เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต (ตอนที่ 1)


เนื่องในโอกาสวันที่ 23 ตุลาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” รอยใบลานจึงขออัญเชิญเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของพระองค์มาเล่าสู่กันฟังครับ

ในวันที่ 23 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2453 เป็นวันที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนเลยว่าเจ้าเหนือหัวผู้เป็นที่รักยิ่งจะด่วนเสด็จสวรรคต และละทิ้งรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ไว้เบื้องหลัง กว่า 42 ปี ที่พระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติซึ่งนับเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสยามที่ปรากฏพระนามในพระราชพงศาวดาร เป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากสยามยุคโบราณไปสู่สยามยุคใหม่ เพื่อปรับตัวเองในทุกด้านๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก เพื่อที่จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็ “อนารยชน”ในสายตาของฝรั่ง เป็นยุคสมัยที่ต้องอดทนและดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชนที่เรียกตัวเองว่า “อารยประเทศ” แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางการบีบคั้นต่างๆ เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารัชสมัยของพระองค์ก็เป็นยุคสมัยที่ประเทศสยามเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่ง และผลจากการเปลี่ยนแปลงประเทศต่างๆ ในยุคนั้นก็ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาถึงในยุคปัจจุบัน และเป็นผลให้คนรุ่นหลังได้คบคิด และศึกษาเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ต่อไป
.
.
.

“ด้วยเหตุที่ไม่ได้แลเห็นแต่ก่อนว่าจะมีในเวลาเร็วพลัน เปนที่เศร้าโศกโทมนัศโสกาลัยอันยิ่งใหญ่แสนสาหัส ในนิกรชนทุกหมู่เหล่าไม่เลือกหน้าได้บังเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการ มาแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ พระโรคกลายเป็นทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวายพระอาการหาคลายไม่ ถึงวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ เวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังสวนดุสิต พระชนมพรรษา ๕๘ เสด็จดำรงศิริราชสมบัติ ๔๓ พรรษา วันในรัชกาลนับแต่มูลพระบรมราชาภิเศก ๑๕๓๒๐ วัน...” (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 27 วันที่ 30 ตุลาคม 129 หน้า 1782 ข่าวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)


รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าหลวงประชวร

ทูลกระหม่อมเริ่มประชวร


“...ถ้าดูกันเผินก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าหลวงประชวรอยู่ได้เพียง ๔ วันเท่านั้นก็เสด็จสวรรคต, แท้จริงหาเปนเช่นนั้นไม่, เพราะเมื่อก่อนเสด็จพระราชดำเนิรประพาศยุโรปนั้นได้เริ่มทรงพระประชวรแล้ว, แต่ปิดกันนักจึ่งมิได้มีใครได้รู้, ...

ตั้งแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรกลับจากยุโรปมาแล้วก็สังเกตเห็นได้ว่า ทูลกระหม่อมมีพระอาการประชวรอย่างน่าวิตก, พูดกันอย่างศัพท์สามัญว่า เห็นชัดว่าทรงทุพพลภาพทีเดียว พระองค์ท่านเองก็ทรงทราบดีอยู่เช่นนั้น จึ่งได้ทรงพยายามบริหารพระองค์มากทีเดียว, มีเสด็จประพาศบ่อยๆ. และออกไปประทับอยู่ที่เพชรบุรี (ตามคำแนะนำของพวกเจ้าจอม "ก๊ก อ") และเมื่อถึงเสด็จอยู่ในกรุงก็ไม่ใคร่จะเสด็จออกในการงานพิธีต่าง, มักโปรดเกล้าฯ ให้ฉันไปแทนพระองค์เสียเป็นพื้น. แต่ก็นับว่ายังประทะประทังอยู่ได้จนทรงประสพโศกอันใหญ่, คือองค์อุรุพงศ์เจ็บและตายลง ณ วันที่ ๒๐ กันยายน, พ.ศ.๒๕๔๒. องค์อุรุพงศ์นั้นทูลกระหม่อมท่านโปรดของท่านมาก, พราะเปนพระราชโอรสองค์เล็กและขี้โรค, จึ่งได้ทรงโฆษณาว่าจะเอาไว้ใช้เป็นไม้ธารพระกร, คือเปนอุปถากส่วนพระองค์, ไม่ให้รับราชการแผ่นดินเช่นลูกเธอองค์อื่นๆ องค์อุรุพงศ์เจ็บครั้งที่สุดนั้นหลายวัน, ทูลกระหม่อมทรงเปนห่วงและเสด็จลงไปพยาบาลอยู่เองโดยมากที่ตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์, ต้องอดพระบรรทมและทรงเหน็จเหนื่อยมากอยู่. ...”


(พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 95 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเลื่อน สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไส้ตัน ขณะมีพระชันษาได้ 17 พรรษา โดยเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2452 อันเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระราชบิดา - รอยใบลาน)


ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน, พ.ศ.๒๔๕๒, มีสวดเสดาะ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา, ทูลกระหม่อมได้เสด็จเข้าไปตามธรรมเนียม. พอเริ่มสวดมนตร์และโหรบูชานพเคราะห์ ทูลกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นจากพระบัลลังก์ในพระที่นั่งไพศาล เพื่อเสด็จเข้าไปเสวยที่ชานพักตามเคย. พอเสด็จลับไปก็ได้ยินเสียงตุบ, และเสียงผู้หญิงร้อง ฉันรีบวิ่งเข้าไปที่ชานพัก, เห็นทูลกระหม่อมประทับอยู่กับพื้น, ท่านรับสั่งให้ฉันช่วยพยุงพระองค์ท่านขึ้นและพาไปประทับเหยียดบนพระเก้าอี้, แล้วจึ่งรับสั่งเล่าว่า ในเวลาที่ทรงก้าวลงจากพื้นพระที่นั่งไพศาลไปสู่ชานพักนั้น ได้ทรงเอาธารพระกรยัน, ปลายธารพระกรลื่นไปกับพื้นศิลาพระบาทก็เลยลื่นตามไป, จึ่งได้ทรงกระแทกลง, และในที่สุดตรัสว่า "แล้วก็นางพวกเหล่านี้ก็นั่งเฉยกันหมด, ไม่มีใครมีแก่ใจมาช่วยพ่อจนคนเดียว." ฉันกราบทูลว่า ได้เคยนึกวิตกอยู่นานแล้วเมื่อทรงธารพระกรเล็กๆ ทรงยันอย่างเต็มน้ำหนักพระองค์. เห็นว่าควรทรงเกาะคนดีกว่า. รับสั่งว่าถูกแล้ว, แต่เวลานี้ผู้ที่ได้ตั้งพระราชหฤทัยเอาไว้ใช้เปนไม้ธารพระกรก็มาทำน่าที่ไม่ได้เสียแล้ว, ฉันเห็นท่าทางว่าท่านทรงเป็นห่วงองค์อุรุพงศ์อยู่มาก, ฉันก็หมอบนิ่งอยู่จนรับสั่งให้ฉันออกไปนั่งตามที่ก่อน, ฉันจึ่งออกไป

ตั้งแต่วันนั้นต่อมาเห็นได้ทรงกะปลกกะเปลี้ยมากขึ้นเปนลำดับ, ซึ่งเปนธรรมดาอยู่, เพราะการล้มกระแทกเปนของแสลงนักสำหรับโรคไตพิการ. ในตอนหลังนี้ออกจะไม่มีใครเข้าใจผิดแล้วว่าทูลกระหม่อมมีพระอาการอันบอกเหตุว่าย่างเข้าขั้นที่สุดแห่งพระชนมพรรษา, เปนแต่ยังหวังอยู่ว่า การบริหารพระองค์ได้ทรงกระทำดีอยู่เสมอ อาจที่จะทำให้พระชนมายุยืนไปได้อีกหลายปี

ทูลกระหม่อมทรงทุพพลภาพมากขึ้น

ในนระหว่างเวลาเดือนครึ่งก่อนเสด็จสวรรคตนั้นได้แลเห็นปรากฏชัดยิ่งขึ้นว่า ทรงทุพพลภาพจริงๆ จนใครก็ได้สังเกตเห็นเช่นนั้น. ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปี พ.ศ.๒๔๕๓ นั้น ได้มีการเปลี่ยนผิดกับระเบียบการที่เคยมีมาแต่ก่อนหลายประการ

ในค่ำ วันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งเปนวันสวดนวคหายุสมะธรรมและโหรบูชาเทวดานวเคราะห์, แต่ก่อนๆ ได้เคยสวดในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ, แต่ในปีนี้ได้มีงานในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อมิให้ต้องเสด็จขึ้นบันไดชันๆ

วันที่ ๒๐ กันยายน เช้าไม่ได้เสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง, โปรดให้ฉันไปเลี้ยงพระแทน, ต่อค่ำจึ่งได้เสด็จออกในการสวดมนตร์ฉลองพระประจำพระชนมพรรษา.

วันที่ ๒๑ เช้า โปรดเกล้าฯ ให้ฉันเข้าไปเลี้ยงพระ เวลาบ่าย ๔ นาฬิกาเสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งจักรี ตามที่เคยมาการออกท้องพระโรงเคยกำหนดเวลาเที่ยงตรง, ...พอยิงปืนเที่ยงพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จออกทางพระทวารขวาพระแท่นเศวตฉัตร, เสด็จขึ้นปะทับบนพระที่นั่งพุดตาน, แล้วจึ่งมีการถวายพระพรชัยมงคลและมีพระราชดำรัสตอบ, แล้วเสด็จขึ้นประทับท้องพระโรงใน, ให้ฝ่ายในถวายพระพรชัยมงคล แล้วบ่าย ๑ นาฬิกาเสด็จออกรับคณะทูตที่ท้องพระโรงมุขตวันออก, ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เปลี่ยนเป็นออกท้องพระโรงกลางแห่งเดียว คือบ่าย ๔ นาฬิกาเสด็จขึ้นประทับอยู่บนพระที่นั่งพุตานแล้วประโคมและเปิดพระทวารด้านหน้า, ตำรวจ, กรมวัง, และข้าราชการในพระราชสำนักเข้ายืนประจำที่, แล้วจึ่งได้เบิกพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั่วไปเข้าเฝ้า เมื่อเจ้านายและข้าราชการถวายพระพรชัยมงคลและมีพระราชดำรัสตอบแล้ว, พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชฝ่ายหน้าออกจากท้องพระโรง, และปิดพระทวารต่อนั้นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในเข้าเฝ้า. เวลาบ่าย ๕ นาฬิกา เบิกคณทูตเข้าเฝ้าในท้องพระโรงกลางด้วยเหมือนกัน.

ค่ำวันที่ ๒๑ นั้นได้เสด็จออกในการเจริญพระพุทธมนตร์เฉลิมพระชนมพรรษา, แต่ทรงเครื่องปรกติ, หาได้ทรงเต็มยศไม่

วันที่ ๒๒ กันยายน เช้า ฉันได้เปนผู้เข้าไปเลี้ยงพระที่สวดมนตร์ในคืนวันก่อน, ในเวลาเลี้ยงพระแล้ว ตามระเบียบก็ควรมีสรงมุรธาภิเษกที่ลานข้างด้านตะวันออกแห่งพระที่นั่งอมรินทร์, แต่ในคราวนี้ย้ายไปสรงที่สวนดุสิตเงียบ. เวลาค่ำได้จัดให้มีเทศนา ๔ กัณฑ์ตามแบบ แต่โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปมีที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต, และครั้นถึงกำหนดเวลาก็หาได้เสด็จออกทรงธรรมไม่, โปรดเกล้าฯ ให้ฉันเปนผู้แทนพระองค์

วันที่ ๒๓ กันยายน เวลาค่ำได้เสด็จออกที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต (อยู่ภายในพระราชวังดุสิตด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม – รอยใบลาน), ทรงฟังเทศนามงคลวิเศษของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส (คือพระองค์ซึ่งภายหลังได้ทรงเปนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้า)

วันที่ ๓๐ กันยายน มีการสวดมนตร์ ถือน้ำสารท, ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเปนผู้ไปแทนพระองค์.

ในวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันถือน้ำ, ในปีนี้ก็ได้กำหนดการใหม่คือเวลาบ่าย ๒ นาฬิกาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันไปจุดเทียนนมัสการในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้นั่งกำกับการถือน้ำที่นั้น. ... เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา พระเจ้าหลวงจึ่งเสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, เบิกพระบรมวงศานุวงศ์เข้าถือน้ำต่อหน้าพระที่นั่ง, แล้วข้าราชการเดิรผ่านเฝ้าเรียงตัวจนหมดแล้ว, เจ้านายฝ่ายหน้าออกจากท้องพระโรง, ปิดพระทวาร, แล้วมีการถือน้ำฝ่ายในต่อไป.

.......

วันที่ ๑๗ และที่ ๑๘ ตุลาคม มีงานทำบุญพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ – รอยใบลาน) ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยตามธรรมเนียม คือมีสวดมนตร์ ๓๐ รูป แล้วเทศนา ๑ กัณฑ์เหมือนกันทั้ง ๒ วัน, และพระเจ้าหลวงไม่ได้เสด็จทั้ง ๒ วัน ได้ทราบข่าวว่าประชวรพระอุทรไม่ปรกติ, แต่ก็ว่าไม่ใช่มีพระอาการมากมาย, เปนแต่เพราะมีฝนตกอยู่จึ่งทรงระวังพระองค์ไว้. (ประวัติต้นรัชกาลที่ 6)

ติดตามอ่านตอนต่อไปครับ...



Create Date : 20 ตุลาคม 2550
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 21:17:07 น.
Counter : 4087 Pageviews.

4 comments
  
มาตามอ่านค่ะคุณรอยใบลาน
โดย: biebie999 วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:15:42:49 น.
  
เข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ
โดย: รักดี วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:17:28:59 น.
  
ขอบคุณความรู้ด้านประวัติศาสตร์วันปิยะมหาราช 23 ตุลาคมค่ะ สำหรับป้าหมูน้อยเดือนตุลาคมมีความสำคัญกับชีวิตของป้าหมูน้อยมาก นอกจากวันสำคัญวันปิยะมหาราช แล้ว ยังเป็นวันที 22 ตุลาคม ก็เป็นวันครบรอบพ่อแม่ของป้าหมูน้อยเสียด้วยค่ะ ตั้งใจจะไปทำบุญค่ะ
โดย: ป้าหมูน้อย วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:17:47:10 น.
  
รออ่านต่อนะคับ..
โดย: เก่งกว่าผมตายไปหมดแล้ว วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:22:31:23 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รอยใบลาน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]



สโมสรของอัศวินแห่งอินทรนคร
All Blog