bloggang.com mainmenu search


แฟชั่น (Fashion) เมื่อก่อนสังคมเข้าใจว่าคือ เรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่ในช่วงหลังๆกลายมาเป็น “นิยามสรุป” สำหรับการกระทำ การพูด การแสดงออก การใช้ชีวิต การทำธุรกิจ ฯลฯ ที่ทำตามๆกัน โดยอาจมีต้นแบบจากต่างชาติ หรือคนชั้นนำแนวหน้าในสังคมว่า “เป็นการกระทำตามแฟชั่น”

และเมื่อการกระทำนั้นมันเป็น “แฟชั่น” และมีอิทธิพลให้คนคล้อยตาม หลงทำตาม ทำตามโดยขาดดุลยพินิจ ขาดการให้แนวคิดที่ถูกต้อง มุ่งหวังทางการให้เสพตาม “แฟชั่น” นั้น อาจกลายเป็นแบบอย่างที่นำไปสู่การสร้างภาพของสังคมเสื่อม และผู้คนทรามได้

อีกคำหนึ่งที่กำลังเริ่มนำมาใช้พูดหรือเป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดคือ “ภาพลักษณ์” (Image : the way that something or someone is thought of by other people)

ภาพลักษณ์เป็นภาพสะท้อนที่ผู้สัมผัสรู้ลึกซึ่งตัวตนของผู้ส่งภาพรวมของภาพลักษณ์ ทำให้มีข้อสรุปในใจว่าคนๆนั้น ผลิตภัณฑ์นั้นๆ องค์กรนั้นๆ นักการเมืองนั้นๆ รัฐมนตรีนั้นๆ และนายกรัฐมนตรีนั้นๆ เป็นคนอย่างไร

ด้วยภาพของลักษณะที่สัมผัสมีข้อสรุปในใจ และนำไปบอกเล่าต่อ ก็กลายเป็น “ภาพพจน์” คือ “การพูดจา วิจารณ์ เกี่ยวกับภาพดี ภาพด้อย ภาพบวก ภาพลบ ของภาพลักษณ์ที่เราสัมผัส”

นิยามของ “มนุษย์” ถูกกำหนดไว้ว่าคือ สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง





คำว่า “เหตุผล” หรือ “จิตใจสูง” มันจึงเป็นภาพสะท้อนอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์แต่ละคนในบทบาทและหน้าที่ ที่มีสภาวะแตกต่าง และควรต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดภาพรวมเป็นภาพลักษณ์ที่เหมาะสม คือ

1. ภาพลักษณ์ที่เกิดจากรูปแบบวิถีชีวิตส่วนตน จะสะท้อนสไตล์และภาพลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนๆนั้น (Personal Lifestyle will reflect Personal Style & Image)

2. ภาพลักษณ์ที่เกิดจากรูปแบบเฉพาะวิชาชีพ จะสะท้อนสไตล์และภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพในอาชีพที่ทำของคนๆนั้น (Career Lifestyle will reflect Career Style & Image)

3. ภาพลักษณ์ที่เกิดจากรูปแบบเฉพาะองค์กร หน่วยงานรัฐ ชุมชน อันรวมหมดทั้งสถานที่ทำงานประจำ สถานที่ไปพบปะหารือด้านกิจการงานจะสะท้อนสไตล์และภาพลักษณ์องค์กร หน่วยงาน สังคม ชุมชนที่คนๆนั้นมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ (Workplace Lifestyle will reflect Workplace/ Corporate/ Community Style & Image)

4. ภาพลักษณ์ที่เกิดจากรูปแบบเฉพาะ วัฒนธรรมเฉพาะสังคม ขององค์กร หน่วยงานรัฐ ชุมชน ซึ่งต้องมาปรากฏตัวเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ทั้งระหว่างผู้คนในประเทศและระหว่างประเทศ จะสะท้อนภาพลักษณ์ทางสังคมของคนๆนั้นว่า เป็นคนที่เข้ากับสังคมที่ตนไปปรากฏตัว หรือมีส่วนร่วม หรือมีภารกิจต้องดูแล (Social Lifestyle will reflect Social Style & Image)

ด้วยภาพลักษณ์ที่มีสภาวะแตกต่างกันทั้งสี่ แต่ต้องหลอมรวมจัดสมดุลอยู่ในตัวคนๆเดียว ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ภาพสะท้อนจะไปสร้างอารมณ์และความรู้สึกจากผู้คนรอบด้าน ให้มีนิยามและคำจำกัดความสรุปของภาพลักษณ์ของคน หน่วยงาน ชุมชน องค์กร บริษัท ประเทศชาติว่าเป็นอย่างไร





ชื่อว่าในขณะนี้มีบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ ที่สำคัญของสังคมและประเทศชาติเรา ซึ่งต้องปรากฏตัวในสังคมด้วยบทบาทและหน้าที่สำคัญ กำลังสับสนและเสพติด “แฟชั่นหลงตัวตน” จัดสมดุลนำเสนอภาพสะท้อนทั้งสี่ในอัตราส่วนที่ไม่ลงตัว โดดเด่นไปในภาพลักษณ์ความเป็นตัวตน (Real Personal Image) โดยลืมว่าตอนนี้ภาพลักษณ์อาชีพที่แท้จริงตอนนี้ (Right Career Image) ไม่ใช่อาชีพเดิม ขณะเดียวการสถานที่ที่ไปปรากฏตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่การงานในอาชีพนั้น ก็ต้องเป็นภาพสะท้อนที่สนับสนุนภาพลักษณ์ที่แท้จริงขององค์กร (Right Corporate Image) ที่ไม่ใช่บ้านของตนหรือที่ทำงานเดิมของตนเสียแล้ว

และท้ายที่สุด ต้องไม่ลืมว่าต้องปรากฏกายในสังคมที่ต้องการเห็นภาพลักษณ์ที่ถูกต้องทางสังคม (Right Social Image) ในบทบาทของตำแหน่งหน้าที่อาชีพใหม่ ที่ทำงานใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป็นบทบาท อาชีพ หรือที่ทำงานส่วนตัว ที่จะแสดงออกตามความพอใจและเป็นตัวตน (ไม่ใช่คิดว่า.. “ก็ผมมาถึงวันนี้ก็เพราะผมเป็นแบบนี้ และทำไมผมจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ล่ะ ..?? )

ไม่ใช่แค่นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี แต่รวมหมดของคนในสังคมที่มีอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ศิลปิน ดารา ไฮโซ สื่อสารมวลชนทุกประเภท ที่ต้องมาทบทวนประเมินภาพรวมของภาพลักษณ์ตนเองในปัจจุบัน ที่อาจกำลังสร้างมลภาวะที่เลวร้ายต่อสังคม และคนบริสุทธิ์ที่สัมผัสผ่านสื่อต่างๆ ว่า กำลังนำเสนอภาพรวมเป็น “แฟชั่นหลงตัวตนที่สะท้อนภาพลักษณ์คนหลงบทบาท-หน้าที่” และกำลังนำสังคมให้หลงทางและหลงผิด คิดเสพตามแฟชั่นหลงตัวตนนั้น...หรือไม่”




บทความจากผู้จัดการออนไลน์
Create Date :07 พฤษภาคม 2551 Last Update :7 พฤษภาคม 2551 0:13:24 น. Counter : Pageviews. Comments :4