มะกรูดคู่ครัวไทย
 

หลายๆ ท่านคงคุ้นเคยกันดีกับมะกรูด สมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน ตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตาทวด ทั้งยัง เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ หรือแม้แต่ในการปรุงกับข้าวหากฉีกใบมะกรูดโรยลงไปก็จะช่วยให้กับข้าวนั้นหอมชวนกินมากขึ้น

นอกจากมะกรูดเครื่องประกอบในอาหารรสเลิศหลายๆ เมนูแล้ว เรายังใช้มะกรูดในเรื่องของความงามอีกด้วย โดยนำมะกรูดมาใช้ในการสระผม เพื่อขจัดรังแค ซึ่งมีรายงานวิจัยว่าผิวมะกรูดมีสารเรซอร์ซินอล ที่ช่วยขจัดรังแคได้ดี นอกจากนี้ ความเปรี้ยวของน้ำมะกรูดซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดยังช่วยขจัดคราบแชมพู หรือชะล้างสิ่งอุดตันตามรูขุมขนบนหนังศีรษะ ทำให้ผมหวีง่าย ที่ผิวมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งช่วยว่า ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม ทำให้ผมเป็นเงางาม

ซึ่งการนำมะกรูดมาใช้ในการสระผมก็ทำได้ไม่ยาก นำมะกรูดที่แก่จัดมาเผาไฟจากนั้น นำมาปั่นหรือตำทั้งลูก  และเพื่อไม่ให้น้ำมะกรูดเข้มข้นเกินไป (หากใช้น้ำมะกรูดเข้มข้นอาจทำให้หนังศีรษะเป็นรอยดำเมื่อล้างไม่สะอาดและไปสัมผัสแสงแดดได้ เพราะพืชตระกูลส้มจะมีสารที่ไวต่อแสงทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีดำ) ให้ใช้น้ำซาวข้าวผสมลงไปก่อนใช้ ซึ่งตัวน้ำซาวข้าวนี้ชาวบ้านในชนบทหลายๆ คน ที่ตอนนี้แม้จะอายุ 70 กว่าปีแล้วผมก็ยังไม่หงอก ยังคงผมดำสวย บอกว่าใช้ในการสระผมเป็นประจำตั้งแต่สาวยันแก่ หรือถ้าหากท่านใดไม่สะดวกที่จะนำผลมะกรูดทั้งลูกมาเผาไฟก็สามารถใช้มะกรูดสระผมได้โดยการนำผลมะกรูดมาหั่นเอาแต่ผิวมาตำ จากนั้นคั้นเอาน้ำใส่ลงไปคนให้เข้ากันผสมน้ำอุ่นหรือน้ำซาวข้าวลงไป นำมาสระผมแทนแชมพู หากต้องการให้ตัวยาจากมะกรูดคงอยู่กับผมนานขึ้น ก็อาจหมักทิ้งไว้ 5-10 นาที ระวังอย่าให้เข้าตาและควรล้างให้สะอาดจริงๆ

มะกรูดนอกจากใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร  และบำรุงผมแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอื่นๆ อีก เช่นการใช้เป็นยาภายใน คือเป็นยากินเพื่อขับลมในลำไส้  ขับเสมหะ ขับพิษ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ไอ แก้โรคลักปิดลักเปิด  หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากในมะกรูดมีวิตามินซี นอกจากนี้ยาฟอกเลือดสตรี ขับระดู แก้ผอมแห้งแรงน้อย  ยาบำรุงประจำเดือน ก็มักจะมีมะกรูดอยู่ในตำรับยาอยู่เสมอ

มะกรูดยังสามารถใช้ในสรรพคุณแก้ลม ดังปรากฏในตำรายาหลวงเป็นยาแทรกยานัตถุ์พิมเสนดม และถ้าหากจะทำยาแก้ลมวิงเวียนอย่างง่าย ๆ ก็สามารถทำได้โดย ใช้ผิวมะกรูด 1 ช้อนแกง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เติมการบูรหรือพิมเสน 1 หยิบมือ  ชงน้ำเดือด 1 แก้ว แช่ทิ้งไว้ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1-2 ครั้ง  ถ้าไม่หายรับประทานต่อไปอีก 1-2 วันอาการจะดีขึ้น

ส่วนการใช้ภายนอก มักใช้เป็นส่วนประกอบในลูกประคบ ยาอบ ยาอาบ หลายต่อหลายสูตรเนื่องจากมะกรูดมีน้ำมัน หอมระเหยซึ่งมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน นอกจากนี้ ความเป็นกรดของมะกรูด จะช่วยทำความสะอาดผิว และทำให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดี น้ำมันหอมระเหยในมะกรูดยังมีสรรพคุณช่วยคลายเครียด คลายกังวล ทำให้สงบนิ่ง  ดังนั้นใครที่มีความกังวลมากๆ หรือเครียด สามารถสูดดมผิวมะกรูดหรือน้ำมันมะกรูดได้

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันมะกรูดเพื่อคลายกังวล ไม่ควรใช้ความเข้มข้นมากกว่า 1% เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และหลังจากทาน้ำมันมะกรูดภายใน 4 ชั่วโมง ไม่ควรให้ผิวหนังบริเวณที่ทาน้ำมันมะกรูดสัมผัสแสงแดด เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นไหม้ได้ น้ำมันมะกรูดยังมีฤทธิ์อ่อนๆ ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยไล่แมลงได้ด้วย

ความรู้เรื่องมะกรูด ก็เป็นอีกหนึ่งความรู้ที่บรรพบุรุษสั่งสมถ่ายทอดกันมา นับวันจะยิ่งเลือนราง อย่าปล่อยให้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอดีตที่ตายไปแล้วจากวิถีชีวิตในสังคมไทย

         

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 




Create Date : 21 ตุลาคม 2556
Last Update : 21 ตุลาคม 2556 10:58:19 น.
Counter : 760 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

SOYU_K
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]



New Comments