Group Blog
 
All Blogs
 
รู้เบื้องต้นก่อนการเรียนครูสมาธิ ตอนที่ ๑

 

ถ้ามีคนชวนผู้อ่านไปเรียนครูสมาธิ หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า “แล้วเราจะได้อะไรจากการเรียนครูสมาธิ”       เพราะหากนึกถึงการทำสมาธิหลายคนอาจนึกถึงคนนุ่งขาวห่มขาว นั่งขัดสมาธิ หลับตา เป็นเวลานาน ๆ หรือไม่ก็เดินจงกรมช้า ๆ  และยิ่งคำว่า “ครู” ก็คงยิ่งส่ายหัว เพราะคงคิดว่า “ไม่ได้หรอกฉันสอนใครไม่เป็น” “ฉันไม่อยากเป็นยายแก่แว่นตาหนา ๆ”

 

                                                แต่ก่อนจะคิดวาดภาพอะไรไปมากมายอยากให้ผู้อ่านลองกวาดสายตาคร่าว ๆ ไปให้ทั่วบทความนี้ เพื่อจับใจความอย่างคร่าว ๆ  ก็จะได้ข้อมูลเป็นการเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักสูตรครูสมาธิของพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลฯ  และผู้อ่านจะได้คำตอบให้กับคำถามในตอนต้น

 

                                                สมาธิหมายถึงการที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว    

 

                             “และทำสมาธิไปเพื่ออะไรล่ะ”  อาจมีคำถามในใจ    

 

                              จากหนังสือหลักสูตรครูสมาธิ โดยพระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) พระอาจารย์หลวงพ่อเขียนถึงประโยชน์ของการทำสมาธิว่ามี ๑๒ ข้อ (เล่ม ๒ หน้า ๒๐ - ๒๑) แต่จะขอยกมาเป็นตัวอย่างบางข้อที่น่าสนใจคือ ทำให้หลับสบายคลายกังวล  กำจัดโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สมองดี ปัญญาดี บรรเทาความเครียด เวลาสิ้นลม พบทางดี  แค่นี้คงจะตอบได้แล้วว่า “ทำสมาธิไปเพื่ออะไร”

 

พระอาจารย์หลวงพ่อสอนว่า  การทำสมาธิมีจุดประสงค์เพื่อสะสมพลังจิต(เล่ม๑ หน้า๑)   สมาธิมี ๒ อย่าง คือสมาธิธรรมชาติ กับสมาธิที่สร้างขึ้น   “ความจริงมนุษย์ทุกๆคนได้มีสมาธิกันทั้งนั้น” (เล่ม ๒ หน้า๗)  สังเกตได้จากการนอนหลับ และแม้แต่การทำงานที่จดจ้องเป็นการเป็นงานหรือการเรียนหนังสือ แต่สมาธิธรรมชาตินี้มักไม่เพียงพอและ “มีมาใช้ไปไม่อยู่คงทนเกิดขึ้นสลายตัวไปในการใช้งาน” (เล่ม ๒ หน้า๘)  จึงจำเป็นที่ต้องมาทำสมาธิสร้างขึ้น เพราะ”สมาธิสร้างขึ้นจะเป็นพลังหลักปรากฏว่าฝังสนิทติดอยู่ที่ใจของเราตลอดไป ไม่มีการสูญสลาย” (เล่ม ๒ หน้า๘)  สมาธิที่สร้างขึ้นนี้ จะแบ่งเป็นพลังหลัก ๖๐ % ซึ่งพลังหลักนี้จะเก็บสะสมไปข้ามภพข้ามชาติ สังเกตได้จากคนบางคนทำสมาธิไม่เท่าไรก็สงบนิ่งมีพลังจิตมากเป็นเพราะพลังจิตที่สะสมมาในอดีตชาติ ส่วนอีก ๔๐ % ที่เหลือเรียกว่าพลังเฉลี่ย ซึ่งพลังส่วนนี้เป็นพลังที่เราเอามาใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวัน เป็นพลังที่เพิ่มเติมจากสมาธิธรรมชาติ ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น คนที่มีพลังจิตมากจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต และสามารถเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติได้ดีกว่าคนอื่น

 

อ่านมาถึงตอนนี้คงเริ่มเข้าใจถึงความจำเป็นในการทำสมาธิกันแล้ว ต่อไปนี้มารู้ถึงวิธีการทำสมาธิของพระอาจารย์หลวงพ่อกันว่ายากหรือง่ายเพียงใด  การทำสมาธิทำได้ทั้ง ๔ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แต่พระอาจารย์หลวงพ่อจะสอนให้ทำ ๒ อิริยาบถหลัก คือ เดิน กับ นั่ง 

 

การเดินสมาธิหรือที่เรียกว่าเดินจงกรม พระอาจารย์หลวงพ่อสอนว่า  “ให้เอามือขวาจับมือซ้ายทับไว้ที่หน้าท้อง เดินไป – กลับมาตามทางยาวที่กำหนด เวลากำหนดจิตนั้น พอปรากฏว่าจะได้ที่หมายความว่าจิตจะสงบก็ให้หยุดที่จุดเริ่มต้นหรือปลายทางเดินจงกรมชั่วขณะ แล้วจึงเดินต่อไป เพื่อให้เป็นผลก็ควรจะได้เดินจงกรมให้เป็นการต่อเนื่องประมาณ ๓๐ นาที ก่อนจะนั่งสมาธิ” (เล่ม ๑ หน้า ๖)

 

การนั่งสมาธิเป็นการนั่งโดยการขัดสมาส หลวงพ่อสอนว่า “เป็นอิริยาบถที่ให้ความสำเร็จมากกว่าอิริยาบถอื่น... ในแบบที่พอดีและถูกต้องคือ การนั่งแบบที่พระพุทธเจ้าได้สำเร็จ คือ นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตัก ตั้งกายให้ตรง แล้วหลับตาแต่พอดี” (เล่ม ๑ หน้า ๘) ส่วนบางคนจะนั่งพับเพียบหรือนั่งหย่อนเท้าลงข้างล่างนั้น หลวงพ่อก็อนุโลมให้ทำได้ในบางคนที่นั่งขัดสมาธิไม่สะดวก

 

เมื่อรู้ถึงท่าทางในการทำสมาธิทั้งการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิแล้ว ตอนนี้ ก็มาถึงจุดสำคัญคือการวางใจ(จิต)ในขณะทำสมาธิ หลวงพ่อสอนว่า “ตัวรู้ คือ ใจ ถ้าเราไม่รู้ใจ เราก็วางใจไม่ถูก การทำสมาธิก็ไม่ประสพผลสำเร็จ” (เล่ม ๑ หน้า๔๓) 

 

ขั้นตอนแรกของการวางใจคือ การบริกรรม  “การบริกรรมคือการตัดอารมณ์อื่นทั้งหมดทิ้งให้เหลือเพียงอารมณ์เดียว” (เล่ม ๑ หน้า ๔๘)  “ความหมายของการบริกรรมคือการเริ่มกลั่นกรองอารมณ์” (เล่ม ๑ หน้า๗๐)  พระอาจารย์หลวงพ่อสอนว่า  “การใช้คำบริกรรมนั้น ไม่ยุติว่าจะใช้คำใด จะใช้คำใดก็ได้ พุทโธ หรืออะระหัง หรือนะโม หรือ นะมะพะธะ ฯลฯ เราจะใช้คำใดก็ได้ เพราะคำบริกรรมนี้เป็นจุดของการวางใจในเบื้องต้นเท่านั้น หรือเป็นที่อิงตัวรู้คือใจ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะบริกรรมคำไหนก็ให้บริกรรมคำนั้นอย่าเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเปลี่ยนคำบริกรรมคำโน้นบ้างคำนี้บ้างจะทำให้ ตัวรู้ คือใจรวนเร และก็จะทำให้เกิดวิจิกิจฉา คือความสงสัยอันเป็นทางกางกั้นสมาธิ เรียกว่านิวรณ์ การวางใจให้อยู่ในคำบริกรรมนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ฝึกหัดสมาธิในเบื้องต้น เราจะรู้สึกว่ามีความรู้จดจ่ออยู่ในคำบริกรรมนั้นๆ นั่นคือการวางใจ” (เล่ม ๑ หน้า ๔๔)  สำหรับในการเรียนครูสมาธิพระอาจารย์หลวงพ่อให้ใช้คำบริกรรม “พุทโธ”  ด้วยเหตุผลที่ว่า “พุทโธที่เราบริกรรมอยู่ขณะนี้ จึงมีความสะดวกสบายขึ้นมาเยอะแยะ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านมหกรรมมามากต่อมาก เพื่อไม่ให้ขัดต่อความเชื่อในลัทธิต่าง ๆ  พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่สาวกว่า พุทโธ แปลว่า บริสุทธิ์ ตื่นจากหลับ จะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องขัดข้องภายในจิตใจที่จะนึกว่าพุทโธ ไม่ขัดข้องเป็นกลางของทุกคน” (เล่ม ๑ หน้า ๗๐)

 

ขั้นตอนที่สองของการวางใจคือ การหาจุดวางใจหรือการวางจิตไว้ ณ ฐานที่ตั้ง พระอาจารย์หลวงพ่อสอนว่า  “การวางจิตในเบื้องต้นมีการใช้ฐาน หมายถึงที่ตั้ง การตั้งจิตไว้ ณ ที่ใด ที่หนึ่งชื่อว่าที่ตั้งของจิต เมื่อมีที่ตั้งก็เอาจิตวางไว้ตรงนั้น” (เล่ม ๑ หน้า ๔๕)   สำหรับฐานในการวางจิตขณะบริกรรม ปัจจุบันหลวงพ่อให้เลือกได้ ๕ ฐานคือ หน้าผาก เฉพาะหน้า อกเบื้องซ้าย ปลายจมูก และสะดือ(ระหว่างท้องน้อย)  การจะเลือกวางที่ฐานใด ให้ลองคิดว่า หากเกิดเหตุการณ์คับขัน เราวางจิตไว้ที่ใดที่จะเป็นจุดยืนของเรา ในช่วงแรก ๆ อาจใช้วิธีลองกำหนดไปในแต่ละฐาน และลองสังเกตว่าวางที่ฐานนี้แล้ว การทำสมาธิสงบดีหรือไม่ และเมื่อเลือกได้แล้วไม่ควรย้ายไปที่อื่น เพื่อฝึกให้เกิดความชำนาญ

(รออ่านตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้คะ)




Create Date : 30 กรกฎาคม 2556
Last Update : 30 กรกฎาคม 2556 18:58:34 น. 0 comments
Counter : 2009 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

บัวบัว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add บัวบัว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.