เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต (ตอนที่ 2)
ในช่วงเวลาก่อนที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จสวรรคต ได้บังเกิดเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งบนท้องฟ้า นั่นก็คือ การปรากฏขึ้นของดาวหางฮัลเล่ห์ที่พาดผ่านเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร ซึ่งตามความเชื่อของชาวสยามในสมัยนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนกับลางร้ายที่มาเตือนว่าอีกไม่นานต่อจากนี้จะได้บังเกิดเหตุร้ายขึ้นกับแผ่นดิน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2300 ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ แห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคต และเกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรส และในปี พ.ศ. 2378 ก็เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ จนผู้คนล้มตายเสียมาก ดาวหางดวงนี้จึงเป็นที่สนใจ และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความหวาดหวั่นครั่นคร้ามให้กับชนทุกหมู่เหล่า นับแต่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ ขุนนางข้าราชการ และราษฎรโดยทั่วไป

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเองก็ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงพระวิตกกับการที่ดาวหางได้ปรากฏขึ้นในครั้งนี้ จึงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งไปยังกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ความว่า

"ในบาฬีจะมีแห่งใดบ้างหรือไม่ที่กล่าวถึงดาวหางแลเรียกดาวหางอย่างไรฯ"

กรมหลวงวชิรญาณ ถวายพระพรว่า

"ดาวหางเรียกอย่างไร ในบาฬียังไม่เคยพบ แต่ในภาษาสันสกฤตเรียก ธูมเกตุ จึงได้ความสงเคราะห์เข้าในพวกธาตุอันมีแสง แลศัพท์ว่า ธูมเกตุยังไม่เคยพบในบาฬี แต่ในอรรถกถาจะมีบ้างหรืออย่างไรยังไม่แน่ จะรับพระราชทานค้นดูก่อน"

หนังสือ “ในวังแก้ว หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า

เรื่องปรากฏการณ์ของดาวหางดวงนี้ มีผู้เล่ากันว่า จริงเท็จมิอาจยืนยันได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกลุ้มพระทัย แล้วรับสั่งว่า

"ดาวหางขึ้น จะอยู่หรือตายก็ไม่รู้"

ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านหนึ่งก็กราบบังคมทูลว่า ไม่ต้องห่วง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด แห่งกรุงอังกฤษทรงดาวหางไปแล้ว

พระองค์ยังรับสั่งต่อว่า

"จะเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด หรือเป็นเราอีกคนก็ไม่รู้"


ที่สุดแห่งพระชนมายุของพระพุทธเจ้าหลวง

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๓ (ร.ศ.๑๒๙) เป็นครั้งสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถไฟฟ้าออกประพาสในเย็นวันนั้นเสด็จทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศ และในบริเวณทั่วไปที่พญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่งรับสั่งว่า "ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ" แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดิ์ พระธิดาในพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชวิ่งขึ้นรถยนต์ที่นั่งรองพลาดหกล้มเข้าไปติดขัดอยู่กับลูกล้อรถ แต่ผู้ขับเขาหยุดรถไว้ได้ ไม่ทันทับเป็นแต่ถลอกเล็กน้อย และตกพระทัยเป็นนิ่งแน่ รับองค์ขึ้นรถมาแก้ไขกันต่อไปจนฟื้นดี

วันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ใพระบรมมหาราชวังแต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปกติ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จไปแทนพระองค์ (บันทึกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ)

ในวันที่ ๑๘ ยังมิได้มีผู้ใดนึกฝันว่าจะทรงพระประชวรมากมายอะไร, ทราบกันอยู่แต่เพียงว่าพระธาตุไม่ปรกติเล็กน้อยเท่านั้น.(ประวัติต้นรัชกาลที่ 6)

วันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาทีหลัง ตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการและตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้าเหมือนเวลาทรงพระสำราญ(บันทึกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ)

เวลาพลบค่ำ. วันที่ ๑๙ ตุลาคม ฉันได้เข้าไปคอยเฝ้าที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิตตามเคย, ก็หาได้เสด็จออกไม่, และยังไม่ได้ความว่ามีพระอาการอย่างไร (ประวัติต้นรัชกาลที่ 6)


วันที่ ๒๐ ตุลาคม เวลา ๓ โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตาม หมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่งแก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตน์ราชพัลลภ) ให้จัดอาหารเลี้ยงหมอและจัดให้หมออยู่ประจำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจพระอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการ หมอไรเตอร์ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัด พระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อน ไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่งอย่าเสวยพระอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปกติ หมอฉีดมอร์ฟินถวายหนหนึ่ง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ มาฟังพระอาการมากด้วยกันตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ได้บรรทมหลับเป็นปกติ พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็กอยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดเวลา" (บันทึกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ)

ส่วนในวันเดียวกันนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า

ต่อเวลาเช้าวันที่ ๒๐ ฉันจึ่งได้ทราบตามพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานมาถึงฉันว่าพระอาการมีคลื่นเหียน, และได้ทรงพระอาเจียนเมื่อคืนวันที่ ๑๘ ครั้ง ๑ ต่อนั้นมาจะเสวยอะไรก็ทรงรู้สึกว่าเต็มอยู่เสมอไม่ใคร่จะพร่องเลย, ทรงพระโอสถสูบหรือเสวยพระศรีถูกเวลาไม่เหมาะก็ทรงคลื่นเหียน. ครั้นเวลาค่ำวันที่ ๒๐ ฉันเข้าไปฟังพระอาการได้ความว่า เมื่อคืนวันที่ ๑๙ มีทรงแน่น, หมอถวายฉีดยาแก้แน่นและยาถ่าย, บรรทมหลับได้บ้าง, มาวันที่ ๒๐ ไปพระบังคนหนักหลายครั้ง, มีพระอาเจียนเมื่อเสวยน้ำ.

หมอฝรั่งที่เข้าไปรักษาอยู่มี
ศาสตราจารย์แพทย์เบอร์เคอร์ (Professor Dr.Borger) แพทย์เยอรมันประจำพระองค์,
หมอเออเจน ไรเตอร์ (Dr.Eugene Reytter, ภายหลังเปนพระยาประเสริฐสาตรดำรง),
หมออา. ปัวซ์ (Dr.A. Poix, ภายหลังเปนพระยาอัศวินอำนวยเวท)

ฝ่ายหมอไทยมี
พระยาแพทย์พงศา (นาค โรจนแพทย์)

พระยาแพทย์บอกแก่ฉันว่าได้ถวายพระโอสถระบายอย่างไทย แทรกเกลือ, แล้วยังได้ทรงแถมเองอีกด้วย, พระบังคนจึ่งได้ไปมาก. ฝ่ายหมอฝรั่งได้ถวายพระโอสถแก้แน่นเฟ้อและพระโอสถทาภายนอก. ตามที่ฟังๆ ข่าวได้ความว่า พระธาตุได้เริ่มเสียเพราะเสวยกุ้งแนมเวลาดึก. เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษคืนวันที่ ๒๐ นั้น หมอว่าพระอาการทุเลาลงมากแล้ว, และหมอฝรั่งได้ฉีดมอร์เฟียถวาย บรรทมหลับแล้ว, ฉันจึ่งได้กลับไปวังสราญรมย์.(ประวัติต้นรัชกาลที่ 6)




Create Date : 21 ตุลาคม 2550
Last Update : 21 ตุลาคม 2550 13:09:21 น.
Counter : 2837 Pageviews.

2 comments
  
MyCuteGraphics.com - Cute Glitter Graphics

Have a nice day na Kaa **

TC *

, ,


^ ^ *

""

( ^ = ^ )

j u b .. j u b b b
โดย: zeeD.mj วันที่: 21 ตุลาคม 2550 เวลา:14:03:58 น.
  
เข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ
โดย: รักดี วันที่: 21 ตุลาคม 2550 เวลา:18:30:03 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รอยใบลาน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]



สโมสรของอัศวินแห่งอินทรนคร
All Blog