Theravadans in the World Today ..........and........ Buddhism For Dummies : Beliefs of Buddhism, Teachings of the Buddha, World Buddhism
Group Blog
 
All Blogs
 

ทวารและวัตถุที่เกิดของจิต



"สิ่งใดที่ไม่เที่ยงย่อมเป็นทุกข์จะเป็นสุขไม่ได้"

"เมื่อสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ เช่นการเห็นรูปารมณ์ เวทนาหรือการนึกคิดก็สามารถพิสูจน์ความจริงของพระธรรมได้ด้วยตนเอง"

"เราจะรู้แจ้งสัจจธรรมไม่ได้ถ้าเราปฏิบัติตามคนอื่นอย่างงมงายหรือคิดคาดคะเนเรื่องสัจจธรรม"

"พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เราดับกิเลสโดยอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 ตามความเป็นจริง"

"เราควรระลึกเสมอว่าพระอภิธรรมไม่ใช่ตำราที่มีแต่ทฤษฎีแต่เป็นการที่แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน"

"ถ้าสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏปัญญาก็เจริญขึ้นจนสามารถดับกิเลสได้ปัญญาขั้นนี้คมกล้ายิ่งกว่าความรู้ทางทฤษฎีใดๆทั้งสิ้น"

"จากการศึกษาพระอภิธรรมเราจึงรู้เรื่องปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดนามและรูป"




พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นอันตรายของการมัวเมาเพลิดเพลินในอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6 พระองค์ทรงสอนให้เราอบรมณ์เจริญปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน สิ่งใดที่ไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ จะเป็นสุขไม่ได้ เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะมัวเมาเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆน้อยลง

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภิกขุสูตร แสดงจุดประสงค์ของพระธรรมว่า

ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นในโลกนี้แล ย่อมถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสมณโคดมเพื่ออะไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ จึงพยากรณ์แก่ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้ว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พยากรณ์อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง จะไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนละหรือ"

"ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว .... เธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเราก็เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

ถ้าพวกอัญญเดียรถีร์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ทุกข์ซึ่งพวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีร์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส จักษุแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้จักษุเป็นทุกข์นั้น รูป ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แลฯ"


เมื่อสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ เช่น การเห็น รูปารมณ์ เวทนาหรือการนึกคิดก็สามารถ พิสูจน์ ความจริงของพระธรรมได้ด้วยตนเอง เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า อารมณ์ที่รู้ได้ทางทวาร 6 นั้นไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน เราจะรู้แจ้งสัจจธรรมไม่ได้ถ้าเราปฏิบัติตามคนอื่นอย่างงมงายหรือคิดคาดคะเนเรื่องสัจจธรรม

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปริยายสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุมีหรือหนอแล ที่จะให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล เว้นจากเชื่อผู้อื่นหรือเว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟังต่อๆกันมา เว้นจากการนึกเดาเอาตามเหตุ เว้นจากการถือเอาใจความตามความเห็นของตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเดิม เป็นผู้แนะนำเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุที่จะให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล ฯลฯ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ อันมีอยู่ในภายในว่า ราคะ โทสะ และโมหะ มีอยู่ในภายในของเรา หรือรู้ชัดซึ่ง ราคะ โทสะ และโมหะ อันไม่มีอยู่ในภายในว่า ราคะ โทสะ และโมหะ ไม่มีอยู่ในภายในของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้พึงทราบด้วยการเชื่อต่อผู้อื่น พึงทราบด้วยความชอบใจ พึงทราบด้วยการฟังต่อๆกันมา พึงทราบด้วยการนึกเดาเอาตามเหตุ หรือพึงทราบด้วยการถือเอาในความตามความเห็นของตนบ้างหรือหนอ"

"ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ "

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้พึงทราบได้เพราะเห็นด้วยปัญญามิใช่หรือ"

"อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ "

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุให้ภิกษุอาศัยพยากรณ์อรหัตผล เว้นจากการเชื่อผู้อื่น ... ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯลฯ "

ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็โดยนัยเดียวกัน


เมื่อศึกษาพระอภิธรรม เราไม่ควรลืมว่า พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เราดับกิเลส โดยอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นทางที่จะดับสังสารวัฏฏ์ เราควรระลึกเสมอว่า พระอภิธรรม ไม่ใช่ตำราที่มีแต่ทฤษฎี แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึง สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เราเรียนเรื่องนามธรรมและรูปธรรม เรื่องจิตที่มีกิจเฉพาะของจิตนั้นๆ ในปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิตเกิดดับรู้อารมณ์ตามวิถีต่างๆอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติเกิดรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ ปัญญาก็เจริญขึ้นจนสามารถดับกิเลสได้ ปัญญาชั้นนี้คมกล้ายิ่งกว่าความรู้ทางทฤษฎีใดๆทั้งสิ้น

นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับนั้นเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆปรุงแต่ง จากการศึกษาพระอภิธรรม เราจึงรู้เรื่องปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดนามและรูป สภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นนั้นอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเห็นเป็น วิบาก เป็นผลของ กรรม รูปารมณ์ เป็นปัจจัยของการเห็นโดยเป็น อารมณ์ ถ้าไม่มีรูปารมณ์ การเห็นก็เกิดไม่ได้ จักขุปสาทรูป ที่อยู่กลางตาซึ่งสามารถรับกระทบรูปารมณ์ได้นั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเห็น

จักขุปสาทรูป เป็น ทวาร ของการเห็นได้ ทวาร เป็น ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ กรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดดับตลอดชีวิต แต่จักขุปสาทก็ไม่ได้เป็นทวารตลอดเวลา เพราะไม่ใช่มีแต่การเห็นอยู่ตลอดเวลา จักขุปสาทเป็นทวารเมื่อจิตรู้รูปารมณ์ ปสาทรูปอื่นๆก็เช่นเดียวกัน คือ
ปสาทรูปเหล่านั้นเป็นทวารเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยปสาทนั้นๆ

จักขุปสาทเป็นทางที่จิตรู้รูปารมณ์ ไม่ใช่แต่ จักขุทวาราวัชชนจิต และ จักขุวิญญาณจิต เท่านั้นที่รู้อารมณ์ทางจักขุทวาร วิถีจิตอื่นๆในวาระเดียวกัน
คือ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และ ตทาลัมพณจิต ก็อาศัยจักขุทวารเดียวกันเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันนั้น เมื่อรูปารมณ์นั้นดับไปแล้ว มโนทวาร วิถีจิตก็รู้รูปารมณ์นั้นต่อ

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันทางทวารใดทวารหนึ่งใน 6 ทวาร เป็น วิถีจิต (วิถี แปลว่า ทาง) วิถีจิตต่างๆนั้นเรียกตามทวารที่วิถีจิตนั้นรู้อารมณ์ เช่น จิตที่รู้อารมณ์ทาง จักขุทวาร เรียกว่า จักขุทวารวิถีจิต จิตที่รู้อารมณ์ทาง โสตทวาร เรียกว่า โสตทวารวิถีจิต จิตที่รู้อารมณ์ทาง มโนทวาร เรียกว่า มโนทวารวิถีจิต

มี ภวังคจิต เกิดคั่นระหว่างวิถีจิตวาระหนึ่งๆ ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร 6 ภวังคจิตรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวารเลย ดังที่ได้ทราบแล้วว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ในชาติหนึ่งๆนั้นรู้อารมณ์เดียวกันกับชวนจิตสุดท้ายซึ่งเกิดก่อนจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต เป็น วิถีวิมุตติจิต (วิถีวิมุตติ แปลว่า พ้นจากวิถี) ฉะนั้นจิตเหล่านี้จึงต่างจากจิตที่เกิดทางปัญจทวารและมโนทวาร

การจำแนกจิตโดยนัยของทวารนั้นเป็นประโยชน์ ถ้าจำแนกจิตโดยนัยของ กิจ โดยไม่จำแนกโดยนัยของทวารแล้ว เราอาจไม่ทราบว่ากล่าวถึงจิตดวงไหน เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำ อาวัชชนกิจ ถ้าเราไม่ทราบว่าจิตดวงนี้กระทำอาวัชชนกิจทางทวาร 5 เราอาจสับสนกับ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำอาวัชชนกิจเหมือนกัน แต่มโนทวาราวัชชนจิตทำ อาวัชชนกิจ ทางมโนทวารเท่านั้น

จิตบางดวงทำกิจทางทวารเดียวเท่านั้น เช่น โสตวิญญาณ 2 ดวง (กุศลวิบาก 1 อกุศลวิบาก 1) กระทำกิจทางโสตทวารเท่านั้น จิตบางดวงทำกิจมากกว่าหนึ่งทวาร สัมปฏิจฉันนจิต กระทำกิจทางทวารทั้ง 5 ตามอารมณ์ที่กระทบทวารนั้นๆ สันตีรณจิต ทำกิจทางทวารต่างๆและทำกิจโดยไม่ต้องอาศัยทวารเลยก็ได้ คือ เมื่อสันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ

จิตจำแนกโดยนัยของ เวทนา ก็ได้ เช่น สันตีรณจิต เกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา โสมนัสสันตีรณจิต ทำสันตีรณกิจ ทาง ทวารทั้ง 5 และทำตทาลัมพณกิจ (เกิดหลังชวนจิต) ทางทวาร 6

อุเบกขาสันตีรณจิต (กุศลวิบาก 1 อกุศลวิบาก 1) ทำกิจได้ 5 กิจ คือ

สันตีรณกิจทางทวาร 5
ตทาลัมพณกิจทางทวาร 6
ปฏิสนธิกิจไม่ต้องอาศัยทวาร
ภวังคกิจไม่ต้องอาศัยทวาร
จุติกิจไม่ต้องอาศัยทวาร

ทวารเป็นทางที่วิถีจิตรู้อารมณ์ รูปซึ่งเป็นที่เกิด ของจิต (วัตถุรูป) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของจิต โดยเป็นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีทั้งนามและรูป จิตเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยร่างกายไม่ได้ จิตที่เกิดขึ้นมีรูปเป็นที่เกิด เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้นนอกร่างกายได้ไหม ขณะที่ได้ยินหรือคิดนึก จิตเกิดนอกร่างกายได้ไหม ย่อมเป็นไปไม่ได้ จิตเห็นเกิด ที่ไหน จิตเห็นจะเกิดขึ้นที่แขนหรือที่หูไม่ได้ จิตเห็นต้องมี ตา เป็นที่เกิด จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่อยู่กลางตาซึ่งรับกระทบรูปารมณ์ได้นั้นเป็น ที่เกิดของจิตเห็น ที่เกิดหรือ วัตถุรูป ไม่ใช่ ทวาร แม้ว่าจักขุปสาทรูปเป็นทั้งทวารและวัตถุของจักขุวิญญาณ ทวารและวัตถุก็มีกิจต่างกัน จักขุทวาร เป็นทางที่จักขุทวารวิถีจิตเกิด ซึ่งรู้อารมณ์ จักขุวัตถุ เป็นที่ตั้งที่เกิดของจักขุวิญญาณ จักขุวัตถุเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นที่เกิดของวิถีจิตอื่นๆ ในทวารวิถีนั้น วิถีจิตอื่นๆในทวารวิถีนั้นมีวัตถุอื่นเป็นที่เกิด วัตถุของโสตวิญญาณ คือ โสตปสาทรูป วัตถุของฆานวิญญาณ คือ ฆานปสาทรูป วัตถุของชิวหาวิญญาณ คือ ชิวหาปสาทรูป วัตถุของกายวิญญาณ คือ กายปสาทรูป

วัตถุที่ 6 ซึ่งไม่ใช่ปสาทรูปคือ หทยวัตถุ หทยวัตถุเป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่ไม่ใช่ปัญจวิญญาณจิต (จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น) เพราะปัญจวิญญาณจิตมีปสาทรูปเป็นที่เกิดหทยวัตถุต่างจากมโนทวาร มโนทวารเป็นจิต คือ ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นภวังคจิตสุดท้ายก่อนมโนทวาราวัชชนจิตเกิด หทยวัตถุเป็นรูป ไม่ใช่นาม

เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เกิดขึ้นมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด แต่โสตวิญญาณมีโสตปสาทรูปเป็นที่เกิด จิตอื่นๆที่เกิดต่อ ในทวารวิถีนั้นมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด มโนทวารวิถีจิต ทั้งหมดมี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด

วิถีวิมุตติจิต ซึ่งรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารนั้นก็เกิดที่รูปด้วย แม้ว่าวิถีวิมุตติจิตไม่อาศัยทวาร แต่ในภูมิที่มีทั้งนามและรูปนั้น วิถีวิมุตติจิตจะเกิดโดยไม่อาศัยหทยวัตถุไม่ได้ ชาติต่อไปเริ่มต้นขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งไม่ใช่มีแต่นามเท่านั้น แต่มีรูปด้วย หทยวัตถุ เป็นรูปซึ่งเป็น วัตถุ ที่เกิดของ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตทุกดวง และ จุติจิต มี หทยวัตถุ เป็นที่เกิด

ปสาทรูป 5 เป็นวัตถุของปัญจวิญญาณ สำหรับกายปสาท ซึ่งเป็นวัตถุของของกายวิญญาณ 2 ดวง (กุศลวิบาก 1 และอกุศลวิบาก 1) นั้นเกิดได้ทั่วร่างกาย รูปใดของร่างกายที่กระทบโผฏฐัพพะได้ รูปนั้นก็เป็นวัตถุของกายวิญญาณ

วัตถุ เป็นที่เกิดไม่เฉพาะแต่จิตเท่านั้น แต่เป็นที่เกิดของ เจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตด้วย ฉะนั้น เมื่อนามขันธ์ทั้ง 4 เกิด จะต้องมีรูปขันธ์ด้วย เว้นอรูปภูมิที่มีแต่นามเท่านั้น

การจำแนกจิตหลายๆนัย เช่น โดย กิจ โดย อารมณ์ โดย ทวาร โดย วัตถุ เป็นประโยชน์มาก เพราะจะทำให้เข้าใจเรื่องจิตแจ่มแจ้งขึ้น แต่ไม่ควรลืมว่า ความเข้าใจขั้นนี้ยังไม่ใช่ปัญญาที่จะละคลายโลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้นไปได้

ในสังยุตตนิกาย ขันธวรรค ปริญเญยยสูตร มีข้อความว่า พระนครสาวัตถีฯ

ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า

"ดูกรราธะ เราจักแสดงปริญเญยธรรม ธรรมอันบุคคลควรกำหนดรู้ ปริญญา ความกำหนดรู้ และปริญญาตาวีบุคคล บุคคลผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"

ท่านพระราธะรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน ดูกรราธะ รูปแลเป็นปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม สังขารเป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม ดูกรราธะ ธรรมเหล่านี้เรากล่าวว่าปริญเญยยธรรม

ดูกรราธะ ปริญญาเป็นไฉน

ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรากล่าวว่าปริญญา

ดูกรราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน

ผู้ที่เขาพึงเรียกกันว่าพระอรหันต์ คือ ท่านผู้ที่มีชื่ออย่างนี้ มีโครตอย่างนี้ ดูกรราธะ ผู้นี้เรากล่าวว่าปริญญาตาวีบุคคลฯ"


บางกาลพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโอวาทโดยละเอียด และบางกาลก็ทรงแสดงโอวาทโดยย่อ เพื่อเตือนให้ระลึกถึงจุดประสงค์ของพระธรรม ซึ่งทุกคนจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าเข้าใจพระธรรมเพื่ออะไร ถ้ามิใช่เพื่อนำไปสู่ความดับกิเลส





 

Create Date : 18 มกราคม 2553    
Last Update : 18 มกราคม 2553 13:15:10 น.
Counter : 581 Pageviews.  

อารมณ์และทวาร



"จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้"

"จิต นั่นเองที่รู้อารมณ์นั้น เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เราก็คิดว่าเป็นตัวเราที่รู้อารมณ์"

"ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏแต่ละขณะ"

"อารมณ์ทั้งหมดที่จิตรู้ได้มี 6 อารมณ์"

"เมื่อเราคิดว่าสิ่งที่เห็น เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ หรือเป็นคน เราคิดถึงบัญญัติของสิ่งที่เห็นแต่ไม่ใช่การรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา"

"ธัมมารมณ์ได้แก่ อารมณ์ทั้งหมดที่ไม่ใช่อารมณ์ 5 ธัมมารมณ์สามารถรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น"

"จะรู้ปสาทรูปได้ทางมโนทวารเท่านั้น เช่นเรามองไม่เห็นจักขุปสาท แต่เรารู้ว่ามีจักขุปสาทเพราะมีจิตเห็น"

"ถ้าเรายึดใน คำ "นาม" และ "รูป" และ คิดถึงเรื่องนามและรูป แทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะ ของนามและรูปที่ปรากฏ เราก็จะรู้แต่เพียงบัญญัติแทนที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง"




จิต รู้ อารมณ์ จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อมีอารมณ์ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวาร เรารู้ไหมว่า จิต นั่นเองที่รู้อารมณ์นั้น เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เราก็คิดว่าเป็นตัวเราที่รู้อารมณ์ และยิ่งไปกว่านั้น เรายึดถืออารมณ์นั้นว่าเที่ยง เป็นตัวตน เช่น เมื่อเห็นท่อนไม้ เรามักคิดว่าสิ่งที่ เห็น ขณะนั้นเป็นท่อนไม้ เราไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่มอง เห็น ได้ เมื่อ สัมผัส ท่อนไม้นั้น สภาพแข็ง หรือ สภาพเย็น ก็ปรากฏทาง กาย เราคิดว่าท่อนไม้นั้นไม่เสื่อมสลาย แต่สิ่งที่เราเรียกว่าท่อนไม้เป็นรูปต่างๆซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏแต่ละขณะ ถ้าเราระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏทางทวารต่างๆ เราจะประจักษ์สภาพธรรมต่างๆตามความเป็นจริงได้

พระอริยบุคคลรู้จักชีวิตต่างกะปุถุชน สิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นความสุข พระอริยบุคคลเห็นว่าเป็นทุกข์ สิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นทุกข์ พระอริยบุคคลเห็นว่าเป็นสุข

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เทวทหวรรคที่ 4
ปัคคัยสูตรที่ 1
ข้อความว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปราถนา น่าใคร่ และน่าพอใจ ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด รูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแลเป็นสิ่งอันชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก สมมุติว่าเป็น สุข ถ้าว่ารูปารมณเป็นต้น์เหล่านั้นดับไปในที่ใด ที่นั้นเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมุติว่าเป็นทุกช์ ส่วนว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่าเป็นสุข การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้ ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็น สุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่าเป็น ทุกข์ บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่าเป็นสุข เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก คนพาลผู้หลงไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้ เหมือนความมัวมนย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ....

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจิตรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ เพื่อให้เราพ้นจากความมืดบอด เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็รู้ว่า อารมณ์ทั้งหมดที่จิตรู้ได้มี 6 อารมณ์

อารมณ์ที่หนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือรูปารมณ์ ซึ่งรู้ได้ ทางตา เท่านั้น เราอาจเรียกว่า สิ่งที่เห็นทางตา หรือ สี เราอาจเรียกอารมณ์ว่าอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องรู้คือว่า เป็นสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา เท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่วัตถุสิ่งของหรือบุคคลดังที่เราคิด เมื่อเราคิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ หรือเป็นคน เราคิดถึงบัญญัติของสิ่งที่เห็น แต่ไม่ใช่การรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

อารมณ์ที่สอง คือ เสียง หรือ สัททารมณ์

อารมณ์ที่สาม คือ กลิ่น หรือ คันธารมณ์

อารมณ์ที่สี่ คือ รส หรือ รสารมณ์

อารมณ์ที่ห้า คือ อารมณ์ ที่สามารถรู้ได้ ทางกายหรือ โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์นี้ได้แก่:

สภาพแข็ง หรือ ธาตุดิน (ภาษาบาลีเรียกว่าปถวีธาตุ) ซึ่งปรากฏลักษณะ แข็ง หรือ อ่อน ให้รู้ได้

อุตุ หรือ ธาตุไฟ (ภาษาบาลีเรียกว่า เตโชธาตุ ) ซึ่งปรากฏลักษณะ ร้อน หรือ เย็น ให้รู้ได้

สภาพไหว หรือ ธาตุลม (ภาษาบาลีเรียกว่า วาโยธาตุ ) ซึ่งปรากฏลักษณะ ไหว หรือ ตึง ให้รู้ได้

สภาพแข็ง (ดิน) สภาพเกาะกุม (นํ้า) อุตุ (ไฟ) สภาพไหว (ลม) เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน 4 รูป (มหาภูตรูป) สภาพเกาะกุม (ภาษาบาลีเรียกว่า อาโปธาตุ) นั้นไม่สามารถรู้ได้ทางกายทวาร เมื่อกระทบนํ้า สภาพแข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น ไหวหรือตึง สามารถรู้ได้ทางกายทวาร สภาพเกาะกุม สามารถรู้ได้ ทางมโนทวาร เท่านั้น ลักษณะของธาตุนํ้าจึงเป็นอารมณ์ประเภทที่ 6 คือ ธัมมารมณ์

ธัมมารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ทั้งหมดที่ไม่ใช่อารมณ์ 5 ธัมมารมณ์ สามารถรู้ได้ ทางมโนทวารเท่านั้น

ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่รู้ชัดว่าอารมณ์ใดปรากฏทางทวารใด ยังสับสนเรื่องอารมณ์และทวาร ฉะนั้นจึงสับสนเรื่องโลก พระอริยบุคคลไม่สับสนเรื่องโลก ท่านรู้ว่าอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6 นั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่ตัวตน

ข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ฉฉักกสูตร ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวาร 6 สมัยที่พระผู้ทีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายเรื่องอายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 อายตนะภายใน 6 ได้แก่ ทวาร 6 ซึ่งเป็นทางรู้อารมณ์ที่ปรากฏ อายตนะภายนอก 6 ได้แก่ อารมณ์ 6 ซึ่งรู้ได้ทางทวาร 6 พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องวิญญาณ 6 ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยทวาร 6 และอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร 6 และทรงแสดงเรื่องผัสสะ 6 เวทนา 6 อันเกิดจากผัสสะ 6 ตัณหา 6 อันเกิดจากเวทนา 6 จึงเป็นธรรม 6 และ 6 คือหมวด 6 ของธรรม 6 ประเภท

พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องบุคคลที่มีโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อรู้อารมณ์ทางทวาร 6 ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง 3 เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินพูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รํ่าไห้ ครํ่าครวญ ทุ่มอก ถึงความหลงพร้อม จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ฯ"

ทางทวารอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

ข้อความต่อไป ทรงแสดงเรื่องบุคคลที่มีโยนิโส
มนสิการแทนโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งสามารถดับสังสารวัฏฏ์ ดังนี้

"เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่รํ่าไห้ ไม่ครํ่าครวญทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ .... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธัมมารมณ์ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน มโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ 60 รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล"



ธัมมารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ 6 นั้นมี 6 ประการ คือ

ปสาทรูป 5
สุขุมรูป 16
จิต
เจตสิก
นิพพาน
บัญญัติ


ธัมมารมณ์ประเภทที่ 1 คือปสาทรูป 5 เป็นรูปที่สามารถรับกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปสาทรูปไม่รู้อะไร เป็นรูป ไม่ใช่นาม เป็นทางให้จิตรู้อารมณ์ได้ ปสาทรูปเป็นอารมณ์ของจิตทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ จะรู้ปสาทรูปได้ทางมโนทวารเท่านั้น เช่น เรามองไม่เห็นจักขุปสาท แต่เรารู้ว่ามีจักขุปสาท เพราะมีจิตเห็น

สำหรับ รูปละเอียด (สุขุมรูป) นั้นมี 16 รูป รูปทั้งหมดมี 28 รูป เป็น รูปหยาบ 12 รูป (โอฬาริกรูป) และ รูปละเอียด 16 รูป
(สุขุมรูป)

รูปหยาบ 7 รูป สามารถรู้ได้ทางทวาร 5 คือ รูปหยาบ 4 รูปรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น ตามลำดับ อีก 3 รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รู้ได้ทางกาย นอกจากนั้นมีรูปหยาบอีก 5 รูปคือปสาทรูป 5 ซึ่งเป็นทางให้รู้อารมณ์ 5 นี้ได้ปสาทรูป 5 เป็นธัมมารมณ์

สุขุมรูป 16 รูป รู้ได้เฉพาะ ทางมโนทวารเท่านั้น เช่น โอชา วจีวิญญัตติ ซึ่งเป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดคำพูด กายวิญญัตติ เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดการแสดงความหมายออกทางกาย

ลักษณะของสุขุมรูปจะรู้ได้หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัญญา การคิดถึง สุขุมรูปใดรูปหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา ซึ่งรู้ลักษณะของรูปนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน

จิต เป็นธัมมารมณ์ จิตรู้อารมณ์ แต่จิตก็เป็นอารมณ์ด้วยเหมือนกัน จิตมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือจิตอื่นๆ เป็นอารมณ์ก็ได้

ธัมมารมณ์อีกประเภทหนึ่ง คือ เจตสิกทั้ง 52 ดวง เวทนา เป็นเจตสิก ขณะที่จิตรู้ทุกขเวทนา ขณะนั้นอารมณ์ของจิตเป็นธัมมารมณ์ ขณะรู้ลักษณะ แข็ง อารมณ์ขณะนั้นไม่ใช่ธัมมารมณ์ แต่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ความแข็งและความไม่สบายทางกายปรากฏต่อกันได้ ถ้าไม่สังเกตุสำเหนียกว่า ความแข็งและความไม่สบายทางกายเป็นอารมณ์ต่างกัน และไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ก็จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนต่อไป

จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แม้ นิพพาน จิตก็รู้ได้ นิพพาน เป็น ธัมมารมณ์ ซึ่งรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ฉะนั้นจิตรู้ได้ทั้ง สังขารธรรม และ วิสังขารธรรม จิตที่รู้สังขารธรรมเป็น โลกียจิต (โลกียะในทางธรรมมีความหมายไม่เหมือนโลกียะที่เข้าใจกันทั่วๆไปในทางโลก) จิตที่ประจักษ์แจ้งนิพพานเป็น โลกุตตรจิต

ธัมมารมณ์อีกประเภทหนึ่งคือ บัญญัติ จะเห็นว่าจิตรู้ได้ทั้ง ปรมัตถธรรม คือนามธรรมและรูปธรรม และ บัญญัติธรรม ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม

เรื่องหรือคำที่จิตคิดไม่ใช่ปรมัตถธรรม เราคิดถึงคน สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของได้เพราะการทรงจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่
ปรมัตถธรรมที่ประจักษ์แจ้งได้ เมื่อ คิดนึก ถึงคำหรือเรื่อง ขณะนั้นมีนามธรรมที่คิด นามธรรมเป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้น สภาพธรรม ในขณะนั้นคือ จิตคิดนึก

คำที่บัญญัติขึ้นอาจหมายถึงทั้งสภาพธรรมที่มีจริงและสิ่งที่ไม่มีจริง คำบัญญัตินั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ใช้เรียกปรมัตถธรรม เช่น คำว่า "นาม" และ "รูป" เป็น บัญญัติ แต่เป็นคำที่ใช้เรียกปรมัตถธรรม เป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงความต่างกันของปรมัตถธรรมและบัญญัติ ถ้าเรายึดใน คำ "นาม" และ "รูป" และ คิดถึง เรื่องนามและรูป แทนที่สติจะระลึกรู้ ลักษณะ ของนามและรูปที่ปรากฏ เราก็จะรู้แต่เพียงบัญญัติ แทนที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

อารมณ์ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูป ส่วนธัมมารมณ์ 6 ได้แก่ จิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ

อารมณ์ต่างๆรู้ได้ ทางทวาร ต่างๆเช่น จักขุปสาทรูป (รูปที่รับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาได้) เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตรู้อารมณ์ทางตา
ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป จิตจะรู้อารมณ์ทางตาไม่ได้เลย

จิตที่เป็นปัญจทวารวิถีรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับกายทวารนั้น กายปสาทที่กระทบอารมณ์ทางกาย เช่น แข็ง อ่อน ร้อน เย็น ไหว หรือ ตึง นั้นคือส่วนที่กระทบโผฏฐัพพารมณ์ได้ ฉะนั้นกายทวารจึงมีทั่วไปในร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดเว้นส่วนที่ปราศจากความรู้สึก

ทวาร 5 เป็นรูป ทวารเดียวเท่านั้นเป็นนาม มโนทวาร เป็น นาม มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ทางมโนทวาร ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิต ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิตเป็น มโนทวาร เป็นทางที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์

การรู้ว่าจิตรู้อารมณ์ทางทวารใดนั้นเป็นประโยชน์ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาหรือรูปารมณ์นั้นรู้ได้ทางจักขุทวารและทางมโนทวาร วิถีจิตทางตารู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ วิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดต่อจากจักขุทวารวิถีนั้นรู้รูปารมณ์ที่เพิ่งดับ ขณะนั้นไม่ได้คิดถึงบุคคลหรือวัตถุสิ่งของ แต่มโนทวารวิถีอีกหลายวาระก็เกิดขึ้นคิดถึงบุคคลหรือสิ่งของ อารมณ์ในขณะนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่รูปารมณ์ การรู้รูปารมณ์เป็นปัจจัยให้คิดถึงเรื่องราวบัญญัติต่างๆในภายหลัง

ชวนจิตเกิดทั้งในปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ชวนจิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เมื่อรูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวาร ขณะนั้นยังไม่เห็นเป็นบุคคลหรือวัตถุ แต่ในปัญจทวารวิถีนั่นเอง โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ในสิ่งที่เห็นก็เกิดได้ กิเลสเหนียวแน่นมาก เกิดได้ทั้ง 6 ทวาร เราอาจคิดว่าการเป็นทาสของอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารนั้นเป็นเพราะอารมณ์นั้นเอง แต่ความจริงแล้วกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ แต่เพราะกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตซึ่งรู้อารมณ์นั้น

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โกฏฐิกสูตร ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิกะพำนักอยู่ในป่าอิสิปตนะ ใกล้เมืองพาราณสี ท่านพระมหาโกฏฐิกะ กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

"ดูกรท่านพระสารีบุตร จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ"

"ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ลิ้นและใจก็โดยนัยเดียวกัน .... ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยรสกับลิ้น ธัมมารมณ์กับใจ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ โคดำกับโคขาว เขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ"

"ดูกรท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่อย่างนั้น"

"ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้นหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นกับรสทั้งสองนั้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในลิ้นและรสนั้น ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์ก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธัมมารมณ์ทั้งสองนั้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธัมมารมณ์
เท่านั้น

ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือรูปจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ ฯลฯ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ ..... พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ .... แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายนี้"










 

Create Date : 17 มกราคม 2553    
Last Update : 17 มกราคม 2553 18:35:35 น.
Counter : 357 Pageviews.  

กิจของตทาลัมพณจิตและจุติจิต

"รูปดำรงอยู่ได้นาน 17 ขณะ"

"วิถีจิตทุกดวงตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต รู้อารมณ์เดียวกันที่กระทบปสาทใดปสาทหนึ่ง"

"ใน กามวิถี เท่านั้นที่กรรมเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพณเกิดต่อจากชวนจิตได้"

"ตทาลัมพณจิตไม่ได้รู้อารมณ์เฉพาะทางปัญจทวารเท่านั้น แต่รู้ทางมโนทวารได้ด้วย"

"นอกจากทำสันตีรณกิจแล้ว สันตีรณจิตยังทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจจุติกิจ และตทาลัมพณกิจ ได้ด้วย"

"กิจสุดท้ายของจิตในชาติหนึ่งๆคือ จุติกิจ"

"สำหรับผู้ที่บรรลุสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์จุติจิตก็จะต้องเกิด แต่ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ ฉะนั้นจึงไมมีการเกิดแก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป"

"ผู้ที่รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงก่อนสิ้นชีวิตเนื่องจากอุปัทวเหตุหรือความเจ็บป่วยชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตไม่จำเป็นต้องเป็นอกุศลจิต"

"ขณะที่เจ็บปวดมากนั้นอาจจะเกิดโทสะ แต่ชวนจิตสุดท้ายอาจเป็นกุศลจิตก็ได้ถ้ามีโยนิโสมนสิการก่อนจุติจิต"





อารมณ์ที่กระทบปสาท 5 นั้นจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะก็ได้ อารมณ์เหล่านี้เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ไม่รวดเร็วเท่านามธรรม รูปดำรงอยู่ได้นานถึง 17 ขณะจิต ขณะที่รูปกระทบปสาทใดปสาทหนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ได้เกิดทันที ต้องมีภวังคจิตเกิดก่อน คือ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายก่อนกระแสภวังค์สิ้นสุดลง ภวังคจิตเหล่านี้ไม่รู้รูปซึ่งกระทบปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต รู้อารมณ์ที่กระทบปสาทแล้ว ทวิปัญจวิญญาณ เช่น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ซึ่งเป็นวิบากจิตจึงเกิดต่อ วิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่วิบากจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่เป็นวิถีจิต แต่มีวิบากจิตหลายดวง เช่น สัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ และสันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นวิบากจิต โวฏฐัพพนจิตซึ่งเกิดต่อจากสันตีรณจิตเป็นกิริยาจิต เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีชวนจิต 7 ดวงที่เป็นอกุศลหรือกุศลเกิดสืบต่อ วิถีจิตทุกดวง ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต รู้อารมณ์เดียวกันที่กระทบปสาทใดปสาทหนึ่ง

ดังที่ได้ทราบแล้วว่า รูปหนึ่งมีอายุนานเท่ากับจิต 17 ขณะ ถ้ารูปซึ่งกระทบปสาทเกิดในขณะเดียวกันกับอตีตภวังค์ เมื่อชวนจิตที่เจ็ดดับไปแล้วรูปก็ยังไม่ดับ จิตเกิดดับไปเพียง 15 ดวงเท่านั้นตั้งแต่อตีตภวังค์ ฉะนั้นจึงยังมีวิถีจิตอีก 2 ดวงที่จะรู้อารมณ์นั้นได้อีก หลังจากที่ชวนจิตดับแล้ว วิบากจิต 2 ดวงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิต 2 ดวงนี้เป็น ตทารัมมณจิต (ตทารัมพณจิต) ซึ่งทำตทาลัมพณกิจ หรือ ตทาลัมมณกิจ คือ กิจรับอารมณ์ต่อจากชวนจิต โดยพยัญชนะ ตทาลัมพณ แปลว่า "อารมณ์นั้น" เมื่อตทาลัมพณจิตดับแล้ว ปัญจทวารวิถีก็เกิดครบทุกวิถี ถ้ารูปที่กระทบปสาทเกิดก่อนอตีตภวังค์ วิถีจิตก็เกิดไม่ครบทุกวิถี เพราะว่ารูปดับก่อน ตทาลัมพณจึงเกิดไม่ได้

ใน กามวิถี เท่านั้นที่กรรมเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพณเกิดต่อจากชวนจิตได้ สำหรับผู้ที่เกิดในรูปาวจรภูมิ ซึ่งมีกามอารมณ์น้อยกว่า และสำหรับผู้ที่เกิดใน อรูปาวจรภูมิ ซึ่งไม่มีกามอารมณ์เลยนั้น ไม่มีตทาลัมพณจิต [การเกิดในรูปพรหมภูมิเป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต(รูปฌานจิต) และการเกิดในอรูปพรหมภูมิเป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต(อรูปฌานจิต)]

รวมประเภทจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันตั้งแต่รูปกระทบปสาท และเป็นอารมณ์ของปัญจทวารวิถีจิต ดังนี้

อตีตภวังค์
ภวังคจลนะ
ภวังคุปัจเฉทะ
ปัญจทวาราวัชชนจิต
ทวิปัญจวิญญาณจิต
สัมปฏิจฉันนจิต
สันตีรณจิต
โวฏฐัพพนจิต
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ชวนะ กุศลหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) แล่นไปในอารมณ์
ตทาลัมพณจิต
ตทาลัมพณจิต


ตทาลัมพณจิตไม่ได้รู้อารมณ์เฉพาะทางปัญจทวารเท่านั้น แต่รู้ทางมโนทวารได้ด้วย ทางปัญจทวารวิถี ตทาลัมพณจิตจะเกิดก็ต่อเมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ ถ้าตทาลัมพณจิตเกิดทางปัญจทวารวิถีแล้วมโนทวารวิถีที่เกิดต่อจากปัญจทวารวิถีนั้น ก็มีตทาลัมพณเกิดด้วย

ตทาลัมพณจิต เป็น วิบากจิต ซึ่งสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง 6 ทวาร ถ้าอารมณ์นั้นเป็นรูปารมณ์ (สิ่งที่ปรากฏทางตา) จิตรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร ตทาลัมพณก็เป็นจักขุทวารวิถี คือ รู้อารมณ์นั้นทางตา ตทาลัมพณจิตทางมโนทวารวิถีที่เกิดต่อจากจักขุทวารวิถีนั้นก็รู้อารมณ์นั้นทางมโนทวาร ถ้าอารมณ์ที่กระทบทางปัญจทวารเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี วิบากจิตที่เกิดทางทวารนั้นทุกดวงรวมทั้งตทาลัมพณจิตด้วย (ถ้าตทาลัมพณจิตเกิด) ก็เป็นอกุศลวิบาก ตทาลัมพณจิตทางมโนทวารซึ่งเกิดต่อจากปัญจทวารวิถีนั้นก็เป็นอกุศลวิบากด้วย ถ้าอารมณ์ที่กระทบปัญจทวารเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี วิบากจิตทุกดวงที่เกิดทางทวารนั้นรวมทั้งตทาลัมพณจิตด้วยก็เป็นกุศลวิบาก ตทาลัมพณจิตทางมโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อจากปัญจทวารก็เป็นกุศลวิบากเช่นเดียวกัน

จิตที่ทำกิจตทาลัมพณะมี 11 ดวง คือ อเหตุกวิบากจิต 3 ดวง (ไม่ประกอบด้วยเหตุ) และ สเหตุกวิบากจิต 8 ดวง (ประกอบด้วยโสภณเหตุ)

ถ้าตทาลัมพณจิตเป็น อเหตุกะ สันตีรณจิต ก็ทำกิจตทาลัมพณะ ดังที่ทราบแล้วว่า สันตีรณจิตซึ่งเป็นอเหตุกวิบากจิตสามารถทำกิจได้มากกว่าหนึ่งกิจ สันตีรณจิตทำสันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารวิถีสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต นอกจากทำสันตีรณกิจแล้วสันตีรณจิตยังทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และตทาลัมพณกิจได้ด้วย

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สันตีรณจิตมี 3 ประเภท คือ

สันตีรณจิตเป็นอกุศลวิบาก เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
สันตีรณจิตเป็นกุศลวิบาก เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
สันตีรณจิตเป็นกุศลวิบาก เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา


สันตีรณจิตดวงที่ 1 และดวงที่ 2 (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากและอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก) เท่านั้นที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติได้ สันตีรณจิตทั้ง 3 ประเภททำกิจพิจารณาอารมณ์ (สันตีรณกิจ) ได้ ส่วนโสมนัสสันตีรณจิตกระทำสันตีรณกิจเมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง

จิตเกิดดับทำกิจตลอดเวลา กิจสุดท้าย ของจิตในชาติหนึ่งๆ คือ จุติกิจ เมื่อกล่าวโดยสมมุติว่า คนหนึ่งสิ้นชีวิต จุติจิต ซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายของชาตินั้นดับแล้วปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปก็เกิดต่อจุติจิต

ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนไม่ว่าจะเกิดในนรกภูมิ หรือมนุษยภูมิ หรือเทวภูมิ ก็ต้องมีจุติจิต ในพระไตรปิฎกมีเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บป่วย และการตาย เมื่อเกิดแล้วก็แก่ ก่อนที่จะเจ็บป่วย เพราะเมื่อเกิดแล้วก็แก่ลง

ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรคที่ 3 สัลลสูตรที่ 8 มีข้อความว่า

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครรู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วจะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้าฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์ฉันนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุดแม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้ว ต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็นเหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตายกำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไป เหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียวฉะนั้น ความตายและความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่มีเศร้าโศก ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะครํ่าครวญไปก็ไร้ประโยชน์

ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมเศร้าโศก แต่ผู้เจริญมัคค์มีองค์ 8 ย่อมเศร้าโศกน้อยลง สำหรับผู้ที่บรรลุสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์ จุติจิตก็จะต้องเกิด แต่ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ ฉะนั้นจึงไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป

ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มหาวรรค ภยสูตร มีข้อความว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย 3 อย่างนี้ เป็นอมาตาปุตติภัย 3 อย่างนี้เป็นไฉน

มารดานี้ย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่ บุตรของเราอย่าได้แก่ ก็หรือว่า เมื่อมารดาแก่ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่ มารดาของเราอย่าได้แก่ ความเจ็บไข้ ความตายก็โดยนัยเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย 3 อย่างนี้แล เป็นอมาตาปุตติกภัยฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละเพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย 3 อย่างนี้ และอมาตาปุตติกภัย 3 อย่างนี้มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย 3อย่างนี้ และอมาตาปุตติกภัย 3 อย่างนี้เป็นไฉน

คืออริยมรรคมีองค์ 8 นี้แล กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ .......สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละเพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย 3 อย่างและอมาตาปุตติกภัย 3 อย่างนี้แลฯ"


ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์นั้น ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจุติจิต ก่อนจุติจิตเกิด มีชวนจิตเกิด 5 ดวง แทนที่จะมี 7 ดวง ชวนจิตเหล่านี้เป็นชวนจิตสุดท้ายในชาตินั้น ถ้ากุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ชวนจิต 5 ดวงสุดท้ายก็เป็นกุศล และถ้าอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ชวนจิตเหล่านี้ก็เป็นอกุศล ชวนจิตเหล่านี้รู้อารมณ์ที่น่ายินดีหรือไม่น่ายินดีทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร อารมณ์นั้นปรากฏโดยกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดเป็นปัจจัย คนที่ใกล้จะตายอาจจะคิดถึงกรรมที่ได้ทำมาแล้ว หรือเห็นนิมิตของกรรม (ที่ได้ทำมาแล้ว) หรือเห็นนิมิตของสถานที่ที่จะเกิดในภพต่อไป อาจจะมีตทาลัมพณจิตเกิดต่อชวนจิตหรือไม่มีก็ได้ จุติจิตทำกิจเคลื่อนจากชาตินั้น จุติจิตเป็นวิบากจิตที่เกิดจากกรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิดในชาตินั้น จิตทั้ง 3 ดวงเป็นจิตประเภทเดียวกันและรู้อารมณ์เดียวกัน

เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อซึ่งจะเป็นจิตประเภทไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับกรรมที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ปฏิสนธิจิตดวงนี้รู้อารมณ์เดียวกับชวนจิต 5 ดวงสุดท้ายที่เกิดก่อนจุติจิตในชาติก่อน ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตทุกดวง และจุติจิตของชาติหน้ารู้อารมณ์เดียวกันนั้น

จิตประเภทเดียวกันที่ทำปฏิสนธิกิจและภวังคกิจนั้นทำจุติกิจด้วย เมื่อมี จิต 19 ดวง ทำ ปฏิสนธิกิจ และ ภวังคกิจ ก็มี จิต 19 ดวง ทำ จุติกิจ

ผู้ที่รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงก่อนสิ้นชีวิตเนื่องจากอุปัทวเหตุหรือความเจ็บป่วย ชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตไม่จำเป็นต้องเป็นอกุศลจิต ขณะที่เจ็บปวดมากนั้นอาจจะเกิดโทสะ แต่ชวนจิตสุดท้ายอาจเป็นกุศลจิตก็ได้ถ้ามีโยนิโสมนสิการก่อนจุติจิต

ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ 1 ผัคคุณสูตร มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะซึ่งอาพาธหนัก ท่านพระผัคคุณะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี จิตของท่านยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่าน
พระผัคคุณะว่า

"ดูกรผัคคุณะ เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมบรรเทา ไม่กำเริบหรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คม ฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยัง
อัตตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทาฯ"

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถาให้พระผัคคุณะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละ และในเวลาตาย อินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้นผ่องใสยิ่งนักฯ

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเผ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลาตาย อินทรีย์ท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก"

"ดูกรอานนท์ ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องตํ่า 5 เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรมในกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร 6 ประการนี้
6 ประการนี้เป็นไฉน

ดูกรอานนท์ จิตของพระภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องตํ่า 5 ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ (ชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ คำนี้หมายถึงชีวิตของบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่รักษาอุโบสถศีล ทั้งยังใช้กับผู้เจริญมัคค์มีองค์ 8 ด้วย จุดมุ่งหมายของพรหมจรรย์ คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท) พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องตํ่า 5 (ผู้ที่บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นที่สาม คือ พระอนาคามีบุคคล ดับโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ได้) เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ 1 ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

อีกประการหนึ่ง ..... เธอไม่ได้เห็นตถาคต แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรม .... ประกาศพรหมจรรย์ .... จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องตํ่า 5 ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ 2 ในการฟังธรรมโดยกาลอันควรฯ

อีกประการหนึ่ง ..... เธอไม่ได้เห็นตถาคตและไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องตํ่า 5 ดูกรอานนท์นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ 3 ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควรฯ"

พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความเดียวกันนี้กะพระภิกษุซึ่งได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว และเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมและพิจารณาธรรมในขณะที่กำลังฟังธรรมนั้นด้วย ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์


กิจของจิตโดยย่อ

ปฏิสนธิกิจ (เกิด)
ภวังคกิจ (ดำรงภพชาติ)
อาวัชชนกิจ (รู้ว่าอารมณ์กระทบ)
ทัสสนกิจ (เห็น)
สวนกิจ (ได้ยิน)
ฆายนกิจ (ได้กลิ่น)
สายนกิจ (ลิ้มรส)
ผุสสนกิจ (สัมผัสทางกาย)
สัมปฏิจฉันนกิจ (รับอารมณ์)
สันตีรณกิจ (พิจารณาอารมณ์)
โวฏฐัพพนกิจ (ตัดสินอารมณ์)
ชวนกิจ (แล่นไปในอารมณ์)
ตทาลัมพณกิจ (รับอารมณ์ต่อจากชวนจิต)
จุติกิจ (ตาย)






หนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ

An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live

Most Popular Books on Buddhism

Theravada Buddhism Recommended Reading









 

Create Date : 15 ตุลาคม 2552    
Last Update : 15 ตุลาคม 2552 23:37:57 น.
Counter : 430 Pageviews.  

จิตแล่นไปในอารมณ์ [ชวนกิจ]


"จิตขณะแรกๆที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวารนั้นไม่ใช่กุศลจิตหรืออกุศลจิตแต่เป็นกิริยาจิตและวิบากจิต"

"ตามปรกติแล้วจิตที่ทำชวนกิจเกิดดับสืบต่อกัน 7 ขณะ ถ้าชวนจิตขณะแรกเป็นกุศลชวนจิตที่เกิดสืบต่อ 6 ขณะก็เป็นกุศล ถ้าชวนจิตขณะแรกเป็นอกุศล ชวนจิตที่เกิดสืบต่อ 6 ขณะก็เป็นอกุศล"

"จิตที่ทำชวนกิจ มี 55 ดวง คือ อกุศลจิต 12 ดวง กามาวจรกุศลจิต 8 ดวง มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ 8 ดวง"

"วิบากจิตภูมิอื่นๆทำชวนกิจไม่ได้แต่โลกุตตรวิบากจิตทำชวนกิจได้"

"แต่ละครั้งที่ความไม่พอใจเกิดขึ้นวิถีจิตหลายวาระเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นและในแต่ละวาระนั้นก็มีอกุศลชวนจิตเกิด 7 ขณะ"

"ปุถุชนอาจล่วงศีลได้เมื่อมีเหตุปัจจัย แต่พระอริยบุคคลไม่มีเหตุปัจจัยที่จะล่วงศีลอีกเลย"

"ขณะที่หลงลืมสติ เราก็ยึดถืออารมณ์ที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน"




ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะทางกาย หรือรู้อารมณ์ทางใจ ไม่ใช่มีจิตแต่เพียงดวงเดียวที่รู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ แต่ วิถีจิตต่างๆ เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกันนั้น เมื่อรูปกระทบทวารใดทวารหนึ่ง ก็มีจิตหลายดวงเกิดขึ้นรู้รูปนั้นสืบต่อกัน เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นดับหมดแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้รูปนั้นอีก ปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถีเกิดดับสืบต่อตลอดเวลา
เราอาจไม่รู้ว่าอกุศลจิตหรือกุศลจิตเกิดขึ้นทางปัญจทวารและมโนทวาร ความไม่รู้ที่ได้สะสมมาทำให้เราไม่รู้ชัดในอกุศลจิตและกุศลจิต และไม่รู้กิเลสที่ละเอียดกว่านั้น

จิตขณะแรกๆที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวารนั้นไม่ใช่กุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิตและวิบากจิต ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นอเหตุกกิริยาจิต (กิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุหรืออกุศลเหตุ) เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ทวิปัญจวิญญาณ ดวงหนึ่งก็เกิดสืบต่อ (ปัญจวิญญาณ 5 คู่ คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้น) ทวิปัญจวิญญาณเป็นอเหตุกวิบาก ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ก็มีอเหตุกวิบากจิต 2 ดวงเกิดสืบต่อคือ สัมปฏิจฉันนนจิต ซึ่งรับอารมณ์ และ สันตีรณจิต ซึ่งพิจารณาอารมณ์ โวฏฐัพพนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิตเกิดต่อจากสันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตตัดสินอารมณ์ ต่อจากโวฏฐัพพนจิตก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จิตของพระอรหันต์ที่เกิดสืบต่อโวฏฐัพพนจิตจะไม่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิต เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันนั้น โดยมี ภวังคจิต เกิดคั่นก่อน แล้ว มโนทวาราวัชชนจิต จึงเกิดทำกิจนึกถึงอารมณ์ทางมโนทวาร เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กุศลจิตหรืออกุศลก็เกิดต่อ มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล แต่เป็นอเหตุกกิริยาจิต

เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วมากจึงยากที่จะรู้ว่าจิตที่เกิดขึ้นนั้นต่างกัน บ่อยทีเดียวที่เราอาจไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต เช่น หลังจากเห็นแล้ว อาจไม่รู้ว่าพอใจหรือไม่พอใจสิ่งที่เห็น หรือว่าไม่รู้สภาพธรรมขณะนั้น ถ้าศึกษาธรรมเราก็จะรู้ถึงกิเลสที่ละเอียดขึ้น การไม่รู้จักอกุศลย่อมเป็นโทษภัย เมื่อไม่รู้ว่าอกุศลจิตเกิดก็ย่อมสะสมอกุศลมากขึ้นๆ

กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดขึ้นกระทำ ชวนกิจ คือแล่นไปในอารมณ์ ทางปัญจทวารวิถีนั้น โวฏฐัพพนจิตตัดสินอารมณ์แล้ว ชวนจิตจึงเกิด และทางมโนทวารวิถี มโนทวาราวัชชนจิตรับรู้อารมณ์แล้ว ชวนจิตจึงเกิด ฉะนั้น กุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อจึงมีกิจเดียวเท่านั้นคือ "แล่นไป" ในอารมณ์ ตามปรกติแล้ว จิตที่ทำชวนกิจเกิดดับสืบต่อกัน 7 ขณะ ถ้าชวนจิตขณะแรกเป็นกุศล ชวนจิตที่เกิดสืบต่อ 6 ขณะก็เป็นกุศล ถ้าชวนจิตขณะแรกเป็นอกุศล ชวนจิตที่เกิดสืบต่อ 6 ขณะก็เป็นอกุศล เรารู้ไหมว่า ขณะไหนชวนจิตเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือกุศลจิต ส่วนใหญ่แล้วเราไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเลยแม้ในขณะที่ชวนจิตเกิด

จิต ที่ทำ ชวนกิจ มี 55 ดวง คือ อกุศลจิต 12 ดวง (โลภมูลจิต 8 ดวง โทสมูลจิต 2 ดวง และโมหมูลจิต 2 ดวง) กามาวจรกุศลจิต 8 ดวง (มหากุศลจิต) มหากิริยาจิต ของพระอรหันต์ 8 ดวง (กิริยาจิตซึ่งไม่ใช่อเหตุกะแต่ประกอบด้วยโสภณเหตุ) พระอรหันต์มีมหากิริยาจิตแทนมหากุศลจิต เพราะพระอรหันต์ไม่ได้สะสมกรรมอีกต่อไป มหากิริยาจิตเป็นกามภูมิซึ่งไม่ใช่ฌานจิตหรือโลกุตตรจิต พระอรหันต์มีกามาวจรจิต ท่านเห็น ท่านได้ยินหรือคิดเรื่องปัญจารมณ์ แต่ไม่ว่าพระอรหันต์รู้อารมณ์ใดก็ตาม กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ไม่เกิด

พระอรหันต์มี อเหตุกกิริยาจิต ที่ทำชวนกิจด้วย คือ หสิตุปปาทจิต ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระอรหันต์แย้มยิ้ม

สำหรับผู้ที่บรรลุรูปฌานก็มี รูปาวจรกุศลจิตได้ 5 ดวง เพราะรูปฌานมี 5 ขั้น พระอรหันต์ที่บรรลุรูปฌานก็มี รูปาวจรกิริยาจิตได้ 5 ดวง ซึ่งทำชวนกิจ

สำหรับผู้ที่บรรลุอรูปฌาน ก็มี อรูปาวจรกุศลจิตได้ 4 ดวง เพราะอรูปฌานมี 4 ขั้น พระอรหันต์ที่บรรลุอรูปฌานก็มี อรูปาวจรกิริยาจิตได้ 4 ดวง ซึ่งทำชวนกิจ

ผู้ที่รู้แจ้งพระนิพพานมี โลกุตตรจิต โลกุตตรจิตมี 8 ดวงเป็น มัคคจิต 4 ดวง และ ผลจิต 4 ดวง (โลกุตตรจิตจัดเป็น 4 คู่ เพราะการประจักษ์แจ้งพระนิพพานมี 4 ขั้น) วิบากจิตภูมิอื่นๆทำชวนกิจไม่ได้ แต่โลกุตตรวิบากจิตทำชวนกิจได้ ฉะนั้น โลกุตตรจิตทั้ง 8 ดวง จึงทำ ชวนกิจ

สรุป จิต 55 ดวงที่ทำชวนกิจ คือ

โลภมูลจิต 8 ดวง
โทสมูลจิต 2 ดวง ]- อกุศลจิต 12 ดวง
โมหมูลจิต 2 ดวง

มหากุศลจิต 8 ดวง (กามาวจรกุศลจิต)
มหากิริยาจิต 8 ดวง
หสิตุปปาทจิต 1 ดวง (อเหตุกกิริยาจิตซึ่งเกิดเมื่อพระอรหันต์แย้มยิ้ม)

รูปาวจรกุศลจิต 5 ดวง (รูปฌานจิต)
รูปาวจรกิริยาจิต 5 ดวง (รูปฌานจิตของพระอรหันต์)

อรูปาวจรกุศลจิต 4 ดวง (อรูปฌานจิต)
อรูปาวจรกิริยาจิต 4 ดวง (อรูปฌานจิตของพระอรหันต์)

มัคคจิต 4 ดวง (โลกุตตรกุศลจิต)
ผลจิต 4 ดวง (โลกุตตรวิบากจิต)


เป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่าไม่ใช่อกุศลจิตเพียงขณะเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งๆ แต่วาระหนึ่งๆมีอกุศลจิตเกิดสืบต่อกันถึง 7 ขณะ และอกุศลจิตยังเกิดสืบต่ออีกหลายวาระ แต่ละครั้งที่ความไม่พอใจเกิดขึ้น วิถีจิตหลายวาระเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น และในแต่ละวาระนั้นก็มีอกุศลชวนจิตเกิด 7 ขณะ อกุศลจิตจึงเกิดขึ้นมากมายเมื่อเรายินดียินร้ายในสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ไม่มีตัวตนที่บังคับไม่ให้อกุศลจิตเกิดได้ เมื่อโวฏฐัพพนจิตตัดสินอารมณ์ทางปัญจทวารวิถีแล้ว อกุศลจิตก็เกิด เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตรับรู้อารมณ์ทางมโนทวารแล้ว อกุศลจิตก็เกิด เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตรับรู้อารมณ์ทางมโนทวารแล้ว อกุศลจิตก็เกิด เมื่อชวนจิตขณะแรกเกิดแล้ว ชวนจิตขณะต่อๆไปก็ต้องเกิดสืบต่อ ชวนจิตขณะแรกเป็นปัจจัยให้ชวนจิตขณะที่สองเกิดต่อ ชวนจิตขณะที่สองเป็นปัจจัยให้ชวนจิตขณะที่สามเกิดต่อ ชวนจิตขณะที่ 3-4-5-6 ก็เช่นเดียวกัน

วาระวิถีที่มีกุศลชวนจิตและวาระวิถีที่มีอกุศลชวนจิตเกิดดับสลับกันได้อย่างรวดเร็ว เช่น คนที่ตั้งใจจะถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อซื้อของที่จะทำอาหารถวายพระภิกษุมาแล้ว ก็เกิดคิดว่าของที่ซื้อมาออกจะแพงไป ขณะนั้นอาจจะเป็นจิตประกอบด้วยความตระหนี่ ชวนจิตก็เป็นอกุศล จะเห็นได้ว่ากิเลสที่สะสมไว้อาจปรากฏในเวลาใดก็ได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ถึงแม้ว่ามีเจตนาที่จะทำกุศลก็ตาม

จิตสะสมกุศลหรืออกุศลในขณะที่เป็นชวนจิต บังคับชวนจิตไม่ได้ แต่การรู้ปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเกิดจะทำให้อกุศลจิตเกิดน้อยลง

พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาตรัสสอนหนทางที่จะทำให้อกุศลลดน้อยลง พระองค์ทรงเตือนให้เราทำกุศลทุกประการ ไม่ว่าทาน ศีล หรือภาวนา พระองค์ทรงสอนให้อบรมเจริญปัญญาซึ่งสามารถดับอกุศลทั้งปวง ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่เพียงแต่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลและอะไรเป็นอกุศลนั้นดับอกุศลไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นประจักษ์แจ้งก็ยังมีความยึดมั่นในตัวตนที่เจริญกุศลและตัวตนที่ละเว้นอกุศล เมื่อยังยึดมั่นในตัวตนอยู่ก็ดับกิเลสไม่ได้

ผู้ที่ยังไม่ไช่พระอริยบุคคลนั้นสามารถรักษาศีล 5 ได้ก็จริง แต่ก็ยังต่างกับพระอริยบุคคล เพราะปุถุชนอาจล่วงศีลได้เมื่อมีเหตุปัจจัย แต่พระอริยบุคคลไม่มีเหตุปัจจัยที่จะล่วงศีลอีกเลย พระอริยบุคคลผู้มีศีล ไม่ได้ยึดถือศีลว่าเป็นตัวตนอีกเลย เพราะเหตุว่าท่านดับมิจฉาทิฏฐิได้หมดสิ้นแล้ว ฉะนั้นศีลของพระอริยบุคคลจึงบริสุทธิ์กว่า พระอริยบุคคลประพฤติปฏิบัติหนทางที่นำไปสู่ความดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท

ขณะที่หลงลืมสติ เราก็ยึดถืออารมณ์ที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรมว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยง โอกาสที่อกุศลชวนจิตจะเกิดก็น้อยลง

ในวิสุทธิมัคค์ สีลนิทเทส เรื่องพระมหาติสสะ มีข้อความว่า

ได้ยินว่า สาวสะใภ้ลูกสกุลคนใดคนหนึ่ง ทะเลาะกับสามี แล้วประดับตบแต่งอย่างดีราวกะสาวสวรรค์ หนีออกจากอนุราธบุรีแต่เช้าตรู่ กำลังเดินไปสู่เรือนญาติ พบพระเถระนั้นผู้มาเพื่อเที่ยวบิณฑบาตจากเจติยบรรพตสู่อนุราธบุรี ในระหว่างทาง (นาง) มีจิตนึกขันจึงหัวเราะขึ้นดังลั่นฯ ฝ่ายพระเถระเหลียวดูโดยขุกใจว่า นี่อะไร กลับได้อสุภสัญญาในกระดูกฟันของนางนั้น เลยบรรลุพระอรหัตฯ เพราะเหตุนั้น พระโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า

พระเถระเห็นกระดูกฟันของนางนั้น
ระลึกถึงสัญญาเก่า
พระเถระนั้นยืนอยู่แล้ว
ในที่นั้นเทียวได้ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วแลฯ

แม้สามีของนางนั้นแล เดินไปตามทาง พบพระเถระเข้า จึงถามว่า ท่านเห็นหญิงบ้างไหมฯ พระเถระจึงตอบเขาว่า

"ฉันไม่ทราบผู้ที่เดินผ่านจากที่นี้
ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย
แต่ว่าร่างกระดูกนี้
เดินไปในทางใหญ่ฯ"

ท่านพระมหาติสสะไม่ใส่ใจในนิมิต และไม่ติดข้องในอนุพยัญชนะในรูปารมณ์นั้น เมื่อท่านเห็นฟันของหญิงนั้น ท่านประจักษ์แจ้งในความเป็นปฏิกูลของร่างกาย ท่านไม่ยึดรูปารมณ์นั้นว่าเป็นตัวตน การที่เห็นความเป็นปฏิกูลของร่างกายเตือนเราว่า ไม่มีตัวตนในร่างกาย มีแต่รูปธรรมซึ่งไม่เที่ยง ท่านพระมหาติสสะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นปัญญาขั้นที่สามารถดับกิเลสทั้งหมดได้เป็นสมุจเฉท


ชวนจิตที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในวันหนึ่งๆ ฉะนั้น จึงไม่ควรประมาท แต่ควรเจริญสติเท่าที่สามารถจะทำได้

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปมาทวิหารีสูตร มีข้อความว่า

พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท และภิกษุผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท เธอทั้งหลายจงฟังเถิด

ก็ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ เมื่อภิกษุมีจิตแส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็ไม่มี เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี เมื่อปีติไม่มี ปัสสิทธิก็ไม่มี ภิกษุนั้นก็อยู่ลำบาก จิตของภิกษุผู้มีความลำบาก ย่อมไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทแท้จริง ฯลฯ
(ทางทวารอื่นก็โดยนัยเดียวกัน)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร

เมื่อภิกษุสำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ เมื่อภิกษุนั้นมีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อภิกษุเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อภิกษุมีใจเกิดปีติ กายก็สงบ ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ ธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้จริง ฯลฯ
(ทางทวารอื่นก็โดยนัยเดียวกัน)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยประการฉะนี้ฯ"








หนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ

An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live

Most Popular Books on Buddhism

Theravada Buddhism Recommended Reading








 

Create Date : 14 ตุลาคม 2552    
Last Update : 14 ตุลาคม 2552 21:47:29 น.
Counter : 355 Pageviews.  

กิจของจิตในปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี



"ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นแล้วไม่กระทำกิจ"

"ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตดวงแรกเพราะเกิดก่อนปัญจวิญญาณ"

"เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้วจิตอื่นๆก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกัน"

"เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารดับหมดแล้วมโนทวารวิถีจิตก็รู้อารมณ์นั้นต่อโดยภวังคจิตเกิดขึ้นคั่นก่อน แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นกระทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวาร"

"เมื่อปัจจัยต่างๆที่ทำให้จิตเกิดไม่เที่ยง จิตก็ย่อมไม่เที่ยงด้วย"

"กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยซึ่งต่างจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิบากจิตอกุศลวิบากและกุศลวิบากเป็นผลของกรรม"

"เมื่อถึงเวลาที่อกุศลวิบากจะเกิด เราจะยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้"

"ถ้าเราเพียงแต่รู้ว่าวิบากเป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีเราก็จะขุ่นเคืองใจในอนิฏฐารมณ์ที่ปรากฏน้อยลง"

"คนเราสะสมมาต่างกันฉะนั้นเมื่ออารมณ์ใดปรากฏวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์วาระนั้นก็จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตตามการสะสมของแต่ละบุคคล"




จิตทุกดวงมี กิจ เฉพาะตน ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นแล้วไม่กระทำกิจ เช่น การเห็น การได้ยิน เป็น กิจ ของจิต เราไม่เคยสังเกตุพิจารณาว่าการเห็นและการได้ยินเป็นกิจ เพราะเหตุว่าเรายึดมั่นในตัวตน ถ้าต้องการรู้เรื่องจิตมากขึ้น ก็ควรศึกษาเรื่องกิจต่างๆของจิต

กิจที่ 1 คือ ปฏิสนธิกิจ ซึ่งเป็นกิจของจิตดวงแรกในชีวิต กิจที่ 2 คือ ภวังคกิจ ซึ่งเป็นกิจของภวังคจิตที่ดำรงภพชาติให้ดำเนินต่อไปในชาตินั้นๆ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อตลอดเวลาที่ปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิตยังไม่เกิด ภวังคจิตเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตวาระต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวาร เช่น เมื่อเห็นและคิดถึงสิ่งที่เห็น มีวิถีจิตหลายวาระเกิดขึ้น ภวังคจิตเกิดคั่นวิถีจิตทุกวาระนั้นๆ

เมื่อรูปกระทบปสาท ก็กระทบภวังค์ และภวังคจิตก็เกิดอีก 2-3 ขณะ ต่อจากนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิด ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตดวงแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบกับปสาท

ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำ อาวัชชนกิจ คือ นึกถึงอารมณ์ทีกระทบกับปสาทรูปใดรูปหนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็น อเหตุกกิริยาจิต ในวิสุทธิมัคค์ ขันธนิทเทส กล่าวถึงปัญจทวาราวัชชนจิต (มโนธาตุ) ว่า

มโนธาตุมีอันรู้ซึ่งรูปเป็นต้น อันเที่ยวไปเบื้องหน้าแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นลักษณะ มีการนึกถึงเป็นรส มีความเป็นธรรมชาติบ่ายหน้าต่อรูปเป็นต้นเป็นเครื่องปรากฏ มีอันเข้าไปตัดขาดซึ่งภวังค์เป็นปทัฏฐานฯ มโนธาตุนั้นประกอบด้วยอุเบกขาอย่างเดียว

ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตดวงแรก เพราะเกิดก่อนปัญจวิญญาณ (จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น) เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทนั้น รู้อารมณ์โดยอาศัย จักขุทวาร จึงเป็น จักขุทวาราวัชชนจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่กระทบ โสตปสาท ก็เป็น โสตทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตมีชื่อตามทวารที่รับอารมณ์ วันหนึ่งๆ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน แต่เราไม่รู้เลย จิตเห็นเกิดต่อจากจักขุทวาราวัชชนจิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทและดับไปแล้ว จิตได้ยินหรือจิตอื่นๆ ที่เป็นปัญจวิญญาณเกิดต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวารนั้นๆและดับไปแล้ว

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จิตอื่นๆก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันทางทวารเดียวกัน เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารดับหมดแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็รู้อารมณ์นั้นต่อโดยภวังคจิตเกิดขึ้นคั่นก่อน แล้ว มโนทวาราวัชชนจิต ก็เกิดขึ้นกระทำ กิจอาวัชชนะ ทาง มโนทวาร

ฉะนั้น จิตที่ทำ กิจอาวัชชนะ จึงมี 2 ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต รู้อารมณ์ ทางทวารใดทวารหนึ่งใน 5 ทวาร และ มโนทวาราวัชชนจิต รู้อารมณ์ ทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเป็น อเหตุกกิริยาจิต คือ ไม่มีอกุศลเหตุหรือโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิดต่อ

เมื่อรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท จักขุทวาราวัชชนจิตนึกถึงรูปารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณเกิดสืบต่อ จักขุวิญญาณทำ กิจเห็น (ทัสสนกิจ) จิตเห็น เป็น วิบาก เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เราเกิดมาเพื่อรับผลของกรรม เมื่อกระแสภวังค์สิ้นสุดลง วิบากจิตก็เกิดขึ้นต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต

จิตที่ทำกิจ เห็น (ทัสสนกิจ) เห็นรูปารมณ์ เท่านั้น จิตดวงนี้ไม่ยินดียินร้าย เป็น อเหตุกวิบากจิต จิตดวงนี้ไม่ได้คิดถึงรูปารมณ์ คนที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจะไม่รู้ว่าจิตที่เห็นรูปารมณ์ต่างกับจิตชอบหรือไม่ชอบรูปารมณ์ และต่างกับจิตที่ใส่ใจในรูปพรรณสัณฐาน เพราะอวิชชาและความเห็นผิดที่ได้สะสมมานาน จึงทำให้ไม่รู้ว่าจิตไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีจิตอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเกิดสืบต่อ

มี จิต 2 ดวง เท่านั้นที่ทำกิจเห็น เป็น อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1

เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท โสตทวาราวัชชนจิตเกิดแล้วก็ดับไป โสตวิญญาณจิตเกิดสืบต่อ กิจได้ยิน (สวนกิจ) เป็นอีกกิจหนึ่งของจิต จิตได้ยินเป็น อเหตุกวิบากจิต จิต 2 ดวง ที่ทำ กิจได้ยิน คือ อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1

อีกกิจหนึ่งของจิต คือ กิจได้กลิ่น (ฆายนกิจ) จิต 2 ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกะทำกิจนี้คือ อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1

อเหตุกจิต 2 ดวงทำ กิจลิ้มรส (สายนกิจ) เป็น อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1 เมื่อจิตดวงนี้ทำกิจลิ้มรส เช่น รสหวานหรือรสเค็ม จิตนี้ก็เพียงแต่ลิ้มรสเท่านั้น ไม่ได้รู้ชื่อของรส จิตที่รู้ชื่อของรสเกิดขึ้นภายหลัง

กิจที่กระทบสัมผัสทางกาย (ผุสสนกิจ) เป็นอีกกิจหนึ่งของจิต เมื่อโผฏฐัพพารมณ์กระทบกาย ปัญจทวาราวัชชนจิตนึกถึงอารมณ์ที่กระทบทางกาย เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว กายวิญญาณจิต เกิดขึ้น ทำกิจรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่กระทบกาย จิต 2 ดวงซึ่งทำกิจนี้เป็นอเหตุกจิตคือ อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1 อารมณ์ ที่รู้ได้ทางกายนั้นได้แก่ รูปแข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น ไหวหรือตึง

สรุปปัญจวิญญาณทำกิจดังนี้ คือ

กิจเห็น (ทัสสนกิจ)
กิจได้ยิน (สวนกิจ)
กิจได้กลิ่น (ฆายนกิจ)
กิจลิ้มรส (สายนกิจ)
กิจรู้โผฏฐัพพารมณ์ (ผุสสนกิจ)


เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส (รู้โผฏฐัพพะ) เป็นกิจต่างๆ ของจิต ไม่มีตัวตนที่กระทำกิจเหล่านี้ จิตเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเฉพาะของจิตนั้นๆ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าจิตรู้อารมณ์ทางปัญจทวารและทางมโนทวารได้อย่างไร เพื่อทรงเตือนให้เราระลึกถึงสภาพที่แท้จริงของธรรมเหล่านี้ พระองค์ทรงแสดงปัจจัยต่างๆที่ทำให้จิตเกิดและความไม่เที่ยงของปัจจัยเหล่านี้ เมื่อปัจจัยต่างๆที่ทำให้จิตเกิดไม่เที่ยง จิตก็ย่อมไม่เที่ยงด้วย

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทวยสูตรที่ 2 พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยส่วนสอง วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยส่วนสองเป็นอย่างไร

จักษุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูป จักษุไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น รูปไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ส่วนสองอย่างนี้ หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น

จักษุวิญญาณไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็จักษุวิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความประจวบ ความประชุม ความพร้อมกันแห่งธรรมทั้ง 3 (จักขุ รูปารมณ์ และจักขุวิญญาณ) นี้แล เรียกว่า จักษุสัมผัสฯ ถึงจักษุสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น แม้เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ก็จักษุสัมผัสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอันผัสสะกระทบแล้วย่อมรู้สึก อันผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด อันผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ แม้ธรรมเหล่านี้ก็หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ฯลฯ"


ทางทวารอื่นๆก็นัยเดียวกัน

ในปัญจทวารวิถีนั้น สัมปฏิจฉันนจิตเกิดสืบต่อปัญจวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิตทำ สัมปฏิจฉันนกิจ ต่อจากปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิตเป็น อเหตุกวิบากจิต จิต 2 ดวง ที่ทำกิจนี้เป็น อกุศลวิบาก 1 และ กุศลวิบาก 1

กรรมไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยให้เกิดทวิปัญจวิญญาณและสัมปฏิจฉันนจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตเกิดสืบต่อสัมปฏิจฉันนจิตอีกด้วย สันตีรณจิตที่เกิดทางปัญจทวารทำ สันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์ สันตีรณจิตเป็น อเหตุกวิบากจิต

เราได้กล่าวถึงสันตีรณจิต 3 ดวงที่ทำสันตีรณกิจ มาแล้วว่า

สันตีรณอกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
สันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
สันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 1 ดวง (เมื่อรู้อารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง)

เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิต (จิตที่ตัดสินอารมณ์) เกิดสืบต่อ โวฏฐัพพนะ เป็นอีก กิจ หนึ่งของจิต โวฏฐัพพนจิตทำกิจตัดสินอารมณ์ ในปัญจทวารวิถี เมื่อจิตดวงนี้ (ตัดสินอารมณ์) ดับแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดสืบต่อ ปัจจัยที่ทำให้โวฏฐัพพนจิตเกิดต่างจากปัจจัยที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด สันตีรณจิตเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย โวฏฐัพพนจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่เป็น อเหตุกกิริยาจิต เราทราบแล้วว่า โวฏฐัพพนจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำ กิจโวฏฐัพพนะ ใน ปัญจทวารวิถี จึงเรียกว่า โวฏฐัพพนจิต มโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจได้ 2 กิจ คือ ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร และทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร

ถ้าเราไม่รู้เรื่องวิถีจิตและปัจจัยของวิถีจิต เราอาจคิดว่ามีตัวตนซึ่งตัดสินที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมในแต่ละขณะ ความจริงแล้ว ไม่มีบุคคล ตัวตน ซึ่งเป็นผู้ตัดสิน มีแต่จิตที่เกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้สะสมมาเป็นปัจจัย

จิตรู้อารมณ์ที่น่ายินดีและอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีทางปัญจทวารและทางมโนทวาร บุคคลใดสะสมโลภะและโทสะไว้มาก โลภะมูลจิตย่อมเกิดเมื่อรู้อารมณ์ที่น่ายินดี และโทสะมูลจิตย่อมเกิดเมื่ออารมณ์นั้นไม่น่ายินดี จิตเหล่านี้เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพระธรรม และยิ่งกว่านั้นคือจากการอบรมเจริญวิปัสสนา ก็จะทำให้มีปัจจัยที่จะทำให้กุศลจิตและโยนิโสมนสิการในอารมณ์เกิดได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ ทางปัญจทวาร กุศลจิตเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตได้ และทางมโนทวาร เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้ว กุศลจิตก็เกิดได้เช่นเดียวกัน

เรามักคิดว่า ในวิถีจิตวาระหนึ่งๆ อกุศลจิตควรจะเกิดสืบต่ออกุศลวิบากจิตซึ่งรู้อนิฏฐารมณ์ เพราะเหตุว่าเราถูกอารมณ์นั้นครอบงำ แต่ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะไม่มีโทสะในอารมณ์นั้น กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งต่างจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิบากจิต อกุศลวิบากและกุศลวิบากเป็นผลของกรรม เราอยากจะมีอำนาจเหนือวิบาก แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อถึงเวลาที่อกุศลวิบากจะเกิด เราจะยับยั้งไม่ไห้เกิดก็ไม่ได้ เราต้องตระหนักความจริง ชีวิตของเราก็คือ นามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้าเราเพียงแต่รู้ว่าวิบากเป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที เราก็จะขุ่นเคืองใจในอนิฏฐารมณ์ที่ปรากฏน้อยลง

บางคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือที่จะต้องรู้เรื่องจิตและกิจของจิตอย่างละเอียด ถ้ารู้เพียงเรื่องกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้นไม่พอหรือ นอกจากกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว เราควรรู้เรื่องวิถีจิตประเภทอื่นๆ ซึ่งทำกิจต่างๆ และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆกัน และก็จะเข้าใจยิ่งขึ้นว่า ไม่มีตัวตนที่สามารถจัดการให้จิตดวงใดเกิดขึ้นในขณะใดได้เลย ไม่มีตัวตนซึ่งตัดสินให้กุศลจิตเกิด คนเราสะสมมาต่างกัน ฉะนั้นเมื่ออารมณ์ใดปรากฏ วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์วาระนั้น ก็จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตตามการสะสมของแต่ละบุคคล เช่น เมื่อได้กลิ่นอาหารอร่อย บางคนอาจจะเกิดอกุศลจิต บางคนเกิดกุศลจิต คนที่ชอบรับประทานก็ย่อมจะเกิดโลภะมูลจิต คนที่มีทานุปนิสัย พอได้กลิ่นอาหาร กุศลจิตก็อาจเกิด อาจอยากใส่บาตร บางคนก็อาจมีกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญา ระลึกรู้ว่ากลิ่นเป็นแต่เพียงกลิ่น เป็นรูปซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ตัวตน ถ้าขณะนี้มีการ "พิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย" ก็จะเป็นปัจจัยให้มี "การพิจารณาโดยแยบคาย" เกิดขึ้นอีกในอนาคต

กุศลจิตและอกุศลจิตย่อมเกิด เพราะเราสะสมมาแล้วทั้งกุศลและอกุศล ส่วนมากมักจะโทษโลกว่าทำให้เกิดกิเลส เพราะไม่รู้ว่ากิเลสสะสมอยู่ในจิต กิเลสไม่ได้อยู่ที่วัตถุรอบตัวเรา บางคนอาจไม่อยากมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อจะได้ไม่มีกิเลส อย่างไรก็ตาม หนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้คือ รู้ สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ตามความเป็นจริงใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาทิตตปริยายสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรมปริยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธรรมปริยายเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่าการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูปอันจะถึงรู้แจ้งด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติสองอย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า .......... บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้วยังดีกว่า ....... บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า ....... บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า ........

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษ ไร้ผล เป็นความโง่เขลา ของบุคคลผู้เป็นอยู่ ตนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ บุคคลไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้แลว่า เป็นอาทีนพของบุคคลผู้เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

"จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน มิฉะนั้นเราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส เป็นปัจจัยไม่เที่ยง ...."

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย .... เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่า อาทิตตปริยายและธรรมปริยาย ฉะนี้แลฯ"


พระสูตรนี้เตือนให้สติระลึกรู้ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และคิดนึก ขณะเหล่านี้เป็นกิจของจิตต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป








An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live

Most Popular Books on Buddhism

Theravada Buddhism Recommended Reading










 

Create Date : 14 ตุลาคม 2552    
Last Update : 14 ตุลาคม 2552 0:24:46 น.
Counter : 597 Pageviews.  

1  2  3  4  

Inquirer
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Loading
ร้านหนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ Bestsellers Buddhism General Buddha's Nirvana Theravada Sutra Mahayana Dalai Lama Vajrayana Zen Buddha Dhammapada Dharma History Karma Rituals & Practice Sacred Writings Sutras Zen Philosophy Tibetan Religion & Spirituality Kindle Books Bestsellers in Kindle Store Hot New Releases Most Gifted Most Wished For Audiobooks Audiobook Downloads
free counters
Web-Stat
Friends' blogs
[Add Inquirer's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.