Group Blog
 
All blogs
 

วิเคราะห์การลงทุนจากพอร์ต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ผมได้มีโอกาสเห็นพอร์ตการลงทุน ของนักลงทุนรายหนึ่ง ที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นักลงทุนรายนี้ เป็นสุภาพสตรีอายุประมาณ 50 ปีและไม่มีทายาท ทำงานเป็นพนักงานบริษัทมีเงินเดือนประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายไม่มาก วัตถุประสงค์ที่เข้ามาลงทุน คือ ต้องการมีเงินใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องทำงานหลังเกษียณอายุที่ 55 ปี โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณล้านกว่าบาท

กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ ก็คือ Value Investing ผลลัพธ์การลงทุนสองปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่ได้กำไร เหตุคงเป็นเพราะว่า "ไม่สามารถเอาชนะความโลภได้" นั่นก็คือ ยังซื้อๆ ขายๆ หุ้นเป็นประจำ ในพอร์ตมีหุ้น "ติดดอย" จำนวนมาก

การวิเคราะห์ของผมพบว่า ข้อแรก จำนวนเงินในพอร์ตประมาณล้านบาทต้นๆ มีหุ้นอยู่ถึงเกือบ 20 ตัว เฉลี่ยถือหุ้นตัวละประมาณ 60,000-70,000 บาท ตัวที่สูงที่สุดประมาณสองแสนกว่าบาท หรือประมาณ 20% ของพอร์ต นอกจากนั้น ก็ถือกระจายกันไปค่อนข้างมาก

ในความเห็นของผม การถือหุ้นถึง 20 ตัวจากพอร์ตประมาณล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนอาชีพ ถือว่าถือหุ้นมากตัวเกินไป ผลตอบแทนที่ออกมาจะทำให้โดดเด่นได้ยาก เช่นเดียวกัน การติดตามดูแลก็จะทำได้ไม่ทั่วถึง ควรถือหุ้นไม่เกิน 10 ตัว หรือถ้าจะให้เหมาะสมจริงๆ อาจจะถือเพียง 5-6 ตัวกระจายกันไปในหลายอุตสาหกรรมก็พอแล้ว

ประเด็นที่สอง ที่ผมเห็นจากพอร์ต ก็คือ พอร์ตมีผลตอบแทนติดลบอยู่ประมาณ 6% เรื่องนี้ประกอบกับการที่เจ้าของบอกว่า ผลการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้กำไร ทำให้ผมรู้สึกว่า คงมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ เนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

การที่ลงทุนแล้ว ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมากขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่า วิธีการลงทุนคงมีความผิดพลาด ซึ่งความผิดพลาดที่ผมคิดข้อหนึ่ง ก็คือ การซื้อขายหุ้นบ่อย และการพยายามคาดเดาจังหวะการซื้อขายหุ้น ซึ่งสะท้อนจากพอร์ตมีผลขาดทุนอยู่ ทั้งที่ลงทุนมาสองปีแล้วช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส

เรื่องของพอร์ตที่ขาดทุน ในความเห็นของผมเป็นเรื่องสำคัญมาก นักลงทุนแบบ Value Investment ที่มุ่งมั่นและเดินทางในสายของการลงทุนจริงๆ ไม่ควรมีพอร์ตที่ขาดทุน หลังจากที่เขาลงทุนมาแล้วหลายปีและช่วงนั้นตลาดหุ้นไม่ได้มีภาวะผิดปกติ รุนแรง

เหตุผลเพราะว่า การลงทุนควรเป็นเรื่องระยะยาว การถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่ควรน้อยกว่า 3-4 ปีขึ้นไป หุ้นที่ถือลงทุนเอง ควรให้ผลตอบแทนพอสมควร

ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว หุ้นที่เราถือมานานควรจะมีราคาเพิ่มขึ้น และในเมื่อพอร์ตการลงทุนของเรา ถูกถือมานานพอควร พอร์ตจึงควรมีราคา และมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยลง

ประเด็นที่สาม ที่ผมเห็นก็คือ หุ้นจำนวน 19 ตัวในพอร์ต มีหุ้นที่ขาดทุนถึง 10 ตัว หรือประมาณครึ่งหนึ่ง นี่ก็เป็นสิ่งที่อาจจะชี้ให้เห็นว่าพอร์ตนี้เป็น "พอร์ตเก็งกำไร" ที่ทำให้หุ้นมีทั้งกำไรและขาดทุนพอๆ กัน โดยปกติพอร์ตที่ลงทุนจริงๆ ไม่ควรมีหุ้นที่ขาดทุน หรือถ้าจะมีก็ต้องน้อยมาก

ดังนั้นหุ้น 20 ตัว น่าจะมีหุ้นขาดทุนไม่เกิน 5 ตัว และหุ้นที่ขาดทุน ส่วนใหญ่ควรเป็นหุ้นที่เพิ่งมีการซื้อเข้าพอร์ตมาไม่นาน หุ้นที่ซื้อมานานแล้วไม่ควรขาดทุน เพราะหุ้นที่ซื้อมานานแล้ว ยังขาดทุน เราควรจะพิจารณาว่าเราซื้อหุ้นผิดหรือไม่ และถ้าผิดเราควรจะขายทิ้งไป ไม่ปล่อยให้ค้างอยู่ในพอร์ตอย่างนั้น

ความคิดเพิ่มเติมของผม เกี่ยวกับเรื่องจำนวนหุ้นขาดทุน และหุ้นกำไรในพอร์ต ก็คือ ยิ่งเป็นพอร์ตเน้นการลงทุนมาก จำนวนหุ้นขาดทุนก็จะยิ่งน้อย เพราะพอร์ตลงทุนจริงๆ ควรเป็นพอร์ตที่ถือหุ้นยาว และถือหุ้นคุณภาพดีที่ราคาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหุ้นจำนวนมากนั้น แทบไม่มีโอกาสขาดทุนเลยเนื่องจากต้นทุนของตัวหุ้นจะต่ำมาก

ตรงกันข้าม ยิ่งพอร์ตหุ้นเน้นการเก็งกำไรมาก จำนวนหุ้นขาดทุนในพอร์ตจะสูง สาเหตุเพราะว่า พอร์ตหุ้นเก็งกำไร มักจะเป็นพอร์ตของหุ้นที่เราถือระยะสั้น ซึ่งในระยะสั้นแล้ว การที่หุ้นจะขึ้น หรือลงมักจะมีพอๆ กัน ทำให้เราเห็นหุ้นขาดทุนมีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

นักเก็งกำไรบางคน โดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย "ชอบเก็บหุ้นขาดทุนและขายหุ้นที่กำไร" ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า ในพอร์ตเต็มไปด้วยหุ้นที่ขาดทุน

ประเด็นที่สี่ ที่ผมพบจากหุ้นในพอร์ต ก็คือ เรื่องของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งผมพบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5 ตัว แต่สิ่งที่หุ้นเกือบทุกตัวมีร่วมกัน ก็คือ หุ้นเกือบทุกตัวเป็น "หุ้นร้อน" ความหมาย ก็คือ หุ้นเกือบทุกตัว เป็นหุ้นที่มีราคาขึ้นลงหวือหวาในช่วงเร็วๆ นี้ ปริมาณการซื้อขายสูงลิ่วเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน และมีการกล่าวขวัญกันในสื่อต่างๆ ค่อนข้างมาก

หุ้นกลุ่มแรก ก็คือ หุ้นที่ร้อนแรงและเล่นกันในระดับสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หุ้นพลังงานและแบงก์ขนาดใหญ่

หุ้นกลุ่มที่สองคือหุ้นขนาดใหญ่ที่ "ร้อนแรงมาก" และราคาอาจขึ้นไปแล้วหลายเท่า หุ้นกลุ่มนี้มักมีผลประกอบการที่ปรับขึ้นอย่างโดดเด่น และมี STORY หรือเรื่องราวที่ดีมากๆ รองรับ หลายหุ้นอาจจะใหญ่ขึ้นมาเพราะการปรับขึ้นของราคาหุ้น

หุ้นกลุ่มที่สาม ก็คือ หุ้นขนาดกลางที่กำลังร้อนแรงในหมู่ "VI" นี่ก็คือหุ้นที่มีการพูดถึงกันในเว็บไซต์และสื่อสมัยใหม่อื่นๆ ของการลงทุนในแนว Value Investment อย่างเข้มข้น

หุ้นเหล่านี้มีการซื้อขายที่ร้อนแรงมาก ไม่ต่างจากหุ้นเก็งกำไร แต่มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการโดดเด่นพร้อมๆ กับเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น

สุดท้ายก็คือหุ้นตัวเล็กที่กำลังร้อนแรง หลายๆ ตัวเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และก็เช่นเดียวกัน มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่โดดเด่นและเรื่องราวดีๆ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมพยายามที่จะวิเคราะห์รวบยอดว่า พอร์ตของสุภาพสตรีท่านนี้ บอกอะไรเกี่ยวกับการลงทุนของเธอบ้าง ก็คือ ผมคิดว่าข้อแรก เธอตั้งเป้าของการลงทุนสูงเกินไป การที่จะหวังให้ได้รายได้ประมาณเดือนละ 20,000 บาท หมายความว่า เธอจะต้องมีพอร์ตประมาณ 200 เท่าของรายรับประจำเดือน

นั่นแปลว่าจะต้องมีพอร์ตถึงประมาณ 4-5 ล้านบาท ซึ่งภายในเวลาประมาณ 4-5 ปีนับจากนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำเงินล้านกว่าเป็น 4-5 ล้านบาท

ประการที่สอง เธอมีความตั้งใจที่จะลงทุนแบบ VI และได้ติดตามหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลาและการศึกษาอาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การหาข้อมูลตัวหุ้นที่จะลงทุนจึงอาจจะเป็นการติดตามหุ้นจากสื่อที่ "ถูกป้อน" เข้ามามากกว่าจะเป็นการออกไปค้นหาเอง

ดังนั้น เธอจึงมักลงทุนเฉพาะ "หุ้นร้อน" ที่อาจมี "กลิ่นอายของ VI" มากกว่าที่จะเป็น VI จริงๆ นั่นคือ เธออาจจะเข้าไปลงทุนหลังจากราคาหุ้นขึ้นไปถึง "ยอดดอย" ซึ่งทำให้หุ้นนั้นหมดสภาพการเป็นหุ้น VI ไปแล้ว

สุดท้ายก็คือเรื่องของจิตใจ ซึ่งเธออาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งทำให้เธอตกอยู่ในอิทธิพลของเพื่อน และสื่อต่างๆ ในการซื้อๆ ขายๆ หุ้น ผลก็คือ เธอยังไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักลงทุนแบบ VI ตามที่ต้องการ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


มองตลาดหุ้นแบบ VI โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เมื่อศึกษาการลงทุนแบบ Value Investment มากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เป็น VI จำนวนไม่น้อย อาจจะได้ความรู้สึกว่า การเป็นนักลงทุนแบบ VI เราจะไม่สนใจภาวะตลาดหุ้น สิ่งที่เราสนใจเพียงอย่างเดียว ก็คือ ตัวหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียน ถ้าหุ้นตัวนั้นมีมูลค่าที่แท้จริง หรือ Intrinsic Value สูงกว่าราคาหุ้น และมีส่วนต่าง หรือ Margin of Safety สูงพอ เราก็ซื้อหุ้น ภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะตลาดที่วัดโดยดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรเราไม่สน เหตุผลก็เพราะว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ หรือตลาดหุ้นได้ เหนือสิ่งอื่นใด เราไม่ได้ซื้อตลาด เราซื้อตัวหุ้น นั่นก็คือ แนวคิดและปรัชญาของ VI แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือพูดกันแบบเท่ๆ

ในความเห็นของผม เรื่องของภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ผมคิดว่า VI จะต้องสนใจ เพียงแต่ว่า ความสนใจนั้น จะเป็นประเด็นใหญ่ๆ และกว้างๆ และโดยทั่วไปแล้วมักไม่เป็นประเด็นที่จะทำให้เราต้องซื้อขายหุ้น เช่น ถ้ามีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้ หรือปีหน้าจะโต 5% หรือ 4% หรือ 6% หรือแม้แต่ 3% ซึ่งแสดงถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ผมก็ไม่เห็นจำเป็นว่า จะต้องขายหุ้น หรือปรับพอร์ตอะไร เนื่องจากข้อมูลหรือความเห็นแบบนี้ และนี่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ "ปรมาจารย์ VI" ทั้งหลายสอนว่า เราไม่จำเป็นต้องสนใจภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้น

เวลาที่มองตลาด ผมสนใจอะไร สิ่งที่ผมสนใจ ก็คือ ภาวะแวดล้อมที่เป็นเรื่องของ "Value" ผมอยากรู้ว่าภาวะตลาดโดยรวมนั้นเอื้ออำนวยต่อการลงทุนแบบ Value Investment มากน้อยแค่ไหน นั่นก็คือ ถ้าหุ้นส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างถูก โอกาสที่ผมจะได้หุ้นคุณภาพดีราคาถูกก็จะมีสูงขึ้น โดยที่ความเสี่ยงในการลงทุนในระยะยาวจะต่ำ ตรงกันข้าม ถ้าภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย หุ้นส่วนใหญ่ราคาแพงหรือไม่ถูกแล้ว โอกาสที่ผมจะได้หุ้นดีราคาถูกก็น้อยลง บางคนอาจจะบอกว่าไม่เกี่ยว เพราะตราบใดที่เราพบหุ้นคุณค่า และหุ้นมี Margin of Safety สูง อย่างไรเสียมันก็ต้องเป็นหุ้นคุณค่า และเราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเสมอ แต่นี่เป็นเหตุผลที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เรารู้จริงและมั่นใจเต็มร้อยว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเป็นเท่าไร แต่ถ้าความเป็นจริง ก็คือ เราไม่รู้หรือคาดผิด ก็มีโอกาสที่เราจะขาดทุนได้ง่าย

ประเด็นของผม ก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นดีและภาวะทางเศรษฐกิจสดใส โอกาสที่เราจะวิเคราะห์หุ้นผิดพลาดจะมีมากกว่า เพราะ ในยามนั้น บริษัทธรรมดาบางแห่งอาจจะมีผลการดำเนินงานที่ดีเลิศ และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่ว จนทำให้เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นซูเปอร์สต็อก ถ้าจะพูดไปมันก็คงคล้ายๆ กับคำกล่าวที่ว่า "ในยามที่ลมหนุนแรง แม้แต่ไก่งวงก็บินได้ และด้วยตัวที่ใหญ่โตและในทัศนวิสัยที่มืดมัว เราอาจจะคิดว่ามันเป็นพญาอินทรี"

ภาวะตลาดแบบไหนที่เป็นภาวะ "ในฝัน" ของ VI ลองมาดู "ช่วงทองของ VI" ครั้งแรกที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกำเนิดแนวความคิด VI ในปี 1934 ซึ่งเป็นปีที่หนังสือ Securities Analysis ของเบน เกรแฮม ถูกตีพิมพ์ในตลาดหุ้นสหรัฐดู

"ตลาดหุ้นในช่วงนั้น มีราคาถูกมากจนกระทั่งผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเกือบ 10% ต่อปี และมันยังสูงกว่า 6% ต่อปีกว่าหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น หุ้นเกือบทุกตัวมีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (ซึ่งคร่าวๆ ก็คือต่ำกว่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดของบริษัท) และประมาณหนึ่งในสามของหุ้นทั้งหมดในตลาดมีราคาต่ำกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าหุ้นทางบัญชี (ถ้าจะเปรียบเทียบ ณ วันนี้ ราคาหุ้นเฉลี่ยของหุ้นในดัชนี S&P 500 ขายกันที่ประมาณ 2.2 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชี)"

หันกลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ในปี 2543 ที่เป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้นไทยและแนวความคิดเรื่อง Value Investment เริ่มก่อตัวขึ้นส่วนหนึ่งจากหนังสือ "ตีแตก" ของผม ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงเหลือเพียง 269 จุดในตอนสิ้นปี ส่งผลให้หุ้นมีราคาถูกมาก ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 1.1 เท่า หุ้นจำนวนมาก ผมคิดว่ากว่าครึ่ง มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี ค่า PE เฉลี่ยของหุ้นที่ยังมีกำไรอยู่นั้นต่ำเพียงประมาณ 5.5 เท่า และนี่ก็คือ ภาวะ "ตลาดหุ้นในฝันของ VI" ช่วงหนึ่งในตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกับภาวะตลาดหุ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วง "วิกฤติซับไพร์ม" ที่ดัชนีหุ้นลดลงถึงเกือบ 50% เหลือเพียง 450 จุด และหุ้นในตลาดส่วนใหญ่มีราคาถูกพอๆ กับช่วงปี 2543

เปรียบเทียบกับหุ้นในปัจจุบัน ดัชนีหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมา 2 ปี และหุ้นขึ้นมากว่า 100% แล้ว ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีสูงเกือบ 2 เท่า ในขณะที่ค่า PE เท่ากับประมาณ 13-14 เท่า ซึ่งถือว่าราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในตลาดไม่ถูกอีกต่อไป ในสภาวะแบบนี้กอปรกับความนิยมในหุ้น VI ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้การหาหุ้นที่ยังถูก และมี Margin of Safety สูงหาได้ยากขึ้น หรือถ้าคิดว่ายังหาได้ไม่ยาก แต่น่าจะมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้มากกว่าในยามที่ตลาดหุ้น "เอื้ออำนวยต่อ VI" เช่นในปี 2543 และ 2551

คำถามสุดท้าย ก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร จะขายหุ้นถือเงินสดหรือ และถ้ามีเงินสดเหลืออยู่จะไม่ลงทุนซื้อหุ้นหรือ คำตอบของผม ก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นไม่ได้เอื้ออำนวย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นภัย หรืออันตรายต่อการลงทุนอย่างชัดเจนเช่นในปัจจุบัน ผมจะลงทุนอย่างระมัดระวังขึ้น การเลือกหุ้นอาจจะต้องเน้นกิจการที่มีความปลอดภัยของผลประกอบการสูงกว่าปกติ และไม่หวังผลเลิศ

เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในสถานการณ์แบบนี้ผมจะไม่รีบร้อน บางทีผมอาจจะรอแบบใจเย็นๆ และแน่นอน ผมจะไม่ "ไล่หุ้น" หรือเล่นหุ้นที่กำลังร้อนแรง ผมคิดว่าหุ้นที่มีคนเล่นหรือซื้อขายกันมากๆ โดยเฉพาะที่คนซื้อขายเป็น VI ด้วยนั้น ราคาของมันคงไม่ถูกอีกต่อไป โอกาสที่มันจะกลายเป็นหุ้นที่มีราคาสูงกว่าพื้นฐานน่าจะมีมากกว่า และทั้งหมดนี้ ก็คือ คำตอบของคำถามที่ว่า VI สนใจภาวะตลาดหุ้นหรือเปล่า

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


แก้ว 3 ประการของการลงทุน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การ “ปฏิวัติของมวลชน” ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นระลอกต่อเนื่องกัน ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่คนทั่วโลกต่างก็งวยงง นักวิเคราะห์จำนวนมากคิด ว่าปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ฝ่ายประชาชนผู้ประท้วงทำการได้สำเร็จ อยู่ที่การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ค ที่ทำให้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ โดยที่ฝ่ายรัฐผู้ครองอำนาจไม่สามารถขัดขวางได้ ผมเองยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือปัจจัยสุดยอดจริงๆ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาชนที่ประสบความสำเร็จในอดีต อย่างในรัสเซียหรือจีน ก็จะพบว่ามีปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญสุดยอด 3 ประการอย่างที่เลนินหรือเหมาเจ๋อตุงเรียกว่า “แก้ว 3 ประการ” ที่ถ้ามีแล้ว ความสำเร็จก็จะอยู่แค่เอื้อมนั่นคือ แก้วประการที่หนึ่ง มวลชน แก้วที่สอง พรรคการเมืองของมวลชน และแก้วที่สาม กองกำลังติดอาวุธ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง โอกาสประสบความสำเร็จก็ยาก

ในการลงทุนเองนั้น ผมคิดว่าความสำเร็จที่ใหญ่หลวง หรือการที่จะเป็น “ผู้ชนะ” ถ้าวัดจากการที่จะกลายเป็นนักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนใหญ่เป็นร้อย พัน หรือแม้แต่หมื่นล้านบาทนั้น อยู่ที่การมี “แก้ว 3 ประการของการลงทุน” มากน้อยแค่ไหน แก้วที่หนึ่งก็คือ เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นและที่จะเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากการลงทุน แก้วประการที่สองก็คือ ความสามารถในการสร้างผลผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นของนักลงทุน และแก้วประการที่สามก็คือ ระยะเวลาในการลงทุนที่ต่อเนื่องยาวนาน ถ้าใครมีแก้วทั้ง 3 ประการดังกล่าวและใช้มันอย่างเต็มที่แล้ว โอกาสที่จะ “ชนะ” หรือประสบความสำเร็จในการลงทุนเหนือกว่าคนอื่นก็มีสูง

ลองมาดู “แก้ว” ทีละลูก สมมติว่าคนคนหนึ่ง มีเงินค่อนข้างมากจากการทำธุรกิจ เขาตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเนื่องจากมองว่าธุรกิจที่ทำอยู่กำลังตกต่ำ ลงและเขาอาจจะต้องเลิกธุรกิจในไม่ช้า แต่เขามีเงินสดที่เก็บสะสมไว้สามารถนำมาลงทุนได้ถึง 100 ล้านบาท นี่คือเขามีแก้วลูกแรก โชคไม่ดี เขาไม่มีความรู้ในการลงทุนเพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่เขาหวังได้จากการลงทุนก็คือ การซื้อกองทุนรวมหุ้นซึ่งคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวได้แค่ประมาณ 8% ต่อปีแบบทบต้น นั่นคือ เขาไม่มีแก้วลูกที่สอง เช่นเดียวกัน เขาอายุ 50 ปีแล้ว ถ้าคิดว่าเขาจะลงทุนจนกระทั่งอายุแค่ 60 ปีก็จะเลิกเพื่อเกษียณและถอนเงินไปใช้ ดังนั้น ระยะเวลาการลงทุนของเขาก็มีเพียง 10 ปี ดังนั้น แก้วลูกที่สามเขาก็ไม่มี ผลก็คือ ในวันแรกที่เขาเริ่มลงทุน เขาก็อาจจะเป็นนักลงทุน “รายใหญ่” ทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีที่เขาเลิก พอร์ตของเขาโตขึ้นเป็น 215 ล้าน แต่ในวันนั้นและที่อาจจะบันทึกในความทรงจำต่อไปในอนาคต เขาก็อาจจะเป็นแค่คนที่มีเงินพอสมควรเท่านั้นในแวดวงนักลงทุนที่มุ่งมั่น ทั้งหลาย

สมมติว่าแทนที่จะลงทุนในกองทุนรวม เขาได้ศึกษาและมีความรู้ในการลงทุนเป็นเยี่ยมและมีเทคนิคที่ดีมากในการลง ทุน เรียกว่าเป็น “เซียน” ประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่หุ้นบูมมาก ดังนั้น เขาสามารถลงทุนจนได้ผลตอบแทนแบบทบต้นถึงปีละ 40% โดยเฉลี่ยในระยะเวลา 10 ปี ผลก็คือ เงิน 100 ล้านบาทกลายเป็น 2,892 ล้านบาท พอร์ตการลงทุนระดับนี้น่าจะทำให้เขาถือเป็นระดับนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นที่ กล่าวขวัญและจดจำกันในแวดวงนักลงทุนกันพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตาม เงินในระดับนี้ ถ้าพูดในวันนี้ก็คงต้องบอกว่ามากทีเดียว แต่ถ้าไปพูดกันในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือในอนาคตที่ยาวไกลออกไปก็ยังไม่น่าจะถือเป็น “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังจะต้องจดจำหรือบันทึกไว้ เพราะในอนาคตก็จะมีนักลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ และมากกว่า 3,000 ล้านบาท และนั่นก็น่าจะเป็นคนที่มี “แก้วทั้ง 3 ประการของการลงทุน”

สมมุติต่อไปว่าแทนที่เขาจะมีอายุ 50 ปี เขากลับเป็นลูกของเจ้าของธุรกิจที่ได้เริ่มศึกษาการลงทุนตั้งแต่ยังเรียนไม่ จบมหาวิทยาลัย เขาเคยลงทุนด้วยเงินเพียง 1-2 ล้านที่ขอมาจากพ่อและประสบความสำเร็จในการลงทุนสูงมาก หลังจากนั้น ทางบ้านก็มั่นใจและในที่สุดให้เงินเขามาลงทุนถึง 100 ล้านบาทเมื่อเขาอายุเพียง 25 ปี ความสามารถของเขานั้น เพียงพอที่จะทำให้เขาสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยระยะยาวได้สุดยอดขนาด “น้อง ๆ บัฟเฟตต์” ที่ 20% ต่อปี และเขามีเวลาลงทุนยาวมากถึง 35 ปี ติดต่อกัน ผลก็คือ ในวันที่เขาอายุ 60 ปี พอร์ตของเขาจะโตขึ้นเป็น 59,066 ล้านบาท เขากลายเป็น “ตำนานนักลงทุนไทย” คนหนึ่งที่มีพอร์ต “มหึมา” ที่ทุกคนรู้จักและสื่อมวลชนกล่าวขวัญถึงเช่นเดียวกับนักลงทุนอีกหลายคนที่ อาจจะมี “แก้ว 3 ประการ” เช่นเดียวกัน

แก้วแต่ละลูกนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไขว่คว้าได้ด้วยตนเอง เงินเริ่มต้นนั้น ถ้าไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวย โอกาสที่จะมีแก้วลูกนี้ก็ยาก จริงอยู่คนบางคนอาจจะหาเงินได้มากจากการทำงานหรือทำธุรกิจอื่น แต่เขาก็มักจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าจะได้เงินเดือนสูงมากๆ หรือธุรกิจจะมีเงินสดมาให้ลงทุนได้มาก ดังนั้น แก้วลูกนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มาจาก “โชค” ที่ “เกิดมารวย” แก้วลูกที่สองคือฝีมือในการลงทุนนั้น เป็นแก้วที่สามารถสร้างขึ้นได้หรือคว้ามาได้ด้วยการศึกษาพยายามและการมี ทัศนะคติในการลงทุนที่ถูกต้อง ผมเองรู้สึกว่าคนจำนวนมากมีศักยภาพที่จะเป็นนักลงทุนที่มีความสามารถสูงได้ ปัญหาก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจที่จะต้องมุ่งมั่นและมีศรัทธาต่อการลงทุน ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วซึ่งเป็นเรื่องยากเมื่อต้องอยู่กับภาวะความผันผวน ของตลาดหุ้นที่มักทำให้ความคิดไขว้เขวไป

สุดท้ายก็คือ ระยะเวลาในการลงทุนที่เป็น “แก้วลูกที่สาม” นี่คือแก้วที่เราอาจจะทำอะไรกับมันไม่ได้มากนัก ถ้าเราอายุ 50 ปีแล้ว โอกาสที่เราจะมีแก้วลูกนี้ก็น้อยมาก จริงอยู่ ในอนาคตคนอาจจะมีสุขภาพดีและอายุยาวขึ้นเป็น 100 ปี แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น คนอื่นที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี ก็จะมีระยะเวลาลงทุนยาวกว่าคุณ 25 ปีอยู่ดี อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพให้ดีก็อาจจะช่วยให้ระยะเวลาการลงทุนยาวขึ้นและเพิ่มคุณค่า แก้วลูกนี้ได้ แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ ในเรื่องของแก้วลูกนี้ก็คือ คนจำนวนมากที่มีแก้วลูกนี้อยู่ นั่นคือ เขามีอายุน้อยและถ้าเริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มมีรายได้หรือมีเงินเลย เขาก็มีแก้วลูกที่สามโดยอัตโนมัติ น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขามักคิดว่า การลงทุนเป็นเรื่องของคนที่มีครอบครัวและต้องสร้างฐานะ ดังนั้น เขาจึงไม่ได้คิดลงทุนจนกระทั่งแก้วที่มีค่า “หลุดลอย” ไป

ข้อสรุปทั้งหมดก็คือ แก้ว 3 ประการของการลงทุนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะไขว่คว้ามาได้หมด มีบางลูกคว้าได้ บางลูกต้องอาศัยดวง ความ “สว่าง” ของลูกแก้วเองก็ไม่เท่ากัน คนที่เริ่มต้นด้วยเงิน 100 ล้านบาทต้องถือว่ามีลูกแก้วแล้ว แต่บางคนอาจจะเริ่มด้วยเงิน 500 ล้านบาทซึ่งเป็นแก้วที่ “สว่างจ้า” กว่า 100 ล้านบาท ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยระยะยาวที่ทำได้ถึง 15% ต่อปีผมก็ถือว่ามีแก้วแล้ว แต่คนที่ทำได้ 20% ต่อปีก็มีแก้วที่สว่างกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของเราในฐานะของนักลงทุน ถ้ามีลูกแก้ว เราต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ถ้าไม่มีเราก็ต้องพยายามเพิ่มคุณภาพของแก้วลูกนั้นถ้าทำได้ และเมื่อทำเต็มกำลังแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ “ปล่อยวาง” อย่าไปคิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายว่า เราจะรวยเท่าไรหรือจะทำได้จริงไหม การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวและเป็นเรื่องของชีวิต เป้าหมายจริงๆ ของเราก็คือ มีความสุขในทุกเวลาที่เดินไป

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


บทเรียนหุ้นโภคภัณฑ์ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


หุ้นที่ร้อนแรงและมีสีสันที่สุดกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้น ผมคิดว่า คือ หุ้นที่ผลิต หรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นครั้งเป็นคราว โดยเฉพาะในยามที่ เศรษฐกิจร้อนแรงอย่างในช่วงเร็วๆ นี้ หุ้นโภคภัณฑ์บางตัวหรือบางกลุ่มจะปรับตัวหรือวิ่งขึ้นหวือหวามาก ราคาหุ้นอาจขึ้นไปได้เป็น 5-10 เท่าอย่างง่ายๆ ในเวลาเดียวกัน อาจจะมีหุ้นโภคภัณฑ์อีกตัวหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง ที่ปรับตัวลงเหลือครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้น

นี่ไม่ใช่เฉพาะราคาที่ปรับตัวขึ้น แต่มันมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วเป็นร้อย หรือเป็นพันล้านบาทต่อวัน หลายๆ ตัว มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดสิบอันดับแรกเกือบทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น หุ้นโภคภัณฑ์ต้องถือว่าเป็นหุ้น "ยอดนิยม" ในตลาดหุ้นไทย

ลองนึกดูย้อนหลังไปเพียงไม่นาน ธุรกิจเรือเทกองเคยเป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้นเกือบทุกคน และก็อาจจะรวมถึง "VI" หลายๆ คน ที่วิเคราะห์ด้วย "หลักการแบบ VI" แล้วก็สรุปว่าหุ้นเรือนั้น Undervalued หรือมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมาก แม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปหลายเท่าแล้ว ผมคงไม่ต้องพูดว่า นั่นคือ ความผิดพลาดของการวิเคราะห์ เพราะว่าหุ้นเรือต่างก็ "จมลง" นั่นคือ ราคาที่เคยสูงลิ่วตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่กำไรของบริษัทยังดีน่าประทับใจ จนถึงขณะนี้ที่กำไรเริ่มตกต่ำลงอย่างมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ลดลงไปเรื่อยๆ และคนก็เลิกพูดกันเรื่องเกี่ยวกับเรือ และหันไปเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป

หุ้นผลิตฟิล์มสำหรับบรรจุอาหาร ในอดีตแทบไม่มีคนสนใจเลย เพราะกำไรของบริษัทไม่มีอะไรน่าประทับใจ การเติบโตก็ไปเรื่อยๆ ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ใคร่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทหน้าตาเป็นอย่าง ไร แต่แล้วจู่ๆ ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด สักระยะหนึ่งปริมาณการซื้อขายก็ตามมา หุ้นหลายตัวในกลุ่มกลายเป็นหุ้นยอดนิยม แม้แต่ "VI" จำนวนไม่น้อย ก็ยังคิดว่าหุ้นเหล่านี้ยังถูก และมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปอีกมาก หลังจากที่มันได้กระโดดขึ้นไปแล้วหลายเท่า เหตุผล ก็คือ จากการวิเคราะห์ด้วย "หลักการแบบ VI" แล้ว หุ้นยังคุ้มค่าที่จะซื้อเพราะราคาหุ้นนั้นยังถูกมาก กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มต่อไปแบบก้าวกระโดด การวิเคราะห์เรื่องกำไรนั้นดูเหมือนว่าจะถูกต้อง กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น "มโหฬาร" ดังคาด แต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่าง "ผิดคาด"

หุ้นโภคภัณฑ์หลายตัวหรือหลายกลุ่ม ยาง เป็นตัวอย่างที่กำลัง "แสดงอยู่บนเวที" นั่นคือ ราคาหุ้นกำลังดีดตัวถึงขีดสุด กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนไม่น่าเชื่ออานิสงส์จากราคายางในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดน่าจะใน ประวัติศาสตร์ ปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับสูงสุดสิบอันดับเป็นว่าเล่นทั้งที่ไม่ใช่เป็น หุ้นตัวใหญ่ เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหุ้นจะไปทางไหนหลังจาก "จบการแสดง"

ทำไมหุ้นที่วิเคราะห์ตาม "หลักการแบบ VI" และพบว่ามันเป็นหุ้นที่ถูก มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง แต่ราคากลับลดต่ำลงไปมาก ตลาดผิดหรือคนวิเคราะห์ผิดกันแน่ เรามาดูกัน

หุ้นโภคภัณฑ์ที่หวือหวาทั้งหลายที่กล่าวถึงนั้น ช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าแล้วนั้น บางทีจะพบว่า ข้อแรก ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นนั้นยังต่ำมากเพียง 3-4 เท่าก็มี ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่ "ถูกมาก" ซื้อหุ้นแล้ว "เพียง 3-4 ปี ก็คืนทุนแล้ว" แต่นี่อาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะหุ้นโภคภัณฑ์นั้น กำไรมักไม่สม่ำเสมอ กำไรที่เห็นนั้นคือกำไรที่มากกว่าปกติมากและไม่ยั่งยืน กำไรโดยเฉลี่ยที่จะรักษาอยู่ได้นั้นอาจจะต่ำกว่าหลายเท่า

ดังนั้น การเอาปีที่กำไรดีผิดปกติมาใช้วัดค่า PE จึงใช้ไม่ได้ หุ้นที่จะสามารถใช้ค่า PE เป็นตัววัดความถูกความแพง ควรจะเป็นกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอ หรือ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์แบบนี้ ค่า PE จึงมีประโยชน์น้อย การบอกว่าค่า PE ต่ำแสดงให้เห็นว่าเป็นหุ้นถูกจึงอาจจะไม่ถูกต้อง นี่เป็น ข้อแรก

ข้อสอง หุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อน นอกจาก PE ต่ำแล้ว ค่า PB หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นตัวชี้ความถูกความแพงอีกตัวหนึ่งก็อาจจะต่ำด้วย บางทีต่ำกว่า 1 เท่าหรือไม่เกิน 2 เท่า นี่เป็นการ "ยืนยัน" อีกจุดหนึ่งว่าหุ้นร้อนตัวนั้น "ยังถูกมาก" นี่ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้างถ้าคิดว่ามูลค่าทรัพย์สินทางบัญชี อาจจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินจริงๆ ที่สามารถขายได้ในกรณีเลิกกิจการ แต่ในความเป็นจริง ก็คือ ไม่มีบริษัทไหนคิดจะเลิกกิจการ และผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเลิกจริงๆ สินทรัพย์จะมีราคาอย่างที่ว่าจริงไหม เพราะบ่อยครั้ง เวลาเลิกกิจการ โรงงานมักจะกลายเป็นเศษเหล็กที่แทบไม่มีค่าเลย นอกจากนั้น มูลค่าทางบัญชี ก็ลดลงได้ในกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนในอนาคต เนื่องจากราคาของโภคภัณฑ์ที่ลดลงก็ได้ สรุปแล้ว ค่า PB ก็ไม่ได้บอกอะไรที่มีความหมายมากนักในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์ที่เป็นโรงงาน

ข้อสาม ค่า Dividend Yield หรือผลตอบแทนเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ของหุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนแรง มักจะสูงลิ่ว บางทีมากกว่า 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นปันผลที่งดงามมาก นี่เป็นตัวยืนยันความถูกของหุ้นในสไตล์หุ้น "ห่านทองคำ" ซึ่งเป็นแนวของนักลงทุนแบบ VI ที่ "อนุรักษนิยมมาก" ในกลุ่ม VI ด้วยกัน ดังนั้น นี่เป็นการยืนยันความปลอดภัยของหุ้นอีกจุดหนึ่ง แต่นี่ก็อาจจะเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดอีกเช่นกัน

เหตุผล ก็คือ ปันผลที่เห็น เป็นปันผลที่คิดจากกำไร ถ้าในอนาคตกำไรลดลง ปันผลก็ต้องลดลง ผลตอบแทนที่บอกว่า 6-7% จึงเป็นปันผลเพียงครั้งเดียว ในอนาคตอาจจะน้อยลงหรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น Dividend Yield ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์จึงไม่ได้บอกว่าหุ้นถูกหรือแพง

สุดท้ายฐานะการเงินของหุ้นโภคภัณฑ์ในยามร้อนแรงก็อาจจะดีเยี่ยม บางทีมีเงินสดเหลือเฟือด้วยซ้ำ แต่นี่ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา เพราะเงินสด ไม่ได้นำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น บางทีอนาคตก็อาจจะหมดไปกับการลงทุนหรืออะไรต่างๆ ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัท ดังนั้น เงินสดก็อาจจะมีความหมายไม่มาก ถ้าเจ้าของเขาไม่อยากแจกคืนให้ผู้ถือหุ้น

ข้อสรุปรวบยอดของผม ก็คือ ตัวเลขและการวิเคราะห์ตามหลักการ "แบบ VI" ใช้ไม่ได้กับหุ้นโภคภัณฑ์ วิธีการที่ผมคิดว่าดีที่สุดสำหรับการเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ ก็คือ ซื้อหุ้นก่อนที่วัฏจักรราคาสินค้าจะเป็น "ขาขึ้น" อย่างน้อย 2-3 เดือน โดยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ขยับขึ้น หรือปรับตัวขึ้นก็เพียงเล็กน้อย ขายหุ้นเมื่อทุกอย่างกำลังร้อนแรงสุดๆ และราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนไม่น่าเชื่อ ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าคนที่รู้ดีที่สุด ก็คือ เจ้าของหรือผู้บริหารกิจการ ดังนั้น คนที่ได้เปรียบ ก็คือ คนในหรือคนที่ใกล้ชิด หรือได้ข้อมูลก่อนคนอื่น

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


เล่นหุ้นตามสูตร โดย ดร.นิเวศน์


เมื่อสงครามโลก ครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น เซอร์ จอห์น เทมเปิลตัน ตำนานนักลงทุนเอกของโลก ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหนุ่มและไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรได้เกิดความเชื่อมั่นว่า ตลาดหุ้น ซึ่งตกต่ำมายาวนานถึงสิบปีแล้ว น่าจะถึงจุดต่ำสุดและทุกอย่างกำลังจะฟื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้น “ซินเดอเรลลา” ซึ่งก็คือหุ้นที่ไม่มีใครเหลียวแลหรือคิดว่าเหมาะสมสำหรับการลงทุน เพราะว่ามันอาจจะเป็นหุ้นที่ “เน่าสนิท” ดังนั้น ในวันหนึ่งเขาจึงโทรหาโบรกเกอร์และสั่งซื้อหุ้นทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญ โดยซื้อตัวละ 100 หุ้น เขาได้หุ้นมา 104 ตัวและใช้เงินไปประมาณ 10,000 เหรียญ สี่ปีต่อมา เขาขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง ได้เงินมาประมาณ 40,000 เหรียญ หรือถ้าคิดเป็นเงินปัจจุบันก็ประมาณเท่ากับ 1 ล้านเหรียญ คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 41 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย

กลยุทธ์การลงทุนที่เทมเปิลตันทำนั้น เป็นการลงทุนที่มิได้วิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว แต่เลือกหุ้นโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตายตัวชุดหนึ่ง ในกรณีของเขาก็คือ การเลือกหุ้นที่มีราคาตกต่ำมากจนเกือบไม่มีค่านั่นคือราคาหุ้นต่ำกว่า 1 เหรียญ ซึ่งในตลาดสหรัฐอเมริกาก็คือหุ้นที่มีราคาต่ำมากเปรียบเสมือนกับหุ้นราคาตัว ละไม่เกิน 1 บาทในตลาดหุ้นไทย ทฤษฎีของเขาก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวนั้น หุ้นที่มีราคาตกต่ำมากที่สุดจะมีการฟื้นตัวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่ สุด - โดยเฉลี่ย นั่นไม่ได้หมายความว่าหุ้นราคาต่ำกว่า 1 เหรียญทุกตัวจะต้องฟื้นตัว หุ้นหลายๆ ตัวอาจจะไม่ฟื้นเลยหรือบางตัวอาจจะตกต่ำลงและมีค่าเป็นศูนย์ แต่หุ้นอีกหลายตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าตัวซึ่งทำให้พอร์ตโดยรวมแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงมาก และนี่ก็คือสิ่งที่เทมเปิลตันทำและก็ประสบความสำเร็จ หลักการเลือกหุ้นแบบนี้ ในทางวิชาการเรียกว่า Mechanical Rule ผมเองอยากจะเรียกว่า “ลงทุนหุ้นตามสูตร”

การเล่นหุ้นตามสูตรนั้น กฎข้อแรกก็คือ การมองหา “ภาพใหญ่” หรือทฤษฎีว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือหุ้นกลุ่มไหนจะให้ผลตอบแทนสูงในช่วงเวลา หนึ่ง กฎข้อสองก็คือ หา “ตัวแทน” หรือข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นที่จะเป็นตัวแทนของหุ้นตามทฤษฎีนั้น พูดให้ง่ายก็คือการหา “สูตร” สำหรับเลือกหุ้นลงทุน กฎข้อสามก็คือ การเลือกหุ้นที่เข้าเกณฑ์หรือเป็นไปตามสูตรนั้น กฎข้อสี่ก็คือ ต้องเลือกซื้อหุ้นทุกตัวที่เข้าเกณฑ์ตามสูตรไม่มีข้อยกเว้น อย่าใช้วิจารณญาณ กฎข้อที่ห้าก็คือ การติดตามดูผลตอบแทนของการลงทุนทุกช่วงเวลาที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนด เป็นปี ๆ เป็นเวลาหลายปี และกฎข้อสุดท้ายก็คือ การกำหนดเวลาเลิกลงทุนซึ่งก็คือการดูว่าเราควรเลิกและล้างพอร์ตเมื่อไร

ในกรณีของเทมเปิลตันนั้น ทฤษฎีของเขาก็คือ ในยามที่เกิดสงครามขึ้น ค่าของเงินมักจะเสื่อมลง เงินอาจจะเสื่อมค่าลงมากเนื่องจากอาจจะมีการพิมพ์เงินขึ้นมาเพื่อใช้ในการ สงคราม เงินเฟ้อจะสูงขึ้นมาก ตรงกันข้าม สิ่งของต่างๆ จะมีค่ามากขึ้น และสิ่งของนั้นรวมถึงสิ่งของที่มีหุ้นเป็นตัวแทน เช่น สินค้า โรงงาน วัตถุดิบ และอื่นๆ อีกมาก เฉพาะที่ไม่ถูกกระทบโดยผลของสงครามอย่างในอเมริกา ดังนั้น ความเชื่อของเขาก็คือ หุ้นจะฟื้นตัว และในหุ้นที่ฟื้นตัวนั้น หุ้นที่ตกต่ำที่สุดจะฟื้นตัวได้มากที่สุด และตัวแทนของหุ้นที่ตกต่ำลงมากที่สุดสำหรับเขาก็คือหุ้นที่มีราคาต่ำที่สุด ซึ่งเขาใช้สูตรหรือเกณฑ์ว่าเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญ การซื้อหุ้นของเขานั้นจะไม่มีการใช้วิจารณญาณ ไม่ต้องดูว่าหุ้นตัวไหนอาจจะไปไม่รอด เพราะเขาไม่รู้จริงๆ เหนือสิ่งอื่นใด หุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญทุกตัวก็มีโอกาสล้มละลายทั้งนั้น การเลือกอาจจะทำให้เขาพลาดหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้น 10 เด้งหรือกำไร 10 เท่าตัวก็ได้ หลังจากซื้อหุ้นแล้ว เขาคงติดตามดูผลตอบแทนไปเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไปถึง 4 ปี และเขาได้กำไรมามากแล้ว เขาก็อาจพิจารณาว่า การฟื้นตัวนั้นสิ้นสุดลงแล้ว การถือลงทุนต่อไปก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีอีกต่อไป เขาจึงขายหุ้นทั้งหมดทิ้งและเป็นการ “ปิดเกม” การเล่นหุ้นตามสูตรนี้

การเล่นหุ้นตามสูตรที่มีการศึกษาโดย นักวิชาการนั้นมีมากมาย สูตรที่มีการทดลองหรือทดสอบโดยข้อมูลย้อนหลังที่โดดเด่นมากนั้น เป็นสูตรการเล่นหุ้นแบบ Value Investment นั่นก็คือ ทฤษฎีมีอยู่ว่าการลงทุนแบบ VI นั้น เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนตามดัชนีตลาด-โดยเฉลี่ย นี่คือทฤษฎีตามกฎข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองที่จะต้องทำก็คือ หา “ตัวแทน” หุ้นที่เรียกว่าหุ้น VI วิธีหาก็มีหลายวิธีแล้วแต่ว่าใครจะเป็นคนคิด แต่ส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่ที่ว่าต้องเป็นหุ้นถูกซึ่งหุ้นถูกที่ว่านี้ก็มัก จะวัดกันที่ค่า PE และค่า PB ที่ว่าจะต้องมีค่าต่ำหรือต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นอื่นๆ ในตลาด และอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น หรือ Dividend Yield ว่าควรจะต้องสูงหรือต้องมีพอสมควร หลังจากนั้นก็ตั้งเป็นสูตรเพื่อคัดเลือกหุ้นมาลงทุน จากนั้นก็ติดตามผลตอบแทนของพอร์ตที่ลงทุนตามสูตรว่าเป็นอย่างไรในแต่ละปี ทำเช่นนี้ไปหลายๆ ปีก็จะทำให้สามารถเห็นได้ว่าการลงทุนตามสูตรของ VI นั้น โดยเฉลี่ยให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับการลงทุนตามดัชนีตลาด

ผมเคยทำการศึกษาเรื่องของการลงทุนตามสูตรแบบ VI ครอบคลุมช่วงเวลา 9 ปีจากปี 2543 ถึง 2551 พบว่าผลออกมานั้นน่าประทับใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การลงทุนโดยใช้สูตรแบบ VI ให้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นสูงถึง 34% ต่อปีในขณะที่ดัชนีตลาดปรับเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 4.8% และเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า นำโดย ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เองก็ได้ทำการศึกษาในแนวการลงทุนแบบใช้สูตร VI ในช่วงเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2010 โดยใช้ข้อมูลค่า PE PB ปันผล และ ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ก็ได้ผลในแนวเดียวกัน แต่ผลตอบแทนที่ได้ยิ่งสูงกว่ามาก พอร์ตการลงทุนบางแบบให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึงปีละ 63% เงินลงทุน 1 ล้านในช่วงต้นกลายเป็นเงินถึง 1,600 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดการลงทุน ในขณะที่ตลาดโดยรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 1.2% เท่านั้น

ในชีวิตจริง ผมเองไม่เคยลงทุนหุ้นตามสูตรและก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเรายังใช้สูตรเดิมที่เคยให้ ผลตอบแทนดีมากจะยังสามารถทำให้เราได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับของเดิมในอดีตหรือ ไม่ เหนือสิ่งอื่นใด อนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีต อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าหุ้นราคาถูกในแนว VI นั้นโดยเฉลี่ยก็น่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดอยู่ ข้อมูลจากต่างประเทศที่ได้มีการศึกษามานานและศึกษาซ้ำก็ยังให้ผลตอบแทนที่ ดี ดังนั้น ในการเลือกหุ้นลงทุน ผมจึงยึดแนวทางแบบ VI อยู่อย่างมั่นคงแม้ว่าจะไม่ได้ซื้อตามสูตรตายตัว สำหรับคนที่อยากลอง ผมคิดว่าการลงทุนตามสูตรก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและอาจให้ผลตอบแทนที่ มหัศจรรย์ได้

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.