bloggang.com mainmenu search

ความกังวล, ความเครียด, ย้ำคิดย้ำทำ, การกลัวแบบไม่มีเหตุผล, ภาวะตื่นตกใจ, ความเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายแรง

ความเครียด (Anxiety / Stress) เป็นบ่อเกิดและตัวกระตุ้นสำคัญของอาการและโรคด้านสุขภาพจิตหรือจิตเวชหลายโรค ซึ่งโดยปกติแล้ว คนทั่วไปสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตได้ โดยคนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการปรับตัว 3 เดือนโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เกิดเป็นความเครียดสะสมเรื้อรัง เกิดเป็นโรคเครียด หลายรายพัฒนาเป็นอาการทางร่างกาย อาทิ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดเกร็ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ความอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรงโดยที่ไม่มีโรคทางร่างกายอย่างชัดเจน น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงอย่างมาก หรือมีพฤติกรรมเชิงสังคที่แตกต่างไปจากเดิม หลายรายเกิดเป็นปัญหาทางอารมณ์ หงุดหงิดง่าย อารมณ์ร้าย ขี้น้อยใจ ซึมเศร้า หรือหลายรายเกิดเป็นปัญหาทางความคิด เป็นต้น

รูปแบบของความเครียดในคนปกติทั่วไป มีอยู่สองรูปแบบ

1. ความเครียดแบบฉับพลันทันที (Acute Stress)

มักมีอาการตื่นเต้น วิตกกังวล ใจสั่น มือสั่น ตัวเย็น หลายรายเกิดสภาวะแพนิค (Panic) คือ กังวลแล้ว ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ท้องใส้ปั่นป่วน หรือหน้ามืด ความเครียดแบบฉับพลันทันทีนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนส่วนใหญ่ทั่วไป โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือสถานการณ์ที่สำคัญต่อการงานหรือชีวิต หรือสถานการณ์ที่เป็นอันตราย อาทิ สถานการณ์การพูดปราศัยต่อหน้าผู้คนจำนวนมากโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า สถานการณ์การติดอยู่ในลิฟท์ เป็นต้น แต่สำหรับบางคนแล้วเมื่อมีอาการข้างตน จะไม่สามารถควบคุมตนเองและความวิตกที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งทำให้อาการวิตกมากขึ้น

2. ความเครียดสะสม (Collective Stress and Anxiety)

เมื่อมีความวิตกกังวลหรือความเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจเกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือจากการทำงานแต่ละวันสะสมไปโดยไม่มีการผ่อนคลายอย่างสมดุล ความเครียดสะสมอาจก่อให้เกิด

สภาวะ Burn-Out จากการทำงาน จะมีอาการวิตกกังวล เครียด และอารมณ์เศร้าผสมกันไป โดยจะมีอาการเบื่อหน่ายต่องานปัจจุบัน อาจทำงานอย่างหนักมาเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการดูแลหรือการชมเชยที่เหมาะสม บางรายทำงานน้อยเกินกว่าความต้องการ ก็สามารถเกิดความเบื่อหน่าย และรู้สึกไร้ค่าในที่ทำงานได้เช่นกัน อาการที่ควรสังเกตุ ได้แก่ ความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องงานก็ได้ อาการย้ำคิดถึงบางเรื่องอย่างมาก สมาธิในการทำงานลดลง ความจำลดลง รู้สึกอ่อนแรงเกือบตลอดเวลา นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาการนอนหลับ รู้สึกน้อยใจ ไร้ค่า อารมณ์เศร้า ความสนใจในสิ่งต่างๆ ลดลง ฯลฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมส่วนอื่นในชีวิต เช่น ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ด้วย อาการหรือโรคทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดหลังและไหล่ หลายรายมีอาการปวดท้องและสภาวะกระเพาะและลำไส้บิดตัวผิดปกติ เนื่องมาจากความเครียด เป็นต้น

การที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากบุคลิกภาพพื้นฐานของแต่ละบุคคล ว่ามีความสามารถในการปรับตัวอย่างไร นอกเหนือจากความเครียดทั้งสองแบบข้างต้นแล้ว ยังมีโรคและกลุ่มอาการที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียด ได้แก่

โรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียด

1. โรควิตกกังวล หรือโรคเครียด (Gernalized Anxiety Disorder - GAD)

วิตกกังวลอย่างมากกับสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องของตนเองและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น หรือกังวลกับอนาคต ผลลัพท์หรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คิดย้ำๆ ซ้ำๆ ถึงเรื่องดังกล่าวเกือบตลอดเวลา ความกังวลดังกล่าวต้องมีมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น กังวลมากจนนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิทำงาน หรือเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย เป็นต้น เมื่อกังวลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจมีแนวโน้มที่จะกังวลถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก กังวลต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น อาการปวด ปัญหาการนอน (นอนไม่หลับ, สะดุ้งตื่นกลางดึก, หรือนอนหลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมาจะรู้สึกอ่อนเพลีย) การใช้สมาธิลดลง เป็นต้น

2. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder - OCD)

มีลักษณะความคิดวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก และคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการย้ำคิด มักจะมีการพูดบ่นถึงความวิตกนั้นซ้ำๆ เช่นกัน มีลักษณะพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความกังวลในข้อแรก ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง มากกว่าคนส่วนใหญ่ทั่วไป
อาทิ คิดกังวลว่าจะติดเชื้อโรคหรือความสกปรกจากสิ่งที่ใช้ร่วมกับคนอื่น ซึ่งอาจมีพฤติกรรมล้างมือซ้ำๆ (มากกว่า 2 หรือ 3 ครั้ง) วันละหลายๆ รอบ หรือคิดกังวลว่าจะลืมปิดล็อคประตูรถ ซึ่งจะมีพฤติกรรมตรวจเช็คประตูรถซ้ำแล้วซ้ำอีก มากกว่า 2 หรือ 3 ครั้ง และเมื่ออยู่ห่างจากรถก็จะคิดวิตกกังวลมากว่าประตูล็อคดีหรือไม่เกิดความไม่สบายใจวิตกกังวลรบกวนชีวิตประจำวัน

3. โรคแพนิค หรือโรคตื่นกลัว (Panic Disorder)

อาการคล้ายกับความเครียดแบบฉับพลันทันที คือ มีอาการตื่นเต้น วิตกกังวล ใจสั่น มือสั่น ตัวเย็น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ท้องใส้ปั่นป่วน หรือหน้ามืดเป็นลม หลายรายมีความกลัวร่วมด้วยว่า ตนเองอาจเสียชีวิตได้จากอาการแน่นหน้าอกหรือภาวะหายใจติดขัด ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแพนิคบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวหรือวิตกกังวลอย่างมาก อาทิ การกลัวที่แคบ ซึ่งหากผู้ที่เป็นโรคแพนิคกลัวที่แคบ แล้วจำเป็นต้องเผชิญกับที่แคบ เช่น ลิพท์โดยสาร การขึ้นทางด่วน การนั่งเครื่องบินโดยสารเล็กแล้ว จะเกิดอาการแพนิค ต่อสิ่งนั้น ส่วนใหญ่จะกลัวว่าหากเข้าลิพท์ หรือขึ้นทางด่วน หรือขึ้นเครื่องบินแล้ว จะไม่สามารถหนีออกมาได้หรือจะไม่มีใครช่วยตนเองได้หากมีปัญหาหรืออาการ

4. โรคกลัวบางสิ่งบางอย่าง (Phobia Disorder)

จะมีอาการคล้ายกับโรคแพนิค แต่โรค Phobia นี้จะเกิดขึ้นกับสิ่งของหรืออะไรบางอย่าง อย่างเฉพาะเจาะจง ที่คนส่วนใหญ่ไม่กลัวกัน เช่น กลัวแมงมุม ผู้ที่เป็นโรคกลัวแมงมุม จะมีอาการวิตกกังวลและกลัวอย่างมาก มากกว่าคนส่วนใหญ่ทั่วไป เมื่อต้องเผชิญกับแมงมุม หรือเมื่อรู้ว่าจะต้องเผชิญกับแมงมุม ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอดีตฝังใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ หรือมีประสบการณ์การเรียยรู้ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

5. โรคเครียดภายหลังเผชิญภยันตราย (Post Traumatic Stress Disorder - PTSD)

มีประสบการณ์การเผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็นภยันตราย หรือร้ายแรง อาทิ ภัยพิบัติธรรมชาติ (แผ่นดินไหว ซึนามิ น้ำท่วม โคลนถล่ม อุบัติเหตุรถชนใหญ่ร้ายแรง เครื่องบินตก ฯลฯ) หรือมีประสบการณ์เลวร้ายในอดีต (Trauma เช่น การถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกทรมาน ฯลฯ) มีอาการเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ร้ายผ่านไปแล้ว (บางรายพบว่ามีอาการเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เป็นปี หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้ระลึกถึง) อาการ ได้แก่ วิตกกังวล กลัวอย่างมาก อาการแพนิค อาการนอนไม่หลับ ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำๆ มีความรู้สึกอย่างที่เคยรู้สึกในเหตุการณ์นั้นอีกซ้ำๆ หรือนึกเห็นภาพที่เลวร้ายซ้ำๆ อารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ หมดหวัง เกิดความกลัวที่จะออกนอกบ้าน หรือเข้าใกล้สถานที่หรือบุคคลที่มีลักษณะคล้ายกับสิ่งร้ายในอดีต

การบำบัดรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวกับความเครียด โดยคลินิกเฉพาะโรค

ยาบำบัด จิตบำบัด การให้การปรึกษา พฤติกรรมบำบัด การฝึกคลายเครียด ดนตรีบำบัด

 

ที่มา : //www.bangkokhospital.com

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับSmiley

Create Date :17 เมษายน 2555 Last Update :9 กุมภาพันธ์ 2556 21:07:41 น. Counter : Pageviews. Comments :1