Group Blog
 
All Blogs
 

ศิลป์ภาวนา

                ได้เข้าร่วมกิจกรรม “ศิลป์ภาวนา ถักรัก ปันอุ่น”  ของกลุ่มชีวิตสิกขา ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ หรือที่รู้จักกันในนาม “สวนโมกข์กรุงเทพ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ วันที่ระลึกทหารผ่านศึก และเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนกับกิจกรรมตักบาตรเดือนเกิด ที่จัดกันทุกเดือน

                เพราะเป็นวันพระ วันนี้มีญาติโยมนำอาหารมาตักบาตรกันมากมาย เห็นแล้วชื่นใจ ร่วมอนุโมทนาบุญกับผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน วันนี้มีพระครูใบฎีกามณเฑียร มณ.ฑีโร(พระอาจารย์จ้อย) จากวัดธารน้ำไหลสวนโมกขพลาราม มาเทศน์ก่อนฉันแล้ว พระอีก ๙ รูป นิมนต์มาจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

                ท่านจ้อยเทศน์เรื่องความรักในเดือนกุมภาพันธ์ ว่าเดือนนี้มีวันแห่งความรัก ๔ วัน ๔ อย่าง วันแรกคือ วันนี้ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักชาติเสียสละ วันทหารผ่านศึก เราควรระลึกถึงทหารหาญที่เสียสละชีวิตปกป้องชาติเราไว้ ไม่มีพวกเขา เราก็ไม่มีความสุขอยู่อย่างนี้ วันที่ ๒ คือ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ปีนี้คือวันตรุษจีน วันแห่งความรักครอบครัว รักระลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นวันแห่งความรักบรรพบุรุษ วันที่ ๓ คือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรักโดยสากล รักของหญิงชาย วันสุดท้ายวันที่ ๔ คือวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ปีนี้ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ คือวันมาฆบูชา ก็เป็นวันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา ถ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีความรักในมนุษย์เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้ว ก็คงไม่เผยแผ่ สรุปก็คือเดือนนี้มีวันแห่งความรัก ๔ อย่าง ให้เราระลึกรู้

                จากนั้นประธานสงฆ์จากวัดมหาธาตุฯ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา เรื่องบุญกริยาวัตถุ ๑๐ แต่ยกตัวอย่างมาเพียง ๓ คือทาน ศีล ภาวนา การให้ทาน การเตรียมสิ่งของมาตักบาตร เป็นการลดละกิเลสได้ระดับหนึ่งเป็นวัตถุทาน

                จบจากกิจกรรมตักบาตร หลังจากเป็นลูกศิษย์วัดกันอิ่มแปล้แล้ว ช่วงบ่ายก็มีกิจกรรม  วันนี้กลุ่มในเครือข่ายชีวิตสิกขามีกิจกรรมให้เข้าร่วม ๒ กิจกรรมคือ “ศิลป์ภาวนา ถักรัก ปันอุ่น” และ “ศิลป์ภาวนา เย็บถุงชายผ้าเหลือง” เราเข้าร่วม“ศิลป์ภาวนาถักรัก ปันอุ่น” ก่อนเริ่มทำกิจกรรม น้องหนูหัวหน้าทีมให้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย อธิษฐานจิตว่าจะถักไหมพรมด้วยความตั้งใจจริง ด้วยจิตที่เปี่ยมสุข ผู้รับจะได้รับความสุขใจนั้น ๆ ไปด้วย เพราะวางมือกับการถักโครเชท์ มา ๒๐ กว่าปี จึงต้องมีครูหน่อยเป็นพี่เลี้ยงคอยบอกลายให้ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ทำอะไรต่อ เราตั้งสมาธิทำด้วยความตั้งใจ เพราะอยากจะทำอยู่แล้ว มาวันนี้ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างไม่รู้มาก่อนว่าจะมี เลยมีความตั้งใจอย่างมาก ถักหมวกไหมพรม ลายพัด ครูหน่อยบอกว่า เพื่อให้มีกำลังใจ ให้ถักหมวกเด็กก่อน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมี ๕ - ๖  คน ที่พอถักได้ ถักลายเดียวกันคือลายพัด (แต่สุดท้ายผลงานที่สำเร็จออกมาคนละทรงเลย) เราเลือกไหมสีฟ้ากับชมพู ถักด้วยความตั้งใจมีสมาธิ เวลาผ่านไปโดยไม่รู้สึกว่านาน หรือแม้แต่การเมื่อยล้า เพราะนั่งกับพื้นด้วยท่าขัดสมาธิ แว่วเสียงน้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ว่าถักเกินบ้าง เปียเกินบ้าง ที่เราเรียกกันเล่น ๆ ว่า ชอบโปรโมรชั่น  ของเราไม่มี สมาธิอยู่ที่งาน ย้อนหลักหน้าสาม หน้าสี่  ทำไม่พลาด เพียงแต่มีช่วงหนึ่งที่เราแอบเพิ่มโซ่ เพราะรู้สึกว่างานจะเล็กไป จนครูหน่อยไม่ให้เพิ่มเราก็กลับมาทำแบบเดิม แต่ทุกขณะทุกการถัก เรามีสติตลอด ช่วงแรก ๆ ๒ ชั่วโมงแรก สมาธิมั่นมาก นิ่งในจิต มีแต่การเคลื่อนไหว ของมือทั้งสองมือขวาก็ผ่อนเส้นไหมเพื่อให้มือซ้ายควักเส้นไหมเป็นลาย สมองก็นับว่าพันควักได้กี่หลักแล้ว  เวลาผ่านไป ไม่รู้สึกไม่เดือดร้อน ครบแถวก็ให้ครูหน่อยดูว่าทำอย่างไรต่อ ใจสุข ใจนิ่ง ไม่มีอะไรเข้ามาในความคิด นอกจากการถัก ถัก เพื่อให้สำเร็จ มาเริ่มมีความรู้สึกแกว่ง ๆ นิด ๆ ตอนที่กลุ่ม “ศิลป์ภาวนา เย็บถุงชายผ้าเหลือง” บอกกันว่า มีเวลาอีก ๑๕ นาที จะเก็บของแล้ว เพราะจะ ๑๗.๐๐ น แล้ว ในใจก็คิด ว่า เรานั่งถักมาจะ ๔ ชั่วโมงแล้วหรือ ไม่รู้สึกเลย ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง(กระดูกสันหลังเราไม่ดีมันคดเป็นรูปตัว S นั่งกับพื้นนาน ๆ จะปวดหลัง) พอสติหลุดจากสมาธิ อาการปวดนิด ๆ ก็เริ่ม เหงื่อเริ่มออกที่มือมากขึ้น จนครูหน่อยบอกว่า ถักจนเข็มฝืดเลย เริ่มหิวน้ำจนต้องลุกไปดื่มน้ำ ๑ ขวดเล็ก กลับมานั่ง เริ่มมีอาการรนเล็กน้อย เพราะน้อง ๆ หลาย ๆ คนเริ่มทยอยกลับเขายังทำไม่เสร็จ แต่จะมาต่อวันเสาร์หน้า มี ๓ คนที่นั่งใกล้ ๆ กันที่งานใกล้จะเสร็จ สักพัก น้องคนหนึ่งก็ทำเสร็จ ถ่ายรูปกันแล้วเขาก็กลับ ใกล้จะ ๑๘.๐๐ น. แล้วชิ้นงานของเราใกล้ความจริง ขณะที่เราเร่งถัก การควักเข็ม กลับมีข้อผิดพลาดบ่อยขึ้น ควักไหมมาไม่ทั้งเส้น ต้องดึงออกใหม่ ทั้งที่ความเร็วในการทำก็เท่า ๆ กับเมื่อตอนถักใหม่ ๆ เหมือนยิ่งรีบก็ยิ่งรน ที่เรารีบเพราะเกรงใจครูหน่อยที่ต้องอยู่ดูแล แต่ก็ยังใจชื้นที่มีน้องอีกคนยังนั่งอยู่ และคนในกลุ่มชีวิตสิกขา ก็มานั่งถักเป็นเพื่อน นี่สุดชิ้นงานก็เสร็จเกือบ ๑๘.๐๐ น. เสร็จก่อนน้องอีกคนเล็กน้อยพอเสร็จ ความรู้สึกมันภูมิใจ มีความสุข ไม่ใช่เพราะคำชมว่า สีหวานสวยอย่างเดียว แต่เพราะความตั้งใจบรรลุผล เราอยากถักหมวกให้เด็ก ๆ อยู่แล้ว มาได้ถัก แล้วถักเสร็จด้วย และชิ้นงานก็พอดูได้ นำไปใช้ได้ ความสุขมันกรุ่น ๆ อยู่ข้างใน อธิบายไม่ถูก ความรู้สึกปวดเมื่อยไม่มี ไม่ว่าจะที่มือ ที่หลัง หรือว่าที่ขา  ตอนนี้มานั่งระลึกถึงสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ก็คิดว่า คงเป็นเพราะผลบุญจากการตั้งใจจริง อาการปวดเมื่อย ต่าง ๆ ที่เป็นโรคกรรมจึงไม่มาเบียดเบียน ทำให้มีกำลังใจขึ้น หมวกใบนี้เหมือนกับการรื้อฟื้นความชำนาญ ครั้งต่อไป จะถักหมวกไหมให้ผู้ป่วยมะเร็งได้แล้ว เสียดายที่คงเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้ไปอีก ๖ เดือน เพราะมีภารกิจอบรมทุกเสาร์ – อาทิตย์ แต่ก็คงจะซื้อไหมมาถักเองที่บ้าน “ศิลป์ภาวนา”  นี่ได้ผลจริง ๆ คนทำได้เห็นผลในขณะปัจจุบัน คนที่ใช้ก็คงจะได้อนุโมทนาบุญด้วย

                อีกอย่างที่ไม่เขียนไม่ได้คือ น้องคนที่เสร็จหลังสุด ถักหมวกเด็กสีแดงขลิบเหลืองอ่อน น้องเขามีความตั้งใจอย่างมาก ทั้งที่หลังจากเสร็จกิจกรรมแล้ว น้องต้องเข้าไปเคลียร์งาน (แอบได้ยินน้องพูดโทรศัพท์) แต่น้องเขานิ่งมาก ตั้งใจถักไปเรื่อย ๆ คิดว่า ถ้าเป็นเรา คงร้อนรน แล้ว เพราะห่วงงานก็ห่วง ห่วงถักก็ห่วง เวลาก็ใกล้ค่ำแล้ว ไปทำงานแล้วจะถึงบ้านกี่โมง...มากมาย ปัญหาให้คิด  แต่น้องเขานิ่งมาก แม้เมื่อเหลือเขาคนเดียวเขาก็ยังถักแถวสุดท้ายไปเรื่อย ๆ  ต้องบอกว่าแอบชื่นชมในใจ ว่าน้องเขาอยู่กับปัจจุบัน ได้อย่างดีเยี่ยม มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ในเมื่อปัจจุบันคือการถักหมวก แล้วก็ตัดสินใจจะอยู่ถักต่อ ยังไม่กลับไปทำงาน ก็ควรอยู่กับงานถักให้สำเร็จ จะได้ไม่กลายเป็นว่า งานถักก็ไม่ได้ งานประจำก็ไม่ได้ น้องเขานิ่งจริง ๆ ยอมรับว่า ด้วยอายุ ไม่น่าจะเกิน ๓๐ นิ่งได้แบบนี้ อนาคตคงจับงานใหญ่ ๆ ได้อย่างดี เพราะในโลกของการแข่งขัน ในภาวะวิกฤต ผู้ที่นิ่งได้ มีสมาธิดีที่สุด จะประสบความสำเร็จ เพราะเราผ่านมาแล้ว แม้จะดูเป็นคนใจร้อน แต่เมื่อมีภาวะวิกฤต เราก็ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว สำเร็จมาทุกครั้ง ชีวิตการงานที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนบัดนี้ ที่ออกจากโลกแห่งการดิ้นรน มาอยู่อย่างพอเพียง มาทำในสิ่งที่ใจปรารถนาในงานจิตอาสา ชีวิตมีความสุข ตามอัตภาพ ไม่มีเงินมากเหมือนตอนทำงาน แต่มีเวลาให้กับการศึกษาและรู้จักตัวเองมากขึ้น ชีวิตที่เหลืออยู่ก็เท่ากับว่าเป็นกำไรแล้ว เพราะได้ใช้เวลาของชีวิตทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ โดยไม่มีเงินมาเป็นเครื่องตอบแทนเหมือนตอนที่ทำงาน

                ก็เลยรู้สึกชื่นชมกับน้อง ๆ ในกลุ่มจิตอาสา น้องมีโอกาส ได้เข้ามาสัมผัส กับความสุข ได้รู้จักการให้ การเสียสละ ซึ่งเป็นบุญกริยาวัตถุ ๑๐ ชีวิตน้อง ๆ ย่อมจะประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัว เพราะเรายังมีความเชื่อมั่นว่า คนดี ย่อมได้พบคนดี ที่เขาเรียกกันว่ากัลยาณมิตร เหมือนกับเราที่ได้โอกาสมาพบกับน้อง ๆ ในวันนี้

 

ถักเมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ตั้งแต่ ๑๓.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2556    
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2556 15:05:32 น.
Counter : 906 Pageviews.  

ขอพรอย่างปัญญาชน



ขอพรอย่างปัญญาชน โดย ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย



1.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าหลงผิดคิดไปว่าลำพังการขอเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องลงมือทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ

2.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าละเลยการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ


3.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าประมาทขาดสติในทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว

4.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าพอใจในการเป็นคนคดในข้องอในกระดูก ตลบตะแลงปลิ้นปล้อนลื่นไหลเฉกเช่นศรีธนญชัย


5.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นนักจับผิดมองโลกแต่ในแง่ร้าย เห็นแต่ด้านที่เลวทรามต่ำช้าของมนุษยชาติผู้มีทั้งความดีงามและความผิดพลาดในชีวิตเป็นธรรมดา

6.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่นรวมทั้งส่วนรวม

7.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าพอใจในการประพฤติทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงหลอกลวงประชาชนในทุกรูปแบบ

8.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนละโมบโลภมากในยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง กามารมณ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด


9.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเกิดมาเสียเวลาเปล่าโดยไม่เคยประทับรอยแห่งความดีงามฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง

10.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนลืมตัว หลงผิด คิดว่าตนเก่ง ตนดีอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครคอยช่วยเหลือเกื้อกูล

11.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าพอใจในการขุดคุ้ย แคะไค้ ฟื้นฝอยความหลังอันเจ็บปวด ปมด้อยอันขมขื่น ความผิดพลาดอันน่าละอายของคนอื่นขึ้นมานินทา บอกเล่าให้เขาได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจ


12.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นมนุษย์บ้างานที่เห็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตจนทอดทิ้งการดูแลสุขภาพ สถาบันครอบครัว และความรับผิดชอบทางสังคม

13.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเลือกคบคนผิด ติดจมอยู่ในหมู่คนเลว คนถ่อย คนทราม คนช่างประจบสอพลอผู้เป็นศัตรูแต่แฝงตัวมาในร่างของมิตร

14.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนเนรคุณบุพการีผู้มีพระคุณอย่างมารดร บิดา ปู่ ย่า ตา ยาย และกัลยาณมิตรผู้เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือเกื้อกูลให้ในยามตกยาก


15.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมคนที่กำลังตกต่ำ อย่าริษยาคนที่กำลังรุ่งโรจน์ อย่าเย็นชาต่อผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางหายนภัยในรูปแบบต่างๆ

16.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าสูญเสียสามัญสำนึกซึ่งเป็นเหตุให้ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่กลัวกฎแห่งกรรม และนิยมเหยียบย่ำกฎหมาย

17.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนก้าวร้าว รุนแรง อหังการ หยาบกระด้าง สร้างแต่ความระคายเคืองให้คนอื่น

18.ขอให้ข้าพเจ้าอย่ากลัว อย่าหงอต่อคนชั่ว ต่อคนถ่อย ต่อคนบ้า ต่อความอยุติธรรมที่กำลังครอบงำประชาชนและยุคสมัย


19.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าดูถูกตนเองว่าเป็นคนที่ต่ำต้อยด้อยค่า อันนำมาซึ่งความหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาชีวิต

20.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าถูกมอมเมาปั่นหัวให้ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันเอง




ที่มา ://www.facebook.com/#!/notes/phra-mha-wuthi-chay-wchir-methi/khx-phr-xyang-payya-chn/10150090925646392




 

Create Date : 20 มกราคม 2554    
Last Update : 20 มกราคม 2554 11:39:41 น.
Counter : 831 Pageviews.  

ธรรมะของผู้นำ หรือนักบริหาร หรือนักปกครอง

ถ้าคุณกำลังเป็นผู้นำ ต้องการเป็นผู้นำ หรือจำต้องเป็นผู้นำโปรดอ่าน
ขอเสนอแนะหมดธรรม ที่มีชื่อว่า สัปปุริสธรรม 7 ครับ
ซึ่งหมวดธรรมนี้เคยจำได้ว่ามีกล่าวไว้ว่า
ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะต้องรู้และต้องอาศัยหมวดธรรมนี้

ขอกล่าวโดยย่นย่อ เป็นการสรุปขั้นต้นไว้ก่อน
หมวดธรรมนี้ ประกอบด้วยธรรม 7 ข้อ คือ:-

1) รู้เหตุ
2) รู้ผล
3) รู้ตน
4) รู้ประมาณ
5) รู้กาล
6) รู้บุคคล
7) รู้ชุมชน
หมวดธรรมนี้ ผมเห็นว่ามีความกว้างขวางและลุ่มลึกมากจริงๆครับ ตัวหมวดธรรม กล่าวไว้เป็นแต่เพียงหลักการกว้างๆ ซึ่งบุคคลจะต้องนำเรื่องราวทั้งหมดที่เป็นเนื้อหาที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์หนึ่งๆ มาประมวลและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องและถูกต้องต่อสถานการณ์ขณะนั้นๆ ไม่สามารถบอกรายละเอียดให้เป็นสูตรสำเร็จตายตัวได้ครับ

กล่าวโดยสรุป จากการพิจารณาหมวดธรรมนี้ ผมขอเสนอให้เป็นหลักกว้างๆ ที่จะให้สามารถนำไปพิจารณาและประยุกต์ใช้หมวดธรรมนี้ได้อย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์จริง ดังนี้ครับ

1) หมวดธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า การจะตัดสินใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความอยากหรือความปรารถนาของตัวเราครับ ไม่ใช่ริเริ่มมาจากตัวเรา แต่การจะตัดสินใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น คำตอบอยู่ที่การประมวลผลของความรอบรู้ในข้อธรรมทั้ง 7 ประการดังกล่าวต่างหาก
2) เมื่อตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะวางใจหรือตายใจได้เลยทีเดียวครับ เพราะอะไร? ก็เพราะเรื่องราวทั้ง 7 ประการนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ จิตจึงต้องไหวตัวและสอดส่องตามดูความเปลี่ยนแปลงของสาระในข้อธรรมทั้ง 7 นั้นอยู่ตลอด และพร้อมที่จะตัดสินใจและเปลี่ยนแปลงการกระทำใหม่ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
3) ดังนั้น การวางจิตให้ถูกต้องเพื่อให้สามารถปฏิบัติในหมวดธรรมนี้ได้ถูกต้อง จิตจึงจะต้องอยู่ในภาวะที่ว่างอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะว่าว่างอยู่ตลอดเวลานี้เอง จึงทำให้สามารถตามรู้ทันและเปลี่ยนแปลงการกระทำให้ถูกต้องและสอดคล้องได้ตลอดเวลาเช่นกัน จิตที่มีความยึดติดอยู่ในความเชื่อหรือทฤษฎี ที่บุคคลยึดถือหรือแบกไว้เป็นไม้เด็ดสำหรับนำออกมาจัดการกับสิ่งต่างๆ เพื่อให้บรรลุผลตามที่ตัวตนต้องการ ย่อมไม่อาจเข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติในหมวดธรรมนี้ได้ จิตจะต้องว่างและพร้อมที่จะประมวลผลของความรู้ทั้ง 7 ประการอยู่ตลอดเวลา ครับ

ในส่วนคำอธิบายกว้างๆ เกี่ยวกับตัวหมวดธรรม นั้น ขอเสนอไว้อย่างนี้ครับ _:-

1) รู้เหตุ หมายถึง รู้ถึงสาเหตุที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดสิ่งนั้นๆขึ้น เพราะการจะดำเนินการให้เกิดผลอย่างใด ต้องรู้สาเหตุที่เป็นเงื่อนไขของสิ่งนั้นก่อน และที่จะกระทำต่อไปก็คือ การสร้างเหตุนั้นๆครับ
2) รู้ผล หมายถึง รู้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นๆเป็นอย่างไร จะก่อให้เกิดผลและมีผลกระทบต่อไปมากน้อยเพียงใด ก็จะสามารถที่จะรู้เท่าทัน และกระทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ว่าควรรีบระงับ หรือส่งเสริมให้เกิดขึ้น
3) รู้ตน หมายถึง รู้ว่าตนเป็นใคร เช่น เป็น ชาย/หญิง , เป็นเด็ก/ผู้ใหญ่ , มีความสามารถ และ สถานภาพทางสังคม เป็นเช่นไร? เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขให้บุคคลสามารถเข้าไปดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด
4) รู้ประมาณ หมายถึง รู้ว่าต้องเข้าไปดำเนินการเท่าใด จึงจะพอเพียงให้บรรลุผลที่ประสงค์ ลองนึกถึงเรื่องการเอาไม้มาสีกันเพื่อให้เกิดไฟก็ได้ หากสีน้อยไป ก็ไม่ถึงจุดที่ความร้อนจะสะสมมากพอจนทำให้เกิดประกายไฟ หากสีมากไป คือ เมื่อไฟติดแล้ว ก็ยังสีต่อไปอยู่นั่น ก็สิ้นเปลืองอะไรต่อมิอะไรไปเปล่าๆ
5) รู้กาล หมายถึง รู้เวลา ว่าตอนไหนควรทำ ตอนไหนไม่ควรทำ บางทีเร็วไปก็ไม่ได้ บางที่ช้าไป ก็ไม่ทันการ เป็นต้น
6) รู้บุคคล หมายถึง รู้ตัวบุคคลหรือตัวละครที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ว่าเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้จะเหมือนกับข้อรู้ตน เพียงแต่เปลี่ยนเป็นรู้คนอื่นในนัยะแบบเดียวกัน
7) รู้ชุมชน หมายถึง รู้กฎ กติกา มารยาท ขนบประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของชุมชนนั้นๆ การกระทำอะไรที่ฝืนต่อสิ่งต่างๆที่กล่าวมากเกินไป หรืออย่างขาดศิลปะ ย่อมก่อให้เกิดแรงเสียดทานและต่อตาน ทำให้ประสบความสำเร็จได้ยาก

(วิภาช...จากกระทู้ในลานธรรม)




 

Create Date : 31 มกราคม 2548    
Last Update : 31 มกราคม 2548 16:57:20 น.
Counter : 762 Pageviews.  

มงคล ข้อ 14 (อิทธิบาท 4 )



มงคลข้อ๑๔
"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน
หากปล่อยการงานให้คั่งค้าง
ก็เท่ากับกำลังทำลายค่าของตนเอง"



วิ ธี ท ำ ง า น ใ ห้ เ ส ร็ จ
วิธีทำงานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้คือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่

๑. ฉันทะ คือความรักงาน หรือ ความเต็มใจทำ
๒. วิริยะ คือความพากเพียร หรือ ความแข็งใจทำ

๓. จิตตะ คือความเอาใจใส่ หรือ ความตั้งใจทำ

๔. วิมังสา คือการพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจทำ




ฉันทะ
คือความรักงาน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเล็งเห็นผลดีของงานว่า ถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไร เช่น เรียนหนังสือแล้วจะได้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเกิดความเต็มใจทำ

คนสั่งงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความพอใจให้แก่ผู้ทำงาน ควรจะให้เขารู้ด้วยว่า ทำแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร หรือถ้าไม่ทำจะเสียผลทางไหน ผู้สั่งงานบางคนใช้อำนาจบาทใหญ่ บางทีสั่งพลางด่าพลาง ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามไปพลาง เป็นการทำลายกำลังใจของผู้ทำ นับว่าทำผิดอย่างยิ่ง

วิริยะ
คือความพากเพียร ความไม่ท้อถอย เป็นคุณธรรมทางใจ เรียกความรู้สึกนี้ว่า ความกล้า อยากจะรู้ว่ากล้าอย่างไร ต้องดูทางตรงข้ามเสียก่อน คือทางความเกียจคร้าน คนเกียจคร้านทุกคนและทุกครั้ง คือคนขลาด คนกลัว กลัวหนาว กลัวร้อน กลัวแดด กลัวฝน จะทำงานแต่ละครั้งเป็นต้องอ้างว่าหนาวจะตาย ร้อนจะตาย หิวจะตาย อิ่มจะตาย เหนื่อยจะตาย ง่วงจะตาย คนเกียจคร้านทุกคนตายวันละไม่รู้กี่ร้อยครั้ง
การเอาชนะคำขู่ของความเกียจคร้านเสียได้ ท่านเรียกว่า วิริยะ คือความเพียร หรือความกล้านั่นเอง แม้จะมีอุปสรรคเพียงใด แต่ก็จะมีความแข็งใจทำ และการจะมีความเพียรขึ้นมาได้ จำเป็นต้องละเว้นจากอบายมุข ให้ได้เสียก่อน

มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้องจึงจะได้เรื่อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน คิดกินแรงผู้น้อยท่าเดียว คิดแต่ว่า "ให้แกวิดน้ำท่าข้าจะล่อน้ำแกง" ผู้น้อยก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ ประเดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางาน ก็ดึงผู้น้อยให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย

"ฐานะ ๕ อย่างคือ ความชอบนอน ความชอบคุย ความไม่หมั่น ความเกียจคร้าน และความโกรธง่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะคนถึงพร้อมด้วยฐานะ ๕ อย่างนั้น เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ถึงความเจริญของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต ก็ไม่ถึงความเจริญของบรรพชิต ย่อมเสียหายถ่ายเดียว ย่อมเสื่อมถ่ายเดียวแน่แท้" อรรถกถา ปราภวสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

จิตตะ
คือความเอาใจใส่ หรือ ความตั้งใจทำ คนมีจิตตะเป็นคนไม่ปล่อยปละละเลยกับงานของตน คอยตรวจตรางานอยู่เสมอ
ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบแล้ว ที่จะเป็นคนเฉยเมยไม่ใส่ใจกับงานเลยมีไม่เท่าไร ส่วนใหญ่มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของใจคนชอบคิด ทำให้หยุดคิดสิยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอด คอยแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ธุระของตัวกลับไม่คิดเสียนี่ เห็นคนอื่นใส่เสื้อขาดรูเท่าหัวเข็มหมุดก็ตำหนิติเตียนเขาเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทีตัวเอง มุ้งขาดรูเท่ากำปั้นตั้งเดือน แล้วเมื่อไรจะเย็บล่ะ และที่เที่ยวไปสอดแทรกงานเขา แต่งานเราไม่ดูนั้น มันทำให้อะไรของเราดีขึ้นบ้าง เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เราเป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า

"ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ" ขุ. ธ. ๒๕/๑๔/๒๑

วิมังสา
คือความเข้าใจทำ สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิ-บาทข้อสุดท้ายนี้ วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่น ปานใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างจนได้ เพราะแม้ว่าขั้นตอนการทำงานจะสำเร็จไปแล้ว แต่ผลงานก็ไม่เรียบร้อย ต้องทำกันใหม่ร่ำไป
อีกประการหนึ่ง คนทำงานที่ไม่ใช้ปัญญา ไปทำงานที่ไม่รู้จักเสร็จ จะปล้ำให้มันเสร็จ หนักเข้าตัวเองก็กลายเป็นทาสของงาน เข้าตำรา "เปรตจัดหัวจัดตีน" ตามเรื่องที่เล่าว่า เปรตตัวหนึ่ง ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าเปรต ให้ไปเฝ้าศาลาข้างทาง เวลาคนนอนหลับเปรตก็ลงจากขื่อมาตรวจดูความเรียบร้อย ทีแรกก็เดินดูทางหัว จัดแนวศีรษะให้ได้ระดับเดียวกัน ให้เป็นระเบียบ ครั้นจัดทางศีรษะเสร็จก็วนไปตรวจทางเท้า เห็นเท้าไม่ได้ระดับก็ดึงลงมาให้เท่ากัน แล้วก็วนไปตรวจทางศีรษะอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีวันเสร็จสิ้นได้เลย หาได้นึกไม่ว่า คนเขาตัวสูงก็มี เตี้ยก็มี ไม่เสมอกัน จัดจนตายก็ไม่เสร็จ คนที่ทำงานไม่ใช้ปัญญาจัดเป็นคนประเภท "เปรตจัดหัวจัดตีน" อย่างนี้ก็มี ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาหน่อยเดียว ทำให้เสร็จเท่าที่มันจะเสร็จได้ใจก็สบาย

คนที่ทำงานด้วยปัญญานั้นจะต้อง

- ทำให้ถูกกาล ไม่ทำก่อนหรือหลังเวลาอันควร

- ทำให้ถูกลักษณะของงาน

สรุปวิธีการทำงานให้สำเร็จนั้น มีลักษณะล้วนขึ้นอยู่กับใจทั้งสิ้น คือเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ วิธีการฝึกฝนใจที่ดีที่สุด ก็คือ การให้ทาน การรักษาศีล และการทำสมาธิเพื่อให้ใจผ่องใส ทำให้เกิด ปัญญาพิจารณาเห็นผลของงานได้ รู้และเข้าใจวิธีการทำงาน มีกำลังใจ และมีใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่วอกแวก


"บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข" (สิงคาลกสูตร) ที. ปา. ๑๑/๑๘๕/๑๙๙
อ้างอิงจากหนังสือมงคล๓๘
ฉบับธรรมทายาท





 

Create Date : 24 มกราคม 2548    
Last Update : 24 มกราคม 2548 10:55:33 น.
Counter : 716 Pageviews.  


บัวบัว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add บัวบัว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.