Group Blog
 
All Blogs
 
พอร์ตเล็กโตไว

บทความการลงทุนดีๆจาก TVI ครับ คราวนี้ ท่าน ดร.นิเวศน์ ได้ให้มุมมองเปรียบเทียบการลงทุนของคนพอร์ตเล็กกับพอร์ตใหญ่ได้ดีทีเดียวเลยครับ สำหรับนักลงทุนพอร์ตเล็กๆแบบผม ก็ต้องเก็บมาคิดเป็นข้อเตือนใจ จะได้เป็นพอร์ตใหญ่ๆกับเค้าบ้าง Smiley


เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าหุ้นตัวเล็กนั้นมักจะโตเร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่  นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่งหรือชีวิตทั้งหลายในโลก  เด็กต้องโตเร็วกว่าผู้ใหญ่  บริษัทเล็กมักโตเร็วกว่าบริษัทใหญ่  อย่างไรก็ตาม  ความเสี่ยงของสิ่งที่เล็กหรือชีวิตที่เล็กก็มักจะสูงกว่าสิ่งที่ใหญ่หรือชีวิตที่เติบโตขึ้นมาแล้ว  ความเสี่ยงที่ว่าก็คือ  หุ้นตัวเล็กหรือชีวิตที่เล็กนั้น  อาจจะง่อยเปลี้ยหรือล้มหายตายจากไปได้ง่ายกว่าหุ้นตัวใหญ่หรือชีวิตที่โตขึ้นมามากแล้ว   ในเรื่องของการลงทุนนั้น  คนที่มีพอร์ตหรือมีเงินลงทุนจำนวนน้อยนั้น  มีทางเลือกหรือมีโอกาสที่จะโตเร็วกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่  แต่ก็จะต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น   ความเสี่ยงที่ว่าก็คือ  แทนที่พอร์ตจะโตเร็วก็กลายเป็นพอร์ตขาดทุนเสียหายไปมากมาย   อย่างไรก็ตาม  คนที่มีพอร์ตเล็กหลายคนอาจจะบอกว่าเขารับได้   เหนือสิ่งอื่นใด  เขายังมีรายได้จากแหล่งอื่นที่จะเข้ามาลงทุนต่อหรือสามารถ  “แก้ตัว”  ได้    มาดูกันว่าทำไมพอร์ตเล็กจึงสามารถที่จะโตได้ไวกว่าพอร์ตใหญ่

ข้อแรกก็คือ  คนที่มีพอร์ตเล็ก  ซึ่งผมคิดว่าเงินลงทุนไม่ควรเกิน 10 ล้านบาท  นั้น  สามารถที่จะซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัวในตลาดหุ้นโดยที่จะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายนัก  นั่นย่อมหมายความว่าคนที่มีพอร์ตเล็กมีหุ้นให้เลือกลงทุนได้มากกว่าคนพอร์ตใหญ่   ทำให้สามารถหาหุ้นที่อาจจะตัวเล็กแต่มีโอกาสในการเติบโตสูงกว่าปกติ  แน่นอน  คนที่พอร์ตใหญ่ก็สามารถซื้อหุ้นตัวเล็กได้  แต่เขาอาจจะซื้อได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต  ดังนั้น  ถึงแม้ว่าหุ้นตัวนั้นจะทำกำไรให้เขาได้เป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัว  แต่เม็ดเงินที่ได้นั้นก็จะไม่ทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตโตขึ้นเท่าไรนัก  ตัวอย่างเช่น  นายเล็กมีพอร์ต 1 ล้านบาท  เขาซื้อหุ้น  A  ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็ก  2  แสนบาท  หุ้นขึ้นไป 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี  ดังนั้น  เฉพาะหุ้นนี้เพียงตัวเดียวก็ทำกำไรให้คุณเล็กแล้ว 4 แสนบาทหรือเท่ากับ 40%  ของพอร์ตแล้ว   ในเวลาเดียวกัน  ถ้านายใหญ่ซื้อหุ้น A  เช่นเดียวกันด้วยเงินจำนวน  1  ล้านบาท  กำไรของคุณใหญ่จะเท่ากับ 2  ล้านบาทภายในเวลาหนึ่งปี   อย่างไรก็ตาม  พอร์ตของคุณใหญ่เท่ากับ 100 ล้านบาท  ดังนั้น   ผลตอบแทนที่คุณใหญ่ได้จากการลงทุนในหุ้น A  ก็คือ  2%  ของพอร์ต  ซึ่งถือว่ามีผลน้อยมากต่อผลตอบแทนรวมของเขา

ข้อสอง  คนที่มีพอร์ตเล็กนั้น  สามารถที่จะ  Focus หรือลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้มากกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่  หลายคนลงทุนในหุ้นตัวเดียวหรือสองตัวในช่วงเวลาหนึ่ง  ดังนั้น  ถ้าหุ้นตัวนั้นขึ้นไปสูงมาก  เช่น  3-4 เท่าในเวลาหนึ่งปี  ผลตอบแทนของเขาในปีนั้นก็จะเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์   ในทางตรงกันข้าม  คนพอร์ตใหญ่มักจะมีหุ้นจำนวนมากตัวกว่ามาก  หุ้นแต่ละตัวอาจจะมีมูลค่าเพียง  5-10%  ของพอร์ต  ดังนั้น  แม้ว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้นไป 3-4 เท่า แต่หุ้นตัวอื่น ๆ  ก็อาจจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นนัก  บางตัวก็ลดลง   ด้วยเหตุนั้น  ผลตอบแทนรวมของพอร์ตก็อาจจะเป็นแค่ 30-40%  ซึ่งก็ถือว่ามาก  แต่ก็ยังห่างไกลจากคนที่มีพอร์ตเล็ก

ข้อสาม  คนพอร์ตเล็กหลายคนที่อยากจะรวยเร็วจากหุ้นนั้น  สามารถที่จะใช้มาร์จินหรือกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อซื้อหุ้น  ดังนั้น  ในยามที่เขาซื้อหุ้นได้  “ถูกตัว”  คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง  ผลตอบแทนก็จะ  “ทวีคูณ”  จากร้อยก็อาจจะกลายเป็นสองร้อย  จากสองร้อยก็อาจจะกลายเป็นสี่ร้อยเปอร์เซ็นต์  ในเวลาหนึ่งปี   ในขณะเดียวกัน  คนที่มีพอร์ตใหญ่นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะคิดว่าชีวิตตนเองก็อยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่แล้ว  เขาไม่อยากเสียมันไป  แม้ว่าการใช้มาร์จินอาจจะทำกำไรให้เขามากขึ้น   แต่ถ้าพลาด  เงินของเขาจะสูญไปมาก  และนั่นจะเป็นสิ่งที่  “เจ็บปวด”  มากกว่า  “ความสุข” ที่จะได้จากผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้น   ชั่งน้ำหนักแล้ว  เขาจึงมักจะใช้มาร์จินน้อยกว่าหรือไม่ใช้มาร์จินเลย

ข้อสี่  คนพอร์ตเล็กที่อยากรวยเร็ว  มักจะเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าคนพอร์ตใหญ่   เขาสามารถเข้าหรือออกจากหุ้นได้ง่ายเนื่องจากปริมาณหุ้นที่เขาซื้อขายนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน   แนวทางของเขาก็อาจจะเป็นว่า  เขาจะซื้อหุ้นในช่วงต้น ๆ  ก่อนที่หุ้นจะมี  “Story” หรือเรื่องราวดี ๆ  แล้วขายเมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วและสูงเนื่องจากการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นของนักเล่นหุ้นเมื่อหุ้นนั้นเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน  เขามักจะไม่รอให้ผลประกอบการออกมาเพื่อยืนยันว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดีจริง ๆ  หรือไม่  ด้วยวิธีนี้  การทำกำไรจากหุ้นของเขาจะทำได้หลายรอบกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ที่ไม่สามารถ  “หมุนหุ้น”  ได้หลาย ๆ  รอบในหนึ่งปี    จริงอยู่  คนที่มีพอร์ตใหญ่ก็สามารถซื้อ ๆ  ขาย ๆ  เข้าออกหุ้นได้หลาย ๆ  รอบ   แต่นั่นก็ทำได้เฉพาะกับหุ้นขนาดใหญ่มากเช่นหุ้นในกลุ่มการเงิน  พลังงาน  สื่อสาร  ซึ่งหุ้นเหล่านี้มักจะใหญ่เกินกว่าที่จะมี  Story  ดี ๆ  ที่จะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้มากนัก

นักลงทุนที่พอร์ตยังเล็กบางคนนั้น  ค่าที่ต้องการจะโตอย่างรวดเร็วที่สุดที่จะทำได้  เขาจึงใช้เทคนิคหรือแนวทางทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นคือ  ซื้อหุ้นตัวเล็กที่อาจจะมีสภาพคล่องต่ำแต่ก็ไม่น้อยเกินไปสำหรับเขา    เขาลงทุนถือหุ้นเพียงตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดที่มี  เขาเล่นหุ้นที่จะมีสตอรี่หรือเรื่องราวดี ๆ  เช่น  อาจจะเป็นหุ้นที่กำลัง  “ฟื้นตัว”  หรือบริษัทกำลังมีรูปแบบหรือ  “โมเดลการทำธุรกิจใหม่”  หรือ  วัฏจักรธุรกิจกำลังเป็น  “ขาขึ้น”   อย่างแรง  ต่าง ๆ  เหล่านี้   เมื่อซื้อแล้วและหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น  อาจจะด้วยเหตุผลที่คาดหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเชื่อว่าหุ้นกำลังจะ “วิ่ง”  เขาก็จะใช้มาร์จินเต็มวงเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม  และถ้าหากว่าหุ้นขึ้นไปอีก  จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  รวมถึงผลจากการที่มีเม็ดเงินจากเขาเองเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม   เขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกโดยใช้มาร์จินที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่เพิ่ม  กระบวนการ  “อัดมาร์จิน”  แบบนี้  บางครั้งก็ทำให้ราคาหุ้น  โดยเฉพาะของหุ้นขนาดเล็ก  วิ่งขึ้นไปแรงมาก  เป็นหลาย ๆ  เท่าตัวในเวลาอันสั้น   เนื่องจากบางครั้ง  การ  “อัดมาร์จิน”  ที่ว่านั้น  ไม่ได้ทำคนเดียว  แต่มีนักลงทุนรายอื่นเข้ามาเล่นด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ก็เป็นการมองหรือวิเคราะห์ในด้านหนึ่งที่เป็นด้านที่สดใส  เป็นด้านที่ทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น   และมักจะเป็นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุด ๆ    และนั่นทำให้นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนไม่น้อยทำผลตอบแทนมหาศาลจนกลายเป็นนักลงทุนพอร์ตกลางและพอร์ตใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี   อย่างไรก็ตาม  ถ้าหันมามองอีกด้านหนึ่ง  นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนที่มากกว่ามาก  ที่ทำการลงทุนแบบเดียวกัน  นั่นคือ  ลงทุนในหุ้นตัวเล็ก  ถือหุ้นเพียงตัวเดียวหรือสองตัวในพอร์ต   ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเต็มอัตรา  และเล่นหุ้นที่มี  “สตอรี่”  แบบเดียวกัน  เพียงแต่ว่าในกรณีหลังนี้  เขาเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุดกู่แล้ว  และก็ต้องขายในช่วงที่หุ้นตกต่ำลงมา   ผลลัพธ์ก็คือ  เขาขาดทุนย่อยยับ  กลายเป็นนักลงทุนที่  “พอร์ตเล็กเหมือนเดิม”  ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี  เหตุผลที่เขาก็ยังมีพอร์ตลงทุนอยู่ได้ก็คือ  เขายังมีแหล่งเงินจากที่อื่นที่จะมาลงทุนได้เสมอตราบที่ยังมีความหวังว่าจะรวยจากตลาดหุ้นได้

คนพอร์ตเล็กนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางในแนวที่ผมพูดถึงและผมเองก็ไม่แนะนำให้เดินทางสาย  “รวยเร็ว”  แต่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างที่กล่าว   แน่นอน  คนที่สำเร็จและเป็น  Role Model ของนักลงทุนพอร์ตเล็กที่รวยเร็วมากนั้น  ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่อยากทำตาม  หลายคนคิดว่า  “ไม่มีอะไรจะเสีย”  แต่ผมคิดว่าโอกาสชนะก็น้อยมาก  ยังมีแนวทางการลงทุนแบบอื่นที่อาจจะให้ผลไม่ต่างกันนักในระยะยาวแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า







Create Date : 27 ธันวาคม 2554
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 21:48:06 น. 0 comments
Counter : 433 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nucfc
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nucfc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.