bloggang.com mainmenu search

ต้อกระจก คืออะไร ?
ต้อกระจก คือการขุ่นของแก้วตา หรือเลนส์แก้วตา (LENS) ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีลักษณะใส โปร่งแสง
สามารถหักเหแสงไปรวมกันที่จอรับภาพได้ เมื่อเกิดต้อกระจกแสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ
ทำให้สายตามัวลง


รูปแสดงโรคต้อกระจกที่มีเลนส์ขุ่น ทำให้ภาพที่มองเห็นไม่ชัด ปกติเราจะมองไม่เห็นเลนส์แก้วตา
แต่ในคนที่เป็นต้อกระจกมาก ๆ อาจสังเกตเห็นเลนส์แก้วตาขุ่นขาวอยู่ตรงกลางตาดำได้

สาเหตุของต้อกระจก
ต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และพบได้ทุกเพศทุกวัย สาเหตุที่พบบ่อยๆ ได้แก่

   1. ต้อกระจกวัยชรา เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดต้อกระจก จากสถิติพบว่า
      ครึ่งหนึ่งของคนที่มีอายุครบ 60 ปี จะเริ่มมีต้อกระจกเกิดขึ้น แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป
      ในแต่ละบุคคล สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา
   2. ต้อกระจกที่เกิดจากอุบัติเหตุต่อลูกตา เกิดจากแรงกระแทกอย่างรุนแรง จากวัตถุมีคม
      หรือไม่มีคม เช่น โดนมีดปลายแหลม ปลายปากกา ตะปู โดนกำปั้นต่อย โดนลูกบอลหรือลูกเทนนิส
   3. เกิดร่วมกับโรคทางร่างกายบางโรคเช่นโรคเบาหวาน
   4. เกิดตามหลังการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น ยาสเตียรอยด์
   5. ต้อกระจกชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นในวัยเด็ก พบตั้งแต่เด็กคลอดออกมา เกิดในกรณีที่
      มารดามีไข้ออกผื่นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

อาการของโรคต้อกระจก
        ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวแบบค่อยเป็นค่อยไป มองเห็นสีจางลงหรือไม่สดใสเท่าที่เคยเห็น บางคนอาจสังเกต
เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเกิดการพร่าเวลาขับรถตอนกลางคืน โดยเฉพาะเมื่อมีรถยนต์อีกคันเปิดไฟจ้าวิ่งสวนมา
ต้อกระจกบางชนิดทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะมองไกลไม่ชัดแต่จะอ่านหนังสือได้ชัดโดย
ไม่ต้องใส่แว่น เป็นอาการที่เรียกว่า “ตากลับ” ทำให้ผูป่วยสูงอายุที่เคยใช้แว่นอ่านหนังสือเข้าใจผิดว่า
สายตาตัวเองดีขึ้น แต่ความจริงแล้วส่วนใหญ่คือเริ่มเป็นต้อกระจก

ต้อกระจกทำให้ตาบอดได้
        ในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้นาน ต้อกระจกอาจสุก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น ต้อหิน หรือมีการอักเสบ
ภายในลูกตา ทำให้มีตาแดงและปวดตาอย่างมากต้องรีบลอกต้อกระจกออกทันที ซึ่งหากปล่อยถึงระยะดังกล่าว
อาจทำให้เกิดตาบอดได้ การที่ต้อกระจกกลายเป็นต้อหินเพราะต้อกระจกพองตัวไปกดในทางระบายน้ำของลูกตา
หรือต้อกระจกละลายตัวแล้วเกิดการอักเสบในลูกตา

การรักษาต้อกระจก
       ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทาน หรือยาหยอดชนิดใดที่จัดว่าได้ผลดีในการรักษาต้อกระจก และยังไม่มีเลเซอร์
ที่สามารถสลายต้อกระจกได้
การรักษาหลักคือ การลอกหรือผ่าเอาต้อกระจกนั้นออกโดยจักษุแพทย์ ปัจจุบันนิยมผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อกระจก
โดยใช้เครื่องกำเนิดคลื่นเสียงความถี่สูง หลังจากผ่าเอาต้อกระจกซึ่งขุ่นมัวออกแล้ว จักษุแพทย์ก็จะนำเลนส์
แก้วตาสังเคราะห์ใส่แทนตำแหน่งเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเลนส์สังเคราะห์นี้จะ
ใสเหมือนกระจก แก้วตาเทียมนี้ไม่ต้องถอดออกมาล้างหรือเปลี่ยน และสามารถอยู่ได้ไปตลอดชีวิต

       การลอกต้อกระจกและใส่เลนส์เทียมสามารถทำได้ทุกระยะของต้อกระจก ขึ้นอยู่กับว่า
ต้อกระจกทำให้สายตามัวลงจนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการดำเนินชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด
เช่นผู้ป่วยที่ทำอาชีพที่ใช้สายตามากหรือทำงานละเอียดเช่นเป็นนักบัญชี ช่างนาฬิกา ช่างเจียระไนเพชร
อาจจะลอกต้อกระจกในระยะแรกที่มัวไม่มากเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสายตาปกติและประกอบอาชีพได้เร็วที่สุด
สำหรับอาชีพที่ไม่ต้องใช้สายตาละเอียดอาจรอระยะต้อกระจกได้นานกว่า เนื่องจากยังพอทำงานได้ทั้งๆที่สายตา
เริ่มมองไม่ชัด

ข้อดีของการใช้เครื่องสลายต้อกระจก

   1. แผลขนาดเล็กเพียง 3 มิลลิเมตร ทำให้ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
         1. ลดความเสี่ยงต่อเลือดออกในขณะผ่าตัด
         2. ลดการทำให้เกิดภาวะสายตาเอียงที่เกิดจากการเย็บแผล
         3. ลดความรู้สึกเคืองตาจากไหมที่เย็บหลังผ่าตัด
   2. จักษุแพทย์สามารถใช้ยาชาชนิดหยอดก่อนและในระหว่างการผ่าตัดเท่านั้นโดยไม่ต้องใช้ยาฉีดหรือยาสลบ
   3. แผลขนาดเล็กสามารถหายได้เร็ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถทำผ่าตัดแบบไป-กลับได้

ต้อกระจกสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่?
หลังทำผ่าตัดต้อกระจกไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีตามัวลง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถุงหุ้มเลนส์ที่เหลือไว้
อาจเกิดการขุ่นขึ้น(ไม่ใช่ตัวเลนส์เทียมขุ่น) ในรายเช่นนี้จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยเลเซอร์
เพื่อตัดแผ่นเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดการขุ่นมัวได้โดยง่าย และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที สามารถทำที่แผนกผู้ป่วยนอก
เป็นหัตถการที่ไม่เจ็บ(ใช้ยาชาหยอด) หลังยิงเลเซอร์ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย
การผ่าตัดต้อกระจก ปลอดภัยแค่ไหน

          การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน จัดได้ว่าปลอดภัยมากและให้ผลดีเกิน 90% ในหลาย ๆ แห่ง
ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ในวันเดียวกับที่ทำผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคตาอย่างอื่น เช่น ต้อหิน
หรือโรคทางร่างกายเช่นเบาหวานร่วมด้วย ผลการผ่าตัดอาจไม่ดีเท่าคนปกติ เนื่องจากมีความผิดปกติของจอตา
หรือขั้วประสาทตาอยู่ก่อน ทั้งนี้จักษุแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเป็นราย ๆ ไป

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก

   1. ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนเฉยๆอยู่กับเตียงตลอดเวลา
      ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การยกของหนักหรืองานที่ต้องก้มๆเงยๆ ควรระมัดระวังไม่ให้ตา
      ที่ทำผ่าตัดถูกกระแทกในช่วงแรก
   2. แนะนำให้ใช้แว่นกันแดดเพื่อช่วยลดแสงที่จ้าเกินไปในระยะหลังผ่าตัดใหม่ๆ
   3. หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องสวมแว่นสำหรับอ่านหนังสือ เนื่องจากเป็นภาวะสายตายาวปกติของผู้สูงอายุทั่วไป

บทสรุป

                ต้อกระจกเป็นสาเหตุของตาบอดที่ป้องกันได้ และง่ายต่อการรักษาในปัจจุบัน การผ่าตัดมักได้ผลดี
และปลอดภัยเกิน 90%

ที่มา : //www.eyebankthai.com

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับSmiley

Create Date :12 กรกฎาคม 2555 Last Update :12 กรกฎาคม 2555 9:46:03 น. Counter : 6187 Pageviews. Comments :4