Group Blog
 
All Blogs
 

Prison Playbook: มอง "คุก" ผ่านละคร





ณ ห้องเรียนของเด็กประถม ในคาบแนะแนวอาชีพ...วันนี้เป็นคิวของอาชีพ "เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์" ผู้คุมนักโทษแพงเซยุน ซึ่งมาเป็นคุณครูรับเชิญถามเด็กๆ ขึ้นว่า
"ทุกคนรู้ไหมว่าใครอาศัยในคุก?" 
"คนที่ทำเรื่องไม่ดีครับ" เด็กชายคนหนึ่งตอบ ผู้คุมแพงจึงกล่าวต่อว่า
"ใช่แล้ว คนทำความผิดอาศัยอยู่ในคุก แต่ใครๆ ก็เคยทำผิดพลาดอย่างน้อยก็ซักครั้งหนึ่ง ผู้คุมจะเป็นผู้ช่วยเขาในการสำนึกความผิดนั้น"

เป็นฉากหนึ่งจากละครเรื่อง "Prison Playbook" หรือ "Wise Prison Life" ออกฉายทางช่อง tvN ช่วงหน้าหนาวปี 2017 - 2018 โดยร่วมลงทุนและฉายทาง Netflix ด้วย ละครยาว 16 ตอน เล่าเรื่องราวของนักเบสบอลดาวรุ่งผู้โด่งดังคิมเจฮยอก เขาอย่ในจุดสูงสุดของอาชีพนักกีฬา ได้รับค่าตัวแพงที่สุดในประวัติการณ์และกำลังจะเดินทางไปเล่นให้เมเจอร์ลีคที่อเมริกา แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรเมื่อเขาไล่ตามคนร้ายผู้พยายามจะข่มขืนน้องสาวของเขาและเกิดการต่อสู้กัน ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ทำให้เขาต้องติดคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา 





เรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับ Shin Won-ho จากละครชุด Reply อันโด่งดัง เพราะฉนั้นไว้ใจเรื่องได้เลยเรื่องความเท่ของละคร และจังหวะจะโคนในการตัดต่อ ขอบอกว่าเขาเอาอยู่จริงๆ เขาทำให้ละครเกี่ยวกับนักโทษซึ่งมักจะถูกนำเสนออกมาในรูปแบบที่หม่นหมองหดหู่ ให้ออกมาเป็น black comedy ที่นั่งขำได้เรื่อยๆ แต่ก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปคิดถึงระบบกระบวนการยุติธรรม และอะไรคือถูก อะไรคือผิด...เอาเป็นว่าทั้งฮา ทั้งได้สาระ





เราจะได้เห็นชีวิตประจำวันของนักโทษ...วันหนึ่งๆ เขาทำอะไรกันบ้าง ในคุกนั้นนอกจากนักกีฬาคิมเจฮยอกแล้ว ก็ยังมีเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ ทั้งคดียาเสพติด คดีข่มขืน ฆาตรกรรม ยักยอกทรัพย์ ลักเล็กขโมยน้อย นักโทษติดคุกตลอดชีวิต นักโทษประหาร ทั้งยังมีเหล่าผู้คุมนักโทษ พัศดี เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะๆ และเราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในคุก ลำดับชั้น การกลั่นแกล้ง การดูแล การต่อสู้ ต่อรอง การค้าขาย แลกเปลี่ยน เส้นสาย...แน่นอนนักกีฬาคิมของเราเป็นคนดัง เพราะฉนั้นเราจะเห็นสิทธิพิเศษของเขาที่เหนือกว่านักโทษคนอื่นอย่างชัดเจน 

ว่าแต่ ถ้าเรามีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น เราจะใช้สิทธิพิเศษนั้นเพื่อช่วยเหลือคนอื่นอย่างไรบ้าง?





"นักโทษก็คนเหมือนกัน"

เรื่อง "สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง" ซึ่งอ้างอิงจากหลักสิทธิมนุษยชนสากล 30 ข้อ อันถือเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรมีและผู้ใดไม่สามารถพรากไปได้ ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจในละคร ดูเหมือนว่าตัวนักโทษเองจะทราบในสิทธิ์ที่ตนพึงมีพึงได้ ส่วนผู้คุมเองก็ตระหนักรู้และระมัดระวังไม่ริดรอนสิทธิเหล่านี้ (อย่างโจ่งแจ้งเกินไปนัก ฮ่าๆ)

เช่น ข้อ 18 สิทธิในการนับถือศาสนา ทางเรือนจำได้จัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ อย่างหลากหลายเพื่อผู้ต้องหา ทั้งคาทอลิก พุทธ คริสต์ อิสลาม ถือเป็นช่วงเวลาชุบชูจิตใจของผู้ต้องขังเพื่อให้ผ่านพ้นวันอันยาวนานไปได้

ข้อ 19 เสรีภาพในการแสดงความคิดและการแสดงออก มีหลายฉากเมื่อนักโทษมีความคับข้องใจ พวกเขาก็มีช่องทางในการร้องเรียนและสามารถนำเสนอทางแก้ปัญหาได้ จากเรื่องเราจะเห็นการร้องเรียนสิทธิในการรักษาพยาบาล และสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมในการทำงาน  ที่แม้จะมีการเล่นตุกติก และการพยายามลดค่าใช้จ่ายจากทางเรือนจำ แต่ด้วยการร่วมมือกันของนักโทษก็ทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นได้





"คนผิดทุกคนใช่ว่าจะอยู่ในคุุก และคนคุกทุกคนใช่ว่าจะกระทำผิด"

จากสถิติแล้วผู้ต้องหาโทษหนักๆ เช่น ฆาตกรรม หรือข่มขืน จำนวน 4 -7% นั้นสุดท้ายแล้วถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีการจับผิดตัว หรือโดนวางแผนกลายให้เป็นแพะรับบาป ตัวละครหนึ่งในเรื่องก็เช่นกัน...เขาต้องมารับเคราะห์ในสิ่งที่เขาไม่ได้กระทำ ซึ่งการชดเชยที่กฎหมายกำหนดไว้ เทียบไม่ได้เลยกับอิสระภาพ เวลา หน้าที่การงาน และชื่อเสียงที่เขาสูญเสียไป





"ยาเสพติด...ความผิด หรือ ทางเลือก?" 

จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ประเทศไทย กว่า 56.4% ของนักโทษติดคุกจากคดียาเสพติด ทั้งไทยและเกาหลีต่างก็ให้ความสำคัญกับข้อหาเสพยาและมียาเสพติดในครอบครอง สิ่งที่ตัวละคร "เจ้าเอ๋อ" ยูฮันยาง ผู้ต้องขังคดียาเสพติดตัดพ้อไว้ในเรื่องอย่างน่าสนใจทีเดียว "การเสพยาไม่ได้ทำร้ายใครนอกจากตัวเอง แถมผู้เสพถือเป็นเหยื่อจากยาเสียอีก ทำไมต้องติดคุกด้วย" เหมือนเจ้าเอ๋อจะเสนอว่าถ้าไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร การเสพยาน่าจะถือเป็นทางเลือกของผู้เสพ และหากรัฐฯ จริงใจในการช่วยเหลือผู้ติดยา ก็ควรส่งไปสถานบำบัดไม่ใช่คุก

ประเทศโปรตุเกสก็คงคิดแบบเดียวกัน ในปี 2001 รัฐบาลจึงแก้กฎหมายให้ผู้เสพยาและครอบครองยาเสพติดในปริมาณน้อยทุกประเภทถูกปรับเงิน และสนับสนุนให้เข้ารับการบำบัด แทนที่จะถูกจับเข้าคุก แต่หากเสพยาแล้วก่อเรื่องก็จากถูกจับกุมจากเรื่องที่กระทำ  ตั้งแต่นั้นจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดก็ลดลง จนในปี 2015 ก็ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากการ overdose เลย 





ไหนๆ ก็เป็นละครเรื่องคุกเรื่องตาราง มาดูข้อมูลคุกเกาหลีเปรียบเทียบกับคุกไทยกันหน่อยดีกว่า ในปี 2017 อัตราส่วนนักโทษต่อจำนวนประชากรของเกาหลีอยู่ในลำดับที่ 143 ของโลก ติดอันดับ 22 ในเอเชีย ซึ่งประชากรจำนวน 100,000 คน จะเป็นนักโทษเสีย 109 คน คิดเป็น 0.1% ของจำนวนประชากร (51 ล้านคน)

ส่วนไทยนั้นมีอัตราส่วนมากติดอันดับที่ 5 ของโลกเลยทีเดียว โดยในประชากร 100,000 คน จะมีนักโทษถึง 526 คน คิดเป็น 0.4% ของจำนวนประชากรไทย (68 ล้านคน) ถือเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากเติร์กเมนิสถาน โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดของไทยคือ 300,800 คน ซึ่งล้นเกินความจุที่คุกจะสามารถรองรับได้ถึง 83,868 คน ทำให้นักโทษต้องอยู่กันอย่างเบียดเสียดเกิน 50 คนต่อห้องเลยทีเดียว

ส่วนในประเทศเกาหลี มีจำนวนนักโทษมีประมาณ 56,000 คน ล้นความจุของคุกไป 8,675 คน และกำลังเป็นเรื่องที่รัฐบาลของเขากังวลอยู่ในขณะนี้

เคยได้ยินคนบอกว่า "อยู่คุกเผลอๆ สบายกว่าอยู่ข้างนอก อย่างน้อยก็มีที่อยู่ มีข้าวกิน" อืมม อาจจะต้องคิดใหม่รึเปล่านะ 





"คืนคนดีสู่สังคม..."

กรมราชทัณฑ์ (Department of Correction) หรือที่เกาหลีเรียกว่า Correctional Services ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความปลอดภัยในสังคม โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลในทัณฑสถาน ให้บริการแก้ไขความผิดพลาด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้กลายเป็นประชาชนผู้เคารพกฎหมายเมื่อกลับไปอยู่ในสังคมต่อไป

แล้วคุกได้ช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้เรียนรู้และกลับคืนสู่สังคมได้ตามเป้าหมายของมันหรือไม่? คุกไทยล่ะ ได้ทำหน้าที่ของมันไหม? 

เกาหลีพยายามสร้างคุกที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การบำบัดพัฒนาคนจำนวน 5 หมื่นคนก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว บ่อยครั้งที่สังคมตั้งคำถามว่า "ภาษีของพวกเขาต้องเอาไปดูแลคนคุกอย่างนั้นหรือ?"

ประมาณ 24% ของนักโทษในเกาหลีกระทำความผิดซ้ำอีกภายใน 3 ปีหลังออกจากคุก และต้องกลับเข้าคุกอีกครั้ง ส่วนของไทยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน





มีอยู่ฉากหนึ่งในละคร เจฮยอกพูดกับเพื่อนนักโทษว่า "บางทีเราก็ต้องโทษโลกบ้าง! เมื่อเราไม่ได้รับโอกาส อาจไม่ได้แปลว่าเราไม่พยายาม เราอาจจะพยายามมากที่สุดแล้ว แต่สังคมต่างหากที่ไม่พยายาม เราอาจต้องถามว่าโลกยุติธรรมกับเราไหม โลกให้โอกาสเราหรือเปล่า?" 

ถึงกับต้องมานั่งถามตัวเองเลยว่า...ถ้ามีคนหนึ่งที่คุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาสมัครงานพร้อมประวัติอาชญากร เราพร้อมที่จะให้โอกาสเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่หรือไม่? แล้วถ้าเขาไม่ได้รับโอกาส มันจะเป็นการผลักไสเขาให้กลับไปอยู่ในวงจรเดิมรึเปล่า?

มนุษย์...ทั้งเรา ทั้งเขา...ไม่ว่าใครก็คงเคยทำผิดไปบ้าง อย่างน้อยก็ซักครั้งหนึ่ง...แล้วเส้นแบ่งคืออะไร?...อาจจะเป็นเพราะเขา "ถูกจับได้" แค่นั้นเอง...ใช่ไหมนะ?




ข้อมูลอ้างอิง
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/05/701_144048.html
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20110227000115
https://www.washingtonpost.com/opinions/the-cost-of-convicting-the-innocent
https://www.correct.go.th/eng/index.html
https://www.corrections.go.kr/HP/COR80/
https://www.prisonstudies.org
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4472929/
https://www.independent.co.uk/news/world/europe/portugal-decriminalised-drugs-14-years-ago-and-now-hardly-anyone-dies-from-overdosing-10301780.html





 

Create Date : 15 ตุลาคม 2561    
Last Update : 15 ตุลาคม 2561 15:04:19 น.
Counter : 4464 Pageviews.  

Miss Hammurabi: เมื่อ...ผู้พิพากษา/หญิง/ขบถ กับ ระบบ




Miss Hammurabi เป็นซีรี่ย์เกาหลี 16 ตอนจบ ออกฉายช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2018 ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา 3 แบบ 3 สไตล์แห่งแผนก 44 ที่โดยมากพิจารณาคดีแพ่ง 




Miss Hammurabi เป็นชื่อเล่นของนางเอกพัคชาโอรึม (แสดงโดย Go Ara) ผู้พิพากษาหญิงมือใหม่ไฟแรงของเรา มีที่มาจากประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญาอันเก่าแก่ที่สุดในโลก ยึดหลักการลงโทษแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ทำผิดอย่างไรรับโทษอย่างนั้น ชื่อนี้เธอได้มาจากความเป็นคน idealistic ยึดถือความถูกผิดเป็นที่สุดและสู้สุดใจเพื่อความถูกต้องที่เธอเชื่อมั่น เธอต้องการเป็นผู้พิพากษาที่ปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยผู้ไร้อำนาจในสังคม



ตรงกันข้ามกับผู้พิพากษารุ่นพี่ในแผนกเดียวกัน อิมบารึม (แสดงโดย L วง Infinite) เขาเป็นหนอนหนังสือ ฉลาด รอบคอบ เยือกเย็น สไตล์ by the book ผู้หลีกเลี่ยงความวุ่นวายในทุกกรณีและเชื่อว่าโดยเนื้อแท้แล้วนั้นมนุษย์ไม่ใช่คนดีซักเท่าไหร่ เขาเดินตามกฎ เล่นตามเกมส์ ยึดตามที่กติกาว่าไว้เป็นหลัก ซึ่งเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบางครั้งกฏก็ไม่ได้ยุติธรรมกับทุกคน สุดท้ายคือหัวหน้าผู้พิพากษาของทีม ฮันเซซัง (แสดงโดย Sung Dong Il) แม้เขาจะขี้หงุดหงิดเป็นบางครั้งบางคราว แต่เขาก็เป็นผู้พิพากษาที่มากประสบการณ์ เข้าใจโลก มีความรับผิดชอบ และพยายามรับฟังทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม



คดีต่างๆ น่าสนใจและให้ความรู้ทางกฎหมายไว้อย่างเข้าใจง่าย อาจเพราะดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันที่คุณ Moon Yoo Seok ซึ่งเป็นผู้พิพากษาจริงๆ เขียนขึ้นมา แถมยังมาเขียนบทละครให้อีกด้วย ละครจุดประเด็นคำถามร่วมสมัยที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันหลายประเด็น



ประเด็นแรก คือ ผู้พิพากษาที่ดีคืออะไร? เราจะเห็นการต่อสู้กันของผู้พิพากษาแบบพระโพธิสัตว์ที่โอบอ้อมอารี ชั่งน้ำหนักการตัดสินโดยการพยายามทำความเข้าใจมนุษย์แต่ละคนๆ ซึ่งตัวตนของพวกเขาถูกประกอบสร้างทางสังคมมาแตกต่างกัน มีที่มาจากภูมิหลัง ฐานะ ความเป็นอยู่อันแตกต่างกัน มีการเข้าถึงโอกาสและความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเราก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าคนจนกับคนรวยนั้นเข้าถึงโอกาสได้ไม่เท่ากันจริง...ในขณะที่ผู้พิพากษาแบบ Lady Justice ที่ใส่ผ้าปิดตาเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฎิบัติจากการมองเห็นความแตกต่างทางภูมิหลัง เชื้อชาติ ศาสนา สถานะ ความเป็นอยู่ พร้อมทั้งถือตาชั่งและดาบเพื่อลงโทษทุกคนอย่างเท่าเทียม...ผู้พิพากษาแบบไหนที่ดีกว่ากัน?



นอกจากนี้ เรื่องความเป็นกลางของผู้พิพากษา เมื่อผู้พิพากษาก็เป็น "มนุษย์" คนหนึ่งที่ตัวตนของพวกเขาก็ผ่านการประกอบสร้างทางสังคมมาไม่เหมือนกัน มาจากภูมิหลังที่หลากหลาย ยึดมั่นในชุดความเชื่อที่แตกต่างกันไป ความยุติธรรมจากศาลนั้นจึงสามารถมีความเป็นกลางได้จริงหรือ? 





ประเด็นที่สอง คือ เรื่องสิทธิสตรี เมื่อนางเอกเป็นผู้พิพากษาหญิงแถมเป็นเฟมมินิสต์ซะด้วย แล้วยังทำงานในศาลที่สัดส่วนผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอีก ถ้าไม่แตะเรื่องอคติระหว่างเพศและการเลือกปฎิบัติระหว่างเพศในสังคมการทำงานก็คงจะไม่ได้แล้ว แม้จะไม่ใช่ละครเรื่องแรกที่พูดประเด็นนี้ แต่ที่น่าสนใจคือมีการเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีเข้าด้วยกัน ทำให้คิดถึงสุนทรพจน์ของฮิลารี คลินตัน ในงานประชุม UN ปี 1995 ซึ่งเป็นที่นิยมในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีช่วงต้นยุค 90's ที่ว่า "Women's rights are human rights" ... เรื่องสิทธิสตรีนี่เกาหลีอาจจะตามหลังโลกที่หนึ่งประเทศอื่นๆ อยู่ 20 กว่าปีเลยทีเดียว 



พอพูดเรื่องเฟมมินิสต์ นางเอกของเราที่ชอบต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีก็มักจะถูกผู้ต่อต้านเฟมมินิสต์หาว่า "เกลียดผู้ชาย" อยู่ร่ำไป ช่างเป็นประโยคโจมตีที่คลาสสิกและน่าขำดีจริงๆ...จากละครเราจะได้เห็นประเด็นที่ผู้หญิงต้องทำงานหนักจนเกิดภาวะแท้งบุตร, คดีข่มขืน vs สมยอม, คดีภรรยาฆ่าสามี, คดีความรุนแรงในครอบครัว และ การโทษเหยื่อทั้งทางกฎหมายและทางสังคม นอกจากนี้ละครยังนำเสนอมุมมองจากผู้ชายที่ทำให้เรามองเห็นความคับข้องใจของผู้ชายเกาหลีอยู่เหมือนกัน เช่น หน้าที่หัวหน้าครอบครัว ภาระผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว และการบังคับผู้ชายเกณฑ์ทหารที่ทำให้ต้องเสียเวลาไป 2 ปี จริงๆ แล้วความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ส่งผลกระทบต่อทั้งเพศหญิงและชาย รวมถึงเพศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน



ประเด็นที่สาม "คนรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลง"  เนื่องจากคนรุ่นเก่าที่อยู่มานานมักจะเคยชินกับระบบ อาจทำให้ "มองไม่เห็น" หรือไม่ก็ "เลือกที่จะไม่มอง" ปัญหาของระบบนั้นๆ แต่คนรุ่นใหม่มักจะมีความอดทนต่อปัญหาของระบบได้น้อยกว่า อาจจะเพราะคนอายุน้อยมักมองโลกในแง่ดี ทำให้กล้าขบถต่อกฎเกณฑ์มากกว่า และยังไม่ชินชากับความผิดพลาดของระบบจนถูกกลืนไปกับระบบนั้น ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายๆ อย่างในโลกจึงมักเกิดจากคนรุ่นใหม่ 



พัคชาโอรึมก็ด้วย เธอมองเห็นปัญหาของระบบและต้องการเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น ทั้งๆ ที่มันอาจจะง่ายและปลอดภัยกว่า ถ้าเธอเลือกปิดตาข้างนึงแล้วทนๆ ไป พร้อมรับผลประโยชน์จากการยอมตามน้ำ แต่เธอเป็น Miss Hammurabi นี่นา ถ้าไม่ตาต่อตาฟันต่อฟันจะได้ฉายานี่มาได้อย่างไร ความกล้าบ้าบิ่นและการสู้ยิบตาของเธอทำให้หลายคนรำคาญ ทั้งเพื่อนร่วมงานที่กลัวโดนหางเลขไปด้วย ทั้งระดับสูงที่กลัวโดนขัดผลประโยชน์จากความตงฉิน แม้แต่ผู้ชมบางคนเองยังมองว่าเธอน่ารำคาญ...กระนั้นมันก็เป็นความน่ารำคาญที่จำเป็นต่อองค์กร...คงไม่มีใครอยากฟังเรื่องปัญหาหรือความผิดพลาด แต่ถ้าไม่ฟัง จะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร?



การกระทำของเธอยังต้องอาศัย "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" ที่จะตัดสินใจพูดในสิ่งที่คนอื่นเลือกที่จะเงียบ ตัดสินใจสู้ในสิ่งที่คนอื่นเลือกที่จะยอมแพ้...หลายครั้งเธอผู้เป็นคนรุ่นใหม่อาจยังมีประสบการณ์ที่จำกัด อาจจะไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ถี่ถ้วน และอาจมองไม่เห็นว่าผลการกระทำนั้นๆ จะนำไปสู่อะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้ รับผิดชอบและก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันคนอื่นๆ เองก็สามารถเรียนรู้จากความกล้าหาญของเธอได้เช่นกัน



แม้การสู้ของเธอจะเหมือนการปาไข่ไปกระทบกับก้อนหิน หินคงจะไม่ถล่มครืนลงมาในทันใด แต่ก็สามารถนำสายตาไปสู่ร่องรอยที่ไข่ถูกปาไปกระทบบนหินก้อนนั้นได้ เพราะคนรุ่นใหม่กล้าที่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและกล้าขบถต่อกฎเกณฑ์อันเป็นปัญหานั้นๆ คนรุ่นใหม่จึงเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลง ...โชคดีที่เธออยู่ในที่ๆ พอจะยอมรับฟังความคิดเห็นและเปิดรับการกระทำที่แตกต่างอยู่บ้าง น่าอิจฉาจริงๆ 



ส่งท้าย คิดว่าอีกประเด็นที่ทำให้ Miss Hammurabi น่าสนใจ คือเป็นหนึ่งในละครเกาหลีน้อยเรื่องที่ตัวละครนำชายเคารพการตัดสินใจของตัวละครหญิง ไม่มีฉากกระชากลากจูงมือผู้หญิง ไม่มีฉากตั้งใจแอบจูบหรือกอดโดยขาดการยินยอม (consent) ของฝ่ายใด (แต่ความฟินก็ไม่ได้น้อยลงเลย) ไม่มีการบังคับให้ทำอะไรที่นางเอกไม่ต้องการแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ (พระเอกคิดว่า) ดีก็ตาม พระเอกก็ไม่ชกต่อยทำร้ายร่างกายใครเลยด้วย คิดว่าเป็นข้อความจากละครถึงผู้ชมที่ดีมาก เท่ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ชอบจัง




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2561    
Last Update : 31 สิงหาคม 2561 22:59:06 น.
Counter : 2427 Pageviews.  

Ossan's love: เพราะรักก็คือรัก...ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม






Ossan's love (おっさんずラブ ) หรือ "ความรักของคุณลุง" เป็นซีรี่ย์ญี่ปุ่น 7 ตอนจบจาก TV Asahi ออกฉายทางทีวีวันเสาร์ เวลา 23:15 ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2018  ซึงเคยถูกนำมาทำเป็นหนังทีวีตอนเดียวจบออกฉายในปี 2016 มาก่อน

ด้วยความที่เป็นซีรี่ย์แนว Comedy เรื่องนี้จึงมีความเฮฮา ร่าเริง ดูง่าย ไม่ค่อยหนัก Ossan's love เล่าถึงเรื่องราวที่ยุ่งอีรุงตุงนังพันพัวรอบตัวพระเอกหัวอ่อน จิตใจดี ติ๊งต๊องนิดๆ เซ่อซ่าหน่อยๆ และมีรอยยิ้มน่ารักชื่อ Haruta เขาเป็นมนุษย์เงินเดือนวัย 33 ปี ฝันอยากแต่งงานกับผู้หญิงสไตล์แม่ศรีเรือนอกบึ้มซักคนนึง แต่ตัวเขาก็โสดสนิทมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ไม่รู้ยังไงปีนี้ถึงมีเรื่องรักวิ่งมาชนเขาอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที เริ่มจากคุณลุง Kurosawa Musashi  ผู้จัดการสาขาอายุ 55 ปี ผู้เป็นบอสของเขาเอง จู่ๆ ก็เข้ามาสารภาพว่าแอบรักเขาเงียบๆ มานานแล้ว พร้อมทั้งเดินเครื่องจีบเขาเต็มที่ราวกับเป็นเด็กมัธยมก็ไม่ปาน ยังไม่พอ รุ่นน้องเพื่อนร่วมงานหนุ่ม Maki Ryota วัย 25 ปี ที่มาแชร์บ้านอยู่ด้วยกันก็ดันมาบอกรักเขาอีก แล้วเขาจะทำยังไงดีล่ะคราวนี้

อยากบอกว่าสนุก ครื้นเครง ฟิน ลุ้น จนเดาตอนจบไม่ถูกเลยทีเดียว 





แม้จะเป็นหนังแนว Comedy แต่ก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่ LGBTQIA+ หรือบุคคลหลากหลายทางเพศต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การค้นพบตัวเอง ซึ่งตัวละครในเรื่องล้วนเป็นวัยทำงานแล้ว ถือเป็นความพิเศษของละครเหมือนกัน, การยอมรับตัวเอง, การคบกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ, Coming out, ถูกเลือกปฎิบัติ, ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน้าที่การงาน, แอบชอบคนที่ straight, การไปพบพ่อแม่แฟน, ครอบครัวไม่เข้าใจ, จะปิดไว้ดี หรือพูดออกไปดี ละครเรื่องนี้ใส่มาทั้งหมด










และยังทำให้มองเห็นสิ่งที่คนใกล้ชิดต้องเผชิญไปด้วย เช่น ภรรยาที่พบว่าสามีเป็นเกย์, คนรักต่างเพศที่แอบชอบคนรักเพศเดียวกัน, ครอบครัวที่มีลูกเป็นเกย์ แต่ละครเรื่องนี้นำเสนอประเด็นเหล่านี้ออกมาอย่างน่าสนใจ เพราะตัวละครหลักๆ ส่วนใหญ่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย โดยพวกเขาเลือกที่จะไม่มองว่าสถานการณ์เหล่านั้นเป็นความด่างพร้อยในชีวิต 

พวกเขาก้าวผ่านมันไปด้วยความเคารพในการตัดสินใจและเคารพในทางเลือกของผู้อื่น ฉากต่างๆ เหล่านี้ ให้ความรู้สึกอบอุ่น เหมือนสายลมในฤดูใบไม้ผลิที่พัดเข้ามาละลายความหนาวเย็น...ทำให้รู้สึกว่า แค่คนรอบข้างเข้าใจ ปัญหามันก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นซะหน่อย... 





การได้เห็นฉากเหล่านี้ในทีวีกระแสหลัก เล่นโดยดารามีชื่อเสียงที่เห็นหน้ากันประจำอย่าง Tanaka Kei และยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากในโลกออนไลน์...หรือว่าญี่ปุ่นจะกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 





แน่นอนว่าสังคมญี่ปุ่นค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเรื่อง Gender และมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศเป็นจำนวนมาก รวมถึงเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (Same-sex marriage) ที่ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นรูปธรรมเกิดขึึ้นอยู่ นั่นก็คือ การจดทะเบียนของคู่รักหลากหลายทางเพศที่เรียกว่า "Partnership Certificate" ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฏหมายแล้วใน 7 เขตเหล่านี้ เริ่มต้นที่เขตชิบุย่าและเซตะกายะในโตเกียวเมื่อปี 2015 ตามมาด้วยเมือง Iga ในจังหวัด Mie, เมือง Takarazuka จังหวัด Hyogo, เมือง Naha จังหวัดโอกินาว่า, เมือง Sapporo จังหวัดฮอกไกโด และล่าสุดเมือง Fukuoka ในจังหวัดฟุกุโอกะ เมื่อต้นปี 2018 นี้เอง ส่วนที่โยโกฮาม่า และชิบะ กำลังอยู่ภายใต้การพิจารณา 

สังเกตุเห็นว่าเมืองใหญ่ๆ อย่างซัปโปโรที่มีประชากร 1.9 ล้านคน และ ฟุกุโอกะที่มีประชากร 1.5 ล้านคน ก็ค่อยๆ ยอมรับการจดทะเบียนนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชากรจำหนึ่งเข้าถึงกฏหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และอาจเป็นตัวอย่างให้เมืองใหญ่อื่นๆ ได้อีกด้วย





ในซีรี่ย์เองก็มีการพูดถึง Certificate ตัวนี้ไว้เช่นกัน การจดทะเบียน "Partnership certificate" จะทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้การรับรองจากทางการและได้รับสิทธิบางประการเหมือนการเหมือนการแต่งงานของคู่รักต่างเพศ เช่น สามารถเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกันได้ สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันได้ ได้รับสิทธิ์เข้าเยี่ยมคู่รักในโรงพยาบาล เป็นต้น แต่ก็ยังติดที่กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น มาตรา 24 ซึ่งระบุว่า "การแต่งงานต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคนทั้งสองเพศ และเป็นการตกลงร่วมกันอย่างเท่าเทียมของสามีภรรยา" คำว่า "คนทั้งสองเพศ" และ "สามี ภรรยา" ด้วยบริบทสังคมญี่ปุ่นที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองส่วนมากเป็นผู้ชายรุ่นเก่าทำให้การแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นไปได้ยากและอาจใช้เวลาหลายปี 





อย่างไรก็ดียังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้เห็นบ้าง ผลโพลของ Asahi ปี 2015 และ NHK ปี 2017 แสดงให้เห็นว่า 51% ของชาวญี่ปุ่นสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน โดยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี สนับสนุนการแก้กฎหมายนี้ถึง 70% เลยทีเดียว 

ฤดูใบไม้ผลิคงกำลังจะค่อยๆ มาถึงแล้ว และรักก็คงจะได้เป็นรักอย่างเท่าเทียมกันเสียที...





พอเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่มากขึ้น และเปิดกว้างให้กับการตัดสินใจของผู้ที่เห็นต่างในสังคมใดๆ ก็ตาม ก็อดรู้สึกยินดีปรีดากับผู้คนในสังคมนั้นๆ ไปด้วยไม่ได้... 

เมื่อไหร่หนอจะได้เห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางนี้บ้างซะที จะอยู่ทันได้เห็นรึเปล่าน้า...




ข้อมูลประกอบบทความ
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-12-08/japan-s-lone-gay-lawmaker-says-same-sex-marriage-will-take-years
- https://www.todayonline.com/world/asia/majority-japanese-support-same-sex-marriage-poll-shows
- https://en.wikipedia.org/wiki/Template:Same-sex_marriage_opinion_polls_worldwide#cite_note-25




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2561    
Last Update : 8 มิถุนายน 2561 3:20:44 น.
Counter : 3194 Pageviews.  

'Call me by your name' (echoed with my jealousy) ฉบับหยาบกระด้างโดยนางอิจฉา








(บทความมีความหยาบกร้าน ความอิจฉาริษยา และความสปอย)

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ใจจดใจจ่อรอดูมานานหลายเดือนมาก แล้วยิ่งได้ข่าวว่าเสียงนักวิจารณ์บอกว่าสุดยอดอย่างงั้นอย่างงี้ ถึงกับยืนปรบมือกันทั้งโรงไปอี๊ก...ยิ่งทำให้คาดหวังมากเข้าไปใหญ่ 

ความรู้สึกแรกหลังดูจบเลยคือ "ทำไมล่าาาา นี่รอดูมาตั้งนานนะ...คิดว่าจะชอบกว่านี้อ่ะ" 

หลายๆ คนอาจทราบที่มาที่ไปและเรื่องย่อของ Call me by your name มาบ้างแล้ว ดังนั้นจะขอสรุปสั้นๆ ว่าหนังเรื่องนี้เป็นนิยายมาก่อน เขียนโดย Andre Aciman และถูกนำมาสร้างเป็นหนังในปี 2017 โดย Luca Guadagnino มีผู้กำกับภาพชาวไทยชื่อคุณสยมภู มุกดีพร้อม เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นช่วงปี 80's ในเมืองเล็กๆ ของประเทศอิตาลี หนุ่มน้อยอายุ 17 ปี ชื่อเอลิโอ ได้พบกับ โอลิเวอร์ อาจารย์หนุ่มอเมริกันวัย 24 ปี เดินทางมาเพื่อช่วยเหลืองานคุณพ่อของเอลิโอผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเช่นกัน แลกกับการตรวจงานวิชาการให้เขา ตั้งแต่แรกพบกันเอลิโอรู้สึกได้ว่าตนเองมักจะถูกเมินจากอาจารย์หนุ่มอยู่เสมอ  แม้จะไม่ค่อยชอบขี้หน้าเขาเท่าไหร่ แต่ก็อดแอบสังเกตเขาอยู่ตลอดเวลาไม่ได้...อารมณ์ประมาณยิ่งเกลียดเธอยิ่งเจอรักอะไรแบบนี้....

ทั้งคู่แอบบอกใบ้กันไปมาว่าสนใจซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งคู่ก็เก็ตคำใบ้บ้างไม่เก็ตบ้าง แต่สุดท้าย แน่นอนว่าทั้งสองคนก็ได้กัน และหนังมีโมเม้นต์ฟินๆ หวานๆ จิกหมอนแตกหลายฉากอยู่ เป็นหนังรักที่เน้นความหลากหลายทางเพศซึ่งคนทั่วไปคงรู้สึกเชื่อมโยงได้ไม่ยาก 



ใน 6 สัปดาห์ที่อยู่ด้วยกันหนูเอลิโอก็ได้ค้นพบและเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของความเป็นตัวตนของเขาเอง แม้สุดท้ายหนูจะโดนผู้เทไปแต่งงานกับชะนีก็ตาม

คือ...นางหนูเอลิโอ นางมีชีวิตดีๆ ที่ลงตัวมากๆ จริงๆ น้องเกิดมากับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และรับรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ พูดได้หลายภาษา อยู่วิลล่าใหญ่โต พ่อแม่ที่ดูเหมือนจะชิวตลอดหน้าร้อนคอยดูแลเอาใจใส่นาง มีแม่บ้านดูแลความสะอาดและทำอาหารที่น่ากินสุดๆ มีคนสวนด้วย สิ่งที่น้องทำคือ ว่ายน้ำ เล่นดนตรี แต่งเพลง อ่านหนังสือ ออกไปเที่ยวเล่น ปาร์ตี้กับเพื่อนๆ อะไรจะดีกว่านี้อีก....ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องทำงานหาเงินจ่ายค่าเทอม ปีหน้าน้องก็จะเข้ามหาลัยแล้ว คงจะเป็นมหาลัยดีๆ ลำดับต้นๆ ของโลกเป็นแน่แท้ เพราะน้องเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา น้องฉลาด ความรู้แน่น สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 เกิดอะไรบ้าง นางคงไล่ timeline ได้หมด...เพลงของบาค บวกประวัติชีวิตของนางก็ชิวๆ น้องรู้หมด วรรณกรรมฝรั่งส่ง ฝรั่งเศษอะไร น้องอ่าน น้องโปร...



ลองเป็นเด็กซีกโลกใต้ (Global South) ในระบบการศึกษาอย่างเราๆ สิ ถ้าทุนน้อยหน่อย ปิดเทอมก็ต้องออกไปหางานพิเศษทำเพื่อหาเงินเพิ่ม ถ้ามีทุนหน่อยก็ต้องนั่งเรียนติวสอบไป อ่านหนังสืองกๆ แล้วจะเข้ามหาวิทยาลัยที่หวังไว้ได้รึเปล่าก็ยังไม่รู้ บางทีชอบทำอะไร อยากเป็นอะไรยังไม่รู้เลย เพราะไม่ค่อยได้มีเวลาไปลองทำอะไร มิหนำซ้ำสิ่งที่เรียนที่ท่่องมาจะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากแค่ไหนก็ไม่รู้ วรรณกรรมฝรั่งเศษคืออะไร เอาภาษาอังกฤษให้รอดก่อนไหม 



ยังไม่พอ...ความชีวิตดีๆ ของนางยังไม่หมด เพราะนางเกิดและเติบโดในครอบครัวนักวิชาการที่มีองค์ความรู้ และเปิดพื้นที่ให้นางได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง นางค้นพบตัวเองค่อนข้างไว นางได้พบกับความสัมพันธ์ที่หวานไหวและสวยงามในช่วงเวลาหนึ่ง ครอบครัวสนับสนุนนางและคนรักของนาง ครอบครัวให้กำลังใจนางยามผิดหวัง ครอบครัวเป็นที่พึ่งพิงของนางยามเลียแผลใจ และได้มอบคำปรึกษาที่งดงามให้กับนาง แม้ในยุค 80's ที่สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ/LGBTQIA+/Queer ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าในปัจจุบัน น้องก็มีพ่อแม่ที่แสนวิเศษ จะมีอะไรดีไปกว่าคนในครอบครัวยอมรับและเข้าใจเราโดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงเรา



หลายคนอาจสงสารนางที่ต้องมาอกหักเพราะผู้เท แต่นี่กลับรู้สึกว่านางมีชีวิตที่น่าอิจฉาที่สุด!
คนจำนวนมากเค้าก็ผิดหวังจากรักครั้งแรกกันทั้งแหละหนู แต่ไม่ทุกคนจะได้การสนับสนุนอย่างที่หนูได้ ชีวิตหนูดีแล้ว ต้องเผชิญกับความปกติแบบมนุษย์ทั่วไปบ้างค่ะ หนูต้องรู้จักรสชาติของความนกบ้างอะไรบ้าง!

ความอิจฉาที่บังตาหลั่งไหลเข้ามาทำให้เกิดความรู้สึก "ทำไมล่าาา คิดว่าจะชอบกว่านี้ซะอีก" 
ถึงกับกลับไปคิดอยู่หลายวัน ว่ามันเป็นเพราะอะไรกันนะถึงไม่อินเหมือนคนอื่นๆ....จนในที่สุด...ทำให้ต้องกลับไปดูซ้ำอีกรอบ



คราวนี้ดูแบบไม่คาดหวังอะไร ปล่อยใจไปกับเนื้อเรื่อง ไปกับภาพและวิวที่สวยงาม ไปกับเพลงประกอบที่สวยไม่แพ้มุมกล้อง นักแสดงก็แสดงได้เข้าถึงบทบาท โดยเฉพาะน้องธิโมธี ส่วนโอลิเวอร์ก็หล่อเว่อร์วังอลังการมาก

อืมมมมมมม



มันก็ดีมากๆ นี่หว่าาา สมบูรณ์แบบแล้วอ่ะ เป็นเรื่องรักของคนสองคน เป็นเรื่องของวัยรุ่นที่ค้นหาตัวเอง ค่อยๆ ก้าวออกไปทดลองและทำความรู้จักด้านต่างๆ ของตัวเอง ได้รัก ได้ถูกรัก ได้สัมผัสความเจ็บปวดจากความรักเป็นครั้งแรก รวมถึงทำให้คนอื่นเจ็บปวดไปด้วย....มันสวยงามเลยแหละ ในแง่ของหนังที่สำรวจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ (ถ้าไม่ขี้อิจฉาเหมือนนี่อ่ะ)

สรุปนี่เป็นแค่มนุษย์โลกที่สามผู้อิจฉาชีวิตดีๆ ของหนูเอลิโอ และอยากลาพักร้อนไปนอนเล่น อ่านนิยาย ว่ายน้ำ ปาร์ตี้ ดื่มไวน์ เก็บลูกพีชที่อิตาลีซัก 3 เดือน...พอค่ะ ตื่นค่ะ ตื่น! กลับไปทำงานหาเงินไว้หาหมอตอนแก่ต่อไปค่ะ





 

Create Date : 25 ธันวาคม 2560    
Last Update : 7 มิถุนายน 2561 16:09:20 น.
Counter : 1682 Pageviews.  

The Boy and The Beast : ครอบครัว / ผู้ปกครอง / สัตว์ประหลาด / อาจารย์ / เด็ก

หนังอนิเมชั่นญี่ปุ่นเรื่อง The Boy and The Beast (2015) หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่น "Bakemono no ko" โดยแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า "เด็กของสัตว์ประหลาด" 

"ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อแม่ของตน เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ดีได้ไหม ?"
"การดูแลคนๆ หนึ่งให้ดีได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?"
"บทบาทของผู้ปกครองคืออะไร ?"
"บทบาทของอาจารย์คืออะไร ?"
"ครอบครัวคืออะไร ?"



"เร็น" เด็กผู้ชายแข็งๆ ปากดี กล้าคิดกล้าทำคนหนึ่ง กลายเป็นเด็กกำพร้าเมื่อแม่ของเขาด่วนจากไป พ่อที่แยกกันอยู่ก็ไม่ได้ติดต่อมาเลย ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่กับญาติห่างๆ เร็นอยากอยู่กับพ่อของเขามากกว่า จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านด้วยความสับสน เขาหลงทางอยู่ตัวคนเดียวกลางย่านชิบูย่าอันวุ่นวาย 

"คุมะเท็ตสึ" สัตว์ประหลาดเลือดร้อนขี้โวยวายแห่ง "จูเทนไง" ซึ่งเป็นเมืองคู่ขนานที่ซ้อนทับอยู่กับย่านชิบูย่า เขาต้องการชนะคู่แข่งในการประลอง การรับลูกศิษย์เก่งๆ สักคนก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน "คุมะเท็ตสึ" ได้พบกับ "เร็น" และนึกสนุกลองชักชวนให้เขาไปเป็นลูกศิษย์ เร็นปฎิเสธไปในตอนแรก แต่ก็แอบตามคุมะเท็ตสึเข้าไปในจูเทนไง ทำให้คุมะเท็ตสึต้องจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นอาจารย์มือใหม่ เร็นไม่ยอมบอกชื่อจริงของเขา คุมะเท็ตสึจึงเรียกเขาว่า "คิวตะ" ที่แปลว่า 9 ตามอายุของเร็น 



ในตอนแรกทั้งคู่ปรับตัวเข้ากันแทบจะไม่ได้เลย "คิวตะ" ที่หัวแข็ง ไม่เคยนับถือหรือเชื่อฟังอาจารย์ของเขาแม้แต่น้อย "คุมะเท็ตสึ" ที่ทั้งขี้โมโห ทั้งไม่ชอบเข้าสังคมก็รำคาญคิวตะเต็มทน พวกเขาทะเลาะกันทั้งวันทั้งคืน จนคิวตะคิดจะหนีอีกครั้ง แต่เผอิญได้เห็นและตกตะลึงกับความเก่งกาจและแข็งแกร่งของคุมะเท็ตสึ เขาจึงค่อยๆ เปิดใจยอมรับ"อาจารย์"คนนี้ขึ้นมาบ้าง 

น่าสนใจที่วิธีการ"บังคับให้เชื่อฟัง" ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กอย่างคิวตะ แต่การได้เห็น"ความเก่งกาจ" กลับสยบคิวตะได้อยู่หมัด กับวิธีการเลี้ยงดูลูก วีธีการเรียนการสอน หรือการปกครองก็คงเป็นเช่นเดียวกัน การที่ "ผู้ปกครอง" โชว์ให้เห็นว่าตนเองมีดี น่าจะทำให้ "ผู้อยู่ในปกครอง" สยบยอมอย่างเต็มใจมากกว่าการบังคับเป็นไหนๆ 



คิวตะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเลียนแบบคุมะเท็ตสึ การเรียนการสอนที่ดีที่สุดคงเป็นการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั่นเอง เช่น ถ้าอยากให้ "ผู้อยู่ในปกครอง" โตไปไม่โกง "ผู้ปกครอง" ก็ต้องไม่โกงให้เห็นเป็นแบบอย่าง เป็นต้น แล้วจำเป็นไหมที่ "ผู้ปกครอง" หรือ "อาจารย์" ต้องผูกขาดหน้าที่ผู้ให้ความรู้แต่เพียงผู้เดียว  ในขณะที่ "ผู้อยู่ในปกครอง" หรือ "ศิษย์" ต้องเป็นแต่เพียงผู้รับที่ passive? หนังเรื่องนี้บอกว่า เมื่อเด็กสามารถเรียนรู้จากผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่เองก็สามารถเรียนรู้จากเด็กได้เช่นกัน และสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำก็ไม่ได้ถูกต้องที่สุด หรือดีที่สุดเสมอไป



คิวตะอยู่กับคุมะเท็ตสึจนเติบโตเป็นเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี สำหรับทั้งคู่ พวกเขาคือ "ครอบครัว" แม้ว่าจะไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่พวกเขากลับคล้ายกันอย่างน่าประหลาด 

อยู่มาวันหนึ่งคิวตะบังเอิญหลงกลับไปยังโลกคู่ขนาน ไปยังย่านชิบุย่าอันวุ่นวายที่เขาจากมาเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน และได้ลองกลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ปกติธรรมดา คิวตะก็เกิดคำถามว่า "ตัวเขาคือใครกันแน่ ?" เป็น "คิวตะ" หรือว่า "เร็น" และ "วิถีชีวิตแบบไหนที่เขาควรเลือก ?" "โลกใบไหนกันแน่ที่เขาควรอยู่ ?" คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสุดคลาสสิกของวัยรุ่น รวมถึงวัยอื่นๆในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยเช่นกัน แต่วัยรุ่นจะเป็นช่วงวัยแรกที่ต้องเผชิญกับคำถามประเภทนี้ 



การที่ "ผู้ปกครอง" จะเคารพในการตัดสินใจของ "ผู้อยู่ในปกครอง" ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกใจ "ผู้ปกครอง" เท่าไหร่นัก หรือ การที่ "อาจารย์" จะเคารพในทางเลือกของ "ศิษย์" ที่ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่อาจารย์ยึดมั่นนั้น ต้องใช้ความใจกว้าง ความเชื่อถือในคุณค่าของคนที่เท่าเทียมกัน และความกล้าหาญมากมายทีเดียว คุมะเท็ตสึก็เช่นเดียวกัน ในฐานะ "ครอบครัว" เขาเคารพในการตัดสินใจและเคารพในทางเลือกของคิวตะ แม่้ว่าเขาจะไม่ได้เห็นด้วยเลย แม้ว่าเขาจะต้องเป็นคนที่เจ็บปวดใจ แม้ว่าจะต้องโดดเดี่ยวเขาก็ยอมปล่อยให้คิวตะได้เติบโตออกไปสู่โลกภายนอก



น่าแปลกที่สัตว์ประหลาดอย่างคุมะเท็ตสึกลับเป็นทั้ง "อาจารย์" ทั้ง "ผู้ปกครอง" ทั้ง "ครอบครัว" ของเด็กคนหนึ่ง อยู่กับเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก หล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมามากกว่ามนุษย์ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเขาเสียอีก



ตอนจบก็ต้องมาลุ้นกันว่าทางเลืิอกของ "เด็ก" คนนี้ คืออะไร เขาจะเลือกเป็น "คิวตะ" หรือเป็น "เร็น" หรือเป็นทางเลือกข้ออื่นๆ หนังการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้กลมกล่อม ครบรส ทั้งงานภาพที่อลังการ เพลงประกอบที่ไพเราะ เนื้อเรื่องสนุกตื่นเต้น มีซึ้ง มีตลกแทรกเป็นระยะๆ จนไม่สามารถละสายตาไปจากหนังได้เลยตลอดเกือบ 2 ชั่วโมง จะดูเอามัน หรือดูให้ลึกลงไป ก็ยังมีอีกหลายประเด็นให้ขบคิดตีความ มากมายกว่าที่ยกมาพูดมาด้านบน จะพาเด็กไปดูก็ได้ หรือจะพาผู้ใหญ่ไปดูก็ยิ่งดี 





 

Create Date : 07 มกราคม 2559    
Last Update : 7 มกราคม 2559 16:55:14 น.
Counter : 1594 Pageviews.  

1  2  3  

ระหว่างบรรทัด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ระหว่างบรรทัด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.