bloggang.com mainmenu search

เรียนให้รู้หลักทุกคน รู้หลักแล้วต้องลงมือปฏิบัติ สังเกตตัวเองให้มาก สังเกตตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตจิตใจตัวเอง คอยรู้ทันมันไว้ จิตใจเราเจ้าเล่ห์แสนกล เข้าข้างตัวเองอะไรอย่างนี้ คอยรู้ทันมัน เราไม่รู้ทัน บางทีเราภาวนา จิตมันเพี้ยน คนเรียนกับหลวงพ่อไม่ค่อยมีที่ภาวนาแล้วเพี้ยน มีแต่ไปเรียนที่ไหนมาก็ไม่รู้ เพี้ยนๆ มา เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุพอประมาณ จะบอกว่าอายุเยอะก็ดูไม่สุภาพ ทำร้ายจิตใจ บอกอายุมากพอประมาณ เจอหลวงพ่อ พูดไม่หยุดเลย พูดๆ พูดๆๆ คนนี้เขาไปหาจิตแพทย์มาแล้ว จิตแพทย์จนปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ยอมฟังอะไรทั้งสิ้นเลย พูดอย่างเดียวเลย จิตแพทย์ก็เลยใช้ไม้ตาย บอกไปหาหลวงพ่อปราโมทย์ไป หลวงพ่อปราโมทย์เกือบจะต้องไปหาจิตแพทย์แน่ะ

มันไม่ใช่แก้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าพอผิดไปแล้วพลาดไปแล้ว จะแก้มันไม่ใช่เรื่องง่าย เรียนหลักการปฏิบัติให้แม่นๆ เสียก่อน แล้วลงมือปฏิบัติมันจะได้ไม่ผิดพลาด ไม่ต้องมานั่งแก้ทีหลัง เวลาหลายคนภาวนาแบบกดข่มตัวเองรุนแรง หรือสมาธิไม่มี จิตใจเตลิดเปิดเปิงฟุ้งเต็มที่เลย แล้วจะให้แก้ ไม่ใช่เรื่องง่าย จิตมันคล้ายๆ แก้วที่แตกแล้ว จะให้ประสานให้ดีเหมือนคนปกติ ยาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ เรียนหลักของการปฏิบัติให้มันแม่นเสียก่อน สิ่งที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรามันเป็นเรื่องหลักทั้งนั้นเลย ส่วนอุบาย แทคติก กลยุทธ์ อันนี้เวลาเราปฏิบัติตามหลักไปแล้วเราเจอปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ก็มาถามครูบาอาจารย์ อย่างนี้ที่เขาส่งการบ้าน พวกนี้ทำตามหลักมาแล้ว มีสติ

ถ้าอยากสงบก็มีสติ อยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ใช้จิตใจที่ธรรมดา ไม่ใช่จิตใจที่เคร่งเครียด ถ้าหากเราเริ่มต้นใช้จิตใจที่เคร่งเครียดไปทำความสงบ ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ตัวเองเคร่งเครียด สมาธิจะไม่เกิดหรอก สมาธิไม่เกิดจากการที่เราบังคับกดข่มตัวเองอย่างเคร่งเครียด ความสุขต่างหากเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ อย่างบางคนมีความสุขกับการเลี้ยงต้นไม้ ชอบปลูกต้นไม้ เวลาปลูกต้นไม้มีความสุข จิตใจมีสมาธิ วันๆ ยุ่งกับต้นไม้ ไม่วอกแวกไปที่อื่นเลย อยู่ได้หลายๆ ชั่วโมง เพราะมีความสุข

บางคนชอบหมาชอบแมวอะไรอย่างนี้ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว รู้สึก แหม มันน่ารักจังเลย มีความสุข จิตใจก็จดจ่อกับหมากับแมว ไม่วอกแวกไปเรื่องอื่นเลย วันๆ ก็คิดแต่เรื่องหมาเรื่องแมว ตายไปเราก็ได้เป็นหมาเป็นแมวจริงๆ ชอบอะไรมันก็ไปอย่างนั้นล่ะ ต้องระวังเรื่องนี้ พวกรักสัตว์ เมตตาสัตว์แต่อย่าไปรักมัน เมตตากับรักไม่เหมือนกัน เมตตาคือมีความรู้สึกเป็นมิตร ปรารถนาดีกับมัน ไปรักใคร่ผูกพัน หวงแหนมัน นี่แมวของเรา นี่หมาของเรา จิตใจเศร้าหมอง ถ้าตายไปด้วยจิตเศร้าหมองก็ทุคติเป็นอันหวังได้

 

อยากสงบก็มีสติ
อยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข

ถ้าเรามีความสุข อย่างหลวงพ่อเมื่อก่อนชอบรดต้นไม้ รดต้นไม้แล้วมีความสุข เวลาเหนื่อยๆ เราก็ไปรดต้นไม้ พอรดต้นไม้ใจก็สบายมีความสุข หลวงพ่อชอบนั่งสมาธิริมคลองๆ บ้านเกิดอยู่ริมคลอง ฉะนั้นเวลาว่างๆ จะไปนั่งอยู่ริมคลองใต้ต้นไม้ ดูน้ำมันไหล เห็นลมพัดน้ำเป็นระลอก เป็นพริ้วๆ พริ้วๆ เราก็ดูไป จิตใจมีความสุข มีความสงบ สมาธิมันก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการความสงบ อย่าไปบังคับใจให้สงบ ให้เราอยู่กับกรรมฐานที่มีความสุข น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส ด่าคนแล้วมีความสุขอย่างนี้ อันนี้สมาธิที่ดีจะไม่เกิด

อย่างหลวงพ่อดูน้ำ ตอนเด็กๆ ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมสมาธิมันเกิด ที่จริงมันก็คือกสิณน้ำนั่นล่ะ เราเห็นน้ำเป็นระลอก พริ้วๆ พริ้วๆ มีความสุข สบาย สบายใจ หลับตาลงมาก็ยังนึกภาพระลอกน้ำได้ มันไม่ใช่คลื่นโตๆ เป็นระลอกเล็กๆ พริ้วๆๆ นึกถึงแล้วใจก็มีความสุข สงบ พอใจมีความสุข ใจก็เข้าสู่ความสงบ ฉะนั้นเวลาเราจะทำความสงบ รู้จักตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้น ของหลวงพ่อมีหลายตัวที่ทำแล้วมีความสุข อย่างดูน้ำมันเป็นกสิณน้ำ ดูแล้วก็มีความสุข

ดูไฟแล้วก็มีความสุข จุดไฟ จุดเทียน ถ้าใช้หลอดไฟไม่ค่อยสนุก มันนิ่งๆ แต่เทียนมันไหววับๆๆ ไปเรื่อยๆ นั่งดู ระวังไฟไหม้บ้าน เล่นอันนั้น ดูไปเรื่อยจนกระทั่งแสงสว่างมันจ้าไปหมดเลย แล้วก็เล่นได้ มันก็เป็นกสิณไฟ หรือบางทีก็เป็นกสิณแสงสว่าง หลับตาลง ลองหลับตาดูสิ เห็นไหมกลางวันอย่างนี้ ข้างหน้าเรามันมีความสว่างอยู่ เรารู้ความสว่าง ที่เราหลับตา เรารู้ความสว่างที่เกิดขึ้น รู้ไปสบายๆ จิตก็เกิดสมาธิได้ อันนี้เป็นกสิณแสงสว่างๆ

หรือรู้ลมหายใจ หายใจออก หายใจเข้า ลมหายใจระงับ เกิดนิมิต จิตไม่หลงนิมิต จิตรู้นิมิตแต่ไม่หลงนิมิต ก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้นมา อันนี้ทำสมถะด้วยอานาปานสติ อานาปานสติเป็นสุดยอดกรรมฐาน มันเป็นแม่บทของกรรมฐานครอบคลุมกรรมฐาน จำนวนมากเอาไว้ อย่างการที่เรารู้ลมหายใจ เรารู้ เห็นร่างกายหายใจ ทีแรกมันจะหายใจยาวๆ แล้วมันจะค่อยๆ ตื้นขึ้นๆ สุดท้ายเรามารู้อยู่ที่ปลายจมูก เราเห็นลมไหลผ่านรูจมูกเข้าไป เห็นลมไหลผ่านรูจมูกออกมา เราดูตรงนี้ นี่คือกสิณลม ถ้าเราเห็นรูจมูกเป็นทางผ่าน ลมผ่านรูจมูกเข้าไป เราสนใจอยู่ที่รูจมูก มันคือกสิณช่องว่าง

ฉะนั้นตัวอานาปานสติที่เรียนวันนี้ พูดกันเรื่องอานาปานสติ ทั้ง 7 คนล้วนแต่อานาปานสติ ทั้งนั้นเลย จริงๆ อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่เล่นยากมาก มันเหมือนกรรมฐานแม่บทครอบคลุมกรรมฐานอื่นเอาไว้มากมาย อานาปานสติใช้ทำสมถะก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาก็ได้ แล้วทำวิปัสสนาจะทำอยู่ในฌานก็ได้ ทำอานาปานสติแล้วถอยจิตออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี่ แล้วก็ทำวิปัสสนาก็ได้ ทำได้หลายแบบ หลากหลายมากเลย พลิกไปเป็นอภิญญาก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันพลิกนิดเดียว มันก็เป็นกสิณแล้ว

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วอานาปานสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เราเรียนคงไม่ได้อานาปานสติสมบูรณ์เต็มที่หรอก อานาปานสติ คนที่ทำได้สมบูรณ์เต็มที่มีน้อย ท่านแรกที่ทำได้ก็คือพระพุทธเจ้า สาวกได้กันเป็นเสี้ยวๆ เป็นส่วนๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ทั้งหมดหรอก ฉะนั้นเราก็ทำเท่าที่จำเป็น อย่างใจเราฟุ้งซ่าน เราก็หายใจไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ตรงที่เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างหายใจเข้า มันเป็นกสิณดิน แต่ว่ามันอาศัยเห็นลมไหลเข้าไหลออก แต่ถ้าเราสนใจที่ตัวลม มันก็เป็นกสิณลม ถ้าสนใจในจุดที่ลมมันไหล รูจมูกอย่างนี้ ก็เป็นกสิณช่องว่าง เราหายใจไปเกิดแสงสว่าง ก็เป็นกสิณแสงสว่าง มันหลากหลายมาก พิสดารมาก

ของเราเอาแค่ให้จิตมีกำลังที่จะทำวิปัสสนาก็พอแล้ว เพราะงานหลักของเราจริงๆ คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่งานเล่นกสิณ ไม่ใช่งานจะหาอิทธิฤทธิ์ใส่ตัว อย่างถ้าเราได้กสิณแสง มันจะได้ตา เราได้กสิณลม เราได้หู มันเล่นได้สารพัดที่จะเล่น แล้วก็จะหลง หลงง่าย แก้ยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อขอแนะนำให้เราทำอานาปานสติ เพียงแค่ให้จิตเรามีแรง ให้จิตเราสงบ ให้มีสติเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า มีใจตั้งมั่นเป็นคนดูร่างกายที่หายใจออก มีใจตั้งมั่นเป็นคนดูร่างกายที่หายใจเข้า หัดแค่นี้พอแล้วล่ะ ไม่ต้องเดินทะลุเข้าไปถึงฌาน

ถ้าจะเล่นอย่างนั้น ควรจะเป็นพระอยู่กับครูบาอาจารย์ เล่นเอง โอกาสเพี้ยนสูงมากเลย เห็นอย่างนี้ตกใจๆ ก็กลัว สติแตก หรือบางทีก็หลงไปเลย มีบางคนไปนั่งสมาธิในป่าช้า เห็นผีเห็นสาง ก็เชื่อมั่นเลยว่าเห็นจริงๆ เชื่อเพราะคนนี้ก็เห็นๆ ก็เลยเชื่อ หมกมุ่นแต่เรื่องพวกนี้ มันไม่ได้เข้าในเส้นทางของความหลุดพ้นเลย เพราะฉะนั้นเราทำอานาปานสติ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว เน้นที่ไหน เน้นที่ความรู้สึกตัว ไม่ใช่เน้นที่สงบ ลองเปลี่ยนวิธีการ ไม่ได้มุ่งไปที่สงบ ลองมุ่งมาที่ความรู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ถ้าการหายใจมันละเอียดไป ก็ดูของที่หยาบขึ้น ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกตัว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกตัว

 

ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว
โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปด้วยความรู้สึกตัว ถ้าอานาปานสติหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ถ้าดูอิริยาบท 4 ยืน รู้สึกตัว นั่ง รู้สึกตัว เดิน รู้สึกตัว นอน รู้สึกตัว ทำสัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก เน้นตรงที่รู้สึก แล้วการที่เรารู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้สึกตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสงบ คือสมาธิ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำกรรมฐานโดยเน้นที่ความรู้สึกตัว เราจะได้สมาธิชนิดที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วสมาธิที่ตั้งมั่นนี้มีกำลังๆ เพราะมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง แล้วก็รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ใช่สงบแบบโง่ๆ หลงๆ เผลอๆ เพลินๆ ไป

ร้อยละ 100 อันนี้พูดแบบจิตใต้สำนึกบอก ร้อยละ 100 ของนักปฏิบัติทำสมาธิ มันเป็นมิจฉาสมาธิ คนที่ทำสมาธิแล้วหลุดจากมิจฉาสมาธิ มีสติกำกับขึ้นมา มีนับตัวได้เลย มันมีน้อยจนภาษาสถิติบอกไม่มีนัยยะสำคัญเลย น้อยนิดเดียวเลย ส่วนใหญ่ทำไปแล้วก็มีแต่โมหะ บางทีก็เคร่งเครียด ทำไปแล้วมันจะเครียดๆ จะหนักจะแน่น เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย เราก็ต้องสังเกตตัวเอง เพราะฉะนั้น

ถ้าอานาปานสติหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ถ้าใช้อิริยาบถ 4 ก็ยืน รู้สึกตัว นั่ง รู้สึกตัว เดิน รู้สึกตัว นอน รู้สึกตัว ถ้าใช้สัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหว รู้สึกตัว หยุดนิ่งรู้สึกตัว เน้นไปที่ความรู้สึกตัว จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา จิตมันมีความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา แต่ถ้าจิตมันหลงตามอารมณ์ไป ห้ามไม่ได้ มันเคยหลง มันจะหลง เราก็ไม่ห้าม เราก็แค่รู้ทันว่าตอนนี้จิตมันหลงไปแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตหลง จิตก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาใหม่ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องความรู้สึกตัว

พวกที่นั่งฟังในห้อง สังเกตไหม รู้สึกตัวจริงหรือเปล่าขณะที่ฟัง ฟังแล้วก็คิดๆ คิดๆ เห็นไหม พยายามรู้สึกตัว นั่งอยู่ รู้สึกตัว เห็นร่างกายนั่ง ใจเป็นคนรู้สึก หายใจอยู่ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้สึก ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ จะได้ทั้งความตั้งมั่น จะได้ทั้งความสงบควบกัน ไม่จำเป็นว่าต้องฝึกให้สงบอันหนึ่ง ฝึกให้ตั้งมั่นอันหนึ่ง ถ้าเรามีความรู้สึกตัว เราก็น้อมจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันทั้งสงบ ทั้งตั้งมั่น อย่างเรารู้ลมอย่างนี้ รู้ลมอยู่อย่างเดียวไม่ไปวอกแวกไปที่อื่นก็สงบแล้ว ถ้าจิตเราเคลื่อนไปที่ลม เรารู้ทัน จิตก็ตั้งมั่น จิตลืมลม เคลื่อนไปที่อื่น เรารู้ทัน จิตก็ตั้งมั่น เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานอันเดียว แต่ถ้าหลักเราแม่น เราจะได้สมาธิทั้ง 2 ชนิดเลย ได้สมาธิทั้งสงบ ทั้งตั้งมั่น

ไปลองฝึกดู ไม่ใช่เรื่องยาก มันยากเพราะคิดมาก คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะถูก ทำอะไรก็ไม่ถูกหรอก ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัว ทำอะไรก็ไม่ผิดหรอก ถ้ามีความรู้เนื้อรู้ตัว ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากรรมฐานอะไร พุทโธดี หายใจดี พองยุบดี ขยับมือดี เดินจงกรมดีอะไรอย่างนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ตรงนั้น ใครถนัดอะไรก็ใช้อย่างนั้น แต่ความสำคัญอยู่ที่มีสติ มีความรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าจะใช้อานาปานสติ มีความรู้ตัวในการหายใจ ใช้อิริยาบถ 4 มีความรู้ตัว รู้อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ใช้สัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง เคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก

รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ ไม่จงใจรู้สึก ถ้าจงใจรู้สึกเมื่อไรใจจะแน่นๆ ใจแน่นๆ เป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศล มันไม่แน่น มันจะเบา มันจะอ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว รู้ ตื่น เบิกบาน ฉะนั้นภาวนาแล้วจิตแน่นๆ ต้องรู้ อันนั้นเกิดจากความโลภ จิตเป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็โลภไปบังคับตัวเองอยู่ อันนั้นก็แน่นๆ

 

จับหลักให้แม่น อย่าทำผิด
ทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ผิดหรอก

เพราะฉะนั้นที่พูดให้ฟังวันนี้เอาไปทำ ไปฝึกของเราทุกวันๆ อย่าละเลย แรกๆ อาจจะยาก ต่อไปก็ไม่ยากหรอก อย่างหลวงพ่อหัดหายใจ ทีแรกหายใจแบบไร้เดียงสา แบบเด็ก ครูบาอาจารย์ให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 ไม่ได้คิดมาก ก็นั่งหายใจอย่างที่ท่านบอก พอหายใจไป ลมหายใจระงับ จิตมันสว่างขึ้นมา ออกรู้ออกเห็นอะไรสารพัดจะรู้จะเห็น ออกนอกไม่มีครูบาอาจารย์กำกับ อันตรายเหมือนกัน ออกไปแล้วดีไม่ดีสติแตก ยังดีว่าบุญรักษา ไม่ถึงขนาดพลาดพลั้ง งมงาย สติแตกไป

ต่อมาก็รู้แล้วว่าถ้าจิตเราหายใจ ลมระงับเกิดแสง แล้วเราตามแสงไป มันจะออกรู้ออกเห็นข้างนอก หลวงพ่อก็เลยมีเพิ่มสติขึ้น เพิ่มความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้น พอจิตมันจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง รู้ทันไม่ให้มันเคลื่อนเข้าไป รู้ทันมัน มันจะเคลื่อนแล้ว จิตก็ไม่เคลื่อนเข้าไปหาแสง จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ฝึกทุกวันๆ

หลวงพ่อมีรูปตอนเด็กๆ เป็นเด็กๆ มีรูปที่คนอื่นแอบถ่ายไว้ เป็นรูปนั่งสมาธิ มีตั้งหลายใบ เล่นอยู่โรงเรียน วิชาพละวิชาอะไร เราเล่นไป เหนื่อยแล้วเราก็ไปนั่งริมสนาม นั่งสมาธิ มีเวลาเมื่อไรก็ทำเลย หายใจไปๆ แต่ทีแรกยังไม่รู้หลัก ตอนเด็กๆ หายใจไปแล้วสงบ เพราะไม่ได้มีความโลภ ต่อมามันรู้รสชาติของความสงบแล้ว มันติดใจรสชาติของความสงบ มันโลภอยากสงบ คราวนี้ก็เลยบังคับจิตตัวเอง ไปเห็นรูปเก่าๆ ที่คนเขาแอบถ่ายไว้ ริมสนาม รูปที่โน่นที่นี่ ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ นั่งเพ่งทั้งนั้นเลย เหมือนที่พวกเราเพ่งนั่นล่ะ เพ่ง แล้วเวลาลืมตามอง คนไม่ค่อยกล้าสบตาเลย ตาดุเหมือนหมาบ้า แข็งกร้าว พอภาวนาเป็นแล้ว มันก็เปลี่ยน เราไม่ได้ฝึกจิตแบบนั้น อันนั้นฝึกเพราะว่าไม่มีครูบาอาจารย์กำกับ ก็พยายามจะเค้นให้จิตสงบ บังคับ ฉะนั้นจิตไม่ดี

ต่อมาค่อยได้หลัก ไม่บังคับ นั่งสบายๆ นั่งรู้สึก รู้สึกตัวไปๆ จิตก็รวม บางทีก็เกิดนิมิตเหมือนกัน ตอนนั้นไปเป็นนักศึกษาอยู่ ปิดเทอมแล้วไปบวชอยู่วัดชลประทาน หลวงพ่อปัญญาท่านเห็นหน้าหลวงพ่อ ท่านบอกว่าดูแลตัวเองได้ ไม่มีพระพี่เลี้ยง ให้ไปอยู่คนเดียว อยู่ในกุฏิเดี่ยวเลย กุฏินั้นอยู่ข้างแฟลตที่ใส่ผี เป็นช่องๆ อยู่ เราไปอยู่คนเดียว ก็นั่งภาวนา พระอื่นๆ ที่เขาบวชใหม่ๆ เขาไปรวมกันอยู่หลังวัด อยู่เป็นห้องโถงยาวๆ นอนเรียงกันเป็นแถว เราอยู่คนเดียว

ก็นั่งสมาธิ กลางวันก็นั่ง กลางคืนก็นั่ง เพราะถนัดนั่ง นั่งจนเมื่อย แต่ตอนนั้นไม่ค่อยเล่นเรื่องนิมิตแล้ว พอเมื่อยมากก็ โอ้ เมื่อยเต็มทีเหยียดขา นั่งพิงฝากุฏิ เหยียดขาออกไปแล้วก็เมื่อย แต่ไม่หยุดภาวนา ก็ยังหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ แต่เหยียดขาออกไป เพราะมันเมื่อยเต็มทีแล้ว มันก็เห็นนิมิต เห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินมา มานวดให้ เห็น รู้สึกเลย เขากดลงไปที่ขา กด แล้วพอเขาปล่อย ขาที่เป็นเหน็บนี่หายเลย ลืมตาดู นี่นิมิต อัศจรรย์จริง พอลืมตา เนื้อยังบุ๋มอยู่เลย เป็นรอยนิ้วหัวแม่มือ บุ๋มอยู่เลย นี่เรื่องนิมิตทั้งหมดเลย นิมิตจริงหรือนิมิตปลอมมันก็คือนิมิต

ถ้าเราหลง กิเลสก็ครอบใจเรา โอ้ กูภาวนาดี ขนาดเทวดามานวดให้ นี่โดนกิเลสหลอกเอาแล้ว หลวงพ่อไม่ได้คิดอย่างนั้น เขานวดให้ อนุโมทนา เทวดาจริงหรือเป็นนิมิตก็ไม่รู้ นิมิตที่สัมผัสทางกายมันก็มี นิมิตมีตั้ง 6 ทาง นิมิตที่เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสิ่งสัมผัสกาย หรือนิมิตเป็นอารมณ์ทางใจ ออกรู้ออกเห็นอะไร พวกนี้นิมิตทั้งหมด เล่นอานาปานสติ เล่นอะไรพวกนี้ บางทีมันก็เกิดนิมิต อย่าไปหลงกับมัน นิมิตเกิดก็รู้แล้วก็วางๆ เราไม่ได้เอานิมิต เราภาวนาเอาความรู้เนื้อรู้ตัว จับหลักให้แม่น แล้วเดินแล้วไม่พลาด

จับหลักไม่แม่น แล้วไปฝึกมาจากไหนก็ไม่รู้ หมอ จิตแพทย์ยอมแพ้ แล้วก็โบ้ยมาให้หลวงพ่อ หลวงพ่อก็หันซ้ายหันขวาจะโบ้ยไปให้ใครดี โยนต่อ เขาเรียกเผือกร้อนๆ โยนมาปุ๊บต้องรีบโยนต่อ เอาไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ดีที่สุดก็คือจับหลักให้แม่น อย่าทำผิด ถ้าทำด้วยความโลภ ผิดแน่นอน ทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ผิดหรอก

https://goatbet456.com/

Create Date :25 เมษายน 2567 Last Update :25 เมษายน 2567 14:19:44 น. Counter : 96 Pageviews. Comments :1