เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท


เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

สวัสดีครับพบกับรายการสนทนาสาระธรรมแบบธรรมภูต เป็นการนำเอาผลของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า

โยโว อานนฺท ธมฺโม จ เทสิโต วินโย จ ปญฺญตฺโต โส มม อจฺจเยน สตฺถา
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทนเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว


ด้วยกาลเวลาที่ได้ผ่านมาอย่างยาวนาน ทำให้เส้นทางที่เดินไปสู่ความเป็นอริยบุคคล หรือที่เรียกว่า "อริยมรรค" กลับเลือนลางจางลงไปด้วย แม้ทางนั้นยังมีปรากฏอยู่ ถึงจะเลือนลางจางลงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ที่เพียรเพ่งพยายามขวนขวายเดินไปตามรอยพระบาท จนเข้าถึงเส้นทางสู่อริยะนั้นมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ เช่นกัน

ปัจจุบันได้ปรากฏว่ามีผู้ที่เข้าถึงเสันทางเดินที่ว่ามานั้น น้อยลงจนเลือนลางจางลงไปมากยิ่งกว่าเดิมอีกหลายๆเท่า เหตุเพราะ "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง" ทั้งหลาย ที่ได้มีการตีความ "พระพุทธพจน์" ไปตามกิเลสอ้าง โดยมติของตน

ได้พยายามสอนการปฏิบัติธรรมไปในแนวทางแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ให้เหนื่อยยากลำบากกาย-ใจ ทั้งที่การปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นนั้น ไม่เคยมีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ตรงไหนเลย

ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของคนในสังคมยุคใหม่ ที่อ้างว่าตนเองไม่ค่อยมีเวลา มีปัญญา เรียกว่า "ทิฐิจริต" เป็นการอุปโลกน์กันขึ้นมาเองตามกิเลสอ้างว่า พวกตนนั้นไม่ต้องเสียเวลาในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" เพียงแค่หันกลับมาดูกาย-ดูใจ ที่เรียกว่า "อินทรีย์สังวร" ก็พอ

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีทั้งหลายนั้น ล้วนแต่ต้องดูกาย ดูใจของตนเองทั้งสิ้น เป็นอินทรีย์สังวร ซึ่งยังต้องระมัดระวังกาย-ใจไว้ เมื่อมีโอกาสก็เผลอได้ตลอดเวลา มักโดนกิเลสอ้างลากจูงเอาไปง่ายๆ เพราะยังไม่รู้จักวิธีปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดออกไป

และยังมีการนำเอาพระพุทธพจน์กิเลสอ้างว่า พวกที่ชอบปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เป็นพวกที่ไม่คิดมาก ไม่ค่อยใช้ปัญญา แต่มีเวลา เรียกว่า "ตัณหาจริต" พวกนี้เหมาะกับการทำสมาธิกรรมฐานภาวนาเท่านั้น ซึ่งพวก "ทิฐิจริต" เชื่อว่าเป็นเรื่องของฤาษี ชีไพร ไม่ทำให้เกิดปัญญาวิปัสสนาใดๆ

ทั้งๆ ที่ปัญญาของพวกที่กล่าวว่าเป็น "ทิฐิจริต" นั้น เป็นเพียงปัญญาทางโลก ยังไม่ใช่ปัญญาทางธรรมโดยแท้จริง

ส่วน ปัญญาในทางธรรม นั้น เป็นปัญญาที่สามารถปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปจากจิตได้ ที่เรียกว่าปล่อยวางตัณหาอุปาทานออกไปจนจิตของตนบริสุทธิ์หลุดพ้น คือการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

ดั่งพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน "โอวาทปาฏิโมกข์" ว่า

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การที่จะชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดได้นั้น มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย

คำว่า "สัตว์" ในพระพุทธพจน์นั้น หมายถึง "จิตของผู้ที่ยังติดข้องอยู่ในอารมณ์"

เป็นพระพุทธพจน์ที่มีมาในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นบทนำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้รู้ว่า "ภิกฺขเว" หมายถึงภิกษุทั้งหลาย โดยไม่ได้ทรงยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย ในการปฏิบัติธรรมดังกล่าว

แต่พวกกิเลสอ้าง มักจะยกมาอ้างว่า ตนเป็นพวก "ทิฐิจริต" มีเรื่องให้คิดมาก มีปัญญามาก ให้ปฏิบัติธรรมในหมวด "จิต และ ธรรม" ได้เลย ส่วนพวก "ตัณหาจริต" นั้น มีเรื่องคิดน้อย ใช้ปัญญาไม่มาก ให้ปฏิบัติธรรมในหมวด "กาย และ เวทนา" เท่านั้น

เมื่อพิจารณาพระบาลีที่มาจากพระสูตร แสดงให้เห็นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทางอันเอก คือทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เมื่อมีทางเดียวก็หมายถึงว่า กาย เวทนา จิต และธรรม รวมกันเป็นหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ต้องมีจุดเริ่มต้นที่สามารถเชื่อมโยงให้ถึงกันได้หมด จากพระบาลี ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา,
มหปฺผลา โหติ มหานิสํสาฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่


อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา,
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรติฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว.
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ ให้บริบูรณ์


จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา,
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปูเรนฺติฯ

สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญให้มากแล้ว
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์


สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา,
วิชฺชาวิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติฯ

โพชฌงค์ทั้งเจ็ด อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์


กถํ ภาวิตา จ ภิกฺขเว อานาปานสติ, กถํ พหุลีกตา,
มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า
จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่


อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุในธรรมวินัยนี้.
ไปแล้วสู่ป่า ก็ตาม,
ไปแล้วสู่โคนต้นไม้ ก็ตาม
ไปแล้วสู่เรือนวาง ก็ตาม
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น
ภิกษุนั้น เป็นผู้มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า มีสติอยู่ หายใจออก


จากพระบาลีข้างต้น จะเห็นได้ว่า ต้องเริ่มต้นที่ อานาปานสติบรรพะ เมื่อเจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมทำให้สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ เป็นหมวดกายบรรพะแรกของการพิจารณากายในกายเป็นภายใน

พอสรุปได้ว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" เท่านั้น จึงจะทำให้ กาย เวทนา จิต และธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ เชื่อมโยงถึงกันเป็น เอกายโน มคฺโค สำเร็จบริบูรณ์ลงได้ ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสรับรองไว้

ใครที่ยังชอบนำเอาพระพุทธพจน์กิเลสอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องผ่านฌานในสัมมาสมาธิ จิตของตนก็มีสติสัมปชัญญะ ปัญญาเกิดขึ้นมาเองได้นั้น ควรพึงสังวร สำรวมระวังไว้ด้วยว่า เป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ไปโดยไม่รู้ตัว ตามกิเลสที่มักชอบอ้าง เพราะความเกียจคร้านครอบงำอยู่

ยังมีพระพุทธพจน์อื่นๆ อยู่อีกหลายพระสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสนับสนุนเรื่องการเพียรเพ่งฌานไว้ แม้พระพุทธอุทานครั้งแรกยังทรงตรัสไว้ว่า

เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ


(พุทธอุทานคาถาที่ ๑)


เพื่อเป็นการยืนยันสนับสนุน เรื่องความเพียรเพ่งฌาน ที่มีในพระสูตรอื่นๆ อีกหลายพระสูตร ได้แก่

ดูกรอานนท์ กิจใดอันพระศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์
อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ
ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ


(อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐)


จะเห็นได้ว่า แนวทางปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้นนั้น เป็นเพียงการสร้างสรรวาทะกรรมเพื่อหวังอามิส การปฏิบัติธรรมในแบบที่ว่านั้นเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริงในพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ เป็นเพียงการสอนแบบให้กำลังใจกันมากกว่า

สำหรับพวกที่คิดว่าตนเองเป็นพวกมีปัญญามาก บารมีมาก เมื่อเป็นปัญญาหรือบารมีที่ได้มาจากการศึกษาธรรมะ ด้วยการอ่าน การฟัง แล้วนำเอาองค์ความรู้นั้นมาตรึกนึกคิดแล้วคิดอีก จนความคิดที่ว่ามานั้นตกผลึก เป็นภาพแห่งความเข้าใจปรากฎขึ้นที่จิตของตน กระทั่งหลงใหลไปว่าตนเองได้ปัญญาและเข้าถึงธรรมอันละเอียดลึกซึ้งนั้น

ก็ยังไม่ใช่ธรรมะภาคปฏิบัติที่แท้จริง ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากการพยายามเพียรเพ่งฌานกรรมฐานภาวนา เป็นปัญญาทางธรรมที่เกิดขึ้นจากการภาวนา และได้รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ เป็นการรู้ยิ่งเห็นจริงใน กาย เวทนา จิต และธรรม ปัญญาที่ได้ย่อมไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนในภายหลัง ตามแบบพุทธโอวาทที่ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน ๔ อย่างแท้จริง

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง "เพ่งฌาน" พวกพระพุทธพจน์กิเลสอ้าง มักเห็นเป็นเรื่องยาขม สำหรับตน จึงบิดเบือนไปว่า การเพ่งจ้องนั้น ทำให้ดูเครียดๆ ทื่อๆ แข็งๆ เป็นการกล่าวหาว่าร้ายไปในทางไม่ปรารภความเพียรเพ่ง

ทั้งๆ ที่คำว่า "ฌาน" ก็คือ "ความเพ่ง" ส่วนคำว่า "เพ่ง" นั้น คือการรู้เห็นอะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย การรู้เห็นที่ว่ามานั้น เป็นการรู้เห็นทางใจ เป็นนามธรรม ไม่ต้องมีอาการเพ่งจ้องก็รู้เห็นได้ เพราะอารมณ์กรรมฐานแห่งการรู้เห็นนั้น เป็นอารมณ์ ณ ภายใน ทำให้จิตรู้เห็นพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง

ผู้ปฏิบัติใหม่ที่เริ่มการภาวนาเพียรเพ่งฌานนั้น จิตอาจจะรู้สึกหงุดหงิดฟุ้งซ่านรำคาญบ้าง มักเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่ยังใหม่อยู่และยังไม่คุ้นชิน เพราะขาดความชำนิชำนาญ (วสี) ในการประกอบ

เมื่อเพียรเพ่งฌานจนชำนิชำนาญจนเป็นวสีแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายย่อมสงบระงับตัวลงได้ จิตของผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ยอมเข้าสู่ความละเอียด ลึกซึ้ง หยั่งลงสู่แก่นของธรรม อันบัญฑิตเท่านั้นจะพึงรู้แจ้ง ดังพระพุทธพจน์ที่มีมา ดังนี้

ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้
สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ระงับ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก
เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง



โดยมากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในสายอรัญญวาสีทุกรูป ล้วนเพียรเพ่งฌานภาวนา ปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ "อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งภาวนายันรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก" ไม่เกียจคร้าน ในการอบรมจิตของตน ดังนี้



เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต







Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2558 8:02:01 น.
Counter : 1371 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์