คนเฝ้าถาม และติดตามการเดินทาง
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2556
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
17 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 

โกรธ...

วันนี้...ออกจากบ้านมาก็อารมณ์ปกติ แต่พอโทรศัพท์ติดต่องานแล้วไม่ได้ดั่งใจ อารมณ์โกรธ โมโห หงุดหงิดก็พุ่งพล่าน ทำไมคนหลายคนพูดไม่รู้เรื่องนะ ทำไมไม่รักษาคำพูดนะ ความเกลียดมาทับถมจิตใจในทันที แต่ก็ทันทีอีกเช่นกัน ที่พอวางโทรศัพท์แล้วรู้สึกไม่ดีเลย ไม่ชอบตัวเองเลย ที่เป็นคนเจ้าอารมณ์แบบนี้ ไม่น่ารักเลย ...แล้ว ถ้าเราเองยังไม่ชอบ คนอื่นล่ะ ไม่ต้องถามใครก็คงได้คำตอบเองเป็นแน่แท้ ด้วยอารมณ์ที่บอกตรงๆยังขุ่นๆอยู่ รีบเปิดเนต หาวิธีระงับโกรธ เพราะไม่ชอบความโกรธ ไม่ชอบความไม่น่ารักของตนเองเลย อยากระงับโกรธให้เร็วที่สุด แล้วได้เจอข้อความจากบล๊อก โอเคเนชั่น ต้องขอขอบคุณผู้เขียนบล๊อก และที่มาแห่งการระงับโกรธ ท่าน ว.วชิรเมธี

สาธุค่ะ


สติ กับ ความ โกรธ : วิธีระงับความโกรธแบบง่ายๆ : จะพลิกความโกรธให้เป็นเมตตาได้อย่างไร โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

สติ กับ ความโกรธ

>> ท่าน ว.วชิรเมธี << ที่ใดที่มีความโกรธที่นั่นไม่มีสติ ที่ใดมีสติที่นั่นไม่มีความโกรธ ความโกรธเปรียบเสมือนหนู สติเปรียบเสมือนแมว ที่ใดมีแมวที่นั่นไม่มีหนู ที่ใดมีหนูที่นั่นไม่มีแมว ฉะนั้นสติจึงเป็นธรรมซึ่งใช้เป็นคู่ปรับกับความโกรธได้เป็นอย่างดี ถ้าเราอยากจะหนีความโกรธ เราก็ควรฝึกสติในทุกๆ อิริยาบถ เมื่อเรามีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ ก็คือเรามีความตื่นรู้อยู่ในทุกอิริยาบถ จิตของเราที่มีความตื่นรู้เป็นอารมณ์แล้ว ก็ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับที่ความโกรธจะแทรกตัวเข้ามา ฉะนั้นสันนิษฐานได้อย่างหนึ่งว่า ใครโกรธคนนั้นกำลังขาดสติ ถ้าเราอยู่กับคนที่เขากำลังโกรธ คือ

ประการแรก เราต้องไม่โกรธไปกับเขา เพราะถ้าเราโกรธไปกับเขา หรือเอาตัวเองไปเป็นพวกเขาปุ๊บ เราถูกลากเข้าไปในสมรภูมิแห่งความโกรธเรียบร้อยแล้ว

ประการที่ 2 เราต้องสามารถควบคุมความคิดของตัวเองไม่ให้ตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ทั้งฝ่ายคนที่กำลังโกรธแบะฝ่ายคนที่มากระตุ้นให้เขาโกรธ แต่เราควรวางตัวเป็นกลางเพื่อจะได้มองเห็นคนที่กำลังโกรธอยู่ข้างหน้าของเราอย่างชัดเจนว่าเขากำลังโกรธแล้วนะ เขากำลังเริ่มมีอาการวิปริตผิดเพี้ยนแล้วนะ เมื่อเราสังเกตเห็นเขาอย่างชัดเจน เราจะได้เตรียมพร้อมว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร

ประการที่ 3 เราต้องวางตัวให้เป็นคนที่ใจเย็นที่สุดในนาทีอย่างนั้น นั่นคือใจเย็น พูดเย็น แล้วก็ทำเย็น ใจเย็นก็หมายความว่าอย่าไปซ้ำเติมเขา ว่าเขากำลังหลุด เขากำลังเสียศูนย์นะ พูดเย็นก็คือพยายามพูดในลักษณะเตือนสติเขาให้กลับมาอยู่กับเหตุผล และทำเย็นก็คืออยู่ใกล้ๆ เขาแล้วแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คนที่เรากำลังโกรธนั้นยังมีคุณเป็นเพื่อนอยู่นะ เมื่อเขารับรู้ได้ถึงความเมตตาของเราในนาทีอย่างนั้น ความโกรธก็จะค่อยๆ ลดความแรงลง

ประการที่ 4 พาเขาออกจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาโกรธให้เร็วที่สุด

ประการที่ 5 ควรพาเขาไปล้างหน้าล้างตาเพื่อเรียกสติ น้ำมีปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษกับความตื่นรู้ในหัวใจคน พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะนั่งสมาธิอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเรรัญชรา ท่านอาจารย์พุทธทาสเลือกสวนโมกข์ก็เพราะมีธารน้ำไหล วัดทุกวัดที่พระพุทธเจ้าเคยจำพรรษาล้วนแล้วแต่มีสระน้ำแห่งการตื่นรู้อยู่ใกล้ๆ พาคนที่เขากำลังโกรธไปล้างหน้าล้างตาเพื่อเรียกสติ จากนั้นควรชวรเขาไปทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง ชวนไปกินข้าว ชวนไปทำงาน ชวนไปร้องเพลง หรือชวนพูดคุยก็ได้ เพื่อเคลื่อนย้ายพลังงานแห่งความโกรธซึ่งเป็นอกุศลจิตชนิดหนึ่ง ให้ออกมาจดจ่ออยู่กับงานซึ่งกำลังอยู่ข้างหน้าเขา เมื่อมาถึงขั้นเคลื่อนย้ายพลังงานอย่างนี้สำเร็จแล้ว ก็เริ่มพูดคุยกับเขาด้วยวาจาสุภาษิต คือพูดด้วยเมตตา ใช้เหตุใช้ผล ถึงขั้นนี้แล้วอาตมภาพคิดว่า ความโกรธนั้นเย็นตัวลงมากแล้ว

วิธีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด ถ้าอยากจะตัดความโกรธออกจากชีวิตเลย คือ "เจริญวิปัสนากรรมฐาน" เพราะเมื่อเรามีความตื่นรู้ อยู่ในทุกๆอิริยาบถ ความโกรธจะแทรกเข้ามาในจิตใจเราไม่ได้ คนที่ปล่อยให้ความโกรธแทรกเข้ามาในจิตได้ก็แสดง ชัดเจนว่าเขายังเป็นคนที่ขาดสติ ธรรมชาติของจิตจะรับอารมณ์ได้ทีละเรื่อง ถ้าจิตของเราอยู่กับสติ ความโกรธก็ไม่เข้ามา ถ้าจิตเราอยู่กับความโกรธ สติก็ไม่เข้ามาดังนั้นเราจึงควรให้พื้นที่แห่งจิตของเราอยู่กับสติมากกว่า เพราะวิธีนี้เป็นวิธีป้องกันความโกรธที่ได้ผลดีที่สุด " ถ้าเราอยากจะหนีความโกรธ เราก็ควรฝึกสติในทุกๆ อิริยาบถ เมื่อเรามีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ ก็คือเรามีความตื่นรู้ในทุกอิริยาบถ จิตของเราที่มีความตื่นรู้เป็นอารมณ์แล้ว ก็ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับที่ความโกรธจะแทรกตัวเข้ามา "

วิธีระงับความโกรธแบบง่ายๆ

>>ท่าน ว.วชิรเมธี<< วิธีที่อาตมภาพใช้ระงับความโกรธอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ทันทีที่กระทบก็ให้ธรรมะกระเทือน นั่นคือถ้าเริ่มรู้สึกว่ากรุ่นๆ ฉุนเฉียวขึ้นมาปุ๊บ เอาสติไปจับจ้องตรงอาการกรุ่นๆ ฉุนเฉียวนั้น เพราะสติไปอยู่ตรงนั้นความโกรธมันจะขี้อายมาก มันจะถอยห่างจากไปทันตา สิ่งนี้อาตมภาพฝึกมาจนกระทั่งว่าทุกวันนี้สามารถจัดการความโกรธได้ในระดับที่เรียกว่าน่าพอใจทีเดียว ก่อนหน้านั้นอาตมภาพเคยเป็นคนโกรธง่าย ฉุนเฉียว ใครพูดอะไรไม่ถูกหูจะทะลุกลางปล้อง แต่ครั้งหนึ่งหลังจากที่อาตมภาพผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานเข้มเรียบร้อยแล้ว นับแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่าสิบปี อาตมภาพสามารถพลิกตัวเองไปเป็นอีกคนหนึ่งได้อย่างสบาย สามารถทนต่อความโกรธของคนอื่น ทนต่อความโง่ของคนอื่น ทนต่อความฉลาดของคนอื่น โดยไม่มีอาการตีโพยตีพายหรือทะลุกลางปล้องอีก สามารถฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างสงบเยือกเย็นและสังเกตุดูปฏิกริยาของตัวเองได้อย่างสงบ เพราะทุกครั้งที่ความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะรอรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันกับความโกรธ เราเป็นฝ่ายเห็นความโกรธเสียก่อน วิธีปฏิบัติอย่างนี้อาตมภาพตั้งชื่อว่า "ปฏิบัติอย่างเห็นมันก่อน" เพราะถ้าเราไม่เห็นมันก่อนเราก็จะเสร็จมันก่อนนั่นคือ "ถ้าใจเราโกรธปุ๊บ เอาสติไปดูใจ ความโกรธก็หายไป เพราะใจของเรานั้นรับอารมณ์ได้ทีละเรื่อง สติอยู่ตรงไหนความโกรธก็หายไป ณ ตรงนั้น นี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ทำที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้ผลทันที"ไม่มีขั้นตอนอะไรมากมาย แต่สำหรับคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกดูใจมานั้น อาตมภาพขอแนะนำว่าทันทีที่คุณโกรธ


1. ควรพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมที่โกรธนั้นให้เร็วที่สุด
2. งดการพูดทุกถ้อยกระทงความ เพราะถ้าคุณพูด สิ่งที่ไม่ควรพูดจะหลุดออกจากปาก
3. งดการตัดสินใจทันที คนที่ตัดสินใจในนาทีที่มีความโกรธครอบงำกลุ้มรุมหัวใจนั้น การตัดสินใจจะด้อยประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยอคติ
4. พาตัวเองเดินไปล้างหน้าล้างตาในห้องน้ำเพื่อเรียกสติ
5. ควรหาอะไรสักอย่างหนึ่งมาทำเพื่อเป็นการถ่ายเทพลังความโกรธให้ไปอยู่ที่เนื้องาน
6. หางานอดิเรกมาทำ เพราะงานอดิเรกนั้นมักจะเป็นงานที่เรารัก พออยู่กับงานที่เรารัก จิตใจก็เริ่มแช่มชื่นเบิกบานฟื้นคืนกลับมาเป็นจิตใจที่มีประสิทธิภาพแล้ว
7. ขั้นตอนสุดท้าย ฝึกเจริญสติที่เรียกกันว่า "เมตตาพรหมวิหาร" คือ ฝึกตื่นรู้ดูใจไปพร้อมๆ กันนั้นก็ฝึกมองคนที่เราโกรธ ว่าเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ปลูกฝังเมตตาภาวนาอยู่เสมอพร้อมๆ กับที่ฝึกตื่นรู้ดูใจ

หากทำได้ถึงขั้นที่ 7 แล้ว ความทุกข์จากความโกรธจะไม่มาแผ้วพานเราอีกเลย และทุกครั้งที่ความโกรธมาเยือนเราก็สามารถพลิกความโกรธเป็นเมตตาได้ตลอดไป การที่คนยังไม่สามารถละความโกรธออกได้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม จึงพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรมให้ตัวเอง เมื่อพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรมให้ตัวเองก็ไม่สามารถปล่อยวางความโกรธได้ กลายเป็นว่าในขณะที่เขากำลังหาความยุติธรรมให้ตัวเองนั้น เขาได้สร้างความอยุติธรรมให้ใจของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เห็นไหม นั่นแหละจึงเป็นรากฐานของการผูกโกรธ คือเราคิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไปโกรธตอบ เพื่อให้คนนั้นได้รับผลแห่งการกระทำที่สาสมที่สุด แท้ที่จริงคนสองจำพวกนี้ไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะ เป็นคนแพ้ทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งโกรธคนอื่นหรือกระตุ้นให้คนอื่นโกรธก็แพ้ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ฝ่ายหนึ่งไปโกรธตอบ ด้วยอาการที่อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็แพ้ใจตัวเอง ทั้งฝ่ายที่กระตุ้นให้โกรธและฝ่ายที่โกรธ สุดท้ายทั้งคู่ก็แพ้อย่างราบคาบให้แก่กิเลสที่ชื่อความโกรธเหมือนกัน

จะพลิกความโกรธให้เป็นเมตตาได้อย่างไร

>> ท่าน ว.วชิรเมธี << การที่จะพลิกความโกรธให้เป็นความเมตตานั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก แต่ขอแนะนำว่าให้ทำตามขั้นตอนที่อาตมภาพแนะนำมาก่อนหน้านั้นก่อน จากนั้นเมื่อเราสามารถตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้วจึงหันกลับมาทบทวนตัวเอง แล้วหันหลังกลับไปทบทวนคนที่ทำให้เราโกรธ ว่าทั้งเราทั้งเขาต่างก็เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฎมาด้วยกันแท้ๆ แต่ละคนมีกรรมเป็นของตัว ซึ่งเรียกว่าทุกข์หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาสร้างกรรมใหม่ต่อกันและกันอีก เรา แต่ละคนแบกกรรมของตัวเองก็เรียกว่าหนักอึ้งพอแล้วนะ ถ้าเรายังมาโกรธกันและกัน มาสร้างกรรมสร้างเวรใหม่ก็เท่ากับว่าเรากำลังเพิ่มภาระแห่งความทุกข์ลงไปบนเป้หลังของเราให้หนักอึ้งยิ่งขึ้นเมื่อคิดได้อย่างนี้ว่าเราต่างก็มีภาระมากพอแล้ว ก็จะเห็นทั้งเราเห็นทั้งเขากลายเป็นเสมือนสัตว์ผู้ลอยคออยู่ในทะเลทุกข์เสมอกัน แท้ที่จริงทั้งเราทั้งเขาเป็นบุคคลที่ควรแก่การสังเวช ควรแก่ความสงสาร ควรแก่ความเมตตาทั้งคู่เลย ฉะนั้นอย่ามาเสียเวลาโกรธกันอยู่อีกเลย เมตตากันไว้ดีกว่า แล้วก็แผ่เมตตาให้เขา ภาวนาให้เขามีความร่มเย็นเป็นสุขมีอายุยืนยาว มีสุขภาพกายสุขภาพจิตแข็งแรงสมบูรณ์ มีครอบครัวที่มั่นคง มีหน้าที่การงานที่สูงส่งแล้วนึกถึงเขาแต่ในทางที่ดีงาม ถ้าทำได้อย่างนี้ ปลูกจิตที่ประกอบด้วยไมตรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดกระแสแห่งเมตตาจิตจากเราก็จะส่งไปถึงเขา พอเขารับรู้ได้ เขาก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วก็จะสามารถหันมาปฏิสัมพันธ์ต่อเราด้วยความเมตตาอารีเหมือนที่เรามีต่อเขาเช่นเดียวกันเมื่อเราตักน้ำไปรดต้นไม้ ถ้าต้นไม้ชุ่มเย็น เชื่อไหม น้ำที่เปื้อนเราก็ทำให้ร่างกายเราชุ่มเย็นเหมือนกัน นั่นแหละ คนที่รดน้ำคือเมตตาให้คนอื่น ความชุ่มเย็นนอกจากเกิดกับเป้าหมายแห่งความเมตตาของเราแล้ว ก็ยังเกิดขึ้นกับจิตใจของเราเองด้วย ต้นไม้ที่ได้รับการรดน้ำงอกงามฉันใด คนที่คอยรดน้ำให้ต้นไม้ ก็มีความงอกงามเพิ่มขึ้นในจิตในใจฉันนั้น ฉะนั้นผู้รู้หรือนักปราชญ์จำนวนมากจึงมักจะตรัสรู้ บรรลุธรรมท่ามกลางแมกไม้ที่ร่มรื่น เพราะแมกไม้ที่ร่มรื่นเป็นที่มาของจิตใจที่รื่นรมย์ในชีวิตของเรา เมตตาเปรียบเสมือนสายน้ำ และเปรียบเสมือนผืนป่าอันร่มรื่น ถ้าเราปลูกฝังบ่มเพาะเมตตาจิตลงในใจของเรามากขึ้นๆ ตัวเราเองก็จะรื่นรมย์ เหมือนกับว่าเรามีธารน้ำหลังไหลอยู่ภายใน ใครมาใกล้ก็พลอยชุ่มเย็นตามไปด้วย ฉะนั้นการแผ่เมตตาให้คนที่เราโกรธนั้น อย่าไปแผ่ตอนที่เราโกรธแต่ควรฝึกให้มันเป็นวิถีชีวิตของเราทุกวันๆ จนกระทั่งเมตตากับวิถีชีวิตของเรากลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ในสมัยพุทธกาลเวลาที่พระอริยสาวกเจอกัน ท่านมักจะถามว่า ท่านสารีบุตร ท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร ท่านสารีบุตรก็จะตอบว่า ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยเมตตาพรหมวิหาร ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยสุญญตาพรหมวิหาร ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยกรุณาพรหมวิหาร คำว่าวิหารแปลว่าคุณธรรมประจำจิตประจำใจ เราทุกคนควรฝึกหัดจิตฝึกใจของเราให้มีเมตตาเป็นเรือนใจ เอาไว้เป็นพื้นฐาน ถ้าเรามีเมตตาเป็นเรือนใจเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาโกรธขึ้นมา เราไม่ต้องภาวนามากมาย แค่กลับมาแผ่เมตตาก็จะแสดงปาฏิหาริย์แห่งความชุ่มเย็นให้ปรากฏ อาตมภาพลองสังเกตดูว่า ถ้าเราเป็นคนที่มีเมตตา แม้แต่เดินผ่านสัตว์ซึ่งดุร้ายเกรี้ยวกราด มันก็กระดิกหางให้เรา ที่วัดนี้ตรงปากซอยมีสุนัขดุมาก แขกไปใครมา แม้แต่เด็กวัดซึ่งเจออยู่ทุกวันมันก็เห่า ก็กระโดดงับ พอาตมภาพเดินผ่าน ทั้งๆที่มันวิ่งมาจะงับลูกศิษย์ของอาตมาแท้ๆ มาถึงอาตมามันก็หยุด เพราะในใจอาตมานึกแผ่เมตตาและเขาจะรับสัมผัสได้เสมอไปเป็นอย่างนี้ แม้แต่ต้นไม้ทั้งหลายที่เราปลูกไว้ที่หน้ากุฏินี้ เวลาเราแผ่เมตตาให้เขา เราก็จะสัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นที่เขาแสดงออกให้เห็น ถ้าเรามีจิตที่ละเมียดละไมการที่คนจำนวนมากแผ่เมตตาแล้วไม่ได้ผล เพราะเขามัวแต่จะแผ่เมตตา แต่ไม่มีเมตตาที่จะนำไปแผ่ เห็นไหม ก่อนแผ่เมตตาต้องสร้างเมตตาจิตขึ้นในจิตในใจของตัวเอง จนกระทั่งว่าให้ผลเป็นความชุ่มเย็นในจิตในใจของตัวเองก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยแผ่ออกไป กระแสแห่งเมตตาก็จะค่อยๆเลื่อนไหลไปถึงคนที่เป็นเป้าหมายที่เราแผ่เมตตาแต่ปาก แต่ใจของเขานั้นยังเต็มไปด้วยความโกรธอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้นรากฐานของการแผ่เมตตาที่แท้จริงอยู่ที่ "ใจ" ไม่ใช่ที่ "ปาก"

รักแท้ คือ กรุณาดำเนินมาจนถึงบทสุดท้าย โดยทำให้เราเห็นว่า ความรักมีกี่มิติ มีผลดีผลเสีย และผลข้างเคียงอย่างไร หวังว่าเมื่อได้อ่านจบครบทุกตอนแล้ว เราทุกคนจะมีมุมมองต่อความรักด้วยทรรศนะใหม่ และมีความสุขทุกครั้งเมื่อมีความรัก เนื่องเพราะ "รักแท้ คือ กรุณา" รักแท้มาเมื่อไหร่ ความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานและการเป็นผู้ให้ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น

ขอบคุณหนังสือ รักแท้คือกรุณา, ว.วชิรเมธี

ที่มา //www.oknation.net/blog/print.php?id=525561 




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2556
0 comments
Last Update : 17 ตุลาคม 2556 11:14:27 น.
Counter : 3843 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


นะฐา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด



Cursors

Friends' blogs
[Add นะฐา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.