bloggang.com mainmenu search

ได้มาจากร้านหนังสือเก่า

คำอธิบาย พระนิพนธ์ สมเด็จพรเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า  "หนังสือลิลิตยวนพ่าย นับอยู่ในหนังสือซึ่งแต่งดีอย่างเอกในภาษาไทยเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้งเมื่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ลงมาชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทรงพยายามทำสงครามจนมีชัยชนะเอาหัวเมืองเหล่านั้นคืนมาได้จงเรียกชื่อเรื่องว่ายวนพ่าย".... 

"...แต่งเมื่อศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้แต่งหาปรากฏไม่ สังเกตดูโดยทางสำนวนดูเป็นสำนวนเก่ามาก ทั้งความรู้เรื่องในพงศาวดารในตอนที่แต่งนั้น ก็รู้ถ้วนถี่กว่าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและหนังสือพงศาดารเชียงใหม่  เพราะฉะนั้นน่าที่จะแต่งในเวลาใกล้ๆ กับเหตุการณ์ที่กล่าวถึง จึงยังสามารถรู้เรื่องได้ถ้วนถี่ สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๓๔ จน พ.ศ. ๒๐๗๒ แต่สังเกตโดยทางสำนวนรู้ได้แน่อย่างหนึ่งว่า ผู้แต่ลิลิตเรื่องยวนพ่ายนี้ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งในทางภาษาและแบบแผนขนบธรรมเนียมราชการ คงเป็นกวีที่เป็นคนสำคัญในสมัยเมื่อแต่งหนังสือเรื่องนี้ หนังสือเรื่องยวนพ่ายจึงเป็นที่นับถือกันว่าเป็นตำราเรื่องหนึ่ง ทุกสมัยสืบมาจนกาลบัดนี้..."

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพิมพ์หนังสือยวนพ่ายฉบับนี้ให้แพร่หลาย คงจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนทั้งในความรู้วรรณคดีและความรู้พงศาวดาร จึงโปรดให้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ...


พิมพ์ครั้งแรก   พ.ศ.๒๔๖๕   (๙๒ ปี)

พิมพ์ครั้งที่ห้า   พ.ศ. ๒๕๑๔  (๔๓ ปี)  

หนังสือแต่งดีอย่างเอก แต่อาภัพจริงๆไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่ง

แต่ที่อาภัพหนักกว่า .. คือคนรุ่นหลังคนนี้ ที่ไม่อาจเข้าใจความ "ดีอย่างเอก" ที่ว่านั้น

หากแม้แต่ในยุคสมัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังว่า...คำนมัสการและคำยอพระเกียรติในช่วงต้นของลิลิตยวนพ่าย เป็นการใช้ศัพท์และแสดงอรรถอันลึกซึ้งเข้าใจยาก  ผู้อ่านมักฉงนสนเท่ห์แล้วเลยเบื่อหน่าย จนอ่านไม่ทันไปถึงเรื่องพงศาวดาร..    ภายหลังจึงมีผู้รู้แปลอรรถในต้นฉบับอันหนึ่ง ซึ่งหอพระสมุดได้มา เป็นฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ ๒ เขียน จึงเข้าใจว่าเป็นฉบับซึ่งคัดไว้ในหอหลวง

แต่ก็ไม่รู้ว่าผู้แปลอรรถ เป็นผู้ใด .. นั่นไง  อาภัพอีกแล้ว

ยกตัวอย่างแปลอรรถนะคะ

แจ้งจตุรภักตรพ้ยง  จตุรเทศ
(แจ้งไปในหมู่พรหม ดังพระอริยเจ้า)

จตุโรบาเยศแจ้ง  จตุรงค์
(อุบาย ๔ สัมปธานะ ๔๗)

แจ้งจตุฤทธิฌาณ ท่ววแท้
(จตุฤทธิบาท ๔)

จตุราริยสัตยทรง ทายาท
(ทุกขสัตย สมุไทยสัตย นิโรธสัตย มรรคสัตย รวม ๔๗)

แจ้งจตุรผลแก้ ยวดชาญฯ
(ผล  ๔)

นั่นคือแปลแล้วนะคะ Smiley  ลึกแท้..เกินหยั่งถึง 

Smiley ดูเหมือนว่าปราชญ์เท่านั้นถึงจะเข้าใจปราชญ์ด้วยกัน 

คนธรรมดาสามัญอย่างเราต้องหลบไปไกลๆ  Smiley

แต่แม้จะไม่เข้าใจ ก็อ่านหมดนะคะ (บางๆ ๙๓ หน้า)  อ่านดู "รูปคำ" ไปเพลิดๆ ก็เพลินดี

เพราะไม่ใช่แค่หนังสือจะเก่าอย่างเดียว  รูปแบบการเขียนก็เก่าด้วย

ทำให้รู้ว่าภาษาไทยสมัยโบราณนั้น คงยังไม่มีสระบางตัว และเขียนอย่างไร

ชยงใหม่   คือ เชียงใหม่

ดยรดาษ   (เดาว่าเป็น) ---> เดียรดาษ

เตอมเตม -----> เติมเต็ม

เพรอศพราย ---> เพริศพราย

หววเมือง ---> หัวเมือง

ตรยมแต่ง---> เตรียมแต่ง

จรดจ้งง ----> จรดจ้อง

พระส่งง ----> พระส่อง

ช่ยวพ้น --->  ช่วยพ้น

เลอศเลอ ---> เลิศเลอ

เขื่อนขนนธ์ ---> เขื่อนขันนธ์

ฯลฯ 

นั่นคือการเดาที่ไม่รับรองความถูกต้องนะคะ  

เสียดายจริง ที่อ่านไม่เข้าใจ   น่าจะมีผู้รู้ นำลิลิตพงศดารเล่มนี้มาแปลร้อยแก้วใหม่ให้เข้าใจได้นะคะ  วรรณกรรมสเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ต่างชาติต่างภาษา ยังมีคนแปลเลย   ก็น่าจะดีถ้ามีคนแปลวรรณกรรมไทยเป็นไทยให้อ่านบ้าง 

เวลาไปลาวแทบไม่มีปัญหากับการอ่านป้ายต่างๆ ในภาษาลาว  ที่ยากหน่อยก็ยังพอเดาออก

ภาษาอังกฤษ ถ้าคำไหนไม่รู้อ่านไม่ออก ก็ยังอาศัยดิกชันนารี ได้ snake snake fish fish พอไปไหว

แต่ภาษาไทยแต่โบราณของเรานี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานก็สถานเหอะน่า  เอาไม่อยู่!!

แต่ถึงจะอ่านไม่เข้าใจ ก็มีความสุขที่ได้หนังสือมา Smiley แค่ได้สัมผัสความเก่าก็ปลื้มปริ่ม 

จึงหยิบมาเล่าขำๆ  เมื่อคนไทยรุ่นหลังอย่างเราเจอกับภาษาไทยชั้นรากเหง้าเข้าไป Smiley ถึงกับมึน


Create Date :02 มิถุนายน 2557 Last Update :3 มิถุนายน 2557 1:32:08 น. Counter : 1707 Pageviews. Comments :9