bloggang.com mainmenu search

    ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ในวงศ์ Elephantidae โดยแบ่งเป็นสองสกุล ได้แก่ Elephas และ Loxodonta ช้างในปัจจุบันเหลือ 3 สปีชีส์ คือ ช้างแอฟริกา, ช้างป่าแอฟริกา และช้างเอเชีย (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ช้างอินเดีย) ส่วนสปีชีส์และสกุลอื่นของวงศ์ Elephantidae ล้วนสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว บางสปีชีส์หรือสกุลสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด ถึงแม้ว่าช้างแมมมอธในรูปแคระอาจสืบสายพันธุ์ต่อมาจนถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ช้างและสัตว์ในวงศ์ Elephantidae อื่น ๆ เคยถูกจัดเป็นประเภทเดียวกับสัตว์หนังหนาอื่น ๆ ชื่อว่าอันดับ Pachydermata ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
    ช้างนับเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ใช้เวลาการตั้งครรภ์ถึง 22 เดือน ซึ่งนับว่านานที่สุดในบรรดาสัตว์บกทุกชนิด ช้างแรกเกิดมีน้ำหนักเฉลี่ย 120 กิโลกรัม มีอายุขัยอยู่ระหว่าง 50 ถึง 70 ปี แต่ช้างอายุมากที่สุดที่เคยบันทึกไว้มีอายุถึง 82 ปี ช้างขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้อาศัยอยู่ในแองโกลาในปี ค.ศ. 1956 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 11,000 กิโลกรัม ความสูงวัดถึงไหล่ 3.96 เมตร สูงกว่าช้างแอฟริกาเพศผู้ทั่วไปถึงหนึ่งเมตร ส่วนช้างที่มีขนาดเล็กที่สุดนั้น มีขนาดประมาณเท่ากับลูกวัวหรือหมูตัวใหญ่ ๆ เป็นสปีชีส์ก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนเกาะครีตระหว่างสมัยไพลสโตซีน จากการสังเกตการณ์ ช้างเพศผู้ที่มีสุขภาพดีนั้นไม่มีนักล่าตามธรรมชาติ ถึงแม้ว่าสิงโตจะล่าลูกช้างหรือช้างที่อ่อนแอบ้าง อย่างไรก็ตาม ช้างถูกคุกคามโดยการบุกรุกที่อยู่อาศัยของมนุษย์และการล่า
    ช้างเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาในวัฒนธรรมเอเชียและมีกิตติศัพท์ว่ามีความจำและความฉลาดที่ดี โดยระดับสติปัญญาของมันนั้นคาดกันว่าจะเท่ากับของโลมา หรือไพรเมต เลยทีเดียว อริสโตเติล เคยกล่าวไว้ว่า ช้างเป็น "สัตว์ซึ่งเหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงทั้งในด้านไหวพริบและจิตใจ"
    สกุลช้างแอฟริกาประกอบด้วยช้างสอง หรืออาจแย้งได้ว่า สามชนิดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ขณะที่สปีชีส์ช้างเอเชียเป็นชนิดเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในสกุลช้างเอเชีย แต่สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่สปีชีส์ย่อย ช้างแอฟริกาและช้างเอเชียวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 7.6 ล้านปีก่อน

ช้างแอฟริกา
    ช้างในสกุล Loxodonta ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าช้างแอฟริกานั้น ปัจจุบันพบอยู่ใน 37 ประเทศในทวีปแอฟริกา
    ช้างแอฟริกามีความแตกต่างจากช้างเอเชียหลายประการ ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือหูที่มีขนาดใหญ่กว่าช้างเอเชียมาก นอกจากนี้ ช้างแอฟริกายังมีขนาดใหญ่กว่าช้างเอเชียอย่างเห็นได้ชัดและมีหลังเว้า ในช้างเอเชีย มีเพียงเพศผู้เท่านั้นที่มีงา แต่ช้างแอฟริกาทั้งเพศผู้และเพศเมียล้วนมีงาและมักจะมีขนน้อยกว่าช้างเอเชีย


^ ช้างแอฟริกา ^

    ช้างแอฟริกาเดิมเคยถูกจัดเป็นสปีชีส์เดียวซึ่งประกอบด้วยสองสปีชีส์ย่อย ชื่อว่า ช้างสะวันนา (Loxodonta africana africana) และช้างป่า (Loxodonta africana cyclotis) แต่การวิเคราะห์ดีเอ็นเอล่าสุดเสนอแนะว่าทั้งสองนี้อาจเป็นคนละสปีชีส์กัน การแบ่งนี้ไม่ได้รับการยอมรับเป็นสากลโดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีการเสนอช้างแอฟริกาสปีชีส์ที่สามอยู่
    ผู้แต่งการวิเคราะห์ดีเอ็นเอนิวเคลียสที่สกัดมาจาก "ช้างสะวันนาแอฟริกา ช้างป่าแอฟริกา ช้างเอเชีย มาสโตดอนอเมริกาซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว และแมมมอททุนดรา" ได้มีข้อสรุปในปี ค.ศ. 2010 ว่าช้างสะวันนาแอฟริกาและช้างป่าแอฟริกานั้น แท้จริงแล้วเป็นคนละสปีชีส์กัน โดยระบุว่า
        เราได้พิสูจน์อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าช้างเอเชียเป็นสปีชีส์พี่น้องของแมมมอททุนดรา การค้นพบอันน่าประหลาดใจจากการศึกษาของเรานั้นคือการวิวัฒนาการแยกออกจากกันของช้างสะวันนาและช้างป่าแอฟริกา ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นประชากรสองกลุ่มในสปีชีส์เดียวกัน นั้นเกิดขึ้นในอดีตนานพอ ๆ กับที่ช้างเอเชียวิวัฒนาการแยกออกจากแมมมอท และด้วยการวิวัฒนาการแยกออกจากกันแต่โบราณนี้เอง เราจึงสรุปว่าช้างสะวันนาและช้างป่าแอฟริกาควรจะถูกจัดเป็นคนละสปีชีส์กัน


^ ช้างป่าแอฟริกา ^

    ช้างป่าและช้างสะวันนาสามารถเกิดลูกผสมขึ้นได้ แต่เนื่องจากช้างทั้งสองชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกันจึงลดโอกาสที่จะผสมข้ามสปีชีส์ เนื่องจากช้างแอฟริกาเพิ่งจะได้รับการยอมรับว่าประกอบด้วยสองสปีชีส์ที่แตกต่างกัน กลุ่มของช้างที่ถูกจับยังไม่ได้รับการจัดประเภทอย่างทั่วถึงและบางเชือกอาจเป็นลูกผสมก็เป็นได้
    ภายใต้การจำแนกสองสปีชีส์ใหม่นี้ Loxodonta africana หมายความถึงแต่ช้างสะวันนา ซึ่งเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพศผู้มีความสูงระหว่าง 3.2 ถึง 4 เมตรเมื่อวัดจากพื้นถึงไหล่ และหนัก 3,500 กิโลกรัม โดยตัวที่หนักที่สุดนั้นมีบันทึกไว้ที่ 12,000 กิโลกรัม เพศเมียตัวเล็กกว่า สูงจากพื้นถึงไหล่วัดได้ 3 เมตร ช้างสะวันนามักจะพบได้ในทุ่งหญ้าเปิด บึงและริมทะเลสาบ มีถิ่นที่อยู่อาศัยครอบคลุมเขตซะวันนาแถบตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา
    ส่วนช้างอีกสปีชีส์หนึ่งนั้น คือ ช้างป่า (Loxodonta cyclotis) มักจะมีขนาดเล็กกว่าและกลมกว่า งาของมันจะบางกว่าและตรงกว่าเมื่อเทียบกับช้างสะวันนา ช้างป่าสามารถหนักได้ถึง 4,500 กิโลกรัม และสูงราว 3 เมตร ช้างชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าช้างสะวันนามาก เนื่องจากอุปสรรคทางธรรมชาติและทางการเมืองทำให้การศึกษาพวกมันเป็นไปได้ยาก โดยปกติแล้ว พวกมันจะอาศัยอยู่ในป่าฝนแอฟริกาที่หนาทึบที่อยู่ทางตอนกลางและทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา แม้ว่าในบางครั้งอาจพบพวกมันอยู่ตามชายป่าอยู่บ้าง และอาจทับซ้อนกับถิ่นที่อยู่และถิ่นผสมพันธุ์ของช้างสะวันนา ในปี ค.ศ. 1979 เอียน ดัคลาส-ฮามิลตัน ประเมินประชากรช้างแอฟริกาไว้ที่ 1.3 ล้านตัว การประเมินตัวเลขดังกล่าวเป็นที่โต้เถียงกันและเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริง แต่ตัวเลขดังกล่าวมักจะได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางและได้กลายมาเป็นเส้นฐานโดยพฤตินัยซึ่งมักใช้อย่างผิด ๆ ในการบอกจำนวนของประชากรช้างที่ลดจำนวนลง ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 Loxodonta ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเนื่องจากการลดจำนวนของประชากรกลุ่มใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นผลมาจากการล่าสัตว์ ตาม "รายงานสถานะช้างแอฟริกา พ.ศ. 2550" โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) นั้น พบช้างแอฟริกาอาศัยอยู่ในธรรมชาติระหว่าง 470,000 และ 690,000 ตัว ถึงแม้ว่าการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเพียงครึ่งหนึ่งของถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงจะสูงไปกว่านี้ เนื่องจากไม่คาดว่าประชากรกลุ่มใหญ่จะถูกค้นพบอีกในอนาคต จนถึงขณะนี้ประชากรช้างกลุ่มใหญ่ที่สุดพบได้ทางใต้และตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของช้างทั้งหมด จากการวิเคราะห์ล่าสุดโดยผู้เชี่ยวชาญของ IUCN นั้น ประชากรกลุ่มใหญ่จำนวนมากทางตะวันออกและใต้ของแอฟริกานั้นเสถียรหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ด้วยอัตราเฉลี่ย 4.5% ต่อปี
    ตรงกันข้ามกับประชากรช้างในแอฟริกาตะวันตกที่มักมีขนาดเล็กและอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และคิดเป็นสัดส่วนน้อยต่อประชากรช้างทั้งหมด ประชากรช้างในตอนกลางของแอฟริกานั้นยังไม่แน่ชัด ขณะที่ความหนาแน่นของป่าทำให้การสำรวจประชากรเป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่เชื่อว่าการบุกรุกเข้าไปล่าเอางาและเนื้อจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้ ประชากรช้างในแอฟริกาใต้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 8,000 เป็น 20,000 ตัวในรอบสิบสามปี หลังจากการห้ามค้างาช้างในปี ค.ศ. 1995

ช้างเอเชีย
    ช้างเอเชีย หรือเรียกว่า ช้างอินเดีย (Elephas maximus) มีขนาดเล็กกว่าช้างแอฟริกามาก มีหูเล็กกว่า และที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีเพียงเพศผู้เท่านั้นที่มางาขนาดใหญ่โผล่ออกมาให้เห็น


^ ช้างเอเชีย ^

    ประชากรช้างเอเชียทั่วโลกประเมินไว้อยู่ที่ราว 60,000 ตัว คิดเป็นหนึ่งในสิบของประชากรช้างแอฟริกา หรือหากจะกล่าวให้เจาะจงไปกว่านั้น โดยระหว่าง 41,410 และ 52,345 ตัวที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ และระหว่าง 14,500 และ 15,300 เชือกที่ถูกเลี้ยงไว้ในทวีปเอเชีย โดยอาจมีอีกราว 1,000 เชือกที่อยู่กระจัดกระจายไปตามสวนสัตว์ทั่วโลก เป็นไปได้ว่าช้างเอเชียอาจลดจำนวนลงในอัตราที่ช้ากว่าช้างแอฟริกา และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์และการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยจากการรุกล้ำของมนุษย์
    Elephas maximus ได้ถูกจำแนกออกเป็นหลายสปีชีส์ย่อย โดยอาศัยข้อมูลทางสัณฐานวิทยาและโมเลกุลเครื่องหมาย
       Elephas maximus maximus (ช้างศรีลังกา) พบได้เฉพาะบนเกาะศรีลังกา และเป็นช้างขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเชีย มีการประเมินว่าช้างศรีลังกานี้มีชีวิตเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 3,000-4,500 ตัวเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการสำรวจตัวเลขที่แน่ชัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพศผู้ตัวใหญ่นั้นสามารถหนักได้ถึง 5,400 กิโลกรัม และสูงกว่า 3.4 เมตร ช้างศรีลังกาเพศผู้มีกะโหลกนูนขนาดใหญ่มาก และทั้งสองเพศมีบริเวณรอยด่างมากกว่าช้างเอเชียอื่นทั้งหมด หู หน้า งวง และช่วงท้องจะมีหนังเป็นรอยด่างสีชมพูขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
       Elephas maximus indicus (ช้างอินเดีย) เป็นช้างเอเชียที่มีประชากรมากที่สุด มีอยู่ราว 36,000 ตัว ช้างเหล่านี้มีสีเทาอ่อน และมีรอยด่างเฉพาะบนหูและงวง เพศผู้ตัวใหญ่นั้นมีน้ำหนักระหว่าง 2,000-5,000 กิโลกรัม แต่มีความสูงเท่ากับช้างศรีลังกา ช้างอินเดียนี้สามารถพบได้ในประเทศเอเชีย 11 ประเทศ ไล่ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย พวกมันชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและบริเวณรอยต่อระหว่างป่ากับทุ่งหญ้า ซึ่งสามารถหาอาหารได้หลายชนิดกว่า
       Elephas maximus sumatranus (ช้างสุมาตรา) พบเฉพาะบนเกาะสุมาตรา มีขนาดเล็กกว่าช้างอินเดียและช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ มีประชากรอยู่ระหว่าง 2,100 ถึง 3,000 ตัว มีสีเทาจางและมีรอยด่างน้อยกว่าช้างเอเชียอื่น โดยมีจุดสีชมพูเฉพาะบนหูเท่านั้น ช้างสุมาตราตัวเต็มวัยมีความสูงจากพื้นถึงไหล่วัดได้ 2-3.2 เมตร และหนักระหว่าง 2,000-4,000 กิโลกรัม มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและถิ่นที่อยู่ปกคลุมด้วยต้นไม้บางส่วน
       Elephas maximus borneensis (ช้างแคระบอร์เนียว) เป็นสปีชีส์ย่อยใหม่ซึ่งได้รับการจำแนกในปี ค.ศ. 2003 มันมีขนาดเล็กกว่าและเชื่องกว่าช้างเอเชียอื่น ๆ มันค่อนข้างมีหูขนาดใหญ่กว่า หางยาวกว่าและงาตรงกว่า มีประชากรราว 1,500 ตัว

การสื่อสาร
    ช้างใช้เสียงหลายแบบในการสื่อสารกัน ช้างมีชื่อเสียงมากจากเสียงแผดเหมือนเสียงแตร (trumpet call) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช้างเป่าลมผ่านโพรงจมูกของมัน ช้างมักทำเสียงแตรดังกล่าวขณะที่ตื่นเต้น เสียงดังกล่าวสื่อความหมายได้หลายอย่างตั้งแต่การสะดุ้งตกใจ การร้องขอความช่วยเหลือไปจนถึงการแสดงความเดือดดาล ช้างยังได้ทำเสียงคำรามอย่างดังเมื่อพบกัน เสียงคำรามดังกล่าวกลายเป็นการแผดเสียงเมื่อเปิดปากและจะกลายเป็นเสียงครางหากทำเสียงต่อไป เสียงคำรามดังกล่าวอาจเสริมด้วยการทำเสียงดังลั่นขณะกำลังขู่ช้างตัวอื่นหรือสัตว์อื่น
    ช้างสามารถสื่อสารระหว่างกันในระยะไกลได้โดยการส่งและรับเสียงความถี่ต่ำ (อินฟราซาวน์) ซึ่งเป็นเสียงดังที่ต่ำกว่าความถี่ที่มนุษย์สามารถได้ยิน โดยจะเดินทางโดยอาศัยอากาศเป็นตัวกลางและผ่านพื้นดินไปได้ไกลกว่าเสียงความถี่สูง เสียงเหล่านี้มีความถี่ระหว่าง 15-35 เฮิรตซ์ และอาจมีความดังถึง 117 เดซิเบล ทำให้ช้างสามารถสื่อสารกันได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยเป็นไปได้ว่าจะมีพิสัยสูงสุดถึงราว 10 กิโลเมตร เสียงนี้สามารถสัมผัสได้โดยผิวหนังที่มีประสาทสัมผัสที่เท้าและงวงของช้าง ซึ่งรับการสั่นสะเทือนเข้าจังหวะมากพอกับบริเวณแบนราบบนหัวของกลอง ในการฟังเสียงนี้อย่างตั้งใจ สมาชิกของช้างในโขลงจะยกเท้าหน้าขึ้นจากพื้นดินหนึ่งข้าง และหันหน้าไปยังแหล่งที่มาของเสียง หรือบ่อยครั้งที่จะวางงวงของมันลงบนพื้น เป็นไปได้ว่าการยกขาดังกล่าวจะเพิ่มการสัมผัสพื้นดินและการรับสัมผัสของขาที่เหลือ ความสามารถดังกล่าวถูกคาดกันว่ายังช่วยการนำทางในช้างโดยการใช้แหล่งอินฟราซาวน์ภายนอกด้วย
    การค้นพบรูปแบบการติดต่อทางสังคมของช้างแบบใหม่และความเข้าใจนี้ทำให้มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีวิทยุ ซึ่งสามารถรับความถี่นอกเหนือไปจากระดับที่หูมนุษย์จะได้ยินได้ เคที เพยน์แห่งโครงการการฟังในช้าง ได้บุกเบิกวิจัยในการสื่อสารอินฟราซาวน์ในช้าง และได้ให้รายละเอียดในหนังสือของเธอชื่อ Silent Thunder (สายฟ้าเงียบ) แม้ว่าการวิจัยนี้จะยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่มันก็ได้ช่วยไขปริศนาหลายอย่าง อาทิเช่น ช้างสามารถหาช้างตัวที่มีศักยภาพจะเป็นคู่ได้อย่างไร และกลุ่มสังคมสามารถร่วมมือกันกำหนดทิศทางการเดินของมันผ่านระยะทางไกล ๆ ได้อย่างไร จอยซ์ พูลยังได้เริ่มต้นถอดรหัสการเปล่งเสียงของช้างที่ได้บันทึกไว้ตลอดหลายปีที่ได้สังเกต โดยหวังจะสร้างคลังศัพท์ที่อาศัยรายการเสียงช้างที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ
อาหาร
    ช้างเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร และใช้เวลากินมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน อาหารของช้างนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งตามฤดูกาลและที่แตกต่างกันไปตามแหล่งที่อยู่และพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วช้างกินใบไม้ เปลือกไม้ และผลไม้ของต้นไม้หรือพุ่มไม้เป็นอาหาร แต่ก็อาจกินหญ้าและสมุนไพรเข้าไปในปริมาณมากด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้องและไม่มีกีบเท้าอื่น ๆ ช้างย่อยอาหารได้เพียง 40% จากปริมาณทั้งหมดที่กินเข้าไปเท่านั้น ระบบการย่อยอาหารของพวกมันขาดประสิทธิภาพในแง่ปริมาตร ช้างตัวเต็มวัยบริโภค 140-270 กิโลกรัมต่อวัน
การนอนหลับ
    ช้างใช้เวลานอนหลับมากกว่าสามชั่วโมงเล็กน้อย โดยมีผู้อธิบายว่า ช้างใช้เวลาส่วนใหญ่กินอาหารเพราะขนาดตัวที่ใหญ่ของมัน

ที่่มา : //th.wikipedia.org/wiki

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley

Create Date :12 พฤศจิกายน 2555 Last Update :12 พฤศจิกายน 2555 11:53:52 น. Counter : 4461 Pageviews. Comments :0