Group Blog
 
All blogs
 

อภินิหารของหุ้น โดย ดร.นิเวศน์


ในตลาดหุ้น เราจะพบความ "ไร้เหตุผล" ในเรื่องของราคาหุ้นอยู่บ่อยๆ บางครั้งบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในแง่ของตัวธุรกิจ มองทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ราคาหุ้นต่ำต้อยจนไม่ น่าเป็นไปได้ เป็นหุ้นที่ราคา "ไม่สมศักดิ์ศรี" ตรงกันข้าม บางครั้งบริษัทไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย ธุรกิจก็ธรรมดามาก หรือไม่มีอะไรโดดเด่น บ่อยครั้งเป็นผู้ผลิต หรือขายสินค้า "โภคภัณฑ์" ที่แข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก แต่ราคาหุ้นกลับสูงลิบลิ่ว คิดเป็นมูลค่าของกิจการ หรือมี Market Cap. เป็นพัน หมื่น หรือบางทีเป็นแสนล้านบาท

ในขณะที่ส่วนของทุน มีแค่เป็นหลักร้อย พัน หรือหมื่นล้านบาทเท่านั้น เรียกว่าราคาหุ้นสูงเป็นเกือบสิบเท่าของทุนทางบัญชี หุ้นในกลุ่มหลังนี้ผมอยากเรียกว่าเป็น "หุ้นอภินิหาร"

การเกิดขึ้นของหุ้นอภินิหารนั้น ผมคิดว่ามีปัจจัยหลายๆ ประการขึ้นอยู่กับตัวหุ้น บางหุ้นอาจต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน บางหุ้นก็มีปัจจัยเพียงน้อยนิด แต่ผลก็คล้ายคลึงกันนั่นคือ ราคาหุ้นขึ้นไปสูงเกินพื้นฐาน "ระยะยาว" มากมาย ลองมาดูกันว่าหุ้นเหล่านี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่มักเป็นตัวกำหนด

ปัจจัยแรกที่ผมเห็นว่า เกือบจะต้องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหุ้นอภินิหารทุกตัว ก็คือ หุ้นเหล่านี้มักมี Free Float หรือหุ้นที่อยู่ในมือของนักลงทุน หรือนักเก็งกำไรระยะสั้นค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก บางบริษัทมีไม่ถึง 5% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บางบริษัทมีหุ้นอาจจะถึง 25-30% แต่คิดเป็นเม็ดเงินแล้วก็น้อยมาก อาจจะเพียง 200-300 ล้านบาทก่อนที่หุ้นจะกลายเป็นหุ้นอภินิหาร

การมี Free Float ต่ำนั้น ผมคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วได้ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหุ้นที่มีขายอยู่ในตลาดเพียง 200 ล้านบาท ถูกนักลงทุนรายใหญ่สักรายที่มีพอร์ตเล่นหุ้นพันล้านบาท กวาดซื้อหุ้นทั้งหมด

แน่นอน การซื้อหุ้นหลังจากนั้น เขาก็สามารถทำราคาเป็นเท่าไรก็ได้ เพราะคนที่จะขายก็อาจจะเป็นเขาเองหรือเป็นเครือข่ายของเขา และถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ราคาหุ้นก็จะค้างเติ่งอยู่อย่างนั้นยาวนาน ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็จะหดหายไป ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนที่กวาดซื้อหุ้นก็ไม่มีเพราะเขาอาจจะ "ออกของ" หรือขายหุ้นทิ้งทำกำไรไม่ได้ สิ่งที่ดีที่เหลืออยู่ก็อาจจะเป็นว่าเขารู้สึก "รวย" เพราะคำนวณจากตัวเลขแล้ว พอร์ตของเขาอาจจะใหญ่มากจากการถือหุ้นตัวนั้น

หุ้นอภินิหารจำนวนไม่น้อย ถ้าดูจากปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวัน ก็อาจจะเห็นว่าสูงมาก เรียกว่าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องเหลือล้น ปริมาณเม็ดเงินที่วนเวียนอยู่ในตลาดที่คิดตามมูลค่าหุ้นตาม Free Float ที่มีอยู่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่น้อย บางตัวหลายพันล้านและบางตัวหลายหมื่นล้านบาท

นี่ก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่า ราคาหุ้นที่เห็นน่าจะสมจริงเป็นธรรมชาติที่เกิดจากอุปสงค์อุปทานของนักลงทุน แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง ก็จะพบว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่หุ้นกลายเป็นหุ้นอภินิหารแล้ว ถ้ามองก่อนหน้านั้น ที่ราคาหุ้นยังต่ำมาก ก็จะพบว่าหุ้นเหล่านั้นมี Free Float คิดเป็นเม็ดเงินน้อย เช่นเดียวกัน ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็น้อย ดังนั้นจึงเข้าข่ายที่จะเป็นหุ้นอภินิหารได้

ปัจจัยข้อสองที่มักจะพบในหุ้นอภินิหารก็คือ บริษัทมักอยู่ในธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีราคาขายผันผวนคือเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ และช่วงที่จะกลายเป็นหุ้นอภินิหารก็คือช่วงที่เกิดการขาดแคลนสินค้าในตลาดทำ ให้ราคาปรับตัวขึ้นมากส่งผลให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

นอกจากนั้น บริษัทก็มักจะประกาศขยายกำลังการผลิตเพื่อที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีกถ้า คิดว่ากำลังการผลิตใหม่ทั้งหมดสามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม ทั้งหมดนั้นทำให้สามารถ "รองรับ" กับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปได้ในสายตาของนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นที่เข้าไป เก็งกำไรกันในช่วงนั้น

ปัจจัยประการที่สามก็คือ หุ้นอภินิหารต้องมี "คนเล่น" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่คนที่เป็น "สปอนเซอร์" ซึ่งมักจะเป็นรายใหญ่ที่มีพลังเงินมากเมื่อเทียบกับขนาด Free Float ของบริษัทในช่วงก่อนที่จะเป็นหุ้นอภินิหาร และต้องมีนักเล่นหุ้นรายย่อย ที่เป็นนักเก็งกำไร ซึ่งเข้ามาเล่นหุ้นรายวัน โดยหวังจะทำกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้น

นอกจากนั้น อาจจะมีนักลงทุนที่มองพื้นฐานของกิจการอย่าง Value Investor ด้วยที่อาจจะเข้าใจผิดในมูลค่าของกิจการ ทั้งหมดนั้นต่างก็มีความ "ฮึก เหิม" และหวังว่าจะสามารถทำกำไรได้งดงามจากการซื้อขายหุ้นอภินิหาร เหนือสิ่งอื่นใด ราคาหุ้นที่ปรับตัวต่อเนื่องมหาศาลเป็นสิ่งที่ "ยืน ยัน" ความคิดของคนทุกกลุ่มที่เข้ามาเล่นว่าเขา "คิดถูก"

ปัจจัยประการสุดท้าย ก็คือ หุ้นอภินิหาร มักจะ เกิดขึ้นในยามที่ภาวะตลาดหุ้นสดใส เป็นตลาดกระทิงที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงมาก หุ้นอภินิหารนั้น มักจะปรับตัวแรงในวันที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น เรียกว่าราคาหุ้นมักเกาะกระแสตลาด เช่นเดียวกัน วันไหนที่ตลาดปรับตัวลงแรง หุ้นอภินิหารก็ตกแรงตามไปด้วย ในช่วงที่กำลังเป็นหุ้นอภินิหาร การปรับตัวขึ้นลงวันละ 5-10% เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมดา

หุ้นอภินิหาร สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ไม่ช้าก็เร็ว ความอภินิหารก็จะหายไป จุดเริ่มต้น มักจะเป็นเรื่องของราคาสินค้าของบริษัท ที่มักจะเป็นราคาตลาด หรือตลาดโลกเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาลง หรือสินค้าที่ในช่วงต้นกำลังมาแรง เริ่มจะอ่อนตัวลง หรือเรื่องราวดีๆ ที่คิดไว้นั้นเมื่อเวลาผ่านไปไม่เกิดขึ้น หรือในบางกรณีสปอนเซอร์ใหญ่เลิกเล่นแล้ว หลังจากที่ออกของ หรือขายหุ้นทำกำไรไปได้หมดแล้ว

ระยะเวลาของการเป็นหุ้นอภินิหาร บางกรณีก็สั้นมาก แต่บางกรณีก็ยาวหลายปี แต่เมื่ออภินิหารหมดไป หุ้นเหล่านี้ มักจะปรับตัวลงกลับไปที่เดิม หรือใกล้เคียงกับราคาเดิมก่อนที่จะเกิดอภินิหาร คนที่เข้าไป เล่นแล้วออกของไม่ทันด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ก็จะเจ็บตัวและขาดทุนหนัก

แต่ผมก็ยังเชื่อว่าน้อยคนที่จะเข็ด หุ้นอภินิหารตัวใหม่ก็จะมีสตอรี่ใหม่ที่น่าเชื่อถือ และน่าประทับใจไม่เหมือนตัวเดิม คนในตลาดหุ้นนั้น "ความจำสั้นมาก แต่ความโลภนั้นถาวร"

ดังนั้น หุ้นอภินิหาร จึงเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นกระทิง และคนในตลาดต่างก็ถูกครอบงำโดยความโลภ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


ศักดิ์ศรีของหุ้น โดย ดร.นิเวศน์


เวลาที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะคิดถึงอยู่เสมอก็คือ ความโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของบริษัท ต่อลูกค้าและต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีบริษัทนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคำตอบก็คือ บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนจำนวนมาก หรือสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของคนมากมายในขณะที่หาสินค้าหรือบริการ แบบเดียวกันจากบริษัทอื่นไม่ได้หรือได้ยาก ในกรณีอย่างนี้ ผมก็จะสนใจและอาจจะให้คุณค่าสูง และคำว่าคุณค่าสูงของผมนั้น ผมจะวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท

ตัวอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์ส นั้น สำคัญหรือยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรมนี้มิ ฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์จะต้องสูง “มโหฬาร” เหตุเพราะว่าคนจำนวนเป็นพันล้านทั่วโลกต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน ข้อเท็จจริงก็คือ ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หุ้นไมโครซอฟท์เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลก แนวคิดที่ว่ามูลค่าหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำคัญของบริษัท ผมขอใช้คำว่า “ศักดิ์ศรี” ของหุ้น นั่นคือ ศักดิ์ศรีของการที่เป็นโปรแกรมที่คนทั่วโลกต้องใช้

ลองมาดูอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทแอ๊ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ของ สตีฟ จ็อบส์ นี่คือบริษัทที่คนทั่วโลกคอยติดตามหาซื้อผลิตภัณฑ์ไฮเทครุ่นใหม่ล่าสุด ทั้งๆ ที่สินค้าของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่มันเป็นสิ่งที่คน “คลั่งไคล้” ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่โดดเด่นโดนใจสุดๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้หุ้นของแอปเปิลมีมูลค่าสูงขึ้นมโหฬารและแซงไมโครซอฟท์ไป ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เรายังเห็นศักดิ์ศรีของหุ้นกู เกิล เว็บไซต์ที่คนทั่วโลกต่างก็เข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายไม่จำกัด หรือเฟซบุ๊คที่คนนับหลายร้อยล้านและกำลังเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เข้ามาใช้บริการ เหล่านี้ผมคิดว่าจะต้องมีมูลค่าหุ้นมหาศาล ซึ่งเราไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จากตัวเลขกำไรในปัจจุบัน เหตุก็เพราะว่ามันยังขยายตัวไปเรื่อยๆ และยังเป็นช่วงที่บริษัทอาจต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากเพื่อรองรับกับการ ขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์หรือคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะต้องมองไปข้างหน้าที่ยาว ไกล ดูว่าในที่สุดแล้วจะมีคนกี่คนที่จะเป็นลูกค้าและบริษัทจะมีกำไรเท่าไรซึ่งก็ เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเราก็อาจจะพบว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันนั้น ยังน่าจะห่างจากมูลค่าที่น่าจะเป็นในอนาคตอีกมาก พูดง่ายๆ ราคามัน “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในฐานะที่เป็น …. และถ้าเราพบหุ้นแบบนี้ การซื้อลงทุนก็อาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาล

ธุรกิจจำนวนมากนั้นผลิตสินค้าที่สำคัญมากและเป็นสินค้าที่จำเป็นอย่าง ยิ่งยวดต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้ามองในแง่บริษัทแล้ว ความสำคัญก็อาจจะมีไม่มาก เพราะถ้าบริษัทเป็นอะไรไป บริษัทหรือโรงกลั่นอื่นก็ยังผลิตอยู่สามารถทดแทนได้ และแม้ว่าจะทดแทนได้ไม่หมด เราก็ยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ดังนั้น ศักดิ์ศรีของการเป็นโรงกลั่นในแง่ของหุ้นก็มีไม่มากนัก

กิจการบางอย่าง เช่น สาธารณูปโภค นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้คนทั้งประเทศและไม่มีบริษัทอื่นมาแทนได้ถ้า บริษัทเป็นอะไรไป แต่กิจการเหล่านั้นก็มักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้ตั้งราคาสูง บางกิจการถูกบังคับให้ตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ แบบนี้ ศักดิ์ศรีก็มีแต่แปลงให้เป็นราคาหุ้นไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

ตัวอย่างของกิจการในเมืองไทยที่ผมเห็นว่าสามารถนำเรื่องของศักดิ์ศรีมา พูดได้และก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คือ หุ้นการบินไทย ย้อนหลังไปเพียงไม่เกิน 2-3 ปีในช่วงที่หุ้นการบินไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 7-8 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงนั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทของการบินไทยอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาเครื่องบินโบอิง 747 เพียง 2-3 ลำ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้ว ศักดิ์ศรีของการบินไทยคือการเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนเกือบครึ่งหนึ่งที่ ต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยเครื่องบินต้องใช้บริการ นอกจากนั้นการบินไทยยังถือหุ้นใหญ่โดยรัฐที่มี “ศักดิ์ศรี” ที่จะต้องรักษาบริษัทไว้ ดังนั้น ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นการบินไทยในช่วงนั้นจึงดู “ไม่สมศักดิ์ศรี” ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุนหรือฐานะการเงินอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น หุ้นการบินไทยปรับตัวขึ้นมหาศาลสมกับฐานะหรือศักดิ์ศรีของบริษัทคือกว่าแสน ล้านบาท

ลองมาดูบริษัทเอกชนธรรมดาที่สถานะหรือตำแหน่งในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจ “ยิ่งใหญ่” แต่ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวแรกก็คือ หุ้น CPF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ฐานะของบริษัทในสังคมการค้าและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารนั้นเป็นที่ประจักษ์มา นาน ยอดขายของบริษัทก็สูงเป็นแสนล้านบาทและยังเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปี มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพียงแค่ 2-3 หมื่นล้านถ้าผมจำไม่ผิด และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมารับกับศักดิ์ศรีของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่ สุดของไทยและอาจจะเติบโตยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาท

หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งบังเอิญอยู่ในกลุ่มของ CP เช่นเดียวกันก็คือ หุ้น CPALL ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปีเช่นเดียวกัน ศักดิ์ศรีของบริษัทก็คือ เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาดสะดวกซื้อที่คนไทยนับวันจะใช้บริการมากขึ้นและใน ที่สุดก็น่าจะทั้งประเทศ สำหรับหลายๆ คนแล้ว การขาดร้าน 7-11 นั้นก็จะเป็นการ “ยุ่งยาก” หรือ “ไม่สะดวก” เอามากๆ แต่ในขณะนั้น หุ้นของ CPALL ซึ่งโดยศักยภาพนั้นน่าจะมียอดขายเป็นแสนล้านบาทขึ้นไปกลับมี Market Cap. เพียง 3-4 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีหนี้เงินกู้เลย เป็นไปได้อย่างไรที่กิจการที่คนทั้งประเทศต้องใช้บริการเกือบทุกวันโดยที่หา คู่แข่งแทบไม่ได้จะมีมูลค่าเพียงเท่านั้น และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาทสมกับศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็น

การดูว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้นสมกับศักดิ์ศรีของกิจการหรือไม่ เป็นศิลปะอยู่มากทีเดียว เนื่องจากตัวเลขผลการดำเนินงานในขณะที่วิเคราะห์นั้นใช้ไม่ได้ หลายครั้งต้องใช้จินตนาการว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปี 10 ปีหรือยาวกว่านั้น การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าทำถูก ผลตอบแทนก็มหาศาล
แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


ความคาดหวังเฟ้อ โดย ดร.นิเวศน์


เวลาที่เงินในท้อง ตลาด ซึ่งอยู่ในกระเป๋าของคนมีมากเกินไป เงินนั้นก็จะถูกนำไปไล่ซื้อสินค้าทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นมา ผลก็คือ สินค้าที่ได้ก็เท่าเดิม ถึงแม้เราจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้เราเรียกว่า "เงินเฟ้อ" ในภาษาไทย เรายังมีคำว่า "เฟ้อ" ใช้ในหลายๆ โอกาส เช่น "ท้องเฟ้อ" นี่เป็นอาการที่ท้องปูดออกมาเพราะข้างในมีลมเต็ม เป็นอาการที่ท้องโตขึ้นเพราะลมไม่ใช่เนื้อหนัง ไม่ช้าก็จะยุบลง

อาการ "เฟ้อ" มักไม่ใช่สิ่งที่ดี สิ่งที่เฟ้อนั้น ดูเหมือนจะโตขึ้นแต่ไม่มีเนื้อหา บางครั้งก็มีอันตราย การเฟ้ออย่างหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงที่หุ้นบูมเป็นกระทิงในช่วงนี้ก็คือ "ความคาดหวังเฟ้อ" และคนที่มีความคาดหวังเฟ้อมากเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะเป็น Value Investor จำนวนไม่น้อย ที่ควรจะเป็นคนที่ระมัดระวังตัวมากกว่าคนอื่นและไม่เล็งผลเลิศ ในสถานการณ์ที่น่าจะเป็น "ปีทองของ VI" เช่นในปีนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่ VI จะไม่ "ฝันสุดขอบฟ้า"

ความคาดหวังที่เฟ้อมากที่สุดที่ผมเห็นก็คือ ฝันว่าจะสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนต่อปีสูงมากกว่าที่น่าจะเป็นไปได้ นี่ก็เป็นความหวังหลังจากที่เขาสามารถสร้างผลตอบแทน บางคนเป็นร้อย หรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในเวลาแค่สองปีที่ผ่านมานี้

การลงทุนนั้นดูเหมือนจะ "ง่ายมาก" ซื้อตัวไหน ตัวนั้นก็มักจะวิ่งกันเป็นสิบ หรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น ดังนั้น การตั้งความหวังของ VI ในเรื่องของผลตอบแทนก็คือ อย่างน้อยก็ต้องได้ 15-20% ต่อปีในระยะยาว คนที่ทำผลตอบแทนได้ดีมากก็อาจจะตั้งไว้ที่ 20-25% บางคนก็อาจจะสูงถึง 30-40% ดูเหมือนว่าการมีเงินหลายร้อยหรือพันล้านบาทเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ในเรื่องนี้ผมอยากบอกว่า ผลตอบแทนระยะยาวทบต้นเป็นเวลาเช่น 30 ปี เป็นเรื่องยากที่จะทำได้สูงมาก จริงอยู่ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีและเป็นช่วงทองของหุ้นแนว "VI" การทำผลตอบแทนที่ดีมากๆ ขนาดได้กำไรเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้โดยเฉพาะที่เรายังมีพอร์ตไม่ใหญ่มาก แต่การที่จะทำผลตอบแทนที่ดีมากต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพอร์ตเราใหญ่ขึ้นและเรากล้าเสี่ยงน้อยลง

เหนือสิ่งอื่นใด ตลาดหุ้นไม่ได้ดีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นช้าๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 7% โดยมีปันผลอีกประมาณ 3% รวมแล้วก็คือ 10% ต่อปี สถิติของเซียน หุ้น "ระดับโลก" ในระยะยาว เขามักจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดไม่เกิน 10% ต่อปี นี่คือฝีมือระดับ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ถ้าเป็นระดับรองลงมาอย่าง จอห์น เนฟฟ์ ก็อาจจะประมาณ 3-4% ต่อปี นั่นแปลว่า ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 15% ต่อปีในระยะยาวถึง 30 ปี สถิติของเราก็ไม่แพ้ จอห์น เนฟฟ์ และถ้าเราทำได้ 20% ต่อปี เราก็ดีเกือบเท่าบัฟเฟตต์ และถ้าได้ 25% ต่อปี โลกนี้ก็เป็นของเรา เฟ้อ ไหมครับ?

ความคาดหวังเฟ้ออีกเรื่องหนึ่งก็ คือ การคาดหวังว่าบริษัทที่เราเลือกลงทุนเป็น "หุ้นโตเร็ว" จะเติบโตสูงมาก เช่น รายได้โตได้ปีละ 25-30% ในระยะยาว ขณะที่ผลกำไรที่ทำได้จะเติบโตตาม หรือโตมากกว่า เพราะบริษัทอาจจะมี Economy Of Scale ดีขึ้น ความคาดหวังนี้ มักจะมาจากการที่ได้เห็นการเติบโตของบริษัทในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาที่น่าประทับใจมาก ประกอบกับ Model หรือ รูปแบบการประกอบการของบริษัทนั้นดู "โดดเด่น" กว่าคู่แข่งและไม่เห็นว่าใครจะเข้ามาแข่งขันได้อย่างน้อยในช่วงเวลานี้

ดังนั้น เขาจะเข้าซื้อหุ้นโดยหวังว่า หุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น อาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาไม่นาน พอเข้าซื้อแล้ว "มหัศจรรย์" ก็เกิดขึ้น หุ้นอาจจะขึ้นไปสองร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เขาคาดหวังไว้ถูกต้องหมด จริงๆ มากกว่าที่หวัง ความสำเร็จนี้ ทำให้เขาเชื่อว่า หุ้นที่โตเร็วขนาดปีละ 25-30% ในระยะยาวมีจริงและมีไม่น้อย การซื้อหุ้นเหล่านี้ในช่วงที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมากคือหนทางแห่งความ สำเร็จ

แต่บริษัทที่โตระยะยาวเช่น 20-30 ปี ในอัตรา 25-30% ต่อปีนั้น มีจริงไหม? ผมเองไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งในเรื่องนี้ แต่จากการติดตามบริษัทที่เติบโตจริงๆ ไม่ใช่บริษัทที่โตชั่วคราว 2-3 ปี แล้วก็กลับมาที่เดิมนั้นพบว่า บริษัทที่สามารถเติบโตได้ถึงปีละ 10% ก็ค่อนข้างดีแล้ว การเติบโตปีละ 15% แบบทบต้นนั้น ต้องถือว่าเป็น Super Growth หรือเป็นบริษัทที่เติบโตสุดๆ ถ้ามองระดับอินเตอร์ก็คงจะเป็นระดับบริษัท Exxon ผู้ผลิตน้ำมันระดับต้นๆ ของโลก หรือถ้ามองในเมืองไทยก็น่าจะประมาณกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยที่โตเร็วต่อเนื่องมาก ว่า 30 ปี

ส่วนการโตปีละ 20% ผมคิดว่าน่าจะหาได้ยากมาก ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนมักเข้าใจผิด ถึงการเจริญเติบโตก็คือ เขามักจะมองระยะสั้นแล้วตีความไปว่าระยะยาว ก็คงเป็นอย่างนั้น ในช่วงที่บริษัทขยายตัวมากโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังร้อนแรงในปีนี้ จึงทำให้หลายคนมองว่าหุ้นบางตัวเป็น "หุ้นโตเร็ว" และโตได้ถึง 25-30% ต่อปี ซึ่งถ้าดูจากสถิติแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นการคาดหวังเฟ้อ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การเติบโตของธุรกิจ บางทีก็ทำให้เร็วกว่าปกติมากๆ ได้ ทางหนึ่งก็คือ ซื้อกิจการของคนอื่น แบบนี้บริษัทก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่อาจจะสูงจนทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัท ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว อีกทางหนึ่งก็คือ การลงทุนขยายตัวในธุรกิจผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีผลกำไรในระยะยาวต่ำหรือ เท่ากับผลตอบแทนของเงินลงทุนปกติ การทำแบบนี้ก็อาจจะทำให้บริษัทสามารถโตเร็วกว่าปกติได้ เพราะสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากนั้น มีตลาดไม่จำกัดเพราะเป็นตลาดโลก ดังนั้น บริษัทจะโตเท่าไรก็ได้ แต่โตแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะต้องลงทุนสร้างโรงงาน กำไรที่เพิ่มขึ้นก็คือผลตอบแทนปกติของเงินทุนที่ลงไป ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเงินก็ไม่มี

ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ความเฟ้อของความคาดหวังที่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ระยะสั้นในระยะนี้ เศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็ว และมาจากฐานที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลจากปี 2008 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในสหรัฐ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดูดีมากและมีแนวโน้มที่จะดูดีต่อไป

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมา "ยืนยัน" ความเชื่อหรือความคาดหวังนั้นส่งผลให้ความคาดหวังในรอบต่อไป "เฟ้อ" เขาคิดว่า อนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปอีกนาน แต่สถิติที่ผ่านมายาวนานบอกว่าสิ่งที่หวังไว้ "ไม่น่าเป็นไปได้" อาจจะมีคำถามตามมาว่า มีอะไรเสียหายถ้าจะ "ฝันให้ไกล" เพราะถ้าฝันให้ไกลแล้ว แม้ไปได้แค่ครึ่งทาง ก็ยังดีกว่าตั้งเป้าหมายไว้ต่ำๆ คำตอบของผม ก็คือ การฝันไกลเกินไปอาจจะทำให้เราพยายาม "เร่ง" ผลตอบแทนเกินตัว เช่น การใช้มาร์จิน การไม่กระจายความเสี่ยงเพียงพอ และนั่นคืออันตราย

การลงทุน ก็เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน การวิ่งเร็วมากๆ ไม่ใช่หนทางที่จะชนะ เพราะฉะนั้น อย่าตั้งความคาดหวังสูงเกิน และไม่ต้องดูว่าใครจะทำผลตอบแทนเท่าไร กำหนดเส้นทางของตนเองที่เหมาะสมที่สุดแล้วเดินตามทางนั้น ไม่ต้องรีบ

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


เจ้ามือป๊อกเด้ง โดย ดร.นิเวศน์


เมื่อผมเข้ามาอยู่ในแวดวงของการลงทุนเต็มตัว บ่อยครั้งผมคิดถึงประสบการณ์เก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่น เกม "พนัน" ที่ผมเคยทำมา ส่วนใหญ่แล้ว เกม "พนัน" ที่ว่า มักจะเป็นเกมเดิมพันของ "ชีวิต" มากกว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง

ในบางครั้งผมก็เล่น "พนัน" เป็นเงินบ้าง และทุกครั้งก็เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน หนึ่งในการเล่นพนันที่ผมเคยทำ ก็คือ การเป็น "เจ้ามือป๊อกเด้ง" และต่อไปนี้ คือ ประสบการณ์ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้น

ในการเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งนั้น สิ่งที่ผมพบ ก็คือ ผมอาจจะได้เปรียบลูกมือเล็กน้อยในแง่ที่ผมสามารถเลือกที่จะ "จับ" หรือเปิดไพ่ของลูกมือก่อนโดยเฉพาะคนที่ "จั่ว" ไพ่ไปหลายใบและมีโอกาส "ตาย" ซึ่งจะทำให้ผมชนะหรือ "กิน" คนนั้นก่อน

นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผมมักจะเล่นได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในช่วงเวลาหนึ่งติดต่อกันจนเงินบนหน้าตักผมกองท่วม อาจจะเป็นเพราะผมมีฝีมือ หรือที่น่าจะเป็นมากกว่า ก็คือ "ดวง" กำลังขึ้น แต่หลังจากนั้น "ดวง" ผมก็มักจะเริ่มตก ผมเริ่มแพ้หรือเสียเงินมากขึ้นและมากขึ้น จนเงินกองโตนั้นลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบหมดซึ่งถ้าเวลายังเหลือ

ผมก็จะต้อง "ควักเค้า" หรือเอาเงินจากกระเป๋าออกมาเพิ่ม และแล้วโชคก็มักจะกลับมา ผมเริ่มได้กำไรและพอร์ต...อุ๊บ... กองเงินบนหน้าตักก็เติบโตขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็จะลดลงไปอีกในเวลาต่อมา เป็นวงจรหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีสอง ซึ่งได้เวลานอนและเป็นเวลาที่ต้องเลิกเล่น นั่นก็จะเป็นเวลาตัดสินว่าผมจะได้หรือจะเสียเงินจากการเล่นพนันในครั้งนั้น

การเล่นหุ้นหรือการลงทุน โดยเฉพาะคนที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น และ "กล้าได้กล้าเสีย" บางทีผมก็คิดว่าอาจจะมีอะไรคล้ายๆ กับการเล่นเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งอยู่เหมือนกันในแง่ของผลตอบแทน หรือเม็ดเงินที่ได้หรือเสีย ลองมาดูตัวอย่างของนักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลายๆ คน

คนแรก ก็คือ Jesse Livermore "นักเก็งกำไรบันลือโลก" ลิเวอร์มอร์นั้น เป็นนักเก็งกำไรโดยเฉพาะในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยการใช้มาร์จิน หรือเงินกู้มาเก็งกำไรมหาศาล วิธีการลงทุนนั้น แน่นอน คงเป็น การ "ซื้อนำ" ไล่ราคา รวมถึงการปล่อยข่าวต่างๆ

ในแนวนี้ก็คงคล้ายๆ กับการทำตัวเป็น "เจ้ามือ" ป๊อกเด้ง ซึ่งมีความได้เปรียบคน ที่ "ซื้อตาม" หรือลูกมืออยู่ไม่น้อย ผลการเล่นหุ้นหรือเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์นั้น คล้ายคลึงกับเจ้ามือป๊อกเด้งมากนั่น ก็คือ เขารวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็น "เซเลบ" ที่คนรู้จักกล่าวขวัญกันไปทั่ว และต่อมาเขาก็เจ๊งจนล้มละลาย แต่ด้วยการที่ยัง มี "เครดิต" หรือ ยัง "เหลือเค้า" อยู่บ้าง เขาจึงสามารถทำกำไรกลับมาได้อีก แต่แล้วเขาก็เจ๊งอีก นับได้ถึงสามครั้งที่เขาล้มละลายและกลับมาใหม่เหมือนเจ้ามือป๊อกเด้งเหมือนกัน โชคไม่ดีที่ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาเลิกเพราะฆ่าตัวตาย พอร์ตของเขาเหลือศูนย์ดอลลาร์

คนที่สอง ผมยกให้ Julian Robertson ตำนานผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ อดีตผู้บริหารกองทุน Tiger Fund กองทุนเฮดจ์ฟันด์กองแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยเทคนิคการลงทุนที่มาใน แนว "VI" อยู่เหมือนกันแม้ว่าหลายคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่

ผลตอบแทนที่โดดเด่นทำให้พอร์ตของเขาเติบโตมหาศาล จากปีเริ่มต้นในปี 1980 ที่พอร์ตแค่ 8 ล้านดอลลาร์กลายเป็น 7.2 พันล้านในปี 1996 และกลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยกองทุนถึงกว่า 22 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1998

แต่พอถึงปี 2000 "โชค" ก็ไม่เข้าข้างเขา กองทุน Tiger มีผลงานย่ำแย่มาก ผลงานพ่ายแพ้ดัชนี S&P ย่อยยับและผู้ถือหน่วยลงทุนพากันถอนทุนทำให้เขาต้องประกาศปิดกองทุน สาเหตุหนึ่งก็คือการที่กองทุนไม่ได้ถือหุ้นไฮเทคที่กำลังร้อนแรง และราคาวิ่งกันมายาวนานเลย

ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ การที่ Tiger Fund ถือหุ้นบริษัท US Airway อยู่ในพอร์ตมหาศาล ซึ่งราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและเขาปฏิเสธที่จะขายมัน ในที่สุด US Airway ก็ล้มละลายทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหายยับเยิน

ยังดีที่ Robertson ยังเหลือเงินส่วนตัวอยู่บ้าง ต่อมาเขาก็ใช้เงินนั้นช่วยเป็น "เงินเริ่มต้น" เพื่อก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ใหม่ๆ อีกหลายสิบกอง

นอกจากนั้น ลูกน้องหลายคนที่เคยทำงานใน Tiger Fund ก็ออกไปตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหม่ๆ อีกหลายกองที่เรียกกันว่า Tiger Cubs หรือกองทุน "ลูกเสือ" ส่วนตัวจูเลียนเองก็คงจะแก่เกินที่จะเล่นเองแล้วเขาจึงหันมาทำเรื่องการกุศลแทน

คนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ Bill Miller ผู้บริหารกองทุน Legg Mason Value Trust บิล มิลเลอร์ เคยเป็นสุดยอดนักบริหารกองทุนรวม ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด ในระยะเวลาที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ในระยะเวลา 15 ปี จากปี 1991-2005 กองทุนของเขาทำผลตอบแทนชนะดัชนี S&P ได้ทุกปีติดต่อกัน กองทุนเติบโตขึ้นจาก 750 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 เป็น 20 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006

เขาบอกว่าตนเองเป็น Value Investor ทั้งๆ ที่พอร์ตลงทุนของเขาเล่นหุ้นไฮเทคจำนวนมาก ที่มีราคา หรือค่า PE สูงลิ่ว ในตอนนั้นเขาเป็น "ซูเปอร์สตาร์" แต่แล้ว "โชค" ก็ไม่เข้าข้างเขา ตั้งแต่ปี 2006 ผลตอบแทนของเขาก็ตกต่ำลง และต่ำกว่าดัชนี S&P ในปี 2008 จากต้นปีถึงเดือน มิ.ย. พอร์ตเขาขาดทุนถึง 28%

ในขณะที่ดัชนีลบแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้านับย้อนหลังไปสิบปี สถิติของเขาต่ำกว่าดัชนี S&P และแม้ว่าจะดูย้อนหลังไปตั้งแต่ตั้งกองทุน ผลตอบแทนที่เคยยอดเยี่ยมนั้น ก็กลายเป็นธรรมดา คือ ดีกว่าดัชนี S&P เพียงนิดเดียว เทียบกับ เจ้ามือป๊อกเด้ง นี่ก็คือ ช่วงที่เงินบนหน้าตักกองโตลดฮวบลงไปเกือบหมด เราคงต้องดูกันต่อไปว่าเงิน "บนหน้าตัก" จะโตขึ้นอีกไหมสำหรับ บิล มิลเลอร์

อาการแบบเจ้ามือป๊อกเด้ง หรือจะเรียกให้เท่ว่า "ป๊อกเด้งซินโดรม" นี้ ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่น้อยถ้าเวลาของการเล่น หรือการลงทุนยาวพอ มันเกิดขึ้นได้กับนักลงทุนธรรมดาเช่นเดียวกับ "เซียน" มันเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นนักเก็งกำไรเช่นเดียวกับคนที่เรียกตัวเองว่า Value Investor

ดังนั้น เราต้องไม่ประมาทและมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป สถานการณ์ตลาดหุ้นที่เป็นกระทิงที่ยาวนาน อาจทำให้เราฮึกเหิมและโลภเกินไปจนลืมไปว่า "หายนะ" นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคิด เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ถ้าเราไม่แน่ใจ การ "เก็บเงินเข้ากระเป๋าบ้างในยามที่เงินกำลังกองเต็มหน้าตัก" ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวนัก

แหล่่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


หุ้นตัวเล็ก VS หุ้นตัวใหญ่ โดย ดร.นิเวศน์


Value Investor จำนวนมากหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่ ชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก

เหตุผลก็คือ พวกเขาเชื่อว่าหุ้นตัวเล็กนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้ หลักฐานที่ปรากฏในตลาดหุ้นก็ “ชัดเจน” หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางตัวเป็นสิบเท่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1- 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดของหุ้น หรือ Market Cap. ไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท หลายตัวอาจจะไม่เกินพันล้านบาทด้วยซ้ำ หุ้นตัวเล็กนั้นมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรเล่นหุ้น รายวัน แต่เป็นขวัญใจของ VI ด้วย ว่าที่จริง VI ระดับ “เซียน” ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วงเร็วๆ นี้ต่างก็รวยมาด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นข้อสรุปได้เลยว่า ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในหุ้นสูงมากโดยเฉพาะเมื่อพอร์ตของคุณยังเล็กอยู่ นั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ลองมาดูกันว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

ประเด็นแรก มองกันที่พื้นฐาน หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะมีโอกาสเติบโตสูงในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น มักจะเติบโตเต็มที่หรือเติบโตไปมากแล้ว การที่หุ้นตัวใหญ่จะมียอดขายและกำไรเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลา 3-4 ปี นั้นน่าจะทำได้ยากมาก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้น บางบริษัทสามารถเติบโตเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ภายในระยะเวลาเดียวกัน แนวความคิดก็คือ หุ้นตัวใหญ่นั้นมักจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมักอยู่ในตลาดที่อิ่มตัวหรือ ใกล้จะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะโตต่อไปก็จะน้อยลงในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจที่ ตลาดกำลังโตหรือไม่ก็ยังเป็นกิจการที่เล็กและมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย ดังนั้น จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในเรื่องของตลาดที่อิ่มตัวนั้น บ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าการเติบโตระดับที่เกินปีละ 15-20% ในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่การโตปีละ 7-10% ก็น่าจะยังทำได้อยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มจะเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คือ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่ม “Go Inter” นั่นคือเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และถ้าหากว่าทำสำเร็จ ข้อจำกัดเรื่องตลาดอิ่มตัวก็จะหมดไป ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังมีโอกาสโตไปได้เรื่อยๆ ในระดับที่น่าประทับใจซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นยังสูงขึ้นได้เรื่อยๆ นี่ทำให้ผมนึกถึงหุ้นโค้กที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุนเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ในช่วงนั้นถ้าไม่คิดถึงตลาดต่างประเทศแล้วโค้กก็น่าจะเป็นหุ้นที่ “อิ่มตัว” เพราะคนอเมริกันทุกคนดื่มโค้กกันแทบจะแทนน้ำ แต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อจีนและประเทศกำลังพัฒนาเปิด กิจการโค้กก็โตขึ้นจากการขยายกิจการไปต่างประเทศและทำให้หุ้นโค้กปรับตัว ขึ้นมหาศาล

แน่นอนว่าหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงนั้น สามารถเติบโตได้มากกว่าหุ้นตัวใหญ่ แต่ความเสี่ยงของหุ้นตัวเล็กก็สูงกว่ามาก ถ้ามองจากสถิติโดยรวม บางทีก็อาจจะพบว่าหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ไม่ได้โตไปไหนเลย เคยเล็กอย่างไรก็เล็กอย่างนั้น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่โตขึ้นนั้น บางทีก็โตแบบไม่มีคุณภาพ นั่นคือ โตโดยที่กำไรไม่เพิ่มหรือโตโดยที่ต้องลงทุนไปมากจนแทบไม่คุ้มที่จะโต อาจจะมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่โตจริงและโตมากซึ่งทำให้เกิดภาพว่าหุ้นตัว เล็กโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในแง่ของธุรกิจนั้น หุ้นตัวเล็กก็น่าจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ดังนั้น สำหรับ VI หรือนักลงทุนที่ไม่ใช่ “เซียน” แล้ว การเล่นหุ้นตัวเล็กก็อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า ถ้าจะพูดไป การลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่ยังเติบโตดีในระดับ 15% ต่อปีนั้น ผมคิดว่าดีกว่าเล่นหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสโต 30% แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

ประเด็นที่สอง คือเรื่องที่หุ้นตัวเล็กนั้น ไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นติดตามหรือวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น หุ้นตัวเล็กส่วนใหญ่จึงถูก “มองข้าม” หุ้นหลายตัวอาจจะมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “Under Valued” สุดๆ จึงเป็นโอกาสที่ VI จะสามารถเข้าไปซื้อและทำกำไรได้มหาศาลหลังจากที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะ ตระหนักถึงมูลค่าของมันและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นบูม มีการเก็งกำไรสูงอย่างในปัจจุบันนั้น หุ้นตัวเล็กกลับกลายเป็นหุ้นยอดนิยม ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ เป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่วิเคราะห์เลย แต่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว VI ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและมีความสามารถสูงไม่แพ้นักวิเคราะห์ก็หันมาสนใจ หุ้นเล็กๆ เหล่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าหุ้นตัวเล็กนั้นเป็นหุ้นที่ถูกมองข้ามนั้น ในอดีตอาจจะเป็นจริง แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีน้อยลงไปมาก ว่าที่จริงถ้าดูกันที่ค่า PE ซึ่งบ่งบอกถึงความถูกความแพงของหุ้นโดยรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กไม่ได้ถูกกว่าหุ้นตัวใหญ่เลย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นตัวเล็กนั้น ในขณะนี้ไม่ได้ถูก “มองข้าม” อีกต่อไป และดังนั้น หุ้นตัวเล็กก็ไม่ได้ Under Valued ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อยน่าจะ Over Valued ด้วยซ้ำ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้น มีโอกาสที่จะถูก “แจ๊คพอต” คืออาจจะทำกำไรได้หลายๆ “เด้ง” หรือหลายๆ เท่าหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น บางทีไม่ถึงปี ในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็มักจะไม่สามารถทำกำไรแบบนั้นได้ ถ้าจะโตระดับนั้นได้ก็มักจะต้องอาศัยเวลาหลายๆ ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทน “ระดับเทพ” ได้ ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ที่มีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปในเส้นทางไหน นั่นก็คือ จะเติบโตอย่างปลอดภัยและไปช้ากว่า หรือจะโตอย่างรวดเร็วแต่เสี่ยงที่จะล้มเหลวเมื่อหุ้นที่อาจจะโตหลายเด้งนั้น กลายเป็นลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงมากในระยะยาวไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนดีผิดปกติในปีใดปีหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวาของผลตอบแทนที่ดีปีแล้วปีเล่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองนั้น ไม่เคยมีปีใดที่เขาสามารถทำผลตอบแทนของพอร์ตได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่สถิติระยะยาวของเขาไม่มีคนเทียบได้ และเขาแทบจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็กเลย

ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบหุ้นตัวเล็ก ว่าที่จริงในช่วงแรกๆ ของการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และทุกวันนี้ผมก็คิดว่าโอกาสในหุ้นตัวเล็กก็ยังดีกว่าหุ้นตัวใหญ่แม้ว่าหุ้น ตัวเล็กสำหรับผมในปัจจุบันอาจจะเป็น “หุ้นขนาดกลาง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลในการลงทุนในหุ้นตัวเล็กหลายๆ เรื่องนั้นในปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยลงไป พูดง่ายๆ หุ้นตัวเล็กไม่ใช่ขวัญใจของผมและผมไม่เน้นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่แค่เพราะว่าหุ้นตัวเล็กหาซื้อหุ้นยากไม่มีสภาพคล่อง แต่เป็นเพราะว่าหุ้นตัวเล็กนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีความเข้มแข็งหรือความโดดเด่นพอในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำให้การลงทุนระยะยาวไม่สามารถทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงมักจะสูงกว่าที่ผมอยากจะรับ

แหล่่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.