"สัมมาวิปัสสนา" ไม่มีปรากฎในอริยมรรค ๘


"สัมมาวิปัสสนา" ไม่มีปรากฎในอริยมรรค ๘


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

สวัสดีครับพบกับรายการสนทนาสาระธรรมแบบธรรมภูต เป็นการนำเอาผลของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่เกิดขึ้น นำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ยังคงมีปรากฏหลงเหลืออยู่ ให้ผู้สนใจใฝ่หาธรรมปฏิบัติตามได้ในปัจจุบัน

ด้วยกาลเวลาที่ได้ผ่านมาอย่างยาวนานเท่าใด ย่อมทำให้คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่เที่ยงตรงต่อพระนิพพาน ได้ถูกบิดเบือนให้ห่างไกลออกไปจากความเป็นจริง จนออกทะเลไปมากเท่านั้น

โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาด้วยแล้ว ไปกันคนละทิศคนละทาง ส่วนมากแล้วเดินไปในทางสร้างสัญญา หรือปัญญาทางโลก ที่ติดสบายๆ ง่ายๆ ลัดสั้น โดยไม่มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองทางสบายๆ ง่ายๆ ลัดสั้นนั้นไว้ตรงไหนเลย

ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานบางกลุ่ม บางพวกที่โชคดีได้พบ และยึดมั่นอยู่กับสาระธรรมคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่นั้น ก็จะได้รับประโยชน์ของตนไปเต็มๆ เนื่องจากไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ตามพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้


จากพระบาลีในสมาธิสูตรที่ยกมานั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นชัดๆ อย่างหนักแน่นไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" แสดงว่าพระพุทธองค์มิได้ยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่จะได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เลย แม้ภิกษุรูปนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาบารมีมากกว่าภิกษุรูปอื่นก็ตาม ภิกษุทุกรูปล้วนต้องลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา หรือที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ"

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า "สัมมาสมาธิในอริยมรรค" นั้น มีเหตุมีปัจจัยมีองค์ประกอบที่สำคัญ พระพุทธองค์ทรงได้วางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็น สมาธิ จิตตั้งมั่นชอบไม่หวั่นไหว

จิตของตนจะรวมลงเป็นสมาธิตั้งมั่นชอบได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบทั้งสองในอริยมรรค คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จิตของภิกษุรูปนั้นจึงจะรวมลงเป็นสมาธิ มีสติตั้งมั่นชอบ ไม่หวั่นไหว ไม่ซัดส่ายส่งออก

ในปัจจุบันกลับมีการสอนให้เพิกเฉยต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพียงเห็นว่าเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรปฏิบัติกัน เป็นการปฏิบัติที่ติดสุขอยู่ในสมาธิฌาน หาสาระธรรมอะไรมิได้ เป็นการทำสมถะกรรมฐานเท่านั้น ยังสอนว่าการทำสมาธิกรรมฐานภาวนา การเดินจงกรมนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่าย "อัตตกิลมถานุโยค" เป็นเพียงแค่สมถะกรรมฐาน นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญญาวิปัสสนาใดๆเลย

การสอนเช่นนั้นเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์กิเลสอ้างของผู้สอนเอง เพราะเมื่อทำไปแล้วจะดูเม่อลอย ทื่อๆ แข็งๆ ไม่ช่วยนำพาให้เกิดปัญญาจิตหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย การสอนเช่นนั้นเป็นการลบหลู่ กล่าวตู่พระพุทธพจน์โดยตรง

เนื่องจากองค์แห่งสมาธิใน "อริยมรรค" นั้น ประกอบด้วยสติ สมาธิ ปัญญาครบองค์บริบูรณ์ มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ใน "มหาจัตตารีสกสูตร" ไม่ต้องหาวิปัสสนากรรมฐานมาสนับสนุน เพิ่มเติมเสริมแต่งลงไปอีก เพราะไม่เคยมีปรากฏคำว่า "สัมมาวิปัสสนา" ในอริยมรรคเลย

องค์แห่ง "สมาธิ" ในอริยมรรคนั้น เริ่มจาก สัมมาวายามะ คือเพียรประคองจิตของตน ยังอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ยังอกุศลที่เกิดขึ้นอยู่แล้วให้หมดไป ยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

เมื่อได้พิจารณา จะเห็นว่าองค์แห่งสัมมาวายะมะนั้น เป็นองค์แห่งวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงในตัวเองอยู่แล้ว เมื่อประคองจิตของตนได้สำเร็จ ก็จะเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นสัมมาทิฐิในองค์แห่งอริยมรรค

การที่จะประคองจิตของตนให้สำเร็จลงได้นั้น จิตต้องประกอบไปด้วย "สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ" จึงจะประคองจิตของตนให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวได้สำเร็จ เกิดเป็นวิปัสสนาขึ้นมา คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ขณะแห่งจิตที่มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นอย่างไร แตกต่างไปจากขณะจิตที่ยังไม่สงบ ขาดสติ ซัดส่ายวุ่นวายไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบอย่างไร

การทำสมาธินั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นอุบายธรรมเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรคด้วยแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นั่งหลับตาเฉยๆ แล้วนึกเองเออเองตามที่นักศึกษาธรรมะบางกลุ่มบางพวกเข้าใจแบบนั้น เพราะไม่เห็นความสำคัญในเรื่องของสมาธิ เนื่องจากได้รับการอบรมสั่งสอนที่เชื่อกันมาอย่างนั้น

ส่วนผู้ที่เคยได้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่าสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง เที่ยงตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ หรือของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว

จะรู้ว่าการเพียรประคองจิตของตน ตามหลักคำสั่งสอนในมหาสติปัฏฐานสูตร ล้วนต้องเริ่มกันที่กายในกายเป็นภายใน หรือกายสังขารนั่นเอง เช่น ลมหายใจเข้า-ออก ที่เรียกว่าอานาปานสติ หรือคำภาวนาต่างๆ ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ล้วนจัดอยู่ในกายสังขาร เป็นอุบายธรรมกรรมฐานที่โยงเข้าไปสู่ เวทนา จิต และธรรม ในสติปัฏฐานทั้งสิ้น

แต่ต้องเริ่มต้นที่กาย โดยพิจารณากายในกายเป็นภายในให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีก่อน ไม่ว่าจะพิจารณาโดยใช้อุบายธรรมในอิริยาบทใดก็ตาม เมื่อรู้จักกายที่ถูกต้อง เป็นกายที่ซ้อนอยู่ในกายเนื้อ อีกที เรียกว่า "นามกายหรือกายทิพย์" อันเป็นกายละเอียด ไม่มีรูปร่างให้จับต้อง สำเร็จได้ด้วย "ใจ" หรือคือการ "ตรึก" ขึ้นมานั่นเอง

เมื่อรู้จักที่ "ใช่"แล้ว ย่อมต้องรู้จักที่ "ไม่ใช่" คือกายเนื้อหรือกายหยาบ ที่ตายเน่าเข้าโลงได้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ ที่มีธาตุ "รู้" คือจิตครองอยู่ การจะประคองจิตที่ห้ามยาก รักษายากให้ตั้งมั่นได้นั้น ต้องอาศัยอุบายธรรมกรรมฐาน ที่พระพุทธองค์ และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้วางหลักไว้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงจะสำเร็จลุลวงไปได้แล.



เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต







Create Date : 18 มกราคม 2558
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2558 8:02:19 น.
Counter : 680 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์