Group Blog
 
All Blogs
 
I Hear Your Voice : เรื่องราวของความเป็นมนุษย์ ความกล้าหาญทางจริยธรรม และการเคารพกฏหมาย

"I Hear Your Voice" เป็นซี่รี่ย์เกาหลีที่ออกฉายทางทีวีเมื่อปี 2013 และทำเรทติ้งสูงแบบถล่มทลาย กลายเป็นซี่รี่ย์ฮิตที่กวาดรางวัลมากมาย 



I Hear Your Voice เล่าถึงเรื่องราวของจาง ฮเยซอง (แสดงโดย ลีโบยอง) ทนายรัฐสาวปากคอเราะร้ายวัยใกล้เลขสาม กับปาร์ก ซูฮา (แสดงโดย ลีจงซอก) หนุ่มน้อยมัธยมปลายเลือดร้อน ผู้มีความสามารถเหนือธรรมชาติในการอ่านความคิดคนได้ และเพราะความสามารถพิเศษนั้น ทำให้เขาได้เข้ามาช่วยเหลือทนายจางในการทำคดี คลี่คลายเคสต่างๆ 



ซี่รี่ย์ครบรสเรื่องนี้ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่สนุกน่าติดตาม ซับซ้อนซ่อนปมให้ได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา คู่พระ-นางต่างวัยก็น่ารักมุ้งมิ้ง ดนตรีประกอบก็ไพเราะ แล้วยังมีประเด็นที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่อีกด้วย



ประเด็นที่น่าสนใจอย่างแรกในซีรี่ย์เรื่องนี้คือ "ความเป็นมนุษย์ของตัวละคร" ด้วยความที่เป็น Legal Drama เนื้อเรื่องจึงเกี่ยวพันกับกฏหมาย การกระทำความผิด และการตัดสินพิพากษาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครต่างๆ จึงมีลักษณะ"เป็นมนุษย์" เทาๆ กลมๆ ทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง กล้าหาญบ้าง ขี้ขลาดบ้าง โง่บ้าง ฉลาดบ้าง น่ารักบ้าง น่ารำคาญบ้าง เลวบ้าง ดีบ้าง ปะปนกันไป ไม่เว้นแม้แต่พระเอก นางเอก ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจะหาไม่ได้ในละครไทย 



ละครเรื่องนี้ยังได้ตั้งคำถามกับ"โทษประหาร" และมอง"ฆาตกร"อย่างมีมิติ คงไม่มีใครที่เกิดมาก็กลายเป็นฆาตกรเลย ก่อนที่คนๆ หนึ่งจะกลายเป็น"ฆาตกร" ก่อนที่เขาจะกระทำผิด เขาก็เคยเป็น"คน"ปกติธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ สังคมก็เองก็มีส่วนในการหล่อหลอมเขาขึ้นมาเช่นกัน เมื่อเขาทำผิดไปแล้ว เขาไม่สิทธิจะกลับมาทำถูกได้เลยหรือ?  แต่"โทษประหาร" จะทำให้เขาไม่มีโอกาสนั้นอีกต่อไป 



กว่า 140 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารแล้วทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฎิบัติ เนื่องจากเห็นว่า "โทษประหาร" นั้นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และพรากเอาสิทธิในการมีชีวิตอยู่ไป รวมถึงไม่ได้ทำให้การก่ออาชญากรรมลดลง แต่กลับเป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อตัวผู้กระทำผิด รวมถึงครอบครัว ญาติ และคนรอบข้างที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของในความผิดด้วย ในเมื่อรัฐประนาม"การฆาตรกรรม" แล้วเหตุใดรัฐจึงควรกระทำเช่นเดียวกัน? ประเทศเกาหลีใต้ยังคงมีโทษประหาร แต่ไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้กว่า 10 ปีแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่ม 58 ประเทศที่ยังคงมีการบังคับใช้โทษประหารอยู่



อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ "เรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage)" ซึ่งก็คือการมีความกล้าที่จะยืนหยัดต่อความเชื่อมั่นทางจริยธรรมของตน กล้าที่จะกระทำสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก เผชิญกับการถูกลงโทษ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียหน้าที่การงาน ความปลอดภัย หรือสถานะทางสังคม



"สิ่งที่คิดว่าถูกต้อง" นั้นจึงมักเป็นเรื่องสำคัญเพียงพอที่จะทำให้สามารถก้าวข้ามความหวาดกลัว และการลังเล รวมถึงกล้าที่จะยอมรับผลกระทบต่างๆ ซึ่งจะเข้ามาปะทะ ดังนั้น "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" จึงไม่ใช่ว่าจะมีกันได้ง่ายๆ



ตัวละครแต่ละตัวก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะมี แม้เป็นพระเอก-นางเอกก็ใช่ว่าจะมีเสมอไป บางครั้งพวกเขาก็กล้าหาญเพียงพอที่จะยืนหยัดสู้ในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง แต่บางครั้งพวกเขาก็ยอมจำนนต่อความกลัว ทว่าเมื่อใดก็ตามที่คนหนึ่งมี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" และตัดสินใจยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อมั่น เมื่อนั้นเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้กลายเป็นเป็นความหวัง เป็นการเซ็ตมาตรฐานใหม่ให้กับคนรอบข้างและสังคม รวมถึงเป็นการจุดชนวนคำถามที่แหลมคมซึ่งอาจทำให้สังคมและคนรอบข้างได้กลับมาทบทวนตัวเอง จนถึงอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยงแปลงได้เลยทีเดียว



ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจ คือ "เรื่องความเชื่อมั่นในกฏกติกา" คนในสังคมไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้เลย หากปราศจากซึ่งกฏกติกา



ในประเทศประชาธิปไตย กฏหมายถูกกำหนดขึ้นมาโดยมติเสียงส่วนใหญ่ของสังคม แต่ขณะเดียวกันกฏหมายก็อนุญาตให้มีการโต้แย้งถกเถียง เปิดโอกาสให้เสียงส่วนน้อยมีสิทธิที่จะส่งเสียงของตนออกมา  และหากข้อเสนอของเสียงส่วนน้อยน่าสนใจเพียงพอก็สามารถพลิกขยายกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้เช่นเดียวกัน ทำให้กฏหมายต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขได้เสมอตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม



แม้ว่าบางครั้งกฏหมายและการบังคับใช้กฏหมายก็อาจมีข้อผิดพลาด อาจไม่ได้จับคนผิดจริงๆ มาลงโทษ อาจส่งผู้บริสุทธิ์ไปเข้าคุก และอาจทำให้หลายๆ คนสิ้นหวัง กระทั่งสูญเสียความเชื่อมั่นในกฎหมาย ตัวละครหลักๆ ในเรื่องหลายตัวก็เกิดความรู้สึกแบบนั้น แต่แทนที่พวกเขาจะยอมจำนนและหันไปใช้วิธีการนอกกฎหมาย พวกเขากลับต่อสู้เพื่อแก้ไข ผลักดัน พัฒนามาตรฐานของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้ดีขึ้น ยุติธรรมยิ่งขึ้น 



เนื่องจากการใช้กฏหมายและกระบวนทางกฏหมายจัดการกับปัญหาเป็นวิถีทางที่สันติและเป็นธรรมที่สุดเท่าที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้ในปัจจุบัน ดังนั้นหากเดินตามกฏ เล่นตามเกณฑ์ ทำให้ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่ต้องฆ่าฟันกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันให้บาดเจ็บล้มตายอีกต่อไป



ซี่รี่ย์น้ำดีเรื่องนี้ฮิตจัดจนถึงกับต้องขยายจำนวนตอน จาก 16 ตอนจบ เป็น 18 ตอนจบ ความจริงแล้วมันก็เป็น win-win situation ชัดๆ ทีมผู้จัดก็ประสบความสำเร็จ ดาราก็โด่งดัง รางวัลก็ได้เยอะแยะ เรตติ้งก็ดี ค่าโฆษณาก็มา ช่องก็ได้หน้า ประชาชนก็แฮปปี้ สังคมก็ดี ได้แรงบันดาลใจ ว่าแต่...เมื่อไหร่หนอเราถึงจะได้เห็นอะไรแบบนี้จากละครไทยบ้านเราเสียที 


ข้อมูลอ้างอิง
//ilaw.or.th/node/2721




Create Date : 12 มิถุนายน 2557
Last Update : 12 มิถุนายน 2557 16:44:36 น. 1 comments
Counter : 2697 Pageviews.

 
บอกเลย ตั้งแต่เคยดูซีรีส์มา
หลงรักเรื่องนี้มากที่สุดในชีวิตค่ะ

จริงๆ ซีรีส์ที่ดีกว่านี้ก็มีนะ เคยชอบมาก่อน
แต่พอเจอเรื่องนี้ เรื่องอื่น กลายเป็นชอบน้อยไปเลย

เรื่องนี้ ลงตัว กลมกล่อม ครบรสมากๆ ค่ะ...


โดย: nikanda วันที่: 21 มิถุนายน 2557 เวลา:19:34:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระหว่างบรรทัด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ระหว่างบรรทัด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.