bloggang.com mainmenu search

กระดูกไหปลาร้าหัก

กระดูกไหปลาร้า เป็นตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย แต่มักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง และ ไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน ยกเว้น เวลาหายแล้ว จะมีกระดูกติดซ้อนกันทำให้กระดูกนูนขึ้น ไม่เรียบเหมือนปกติ

กระดูกไหปลาร้าหักมักเกิดจากการเอามือเท้าพื้นขณะเกิดอุบัติเหตุ หรือ ถูกกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้า

บริเวณกระดูกที่หัก จะมีอาการปวด โดยเฉพาะเมื่อต้องขยับไหล่ ขยับแขน หรือ เวลาหายใจแรง ๆ และจะมีอาการบวม กดเจ็บ หรือ คลำได้ปลายกระดูกที่หัก บางครั้งอาจได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกันเวลาขยับไหล่

วิธีรักษามีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

ดังนั้นจึงควรปรึกษาและสอบถามรายละเอียดกับแพทย์ผู้ให้การรักษาท่านโดยตรงอีกครั้งหนึ่งว่า ควรจะรักษาด้วยวิธีไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าจะเลือกรักษาวิธีอื่นผลจะเป็นอย่าไร เพื่อท่านจะได้ทราบถึงวิธีรักษาและ ให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะเลือกรักษาวิธีไหนนั้น ท่านต้องตัดสินใจ ด้วยตนเอง


แนวทางรักษากระดูกหัก


1.วิธีไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มักไม่ต้องผ่าตัด

• รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ

• อุปกรณ์พยุงไหล่ เช่น ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขน ผ้ารัดไหล่รูปเลขแปด เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกหัก จะได้ไม่ปวด เท่านั้น ไม่ได้ใส่เพื่อมุ่งหวังจะทำให้กระดูกเข้าที่เหมือนปกติ ดังนั้นเมื่อรักษาหายแล้ว กระดูกจะติดผิดรูปทำให้กระดูกนูนกว่าปกติ แต่มักจะไม่มีปัญหาในการใช้งาน

• ปกติจะใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์ ถ้าต้องการเอาอุปกรณ์พยุงไหล่ ออกเป็นช่วง ๆ เช่น อาบน้ำ หรือ เวลานอน ก็เอาออกได้ เพียงแต่อาจมีอาการปวดบ้างเวลาขยับไหล่




2.วิธีผ่าตัด ซึ่งอาจแบ่งเป็น

2.1 ผ่าตัดทำความสะอาดบาดแผลแต่ไม่ใส่เหล็ก แล้วใส่เครื่องพยุงไหล่ไว้

2.2 ผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อยึดตรึงกระดูก มีหลายชนิดเช่น ลวด แผ่นเหล็ก แกนเหล็ก

ข้อบ่งชี้ที่ควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น

• กระดูกหักหลายชิ้น หรือแตกเข้าข้อ

• มีการเคลื่อนของกระดูกที่หักไปมาก โดยเฉพาะ หักในบริเวณ ส่วนปลายกระดูกไหปลาร้า (ด้านข้อไหล่)

• มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก

• กระดูกไม่ติด และ มีอาการปวดเวลาขยับไหล่


อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน ...

1. มือบวมมาก รู้สึกชาที่บริเวณปลายนิ้วมือ หรือ รู้สึกแขนอ่อนแรง

2. ปวดไหล่ หรือ ปวดแขนมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

3. มีไข้สูง แผลบวมหรือมีหนอง ปวดแผลมาก



ข้อแนะนำการบริหารข้อไหล่

1. ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาลงแล้ว เริ่มด้วยจำนวนครั้งน้อย ๆ และทำในท่าแรก ๆ ก่อน เช่น ลองทำท่าที่ 1-3 ก่อนสัก 1-2 อาทิตย์ ถ้าไม่ปวดก็เพิ่มทำท่าที่ 1-5 แล้วถ้าไม่ปวดก็ค่อยทำจนครบทั้งหมด

2. ขณะออกกำลัง ถ้าปวดมากจนทนไม่ไหว ก็ให้ลดจำนวนครั้งลง หรือหยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อนจนอาการปวดดีขึ้น จึงค่อยเพิ่มจำนวนขึ้น อย่าหักโหมหรือทำอย่างรุนแรง รวดเร็ว

3. ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันอย่างน้อย 2-3 รอบ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นจึงเพิ่มจำนวนครั้งในแต่ละวันมากขึ้น

4. ในระหว่างการบริหารหรือการเกร็งกล้ามเนื้อ อย่ากลั้นหายใจ เพราะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งสามารถป้องกันการกลั้นหายใจโดยให้ออกเสียงนับ หนึ่งถึงห้า หรือ นับหนึ่งถึงสิบ ดัง ๆ ขณะบริหาร


ท่ากายบริหารข้อไหล่

1. ท่าหมุนข้อไหล่

ยืนก้มหลังลงเล็กน้อย (อาจใช้มืออีกข้างจับโต๊ะเพื่อช่วยพยุงตัว) หรือ นอนคว่ำอยู่บนเตียง แล้วปล่อยแขนห้อยลงตรง ๆ ค่อย ๆ หมุนแขนเป็นวงกลม ให้หมุนเป็นวงที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ หมุนประมาณ 10 รอบแล้วพัก ทำซ้ำ 10 เที่ยว

2. ท่าเคลื่อนไหวไหล่ทุกทิศทาง

ก. ยกแขนไปด้านหน้า ข้อศอกเหยียดตรง ยกสูงจนเสมอกับหัวไหล่ ค้างไว้นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 เที่ยว

ข. ยกแขนไปด้านหลัง ข้อศอกเหยียดตรง ยกให้สูงมากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 เที่ยว

ค. ยกแขนไปด้านข้าง ข้อศอกเหยียดตรง กางแขนให้สูงมากที่สุด จนเสมอกับหัวไหล่ ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วหุบแขนลงจนแนบลำตัว ทำซ้ำ 10 เที่ยว

ง. หุบแขนแนบลำตัว งอข้อศอกตั้งฉากให้มือชี้ตรงไปข้างหน้า แล้วหมุนไหล่ให้ แขนบิดหมุนออก มากที่สุด ค้างไว้ นับ1-10 แล้วหมุนไหล่ให้ แขนบิดหมุนเข้า มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 ทำสลับกัน 10 เที่ยว

3. ท่าชักรอก

นำเชือกคล้องผ่านรอกเหนือศีรษะทางด้านหน้า ใช้มือจับปลายเชือกทั้งสองข้างแล้วใช้แขนข้างที่ไม่ปวดดึงเชือกลง เพื่อยกแขนข้างที่ปวดขึ้น ให้ยกสูงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อย ๆ หย่อนเชือกลง ทำซ้ำ 10 เที่ยว

4. ท่ายกไม้

เริ่มต้นโดยใช้ไม้พลอง ที่หนักพอสมควร ยาวประมาณ 2-3 ฟุตและมือกำได้ถนัด ยื่นแขนและเหยียดข้อศอกตรงไปข้างหน้า ใช้มือทั้งสองข้างจับไม้พลองโดยให้แขนทั้งสองข้างขนานกัน

ยกแขนขึ้น-ลง ด้านหน้า ยกแขนขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค้างไว้ นับ 1-10 เมื่อครบแล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็น ยกแขนขึ้น-ลง ด้านหลัง ยกแขนขึ้นมากที่สุดค้างไว้นับ 1-10 เมื่อครบแล้วปล่อยลงทำซ้ำ10 ครั้ง

ยกแขนสูงเหนือศีรษะ แล้วเอียงไปด้านซ้ายให้มากที่สุด สลับกับเอียงไปด้านขวาให้มากที่สุด ทำข้างละ 10 ครั้ง

5. ท่านิ้วไต่ผนัง

ก. ยืนหันหน้า เข้าผนัง ห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุต เอามือวางที่ผนังแล้วใช้นิ้วไต่ผนังขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สูงมากที่สุดเท่าที่จะทนปวดได้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ วันต่อมาก็พยายามทำให้สูงกว่าเดิม อย่าเขย่งหรือเอียงตัว

ข. ยืนหัน ด้านข้าง เข้าผนัง ห่างประมาณ 1 ฟุต เอามือวางที่ผนังแล้วใช้นิ้วไต่ผนังขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้สูงมากที่สุด เท่าที่จะทนปวดได้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ วันต่อมาก็พยายามทำให้สูงกว่าเดิม อย่าเขย่งตัวหรือเอียงตัว



ภาพ วิธีบริหาร ไหล่

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-07-2008&group=11&gblog=7


แถม ..
ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???    
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด    
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ??? .... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???" ....   
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

กระดูกหัก ผ่า - ไม่ผ่า อย่างไหนดีกว่ากัน    
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=6&gblog=2

กระดูกหัก รักษาอย่างไรดี    
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=6&gblog=1

กระดูกหักเมื่อไรจะหาย    
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-01-2008&group=6&gblog=4

การดูแล หลังผ่าตัดกระดูก   
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-01-2008&group=6&gblog=3


Create Date :02 กุมภาพันธ์ 2551 Last Update :30 กันยายน 2558 21:51:36 น. Counter : Pageviews. Comments :4