Group Blog
 
All Blogs
 

การเงินโลกสะเทือน หนี้ยุโรปจุกอก ไร้ทางออก

การเงินโลกสะเทือน หนี้ยุโรปจุกอก ไร้ทางออก



ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป
โดยเฉพาะประเทศกรีซที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรป เจ็บตัวไปตามๆ กันเท่านั้น
แต่ยังจะลากเอาประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้เจ็บหนักตามๆ กันไปด้วย


เพราะทุกประเทศทั่วโลกล้วนเกี่ยวข้องถึงยุโรปกันหมด
โดยมีระบบกลไกหนึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงร้อยเรียงแต่ละประเทศ
เข้าไว้ด้วยกัน


ระบบที่ว่าก็คือ ระบบการเงินการธนาคาร
ที่ขณะนี้กำลังโดนโจมตีอย่างหนักหน่วงจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน
เพราะธนาคารทั่วโลกล้วนไปลงทุนทำกำไรอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)


เป็นวิกฤตที่ นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ
และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักทั่วโลกถึงกับกุมขมับ
และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยากที่จะรับมือเหลือเกิน


แม้กระทั่งสองปรมาจารย์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2554
นี้ อย่างคริสโตเฟอร์ ซิมส์ และโทมัส ซาร์เจน ยังยอมรับเลยว่า
วิกฤตในครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างมากจนยากที่จะหาทางออกได้ในเร็ววัน




ขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนในแวดวงวอลสตรีตถึงกับตะโกนออกมาแบบสุด
เสียงด้วยความอัดอั้นตันใจว่า ยังไม่เห็นทางออกจากปัญหาในครั้งนี้เลย


สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ยุโรป
ถือเป็นแหล่งลงทุนทำเงินมหาศาลให้กับนักลงทุน
และนักเก็งกำไรในวอลสตรีตของสหรัฐมาโดยตลอดในช่วงไม่กี่ปีให้หลังที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551


การที่หนี้สาธารณะของยูโร กำลังลุกลามคุกคามภาคการเงินของภูมิภาค
ทำให้เกิดความเสี่ยงที่นักลงทุนในวอลสตรีตบอกได้คำเดียวว่า “ไม่ขอเสี่ยง”


เมื่อไม่อยากเสี่ยง ก็ต้องถือเงินเก็บไว้รอดูสถานการณ์
ทำให้กลายเป็นผลร้ายต่อระบบทุนนิยม ที่จำเป็นต้องให้มีเงินทุนหมุนเวียน
เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง จนทำให้เศรษฐกิจเดินหน้ามีการเติบโตต่อไป


เท่ากับว่า เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐก็ไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้
ถ้าหากว่า หนี้สาธารณะของยุโรป โดยเฉพาะในกรีซ ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย


เพราะมีเงินแต่ไม่มีหนทางลงทุนให้เงินนั้นงอกเงยต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ


ขณะที่ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีของโลก
ผู้ได้รับฉายาพ่อมดทางการเงินยังต้องออกมายอมรับว่า
การที่ยุโรปยังคงมืดมนไร้ทางออก จนทำให้เงินไม่มีที่ไป
ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่สามารถเขย่าระบบการเงินโลกทั้งระบบให้พังครืนลงมา
ได้อย่างง่ายดาย


ผลกระทบร้ายแรงดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาผู้นำในประเทศต่างๆ
ทั่วโลกต่างส่งเสียงเร่งให้อียูลงมือหาทางแก้ไข หรือทำอะไรสักอย่าง
เดี๋ยวนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


ทั้งนี้ แม้ว่าบรรดาผู้นำในอียูจะตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกัน
แต่จนแล้วจนรอด พอถึงเวลาเข้าจริงๆ
แต่ละประเทศก็ยังไม่วายคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง


เห็นได้จากการลงมติอนุมัติเพิ่มเงินกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินแห่ง
ยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ)
เพื่อล้อมคอกปกป้องสถาบันทางการเงินและธนาคารของภูมิภาค
ที่กว่าจะลงมติกันได้ก็เล่นเอาหุ้นในตลาดวูบแล้ววูบอีก
ขณะที่ประเทศที่ต้องลงมติเป็นรายล่าสุดอย่างสโลวะเกีย
ก็ยังอุตส่าห์มีเงื่อนไขและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง


ทว่า
ปัญหาการไขว่คว้าหาประโยชน์เข้าตัวดูจะเทียบไม่ได้กับความจริงที่น่าหวั่นใจ
ที่ว่า ในเวลานี้ อียูมีกลไกหรือเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาอยู่ไม่มากนัก
แถมเครื่องมือที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะรับประกันได้ว่าจะช่วยให้รอดพ้นจาก
วิกฤตทางการเงินในครั้งนี้ได้ในสภาพปลอดภัยหรือไม่


เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับวิกฤตการเงินแบบเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2551
กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
และธนาคารเกือบทุกประเทศทั่วโลก ต่างเร่งเสริมกำแพงป้องกัน
ด้วยการเพิ่มเงินกองทุนช่วยเหลือ สั่งเพิ่มเงินทุนสำรองของธนาคาร พร้อมๆ
กับเพิ่มเงื่อนไขจำกัดการให้กู้ยืม


แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่เมื่อธนาคารปิดประตูแน่น
ก็ทำให้ธุรกิจบริษัทที่ขับเคลื่อนภายใต้ระบอบทุนนิยม
เน้นผลิตเน้นบริโภคก็ไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนเพื่อประคองธุรกิจ
หรือเพื่อขยายงาน


เท่ากับว่า
เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ประเทศซึ่งประสบกับ
ปัญหาหนี้สิน
และหวังให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวช่วยนำมาลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสิทธิที่จะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย


นอกจากนี้
แม้ว่าจะมีการยอมเพิ่มเงินกองทุนอีเอฟเอสเอฟตามที่ได้ตกลงกันไว้จนค่อยๆ
เรียกความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนให้กลับคืนมาได้บ้าง
แต่การแก้ปัญหาหนี้กรีซที่ให้ธนาคารเจ้าหนี้ต้องยอมลดมูลค่าของสินทรัพย์ที่
ถืออยู่ หรือก็คือ พันธบัตรรัฐบาลกรีซ ลงถึง 50%
ก็ส่งผลกระทบต่อธนาคารอย่างหนักเช่นกัน


เพราะการที่ธนาคารต่างๆ ต้องดำเนินงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น
เพื่อรักษาผลกำไรให้ได้มากที่สุด
ธนาคารบางแห่งจำเป็นจะต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด
ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงานออก


ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดาธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐ เช่น
แบงก์ออฟอเมริกา คอร์ป ได้ปลดพนักงานออกถึง 3 หมื่นตำแหน่งเมื่อเดือน
ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่หลายธนาคารในยุโรปก็เตรียมจะปรับลดคนออกภายในปีนี้เช่นกัน


ผลที่ได้ก็คือ ตัวเลขคนตกงานมากขึ้น เป็นภาระให้กับรัฐบาล
ขณะที่ธุรกิจเองก็ไม่มีความเคลื่อนไหว เพราะคนไม่ยอมใช้จ่าย
จนซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงมากกว่าเดิม


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างพูดกันว่า สิ่งที่ยุโรปต้องทำตอนนี้
ก็คือ จัดตั้งสถาบันเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับยูโรโซนทั้งหมด
เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงิน
และปรับปรุงแก้ไขแผนการเติบโตในระยะยาว


แต่ทว่าพอเอาเข้าจริง
ทุกอย่างที่เกริ่นมาข้างต้นเป็นแนวคิดที่ยังไม่สามารถเคาะในรายละเอียดได้
ว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วทำแบบไหนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ


ด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจอีกส่วนหนึ่งก็มองว่า ต้องมีการผสมผสานเครื่องมือหลายประการเข้าไว้ด้วยกันจึงจะประสบผลสำเร็จ


จอร์จ แม็กนัส ที่ปรึกษาอาวุโสของธนาคารเพื่อการลงทุนยูบีเอส เสนอว่า
อียูจำต้องยืดระยะเวลาชำระหนี้กรีซ
ควบคู่ไปกับการให้เงินทุนสนับสนุนธนาคารกรีซและธนาคารประเทศอื่นๆ
ด้วยการซื้อพันธบัตรผ่านอีซีบี


แต่เท่ากับว่า ธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอาจจะต้องยอมเสียสภาพคล่อง
และอาจเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่กับภาคธนาคาร เท่ากับว่า
แม้จะรอดจากการล้มครืนมาได้ แต่ก็อยู่ในอาการปางตาย


เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเลือกไปทางไหนเพื่อใช้เป็นทางออก
ภาคการเงินการธนาคารก็มิวายเจ็บตัวอยู่ดี
เสียแต่ว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็เท่านั้น


หรือพูดให้ง่ายเข้า ยุโรปในวันนี้ ยังคงไร้ทางออก


แต่ในขณะเดียวกัน
การปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังลุกลามภาคการเงินในครั้งนี้ยืดเยื้อออก
ไปโดยไม่ยอมหาทางแก้ไขป้องกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย


ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือต้องลองเดินหน้าผ่าทางตันลูกเดียว




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2554    
Last Update : 15 ตุลาคม 2554 12:20:56 น.
Counter : 416 Pageviews.  

ปัจจัยกระทบตลาด

ช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวนค่อนข้างมาก วิ่งขึ้นลงทีละหลาย 10 จุด ปัจจัยที่มากระทบช่วงนี้ก็คงเป็นเรื่อง



  • ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยุโรป นำทีมโดยกลุ่ม PIIGS - Portugal, Italy, Ireland, Greece และ Spain โดยช่วงนี้ กรีซกำลังได้บทเด่น แสดงนำอยู่บนเวทีโลก จองพื้นที่ข่าวแทบเกือบทุกวัน ก็ต้องดูกันต่อไปว่า จะยื้อกันไปได้ขนาดไหน

  • ความวิตกกับเรื่อง recession ของทาง USA พี่ใหญ่ของเวทีโลก หลังจาก subprime crisis แล้วจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีท่าทางหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐ จะทำท่าฟื้นตัวกลับมาได้ และไม่รู้ว่าจะเข้าสูภาวะถดถอยรึเปล่า นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

  • น้ำท่วมหนัก กับภัยธรรมชาติที่ไม่คาดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ ส่งผลให้หลายนิคมอุตสาหกรรมต้องจมอยู่ใต้บาดาล สร้างความเสียหายไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท และกระทบกับ gdp อย่างแน่นอน ต้องปรับเป้ากันแทบไม่ทัน

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น ตลาดหุ้นก็ยังคงเปิดทำการของมันตามปกติ (ถ้าน้ำไม่ท่วมตลาดหลักทรัพย์ซะก่อนนะ :D) และก็เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องประเมินความเสี่ยง ของการลงทุนด้วยตัวเอง - "เงินจริง เจ็บจริง ไม่มีตัวแสดงแทน" ดูแลพอร์ตการลงทุนของตัวเองด้วยนะครับ




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2554    
Last Update : 15 ตุลาคม 2554 10:43:35 น.
Counter : 335 Pageviews.  

เศรษฐกิจกับตลาดหุ้น โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เป็นบทความเก่าของ ดร. นิวเวศน์ เมื่อปี 2005 ครับ เลยขอเอามาแปะไว้ใน blog เผื่อย้อนกลับมาอ่านอีก

เป็นกำลังใจให้กับทุกคนกับการลงทุนฝ่าวิกฤตอีกครั้ง

เศรษฐกิจกับตลาดหุ้น โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



นักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะวิตกกังวลกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจของประเทศมากเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากตลาดหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ถ้าเศรษฐกิจแย่ ตลาดหุ้นก็พัง ถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นก็จะวิ่งระเบิด เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่มีการสัมมนาเรื่องหุ้น ก็มักจะมีคำถามว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจแบบนี้เราควรจะลงทุนในตลาดหุ้นไหม?



คำตอบของผมทุกครั้งก็คือ ผมไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจ สิ่งที่ผมสนใจก็คือตัวหุ้นที่ผมจะลงทุน ถ้าพบหุ้นของบริษัทดีที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐาน ผมก็จะลงทุน เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร ผมไม่สนใจ เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ ผมไม่สามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้ถูกต้อง และถ้าพูดถึงดัชนีหุ้นแล้ว ผมยิ่งไม่รู้ใหญ่ว่าดัชนีจะไปทางไหน ผมรู้แต่ว่าถ้าหุ้นผมมีคุณภาพดี ราคาถูกกว่าพื้นฐาน หุ้นก็จะดูแลตัวของมันเอง



คำถามต่อมาที่อาจจะเกิดขึ้นในใจของหลายคนก็คือ ถ้าเรารู้ หรือคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะไม่ดีกว่าหรือในการที่จะสามารถเข้าหรือออกจากตลาดในเวลาที่ถูกต้องแทนที่จะปล่อยให้หุ้นที่ถืออยู่มีราคาตกต่ำลงเพราะภาวะเศรษฐกิจแย่ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำ ซึ่งจะดึงให้หุ้นของเราขาดทุนไปด้วย?



คำตอบของผมก็คือ เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง และถึงจะคาดการณ์ได้ถูกต้องจริง ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรับประกันว่าเศรษฐกิจดีแล้วหุ้นต้องดี เศรษฐกิจแย่แล้วหุ้นต้องแย่ ไม่เคยมีการศึกษาไหนที่บอกว่าดัชนีหุ้นจะต้องตามภาวะเศรษฐกิจ ว่าที่จริงมีการศึกษาที่บอกว่าเศรษฐกิจดี ดัชนีหุ้นมักจะแย่ และถ้าภาวะเศรษฐกิจแย่ตลาดหุ้นมักจะกลับดี ซึ่งฟังดูก็น่าประหลาด เพราะเรามักจะได้ยินผู้นำประเทศและนักวิเคราะห์ชั้นนำพูดกันเสมอว่าตลาดหุ้นจะดีแน่เพราะเศรษฐกิจจะดี จนเราคิดว่านี่คือความจริงที่เที่ยงแท้โดยไม่คิดที่จะพิสูจน์หรือหาหลักฐานมายืนยัน



ถ้าคำพูดที่ว่าเศรษฐกิจดีแล้วหุ้นต้องดีเป็นจริง นักลงทุนคงจะรวยกันได้ง่ายมาก คุณเพียงแต่หาเงินไปลงทุนในประเทศจีนซึ่งเศรษฐกิจโตระเบิดปีละเกือบ 10% และทุกคนต่างก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจของจีนจะโตต่อไปอีกนานจากที่ดีมาแล้วเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ตลาดหุ้นของจีนนั้นให้ผลตอบแทนที่แย่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาก็คือเรื่องราคาของหุ้นในตลาดที่แพงกว่าพื้นฐานเพราะนักลงทุนต่างก็มองโลกในแง่ดีเข้าซื้อหุ้นลงทุนกันมาก และเมื่อหุ้นในตลาดมีราคาแพงมาก ถึงภาวะเศรษฐกิจจะดี มันก็ไม่คุ้มที่จะลงทุน



ตรงกันข้าม ในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ คนมองโลกในแง่ร้ายเทขายหุ้นจนหุ้นในตลาดมีราคาตกต่ำลงมาก ค่า PE ของตลาดเหลือเพียง 8-9 เท่า ซึ่งมีราคาถูกมาก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่การลงทุนก็อาจจะคุ้มค่ามากกว่า



ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย เราก็เพียงแต่มองตลาดหุ้นให้เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง และดัชนีตลาดก็คือราคาของหุ้นตัวนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจดี เราอาจจะบอกว่าหุ้นตลาดกำลังเติบโตเร็วเป็นหุ้น Growth Stock แต่หุ้นโตเร็วนั้นก็มักจะเป็นหุ้นร้อนแรงราคาแพง คือมี PE สูงกว่าพื้นฐาน การซื้อหุ้นร้อนนั้นโอกาสขาดทุนก็มีสูง แต่หุ้นตลาดในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนั้นมักจะมีราคาต่ำกว่าปกติ เป็นหุ้น PE ต่ำ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหุ้น Value ก็ไม่น่าจะผิด และถ้าเรากล้าที่จะลงทุน โอกาสที่จะทำกำไรกลับจะมีมากกว่า

ทั้งหมดนี้ผมก็หวังว่าจะทำให้นักลงทุนทั้งหลาย โดยเฉพาะ Value Investor เลิกวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจเวลาคิดจะลงทุน หรือถ้าจะคิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจก็ควรจะมองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ดูเลวร้ายนั้น จริง ๆ แล้วมันคือโอกาสที่จะทำกำไรมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เชียร์ให้ซื้อหุ้นโดยการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก การลงทุนโดยเฉพาะของนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนระยะยาวนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะนำภาวะเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ เพียงปีสองปีมาพิจารณา




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2554    
Last Update : 11 ตุลาคม 2554 0:45:30 น.
Counter : 434 Pageviews.  

1  2  

nucfc
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nucfc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.