Group Blog
 
All Blogs
 

Xianggelila...แชงกรีล่าที่พร่าเลือน

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ฉันมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้...Xianggelila...หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อแชงกรีล่า Shangri-La...








ภาพเมืองเล็กๆ ในเขตเทือกเขาหิมาลัยที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,600 เมตร ทำให้ท้องฟ้าซึ่งดูเหมือนอยู่ใกล้แค่เอื้อมเป็นสีฟ้าสดใส ตัดกับทุ่งหญ้าสีน้ำตาลที่แทรกตัวอยู่ระหว่างเนินเขา มีฝูงจามรีเล็มหญ้าอย่างอ้อยอิ่งอยู่หน้าบ้านดินสีครีมทรงสี่เหลี่ยมแบบทิเบต ธงมนต์หลากสีสันที่ผูกอยู่ตามสถูปปลิวไสวไปตามสายลมแรง...งดงามตราตรึงใจราวกับดินแดนในฝัน... 














กลับมาครั้งนี้แชงกรีล่าของฉันก็ยังคงสวยงามไม่แตกต่างไปจากเมื่อปีก่อนเท่าไรนัก เพียงแต่เหมือนว่าจะมีแสงไฟนีออนสว่างมากขึ้นหน่อยนึง แล้วผู้คนก็ใช้ Smart phone กันมากขึ้น...เหมือนกับในส่วนอื่นๆ ของโลกนั่นแหละ ฉันคิดขณะที่กำลังนั่งรถแท็กซี่เหมาจากสถานีรถบัสมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง





คนแก่ๆ หน่อยจะเรียกเมืองแห่งนี้ว่า "Zhongdian" ซึ่งแปลงมาจากชื่อเมืองในภาษาทิเบตว่า Gyalthang...ก่อนเดินทางมาถึงที่นี่  ฉันถามเด็กๆ ที่ลี่เจียงว่า "รู้ไหมว่ารถบัสคันไหนไป Zhongdian? " เด็กๆ ทำหน้างง แล้วถามกลับมาว่า Zhongdian นี่เมืองไหน จนฉันต้องเปลี่ยนไปถามด้วยชื่อเป็น Xianggelila แทน สามีภรรยาชาวกว่างโจวที่พบกันระหว่างเดินทางก็เช่นเดียวกัน แม้พวกเขาจะกำลังนั่งกินอาหารอยู่ในเมืองเก่า Xianggelila แต่เขากลับถามแม่ค้าว่า Zhongdian อยู่ที่ไหน





ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เมื่อปี 2001 นี้เอง Zhongdian ถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้ไพเราะชวนฝันกว่าเดิมว่า "Shangri-La" ตามชื่อเมืองในจินตนาการ จากนิยายยุค 30's เรื่อง Lost horizon ของ James Hilton ซึ่งเป็นเมืองมหัศจรรย์อันงดงาม สงบและสันติที่ซ่อนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาคุนลุน นิยายเรื่องนี้โด่งดังมากถึงขนาดถูกนำไปสร้างเป็นหนังถึง 2 ครั้งด้วยกัน จนมีหลายต่อหลายเมืองพากันออกมาเคลมว่า "เมืองฉันนี่แหละคือแชงกรีล่า" ทั้ง Yating ในเสฉวน หรือหมู่บ้าน Hunza ที่พรมแดนจีน-ปากีสถาน แต่สุดท้ายรัฐบาลจีนผู้เล็งเห็นศักยภาพในการกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของ Zhongdian ก็ฉกฉวยโอกาสนี้ โดยได้มอบชื่อ Shangri-La ให้กับเมืองเล็กๆ ชายแดนเขตทิเบตคามแห่งนี้ แต่ด้วยความที่ชื่อ Shangri-La ออกเสียงยากไปเสียหน่อยสำหรับคนจีน จึงเกิดชื่อใหม่ที่ถูกปรับให้เข้ากับลิ้นของคนจีน ชื่อนั้นก็คือ Xianggelila หรือ Shangri-La ในแบบจีนๆ นี่เอง จนกระทั่งชื่อเมืองเก่า Zhongdian ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา








ส่วนในเขตเมืองเก่าของ Xianggelila นั้นเต็มไปด้วยร้านรวงมากมายกระจายอยู่ตามตึก 2 ชั้นสไตล์ทิเบต  ทั้งร้านขายของที่ระลึกซึ่งมีแม่ค้าในชุดพื้นเมืองเยี่ยมหน้าออกชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูกงล้อมนตรา หรือหวีเขาจามรีในราคาพิเศษ  ทั้งร้านอาหารปิ้งย่างที่บนเตามีเนื้อและผักนานาชนิดเสียบไม้เล็กๆ ย่างควันฉุยส่งกลิ่นหอมเรียกน้ำย่อยลอยไปตามลม ทั้งร้านกาแฟร้านเบเกอรี่ ที่มีบราวนี่ก้อนพอดีคำดูน่ากินวางโชว์อยู่หน้าเคาเตอร์  ทั้งเกสต์เฮาส์เล็กๆ ตกแต่งเก๋ไก๋ มีธงสีสดใสถูกโยงประดับประดาระหว่างตึก แม้ว่าจะเป็นเขตเมืองเก่า แต่ตึกเหล่านี้กลับเพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นแบบ"ทิเบตแท้ๆ" แทนตึกเดิมซึ่งถูกทุบทิ้งเพราะดูจะ"ตามสมัย"เกินไป คงเหลือตึกเก่าจริงๆ อยู่เพียงไม่กี่หลังเท่านั้นเอง...ตอนที่ฉันรู้ ฉันเองก็ตกใจเหมือนกันว่า "เมืองเก่าอันสวยงามน่ารักแห่งนี้เป็นของเก่าปลอมหรือนี่!!"...แต่กระนั้นภายในตึกเก่าปลอมๆ เหล่านี้ก็มีคนทิเบตจริงๆ ซึ่งใช้ชีวิต อยู่อาศัย ทำมาหากิน เป็นไกด์ทัวร์ เปิดโรงแรม เปิดร้านอาหารอยู่ที่นี่...








ในร้านอาหารหม้อไฟทิเบตที่ติดป้ายชื่อภาษาอังกฤษ ชาวทิเบตกลุ่มใหญ่กำลังนั่งดูข่าวทีวีกันอยู่ ชายชราเดินละจากหน้าจอมาต้อนรับฉันอย่างยิ้มแย้มพร้อมทั้งส่งเมนูอาหารให้ แม้ข้างในร้านจะอับๆ ทึมๆ แต่ก็อบอุ่น ชายวัยกลางคนปรี่เข้ามารอรับออเดอร์ สักครู่หญิงชราก็นำชามาเสิร์ฟ เธอชักชวนให้ฉันสั่งชาเนยจามรีแบบทิเบต อาหารเครื่องดื่มถูกเด็กวัยรุ่นหน้าตาคมเข้มทะยอยนำมาวาง วางเสร็จก็กลับไปดูทีวีต่อแล้วก็หัวเราะเฮฮา พลางพูดคุยกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างออกรส...ไปๆ มาๆ ร้านอาหารแห่งนี้มีพนักงานมากกว่าลูกค้าเสียอีก...ถึงอย่างนั้นก็เถอะ...หม้อไฟเนื้อจามรีตุ๋นมื้อนั้นอร่อยกลมกล่อมมากจริงๆ...  





คนขับแท็กซี่เหมาของฉันก็เป็นคนทิเบต ภายในรถแวนยี่ห้อ Toyota ของเขาห้อยผ้ามนต์ และมีกงล้อมนตราแบบตั้งโต๊ะที่ติดแถบพลังงานแสงอาทิตย์และมีช่องใส่ถ่าน ทำให้กงล้อมนต์ของเขาหมุนอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เขามีผิวสีน้ำตาลนวล รูปร่างผอม ตาเรียวยาวสีน้ำตาล จมูกโด่งเป็นสันสวย แต่ผมของเขาดูมันๆ คล้ายไม่ค่อยได้สระ ระหว่างขับรถเขาจะฟังเพลงทิเบต หรือไม่ก็เพลงภาษาจีนที่ร้องกับทำนองทิเบตเสมอ เขาออกเสียงภาษาจีนกลางไม่ค่อยชัด บางครั้งก็ดูติดจะเขินอายและตะขิดตะขวงใจที่จะพูดซ้ำเมื่อฉันถามเพราะไม่เข้าใจ แม้จริงๆแล้วที่ฉันถามเพราะไม่เก่งภาษาจีนไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจแต่เฉพาะเขาก็ตาม





ด้วยความที่ Xianggelila ตั้งอยู่ชายแดนเขตทิเบตคามติดกับเขตของชาวฮั่นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแค้วนยูนนาน ไม่ห่างไกลนักจาก Lijiang เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง รวมทั้งยังได้รับการโปรโมตจากรัฐบาลจีน ทำให้ Xianggelila กลายเป็นเมืองสำคัญของเขตปกครองตนเองทิเบต Diqing และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทีเดียว เมื่อเทียบกับเขตปกครองตนเองทิเบตอื่นๆ ที่นี่มีทั้งถนนคอนกรีตที่แม้จะขรุขระอยู่บ้างบางจุด  มีขนส่งมวลชนที่แม้จะไม่ทั่วถึงนัก มีสัญญาณโทรศัพท์ มีสนามบินเล็กๆ ที่เพิ่งเปิด มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่แม้จะไม่ใหญ่เท่าไหร่ มี Supermarket มีร้านขายอุปกรณ์อีเล็กทรอนิค ที่แม้จะดูเก่าๆ แต่ก็มี MacBook มี iPhone ขายอยู่เหมือนกัน แลดูมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เลวนัก 








แม้จะไม่ได้ดีเท่าชาวจีนในเมืองใหญ่แต่ก็ไม่เหมือนกับภาพของชาวทิเบตชนเผ่าเร่ร่อนผู้ลำบากยากแค้น อยู่อาศัยตามกระโจม เลี้ยงสัตว์หากินตามมีตามเกิดอย่างที่เห็นบ่อยๆในหนังหรือสารคดี...ชาวทิเบตรุ่นใหม่ๆ ที่นี่ไม่ได้ใส่ชุดพื้นเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังเห็นพวกเขานิยมห้อยประคำศักดิ์สิทธิ์คู่ไปกับชุดสมัยนิยม ส่วนชุดพื้นเมืองจะใส่ก็เฉพาะโอกาสพิเศษ หรือเป็นเครื่องแบบสำหรับไกด์ พนักงานโรงแรม หรือเป็นนักแสดงโชว์ต่างๆ นี่อาจเป็นของแลกเปลี่ยน เมื่อ"ความเจริญ"เข้ามา "วัฒนธรรมดั้งเดิม"ก็ค่อยๆ หายไป ...








กระนั้นหากมองว่า"วัฒนธรรม"เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และปรับเปลี่ยนตัวเองไปทุกวันอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็อาจเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่นี้เท่านั้นหรือเปล่า? ว่าแต่ปรับเปลี่ยนแค่ไหนถึงจะพอเหมาะพอดี?  ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยเงินตรา ไม่ต้องพูดถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขนาดใหญ่อย่างจีน วัฒนธรรมมักจะถูกนำมาแปลงให้เป็นมูลค่า เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ มีเงินไหลเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านและพัฒนาท้องถิ่น Xianggelila ก็เป็นเมืองหนึ่งที่วัฒนธรรมถูกนำมาสร้างมูลค่า...แต่หากวัฒนธรรมทิเบตซึ่งเป็นวัฒนธรรมชายขอบจางหายไปเสียล่ะ หากวัฒนธรรมกระแสหลักของชาวฮั่นไหลบ่าเข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยวล่ะ...นี่อาจเป็นการบ้านของ Xianggelila ในอนาคต...








ระหว่างเดินเล่นในเมือง ฉันชอบถ่ายรูปตึกรามบ้านช่องและวิถีชีวิตผู้คนไปเรื่อยๆ คนส่วนมากมักจะยิ้ม และแอ็คท่าเก๋ๆ ให้กับกล้อง แต่ขณะที่ฉันกำลังยกกล้องขึ้นจะถ่ายลามะองค์หนึ่ง ท่านกลับเดินหลบไปอย่างรวดเร็ว...ทำให้ฉันเกิดความคิดว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวเมืองท่องเที่ยวจะต้องแลก อาจคือความเป็นส่วนตัวที่หายไป เมื่อชาวบ้านกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยว กลายมาเป็นส่วนประกอบของภาพถ่ายที่สวยงาม ไม่รู้ว่าเขาจะอึดอัดใจบ้างรึเปล่านะ?





ที่จตุรัสแสงจันทร์ (Moonlight square) ท้ายเมืองเก่ามีพิพิธภัณฑ์ของรัฐบาล สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของ Xianggelila เปิดให้เข้าชมฟรี แม้ว่าฉันจะเคยได้อ่านเรื่องราวของทิเบต เรื่องการปฎิวัติวัฒนธรรมจีน การเผาวัดวาอาราม การเนรเทศองค์ดาไลลามะ จนถึงข่าวการประท้วง การจลาจล และการเผาตัวตายของชาวทิเบตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันทางสังคมระหว่างชาวทิเบตกับชาวฮั่น รวมถึงข่าวการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลจีนอยู่บ้าง แต่ข้อมูลในพิพิทธภัณฑ์นี้กลับถูกนำเสนออย่างสวยงาม มีภาพพระลามะออกมาคล้องผ้าต้อนรับกองทัพปลดปล่อยประชาชน ภาพชาวทิเบตเต้นรำแสดงความยินดีที่ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพอันเป็นที่รัก











ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่าวัดลามะสำคัญ Sumtseling ถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนเผาทำลายในปี 1959 แต่ก็ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ในปี 1983 และปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองที่รัฐบาลจีนให้เกรด AAAA ซึ่งฉันคิดว่าสวยงามมากจนน่าจะได้เกรด AAAAA อันเป็นเกรดสูงสุดด้วยซ้ำ ระหว่างเดินเล่นภายในวัดฉันแอบเห็นรูปบูชาขององค์ดาไลลามะที่รัฐบาลจีนประนามว่าเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของชาวทิเบต...ทำให้ฉันนึกสงสัยนักว่าภายใต้ข้อมูล 2 ชุดที่ย้อนแย้งกันเหล่านี้ ชาว Xianggelila อยู่กันอย่างไร และมีความรู้สึกอย่างไร?... 





ถึงอย่างนั้นฉันก็ไม่เห็นความขัดแย้งอะไรที่นี่ ชาวบ้านต่างทำมาหากินกันตามปกติ ก็นะ...ฉันเป็นแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง...การที่ฉันไม่เห็นก็ไม่ได้แปลว่้าจะไม่มีความขัดแย้งอยู่เลย...แต่ที่แน่ๆ คือไม่เคยเกิดรุนแรงจนเป็นพาดหัวข่าว นั่นก็ทำให้ฉันกิดคำถาม...หรือจะเป็นเพราะการกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของ Xianggelila?...เนื่องจากใน Xianggelila นั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นคนทิเบตหรือชนกลุ่มน้อยพื้นถิ่น การกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนท้องถิ่นมีงาน มีรายได้ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึงสาธารณูปโภค บริการสาธารณสุข และการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง รู้สึกว่าได้รับการดูแลจากรัฐบาลจีนอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังคุ้นเคยกับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีที่ตั้งอยู่ชายแดนเขตทิเบตกับเขตของชาวฮั่น ห่างไกลจากใจกลางความขัดแย้ง อีกทั้งยังไ้ด้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวฮั่น...เพราะปัจจัยเหล่านี้หรือเปล่า ที่ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศครุกรุ่นแบบนั้นที่นี่?...








ทุกๆ เช้าที่วัดบนเนินท้ายเมืองเก่าจะพลุกพล่านไปด้วยชาวบ้านที่พากันมาเดินสวดมนต์รอบกงล้อมนตรายักษ์ บ้างก็นับประคำในมือพร้อมกับงึมงำคำสวด บ้างก็หมุนกระบอกมนตราอันเล็กไปด้วย ควันธูปกรุ่นกลิ่นออกมาจากด้านหน้าโบถส์ซึ่งมีพระลามะกำลังง่วนกับการทำเทียนไขบ้าง ทำเครื่องถวายพระประธานบ้าง...พระสงฆ์ทิเบตก็ทำให้ฉันประหลาดใจไม่น้อยเช่นกัน ฉันที่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาแบบหินยาน คุ้นชินกับพระสงฆ์ที่เคร่งขรึม รอบรู้ ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง ห้ามจับเงิน ห้ามถูกเนื้อต้องตัวสตรี ห้ามล้อเลียน แต่ที่นี่...







ฉันเห็นพระลามะขายประคำ ขายธงมนต์ ขายกงล้อมนตรา รับเงิน ทอนเงิน ท่องมนต์ให้พรผู้ซื้อและผู้บริจาค ขับรถเอง เดินดูคอมพิวเตอร์ ใช้ Tablet สวดมนต์ เข้ามาคุยเล่นกับนักท่องเที่ยว หัวเราะร่า ยักคิ้วหลิ่วตาล้อเลียนเมื่อเห็นฉันจ้องมองด้วยความฉงน..."ทำไมพระที่นี่ดูเหมือนเราๆ จังเลย" ฉันคิดหลังจากที่ผ่านช่วงตกตะลึงไปแล้ว ดูเป็นมนุษย์แสนธรรมดาอย่างเราๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยการปฎิบัติกิจของสงฆ์ ฉันเห็นพระท่านสลับเปลี่ยนเวรกันไปศึกษาธรรมะ สวดมนต์ ทำสมาธิ ดูแลซ่อมแซมวัด หาบน้ำ ทำกับข้าว ซักผ้า กระนั้นก็ยังอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเรา ขึ้นรถเมล์เบียดคนด้วยกัน เดินซื้อของในซูปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนอย่างเราๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าพระสงฆ์ที่นี่ช่างดูเปิดเผย ดูเข้าถึงง่าย น่าจะพูดคุยปรึกษากันง่าย น่าจะเข้าใจเรา



















"ศาสนาพุทธนี่ช่างแตกต่างหลากหลาย และมีอะไรมากมายที่น่าศึกษาจริงๆ กลับไปจะต้องลองศึกษาพุทธนิกายวัชรยานดูบ้างเสียแล้ว" ฉันคิดขณะเห็นลามะองค์หนึ่งถูกมือผู้หญิงเพื่อประคองประคำที่เธอเช่าไม่ให้ร่วงลงพื้น











Xianggelila ของฉันแม้จะไม่ได้งดงามไร้ที่ติราวกับเมืองสวรรค์ในจินตนาการ เป็นแชงกรีล่าที่อยู่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับความเป็นสมัยใหม่ พร่าเลือนระหว่างความเป็นทิเบตกับความเป็นจีน สับสนระหว่างการเป็นเมืองสงบกับเมืองท่องเที่ยว แต่ก็เป็นแชงกรีล่าที่สวยงามในแบบของมันเอง แม้ว่าความเจริญจะทำให้ภาพเมืองสวรรค์อันแสนบริสุทธิ์ของแชงกรีล่าเปลี่ยนไป แต่ฉันคิดว่าหากมันทำให้ความเป็นอยู่ของชาวเมืองดีขึ้น ก็ดีกว่าการ Freeze แชงกรีล่าให้เป็นเพียงแค่สวรรค์ของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ฉันรักแชงกรีล่าในความพร่าเลือน ในความเปลี่ยนแปลง รักในความไม่สมบูรณ์แบบ และรักที่จะเห็นแชงกรีล่าค่อยๆ ก้าวเดินไป...แล้วถ้าโอกาสอำนวย...ค่อยพบกันอีกครั้งนะ Xianggelila











ปล. ระหว่างเรียบเรียงบันทึกการเดินทางชิ้นนี้ ในวันที่ 12 มกราคม ฉันก็ได้ทราบข่าวว่าเขตเมืองเก่าของ Xianggelila ถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ และใช้เวลากว่า 10 ชม.ในการดับไฟ เนื่องจากถนนที่แคบจนไม่สามารถนำรถดับเพลิงเข้าไปได้

ร้านค้าหลายร้าน ผู้คนหลายคนที่ฉันได้พบผ่านระหว่างการเดินทางคงได้รับผลกระทบไม่น้อย ฉันขอแสดงความเสียใจ และหวังว่าพวกเขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ และยังคงสู้ต่อไป นอกจากนี้ฉันขอขอบคุณพวกเขาเหล่านั้นที่ทำให้ฉันได้พานพบประสบการณ์การเดินทางอันมีคุณค่าทั้งสองครั้ง...ฉันคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการส่งกำลังใจ กับการบันทึกเรื่องราวของ Xianggelila ก่อนที่จะถูกไฟไหม้ และแบ่งปันความงดงามของแชงกรีล่าในมุมมอง ในความทรงจำของฉัน ให้คนอื่นได้สัมผัสกับเสน่ห์ของสถานที่แห่งนี้บ้าง...







 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 27 เมษายน 2558 0:16:57 น.
Counter : 1986 Pageviews.  

Hidden Shenzhen...ซ่อนไว้ในเซินเจิ้น

ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวเซินเจิ้น เมืองชายแดนทางฝั่งตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหลายๆ คนคงรู้จักเซินเจิ้นในฐานะเมืองใหม่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศในช่วงยุค 80 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ


สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตก็น่าจะเป็นสถานที่สร้างใหม่อย่าง Window of the world แหล่งรวมที่เที่ยวสำคัญของโลก อย่างหอไอเฟล ทัชมาฮาล และิื่อื่นๆ อีกมากมายเข้าไว้ด้วยกัน หรือ Splendid China & Chinese folk culture village หมู่บ้านวัฒนธรรม ที่นำเสนอวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายของ 56 ชนเผ่าในจีน หรือ Lowu Center มาบุญครองเซินเจิ้น แหล่งช้อปปิ้งของก๊อปปี้ ที่ให้ได้ประลองฝีมือต่อราคากันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ซึ่งผู้เขียนก็ได้ไปทดลองจนถูกคนจีนโมโหใส่มาเรียบร้อยแล้ว...กระนั้นเซินเจิ้นก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจแอบซ่อนอยู่อีกไม่น้อย...


หากใครบอกว่าเซินเจิ้นไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หรอก เพราะที่นี่เพิ่งถูกสร้างขึ้นจากหมู่บ้านชาวประมงธรรมดาๆ เมื่อ 30 กว่าปีมานี่เอง..."เมืองโบราณซินอัน (หนานเทา)"  Xin'an (Nantou) Ancient City หรือในภาษาจีนว่า Xīn'ān (Nántóu) Gǔchéng (新安(南头)古城) นี่ไงล่ะ

ประตูเมืองเก่าทางทิศใต้

เมืองโบราณอายุกว่า 1,700 ปีแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เนื่องจากการขยายตัวของการคมนาคมและการค้าขายจากฝั่งตะวันออกตอนบนมายังตอนใต้ ถือเป็นหน้าด่านของเส้นทางการเดินเรือเข้าไปสู่กวางโจว เมืองท่าสำคัญของจีน ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง ที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง ไม่เฉพาะแค่เซินเจิ้นแต่ครอบคลุมไปถึงเมืองใกล้เคียงรวมทั้งฮ่องกงด้วย และก็เป็นเมืองเก่าแห่งนี้ ที่ข้าหลวงราชวงศ์ชิงรวมตัวกันเพื่อเซ็นสัญญายกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษหลังพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1



เมืองโบราณซินอันในปัจจุบันซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางกลุ่มตึกสูงรูปทรงทันสมัย ภายหลังประตูเมืองเก่าซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันโจรสลัดตั้งแต่ปี 1394 เป็นย่านที่อยู่อาศัยบนตรอกแคบๆ พลุกพล่านไปด้วยผู้คน ร้านค้า และแผงลอย อาคารบ้านเรือนสองข้างทางที่ด้านหน้าก่อด้วยอิฐสีเทา มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมเก่าแก่พื้นถิ่นสไตล์กวางตุ้ง แต่ด้านหลังและชั้นบนกลับเป็นตึกคอนกรีตสมัยใหม่ธรรมดาๆ



ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเมื่อปี 1911 แผนการก่อสร้างรถไฟสายเกาลูน-แคนตัน ซึ่งจะวิ่งจากฮ่องกงไปกวางโจว ทำให้ศูนย์กลางการปกครองถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น เมืองเก่าซินอันก็เริ่มลดความสำคัญลงและค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป จนกระทั่งปี 1978 ที่เซินเจิ้นถูกออกแบบให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ความเป็นสมัยใหม่และความเป็นเมืองจึงค่อยๆ หลั่งไหลเข้าสู่เซินเจิ้น ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองโบราณซินอัน บ้านเก่าจำนวนมากถูกต่อเติม กระทั่งถูกรื้อถอนแทนที่ด้วยอาคารสมัยใหม่



แต่ก็ใช่ว่าเมืองโบราณแห่งนี้จะไม่หลงเหลือสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่อีกแล้ว ผู้เขียนคิดว่าเสน่ห์ของการเดินเล่นที่เมืองเก่าซินอัน คือ ความปะปนและเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา



ขณะที่กำลังเดินอยู่บนตรอกแคบๆ ซึ่งดูไม่ต่างอะไรจากจากชุมชนอันวุ่นวายทั่วไปตามเมืองใหญ่ของจีนในศตวรรษที่ 21 ด้านหลังแผงขายส้มของป้าแก่ๆ ที่กำลังตะโกนโหวกเหวกคุยกับลูกค้า อาจซุกซ่อนจวนข้าหลวงที่ชนชั้นปกครองในสมัยศตวรรษที่ 19 รวมตัวกันเพื่อถกเถียงปัญหาของเกาะฮ่องกง หรือข้างร้านขายขนมจีบในอาคารเตี้ยๆ ที่สร้างช่วงปลายศตวรรษที่ 20 อาจแอบซ่อนโรงฝิ่นเจ้าปัญหาอายุเกือบ 200 ปีเอาไว้...การเดินเล่นดูวิถีชีวิตชาวจีนร่วมสมัยพร้อมกับสอดส่องมองหาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ นี่แหละเสน่ห์ของเมืองโบราณซินอัน...



จวนข้าหลวง
จวนข้าราชการในอดีต





การต่อเติมหน้าบ้านชั้นล่างของตึกคอนกรีตธรรมดาๆ ให้ดูเหมือนบ้านเก่าสไตล์กวางตุ้ง และการซ่อมแซมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มเห็นความสำคัญ และความสามารถในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองเก่าๆ เล็กๆ แห่งนี้ ถึงแม้จะยังไม่ได้รับการจัดการอย่างดีเท่าที่ควร แต่เมืองโบราณซินอัน ที่ซึ่งปัจจุบันยังคงกรุ่นด้วยกลิ่นอายของอตีตอันเลือนราง ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งนึงที่น่าลองแวะมาเยี่ยมเยือน

ศาลเจ้ากวนอู
ศาลเจ้ากวนอูด้านหน้าเมืองโบราณ

สามารถเดินทางมาได้โดยรถไฟใต้ดินสาย 1 Luobao Line ลงสถานี Taoyuan ทางออก B แล้วต่อแท็กซี่ไปลงที่ South Gate ประตูเมืองทิศใต้ของเมืองโบราณ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร หรือหากใครที่ชอบเดิน ก็สามารถเดินไปได้โดยตรงขึ้นไปที่ถนน Nanshan ประมาณ 800 เมตร เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกใหญ่ไปทางถนน Shennan เดินตรงไป 500 เมตร รวมใช้เวลาประมาณ 20 นาที

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ย่านชานเมืองทางด้านตะวันออกของเซินเจิ้น ที่นี่เป็นแหล่งผลิตภาพวาดสีน้ำมันจำนวนมากถึง 60 เปอร์เซ็นของภาพวาดสีน้ำมันทั่วโลก หรือกว่า 5,000,000 ภาพต่อปี และเป็นชุมชนที่มีศิลปินอาศัยอยู่กว่า 8,000 คน ถือเป็นศูนย์รวมของแกลลอรี่ขายภาพวาดสีน้ำมัน สตูดิโอผลิตผลงาน ร้านทำกรอบรูป และร้านขายอุปกรณ์การวาดภาพอีกด้วย ...ที่นี่คือ "หมู่บ้านภาพวาดสีน้ำมันต้าเฟิน" Dafen Oil Painting Village หรือ Dàfèn Yóuhuà Cūn (大芬油画村) นั่นเอง



หมู่บ้านเล็กๆ ที่แต่ก่อนผู้คนเคยเลี้ยงชีวิตด้วยการทำกสิกรรมแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเซินเจิ้นกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยนโยบายยืดหยุ่นต่างๆ อัน
เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การลดหย่อนภาษี การให้สิทธิ์ใช้ที่ดินแก่ชาวต่างชาติและชาวจีนโพ้นทะเล  ทำให้ในปี 1988 นักธุรกิจจากฮ่องกงและศิลปินอีก 20 กว่าคนเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านชานเมืองซึ่งที่ดินมีราคาไม่แพงแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตภาพวาดเลียนแบบผลงานของศิลปินชื่อก้องโลก อย่าง Da Vinci, Van Gogh, Monet ฯลฯ ออกขายในราคาถูก



แม้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรหากจะเห็นงานก็อปปี้ในประเทศจีนที่เรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องในวงเล็บ แต่ที่น่าแปลกก็คือลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกจากยุโรปและอเมริกา


ตั้งแต่ปลายยุค 90 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีกำลังบริโภค ทำให้ความต้องการเสพย์ภาพวาดจากชาวจีนในประเทศเองมีมากขึ้น ศิลปินจากมณฑลห่างไกลมากมายจึงย้ายเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสและรายได้จนกระทั่งหมู่บ้านสีน้ำมันต้าเฟินกลายเป็นชุมชนใหญ่เช่ตอนนี้


ตามตรอกซอกซอยของต้าเฟิน จะเห็นแถวตึกสีลูกกวาดเรียงสลับกับแกลอรี่เก๋ไก๋ ซึ่งบางแห่งเปิดเป็นร้านกาแฟบรรยากาศดี ให้ได้เข้าไปนั่งจิบกาแฟพลางชมภาพวาดไปพลาง บ้านเก่าสไตล์ฮากกาที่กลายมาเป็นสตูดิโอและห้องโชว์ผลงานก็แทรกตัวอยู่บ้างประปราย เช่นเดียวกับร้านขายหนังสือแนวๆ ร้านชำ และร้านอาหารเล็กๆ








แม้กว่า 70 เปอร์เซ็นของภาพวาดที่นี่จะเป็นภาพเลียนแบบ แต่เมื่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในจีน กฏหมายต่างๆจึงถูกปรับแก้และบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย ทำให้แกลลอรี่ในต้าเฟินไม่สามารถขายภาพวาดก็อปปี้ของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือจากโลกไปไม่ถึง 50 ปีได้อย่างถูกกฏหมาย ภาพที่วางขายกันส่วนใหญ่จึงเป็นงานเลียนแบบภาพวาดเก่าๆ แต่ผู้เขียนก็ยังแอบเห็นงานก็อปภาพใหม่ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน

กระนั้นก็ใช่ว่าต้าเฟินจะมีแต่ภาพเขียนก็อปปี้ไปเสียทั้งหมด ภาพวาดต้นฉบับที่สร้างสรรค์จากศิลปินในต้าเฟินเองก็วางโชว์ปะปนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลจีนเริ่มสนับสนุนให้ศิลปินผลิตผลงานต้นฉบับใ้ห้มากขึ้นอย่างในปัจจุบัน




สามารถเดินทางไปเที่ยวชมหมู่บ้านสีน้ำมันต้าเฟินได้โดยรถไฟใต้ดินสาย 3 Longgang Line ลงที่สถานี Dafen ทางออก A1 ข้ามทางเชื่อม เดินไปทางขวาประมาณ 200 เมตร ผ่านซุปเปอร์มาเก็ต Walmart แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่ 2 ปากซอยมีร้าน Xinhua Bookstore ตั้งอยู่


สถานที่ท่องเที่ยวแห่งสุดท้าย แม้จะตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดดเด่นด้วยรูปทรงโมเดิร์นสะดุดตา เรียกได้ว่าห่างไกลจากการซ่อนตัวตามคอนเซ็ปยิ่งนัก แต่สถานที่แห่งนี้ได้ซ่อนประวัติศาสตร์ ที่มา ที่ไป และเรื่องราวมากมายของเมืองเซินเจิ้นเอาไว้...เพราะที่นี่คือ "พิพิธภัณฑ์เซินเจิ้น" หรือในภาษาจีนเรียกว่า Shēnzhènguǎn (深圳博物馆)


พิพิธภัณฑ์เซินเจิ้นแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขต Futian สามารถเดินทางมาได้โดยง่ายด้วยรถไฟใต้ดิน สาย 4 Longhua Line ลงสถานี Civic Center ทางออก B เพียงแค่เดินออกมาก็จะเห็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งถนน สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ฟรีทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10:00-18:00 น.

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1988 เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเซินเจิ้น พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างใหญ่ ภายในมีทั้งหมด 3 ชั้น แบ่งออกเป็นนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าสนใจต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดง และนิทรรศการถาวร จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเซินเจิ้น โดยแบ่งเป็น 4 นิทรรศการ คือ เซินเจิ้นโบราณ, เซินเจิ้นสมัยใหม่, วัฒนธรรมพื้นบ้านเซินเจิ้น, การปฏิรูปและการเปิดเซินเจิ้นสู่สายตาโลก รวมทั้งยังมีระเบียงให้ได้ออกไปชมวิวทะเลตึกกลางเมืองอีกด้วย

สถาปัตยกรรมพื้นเมืองแบบกวางตุ้ง


ภาพโรงฝิ่นในศตวรรษที่ 19


การสู้รบกับกองเรือชาติตะวันตกตามชายฝั่งตะวันออก

ในสมัยราชวงศ์ชิง ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้งจำนวนมากอพยพหนีสงครามออกจากประเทศจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นบรรพบุรุษของหลายๆ ครอบครัว


การก่อสร้างเซินเจิ้นในยุค 80-90


ในยามว่างจากงานหนัก

ทุกนิทรรศการจะมีป้ายอธิบายเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ อนุญาตให้ถ่ายรูปได้โดยไม่ใช้แฟลช ผู้เขียนใช้เวลาในการเดินชมพิพิธภัณฑ์อยู่เกือบ 4 ชั่วโมงเลยทีเทียว ขนาดว่าไม่ได่อ่านครบหมดทุกป้าย เมื่อยกันบ้างไม่มากก็น้อย


แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์อารมณ์ยุค 90 ที่ไม่ได้สุดล้ำ สุดเก๋ น่าตื่นตาชนิดที่ห้ามพลาดเด็ดขาด แต่ที่นี่ก็ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับเซินเจิ้นมากขึ้น ได้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของเซินเจิ้น ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้มองเห็นและเข้าใจสิ่งที่ "ซ่อนไว้ในเซินเจิ้น" ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

และเมื่อได้พบเห็นสิ่งที่ถูกซ่อนไว้เหล่านั้นแล้ว ผู้เขียนก็ไม่อาจกลับไปมองเซินเจิ้นในแบบเดิมได้อีกเลย เซินเจิ้นจึงไม่ใช่แค่เมืองใหม่ เมืองช็อปปิ้งของก็อป เมืองผ่านสำหรับไปฮ่องกง หรือเมืองที่ไม่มีอะไร เที่ยวแค่วันสองวันก็หมดอีกต่อไปแล้ว หากโอกาสอำนวยผู้เขียนก็อยากกลับจะไปเซินเจิ้นอีกซักครั้ง เพื่อลองตามรอยค้นหาสถานที่อีกจำนวนไม่น้อยซึ่งยังคงถูก..."ซ่อนไว้ในเซินเจิ้น"...


ข้อมูลอ้างอิงจาก:
1.O'Donnell,Mary Ann.(2011).Jiujie/Nantou/Xin'an Old town.10 Jan 2013,From //maryannodonnell.wordpress.com/2011/10/31/jiujie-nantou-xinan-old-town/.
2.DeWolf,Christopher.(2010).Touring the 'birthplace' of Hong Kong: Nantou town, Shenzhen.10 Jan 2013,From //travel.cnn.com/hong-kong/play/nantou-589194.
3.McGivering,Jill.(2012).China's oil Painting village feels global shift.11 Jan 2013, From //www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-20024706
4.ASTVผู้จัดการออนไลน์.(2009).ยอดจิตรกรแห่งต้าเฟิน เชิดชูหรือปล้นงานศิลป์?.12 Jan 2013, From //www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000121252.






 

Create Date : 24 มกราคม 2556    
Last Update : 10 มีนาคม 2556 16:28:12 น.
Counter : 2642 Pageviews.  


ระหว่างบรรทัด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ระหว่างบรรทัด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.