Theravadans in the World Today ..........and........ Buddhism For Dummies : Beliefs of Buddhism, Teachings of the Buddha, World Buddhism
Group Blog
 
All Blogs
 

ลัทธิตันตระ พุทธศาสนาหรือฮินดู ?

ลัทธิพุทธตันตระ เป็นนิกายที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู นิกายนี้ถือกำเนิดในราวสมัยราชวงศ์คุปตะ แต่มาแพร่หลายหลังพุทธศตวรรษที่ 10-11 โดยซึมซาบเอาความเชื่อดั้งเดิมในจารีตวรรณกรรม และผสมปรัชญาพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาแบบตันตระถือเป็นวิวัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ในอินเดียมีชื่ออื่นอีก เช่น มนตรยาน รหัสยาน คุยหยาน สหัชยาน เน้นเวทมนตร์คาถามากกว่านิกายอื่นๆ

ลัทธิพุทธตันตระมีคำสอนที่ต่างจากพุทธศาสนาแบบเดิมมากขึ้น ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะจะดึงศาสนิกจากฮินดูให้มานับถือด้วย แต่การกระทำเช่นนี้ทำให้คุณภาพของศาสนิกเสื่อมลง กลายเป็นว่าศาสนิกเริ่มเบื่อกับคำสอน และท้ายที่สุด คือถูกฮินดูกลืนจนแยกไม่ออกว่าเป็นชาวพุทธหรือชาวฮินดู จนศาสนิกไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการนับถือฮินดูหรือพุทธ

การพัฒนาการ 3 ระดับของพุทธแบบตันตระ
ระยะที่ 1 มันตรยาน
เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 9- 10 จากนั้นก็พัฒนาการนำสิ่งใหม่เข้ามาสู่พุทธศาสนามีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เพื่อการบรรลุธรรม โดยนำเอา มันตระ มุทรา มัณฑละ และเทพเจ้าเข้ามาในพุทธศาสนาอย่างไม่เป็นระบบ เช่น การท่องบ่นมนต์ หรือ ธารณีแตกต่างกัน บูชาเทพเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ใดก็ได้ แล้วทำเครื่องหมาย มุทรา หรือนิ้วมือให้ถูกต้องก็จะศักดิ์สิทธิ์หรือสำเร็จผลได้
ระยะที่ 2 วัชรยาน
พระพุทธศาสนานิกายนี้ได้พัฒนาคำสอนเป็นระบบตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 โดยผสมผสานกับคำสอนเดิมทุกสายกับหลักของพระเจ้า 5 พระองค์ มีอาทิพุทธเจ้า เป็นต้น หลักการปฏิบัติเด่นชัด คือ สหัชญาณ เหมือนกับพุทธนิกายเซนในจีน คือเน้นการปฏิบัติ รู้แจ้งภายใน ถ่ายทอดผ่านคำปริศนาไม่ผูกมัดตัวเองด้วยคำสอนเก่า หรือคำสอนกำจัดแบบตายตัว วัชรยานนี้มีในทิเบต และภูฏานในปัจจุบัน
ระยะที่ 3 กาลจักร หรือ กาฬจักร
หมายถึงวงล้อแห่งเวลา เป็นพัฒนาการยุคสุดท้ายของพุทธศาสนาแบบตันตระ โดยประสานความคิดที่แตกแยกกัน และเน้นโหราศาสตร์ ถือว่ามีศักติประจำพระพุทธเจ้า พระอิศวรปางดุร้าย และพระโพธิสัตว์ปางดุร้ายพร้อมกับมีธรรมบาล หรือยิดัมคุ้มครองรักษา กาฬจักรนี้เคยรุ่งเรืองในอินโดนีเซียมาก่อนศาสนาอิสลามจะมีอิทธิพล

หลักธรรมสำคัญ
เชื่อว่ามีอาทิพุทธะ กำหนดให้พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีปางดุ
กำหนดให้มีมนต์ เรียกว่าธารณีประจำองค์พุทธะและพระโพธิสัตว์
บัญญัติให้มีมุทราคือการทำเครื่องหมายต่างๆที่เป็นสัญญลักษณ์ของพุทธะและพระโพธิสัตว์

การเปลี่ยนศีล 5 เป็น ม.ทั้ง 5
การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นในนิพพานนั้น ต้องเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยอริยมรรคเป็นองค์แปดนั้น วัชรยานถือว่าการหลุดพ้นคือการเสพกามอันศักดิ์สัทธิ์กับโยนิ นักสิทธะควรบำรุงด้วย ม.ทั้ง 5 คือ

มัทยะ คือ น้ำเมา
มางสะ คือ เนื้อ
มัศยา คือ ปลา
มุทรา คือ การยั่วให้เกิดกำหนัด
ไมถุนธรรม คือ เมถุนธรรม


ในหนังสือคุรุมาสได้สอนให้มีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล 5 สนับสนุนให้มีการฆ่า การลัก การเสพเมถุนธรรม และการดื่มน้ำเมา ผู้ที่จะเข้าทำตามพิธีลัทธิตันตระจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นการบูชาศักติ ในสถานที่บางแห่ง เมื่อผู้หญิงจะไหว้พระ จะต้องเปลื้องเครื่องแต่งตัวออกทั้งหมด แล้วแสดงการร่ายรำไปจนเสร็จพิธี

พระสงฆ์ในลัทธิ
พระในที่นี้ไม่เรียกว่าภิกษุ แต่เรียกว่า นักสิทธะ และถือว่า การปฏิบัติตนตามอำนาจของราคะบุตรผู้บำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ย่อมกระทำได้ พุทธศาสนายุคนี้ ได้เกิดสัทธรรมปฏิรูปมากกว่าเดิม พระสงฆ์ทำตนเหมือนพ่อมดหมอผีขมังเวทย์มากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของชาวบ้านธรรมดา ที่ไม่เห็นคุณค่าหลักธรรมที่แท้จริง สิทธะทื่มีชื่อเสียงในยุคนั้น คือ สิทธะมาตังคี สิทธะอานันทวันทะวัชระ สิทธะญาณปาทะ เป็นต้น ต่อมาสิทธะได้แยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มทักษิณาจารี
ทักษิณาจารี แปลว่า ผู้ประพฤติด้านขวา พวกนี้ยังประพฤติตนตามพระธรรมวินัย ยังรักษาพรหมจรรย์ ยังรักษาสถานะความเป็นสงฆ์ได้มากพอสมควร
กลุ่มวามจารี
วามจารี แปลว่า ผู้ประพฤติด้านซ้าย พวกนี้ ประพฤติตนเลอะเลือนไม่รักษาพรหมจรรย์ มีภรรยามีครอบครัว ทำตนเป็นพ่อมดหมอผีมากขึ้น ชอบอาศัยอยู่ในป่าช้า ใช้หัวกะโหลกเป็นบาตร มีภาษาลึกลับใช้สื่อสาร เรียกว่า สนธยาภาษา เกณฑ์ให้พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ มีศักติ คือ ภรรยาคู่บารมี พระพุทธปฏิมาก็มีปางกอดศักติ พวกเขาถือว่า การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ ต้องมีธาตุชาย และหญิงมาผสมผสานกัน คือ ธาตุชายเป็นอุบาย ธาตุหญิงเป็นปรัชญา เพราะฉะนั้นอุบายต้องบวกกับปรัชญา จึงจะบรรลุพระนิพพานได้

พุทธตันตระในประเทศต่างๆ
ทิเบต:วัชรยาน
ในทิเบต คำสอนเกี่ยวพุทธตันตระได้พัฒนาไปเป็นวัชรยาน โดยมีการแบ่งเป็นนิกายย่อยๆอีกมาก

จีน: นิกายเชนเหยนหรือมี่จุง
ผู้นำคำสอนนิกายพุทธตันตระเข้าสู่ประเทศจีนคือ ศุกรสิงหะซึ่งเข้าสู่จีนเมื่อ พ.ศ. 1259 ต่อมาได้มีคณาจารย์สำคัญเช่น วัชรโพธิ์ และอโมฆวัชระเข้ามาเผยแพร่คำสอนอีก นิกายนี้ได้รับการส่งเสริมมากเมื่อมองโกลเข้ามามีอำนาจในจีน จากนั้นได้เสื่อมไป

ญี่ปุ่น: นิกายชินงอน
ก่อตั้งโดยคูไค ซึ่งมีนามว่า โคโบ ไดจิหลังจากมรณภาพ โดยรับคำสอนผ่านทางนิกายเชนเหยนในจีน ได้รวมเอาความเชื่อในศาสนาชินโตเข้าไว้ด้วย

อ้างอิง:
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539




หนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ

An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live

Theravada Buddhism Recommended Reading








 

Create Date : 12 กันยายน 2552    
Last Update : 14 กันยายน 2552 21:46:36 น.
Counter : 2254 Pageviews.  

เตรียมตัวตายอย่างมีสติ [พุทธตันตระหรือวัชรญาณ ]

พุทธตันตระหรือวัชรญาณ


สำหรับเถรวาทหรือทักษิณนิกายของฝ่ายเรานั้น พวกเรารู้กันอยู่แล้ว ไม่จำเป็น ต้องพูดถึงในที่นี้ ส่วนมหายานหรืออาจารยวาทของฝ่ายอุตรนิกายนั้น ถือกันว่า ท่านพระนาคารชุน ผู้เรียบเรียงคัมภีร์มาธยมิกเป็นต้นนิกาย โดยท่านเกิดหลัง พุทธปรินิพพาน ประมาณ ๔oo ปี กล่าวกันว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระ สัทธรรมทั้งหมดในสมัยพุทธกาล เพราะบางอย่างบุคคลร่วมสมัยไม่อาจเข้าใจได้ ดังบางอย่างทรงแสดงพระอาการผ่านพระมหากัสสปเท่านั้น โดยไม่ตรัสเป็น พระพุทธวัจนะออกมาเลย ( นิกายเซน ถือว่านี่คือที่มาของธยาน ที่รับกันเป็นช่วง ๆ ต่อมาถึงท่านโพธิธรรม องค์ปฐมปริณายก ที่เข้าไปสู่เมืองจีน ) ต่อล่วงพุทธกาลไป ๔oo ปีแล้ว บางอย่างจึงเปิดเผยออกมาโดยท่านนาคารชุน

เถรวาทของเราถือเอาท่านพุทธโฆสา ว่าเป็นสดมภ์หลักฉันใด อาจารยวาทก็ถือเอา ท่านนาคารชุนเป็นสดมภ์หลักฉันนั้น โดยท่านอธิบายความในเรื่อง สุญญตา ว่าเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันกับปฏิจจสมุปบาท แล้วสั่งสอนสัตว์ให้มุ่งพระโพธิญาณ เพื่อการ ขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร แทนการมุ่งเอาชนะทุกข์ของตนนแต่ละปัจเจกบุคคลให้พ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด

ทางฝ่ายเหนือที่เหยียดเรา เขาเรียกเราว่าหีนยาน แต่ที่ใช้คำกลาง ๆ เรียกเราว่า สาวกยาน ก็มี โดยเขากล่าวว่า จุดเน้นของเราอยู่ที่ไม่ทำร้ายผู้อื่น ( ศีล ) สร้างความสงบภายใน (สมถะ) ให้เกิดวิปัสนาญาณ เป็นการเจริญสมาธิ เพื่อเกิดปัญญา อันเป็นองค์คุณแห่งความตรัสรู้

ในทางฝ่ายเหนือ เขามุ่งที่โพธิสัตว์บารมี เน้นที่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและรับใช้ผู้อื่น เขาเอามหากรุณาเป็นเกณฑ์ แต่เมื่อยังช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้ ก็ต้องไม่ทำร้ายผู้อื่นก่อน

ตันตระยานนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเถรวาทด้วย และอาจารยวาทด้วย องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นพระภิกษุ สมาทานสิกขาบทตามพระปาฏิโมกข์ ดุจดังสมณะในบ้านเรา การถือ ศีลนั้นไม่ใช่เพื่องดทำร้ายผู้อื่น และเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น หากฝึกให้งดแลเห็นสภาพ ต่าง ๆ ตามที่ปรากฏ รวมทั้งหมดยอมรับสมมติสัตย์ อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างทั่ว ๆ ไปใน สังคมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเข้าถึงปรมัตถสัตย์นั่นเอง

ถือกันว่าท่านปทุมสมภพ หรือปทมสัมภวะ เป็นต้นตันตรนิกาย ตามตำนานกล่าวกันว่า ท่านเกิดจากดอกบัว เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้วได้เพียง ๘ ปี โดยที่แท้ท่านเกิดแถบที่ เป็นประเทศปากีสถานหรืออัฟกานิสถานในบัดนี้ แล้วไปเผยแผ่ศาสนาในธิเบต ราวคริสต์ ศตวรรษที่ ๘ โดยใช้เวทมนตร์คาถาปราภูติผีปีศาจ นอกเหนือไปจากพระธรรมคำสั่งสอน ชาวธิเบตจึงถือกันว่าท่านดำรงชีพได้กว่าพันปี แม้บัดนี้ก็ยังคงอยู่ในแดนของพวกรากษส หรือยักษ์

ตามพระคัมภีร์ในภาษาสันสกฤต ถือกันว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่นพระสูตร คือสิ่งที่ได้สดับตรับฟังกันมาแล้วเขียนลงไว้ ส่วนตันตระ หมายถึง คุยหมนต์ ซึ่งเป็นความ ลี้ลับที่ไม่เขียนกันขึ้นเพื่อให้ตีพิมพ์แพร่หลาย หากสั่งสอนกันจำเพราะสานุศิษย์วงใน ซึ่ง ได้รับการอภิเษก ให้สืบต่อจากครูอาจารย์ที่ตรัสรู้ธรรมเป็นขั้น ๆ ไปแล้ว จึงถือกันว่าตันตระ เป็นวัชรยาน คือพาหะอันเป็นเพชร ซึ่งคมกริบและอาจตัดกิเลสวาสนาให้ขาดได้โดยสิ้นเชิง แต่แล้วยังกลับมารับใช้สรรพสัตว์ต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

กล่าวกันว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนตันตระ ดังที่ทรงสอนมหายาน โดยที่ทั้งสองประการนี้ ไม่มีปรากฏในพระบาลีของฝ่ายเถรวาท

ตันตระแบ่งออกได้เป็น ๔ ภาค คือ

๑. กริยาตันตระ ว่าด้วย การกระทำ
๒. จริยาตันตระ ว่าด้วย ความประพฤติ
๓. โยคตันตระ ว่าด้วย โยควิธี หรือการภาวนาของพระโยคาวจร
๔. อนุตรโยคตันตระ ว่าด้วย โยควิธีอย่างยิ่งยวด หรือการภาวนาอย่างถึงที่สุด

โดยทั่ว ๆ ไป พุทธศาสนาแบบธิเบตเน้นข้อที่ ๑ ถึึงข้อ ๔ เท่านั้น นอกไปจากนี้แล้ว นิกายนยังม่า ในประเทศนั้นยังเอ่ยถึงตันตระภายใน ๓ ประการอีกด้วย กล่าวคือ มหาโยคะ อนุโยคะ และอติโยคะ

การฝึกหัดทางตันตระนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่พระโยคาวจรต้องรู้วิธีปฏิบัติต่อเทวะที่ตนพึงเกี่ยว ข้องด้วย

เทพหรือเทวะในที่นี้ ผิดกับเทวดาในลัทธิศาสนาพรหมณ์คือไม่ใช่อุบัติเทพ ที่เกิดอยู่บน สวรรค์ หากหมายถึงนิมิตหรือสัญลักษณ์ซึ่งประจักษ์ออกมาได้เป็นแสงสว่าง หรือเป็น ภาพที่เคลื่อนไหวได้ดังมีตัวตน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือพระคุณวิเศษของพระพุทธเจ้า หากแสดง ออกให้ปรากฏนั่นเอง


พระคุณวิเศษของพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธคุณ ซึ่งแสดงออกทางรูปธรรมนี้เอง คือสิ่ง ที่สำคัญยิ่งของตันตรยาน ถ้าพระโยคาวจรสามารถฝึกจิตใจให้น้อมนำตนเข้าเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับพระพุทธคุณได้ ก็ย่อมอาจเข้าถึงพุทธภาวะ คือ เริ่มจากถือพระคุณนั้น ๆ เป็นเทพ ตามที่ปรากฏใพระคัมภีร์ฝ่ายตันตระ ฝึกตนให้เคารพบูชาและว่ามนต์ตามเทพองค์ นั้น ๆ จนพระคุณของเทพหรือพระพุทธคุณในส่วนนั้น ๆ เข้ามาประสานกับนิสัยสันดาน ของพระโยคาวจร จนความเห็นแก่ตัวของบุคคลนั้นหายไป กลายเป็นพระคุณวิเศษขึ้นมา แทนที่เท่ากับลดอัตตวาทุปาทานลงไปได้เรื่อย ๆยิ่งเทพดุร้าย น่ากลัว หรือเสพกาม ตลอด จนแสดงอาการอันมืดทะมึนต่าง ๆ แสดงว่า ราคะ โทสะ โมหะ เข้ามาครอบงำ ต้องเพ่ง ภาวนาหรือหาอุบายจากรหัสยมนต์ ให้ไปพ้นอกุศลมูลนั้น ๆ ให้จงได้ ยิ่งกามราคะด้วยแล้ว ครอบงำสัตว์หลายขั้นตอน รูปเทพและเทพธิดา จึงต้องแสดงมายากล ตลอดจนการเสพ เมถุนธรรมกันด้วยประการต่าง ๆ ทั้งนี้เพิ่อหลอกล่อสัตว์ไว้ในวัฏฏสงสาร อันพระโยคาวจร ต้องข้ามพ้นไปให้จงได้

การปฏิบัติกริยาโยคะนั้น ท่านให้มุ่งหวังที่เทวะ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากพระโยคาวจร ผู้ซึ่งต้องเพ่งรูปเทวะนั้น แล้วน้อมนำเอาคุณสมบัติของท่าน โดยสวดมนต์ภาวนาต่าง ๆ สรร เสริญท่าน บูชาท่านด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา โดยบริกรรมจนให้รูปท่านปลาสนาการไป กับสายฟ้า โดยให้องค์ท่านมาสิงสถิตย์อยู่ในกาย ในวาจา และในใจของพระโยคาวจร

ในบรรดาเทวะทางตันตระนั้น องค์ที่สำคัญคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นสัญลักษญ์ ของพระมหากรุณา( ซึ่งกลายสภาพเป็นสุภาพสตรีได้ดังนกรณีของพระกวนอิมนั่นเอง ) พระมัญชุศรีโพธิสัตว์แห่งพระมหาปัญญา พระวัชรปาณีโพธิสัตว์แห่งมหาพลัง พระวัชรสัตว์ โพธิสัตว์แห่งมหาวิสุทธิ และนางดาราโพธิสัตว์แห่งโพธิกริยา ทั้งหมดนี้ เป็นพระคุณนาม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแสดงออกในรูปธรรม เพื่อช่วยสรรพสัตว์ กล่าวคือทำธรรมา- ธิษฐานให้เป็นบุคคลาธิษฐาน
กริยาโยคะแสดงให้เห็นถึงสภาพอันไม่บริสุทธิ์และห่อหุ้มไปด้วยกิเลสตัณหาของพระโยคาวจร โดยเปรียบเทียบกับเทวะสะอาดบริสุทธิ์อย่างพร้อมมูล เมื่อพระโยคาวจรน้อมนำจิตเข้าสู่พระ คุณสมบัติขององค์เทวะหนึ่งใดที่ตนศรัทธาและได้รับคำสั่งสอนมาจากพระอาจารย์เจ้าให้เข้า ไปรับใช้พระองค์ ก็จะค่อย ๆ ได้รับคุณวิเศษนั้น ๆ เพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาของตนให้ได้

ในส่วนของอนุตรโยคะนั้น การเข้าถึงและสัมพันธ์กับองค์เทวะแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ในกรณีนี้พระโยคาวจรเข้าอยู่ภายใต้ฉายาขององค์มหาเทพเลยจนหมดสิ้น เท่ากับเข้าถึง แดนสุขาวดี ( ดังเป็นนิกายหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากในเมืองจีนและญี่ปุ่น ) ซึ่งนับว่าเป็นพุทธเกษตร

พระโยคาวจรต้องตัดความนึกคิดใด ๆ ที่ต่างไปจากพระคุณนามขององค์มหาเทพให้หมด สิ้นไป จนรู้สึกตัวว่าตนเป็นองค์มหาเทพเองเลยทีเดียว โดยรู้สึกว่าการกระทำต่าง ๆ ของตน เป็นพุทธกรณียกิจ ดังกล่าวกันว่าวิธีนี้ คือการสมาทานพระตรีกายของพระพุทธเจ้ามาเป็น พระอริยมรรค กล่าวคือไม่ถือว่าพุทธภาวะห่างพ้นไกลออกไปในชาติข้างหน้าโน้น หาก ถือเอาว่าต้องตรัสรู้พระโพธิญาณภายในชาตินี้

จุดสุดท้ายของการปฏิบัติตามลัทธิตันตระข้อนี้ก็คือ พระโยคาวจรเข้าแนบสถิตเป็นหนึ่งเดียว กับองค์มหาเทพ ทั้งทางกายวาจาและใจ การแสดงออกทั้งภายในและภายนอก ล้วนแสดงว่า เข้าถึงพุทธภาวะแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเข้าถึงคุณวิเศษขององค์มหาเทพแต่ละขั้นตอน เท่ากับการตรัสรู้พระธรรมอันวิเศษ เป็นการเข้าถึงพุทธภาวะ พร้อม ๆ กับความเจริญงอกงาม แห่งมหากรุณาและมหาปัญญา

ถือได้ว่า การตรัสรู่อย่างนี้ รวดเร็วและรุนแรง เข้มแข็งดังใช้เพชรตัดเพชร ฉะนั้น จึงเรียกว่า วัชรยาน คือมีพาหะเป็นเพชร แต่แท้ที่จริงแล้ว การตรัสรู้อย่างรวดเร็วดั่งสายฟ้าเช่นนี้ ( วัชระ แปลว่า สายฟ้าของพระอินทร์ด้วย ) จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบำเพ็ญบารมีมาเพียงพอ ในขั้นศีลา จารวัตร ทั้งยังต้องเตรียมกาย วาจา ใจ ไว้ให้พร้อม ก่อนที่จะเข้ารับเอาองค์มหาเทพมาสมาทาน ไว้ได้ โดยต้องเจริญเนกขัมมบารมีและอธิษฐานบารมี มุ่งโพธิจิตอย่างปราศจากความเห็นแก่ตัว เพื่อพระปรมัตถสัตย์เท่านั้นเอง

ก่อนที่จะเข้าถึงขั้นนั้น พระโยคาวจรจำต้องทำบุรพกิจ ๕ อย่าง ลุล่วงมาก่อนแล้วตามลำดับ คือ ๑) ล้มตัวลงกราบพระโดยอัษฎางคประดิษฐ์ เป็นระยะทางติดต่อกันมาแล้วแสนครั้ง ( ในธิเบต จะมีผู้ถือบุญจาริกเป็นระยะทางไกล ๆ โดยเดินแต่ละก้าว แล้วล้มลงนอนกราบ เช่นนี้มาตลอด ทาง มักมีไม้รองมือติดมาด้วย อย่างภูเขาไกรลาสนั้น เดินปทักษิณ ๒ วันก็รอบ หากล้มตัว ลงกราบเพื่อปทักษิณกินเวลา ๑ เดือน และจากกรุงลาสาไปเขาไกรลาส นั่งรถไป ๔ วัน ) ๒) สวดสังวัธยายมนต์ของพระวัชรโพธิสัตว์แสนครั้ง ดังสวดลักขีของเรา ( ลักขี แปลว่า แสน) ๓) รับไตรสรณคมมาแล้วแสนครั้ง ๔) บูชาเทพยาดาฟ้าดินมาแล้วแสนครั้ง ๕) สวดสังวัธยาย มนต์จากพระลามะที่สั่งสอนตามรหัสนัย ให้มาเป็นเฉพาะด้วยแล้วแสนครั้ง

บรุพกิจทั้ง ๕ นี้ เป็นขั้นตอนขั้นต้น เพื่อสร้างศรัทธาปสาทะให้มั่นคงในทางตันตรปฏิบัติ และเพื่อกีดกั้นจิตใจไม่ให้หวั่นไหวโอนเอนไปในทางนิวรณขันธ์ มีความสงสัย ลังเล ง่วงเหงา หาวนอน เป็นต้น

ต่อเมื่อล่วงพ้นขั้นแห่งบรุพกิจได้แล้ว พระโยคาวจรจึงจะได้อภิเษกจากพระอาจารย์เจ้า ให้ได้รับดวงมณพล แทนองค์มหาเทพ เท่ากับพระอาจารย์เจ้าเป็นดังพระอุปัชฌาย์ อนุญาติให้สานุศิษย์มีส่วนเข้าถึงมหาเทพหนึ่งใด้ โดยพระอาจารย์เจ้าจะต้องเข้าถึงจน แนบแน่นกับพระคุณวิเศษแห่งมหาเทพองค์

รูปมณฑลขององค์มหาเทพเท่ากับเป็นโลกทิพย์ของมหาเทพนั้นเอง แม้รูปมณฑลจะ เป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยม แต่นั่นเป็นสัญลักษณ์อันย่อส่วนโลกแห่งความจริงขององค์ มหาเทพมาให้พระโยคาวจรได้รับรู้เท่านั้น

มณฑลที่แท้ กว้างใหญ่ไพศาล ครอบจักรวาล มีสำนักขององค์มหาเทพอยู่ที่ใจกลาง โดยปริมณฑลทั้งหมดแสดงออกซึ่งปัญญาคุณขององค์มหาเทพ ซึ่งเป็นส่วนอันแยก ออกจากความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเสียหาได้ไม่ มณฑลดังกล่าวเป็นโลกแห่งแสง สว่างที่มองรอดตลอดไปได้ โดยที่รายละเอียดต่าง ๆ ในมณฑลนั้น ๆ ล้วนเป็นสัญ ลักษณ์ของพุทธภาวะทั้งสิ้น

หลักข้อแรกของการปฏิบัติตามอนุตรโยคะตันตระ คือ พระโยคาวจร ทำตนให้เป็น หนึ่งเดียวกับองค์มหาเทพ เพื่อแยกตนออกจากทัศนคติและอุปาทานที่ตนเคยติดยึด มาก่อน จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรียนรู้ที่จะคิดอย่างองค์มหาเทพและถือเอารูปมณฑล เป็นโลกแห่งความจริง โดยทิ้งโลกแห่งสมมติที่ตนเคยคุ้นอยู่นั้นออกเสีย

การเปลี่ยนสภาพดังกล่าว จากการรับรู้และความคิดอย่างสามัญดังที่แล้ว ๆ มา ย่อมเป็น ไปได้ต่อเมื่อสามารถรำลึกได้ตลอดเวลาองค์มหาเทพคิดอย่างไร มณฑลของท่านเป็น โลกแห่งความจริงเพียงใด

เริ่มจากสุญญตาอันบริสุทธิ์ แล้วขยายให้สร้างความคิดขึ้นจากรูปภาพมณฑลให้เห็น รายละเอียดต่าง ๆ ได้ชัด ว่าสัญลักษณ์ขององค์มหาเทพเป็นไฉน รูปและสีที่เพ่งจน เป็นกสิน สามารถนำกลับมาให้เป็นจริงได้ ขนาดจับต้องได้ เคลื่อนไหวได้

รูปนมณฑลเป็นจักรวาลที่เป็นจริงขึ้นมาแล้ว สามารถทำลายจักรวาลนั้นลงได้ทีละชิ้นส่วน ด้วย จากวงนอกของมณฑลเข้าไปจนวงในของมณฑล ซึ่งรวมเหลือเพียงองค์ มหาเทพ และแล้วองค์มหาเทพดิ่งเป็นจุดเดียวที่เหลืออยู่ และในที่สุดแม้องค์มหาเทพ ก็ปลาสนาการไป กลายเป็นสุญญตา

นอกจากจะเปลี่ยนสภาพจากความความเคยชินของเราที่มีต่อตัวเราและต่อโลกแล้ว การ ปฏิบัติโยคะตันตระตามแนวนี้ ยังเป็นการสร้างรูปและทำลายรูปขององค์มหาเทพตลอด จนมณฑลซึ่งเ้ป็นเป้าแห่งการภาวนาอีกด้วย นับเป็นการช่วยวิธีบริกรรมและช่วยสร้างความ คิดฝันอันจะนำไปสู่ปรมัตถสัตย์

สิ่งซึ่งบริกรรมจนเกิดเป็นนิมิตขึ้นนั้น แม้จะมีท่าทีว่าเป็นจริงยิ่งกว่าโลกที่เรารู้จัก ก็พึงตรา ไว้ว่านั่นเป็นเพียงนิมิต อันเกิดจากอำนาจของการภาวนา

พระโยคาวจรอาจสร้างภาพภายนอกของอาการตรัสรู้ให้ปรากฏ แม้จนพุทธเกษตรก็ปรากฏได้ แต่แล้วก็ต้องแปรรูปไปให้เป็นพลังแห่งพระโพธิญาณ

ฉะนั้น การมุ่งบริกรรมที่รูปองค์มหาเทพ โดยใช้มณฑลเป็นที่เพ่งกสินนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอน หรืออุบายเท่านั้นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อเข้าถึงพุทธภาวะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง

การเข้าถึงพุทธภาวะ โดยนัยแห่งตันตระดังกล่าว ต้องเข้าใจว่านามและรูป แยกออกเป็น สามสภาพ คือ ขั้นหยาบ ละเอียด และละเอียดอ่อนอย่างที่สุด

ร่างกายคือความหยาบของรูป ในขณะที่ความรับรู้ทาง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขณะตื่นอยู่ คือความหยาบของนาม

ในด้านความละเอียดของรูปนั้น คือ พลังแรงของร่างกายอันได้แก่ ลมปราณ และช่องทางเดิน แห่งลมปราณ( นาทิ) และจุดที่ลมปราณออกจากร่าง ( จักร ) ในส่วนของนามคือ ความฝัน
ทางด้านความละเอียดอ่อนอย่างที่สุดของรูปคือ จุดหยุดพลังของร่างกายที่เรียกว่า พินทุ อันตั้ง อยู่ ณ หทัยวัตถุ โดยที่ในทางนาม คือปรากฏการณ์ขณะหลับ อันรับรู้ไม่ได้โดยความฝัน

ตันตระถือว่า ทางด้านพระสูตร พูดถึง นามรูป จำเพาะแต่ระดับหยาบ คือเอ่ยถึงกายและ ความรู้สึกนึกคิดขณะที่ตื่นอยู่เท่านั้น ในขณะที่ตันตระเน้นที่นามรูป ในระดับที่ละเอียดและ ละเอียดอ่อนอย่างที่สุด เป็นประการสำคัญ

ทางตันตระถือว่า ถ้าเข้าใจ ๓ ขั้นตอนดังกล่าว จะเข้าซึ้งถึงปัญหาในเรื่องนามและรูปอย่าง ถ่องแท้ กล่าวคือ จำเพราะขั้นหยาบเท่านั้นที่นามต่างไปจากรูป แต่ในขั้นละเอียดนั้น จิตดู แตกต่างไปจากพลังแต่ก็เป็นพลังของร่างกายอยู่ด้วย

ที่ใดมีความคิดหรือมีจิตสำนึก แสดงว่านั่นคือวิญญาณและนั่นต้องมีพลังจากร่างกายอย่าง ละเอียดปนอยู่ด้วยเสมอไปพลังดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นความคิดในทางจิตใจ

ยิ่งในทางที่ละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้งลงไปด้วยแล้ว นามและรูป หรือจิตและร่าง เป็นประหนึ่งจะเป็นหนึ่งเดียวกันไปเลย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นามและรูปเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งเดียวกัน แม้จะแสดงออก อย่างหยาบ ให้ต่างกันมากก็ตาม จนแทบจะไม่เห็นทางที่จะเข้ากันได้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ถ้าเข้าใจนามและรูปเช่นนี้แล้ว จะเข้าใจกระบวนการจากตายไปสู่การเกิดใหม่ได้ไม่ยาก

ขอให้เปรียบความหยาบ ละอียด และละเอียดอ่อนอย่างที่สุด ของร่างกายและจิตใจ กับ ความตายในสามขั้นตอนดู ก็จะเห็นได้ว่าตายนั้นคือ มรณะหรือสิ้นลมปราณ ๑ แล้วมีช่วงระหว่างการตายกับการเกิด ที่ภาษาธิเบตเรียกว่า บาร์โด ( อันตรภพ ) ๑ จากนั้นจึงถือ สมภพในชาติต่อไป โดยจะเป็นคน สัตว์ เปรต อสุรกาย ฯลฯ หรืออะไรก็สุดแท้

แม้ในระหว่างที่ยังดำรงชีพอยู่ ในแต่ละ ๒๔ ชั่วโมง ก็มี ๓ ขั้นตอนดังกล่าวที่นามรูป ต้องผ่านไปเป็นช่วง ๆ ดุจดังการตาย ระหว่างตายกับเกิด ( อันตรภพ ) และการเกิด เช่นกัน กล่าวคือ ๑) นอนหลับอย่างสนิท คือ อาการที่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดจนพลังจากร่างกายหยุดพัก ดุจดังอาการตายฉะนั้น ๒) พ้นจากการหลับสนิท เราจะฝัน ดุจดังเป็นห้วงแห่งบาร์โด ( อัตรภพ ) ๓) ตอนเกิดใหม่และตื่น นามและรูป ทำงานอย่างหยาบ โดยแยกจากกันให้เห็นได้ชัด

ความหยาบ ละเอียด และละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้งนี้แล ที่ตันตรยานนำมาอธิบายในเรื่อง ตรีกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งทางมหายานกำหนดเป็นพุทธปรัชญาไว้แล้ว กล่าวคือ ๑ ) พระธรรมกาย ได้แก่โพธิจิตที่ละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้งที่สุด อันปรากฏอยู่ในโลก อย่างดำรงพระพุทธคุณไว้ชั่วกัลปาวสาน ๒) พระสัมโภคกาย ได้แก่พระพุทธภาวะที่ ละเอียดอ่อน อันปรากฏอยู่ในพุทธเกษตร หรือแดนสุขาวดี อันพระโพธิสัตว์ที่เข้าถึง พระปรมัตถบารมีแล้ว จึงจะรับรู้พระคุณวิเศษที่ละเอียดนี้ได้ ๓) พระนิรมาณกาย คือ พระรูปโฉมของพระพุทธองค์ที่ปรากฏในโลกต่าง ๆ ทั้งในโลกนี้และในดาวดึงส์สวรรค์ คราวเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ซึ่งเสด็จมาฟังธรรมจากสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นต้น

ทางมหายาน เอ่ยถึงพระตรีกายในทางปรัชญา แต่ตันตระนำพระตรีกายมาเป็นพลังตอนตาย ( พระธรรมกาย ) ตอนระหว่างตายและเกิด ( พระสัมโภคกาย ) และตอนเกิด ( พระนิรมานกาย ) เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกอาจเข้าถึงพุทธคุณได้จนถึงตรัสรู้ แม้ในช่วงแห่งการตาย การเกิด ระหว่างภพภูมินั้น ๆ ทั้งนี้เพราะพระธรรมกายอาจปกป้องสัตว์ได้ตอนตาย ดังพระสัมโภคกาย ก็ช่วยสัตว์ให้เข้าถึงแดนสุขาวดีในระหว่างรอกการเกิด ครั้นเกิดแล้วก็สมาทานพระนิรมานกาย ของพระพุทธเจ้าต่อไป

แม้ตัณหา ราคะโทสะโมหะ ก็อาจแสดงออกได้อย่าง หยาบ ละเอียด และละเอียดอ่อนที่สุด ตันตระจึงไม่สอนให้ละเว้นดังทางเถรวาท หากให้เผชิญกับมัน ดับรูปการเสพสังวาสนับเป็น มณฑล ให้เพ่งบริกรรม เป็นดังกสิน เพื่อข้ามพ้นราคจริตสู่องค์เทวะ ผู้เป็นองค์คุณของพระ พุทธเจ้านั่นเอง
ความยากลำบากอยู่ตรงที่ การแก้ตัณหาระคะในขั้นหยาบนั้นไม่สู้ยาก เพียงถือศีลมั่นไว้ ก็พอแล้ว แต่ในขั้นละเอียดและละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้งสิยากนัก พระของเราที่ฝันแล้ว น้ำอสุจิเคลื่อน ท่านจึงไม่ปรับอาบัติ ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ การเก็บกดทางราคจริตไว้ แล้วแสดงฤทธิ์ออกทางโลภจริตและโทสจริตซึ่งพระผู้ใหญ่ของเราเป็นกันมาก ทั้งนี้ก็ เพราะเราดูถูกตันตรยานและปราศจากการภาวนา เพื่อถอนกิเลสวาสนา ที่มาอย่างลึกโดย วิธีอันแยบคายอย่างละเอียดอ่อนเสียด้วย

ทางตันตรยาน เขามีอุบายให้เข้าถึงนามและรูป ในขั้นที่ละเอียดอ่อนลงไปเรื่อย ๆ โดยใช้ อำนาจจิต อันได้รับพลังจากเทพ ซึ่งเป็นพุทธานุภาพ จนอาจผลักดันพลังทางกายและจิต ให้เข้าสู่พุทธอาณา ทั้งทางพระธรรมกาย พระสัมโภคกาย และพระนิรมานกาย

ถ้าพระโยคาวจรเข้าถึงอาการอันหลับสนิทของตนได้ ย่อมรู้เท่าทันความฝันและความตื่น อยู่ก่อนแล้ว ความตาย และอาการระหว่างตายและเกิด ( อันตรภพ ) แม้จนการเกิด จะพ้น เงื้อมมือไปได้อย่างไร สำหรับพุทธศาสนาแบบธิเบต ลามะที่ปฏิบัติธรรมขั้นสูง จึงกำหนด การเกิดของตน แม้จนกาลและสถานที่ได้ดังใจปรารถนา

นอกไปจากนั้นแล้ว ทางตันตรยานยังดูถูกพวกเคร่งศีลอย่างหยาบอีกด้วย เพราะนั่นเป็น การสร้างอัตตวาทุปาทานได้อย่างร้ายแรง ดังที่พวกเราบางคนก็เผชิญมาแล้วในบางวงการ ที่มีบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ของศีล จนเราแทบจะสำรอกกันเอาเลย

พุทธศาสนา ไม่ว่าจะตันตรยาน โพธิสัตวยาน หรือสาวกยาน ล้วนมุ่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นบรรทัดฐาน มีอาการแห่งความเมตตากรุณา และความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเจ้าเรือน

ถ้านึกว่าเราเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูก พึงระวังไว้เถิดว่า มิจฉาทิฏฐิและอหังการ มมังการ เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เสียแล้ว

การรับรู้เกี่ยวกับตันตรยานดังที่ว่ามานี้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเลื่อมใสตามไปด้วย แต่ก็ควรมนสิการไว้ ว่าของเขาก็มีอะไรในเนื้อหาของพระพุทธธรรมที่ควรแก่การ สำเหนียกอยู่มิใช่น้อย

โดยที่บัดนี้ ตันตรยานแพร่ขยายไปถึงประเทศต่าง ๆ ทางยุโรปและอเมริกา ซึ่งเลื่อมใสกันมาก แม้จะปลาสนาการไปแล้วจากบ้านเราและอินโดนีเซีย แต่ก็ยังทิ้งเค้าอยู่ ดังเช่นที่ภูฐานนั้น นิกายนี้คือชีวิตจิตใจของคนส่วนใหญ่ เลยทีเดียว โดยเราต้องไม่ลืมว่า The Tibetan Book of The Dead ที่มีอิทธิพล มากในเรื่องชาตินี้ชาติหน้า จนฝรั่งหันมาสนใจตันตรยานกันยิ่ง ๆ ขึ้นทุกทีนั้น ฉบับแรกที่แปลและตีพิมพ์ออกสู่ยุโรปนั้นได้ตัวคัมภีร์ไปจากภูฐานนี้เอง

จากหนังสือ เตรียมตัวตายอย่างมีสติ บทแรก




หนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ

An Introduction to the Study of Buddhism: A Sane Way to Live

Theravada Buddhism Recommended Reading








 

Create Date : 12 กันยายน 2552    
Last Update : 14 กันยายน 2552 21:46:05 น.
Counter : 918 Pageviews.  


Inquirer
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Loading
ร้านหนังสือธรรมะ ภาษาต่างประเทศ Bestsellers Buddhism General Buddha's Nirvana Theravada Sutra Mahayana Dalai Lama Vajrayana Zen Buddha Dhammapada Dharma History Karma Rituals & Practice Sacred Writings Sutras Zen Philosophy Tibetan Religion & Spirituality Kindle Books Bestsellers in Kindle Store Hot New Releases Most Gifted Most Wished For Audiobooks Audiobook Downloads
free counters
Web-Stat
Friends' blogs
[Add Inquirer's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.