bloggang.com mainmenu search




กระดูกต้นขาหัก

จุดมุ่งหมายของการรักษากระดูกหัก …

ทำให้กระดูกที่หักเมื่อหายแล้ว กลับมาอยู่ในสภาพที่ ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

เกิดผลข้างเคียง น้อยที่สุด

ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตเหมือนปกติได้ เร็วที่สุด


จะเลือกวิธีการรักษาวิธีไหนดี …

แพทย์จะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

• อายุเท่าไร สภาพร่างกายแข็งแรงดีหรือไม่ มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงหรือไม่

• กระดูกหักที่ตำแหน่งไหนแตกเข้าข้อหรือไม่

• หักมากหรือน้อยอย่างไร แล้วมีการเคลื่อนที่ไปจากเดิมมากหรือน้อยขนาดไหน

• มีแผลที่บริเวณกระดูกที่หักด้วยหรือไม่



ต้องผ่าตัดหรือไม่ …

1. ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 6 ปี

มักจะรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก โดยช่วงแรกจะใช้ผ้าพันขาดึงถ่วงน้ำหนักไว้ แล้วใส่เฝือก ตั้งแต่ระดับเอวจนถึงปลายเท้า ขณะใส่เฝือกต้องฉีดยาสลบด้วยจะได้ไม่ปวด เมื่อใส่เฝือกและเอ๊กซเรย์แล้วพบว่ากระดูกอยู่ในแนวที่ใกล้เคียงกับปกติ ก็กลับบ้านได้ ส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาล 2-3 วัน แต่จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์

หลังใส่เฝือก กระดูกต้นขาจะไม่เข้าที่ (กระดูกซ้อนกัน) ทำให้ขาสั้นลงกว่าข้างปกติ แต่เมื่อเด็กอายุมากขึ้น กระดูกต้นขาข้างที่หัก ก็จะค่อย ๆ ยาวขึ้นจนเท่ากับข้างปกติ

2. ผู้ป่วยอายุ 6 - 10 ปี มีทางเลือกในการรักษา หลายอย่าง เช่น

2.1 ใส่เฝือก แต่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะ ถ้าเด็กตัวใหญ่ หรือ กระดูกเคลื่อนที่มาก

2.2 ใส่ลวดดึงกระดูกและถ่วงน้ำหนักไว้จนกระดูกเริ่มติดจึงใส่เฝือก วิธีนี้ไม่นิยมเพราะต้องนอนพักนาน

2.3 ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ลวด แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก เป็นต้น

3. ผู้ป่วยอายุมากกว่า 10 ปี

วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก เช่น แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก เป็นต้น



ถ้าแพทย์แนะนำให้ผ่า แต่ถ้าไม่ผ่าตัดจะเป็นอย่างไร …

• กระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ทำให้ขาสั้นลงกว่าเดิม

• ขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะต้องพักนาน ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้เต็มที่

• เดินไม่ได้ หรือ เดินกระเผลก เพราะขาสั้นลง หรือ กระดูกไม่ติด


หลังผ่าตัด แล้วแพทย์จะนัดมาตรวจซ้ำ เมื่อไร …

นัดครั้งแรก หลังผ่าตัดประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อ ตัดไหมที่แผล ดูการเคลื่อนไหวของข้อและการเดิน

นัดครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน เพื่อแนะนำวิธีทำกายภาพบำบัด และ เอ๊กซเรย์ เพื่อดูว่ากระดูกเคลื่อนที่ไปจากเดิมหรือไม่ มีการสร้างกระดูกขึ้นใหม่หรือไม่ เหล็กที่ใส่ไว้เป็นอย่างไร

นัดครั้งต่อไป ทุก 1-2 เดือน เพื่อ เอ๊กซเรย์กระดูก จนกว่ากระดูกติดสนิทดี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4- 6 เดือน



แนวทางการรักษาด้วยวิธี ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกต้นขา …


ช่วงที่หนึ่ง ระยะดึงถ่วงน้ำหนัก

เพื่อทำให้กล้ามเนื้อต้นขายืดออก และ กระดูกที่หักไม่เคลื่อนไหว ซึ่งจะดึงไว้จนถึงวันผ่าตัด มีวิธีดึง 2 แบบคือ

1.แบบผ้าพันขาแล้วถ่วงน้ำหนัก ใช้ในเด็ก เพราะสามารถใช้น้ำหนักถ่วงได้แค่ 1 - 3 กิโลกรัมเท่านั้น

2.แบบใส่ลวดที่กระดูกหน้าแข้ง ใช้ในผู้ใหญ่ โดยแพทย์จะฉีดยาชา แล้วใส่ลวด จะถ่วงน้ำหนักได้ 5 -10 กิโลกรัม

ช่วงที่สอง ระยะผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก

ก่อนวันผ่าตัด เจาะเลือดผู้ป่วย เพื่อตรวจเลือดและจองเลือด 1-2 ถุงเผื่อจำเป็นต้องใช้หลังผ่าตัดและให้น้ำเกลือ

หลังเที่ยงคืนต้อง งดอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันการอาเจียนขณะดมยาสลบ

วันผ่าตัด ผู้ป่วยจะถูกพาไปที่ห้องผ่าตัด ได้รับการฉีดยาสลบ และ ใส่ท่อช่วยหายใจ

แพทย์ผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกให้เข้าที่และใส่เหล็กดามกระดูก เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะใส่สายสำหรับดูดเลือดที่ค้างในแผลผ่าตัดมาใส่ไว้ในขวด

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะกลับมาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย ถ้าปวดมากก็ขอยาฉีดหรือยากินแก้ปวดได้ ถ้าเสียเลือดมากก็จะได้รับเลือดทดแทน

ช่วงที่สาม ระยะพักฟื้นและทำกายภาพบำบัด

วันแรกหลังการผ่าตัด จะทำความสะอาดแผล และดึงสายสำหรับดูดเลือดที่ใส่ไว้ออก ผู้ป่วยต้องลุกนั่งบ่อย ๆ

วันที่สอง จะได้รับการสอนและทำกายภาพบำบัด เช่น วิธีบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า การนั่ง ยืน และ วิธีเดิน โดยใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินโดยลงน้ำหนักบางส่วน


หลังรักษาต้องทำอย่างไร … ?

นอกจากรักษาโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อเข่าหรือข้อเท้าเคลื่อนไหวได้น้อย กล้ามเนื้อลีบ กระดูกไม่ติด กระดูกติดช้า เป็นต้น ซึ่งต้องเริ่มทำทันทีหลังผ่าตัด แม้ว่าจะปวดบ้างก็ต้องพยายามทำเพราะถ้ารอให้หายปวดก็เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

เวลายืนหรือเดิน ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงและลงน้ำหนักบนขาที่หักพอสมควร จะต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงเดินจนกว่าแพทย์จะบอกให้เลิกใช้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 เดือน (เมื่อเอ๊กซเรย์แล้วกระดูกติดสนิท มองไม่เห็นรอยกระดูกที่หัก) ถ้าไม่เช่นนั้น กระดูกที่พึ่งเริ่มติดและเหล็กที่ใส่ไว้อาจจะหัก ทำให้ต้องมาผ่าตัดใหม่ซ้ำอีกครั้ง

เวลานอน ใช้หมอนรองขาข้างที่ผ่าตัดให้ยกสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมและอาการปวด ที่ขาและเท้า

ทำกายบริหาร ควรทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย

3.1 นอนหงาย เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อขา ให้เกร็งค้างไว้นานสิบวินาที แล้วพัก (นับ 1 – 10 ดัง ๆ )

3.2 นอนหงาย ขยับข้อสะโพก งอ-เหยียด กาง-หุบ

3.2 นั่งห้อยขา ขยับข้อเท้า ขึ้น-ลง หมุนเข้า-หมุนออก

3.3 นั่งห้อยขา ขยับข้อเข่า เหยียดเข่าขึ้นให้มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วงอเข่าลงให้มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10ถ้าปวดมากอาจใช้ข้อเท้าขาข้างดีซ้อนใต้ข้อเท้าของขาข้างที่หักเพื่อช่วยยกขาขึ้น และ กดบนข้อเท้าข้างที่หักเพื่อให้งอลง

ถ้าไม่รู้สึกว่าปวดมาก ก็อาจจะใช้น้ำหนัก ประมาณ 1 - 5 กิโลกรัมถ่วงไว้ที่บริเวณข้อเท้า แล้วบริหารซ้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น และหายอย่างใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด …

Create Date :18 มีนาคม 2551 Last Update :29 กรกฎาคม 2561 21:20:01 น. Counter : Pageviews. Comments :3