Group Blog
 
All Blogs
 
คนแจวเรือ

กับอีกบทความของ ดร.นิเวศน์ ครับ เป็นมุมมองที่ท่านมองเศรษฐกิจของประเทศทางฝั้งยุโรป จากการที่ท่านได้ไปเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษมา


น่าจะให้ความรู้และแนวคิดกับนักลงทุนได้ ไม่มากก็น้อยละครับ ขอบคุณมากๆครับ ...


ปล.ผมคัดลอกบทความนี้มาจาก Thaivi นะครับ เอามาแชร์ๆกัน


 ---------------------------------------------------------------------------------------


ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษ  และก็เช่นเคย  ผมมีข้อสังเกตจากสิ่งที่พบเห็น 

เรื่องแรกก็คือ  ผมเพิ่งตระหนักว่าพนักงานบริการ เช่น  พนักงานเสิร์พอาหารตามภัตตาคารโดยเฉพาะในอิตาลีนั้น  ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุประมาณ 30-40 ปี   ที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนน้อยมาก  นี่ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจ  เพราะในบ้านเราหรือในประเทศแถบเอเชียผมมักจะเห็นผู้หญิงมากกว่ามาก  นั่นทำให้ผมคิดไปว่า  งานในประเทศอิตาลีหรืออาจจะเป็นในหลาย ๆ ประเทศในยุโรปคงจะหายากมายาวนาน  งานเสิร์พอาหารคงเป็นงานที่มีรายได้ดีมีคนแย่งกันทำและทำให้ผู้ชายเข้ามาทำกันมาก  และไม่ใช่เป็นการทำงานชั่วคราวของเด็กวัยรุ่นเพื่อรองานอื่น   แต่เป็นอาชีพที่   “พ่อบ้าน”  ทำกันเป็นงานประจำ  เรื่องนี้ทำให้ผมนึกต่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเคยขาดแคลนแรงงานมายาวนาน  ที่นั่น  ผมเคยเห็นผู้ชายอายุมากทำงานเป็นคนนั่งเฝ้าดูแลสถานที่อาบน้ำร้อนของผู้หญิง

อุทาหรณ์เรื่องนี้  นั่นคือ  กำลังแรงงานที่สำคัญถูกใช้ไปทำงานที่ไม่ได้มีการเพิ่มคุณค่ามากนักทางเศรษฐกิจ  น่าจะเป็นการบ่งบอกว่า  ในระยะยาวแล้ว  สังคมหรือประเทศก็อาจจะไปไม่ได้ไกลมากนักจากจุดที่เป็นอยู่  อย่างไรก็ตาม  ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า  ผมเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงอิตาลีหรือยุโรปนั้น  ทำงานอะไรเป็นหลัก  หรืออยู่มากในภาคไหนของเศรษฐกิจ

เรื่องที่สองที่ผมรู้สึกทึ่งเล็กน้อยก็คือ  เรื่องของคนแจวเรือกอนโดลาที่เมืองเวนิสซึ่งเป็นเมืองที่จมลงในทะเล  ถนนทุกแห่งกลายเป็นคลอง  ทั้งเมืองไม่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซต์หรือแม้แต่จักรยาน  ทุกคนต้องเดินหรือใช้เรือเป็นพาหนะ  เรือกอนโดลานั้นเป็นเรือโบราณที่นักท่องเที่ยวที่ไปเมืองเวนิสใช้นั่งชมเมือง  เป็นเรือที่ใช้คนพาย  และถ้าจะให้ครบสูตรจะต้องมีคนนั่งร้องเพลงโอเปร่าประกอบด้วย  และนี่คือความ  “โรแมนติก” สุดยอดของการท่องเที่ยวเมืองเวนิสที่นักท่องเที่ยวมักไม่ยอมพลาดและผมเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น  แต่สิ่งที่ผมทึ่งก็คือ  ค่าจ้างของคนพายเรือ  ในเวลาครึ่งชั่วโมงของการให้บริการนั้น  คนพายเรือคิดค่าบริการตกเป็นเงินไทยประมาณ 4,000-5,000 บาท  คร่าว ๆ  ถ้าทำวันละ 4-5 เที่ยว  โดยเฉลี่ยเขาก็จะได้เงินวันละ 20,000 บาท เดือนหนึ่งถ้าทำซัก 20 วัน ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 แสนบาท  ซึ่งถ้าเป็นคนไทยจะได้รายได้ขนาดนี้คงต้องเป็นคนระดับซีอีโอของบริษัททีเดียว  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีคนหน้าตาแบบคนต่างชาติเช่นคนเชื้อสายเอเซียเป็นคนแจวเรือกอนโดลาเลย  ดังนั้น  ผมเชื่อว่าอาชีพนี้คงมีการสงวนไว้เฉพาะแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้

ความเชื่อของผมในเรื่องนี้ก็คือ  รายได้ของคนแจวเรือกอนโดลาที่เมืองเวนิส  ซึ่งผมดูแล้ว  ไม่ได้มีความสามารถหรือทักษะพิเศษอะไร  แต่ได้ผลตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานหนักเท่า ๆ  กันในเมืองไทยหรือในประเทศแถบเอเซียส่วนใหญ่  ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองนี้หรือในอิตาลีคงได้เงินเดือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับงานที่ทำ  แต่ถ้าถามว่าทำไมนักท่องเที่ยวจึงยอมจ่าย  คำตอบก็คือ  เมืองเวนิสนั้น  เป็นเมืองที่น่าจะเป็นสุดยอดของเมืองที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งของโลก   ผมหรือคนจำนวนมากจึงยอมจ่ายเพื่อโอกาสอันพิเศษสุดนี้  ถ้าจะเปรียบไป  คนเอเชียหรือคนเมืองอื่นที่มาเที่ยวเวนิส  หรืออีกหลาย ๆ  เมืองในอิตาลีหรือในยุโรปยอมทำงานหนักและงานที่ใช้ความสามารถสูงเพื่อที่จะผลิตสินค้ามาให้คนเวนิสใช้อย่างเต็มที่  โดยที่คนเวนิสอาจจะตอบแทนด้วยการให้คนเหล่านั้นมาพักและนั่งเรือกอนโดลาที่พายโดยคนเวนิสปีละครั้ง  ดูไปแล้วไม่ใคร่ยุติธรรม  แต่ผมก็ไม่รู้ว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าไร

เรื่องที่สามที่น่าแปลกใจก็คือ  ในห้างสินค้าแบรนด์เนมหรูหลุยส์วิตตองในกรุงลอนดอน  ผมพบว่าลูกค้าต้องเข้าคิวรอเข้าชมสินค้าในร้าน  เพราะเขาจำกัดจำนวนลูกค้าให้เข้าชมและซื้อสินค้าเพื่อไม่ให้ร้านแน่นเกินไป  นั่นไม่ใช่ประเด็น  แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ประมาณ 80-90% ของคนที่อยู่ในร้านและรอคิวอยู่นั้น  เป็นคนหน้าตาแบบเอเซียซึ่งผมเชื่อว่าเป็นนักท่องเที่ยว  สินค้าของหลุยส์วิตตองนั้น  เราทราบดีว่าราคาสูงกว่าต้นทุนมาก  เรียกว่าทำกำไรให้กับเจ้าของมหาศาล  สินค้าเหล่านั้น  ผมเชื่อว่าผลิตในประเทศแถบเอเซียด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก   และก็ขายให้คนเอเชียในราคาที่สูงมาก  เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับว่า  คนเอเซียคงต้องทำงานหนักมากเพื่อผลิตสินค้าให้คนยุโรปใช้  แล้วก็กลับไปขอแบ่งสินค้าบางส่วนกลับมาพร้อมกับความยินดีที่ได้สินค้ามีชื่อที่สามารถเอามาอวดเพื่อนที่บ้าน

พูดถึงเรื่องสินค้าแบรนด์เนม       ในระหว่างที่อยู่อังกฤษผมได้ข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตและขายสินค้าแบรนด์ดังอย่างปราดาซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อมิวมิวด้วยนั้น  กำลังขายสินค้าดีระเบิดในเอเชีย  หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคนเอเชียนั้น  เห่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมดัง ๆ  แบบเดียวกับที่คนอังกฤษเข้าห้างไพร์มมาร์คซึ่งเป็นห้างขายสินค้าแฟชั่นราคาถูกคุณภาพดีกลางกรุงลอนดอน   ผมฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า  บางทีโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป  คนอังกฤษและอาจจะรวมถึงคนยุโรปกำลังหันมาซื้อสินค้าราคาถูกคุณภาพใช้ได้แต่ไม่มีแบรนด์จากเอเซีย  ส่วนคนเอเชียนั้น     ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากให้กับคนยุโรปเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ  “หน้าตา” ของตน  ผมเองก็ไม่รู้ว่าแนวทางธุรกิจแบบนี้จะดำเนินไปได้นานแค่ไหน  แต่ถ้าให้เดาจากคิวของลูกค้าร้านหลุยส์วิตตองแล้ว  ผมก็คิดว่าคงไม่เร็วนักที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

จากเหตุการณ์ 3 เรื่องที่กล่าวมา  ผมเองสรุปว่า  ยุโรปในวันนี้  น่าจะเป็นยุโรปที่กำลัง  “ตกดิน”  มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ยังสูงมากในวันนี้   ดูเหมือนว่ากำลังหยุดนิ่งและค่อย ๆ ลดต่ำลง  คนทำงานน้อยลง  คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำงานนั่นคือ  ตกงาน  และไม่ได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูงมากมายอะไรนัก  จำนวนมากทำงานบริการพื้น ๆ  ที่คนเอเชียทำได้ดีไม่แพ้กัน    สิ่งที่ทำให้ยุโรปยังดำรงความโดดเด่นอยู่ได้ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ยุโรปนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานและยิ่งใหญ่น่าทึ่งน่าสนใจและมีโบราณสถานที่ทำให้คนมาท่องเที่ยวและยอมจ่ายเงินในราคาที่แพงมาก  นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว  ยุโรปยัง  “ผูกขาด”  ในเรื่องของ  “การเป็นผู้มีรสนิยมสูง”  ผ่านสินค้าที่เป็นแบรนด์หรูหราระดับโลก  สองสิ่งนี้ผมเชื่อว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงของยุโรปไว้ไม่น้อย   อย่างไรก็ตาม  การที่ยุโรปจะก้าวหน้าหรือโตต่อไปนั้น   ดูแล้วน่าจะยากเหลือเกิน  เหนือสิ่งอื่นใด  พื้นฐานที่สำคัญจริง ๆ  ของการที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงได้จริง ๆ  ในโลกที่เป็นโลกาภิวัฒน์นั้นก็คือ  คุณต้องทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสูง

พูดมาเสียยาว  ถ้าจะถามว่านี่จะมีอะไรที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือเปล่า?  คำตอบของผมก็คือ  คงจะเกี่ยวอยู่บ้างในแง่ที่เราจะวิเคราะห์สถานการณ์ของยุโรปที่กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงในช่วงนี้  ในความคิดของผม  คนยุโรปเองน่าจะใช้ชีวิตที่สูงกว่าความสามารถของตนมานานพอสมควรโดยผ่านการกู้หนี้หรือก็คือ  “ยืมอนาคตมาใช้”  แต่อนาคตที่ว่านั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่มีอยู่จริง  ดังนั้น  ยุโรปจำเป็นที่จะต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลงและนี่คือสิ่งที่น่าจะต้องเกิดขึ้น    อาจจะผ่านสิ่งที่เรียกว่า  “วิกฤติเศรษฐกิจ”  ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมกำลังทำนายว่ากรีซจะ “ไปไม่รอด” หรืออิตาลีจะต้องประสบภาวะวิกฤติเร็ว ๆ  นี้   บางทียุโรปอาจจะสามารถลดมาตรฐานการดำรงชีวิตลงอย่างช้า ๆ  เทียบกับคนเอเชียได้โดยไม่ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ    ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมเชื่อว่ายุโรปนั้น  กำลังตกดินและจะไม่กลับมายิ่งใหญ่อีกในชั่วอายุของเรา





Create Date : 23 ตุลาคม 2554
Last Update : 23 ตุลาคม 2554 15:40:53 น. 0 comments
Counter : 365 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nucfc
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nucfc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.