bloggang.com mainmenu search
พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๘๒ : พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์

พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
แก่พระอรหันตสงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา
เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมี เพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ซึ่งในขณะนั้น ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่นี่ บรรดาพระสาวกพระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่แยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนา เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ากันมากตั้งพันกว่าองค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาติโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป




การประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยต่อมาเห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึงกำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ในวันเพ็ญเดือน 3 ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า "วันมาฆบูชา"
การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือ พระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูปนั้น แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า "จาตุรงคสันนิบาต" คือการประชุมที่มีองค์ 4 อันได้แก่
1) เป็นวันเพ็ญเดือน 3 พระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์
2) พระสงฆ์สาวก 1250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนสำเร็จอรหัตตผล
4) พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ

พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
แก่พระอรหันตสงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา

สมัยที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติวินัยปกครองสงฆ์ เพราะพุทธศาสนาเพิ่งเริ่มก่อตั้ง เหล่าอรหันต์สาวกยังไม่มีการประพฤติผิด หรือทำความเสียหายใดๆขึ้น แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทรงวางหลักปกครองสงฆ์ไว้แต่โดยย่อ เทียบให้เห็น คือ เมืองไทยสมัยไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร แต่มีธรรมนูญเป็นหลักปกครองแทน ธรรมนูญนี้เทียบได้กับโอวาทปาติโมกข์ ส่วนรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรก็เทียบได้กับวินัยพุทธบัญญัติทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในเวลาต่อมา




เมื่อเป็นโอกาสอันดีครั้งนี้ พระพุทธองค์จึงประชุมพระสาวกแล้วแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูปนั้น "โอวาทปาติโมกข์" คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ เพื่อให้ออกเผยแพร่ มีทั้งหลักคำสอน และหลักการปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกันเช่น เป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระสงฆ์ต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ อดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น และไม่เบียดเบียนคนอื่น
Create Date :28 พฤษภาคม 2551 Last Update :28 พฤษภาคม 2551 10:39:29 น. Counter : Pageviews. Comments :0