอมมะลิ ฟางขาวโอต ฟางขาวไรน ฟางขาวบารเลย ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ขี้เลื่อยยางพารา ขี้เลื่อยไม้สักพยูง ชิงชัน ทะลายปาลม เฟรน หญา ผักตบชวา เปลือกมันสําปะหลัง เปลือกถั่วเขียว หรือถั่วเหลือง เศษฝาย ไส้นุ่น ปุยหมัก ฯลฯซึ่งในอดีตนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม แต่ในปัจจุบันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เร่งรีบโดยเฉพาะเรื่องเพาะปลูกเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก การผลิตจึงมีหลายรูปแบบ ไม้ผลก็มีทั้งนอกทั้งในฤดู ทำนาปลูกข้าวก็สองหรือสามครั้งต่อปีจนดินแทบไม่มีเวลาพัก ยางพาราก็รีบเร่งกรีดไม่เว้นแต่ละวันจากราคาที่จูงใจเมื่อเทียบกับในอดีตที่แผ่นละไม่กี่บาท (12-15 บาท) มิหนำซ้ำยังหาสารมาเร่งน้ำยางให้ออกมากกว่าปรกติ แล้วสารอาหารทั้งจากในดินและลำต้นเศษซากพืชจะหลงเหลือให้เรามาเพาะเห็ดได้ดีเพียงพอเชียวหรือ?

การผลิตก้อนเชื้อของฟาร์มเห็ดทั้งรายใหญ่รายย่อยจึงต่างพิถีพิถันในการสรรสร้างคุณภาพเพื่อให้ก้อนเชื้อเห็ดของตนเองเป็นที่ต้องการของตลาดหรือแม้แต่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดและผลิตก้อนเชื้อเองก็ต้องให้ความสำคัญในการจัดเตรียมสารอาหารที่จำเป็นพื้นฐานให้แก่ก้อนเชื้อเพื่อให้เห็ดมีแหล่งอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบตลอดอายุการเก็บเกี่ยว ช่วยให้เห็ดมีอายุก้อน อายุการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายก้อนถี่หรือบ่อยเกินไปและที่สำคัญถ้าเราใส่สารอาหารเสริมเติมช่วยไปกับขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะอื่นๆ เห็ดก็สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องอิงอาศัยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ด้อยคุณภาพอาจจะยิ่งทำให้มีแต่เพิ่มต้นทุนโดยใช่เหตุก็เป็นได้ หมั่นทดสอบและสังเกตุด้วยตนเองอย่างตั้งใจจะได้ไม่ต้องไปโทษเพื่ิอนเกษตรกรที่แนะนำ (จะได้โทษตัวเองได้เต็มๆ ฮา)

การใช้กลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ พูมิช, พูมิชซัลเฟอร์ และม้อนท์โมริลโลไนท์ ซึ่งมีทั้งแร่ธาตุฟอฟอรัส (ช่วยทดแทนหินฟอสเฟต) แคลเซียม (ช่วยทดแทนปูนขาว)แมกนีเซียม (ช่วยทดแทนดีเกลือ) กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน โมลิบดินั่ม ฯลฯ และที่สำคัญคือยังมีแร่ธาตุซิลิก้าที่อยู่ในรูปละลายน้ำได้หรือซิลิก้าอะมอฟัส ที่เห็ดพร้อมจะดูดกินหรือนำไปใช้งานได้ทันที ทำให้เส้นเจริญเติบโตและแข็งแรง ช่วยเพิ่มรสชาติให้หนานุ่มหนึกลิ้น อายุหลังเก็บเกี่ยวยาวนาน ทันต่อการนำส่งตลาด การใช้สารอาหารจากแร่ธาตุธรรมชาติเหล่านี้เพิ่มเข้าไปในก้อนเชื้อและวัสดุเพาะจะช่วยทำให้ก้อนเชื้อมีอาหารสำหรับเห็ดที่ครบถ้วน ลดการใช้ฮอร์โมนฉีดพ่น ลดต้นทุน ไม่สิ้นเปลืองสตางค์ เวลาและแรงงาน เกษตรกรท่านใดสนใจเพื่อนำไปใช้เป็นทางเลือกสามารถติดต่อสอบถามเข้าไปได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com หรือโทรศัพท์ 0-2986-1680-2

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:40:11 น.   
Counter : 442 Pageviews.  

ก้อนเชื้อเห็ดดีมีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนฉีดพ่น

แต่ก่อนง่อนชะไรเราจะพานประสบพบเห็นดอกเห็ดและสามารถเก็บเกี่ยวนำมาบริโภคได้จะต้องเข้าดงเข้าป่าเสาะหาตามโคนสุมทุมพุ่มไม้หรือไม่ก็รอบๆกองฟางหลังจากผ่านกิจกรรมนวดเฟ้นของชาวไร่ชาวนาแล้วนำมาสุมกองรวมให้วัวควายใช้เป็นเสบียงยามพ้นผ่านผันเปลี่ยนฤดูกาล ไม่ต้องใช้อาหารสำเร็จรูปราคาแพงเหมือนในปัจจุบัน เมื่อผ่านฝนผ่านหนาวทั้งฟางข้าวและระบบนิเวศน์ทั้งหลายในอดีตที่ยังไม่มีการปนเปื้อนสารพิษมากนักจึงเป็นแหล่งอาหารชั้นดีช่วยให้เห็ดชนิดต่างๆเจริญเติบโตอวดโฉมให้พวกเราได้ลิ้มชิมรสมากหลากหลายชนิด โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้คัดเลือกจากรุ่นสู่รุ่นให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดชนิดที่ไม่รู้จัก มิฉะนั้นจะชักตาตั้งเพราะไปลิ้มชิมเอา "เห็ดพิษ" เข้าให้

ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในป่าเขาลำเนาไพรในอดีตมีเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของทั้งคนและสัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายต่อเป็นทอดๆ เป็นทั้งอาหารของสัตว์ เป็นแหล่งกำเนิดอาหารของคน ของเสียสิ่งขับถ่ายจากระบบนิเวศน์สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหรืออาหารในห่วงโซ่ช่วยทำให้ต้นไม้และสิ่งมีชีวิตเล็กๆอย่างเห็ด รา แบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่หลากหลายอาศัยอยู่รวมกันในธรรมชาติมีการเจริญเติบโตงอกงามที่ดี เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ยังหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนสถานะเป็นวงจร ยังไม่ถูกบั่นทอนทำลายด้วยการตัดไม้ทำลายป่า เผาฟาง ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงสารกำจัดศัตรูพืชมากมายเหมือนในปัจจุบัน

ทั้งเศษไม้หญ้าฟางถ้ายังคงความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่เมื่อนำมาทำเป็นวัสดุเพาะเห็ด ก็สามารถทำให้เห็ดเจริญเติบโตอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้โดยที่ไม่ต้องฉีดพ่นอาหารใดๆเพิ่มเติมเข้าไปอีกให้สิ้นเปลืองสตางค์ ความจริงเราสามารถหาวัสดุเพาะง่ายๆได้หลายหลาก หากเพียงแต่นำมาใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของเห็ด ทั้งฟางข้าวเจ้า ฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวหอมมะลิ ฟางขาวโอต ฟางขาวไรน ฟางขาวบารเลย ขี้เลื่อยไม้ฉำฉา ขี้เลื่อยยางพารา ขี้เลื่อยไม้สักพยูง ชิงชัน ทะลายปาลม เฟรน หญา ผักตบชวา เปลือกมันสําปะหลัง เปลือกถั่วเขียว หรือถั่วเหลือง เศษฝาย ไส้นุ่น ปุยหมัก ฯลฯ ซึ่งประกอบดวย เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนินเปนสวนประกอบที่เห็ดใช้เป็นแหล่งอาหารและพลังงานในการสร้างการเจริญเติบโต

ดังนั้นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งวัสดุในการเพาะเห็ดที่มีความอุดมสมบูรณ์คือต้องช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาระบบนิเวศน์ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษที่อาจมีการตกค้างปนเปื้อนลงไปสู่ต้นไม้ป่าเขาแม่น้ำลำคลองและในอากาศ ฯลฯให้น้อยที่สุด สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้ได้มาซึ่งแหล่งอาหารหรือวัสดุเพาะเห็ดที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะช่วยให้เห็ดใช้เป็นแหล่งอาหารที่เพียงพอไม่ต้องใช้ฮอร์โมนหรือปุ๋ยใดใดๆมาฉีดพ่นเกินความจำเป็น ผู้เพาะเห็ดต้องใช้ดุลยพินิจในการรับฟังรับชมจากโฆษณาชักจูงที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นเรื่องราวมีเรื่องเล่า (story)ที่เหลือเชื่อขาดความเป็นเหตุเป็นผลเชิงวิทยาศาสตร์ ปราศจากข้อมูลพื้นฐานด้านที่จะนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหรืออาหารของเห็ดได้ บางชนิดก็บอกแต่เพียงยี่ห้อแต่ไม่ยอมบอกส่วนประกอบหรือส่วนผสมที่ชัดเจนว่าผลิตหรือทำมาจากอะไร มีอะไรที่อยู่ในนั้นบ้าง บ้างก็ได้แต่เพียงอธิบายว่าเคยทดลองใช้และได้ผลดีจึงนำมาผลิตขายต่อโดยที่อาจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ช่วยทำให้เห็ดเจริญเติบโตได้เลย แต่อาจจะเนื่องด้วยความลงตัวเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมและปัจจัยต่างๆเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นก็เป็นได้ โดยบางทีอาจจะมีการใช้ยูเรีย, แอมโมเนียมาเสริมเติมขายเพื่ิอช่วยให้เห็ดนำไปใช้ในการสร้างกรดอมิโนหรือเอนไซน์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดูดกินอาหาร ดังนั้นเกษตรกรและผู้เพาะเห็ดโดยทั่วไปจะต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับข้อมูลและผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆคงไม่ใช่เป็นแบบอะไรที่ได้มาง่ายๆเสียทั้งหมด อาจจะเป็นสิบยี่สิบปี ร้อยปีหรือไม่อย่างน้อยก็ต้องไม่ต่ำกว่าสองสามปีจึงจะมีนวัตกรรมใหม่ออกมาให้มนุษย์โลกได้สัมผัสชื่นชมได้อย่างเช่น อิป๊อด (ipod) อิแป๊ด (iPad) อิโปน (iPhone) ของท่านจ๊อบเค้า! สิ่งสำคัญที่ต้องจำคือการเตรียมพื้นฐานการทำก้อนที่ดีเพื่อให้มีอาหารเพียงพอตลอดอายุการเก็บเกี่ยวไม่ต้องฉีดพ่นอาหารหรือฮอร์โมนมากจนเกินไป! สุดท้ายก็ฝากให้หมั่นสังเกตุและคิดอย่างมีเหตุมีผลกันมากขึ้นนะครับ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:39:44 น.   
Counter : 375 Pageviews.  

โรงเรือนเห็ดในป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง มีประโยชน์เรื่องความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิ

ปัญหา ที่ผู้เพาะเห็ดทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ บ่นให้ฟังบ่อยๆในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเห็ดไม่ออกดอก ทั้งที่ก้อนเชื้อที่สั่งซื้อก็จากแหล่งเดิม วิธีการดูแลก็เหมือนเดิม โรงเรือนก็ที่เดิม โรคแมลงศัตรูก็ดูแลแก้ปัญหากันเป็นปรกติไม่ได้มีอะไรที่แปลกแตกต่างไปจาก เดิมมากนัก แต่ทำไมเห็ดจึงดื้อแพ่งไม่ยอมออกดอกมาให้ยลโฉมเหมือนเดิม เจ้าของฟาร์มจะได้มีกำลังใจในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปได้อย่างสุขใจ

ปัญหาที่เกิดขึ้นถ้าไม่สังเกตจริงๆอาจจะเข้าใจยากสักหน่อย แต่ถ้าเราสังเกตสภาพภูมิอากาศรอบตัวเราในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ล้วนแตกต่างปรวนแปรไปแทบทุกๆนาทีหรือทุกวัน จากปรากฏการเรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเราร้อนเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้อากาศแต่ละแห่งแหนสับเปลี่ยนหมุนเวียนเปลี่ยนไป จากที่ร้อนกลับเย็น จากแล้งแสนเข็นกลับมีฝน จากที่มีฝนกลับแล้งแห้งเหือด จาก ที่อุณหภูมิเดือดกลับมีหิมะตก วกไปวนมาจนผู้คนสับสนปนเปไม่รู้ว่าเป็นฤดูหนาวหรือฤดูร้อน หรือฤดูฝน ไม่ต้องคิดมากว่าสาเหตุมาจากอะไรหรือใครหรอกนะครับ ก็เราๆ ท่านๆ นี่แหละที่เป็นผู้ทำลายกันเองทั้งนั้น ทั้งตัดไม้ทำลายป่า ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายเสียจนล้นเหลือเกินกว่าที่จะ บริโภคได้หมด (Economies of scale) ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีจากดวงอาทิตย์ทะลุผ่านเข้ามาได้ง่าย และรังสีความร้อนออกยาก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในพื้นผิวโลกมากมาย

ดัง นั้นการที่จะทำให้สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และอากาศรอบๆ บริเวณโรงเรือนของเกษตรกรผู้เพาะเห็ดไม่ให้เปลี่ยนแปลงผันแปรไปมากมายนัก ก็ควรสร้างความร่มรื่น ร่มเย็นให้มากขึ้น โดย การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องการให้ราษฎรได้รับ ประโยชน์จากป่า คือได้ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามรอยห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ แปลความสรุปอย่างเข้าใจง่าย ปลูกไม้ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ และมีประโยชน์ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ พออยู่ หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัย และจำหน่าย, พอกิน หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร, พอใช้ หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ไม้ฟืน, และ ไม้ไผ่ เป็นต้น ประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า ส่งผลให้บรรยากาศรอบๆ มีความร่มรื่นร่มเย็น อากาศและอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ส่งผลให้ผลผลิตเห็ดออกดอกได้อย่างต่อเนื่อง ใครที่ทำอาชีพเพาะเห็ดและพอจะมีพื้นที่สร้างเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างหรือป่าผสมผสานก็น่าจะลองทำดูนะครับ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:39:16 น.   
Counter : 349 Pageviews.  

1  2  3  4  

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]