Group Blog
 
All blogs
 
เรียนรู้ชีวิต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ในสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดวิชาหนึ่ง ก็คือ ชีววิทยา เหตุผลก็เพราะมันเป็น วิชาที่ผมจะต้องท่องจำมากที่สุด โดยที่ผมไม่รู้ว่าจะจำไปทำไม ยกเว้นแต่ว่าจะต้องไปทำข้อสอบ การจำนั้น บ่อยครั้งเป็นการจำที่ไม่มีพื้นฐานอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลเลยสำหรับผม เช่น ต้องจำว่าใบไม้ชนิดไหนมี "กี่แฉก" หรือต้องจำชื่อเซลล์แปลกๆ จำนวนมาก ว่า มันมีรูปร่างและทำงานอย่างไร นี่ประกอบกับการที่ผมไม่คิดว่าจะเรียนต่อทางสายแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต ผมจึงเรียนวิชาชีววิทยาเพียงแค่ "พอผ่าน" หลังจากนั้น ผมก็เลิกสนใจความรู้ทางด้านนี้ไปเลย

ผมกลับมาสนใจเรื่องของสิ่งมีชีวิตซึ่ง แน่นอน รวมถึงมนุษย์ หรือคนเราด้วย เมื่อได้มีโอกาสอ่านหนังสือพอคเก็ตบุ๊ค ซึ่งเขียนเพื่อให้คนเข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่อง "วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต" ตามทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน หนังสือในแนวนี้เริ่มมีแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคำอธิบายและทฤษฎีใหม่ๆ ของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ หลังจากอ่านหลายๆ เล่มผมก็พบว่า แท้ที่จริงแล้ว เกือบทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงคนด้วยนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม สังคมและการเมือง นี่เป็นเรื่องน่าทึ่ง และในฐานะที่เป็น Value Investor

ผมคิดว่า นี่คือ สิ่งที่ผมอยากรู้ อย่างน้อยที่สุดมันคงช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ ผมลงทุนอยู่ และก็โดยบังเอิญ ความรู้เรื่อง Behavioral Finance หรือ "การเงินพฤติกรรม" ก็เป็นเรื่องที่กำลังได้รับการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันสามารถอธิบายความ "ผิดปกติ" ในตลาดการเงินได้ดี มันช่วยในการลงทุนของเราไม่น้อยไปกว่าทฤษฎีการเงินสายหลักอย่างทฤษฎี "ตลาดที่มีประสิทธิภาพ" หรือที่เรียกว่า Efficient Market ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่านักลงทุนในตลาดหุ้น เป็นคนที่มีเหตุผลและไม่ได้ใช้อารมณ์ในการลงทุน

ในความเห็นของผม ทฤษฎีวิวัฒนาการ มันมีพื้นฐานที่ง่ายมาก และนั่นคือ สิ่งที่ทำให้มันทรงพลัง ในการที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆ หัวใจสำคัญ ก็คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกต่างก็มาจากการปรับตัว และปรับปรุงจากสิ่งมีชีวิตอื่น การปรับตัวและปรับปรุง ไม่ได้มีเป้าหมาย หรือทิศทางแต่เป็นการได้มาโดยบังเอิญ เนื่องจากการ "ผ่าเหล่า" ของยีนซึ่งเป็นตัวกำหนดว่า เราจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดและอย่างไร

หัวใจสำคัญ ก็คือ เมื่อมีสิ่งที่ "ดี" เกิดขึ้นจากการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะเก็บสิ่ง "ดี" ไว้ และส่งต่อให้ลูกหลาน คำว่า "ดี" ไม่ใช่ดีในแง่ของศีลธรรมที่เราเข้าใจกันแต่เป็นสิ่งที่ดีในแง่ของชีวิตหรือ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือดีในแง่ของยีน นั่นก็คือ มันทำให้ยีนเผยแพร่ไปได้มากขึ้น

การที่ยีนจะเผยแพร่ต่อไปได้หรือเผยแพร่ได้มากขึ้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ต้องมีภารกิจ หรือ Mission สำคัญสามอย่าง นั่นก็คือ หนึ่ง ต้องพยายามกินสิ่งมีชีวิตอื่น สอง ต้องหลีกหนีการถูกกิน และ สาม ต้อง "สืบพันธุ์" หรือส่งต่อยีนไปให้ได้มากที่สุด และนี่คือ สิ่งที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทำเป็นหลัก

สิ่งที่ทำนอกเหนือจากนี้ เป็นสิ่งประกอบเพื่อที่จะเสริมให้ภารกิจหลักบรรลุเป้าหมาย ว่าที่จริงสิ่งมีชีวิตที่ "ไม่ซับซ้อน" เช่น พวกแบคทีเรีย ไส้เดือน หรือสัตว์ "ชั้นต่ำ" ทั้งหลาย จะไม่ทำภารกิจเสริมเลย สัตว์ชั้นสูงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าเช่นเสือหรือ กวางเอง ก็ทำภารกิจเสริมน้อยมาก ในแต่ละวันคิดแต่ว่าจะกินสัตว์อื่นได้อย่างไร จะหลีกหนีการถูกกินหรือเอาตัวรอดได้อย่างไร และจะมีโอกาสผสมพันธุ์ไหม ขณะที่มนุษย์หรือคนเรานั้น เราทำภารกิจเสริมมากมายจนบางครั้ง เราลืมคิดไปว่าภารกิจหลักคืออะไร "จิตใต้สำนึก" จะเป็นคนที่ชี้นำ หรือสั่งเราเองว่าเราจะต้องตัดสินใจทำอะไร หรือทำอย่างไรที่จะทำให้เราบรรลุภารกิจหลัก

จากพื้นฐานดังกล่าว เราสามารถที่จะรู้ หรือคาดการณ์การกระทำ หรือพฤติกรรมของคนได้ถูกต้องขึ้น เช่นเดียวกัน เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมหรือวัฒนธรรมได้ว่า ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ในประเด็นนี้ เราต้องนำ "สิ่งแวดล้อม" เข้ามาประกอบการวิเคราะห์ เพราะสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง มีผลต่อการกิน หรือถูกกินและการสืบพันธุ์ต่างกัน ร่างกายและจิตใจมนุษย์ถูกออกแบบ หรือได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่โบราณนับได้ถึงสองแสนปีแล้ว
แม้จะปรับ ปรุงมาตลอด เพื่อให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในช่วงประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนที่เราเริ่ม เปลี่ยนจากการล่าสัตว์และหาของป่ามาทำเกษตรกรรม ทำให้ร่างกายของเรายังปรับตัวไม่ทัน ยิ่งถ้าคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยิ่งทำให้ร่างกายของเรา "เพี้ยน" ไปจากที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นั่นคือ ร่างกายของเราถูกออกแบบมาสำหรับการล่าสัตว์หาของป่า แต่ต้องมาอยู่ในสังคมที่ก้าวหน้ามาก และสามารถหาอาหารได้ง่ายดายในซูเปอร์มาร์เก็ต

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มนุษย์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในชีวิตสามประการ พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากนี้ที่ไม่เป็นการเสริมกับภารกิจหลักนี้ย่อมไม่มี มนุษย์ทุกคนทำทุกอย่าง "เพื่อตนเอง" ถ้าพูดกันตามภาษาที่เราคุ้นเคย ก็คือ คนย่อม "เห็นแก่ตัว" หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีก ก็คือ "ยีนย่อมเห็นแก่ตัว" และยีนก็คือคนที่คุมคน

ดังนั้น คนจึงเห็นแก่ตัว ว่าที่จริง ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัว ป่านนี้คนก็คงหมดโลกไปแล้ว เพราะคนจะ "ถูกกิน" หมดก่อนถึงวันนี้ อย่าลืมว่า ในสมัยแสนปีที่แล้ว มนุษย์ไม่ได้สบายแบบวันนี้ และยังต้องคอยหนีเสืออยู่ในป่า เช่นเดียวกับที่ต้อง "ถูกกิน" โดยเชื้อโรคทั้งหลายโดยที่ไม่มียารักษา

ผมเขียนมายืดยาว เป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก การประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในฐานะ VI แต่ละคนก็ต้องทำเอง การหาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านของจิตวิทยาของคนซึ่งก็มีคนเขียนไว้ไม่ น้อยที่เรียกว่า "จิตวิทยาวิวัฒนาการ" ซึ่งเป็นสาขาจิตวิทยา "แนวใหม่" ที่กำลังได้รับการยอมรับ เนื่องจากสามารถอธิบายเรื่องของจิตวิทยา หรือพฤติกรรมคนได้ดีกว่าจิตวิทยาแนวเดิม

ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ VI เข้าใจชีวิตและสังคมดีขึ้น และน่าจะทำให้มีโอกาส "กินคนอื่น" แทนที่จะ "ถูกกิน" ในสมรภูมิหุ้น เหนือสิ่งอื่นใด มันน่าจะทำให้เราไม่ "ซื่อ" จนเกินไป คิดว่ามีคนที่ "ไม่เห็นแก่ตัว" เอา "อาหาร" มาให้เรากินแทนที่เขาจะกินเสียเอง อย่าลืมว่าตลาดหุ้น ถ้าเทียบกับยุคหิน ก็คือ ป่าที่เต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่ต่างก็ต้องการ "กินคนอื่น" ถ้าเผลอคุณก็มีโอกาสเป็นอาหารของพวกเขาเสมอ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่าน
เรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.