เหล็กละมุน มีเพียงเสียงเคยคุ้นที่เลือนลาง
Group Blog
 
All blogs
 

เศรษฐกิจพอเพียงในทางวิศวกรรม



เมื่อราวกลางปี 2549 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมประชุมวิชาการด้านเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ (Solid Oxide Fuel Cells; SOFCs) ในยุโรป (the 7th European SOFC Forum) ณ เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดเส้นทางรถยนต์ที่เดินทางข้ามพรมแดนจากฝรั่งเศสสู่สวิส ผู้เขียนได้มีโอกาสชื่นชมทิวทัศน์และความสวยงามอย่างเรียบง่ายของประเทศเล็ก ๆ นี้ เมื่อรถยนต์แล่นผ่านเมืองโลซานน์ ผู้เขียนพลันเกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อครั้งเจ้าชายน้อยแห่งสยามประเทศทรงพำนักอยู่ที่นี่เมื่อราวหกสิบถึงเจ็ดสิบกว่าปีก่อนนั้น พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่สักเพียงใด และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้ส่งผลต่อกำเนิดแนวพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อพระองค์ทรงกลายเป็น “ในหลวง” ของพวกเราในกาลต่อมาหรือไม่ คำถามนี้ถูกขับเน้นยิ่งขึ้นเมื่อผู้เขียนรับฟังการบรรยายว่าด้วยการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์น [1]


(1)
แรกจินตนาการ ผู้เขียนคาดเดาว่าระบบผลิตพลังงานที่จะกล่าวถึงคงเป็นระบบล้ำสมัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หากแต่วิธีคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการพลังงานหาได้อยู่ที่การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นประการแรกไม่ หากอยู่ที่ว่า ไม่ว่าเราจะได้พลังงานมาจากแหล่งใดหรือโดยวิธีใด สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือเราต้องมีสำนึกและรู้จักที่จะใช้มันอย่างประหยัดและคุ้มค่า การบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์นในลำดับแรกคือการรณรงค์เพื่อให้เกิดใช้พลังงานในที่พักให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาในเบื้องต้นที่สุดหาใช่เทคโนโลยีที่ยากเย็นสูงส่ง หากแต่คือเทคโนโลยีอย่างง่ายที่สามารถทำได้ทันทีในเวลาอันรวดเร็ว นั่นคือการปรับปรุง (renovate) ที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้ว และการออกแบบที่อยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ให้มีลักษณะประหยัดพลังงาน และบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเบื้องต้นดังกล่าว ผู้บรรยายก็ได้กล่าวต่อถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่ต้องการการวิจัยในเชิงเทคนิคมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้มิได้แฝงความเกรี้ยวกราดหรือแปลกแยกกับสิ่งแวดล้อม คำขวัญสั้น ๆ ที่สะท้อนถึงวิธีคิดในการพัฒนาระบบผลิตพลังงานทางเลือกคือ “Working in close harmony with nature – new opportunities for rural areas” ผู้บรรยายได้กล่าวถึงการผลิตพลังงานจากไม้และสายลมซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมในเขตลูเซิร์น อีกทั้งได้ให้ภาพว่าในเขตลูเซิร์น ประชากรสุกรและวัวรวมกันแล้วมากกว่าประชากรมนุษย์เสียอีก นั่นจึงเป็นการสมเหตุสมผลที่จะพัฒนาพลังงานชีวภาพจากของเสียของสัตว์เหล่านั้น ในการพัฒนาพลังงานชีวภาพนั้น มีรายงานวิจัยที่น่าสนใจฉบับหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ไม่นานนี้ [2] ในงานดังกล่าว นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส ณ เมืองโลซานน์ (EPFL)ได้เสนอความเป็นไปได้ในการสร้างระบบผลิตกำลังงานและความร้อนร่วมขนาดเล็กโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (SOFC-biogas combined small heat and power system) จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นเชื้อเพลิง งานดังกล่าวรายงานว่า ก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากคอกวัวที่ให้อัตราการผลิตก๊าซ 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนได้อย่างพอเพียงสำหรับพื้นที่ทั้งหมดในอาณาบริเวณนั้น แม้งานดังกล่าวจะมิได้กล่าวอย่างสมบูรณ์ถึงต้นทุนการผลิตและอายุการใช้งานของวัสดุที่ใช้ทำเซลล์เชื้อเพลิง แต่งานวิจัยนี้ก็นับเป็นจุดตั้งต้นและกรณีสาธิตที่สวยงามยิ่งในการพัฒนาระบบผลิตพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยเฉพาะสำหรับชุมชนเกษตรกรรมเช่นประเทศไทย


(2)
ครับ บทความนี้มิได้หมายมุ่งอธิบายวิธีบริหารจัดการพลังงาน หากแต่ต้องการยกตัวอย่างดังกล่าวขึ้นเป็นกรณีศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สรุปแก่นความของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [3] ไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [4] ได้สรุปแก่นความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแผนภาพที่กระชับดังแสดงในรูปที่ 1



เราอาจเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เมื่อย้อนกลับไปถึงวิธีคิดในการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์น เราอาจเห็นได้ว่าการเริ่มต้นแก้ปัญหาพลังงานจากการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมและการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ให้ช่วยประหยัดพลังงานนั้นเป็นวิธีคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณและความมีเหตุผล ในเบื้องต้นที่สุด เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ไกลตัว เราเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา เราเริ่มทำจากสิ่งที่ทำได้ทันทีหรือในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้น เมื่อมองไปข้างหน้าและเห็นถึงภัยคุกคาม (threat) จากภายนอก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองทั้งนี้บนพื้นฐานของความมีเหตุผล ในกรณีนโยบายพลังงาน สำนักงานพลังงานนานาชาติ (International Energy Agent; IEA) ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Corporation and Development; OECD) ได้คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันจากฟอสซิลแบบทั่วไปจะขึ้นถึงขีดสูงสุดในช่วงปี ค.ศ. 2010 ถึง 2020 [5] จากนั้นกำลังการผลิตดังกล่าวจะลดต่ำลงจนหมดยุคน้ำมันจากฟอสซิล ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันด้านความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ชุมชนหรือประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด จากเหตุผลที่เขตลูเซิร์นมีชุมชนเกษตรกรรมอยู่มากและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าและสายลม นโยบายพัฒนาและใช้พลังงานทางเลือกจึงมุ่งไปที่การพัฒนาพลังงานชีวภาพ พลังงานจากไม้ และจากลม

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งเราจะเห็นถึงความสอดประสานเป็นแนวเดียวกันของวิธีคิดในการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์นกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อถอยออกมามองภาพในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่นโยบายสาธารณะ ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า วิธีคิดแบบพอเพียงนั้นซึมซาบเข้าไปเป็นธรรมชาติของผู้คนในทวีปยุโรปในหลาย ๆ แห่งเท่าที่เคยได้สัมผัส กรณีตัวอย่างแรก คือประสบการณ์เมื่อครั้งที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ในเมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส เมืองดังกล่าวเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขาบริเวณรอยต่อฝรั่งเศส สวิส และอิตาลี ในครั้งนั้น ผู้เขียนชอบที่จะเดินไปยังห้องปฏิบัติการท่ามกลางไพรพฤกษ์อันมีฉากหลังเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ สายลมจากเทือกเขาแอลป์ยังคงบริสุทธิ์สะอาดปานนั้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิถีชีวิตที่พอเพียงและแนบชิดกับธรรมชาติของผู้คนเมืองเกรอนอบล์ ผู้เขียนกลับพบว่า นักวิจัยจำนวนมากในห้องปฏิบัติการต่างกำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีไปอย่างก้าวหน้ายิ่ง กรณีใกล้ตัวของผู้เขียน อาจได้แก่ งานวิจัยในกลุ่มวิจัยเซลล์เชื้อเพลิง ณ สำนักงานพลังงานปรมาณู ศูนย์เมืองเกรอนอบล์ (Atomic Energy Commission, Centre of Grenoble) กลุ่มวิจัยดังกล่าวเพิ่งเสนอวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพสะอาดเป็นเชื้อเพลิง โดยที่กระบวนการดังกล่าวสามารถให้สมรรถนะในการผลิตกำลังงานไฟฟ้าเทียบได้กับการใช้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิง [6] แม้ในทางปฏิบัติ สารมลทินในก๊าซชีวภาพจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสมรรถนะของวัสดุที่ใช้ทำเซลล์เชื้อเพลิง แต่งานดังกล่าวก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามยิ่งในการพยายามสร้างระบบผลิตพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส ณ เมืองโลซานน์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกกรณีตัวอย่างหนึ่ง คือประสบการณ์เมื่อครั้งผู้เขียนไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอาเค่น (RWTH Aachen) ประเทศเยอรมนี ผู้เขียนยังคงประทับใจว่า ในโรงปฏิบัติการที่ดูเหมือนจะอยู่ในป่า หากแต่ผู้คนในนั้นกลับกำลังคิดค้นพัฒนาวิธีขึ้นรูปวัสดุเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนของยานอวกาศ

ครับ หากย้อนกลับไปสู่คำถามต้นบทความ ผู้เขียนมิอาจตอบได้ว่า สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คน ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิส ได้ส่งผลต่อพระราชดำริของในหลวงของเรานับแต่ครั้งทรงประทับอยู่ ณ เมืองดังกล่าวเมื่อราวหกสิบถึงเจ็ดสิบกว่าปีก่อนหรือไม่ และผู้เขียนย่อมมิอาจตอบได้เช่นกันว่า สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คน ณ เมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งผลต่อทัศนคติของเด็กหนุ่มนักเรียนไทยซึ่งเคยเรียนที่นั่นและปัจจุบันคือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หรือไม่ แต่อีกหลายสิบปีให้หลังเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในภูมิภาคดังกล่าว ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนในยุโรปเท่าที่สัมผัสนั้นเรียบง่ายยิ่ง และสิ่งจริงแท้ที่ควรค่าแก่การบ่มเพาะแสวงหา หาใช่มายาภาพลักษณ์ภายนอก หากแต่คือปัญญาและคุณภาพชีวิตอันเกิดจากการอยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่ดี ผู้เขียนมีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่าทัศนคติดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


(3)
จากที่กล่าวมานั้น เป็นการพยายามทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงในทางวิศวกรรมในระดับ “ความคิด” หากแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจำต้องแปรความคิดเหล่านั้นสู่ “การปฏิบัติและขยายเครือข่าย” ซึ่งอาจเริ่มต้นจากตัวเราและเผยแพร่แลกเปลี่ยนความเข้าใจนั้นสู่คนรอบข้าง ท่ามกลางสายลมเบาบางจากเทือกเขาแอลป์ก่อนที่ผู้เขียนจะสำเร็จการศึกษาจากยุโรป ผู้เขียนได้หยิบกระดาษขึ้นมาขีดเขียนข้อความสั้น ๆ ก่อนกลับเมืองไทยไว้ว่า

“รายวิชา : สัมมนาเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาชีพวิศวกรรมวัสดุ
คำอธิบายรายวิชา : การอภิปรายนิยามและคุณลักษณะของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. แนวความคิดพื้นฐานว่าด้วยหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาแบบยั่งยืน. กรณีศึกษาการวิจัยและพัฒนาวัสดุเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน อาทิ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การวิจัยวัสดุเพื่อใช้ในระบบผลิตพลังงานทางเลือก.”

ข้อความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็น “ร่างเริ่มต้น” ของคำอธิบายรายวิชา “สัมมนาเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาชีพวิศวกรรมวัสดุ” ที่จะจัดให้เป็นรายวิชาบังคับในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุทั้งในระดับปริญญาตรีและโทซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรในหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียน รวมถึงในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุระดับปริญญาเอกที่กำลังช่วยกันร่างขึ้นในกลุ่มผู้ร่วมงานของผู้เขียน แน่ล่ะ ถ้อยความหรือความตั้งใจนี้ย่อมมิได้ผุดขึ้นโดยฉับพลัน ย้อนกลับไปในวันวัยของการเป็นนิสิต จำได้ว่า ผู้เขียนเคยตั้งคำถามเหมือนกับรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมคณะหลาย ๆ คนว่า ในฐานะวิศวกร เราถูกสอนให้เป็นผู้สร้าง แต่ในขณะที่เรากำลังสร้างอะไรบางอย่าง เราได้กำลังทำลายอะไรอีกบางอย่าง (หรือหลายอย่าง) หรือไม่ และในขณะที่เราเข้าไปเป็นฟันเฟืองในภาคการผลิต แท้จริงแล้ว เรากำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทางใด

คำถามเหล่านี้ บางทีอาจใหญ่เกินกว่าวิศวกรผู้ทำงานเชิงเทคนิคและเคร่งในตรรกะแบบวิทย์คณิตจะตอบได้ แต่อย่างน้อยมันก็ควรถูกจุดขึ้นมาให้ขบคิด และผู้เขียนเชื่อว่า เราอาจเข้าใจคำถามเหล่านี้และหาคำตอบที่ควรจะเป็นได้ชัดขึ้น หากเราเข้าใจความหมายในเบื้องลึกของคำว่า “พอเพียง”

คือ..........หลักปรัชญาไท้..................พระราชทาน
ความ......ยั่งยืนชั่วกาล......................เกิดได้
พอ..........คือพจน์เพื่อสาน.................ปฏิบัติ
เพียง.......พรักพร้อมน้อมไว้................ทั่วถ้วนทุกคน



รายการอ้างอิง
[1] R. B.-Hauser, “Sustainable Energy Solutions Implemented in the Lucerne Region”, Proceeding of the 7th European SOFC Forum, Lucerne, Switzerland, July 3-7, 2006.
[2] J. Van herle, et.al., “Energy balance model of a SOFC cogenerator operated with biogas”, Journal of Power Sources, 118, 2003, p.375-383.
[3] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร, รายละเอียดดูได้ใน
//www.sufficiencyeconomy.org/detail.swf.
[4] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, เศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเรียนรู้ สานข่าย ขยายผล, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549.
[5] Jeremy Rifkin, The Hydrogen Economy: The Creation of the Worldwide Energy Web and the Redistribution of Power on Earth, Penguin Putman, 2002. (ฉบับแปลเป็นไทย โปรดดู เจเรมี ริฟกิน เขียน, กุลศิริ เจริญศุภกุล แปล, เศรษฐกิจไฮโดรเจน การปฏิวัติเครือข่ายและการจัดสรรพลังงานโลก, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ซีเอ็ดยูเคชัน, 2549.)
[6] K. Girona, et.al., “Solid Oxide Fuel Cell Operated under Bio-Gas: Simulation and Experimentation”, Proceeding of the 7th European SOFC Forum, Lucerne, Switzerland, July 3-7, 2006.




 

Create Date : 28 มกราคม 2550    
Last Update : 19 ตุลาคม 2551 17:51:26 น.
Counter : 4560 Pageviews.  

ร่วมยินดีกับ ก้องภพ อยู่เย็น วิศวะ ไฟฟ้า รหัส 38 ตำแหน่งสูงสุดของวิศวกรในองค์กรนาซา

Source: //www.intania79.com

หนุ่มไทยสร้างชื่อหนึ่งเดียวในนาซา รับผิดชอบค้นคว้าอุปกรณ์คลื่นไมโครเวฟรับส่งสัญญาณนอกโลก อายุเพียง 28 ปี เรียนทุนตลอด เผยงานแรกแก้ไขดาวเทียมฮับเบิลที่มีปัญหาพิกัด

เตรียมกรุยทางให้เด็กไทยมีโอกาสทำงานที่นาซาหลังจากมีรายงานข่าวผ่านเว็บไซต์นาซานิวส์ ว่ามีคนไทยหนึ่งเดียวไปทำงานวิศวกรไฟฟ้าอยู่ที่องค์การนาซา เซ็นเตอร์กรีนเวสต์ รัฐแมรีแลนด์ โดยรับราชการวิศวกรระดับ 12 อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของวิศวกรในองค์กรนาซา หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปีใหม่ 2549 ก้องภพ อยู่เย็น อายุ 28 ปี วิศวกรคนดังกล่าวได้มีโอกาสเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวอยู่เย็น พร้อมกล่าวสัมภาษณ์ว่าได้เข้าร่วมทำงานกับองค์การนาซามาตั้งแต่ปี 2544 หลังได้รับทุนจากบริษัท เท็กซัส อินสตรัมเม้นท์ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ ม.จอร์เจียเทคโนโลยี และเข้าไปฝึกงานที่นาซา โดยในเวลา 3 เดือน ต้องแก้ไขระบบทรงตัวดาวเทียมฮับเบิลที่มีปัญหาพิกัด ต่อมาระหว่างทำงานใช้ทุนให้ บ.เท็กซัสฯ ได้สนใจค้นคว้าเรื่องคลื่นส่งสัญญาณไมโครเวฟ องค์การนาซาจึงมอบทุนให้เรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ ม.จอร์เจีย ซึ่งถือเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับทุนนี้

หลังรับทุนจึงได้เข้าทำงานที่นาซา เริ่มจากนักเรียนฝึกงานมาสู่ลูกจ้างชั่วคราว รับผิดชอบค้นคว้าคลื่นสัญญาณไมโครเวฟ จนกระทั่งปี 2547 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการวิศวกรระดับ 11 และเลื่อนสู่ระดับ 12 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดของวิศวกรองค์การนาซา นายก้องภพยังกล่าวถึงความรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนไทย และเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถเทียบเท่าต่างชาติ เพียงแต่ขาดโอกาส เด็กไทยที่เรียนด้านวิศวกรทุกคนมุ่งหวังค้นคว้าคิดค้น แต่ภาคธุรกิจกลับนิยมสั่งซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศ ความรู้จึงไม่เกิดการต่อยอด การได้ร่วมงานกับนาซาอาจเป็นเพราะตนเองถือ 2 สัญชาติก็เป็นไปได้ เพราะกว่าจะสอบสัมภาษณ์ผ่านใช้เวลานานมาก พร้อมกล่าวถึงอนาคตว่าจะทำงานที่นาซา โดยลำดับต่อไปการทำงานต้องเสนอโปรเจ็กต์ค้นคว้าเพื่อขอทุนกับทางนาซา

ปัจจุบันนายก้องภพ อยู่เย็น ถือเป็นข้าราชการคนไทยหนึ่งเดียวที่ทำงานในองค์การนาซา รับผิดชอบสร้างอุปกรณ์วัดสัญญาณคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นคลื่นสัญญาณที่ใช้ส่งนอกโลก เวลานี้กำลังใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างโลก กับโครงการสำรวจดาวอังคาร ขณะที่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เมื่อครั้งทำงานที่นาซา เป็นเพียงคอนแทคเตอร์ หรือผู้รับเหมาค้นคว้า

สำหรับก้องภพ อยู่เย็น อายุ 28 ปี เกิดที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย เมื่อปี 2520 ระหว่างบิดา พลโทกัลยาณุวัตร อยู่เย็น รับราชการอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งระหว่างศึกษาได้ประดิษฐ์เครื่องวัดคลื่นสมอง เพื่อรักษาผู้ป่วยลมชักกระตุกและลมบ้าหมู โดยใช้งบเพียง 30,000 บาท จากที่ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลจุฬาฯ ใช้งบถึง 3 ล้านบาท ในการประดิษฐ์ต่อเครื่อง ปัจจุบันเครื่องวัดคลื่นสมองยังคงใช้อยู่ที่ รพ.จุฬาฯ และ รพ.เชียงใหม่

นายก้องภพ อยู่เย็น มีผลงานค้นคว้าที่จดสิทธิบัตรในนามองค์การนาซา คือ ฟิลเตอร์ CMB Pol เครื่องกำจัดสัญญาณรบกวนที่มีความถี่กว้าง และอัตราสูญเสียต่ำ ซึ่งสามารถลดทอนสัญญาณได้ 9-12 เท่าของความถี่กลาง, Megic 3 วงจรรวมสัญญาณเข้า 2 ระบบแยก 2 ช่อง เป็นสัญญาณรวม กับสัญญาณหักล้าง ใช้ในการเซ็นเซอร์กล้องดูดาวโดยวัดแนวแกน และมีอัตราการรั่วของสัญญาณน้อยที่สุด โดยก้องภพยังกล่าวติดตลกว่า องค์การนาซามักค้นคว้าสิ่งที่เหนือความจำเป็นของมนุษย์ การค้นคว้าเพื่อเชิงธุรกิจย่อมไม่ส่งผล

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา นายก้องภพ อยู่เย็น ยังได้รับเกียรติเป็นตัวแทนองค์การนาซาไปร่วมประชุมวิศวกรโลกที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนเดือนกรกฎาคมปีนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ซานฟรานซิสโก ก้องภพก็เป็นหนึ่งในตัวแทนนาซาไปร่วมประชุม ซึ่งในการเดินทางกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเชิญนายก้องภพไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ พร้อมให้ช่วยประสานงานเรื่องโครงการส่งนิสิตคนไทยไปฝึกงานที่องค์การนาซา.




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2549 3:21:06 น.
Counter : 2606 Pageviews.  

นับดาวทะเล......จดหมายจากทางบ้าน

บันทึก บก.

จดหมายฉบับนี้ น้องเธอส่งมาให้อ่านครับ (เธออาวุโส (กร้านโลก) กว่าผมสองปี แต่ผมก็บังอาจปีนเกลียวเรียกเธอว่าน้อง ก็เธอยังดูอ่อนเยาว์จริง ๆ นี่ครับ)

อ่านสำนวนเธอแล้ว ก็อดคิดถึงมุมกาแฟ หนังสือยิบราน และดิสคัสชันของเราในเรื่องความรักไม่ได้

อ่านสำนวนเธอแล้ว ก็ยิ่งให้หวนนึกถึงร้านเบียร์ย่านถนนพระอาทิตย์ ครั้งหนึ่งไฟในร้านดับ จะมีก็แต่แสงเทียนบนโต๊ะและความฟุ้งฝันของเราสองคนล่องลอยอยู่ที่นั่น เธอแยกออกมั้ยน้าว่าฝันไหนเป็นของใคร

ตัวหนังสือของเธอก็เหมือนตัวเธอนั่นแหละ มันทำให้ความรู้สึกผมสั่นสะเทือนเสมอ

น่ากลัวจริง ๆ เอิ๊ก ๆ :)


.........................................................................



นับดาวทะเล
โดย น้อง Corporate Thailand



"...ก็เคยมีคนมากมาย บอกแม้ตายก็ยังใฝ่หาแสงดาวแห่งศรัทธาจะพร่างพรายแสงเพื่อคนทุกคน

ดาวที่จรจากฟ้า บอกอย่าหวังเลยน้ำใจคน

อุดมการณ์วกวนตลอดเวลา..."


เสียงเพลงนับดาวทะเลที่บรรเลงที่ลานโพธิ์ท่าพระจันทร์ดังขึ้น เหมือนจะทวงถามความฝันและความเชื่อของใครหลาย ๆ คนที่เคยผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ

ในใครหลาย ๆ คนนั้น บางคนตอนนี้กำลังนั่งอยู่ในสภา และทำเนียบรัฐบาล

เดินผ่านท่าพระจันทร์ในวันนี้

เหมือนวันเวลาเก่า ๆ ย้อนคืนกลับมา

วันเวลาที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพ และรู้สึกถึงเยื่อใยที่มีต่อผู้คน

เด็ก ๆ วัยหนุ่มสาว ที่ยัง "เด็ก" หรือ "เยาว์" ต่อหลายๆเรื่องราวนอกรั้วมหาวิทยาลัยกำลังจับกลุ่มเคลื่อนไหวชักชวนให้ร่วมเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี บรรยากาศครึกครื้น สนุกสนานแต้มเต็มรอยยิ้มของพวกเขา ทำให้เรารู้สึกเหมือนเวลาย้อนกลับไปหลายต่อหลายปี

หลายปีมาแล้ว ที่ธรรมศาสตร์ไม่มีบรรยากาศเช่นนี้

บรรยากาศที่บอกว่า เรามีเยื่อใยต่อผู้คน ต่อสังคมที่เราอยู่ เรามีเสรีภาพที่จะบอกให้รู้ว่าเราคิดและหวังอะไร

บนเวทีนอกเหนือจากการบอกกล่าว เล่าที่มา ว่าเหตุใดเราจึงอยากแสดงตนถอดถอนนายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่เรื่องชอบหรือไม่ชอบ แต่เป็นเรื่องของความชอบธรรม

การเข้าชื่อถอดถอนฯไม่ได้มุ่งล้มล้างอำนาจบางประการของคนๆเดียว

แต่เพื่อจะเข้าไปเป็นกลไกของการตรวจสอบ และอาจเป็นช่องทางในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โครงสร้างระบบอันพิกลพิการในสังคมการเมืองไทย

เคยไหมที่รู้สึกว่าการลงแรงใจเป็นเรื่องน่าผิดหวัง

บางครั้งเราแอบนึกเสมอว่าการเดินถือธงเขียวเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 ของตนเองเป็นความผิดพลาดประการหนึ่งในชีวิต เพราะทำให้เราได้พรรคการเมืองที่แข็งมากสร้างความเป็นรัฐแข็งตัว มีกำลังมากจากทุนชาติขนาดใหญ่ และใช้นโยบายที่สามารถกุมฐานเสียงมวลชน ตลอดจนได้การบริหารประเทศที่ถูกยึดอำนาจการตัดสินใจไว้ที่คนๆเดียว และคนๆเดียวคนนั้นก็ทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่ผิดพลาด

และเมื่อเขาทำผิดพลาด ใครหน้าไหนจะอาจหาญทัดทาน

หากไม่ใช่เราที่มีส่วนร่วมสร้างกลไกสังคมชนิดนี้ รวมไปถึงเราคนที่ลงคะแนนเสียงให้เขาเข้ามา

....แต่คืนนี้ดาวลอยกลับมาเยือนทะเล

คลื่นลมพัดเพไม่อาจกวาดดาวหายไป

มีน้อยคนเหมือนกับดาว

มีมากคนเหมือนกับเรา

ยืนนับดาวคนเดียว...


เสียงเพลงนับดาวทะเลที่ขับร้องโดยสาวหน้าใสและบรรเลงจากกีตาร์โปร่งของหนุ่มหน้ามนบนเวทีใต้ลานโพธิ์ทำให้หัวใจเราอดที่จะเบ่งบานไม่ได้

วันนี้ ไม่ว่าการเลือกทางการเมืองของเขาจะถูกหรือผิด

แต่เขา คนรุ่นที่เราแอบดูถูกว่าทุนนิยมจ๋า ไม่ประสาอะไรกับสังคมและการเมือง ได้แสดงออกถึงการมีเยื่อใยต่อสังคมนี้ที่เขาอยู่ สังคมหรือชุมชนในจินตนาการอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่า"รัฐชาติ"

เพลงนับดาวทะเลยังลอยวนในห้วงความรู้สึกเรา

น่าเสียดายที่ในความทรงจำอันกระท่อนกระแท่น บางท่อนทำนองเลือนหาย บางถ้อยคำหล่นจาง

คงนานเกินไปที่ไม่ได้ยินเพลงนี้

แต่ก็ยังดี...ที่ยังรู้สึกสั่นคลอน




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2549 1:42:07 น.
Counter : 850 Pageviews.  

จินตภาพอุดมศึกษา-ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป

ผมขออนุญาตนำเสนอบทความขนาดยาวของอาจารย์รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะครับ ผมชอบบทความนี้โดยเฉพาะในมุมมองที่ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยใช่ว่าจะยากจน หากแต่ตกอยู่ในกับดักความยากจนตามมาตรฐานชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงต่างหาก

ทัศนะดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่จริงแล้วแต่กรณี แต่มันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้กับผมได้ว่า อย่าเอาแต่ทำมาหากิน เดินสายรับงานนอก จนลืมภารกิจพื้นฐานของการเป็นอาจารย์ หรือกระทั่งเบียดบังสมบัติหลวงไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

คุณค่าของการเป็นอาจารย์คงไม่ใช่แค่นั้น สมัยผมเรียนปริญญาตรีเคยตั้งคำถามในวันไหว้ครูว่า คุณใช่ไหมคือคนที่ผมควรไหว้ มาถึงวันนี้ผมก็ยังคงตั้งคำถามนี้กับตัวเอง
........................................................................
จินตภาพอุดมศึกษา-ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

บทความนี้เรียบเรียงจากบทอภิปรายเรื่อง จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ

หัวข้อการอภิปราย จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป คงต้องการให้ผู้อภิปรายวาดภาพเกี่ยวกับการอุดมศึกษาในประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความหวังเกี่ยวกับ ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป หัวข้อการอภิปราย ซึ่งแสดงออกซึ่งสุขทรรศนะ (Optimism) เกี่ยวกับการอุดมศึกษาเช่นนี้ ตรงต่อข้อเท็จจริงเพียงใด และมีความหวังมากน้อยเพียงไหน น่ากังขาอย่างยิ่ง

ในการกล่าวถึง ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป เราจำเป็นต้องเพ่งพินิจเส้นทางของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตเพื่อตอบคำถามว่า เราจะสามารถหันเหการอุดมศึกษาไทยออกจากเส้นทางเดิมได้หรือไม่ และหากเราต้องการ ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป เราก็ต้องมีคำตอบว่า เส้นทางใหม่ของการอุดมศึกษาไทยคือเส้นทางใด และ ก้าวใหม่ นั้นจะก้าวอย่างไร

ในฐานะเจ้าสำนักทุกขทรรศน์ (Pessimism) ผมไม่เชื่อว่า การอุดมศึกษาไทยจะสามารถปฏิรูปได้ ระบบอุดมศึกษาไทยนอกจากถูกตราตรึงในเส้นทางเดิม ยากที่จะขยับเขยื้อนสู่เส้นทางใหม่แล้ว ยังขาดพลังการปฏิรูปอีกด้วย ผมขอจำแนกการอภิปรายออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่งกล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน ตอนที่สองนำเสนออรรถาธิบายว่า เหตุใดการอุดมศึกษาไทยจึงยากแก่การปฏิรูป

ทิศทางและแนวโน้มของการอุดมศึกษาไทย
ในการกล่าวถึงระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน ผมขอกล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มที่สำคัญ 6 ประการ

ทิศทางและแนวโน้มที่หนึ่ง การเติบโตของกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า (Commodification) การผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขาย (Marketization) และกระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตรของบริการอุดมศึกษา (McDonaldization of Higher Education)

ทิศทางและแนวโน้มที่สอง การผลิตบริการอุดมศึกษา เพื่อให้มีลักษณะหลากหลาย (Product Differentiation)

ทิศทางและแนวโน้มที่สาม ความหวังกับความเป็นจริงของมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University)

ทิศทางและแนวโน้มที่สี่ ระบบธรรมาภิบาลในระบบอุดมศึกษาของรัฐ (University Governance)

ทิศทางและแนวโน้มที่ห้า พัฒนาการของระบบการคลัง เพื่อการอุดมศึกษา (Higher Education Finance)

ทิศทางและแนวโน้มที่หก การเติบโตของกระบวนการสากลานุวัตรของการอุดมศึกษา (Internationalization of Higher Education)


ทิศทางและแนวโน้มที่หนึ่ง
Commodification, Marketization, and McDonaldization


กระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า (Commodification) ก่อเกิดได้ เพราะบริการอุดมศึกษามีลักษณะความเป็นเอกชนของสินค้า (Privateness of Goods) กระบวนการดังกล่าวนี้เติบโตและพัฒนาตามพัฒนาการของพลังทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจอันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถูกเสริมด้วยแรงกระตุ้นสำคัญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งตลาดมีความต้องการบริการอุดมศึกษาบางประเภท อีกด้านหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ต่างสนองตอบความต้องการของตลาด เพื่อแสวงหารายได้

ความต้องการรายได้เพียงโสดเดียวไม่พอเพียงในการขับเคลื่อนกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า หากมหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจในการประสาทปริญญา การแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้าจะไม่สามารถขยายตัวดังที่เกิดขึ้นจริง เมื่อมหาวิทยาลัยแรกสถาปนาในยุโรปตะวันตกในยุคกลาง (Middle Age) อำนาจในการประสาทปริญญาเป็นของศาสนจักร มิได้เป็นของอาณาจักร มหาวิทยาลัยในยุโรปตะวันตกมีอำนาจในการประสาทปริญญา ภายหลังจากที่การขีดเส้นแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักรลงตัวแล้ว การที่มหาวิทยาลัยของรัฐไทยมีอำนาจในการประสาทปริญญา โดยปราศจากการควบคุมและกำกับของรัฐ เกื้อกูลการพิมพ์ปริญญาเพื่อขาย ซึ่งมีผลต่อกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า

ความต้องการบริการอุดมศึกษาในตลาดประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของภาคเอกชน (Private- Sector Market) อีกส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของภาครัฐบาล (Public-Sector Market)

ภาคเอกชนต้องการบริการอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ อันมีผลต่อผลปฏิบัติการทางธุรกิจ (Business Performance) การได้วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตรไม่มีความสำคัญเท่ากับการเพิ่มพูนทุนมนุษย์ (Human Capital) การได้วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตร โดยที่ทุนมนุษย์มิได้เพิ่มพูนขึ้น มิได้เป็นประโยชน์ต่อผลประกอบการของวิสาหกิจเอกชน ความต้องการบริการอุดมศึกษาของภาคเอกชน จึงส่งผลต่อการผลิตของสถาบันอุดมศึกษา เพราะภาคเอกชนในฐานะลูกค้ามีความจริงจังในการประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ

ภาครัฐบาลสนใจกระพี้มากกว่าแก่นของบริการอุดมศึกษา และไม่มีความจริงจังในการประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ระบบราชการเพียงแต่กำหนดว่า หากต้องการดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายตำรวจระดับนายพันและนายพลต้องได้รับปริญญาโทในสาขาวิชารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หากต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ต้องได้รับปริญญาโทในสาขาวิชาศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ การใช้ปริญญาเป็นเกณฑ์สำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งราชการระดับสูง มีผลต่อการเพิ่มพูนความต้องการบริการอุดมศึกษา แต่การที่ระบบราชการมิได้สนใจประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษา ที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ทำให้ความต้องการบริการอุดมศึกษาของภาครัฐบาล มิอาจส่งผลต่อการปรับปรุงคุณภาพของบริการอุดมศึกษา และยังผลให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแปรรูปเป็น โรงพิมพ์ปริญญาบัตร

การสถาปนาระบอบ บัณฑิตยาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า มีผลในการเร่งการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า เร่งให้มหาวิทยาลัยผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขาย และเร่งให้มหาวิทยาลัยเป็น โรงพิมพ์ปริญญาบัตร

ผลของการสนองตอบต่อตลาด ทำให้มหาวิทยาลัยไทย เดินอยู่บนเส้นทางของ McUniversity กระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตร (McDonaldization) มิได้ก่อเกิดในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น หากยังก่อเกิดในอุตสาหกรรมการศึกษาด้วย ในขณะที่ McDonald ให้บริการ แดกด่วน ยัดเร็ว (Fast Food) McUniversity ก็ให้บริการ Fast Education และผลิต Instant Graduates ในขณะที่ McDonald มีระบบเครือข่ายสาขา McUniversity ก็จัดระบบเครือข่ายสาขา ในลักษณะ Chain Stores ด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐไทยจำนวนมากก้าวล้ำไปให้บริษัทเอกชนผลิตบริการอุดมศึกษาในนามของตนเอง

แต่มหาวิทยาลัยไทยที่เป็น McUniversity มิได้เหมือนกับ McDonald ไปเสียทั้งหมด ในขณะที่ McDonald พยายามจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) มีความพยายามลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Cost Minimization) และการควบคุมคุณภาพของผลผลิต (Quality Control) ที่ผลิตโดยสาขาต่างๆ ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มหาวิทยาลัยไทยหาได้มีการจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และมิได้ใส่ใจต่อคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตได้ อธิการบดีจำนวนมากไม่มีความสำนึกในเรื่องต้นทุน (Cost Consciousness) มีการใช้ทรัพยากรในทางสูญเปล่า เนื่องจากเป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ซึ่งไม่ปรากฏความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน

กระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า กระบวนการผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขายและกระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตร นับเป็นทิศทางและแนวโน้มสำคัญของภาคอุดมศึกษาในปัจจุบันและอนาคตที่เห็น กระแสเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อผลทำลายภาคอุดมศึกษาในระยะยาว




 

Create Date : 18 กันยายน 2548    
Last Update : 18 กันยายน 2548 20:49:50 น.
Counter : 422 Pageviews.  

Ramanujan: นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะผู้อาภัพ

ผมขออนุญาตนำบทความของท่านศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ที่นำเสนอไว้ในผู้จัดการออนไลน์มาลงไว้ที่ี่นี่ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานะครับ

ผมได้ยินชื่อรามานุจัน (Ramanujan) ครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Good Will Hunting ผมชอบเรื่องนี้มากครับ โดยเฉพาะตอนเด็กหนุ่มแอบไป solve สมการบนกระดานนอกห้องเรียนที่ MIT (นึกแล้วคล้าย ๆ ตอนเว่ยหล่างไปต่อกลอนเซ็นที่ผนังกำแพงวัด) หากอ่านประวัติรามานุจันที่อาจารย์สุทัศน์เรียบเรียงมา ในมุมหนึ่งอาจเห็นภาพความอาภัพจนยากของนักคณิตศาสตร์ท่านนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นแง่ดีนะครับที่คนเราสามารถมีชีวิตโดยไม่ต้องคาดหวัง หรือถูกคาดหวังโดยผู้อื่น (ผมคิดเอาเองว่าท่านเป็นเช่นนี้)
การได้ใช้ชีวิตแบบเรียบ ๆ และได้มีอิสระเต็มที่ที่จะหมกมุ่นในสิ่งที่เรารัก น่าจะเป็นความสุขที่สุดในชีวิตแล้ว ผมยังนึก ๆ อยู่ว่าถ้าในวัยหนุ่ม ไอสไตน์ไม่มีชีวิตต๊อกต๋อยอยู่ในสวิส ท่านจะมีอิสระที่จะคิดอะไร ๆ ได้เต็มที่หรือเปล่า

บางทีชีวิตก็กลับกลายเป็นเรื่องยากและไม่อาจบ่มเพาะสาระแก่นแื้ท้ในตัวเองได้ เพียงเพราะเราทะเยอทะยานและถูกผู้อื่นคาดหวังในชีวิตของเรามากเกินไป

อาจารย์อาวุโสในวัยเกษียรท่านหนึ่งที่ ENSEEG ได้กล่าวสรุปชีวิตความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านด้วยวลีสั้น ๆ ที่ว่า

Passion sans ambition…
Passion without ambition

ใครกันบ้างจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยมเช่นนั้นจนวันวัยแห่งความร่วงโรย

...................................................................


Ramanujan: นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะผู้อาภัพ
สุทัศน์ ยกส้าน
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน

ที่มา:
//www.manager.co.th (ตอนแรก)
//www.manager.co.th (ตอนจบ)



Srinivasa Ramanujan คือนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่คนหนึึ่งของโลก ชีวิตของ Ramanujan เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า ความสามารถด้านคณิตศาสตร์เป็นพรที่สวรรค์ประทานมาโดยไม่ต้องแสวงหา เพราะหนุ่มภารตะคนนี้ยากจน จนแทบไม่ได้รับการศึกษาใดๆ เลย

Ramanujan เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2430 ที่หมู่บ้าน Erode ใกล้เมือง Kumba Konam ซึ่งอยู่ห่างจากนคร Madras ประมาณ 260 กิโลเมตร ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน บิดาหาเลี้ยงชีพโดยการทำงานบัญชีในร้านขายผ้า ส่วนมารดาเป็นคนฉลาดที่มีไหวพริบสูง เก่งคณิตศาสตร์ และเคร่งศาสนา จึงมักหารายได้เสริมโดยการร้องเพลงสวดภาวนาในวัดเวลามีเทศกาล มารดาของ Ramanujan เล่าว่า เมื่อไม่มีทายาทเธอได้สวดขอบุตรจากเทพธิดา Namagiri แล้วเธอก็ตั้งครรภ์

เมื่ออายุ 5 ขวบ Ramanujan ได้เข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนในเมือง Kumba Konam เพื่อนร่วมชั้นได้เริ่มสังเกตเห็นความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของ Ramanujan เมื่อเขาช่วยเพื่อนทำการบ้านโจทย์คณิตศาสตร์ต่างๆ ให้ และสามารถท่องค่าของสแควร์รูท 2 และค่าของพาย และที่มีทศนิยมถึง 50 หลักให้เพื่อนและครูฟังได้อย่างถูกต้อง ทำให้เพื่อนคนหนึ่งประทับใจมาก จึงให้ Ramanujan ยืมอ่านหนังสือชื่อ Plane Trigonometry ของ S. L. Linney เพราะหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหาคณิตศาสตร์เรื่อง logarithm, infinite products, infinite series และจำนวนเชิงซ้อน ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มนี้จบทำให้ Ramanujan มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์สูงกว่าเด็กวัยเดียวกัน จึงได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่วิทยาลัย Government College เมื่อมีอายุ 16 ปี

ขณะศึกษาที่วิทยาลัยนันเอง Ramanujan ได้อ่านหนังสือชื่อ Synopsis of Elementary Results in Pure and Applied Mathematics ของ G. S. Carr ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษ ถึงแม้หนังสือที่อ่านจะมีสูตรพีชคณิต ตรีโกณมิติ และเรขาคณิตวิเคราะห์ประมาณ 6,000 สูตร แต่ Carr ก็มิได้แสดงวิธีพิสูจน์สูตรใดๆ กระนั้น Ramanujan ก็ชอบหนังสือเล่มนั้นมากจนหลงใหล ดื่มด่ำ และมุ่งมั่นหาวิธีพิสูจน์สูตรต่างๆ ด้วยตนเอง จนไม่สนใจศึกษาวิชาอื่นๆ เลย ดังนั้น เขาจึงสอบไล่ตกในปีแรก และถูกตัดทุนเล่าเรียนในเวลาต่อมา

Ramanujan ได้พยายามสอบเข้าวิทยาลัยอีก 2 ครั้ง แต่เข้าไม่ได้ เพราะอ่อนวิชาภาษาอังกฤษ และได้คะแนนดีเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว

เมื่อไม่ได้เรียนวิทยาลัย ก็ไม่มีปริญญาทำให้การหางานทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ชีวิตของ Ramanujan ในช่วงนั้น จึงยากลำบากมากจนต้องขอเงิน ขออาหารจากเพื่อนๆ และญาติๆ ไปวันๆ แต่ก็ได้พยายามหาเงินด้วยตนเอง โดยการสอนพิเศษให้เด็กนักเรียนซึ่งก็ไม่ได้ผล เพราะ Ramanujan ไม่ได้สอนตรงข้อสอบ และสอนสูงเกินหลักสูตร จึงไม่มีใครว่าจ้างให้สอน

เมื่ออายุ 22 ปี Ramanujan ได้เข้าพิธีสมรสกับ Srimathi Janki เด็กหญิงวัย 9 ขวบ Ramanujan ในฐานะผู้นำครอบครัว จึงได้พยายามหาเงิน โดยการนำผลงานคณิตศาสตร์ที่ตนทำด้วยตนเองในยามว่างไปให้ศาสตราจารย์ Diwan B. Rao แห่ง Presidency College อ่าน เพราะ Ramanujan รู้ว่า Rao เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ปราดเปรื่องมาก และได้ตั้งความหวังว่า ถ้า Rao ชอบผลงาน Rao ก็อาจจ้างเขาเป็นนักวิจัยผู้ช่วยก็ได้

Rao ได้บันทึกเหตุการณ์วันที่เห็น Ramanujan เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า Ramanujan เป็นคนร่างเล็กที่แต่งกายไม่สะอาด และไม่โกนหนวดเครา จะมีก็แต่ดวงตาเท่านั้นที่เป็นประกาย และเขาได้สังเกตเห็นว่า เด็กหนุ่ม Ramanujan มีสมุดเล่มหนึ่งหนีบอยู่ใต้รักแร้ จึงขอดู Ramanujan จึงเปิดอธิบายสูตรคณิตศาสตร์ที่ปรากฏในสมุด แต่ Rao มิสามารถตัดสินได้ว่า สูตรต่างๆ ที่เขาเห็นนั้นถูกหรือผิดอย่างไร จึงขอให้ Ramanujan หวนกลับมาหาอีกในวันรุ่งขึ้น และ Ramanujan ก็ได้กลับมาพร้อมกับนำสูตรที่มีเนื้อหาง่ายขึ้นมาให้ Rao ดู เพราะ Ramanujan รู้ว่า Rao อ่านสูตรสมการในสมุดที่เขาทิ้งไว้ไม่รู้เรื่อง เมื่อ Rao ได้เห็นสูตรใหม่ต่างๆ เขารู้สึกประทับใจมาก จึงตกลงใจจ้าง Ramanujan เป็นนักวิจัยคณิตศาสตร์ผู้ช่วยด้วยเงินเดือนที่น้อยนิด ทั้งนี้เพราะ Rao เองก็ไม่ได้มีทุนวิจัยมาก และ Ramanujan เองก็บอกว่า ตนต้องการเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อยังชีพ

Ramanujan ทำงานหนักมาก จนไม่ได้กินข้าวปลาในบางวัน และเมื่องานติดพัน เขาต้องขอร้องให้ภรรยาและมารดานำอาหารมาให้ เพื่อจะได้ทำงานวิจัยเรื่อง elliptic integrals และ hypergeometric series อย่างต่อเนื่อง เมื่อ Rao หมดทุนวิจัย Ramanujan ได้งานใหม่เป็นเสมียนที่ Madras Port Trust และใช้เวลาว่างจากงานประจำ ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์ที่เขารักต่อ โดยใช้กระดาษห่อของเขียนสูตร และสมการต่างๆ ทั้งนี้เพราะตนยากจน จนไม่สามารถซื้อกระดาษดีๆ มาใช้ในงานวิจัยได้

Ramanujan ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นแรกในชีีวิตเรื่อง Some Properties of Bernoulli's numbers ในวารสาร Journal of the Indian Mathematical Society ในปี พ.ศ. 2453 ผลงานชิ้นนี้ทำให้ S. N. Aigar ผู้เคยศึกษาที่ประเทศอังกฤษ รู้สึกประทับใจมาก จึงบอกให้ Ramanujan เขียนจดหมายถึงนักคณิตศาสตร์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัย Cambridge โดยให้แนบงานวิจัยของ Ramanujan ไปด้วย เพื่อนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นเชิญ Ramanujan ไปทำงานที่อังกฤษ ผลปรากฏว่าศาสตราจารย์ H. F. Baker และ E. W. Hobson ส่งจดหมายของ Ramanujan กลับคืนโดยไม่ให้ความเห็นใดๆ จะมีก็แต่ศาสตราจารย์ Godfrey Hardy วัย 36 ปี เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตอบจดหมายของ Ramanujan

Hardy ได้เล่าเหตุการณ์วันรับจดหมายของ Ramanujan ว่า เป็นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ในจดหมายนั้น Ramanujan ได้กล่าวแนะนำตนว่า ถึงแม้ตนจะไม่ได้รับการศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ตนก็รักและสนใจคณิตศาสตร์มาก จึงได้เพียรพยายามเรียนด้วยตนเองในยามว่างจากงาน เมื่อถึงย่อหน้าที่สอง Ramanujan ได้เขียนสูตรคณิตศาสตร์ประมาณ 60 สูตรให้ Hardy ดู โดยไม่ได้แสดงวิธีทำหรือวิธีพิสูจน์ใดๆ ให้ดู แล้วจดหมายฉบับนั้นก็จบลง เมื่อ Ramanujan บอก Hardy ว่า หากความรู้คณิตศาสตร์ที่นำเสนอนี้ถูกต้อง และมีค่าก็ขอให้ Hardy ช่วยจัดพิมพ์ในวารสารให้ด้วย แต่ถ้าสูตรที่เขียนมาผิดพลาดประการใด ตนก็พร้อมขอคำชี้แนะ และสุดท้ายตนต้องขอโทษที่ได้รบกวนเวลาอันมีค่าของ Hardy

ความรู้สึกที่ Hardy ระลึกได้เมื่อเขาเห็นสูตรคณิตศาสตร์ของ Ramanujan เป็นครั้งแรก คือนี่เป็นจดหมายจากพวกจิตไม่ว่าง แต่เมื่อได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด เขารู้สึกเฉลียวใจว่า นี่ไม่ใช่ผลงานระดับธรรมดา แต่เป็นผลงานของเทวดา ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ Hardy จึงได้เชิญ John E. Little Wood แห่ง Trinity College ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชา calculus และ number theory มาช่วยดูคนทั้งสองใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง ในการตรวจสอบ และมีความเห็นว่าผลงานเรื่อง infinite series, infinite products, continued fractions และ integrals ที่ Ramanujan เขียนมานั้น เป็นผลงานของปราชญ์คณิตศาสตร์ ที่แม้แต่ Hardy และ Little Wood เองก็ไม่มีความสามารถสูงเท่า แต่เมื่อ Ramanujan มิได้แสดงวิธีพิสูจน์สูตรเหล่านั้น Hardy จึงคิดว่า คงเป็นเพราะ Ramanujan ไม่ต้องการให้คนแปลกหน้า เช่น Hardy ล่วงรู้วิธีพิสูจน์ของตน ดังนั้น Hardy จึงตัดสินใจเขียนจดหมายเชิญ Ramanujan มาทำงานร่วมกับเขาที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษ โดยสัญญาจะให้เงินค่าเดินทาง และค่ากินอยู่มากกว่าเงินที่ Ramanujan รับอยู่ในอินเดียประมาณ 30 เท่า

ในเบื้องต้น Ramanujan ปฏิเสธที่จะไปอังกฤษ โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับศาสนาของตนที่ห้ามการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ Hardy ก็ไม่ได้ละความพยายาม จึงมอบหมายให้ E. H. Neville ผู้เป็นเพื่อนของ Hardy ซึ่งทำงานอยู่ในอินเดียเดินทางไปพบ Ramanujan ที่ Madras และเมื่อมารดาของ Ramanujan ฝันว่า เทพธิดา Namagiri ทรงยินยอมให้ Ramanujan เดินทางไปอังกฤษได้ ดังนั้น ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2457 Ramanujan ออกเดินทางไปหา Hardy ที่ Cambridge และเดินทางถึงในอีก 1 เดือนต่อมา

การมาพบ Hardy ในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดหักเหสู่ความยิ่งใหญ่ที่เป็นอมตะของ Ramanujan ทั้งนี้เพราะ Ramanujan ไม่ได้รับการศึกษาที่เป็นระบบ ดังนั้น วิธีคิดต่างๆ ของ Ramanujan จึงไม่เหมือนนักคณิตศาสตร์ทั่วไป เช่น เขารู้เรื่อง elliptic modular, functions ดีมาก แต่ไม่รู้เรื่อง double periodicity เลย ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน และรู้เรื่อง analytic number theory จนทะลุปรุโปร่ง แต่ไม่ประสีประสาเรื่อง Complex analysis การรู้บ้างไม่รู้บ้างเช่นนี้ เมื่อได้ Hardy ช่วย ทำให้ Ramanujan มีความสามารถสมบูรณ์ขึ้น แต่ Hardy จึงยอมรับว่า เขาเรียนรู้จาก Ramanujan มากกว่าที่ Ramanujan ได้เรียนรู้จากเขา

ตลอดเวลา 5 ปีที่พำนักในอังกฤษ Ramanujan ได้ตีพิมพ์งานวิจัย 21 เรื่อง และงานหลายชิ้นเป็นงานที่ทำร่วมกับ Hardy ซึ่งก็ได้ทำให้ Hardy มีชื่อเสียงด้วย Hardy เองได้พยายามทำให้วงการคณิตศาสตร์โลกยอมรับความสามารถของ Ramanujan โดยได้เสนอให้ Ramanujan ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge และเสนอให้ Ramanujan เป็น Fellow of the Royal Society (FRS) อันทรงเกียรติด้วย เมื่อข้อเสนอของ Hardy บรรลุผล Ramanujan ก็ได้เป็นคนอินเดียคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น FRS

ถึงแม้ชีวิตทำงานจะรุ่งโรจน์มาก แต่ชีวิตส่วนตัวของ Ramanujan ขณะพำนักในอังกฤษ มิได้ราบรื่นเลย ทั้งนี้เพราะ Ramanujan ชอบอาหารมังสวิรัติที่มีผักมากๆ แต่ในอังกฤษผักเป็นอาหารหายาก ดังนั้น Ramanujan จึงต้องขอให้ครอบครัวในอินเดียส่งข้าวมาหุงกินเอง การไม่มีภรรยาติดตามมาดูแล ทำให้ Ramanujan ต้องทำงานทั้งหลวงและราษฎร์ด้วยตนเอง และเมื่ออากาศหนาวจัด การทำงานหนักที่ต่อเนื่องนาน 24-36 ชั่วโมงในบางครั้ง ทำให้สุขภาพของ Ramanujan อ่อนแอลงมาก จนป่วยหนักเพราะร่างกายขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน B-12 และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2460 แพทย์ได้วินิจฉัยพบว่า Ramanujan เป็นวัณโรค และโรคตับอักเสบ จึงต้องถูกแยกตัว และกักบริเวณ ทำให้ Ramanujan เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มอีกหนึ่งอาการ

Hardy ได้พยายามให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน โดยการแวะเยี่ยมและเล่าว่า แม้ป่วย Ramanujan ก็ยังครุ่นคิดเรื่องเลข เพราะเวลา Hardy กล่าวเปรยๆ ว่า แท็กซี่ที่ Hardy นั่งมามีเลขทะเบียน 1729 ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น่าสนใจเลย แต่ Ramanujan ได้กล่าวแย้งทันทีว่า 1729 น่าสนใจมาก เพราะเป็นจำนวนเต็มที่น้อยที่สุด ที่สามารถเขียนเป็นผลบวกของเลขยกกำลังสามได้สองรูปแบบคือ 1729 = 1^3 + 12^3 หรือ 1729 = 9^3 + 10^3

เมื่อสุขภาพทรุดหนัก หนทางเดียวที่จะทำให้ Ramanujan รู้สึกดีขึ้นคือ เขาต้องเดินทางกลับอินเดียไปอยู่กับบรรดาญาติพี่น้อง และครอบครัว ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2462 Ramanujan ก็ได้เดินทางกลับอินเดียเพื่อรักษาตัว และไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Madras แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านเกิดเมืองนอน แทนที่จะรักษาตัวอย่างระมัดระวัง Ramanujan กลับหมกมุ่นวิจัยเรื่อง theta functions จนป่วยหนัก และเสียชีวิตที่เมือง Chetput ซึ่งอยู่ใกล้กรุง Madras เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2463 ขณะมีอายุเพียง 32 ปี

ข่าวการเสียชีวิตของ Ramanujan ได้ทำให้วงการคณิตศาสตร์ทั่วโลกตกใจ และเสียใจมากที่ได้สูญเสียนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกไป ขณะที่มีอายุยังน้อย และถึงแม้ Ramanujan จะไม่ได้เก่งในศาสตร์หลายสาขา เช่น ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์เหมือน Karl Friedrich Gauss หรือ Henri Poincare แต่โลกก็ยอมรับว่า คณิตศาสตร์ของ Ramanujan นั้นบริสุทธิ์สุดๆ คือ Ramanujan ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์เพื่อคณิตศาสตร์ โดยไม่คำนึงว่าคณิตศาสตร์ที่ตนคิดได้มีประโยชน์ต่อศาสตร์อื่นหรือไม่ ณ วันนี้คำถามหนึ่งที่ได้ทำให้โลกวิชาการฉงนมากคือ ทั้งๆ ที่ Ramanujan ไม่ได้รับการศึกษาสูง แต่เก่งคณิตศาสตร์มาก เพราะเหตุใดซึ่ง Hardy ก็ตอบว่า การไม่เรียนในระบบทำให้สมอง Ramanujan ผลิตงานที่ยิ่งใหญ่ได้ ในขณะที่คนทั่วไปที่ได้รับการศึกษาเต็มรูปแบบ ผลิตงานที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เลย

Mac Kac นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เคยแบ่งอัจฉริยชนออกเป็น 2 กลุ่มคือ อัจฉริยะธรรมดากับอัจฉริยะมหัศจรรย์ โดยในกลุ่มธรรมดานั้น Kac กล่าวว่า หากคนทั่วไปฉลาดขึ้น 100 เท่า ก็จะสามารถทำได้ดีเท่า แต่ในกลุ่มมหัศจรรย์นั้น ไม่มีใครรู้ว่า คนเหล่านี้คิดอะไรต่างๆ ได้อย่างไร Ramanujan กับ Einstein คือบุคคลตัวอย่างในกลุ่มเทวดาประเภทนี้

เมื่อ Ramanujan ใกล้ตาย ภรรยาของ Ramanujan ได้เล่าว่า สามีได้ทิ้งสมุดบันทึกซึ่งมีสูตรประมาณ 4,000 สูตรไว้หลายเล่ม แต่ครูเก่าของ Ramanujan ที่มหาวิทยาลัย Madras ได้มาหยิบไป ทำให้ ณ วันนี้โลกมีผลงานของ Ramanujan ไม่ครบ ถึงกระนั้นผลงานที่ปรากฏก็มีประโยชน์ต่อคนในหลายวงการ เช่น Rodney J. Baxter แห่ง Australian National University ได้พบว่า ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนสถานะของสสาร เขาต้องใช้สูตรสำเร็จของ Ramanujan หรือในทฤษฎี String ทั้ง Edward Witten และ Steven Weinberg ต่างก็ได้พบว่า เวลาคำนวณฟิสิกส์ใน 10 มิติ เขาต้องใช้สูตรของ Ramanujan เช่นกัน

ตัวอย่างต่อไปนี้ คือสูตรคณิตศาสตร์ของ Ramanujan



ชีวประวัติของปราชญ์คณิตศาสตร์คนนี้ แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งถ้าคุณได้รับจดหมายที่มีสูตรคณิตศาสตร์ประหลาดๆ ก็อย่าเพิ่งขยำจดหมายทิ้งลงถังขยะ เราอาจมีเพชร เช่น Ramanujan แห่งเมืองไทยที่กำลังต้องการความช่วยเหลือขึ้นมาเจียระไนก็ได้ และหากคุณต้องการอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับอัจฉริยะผู้อาภัพเพิ่ม ก็หาอ่านได้จาก The Man Who Knew Infinity : A Life of the Genius Ramanujan ซึ่งเขียนโดย Robert Kanigel ที่ New York Charles Scribner's Sons ครับ




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2548 0:46:42 น.
Counter : 9556 Pageviews.  

1  2  

mildsteel
Location :
Grenoble Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add mildsteel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.