bloggang.com mainmenu search

    ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โรคไต อัมพาต/อัมพฤกษ์ โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ถ้ารู้จักการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเสียเนิ่นๆ เมื่ออายุมากขึ้น คนไทย 5 คนมักจะมีความดันโลหิตสูง 1 คน
    ความดันโลหิต คือความดันของน้ำเลือดในหลอดเลือดแดงที่เป็นตัวผลักดันให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย
    ความดันโลหิตจะขึ้นกับอายุและสัดส่วนของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัย อื่นๆที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว เช่น อารมณ์ ลักษณะกิจกรรมที่ทำ ช่วงเวลาในแต่ละวัน ความเครียด เป็นต้น
    ค่าความดันโลหิตมี 2 ค่า คือค่าความดันตัวบนและค่าความดันตัวล่าง ค่าความดันตัวบนเป็นค่าความดันโลหิตในขณะหัวใจบีบตัว ค่าความดันตัวล่างเป็นค่าความดันในขณะหัวใจคลายตัว ความดันปกติมีค่าน้อยหว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท(ม.ม.ปรอท)

ความดันโลหิตสูง
    ความดันโลหิตสูง หมายถึง การมีความดันโลหิตตัวบนสูงกว่า 140 ม.ม.ปรอท หรือมีค่าความดันตัวล่างสูงกว่า 90 ม.ม.ปรอท (โดยวัดหลังจากนั่งพัก 5 นาที และวัดซ้ำและซ้ำในอีก 2-3 วันต่อมา) โดยแบ่งระดับความรุนแรงความดันโลหิตไว้ดังตาราง

สำหรับสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบแน่นอน ซึ่งพบได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
    ในคนปกติที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ค่าความดันโลหิตไม่ควรเกิน 120/80 ม.ม.ปรอท ส่วนผู้ที่มีค่าความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 120-139/80-89 ม.ม.ปรอท ยังไม่ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงแต่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (คือมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้มีความดันปกติถึง 2 เท่า) จึงควรปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความดันโลหิตสูงในระดับที่สูงขึ้น
    ส่วนผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในระดับ 1 ระดับ 2 และ 3 จัดอยู่ในกลุ่มความดันโลหิตสูงอย่างอ่อน ปานกลาง และรุนแรงตามลำดับ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษา
     เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างสามารถส่งผลต่อความดันโลหิตได้ ดังนั้น การวัดความดันจะต้องวัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยผู้ที่จะวัดความดันควรพักผ่อนตามสบายก่อนวัดประมาณ 5 นาที และต้องละเว้นสิ่งต่อไปนี้ก่อนวัด 1 ชั่วโมง คือ ออกกำลังกาย ทำงานหนัก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆที่มีคาเฟอีน รับประทานที่ส่งผลต่อความดันเลือด ถ้าวัดแล้วพบว่ามีความดันโลหิตสูงควรวัดซ้ำใน 2 -3 วันต่อมา

อาการและอาการแสดง
    ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะไม่มีอาการ ฉะนั้นจึงรู้ว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง จะแสดงอาการเมื่อโรคเป็นมากและเป็นอยู่นาน อาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า อาจมีคลื่นไส้ บางรายตามัวร่วมด้วย อาการที่พบในคนที่มีความดันโลหิตสูงที่รุนแรงหรือความดันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือมีเลือดกำเดาออก เหนื่อยง่ายเพราะหัวใจต้องรับภาวะของความดันโลหิตสูงอยู่นานจนรับภาวะนี้ต่อไปไม่ไหวจึงเกิดอาการเหนื่อย ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาและมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง จะมีผลต่อเส้นเลือดของอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะนั้นเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ได้แก่
    ตา ตาอาจมัวถึงตาบอด เนื่องมาจากหลอดเลือดในลูกตาตีบ ตัน หรือ แตก เกิดเลือดออกในตา
    หัวใจ เมื่อความดันโลหิตสูงหัวใจจะทำงานหนักขึ้น ทำให้หัวใจโตและ หัวใจล้มเหลว ในขณะที่ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอาจตีบเกิดอาการหัวใจขาดเลือดได้ ดังนั้น ผู้มีความดันโลหิตสูงเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจะรุนแรงกว่าคนที่ความดันเลือดปกติ
    ไต ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตมีความดันสูงตาม จึงเกิดไตฝ่อ และไตพิการ
    สมอง เนื่องจากหลอดเลือดในสมองจะตีบหรือแตก จึงอาจเกิดเลือดออกในสมองง่ายกว่าคนที่มีความดันเลือกปกติ และ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เพ้อ ไม่รู้สึกตัว ชัก เป็นอัมพาตและถึงตายได้

การรักษา
    โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมให้ปกติได้ กรณีที่ไม่รักษาจะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆตามมาดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นเมื่อพบว่ามีความดันโลหิตสูงแม้ไม่มีอาการก็ต้องเข้ารับการรักษา วิธีการรักษาโดยใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม

ยารักษาความดันโลหิตสูง หลายชนิดได้แก่
    1. ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดจำนวนเกลือและน้ำในร่างกาย ทำให้ความดันเลือดลดลง หลังกินยาจะปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ท้องอืดหรือเป็นตะคริวได้
    2. ยาช่วยลดความดันเลือด มีอยู่หลายชนิดแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
    สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุแน่ชัดก็จะรักษาตามสาเหตุนั้นๆ

การปฏิบัติตัวเมื่อมีความดันโลหิตสูง
    ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอย่างเดียวส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาเพื่อควบคุมความดันเลือดให้อยู่ต่ำกว่า 140/90 ม.ม.ปรอท แต่กรณีผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ฯลฯ ต้องควบคุมให้ความดันเลือดต่ำกว่า 130/80 ม.ม.ปรอท

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
    1. งดเติมเครื่องปรุงอาหาร เช่น เกลือ น้ำปลา เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว ผงชูรส เพราะมีเกลือผสมอยู่จำนวนมาก
    2. งดรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูป เพราะจะมีเกลือสูง เช่น กุนเชียง หมูหยอง ฯลฯ
    3. ลดความอ้วนกรณีที่ผู้มีความดันโลหิตสูงและมีภาวะอ้วนร่วมด้วย
    4. ออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ๆละประมาณ 3 ครั้ง โดยเริ่มทีละน้อยแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นจนร่างกายปรับได้ซึ่งก็ขึ้นกับแต่ละบุคคล วิธีการออกกำลัง ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การเล่นกีฬาที่ไม่มีการแข่งขัน การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม คือ การออกกำลังกายที่ต้องกลั้นหายใจ เช่น ชักคะเย่อ ชกมวย ยกน้ำหนัก เพราะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
    5. งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
    6. เลือกการคุมกำเนิดด้วยวิธีการที่เหมาะสมโดยปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรับประทานยาคุมกำเนิดในสตรีบางคนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
    7. รับประทานยาควบคุมความดันเลือด ตามคำแนะของแพทย์ เพื่อควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองแตก แม้ความดันเลือดจะปกติแล้วผู้ป่วยก็ไม่ควรงดยาเองและควรปรึกษาแพทย์ก่อน
    8. หลีกเลี่ยงภาวะเครียดหรือหาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะสมในกรณีมีความเครียด เพราะภาวะเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น เร่งรีบ โมโห หงุดหงิดง่าย อดนอน ความกังวล ไม่สบายใจ จิตใจที่มีแข่งขันสูงมักเครียดง่าย ซึ่งผลการวิจัยพบว่าการหายใจช้าๆ ช่วยลดความดันเลือดลงได้ ความเครียดอื่นๆ ควรหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม เช่น ปรึกษาคนที่ไว้ใจหรือเจ้าหน้าที่สุขภาพ

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
    พฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญๆ ในการป้องกันความดันโลหิตสูงมี 5 ประการหรือ เบญจพฤติกรรมมีดังนี้
    1. ระวังอย่าให้อ้วน ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ต้องไม่บริโภคมากเกินโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไขมันและอาหารที่มีรสเค็มจัด ผู้บริโภคอาหารที่เป็นผักมากเป็นความดันโลหิตสูงน้อยกว่าผู้บริโภคเนื้อสัตว์ ไขมัน และอาหารรสเค็ม
    2. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ที่ทำงานเบาเคลื่อนไหวร่างกายน้อยขาดการออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
    3. ควรฝึกการผ่อนคลาย โดยการบริหารจิต การมีความเมตตา การเจริญสติ เจริญสมาธิ จะช่วยลดการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
    4. งดการสูบบุหรี่ เพราะทำให้หลอดเลือดตีบและความดันโลหิตสูง
    5. งดหรือลดการดื่มสุรา ยาดองของมึนเมา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากๆทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจวายได้

ที่่มา : //www.thaikidneyclub.org

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley

Create Date :21 พฤศจิกายน 2555 Last Update :21 พฤศจิกายน 2555 10:40:54 น. Counter : 16530 Pageviews. Comments :1