bloggang.com mainmenu search








28 พฤศจิกายน 2559










หนังสือเล่มที่ผมอ่านในวันนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนอมตะเรื่องหนึ่งของโลกเลย มีชื่อเรื่องว่า “การเดินทางของกัลลิเวอร์” (Gulliver’s Travels) ที่เขียนโดยนักเขียนอังกฤษผู้มีนามว่า โจนาธาน สวิฟต์ เล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน แปลเป็นภาษาไทยโดย อัจฉรา ประดิษฐ์ วาดภาพประกอบโดย ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์

หลายท่านคงจำภาพการผจญภัยของกัลลิเวอร์ได้ ที่เป็นภาพคนนอนอยู่แล้วโดนคนตัวเล็กๆ ล้อมจับ โดยเอาเชือกเส้นเล็กๆ มัดตรึงตัวเขาไว้กับพื้น ผมเองก็จำได้ว่าเคยเห็นภาพนี้ตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว หรืออาจจะเคยได้ดูเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแล้วก็ได้ ซึ่งเมื่อผมได้มาอ่านเล่มนี้แล้วก็รู้เลยในทันทีว่าผมไม่เคยรู้เรื่องจริงๆ ของกัลลิเวอร์มาก่อน โดยจำได้แค่ภาพที่โดนจับเหมือนภาพในหน้าปกเล่มนี้เท่านั้น

เมื่อผมได้อ่าน “การเดินทางของกัลลิเวอร์” แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะจัดประเภทอยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชนเลย เพราะว่าเรื่องราวในเรื่องนั้นมีความซับซ้อนในนัยยะมากเกินกว่าที่เด็กจะเข้าใจได้ อีกทั้งเนื้อเองก็ค่อนข้างยาวและบทพรรณาในส่วนใหญ่ค่อนข้างอืดอาดและดำเนินเรื่องช้ามาก ผมอยากจะจัดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องแฟนตาซีที่ดีสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า  เพราะผู้เขียนจงใจเขียนให้เป็นเรื่องในแนวเสียดสี  ซึ่งเชื่อว่าผู้ใหญ่น่าจะอ่านแล้วเข้าใจได้มากกว่าเด็กๆ อ่าน



“ หลายคนยกย่องให้ “การเดินทางของกัลลิเวอร์” เป็นวรรณกรรมเสียดสีที่ลุ่มลึกที่สุดเล่มหนึ่งของโลก ที่สะท้อนภาพความเป็นจริงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การเมือง ฯลฯ ไว้ตลอดเส้นทางที่กัลลิเวอร์ไป ซึ่งใจความสำคัญเหล่านี้ยังคงมีค่าและมีพลังสะกิดให้คนอ่านได้ตะหนักถึงความเป็นจริงบางอย่างในสังคมมาได้จนถึงทุกวันนี้”

จาก คำนำสำนักพิมพ์



จากคำนำสำนักพิมพ์ที่ผมยกมาข้างต้นนี้จะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเสียดสีที่ลุ่มลึกที่สุด โดยความลุ่มลึกของการเสียดสีนี้เองที่เด็กอ่านแล้วไม่น่าจะเข้าใจได้ หรือไม่น่าจะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงที่ผู้เขียนต้องการจะบอกได้ ส่วนที่ว่าเป็นวรรณกรรมเสียดสีนั้นเป็นการเสียดสีความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีมองภาพสะท้อนของความเป็นมนุษย์ในลักษณะที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เป็นการลดทอนความรู้สึกของการเป็นคนลง โดยทำให้ดินแดนลึกลับที่กัลลิเวอร์เดินทางไปนั้นมีลักษณะของความเป็นมนุษย์ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงในโลกนี้

คือต้องเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า เนื้อเรื่องหลักนั้นคือการเดินทางออกทะเลของศัลยแพทย์หนุ่มนามว่ากัลลิเวอร์ ชายผู้เสพติดการเดินทางท่องทะเลอย่างแท้จริง โดยในเรื่องแบ่งออกเป็น 4 ภาค ซึ่งแต่ละภาคเล่าถึงการเดินทางในแต่ละครั้งของเขา โดยเริ่มภาคแรกที่กัลลิเวอร์ออกทะเลแล้วเรือแตก เขาลอยไปติดยังดินแดนประหลาดแห่งหนึ่งที่มีแต่คนตัวจิ๋ว , ภาคที่สองเป็นการดินทางออกทะเลแล้วโดนลมมรสุมพัดไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก กัลลิเวอร์ขอติดเรือเล็กที่แล่นเข้าฝั่งเพื่อหาน้ำจืดแต่เขาต้องติดอยู่ในดินแดนนั้นลำพังกับมนุษย์ที่ตัวสูงใหญ่ราวกับยักษ์ , พอขึ้นภาคที่สามผมเริ่มคิดในใจว่า “มันยังกล้าออกทะเลอีกหรือเนี่ย?” ในภาคที่สามนี้กัลลิเวอร์ออกทะเลไปแล้วจับโจรสลัดปล้นเรือ พวกโจรสลัดนำเขาไปทิ้งไว้ยังเกาะแห่งหนึ่งซึ่งเป็นดินแดนลึกลับ ที่เกาะนี้เองกัลลิเวอร์เจอกับเกาะลอยฟ้า ใช่ครับ .. เกาะที่ลอยไปมาในอากาศได้ เกาะที่มีบ้านเมืองและมีคนอาศัยอยู่ ซึ่งเกาะที่ว่านี้ลอยได้ เขาได้เข้าไปผจญภัยบนเกาะลอยได้และดินแดนต่าง ๆ อีกมากมาย , พอขึ้นภาคที่สี่ซึ่งเป็นภาคสุดท้าย ผมก็สรุปเอาเองว่ากัลลิเวอร์เป็นพวกที่เสพติดการเดินทางท่องทะเลอย่างร้ายแรง เพราะยังกล้าออกทะเลอีก ในภาคนี้เขาโดนพวกลูกเรือทรยศโดยนำเขาไปปล่อยเกาะอีกเช่นเดิม ในเกาะประหลาดนี้เป็นดินแดนที่ถูกปกครองโดนม้า ใช่ครับ ... ม้าที่ร้อง ฮี้ๆ เหมือนม้าที่เรารู้จัก แต่ในดินแดนแห่งนี้ม้าเป็นสัตว์ประเสริฐที่พูดได้ มีความคิดและจิตใจงาม ส่วนสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์มนุษย์นั้นเป็นแค่สัตว์เลี้ยงของม้า

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่มีความแฟนตาซีสูงมาก โดยทั้งมนุษย์ตัวจิ๋ว , มนุษย์ตัวยักษ์ , คนในเกาะลอยฟ้า ม้าที่ปกครองเกาะ ฯลฯ  พวกนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากจินตนาการจของผู้เขียน โดยสร้างให้มีลักษณะตรงข้ามกับมนุษย์ เพื่อการเสียดสีความเป็นมนุษย์อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ โดยเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแฟนตาซีที่สนุกมาก เพราะในเรื่องมีความลุ่มลึกที่ต้องการตีความอยู่เยอะ เรื่องราวของการผจญภัยเป็นเรื่องที่น่าสนุกก็จริง แต่ในเนื้อเรื่องการผจญภัยจริงๆ คือการออกทะเลและการไปใช้ชีวิตให้อยู่รอดในดินแดนประหลาดทั้ง 4 ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วกัลลิเวอร์ก็สามารถรอดกลับมายังบ้านเกิดของตัวเองที่ประเทศอังกฤษได้ทุกครั้ง

สำหรับผมแล้วเรื่อง “การเดินทางของกัลลิเวอร์” นี้มีความน่าสนใจประการหนึ่งคือ เรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นเมื่อ 300 ปีที่แล้ว โดยเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1720 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเมื่อสามร้อยปีก่อนนี้ โจนาธาน สวิฟต์ จะเขียนเรื่องที่ล้อเลียนความเป็นมนุษย์ซึ่งแฝงไปกับการผจญภัยให้เราได้อ่านกัน โดยการมองความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ที่ผิดแปลกไปจากความเป็นจริงนี้เองที่ทำให้เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงและเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ 300 ปีที่แล้วจะมีคนที่จินตนาการเรื่องราวได้ล้ำเลิศขนาดนี้ ซึ่งดินแดนลึกลับทั้ง 4 แห่งในเรื่องนี้ เป็นดินแดนที่ไม่มีอยู่จริงและไม่อาจมีใครค้นพบได้ ถือว่าเป็นดินแดนแห่งเทพนิยายอย่างแท้จริง

หนังสือนวนิยายเรื่อง “การเดินทางของกัลลิเวอร์” เล่มที่อยู่ในมือผมนี้ เป็นฉบับพิมพ์เป็นครั้งแรก เดือนเมษายน 2558 โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ในเครืออมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ฉบับปกแข็ง ด้วยความหนา 630 หน้า ราคาปก 425 บาท (ผมคิดว่าน่าจะมีฉบับที่แปลโดยท่านอื่นอีกด้วย) ท่านใดที่ชอบอ่านแนวแฟนตาซีก็น่าจะลองหาเรื่องนี้มาอ่านดูนะครับ ถึงแม้ว่าเรื่องจะไม่สนุกมากตลอดเล่ม แต่ก็ถือว่าแปลกแหวกแนวเลิศล้ำจินตนาการไม่เหมือนใครแน่ครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือ และขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้นะครับ

สุขสันต์วันปีใหม่ 2560 ครับ

Create Date :28 ธันวาคม 2559 Last Update :28 ธันวาคม 2559 1:20:13 น. Counter : 17871 Pageviews. Comments :24