bloggang.com mainmenu search
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
สมุหนายก และ แม่ทัพใหญ่
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3


ชาติกำเนิด และการศึกษา


เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก บรรพบุรุษของท่านเป็นพราหมณ์ ชื่อสิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตำแหน่งราชปุโรหิต บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกิดวันพุธ เดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๓๑๘ ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (คือบริเวณสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทย) ได้รับการศึกษาตามแบบบุตรหลานขุนนาง ซึ่งสันนิษฐานว่าศึกษาอักขรสมัยในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นผู้มีบุคลิกเข้มแข็ง เฉียบขาด มีความอดทน เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความละเอียดรอบคอบและเข้าใจบุคคลอื่น รู้เท่าทันเหตุการณ์











การรับราชการ


ท่านได้เข้ารับราชการตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยบิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นเสมอใจราช ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวา เมื่อกลับจากรับราชการที่เมืองเขมร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชโยธา และต่อมาได้เป็น พระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนา ฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยลำดับจาก พระยาราชสุภาวดี เป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก และเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา สมุหนายก ในขณะที่ท่านมีอายุ ๕๓ ปี

ผลงาน ในฐานะแม่ทัพ ท่านสามารถนำทัพออกรบจนประสบผลสำเร็จ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้
- ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒
- สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐
- ปราบการจลาจลในเขมร พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๒












วีรกรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา


ในปลายรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ญวนชิงเมืองกัมพูชาไปจากไทย ครั้นปีพุทธศักราช ๒๓๗๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนนางญวนที่ปกครองเมืองไซ่ง่อนของญวนเกิดกบฏต่อประเทศญวน และขอความช่วยเหลือจากไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นโอกาสที่จะชิงกัมพูชาคืนจากญวน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลังกองทัพบก และให้เจ้าพระยาพระคลังหน (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อน แต่กองทัพไทยไม่สามารถสู้รบกับกองทัพญวนที่มีกำลังเหนือกว่ามาก จึงจำต้องถอยทัพกลับ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้วางกลยุทธ์ในการถอยทัพให้ปลอดภัยจากกกองทัพญวนหลายรูปแบบ เป็นผลให้กองทัพญวนที่ไล่ติดตามมาได้รับความเสียหายยับเยิน ไม่สามารถทำลายกองทัพไทยได้

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดกองทัพที่พระตะบองออกขับไล่ญวนที่เมืองโพธิสัตว์ พนมเปญ และกำปอด รุกไล่กองทัพญวนทั้งสามเมืองแตกพ่ายยับเยิน แม่ทัพญวนยอมแพ้ ทำพิธีมอบธงชัยประจำกองทัพของญวนให้แก่กองทัพไทย ณ เมืองโพธิสัตว์ หลังจากนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ยังสู้รบกับญวนอีกหลายครั้ง เป็นเวลานาน ถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๐ ญวนจึงยอมคืนเขมรให้เป็นเมืองของไทยตามเดิม การรบระหว่างไทยกับญวนในสงครามชิงเมืองเขมรใช้เวลาประมาณ ๑๔ ปี วีรกรรมครั้งนี้ เป็นผลให้ยุติสงครามญวนและไทย และ ได้เมืองเขมรกลับคืนมาตามเดิม











ผลงานด้านการทูตและการเมือง ท่านมีความสามารถในการเจรจาโต้ตอบเชิงการทูต ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำสงคราม เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยไม่ต้องใช้กำลัง เช่น การเจรจาปล่อยญวนที่เมืองโพธิสัตว์ เจรจาปัญหาญวนเกลี้ยกล่อมเขมร และการแต่งตั้งพระองค์ด้วงไปปกครองเขมร

ผลงานด้านเศรษฐกิจ ท่านสามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจแตกสลายของเขมรในช่วงการทำสงครามติดต่อกันถึง ๑๔ ปี โดยการหาเสบียงอาหารให้เพื่อบรรเทาความขาดแคลน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรทำนาไม่ได้ผล ก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ก็จะโปรดยกเว้นไม่เก็บค่านา แม้แต่การจัดหาตุ่มใส่น้ำให้เขมรที่เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านก็ยังเอาใจใส่ไม่ละเลย

ผลงานด้านรักษาความสงบเรียบร้อย ท่านได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทำการดูแลเมืองเขมร ซ่อมแซมป้อมค่ายเมืองพระตะบอง สำหรับใช้เป็นฐานกำลังของไทยที่จะคุมเชิงและควบคุมเขมรในความสนับสนุนของพระองค์ด้วงกษัตริย์ของเขมร โดยเอาใจใส่ตรวจตราดูแลความมั่นคงและปลอดภัยให้ และจัดการสร้างเมืองอุดงมีชัย มีการขุดคูเมืองเชิงเทิน สร้างป้อมค่ายให้แข็งแรง ท่านนำนโยบายห้ามสูบฝิ่น ซื้อขายฝิ่นไปใช้ในเขมร อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ท่านจะกวดขันห้ามปรามเมื่อจับจะทำโทษอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่บุตรของท่าน

ผลงานด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ท่านสืบทอดพระพุทธศาสนาหลายอย่าง ดังนี้
สร้างวัดใหม่ ได้แก่
- วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก เวิ้งนครเกษม)
- วัดเทพลีลา (วัดเทพลีลา หรือวัดตึกคลองตัน)
- วัดพระยาทำ (วัดกระโดน) อ.กบินทร์บุรี จ.สระแก้ว
- วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดโรงเกวียน อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดตาพระยา อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดหลวงบดินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.สระแก้ว
- วัดที่เมืองพระตะบอง และเมืองอุดงมีชัย
ปฏิสังขรณ์วัดที่ชำรุดทรุดโทรม ได้แก่
- วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
- วัดปริณายก (วัดพรหมสุรินทร์)
- วัดช่างทอง (ที่เกาะเรียน อยุธยา)
- วัดวรนายกรังสรรค์ (เขาดิน) อยุธยา
- วัดศาลาปูน กรุงเก่า
- วัดอรัญญิก แขวงเมืองสระบุรี










เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๓๙๒ ด้วยโรคปัจจุบัน (อหิวาตกโรค) ที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง (บริเวณเชิงสะพานหัน กับบ้านดอกไม้) รวมสิริอายุ ๗๒ ปี ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากผลงานและคุณความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึง พระคุณของท่าน มากมายหลายแห่ง ดังนี้
- เมืองอุดงมีชัย ประเทศเขมร
- วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) มีศาลเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างเสร็จในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อประดิษฐานรูปหล่อของเจ้าพระยาบดินทรเดชา รูปหล่อ หล่อขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๔๗ โดยปั้นจากภาพเขียนที่ถ่ายแบบมาจากรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้สร้างไว้สักการะตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๒



















- วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
- ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ อ.มะขาม จ.จันทบุรี
- ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
- ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ ๑๖ อ.เมือง จ.ยโสธร
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2533 ให้เป็นสถานที่ ที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณต่างๆ ประวัติ วีรกรรมและโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยสำหรับเยาวชนและชุมชนได้ศึกษา และเพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้ง โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อปีพ.ศ. 2539 ในปัจจุบัน บทบาทของพิพิธภัณฑ์ได้ขยายขอบข่ายไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครู อาจารย์ ที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเชิงบูรณาการ ได้อย่างผสมกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือคณิตศาสตร์
















- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
- พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร


TraveLArounD



เรียบเรียงจาก
//www.bodin.ac.th/BodinSchool/InfoSchool/chaophraya.html
//www.chakkrawat.org/myforum/index.php?topic=82.0
//web.schq.mi.th/~afed/mil_museum_2007/heroes_badindecha.htm
ภาพ
//gallery.bodinzone.com/
//polizehero.diaryis.com/?20080816.200809
//www.watchakkawat.com/history.php
Create Date :26 กรกฎาคม 2552 Last Update :26 กรกฎาคม 2552 19:53:28 น. Counter : Pageviews. Comments :36