ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

รู้จักกับมาตรา 7ของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวด บททั่วไป มาตรา 7 บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


หมายเหตุ

บทบัญญัตินี้อยู่ในหมวดทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่มีข้อบัญญัติพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ จึงสามารถนำบทนี้ไปใช้ได้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างฯเพื่อใช้ในยามจำเป็นเนื่องเพราะโลกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทำให้กฎหมายต้องวิวัฒนาการตามไปด้วย จึงอาจพบปัญหาที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญได้ การจะใช้มาตรานี้เราต้องอ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อนว่า มีการบัญญัติหัวข้อที่เราต้องการไว้หรือไม่ ถ้ามี เราต้องใช้หัวข้อนั้นก่อน จะใช้มาตรานี้จากบททั่วไปไม่ได้ มันเป็นหลักพื้นฐานและเป็นสากลของการใช้กฎหมาย ตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐสภาหรือองคมนตรีหรือองค์กรอิสระต่างๆ แม้แต่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีบัญญัติไว้ จะละเว้นไม่ใช้หัวข้อเหล่านี้ย่อมทำไม่ได้ เพราะไม่มีบทใดอนุญาตให้ยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือบทใดบทหนึ่งโดยบุคคลหรือคณะบุคคล เป็นต้น ดังนั้น มาตรานี้กำหนดขึ้นให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น และแก้ไขสิ่งที่แตกต่างจากหลักการในรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำลายมัน ส่วนเหตุผลของการไม่ชอบรายบุคคลหรือมีความใจร้อนในการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ไม่อาจนำมาตรานี้มาหยุดยั้งการใช้รัฐธรรมนูญของไทยได้ ความจริงที่ต้องยอมรับกันคือ มาตรา 7 เป็นหนึ่งใน 336 มาตราของรัฐธรรมนูญเท่านั้น


ตั้งสติ ใช้ปัญญา ไตร่ตรองถ้วนถี่ทุกข้อความของรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง
การฟังโดยไม่คิดพิจารณา ย่อมกลายเป็นเหยื่อของนักพูด
คนไทยมักไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงไม่รู้จักมันอย่างแท้จริง
ลองเปิดอ่านให้จบเล่ม แล้วจะรู้จักประเทศไทยถ่องแท้ขึ้น


**********************




 

Create Date : 28 มีนาคม 2549    
Last Update : 28 มีนาคม 2549 2:16:17 น.
Counter : 5217 Pageviews.  

การเนรเทศคนไทยโดยคนไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 36 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้

หมายเหตุ

รัฐธรรมนูญให้คนไทยใช้เสรีภาพของตนโดยต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่นด้วย เราจึงไม่มีสิทธิเนรเทศหรือจำกัดสิทธิของคนไทยคนใดมิให้เข้าประเทศหรือต้องออกจากเมืองไทยหรือห้ามการใช้สิทธิทางการเมือง ทั้งที่เขายังมีสัญชาติไทยโดยไม่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเรื่องนี้อย่างเสมอภาคกัน โดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นจะมีตำแหน่งสูงหรือฐานะต่ำต้อย ขอเพียงเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น ผู้มีสติปัญญาซึ่งเป็นคนไทย จึงต้องเคารพต่อสิทธิของคนไทยตามรัฐธรรมนูญด้วย ข้อเรียกร้องใดซึ่งละเมิดสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญไทยเป็นสิ่งที่คนไทยมิบังควรกระทำต่อคนไทยด้วยกัน เนื่องเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ผู้ใดส่งเสริมให้ละเมิดสิทธิของคนไทย ถือเป็นการจงใจทำละเมิดรัฐธรรมนูญและมีเจตนาไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย ก่อนจะเรียกร้องสิ่งใดพึงมองสำรวจสิทธิของตน เพราะเราจะให้ระงับสิทธิเดียวกันของคนอื่นไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษเท่านั้น จึงควรคิดไตร่ตรองก่อนจะคล้อยตามในการทำผิดกฎหมายด้วย

คนไทยมีเสรีภาพในการเรียกร้อง แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่นด้วย

************************




 

Create Date : 27 มีนาคม 2549    
Last Update : 27 มีนาคม 2549 0:23:01 น.
Counter : 2249 Pageviews.  

เสรีภาพการชุมนุมของคนไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 44 บัญญัติว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก


หมายเหตุ


รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการชุมนุมแก่คนไทย แต่ยินยอมให้รัฐจำกัดเสรีภาพนี้ได้โดยกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมืองไว้กรณีที่การชุมนุมนั้นก่อความเดือดร้อนและสร้างความรุนแรงในสังคม กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึกหรือกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น ดังนั้น การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมการใช้เสรีภาพชุมนุมที่เกินขอบเขต เช่น ก่อการจลาจล ปล้นร้านค้า บุกรุกสถานที่ของเอกชน และอื่นๆ จึงกระทำได้โดยไม่ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีข้อบัญญัติยอมให้ทำได้อย่างชัดเจน คนไทยสามารถชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ต้องไม่มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญ และทำลายสิทธิหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามอำเภอใจ อันเป็นเงื่อนไขให้ต้องถูกจำกัดเสรีภาพได้ตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมในสถานที่ของเอกชน ซึ่งมิใช่ที่สาธารณะ ถือเป็นการรบกวนสิทธิของคนอื่น เป็นสิ่งพึงหลีกเลี่ยง เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีข้อยกเว้นให้บุกรุกพื้นที่ของคนอื่นด้วยข้ออ้างว่าชื่นชอบสถานที่นั้น จึงต้องทำตามกฎหมายก่อนด้วยการยื่นคำขอใช้พื้นที่ของเขา หากก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของพื้นที่โดยเขาไม่ยินยอม ผู้ชุมนุมย่อมทำผิดกฎหมายและไม่มีความชอบธรรมเพียงพอจะเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนอื่น ส่วนการเดินประท้วงบนท้องถนน ต้องไม่ลืมสิทธิของผู้ใช้ถนนคนอื่นด้วย มิฉะนั้น จะเป็นความเห็นแก่ตัว ผู้ใช้ถนนก็มีสิทธิเรียกร้องความยุติธรรมจากผู้ชุมนุมที่ทำละเมิดสิทธิของเขาได้ ทุกครั้งที่เข้าร่วมชุมนุม พึงมีสติและใช้ปัญญาคิดพิเคราะห์คำสั่งของผู้นำการชุมนุมก่อนว่าเป็นการทำละเมิดกฎหมายหรือไม่ มิฉะนั้น เราอาจต้องไปใช้ชีวิตในคุกก็ได้

คนไทยชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้ แต่ห้ามละเมิดสิทธิของคนอื่น

************************




 

Create Date : 27 มีนาคม 2549    
Last Update : 27 มีนาคม 2549 0:20:40 น.
Counter : 624 Pageviews.  

หน้าที่และสิทธิเลือกตั้งของคนไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวดหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 67 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
มาตรา 68 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้ง โดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


หมายเหตุ

รัฐธรรมนูญกำหนดชัดว่า หน้าที่ของคนไทย คือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มิฉะนั้น จะเสียสิทธิตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการถอดถอนนักการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทุกประเภท สิทธิในการเสนอกฎหมาย เป็นต้น เราจักสังเกตได้ว่า ไม่มีบทลงโทษแก่พรรคการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่ของตนเหมือนที่ลงโทษคนไทยไว้ ทั้งที่มีเงินอุดหนุนจากทางการมอบให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเพื่อทำงานทางการเมืองเป็นจำนวนสูงและกำหนดชัดให้ต้องจ่ายแก่พรรคเหล่านั้น เมื่อพรรคประพฤติตนต่อต้านการเลือกตั้งอันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญและเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งทางการเมือง กลับไม่มีบทลงโทษพรรคการเมืองหรือผู้นำพรรค ส่วนคนไทยถูกบังคับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคการเมืองนำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมที่มิใช่ทางการเมืองหรือเพื่อต่อต้านการเลือกตั้งหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองกับคนไทยในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจึงมีความเหลื่อมล้ำกัน คนไทยพึงระลึกไว้เสมอว่า หนึ่งเสียงของท่านบอกเจตนาแท้จริงของตนได้ หน้าที่ของคนไทยต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธินี้เป็นของคนไทยตั้งแต่เกิด ไม่มีใครช่วงชิงมันได้และมีคนกลุ่มเดียวที่เป็นตัวแทนของคนไทย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งคนไทยเป็นผู้เลือกเข้าไปทำงานในสภาแทนท่านเท่านั้น การเลือกตั้งคืออิสรภาพของคนไทย หนึ่งเสียงสวรรค์กำหนดและตัดสินชะตาของชาติ บ้านเมืองจักสงบสุขได้เมื่อคนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างพร้อมเพรียงกัน คนทุกกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันจำต้องเคารพความเห็นของคนไทยในวันเลือกตั้ง หลายกลุ่มจึงพยายามขัดขวางการเลือกตั้งไว้เพราะไม่อยากยอมรับการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศและต้องการตั้งตนเป็นตัวแทนคนไทยที่มิได้มาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ที่จะแก้ปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ คือ คนไทยในวันเลือกตั้งเท่านั้น

*******************************




 

Create Date : 24 มีนาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2549 14:41:28 น.
Counter : 2065 Pageviews.  

การใช้เสรีภาพขัดขวางประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้


หมายเหตุ

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ เช่น การพูด การให้ความเห็น การประท้วง การเรียกร้อง เป็นต้น ไม่ว่าทำคนเดียวหรือกลุ่มคนหรือพรรคการเมือง ถ้ามีเจตนาเพื่อล้มล้างการเลือกตั้งอันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยและบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือต้องการเป็นผู้บริหารประเทศหรือส่งทอดอำนาจให้คนอื่นโดยไม่ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับในประเทศไทย คนที่เห็นการกระทำดังกล่าวอาจใช้สิทธิฟ้องให้หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษผู้ที่ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากพรรคการเมืองมีพฤติกรรมดังกล่าวต้องถูกยุบพรรคด้วย

***************************




 

Create Date : 24 มีนาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2549 14:33:49 น.
Counter : 493 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.