bloggang.com mainmenu search


26 กุมภาพันธ์ 2561











ผมมีโอกาสไปฟังเสวนาในหัวข้อ “คนไทย(ชอบ)อ่านอะไร?” ที่จัดโดยหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือกันให้มากขึ้น จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 เนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้น่าสนใจมาก ผมจึงจับประเด็นสำคัญที่ได้รับฟังเอามาเขียนนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านด้วย

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้ ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ผมก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ)

โดยวิทยากรผู้นำเสวนามี 3 ท่านคือ คุณอรรถ บุนนาค เจ้าของสำนักพิมพ์แปลเรื่องญี่ปุ่น JLIT และคุณโจ้กับคุณเน็ต จากร้านขายหนังสือออนไลน์ Readery


-เริ่มที่คุณอรรถ ใครที่บอกว่าวัยรุ่นไม่อ่านหนังสือนั้นไม่จริงเลย เพราะตัวเองทำสำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือให้แก่วัยรุ่น เชื่อว่าในยุคนี้วัยรุ่นมีโอกาสในการอ่านเยอะมากกว่าสมัยก่อน

-จากผลการสำรวจ คนที่ไม่อ่านหนังสือคือคนในวัยทำงานอายุระหว่าง 30-40 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยทำงาน กำลังทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว คนทำงานพอกลับมาบ้านก็เหนื่อยจนไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว

-ส่วนกลุ่มคนที่อ่านเยอะที่สุดอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 ปี และจะกลับมาอ่านหนังสือเยอะอีกครั้งก็เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว จนเมื่อถึงวัยเกษียณก็จะกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้นเช่นกัน

-เด็กในยุคนี้มีหนังสือให้อ่านเยอะมาก หลากหลายเยอะกว่าในสมัยก่อนมาก ในยุคสมัยนี้มีหนังสือแปลที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ จากการสำรวจเด็กมัธยมต้นบางคนเริ่มอ่านวรรณกรรมคลาสิคของโลกแล้ว โดยเมื่อเขาได้อ่านเรื่องแปลพวกนี้แล้วเขาชอบก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้เขาอยากไปหาต้นฉบับ(ภาษาต่างประเทศ)มาอ่านด้วย

-ที่น่าสนใจคือว่า วัยรุ่นอ่านคอนเทนต์ที่เป็นนิยายเยอะมาก แต่หนังสือในบ้านเราไม่ค่อยจะมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยรุ่นสักเท่าไหร่เลย คือในวงการหนังสือไทยยังขาดวรรณกรรมเยาวชนที่ดีๆ สำหรับให้เด็กวัยรุ่นอ่าน

-ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน ในสมัยที่คุณอรรถเป็นวัยรุ่น จะมีนิตยสาร “เธอกับฉัน” ที่ถือว่าเป็นหนังสือของวัยรุ่นในยุคนั้น มี “พจน์ อานนท์” เป็นบรรณาธิการ ในตัวนิตยสารมีเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของวัยรุ่น รวมทั้งมีนวนิยายวัยรุ่นที่ดีๆ หลายเรื่องด้วย แต่ในปัจจุบันในท้องตลาดไม่มีหนังสือในลักษณะนี้เลย

-สำหรับนิตยสาร “เธอกับฉัน” ในสมัยก่อนนั้นคงเรียกว่าเป็นสกุลไทยฉบับวัยรุ่นเลย เทียบเท่ากับนวนิยายที่โพสลงในเว็บสมัยนี้ เช่น เด็กดี , จอยลดา , ธัญวลัย , Storylog , ReadAWrite ฯลฯ เพียงแต่นิยายที่ลงในเว็บพวกนี้ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการเลย

-ในยุคนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าไปต่อว่าลูกเลย ในการที่ลูกเป็นติ่งโน้นติ่งนี้หรือชื่นชอบในสิ่งต่างๆ เพราะในสมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่ก็มีความรู้สึกเหมือนกับลูกๆ ในตอนนี้เช่นกัน เพียงแต่แสดงออกไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

-ถ้าถามว่าคนไทยอ่านอะไร? ตอบได้ว่าคนไทยก็อ่านคอนเทนต์ในแบบเดิมไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่ที่เปลี่ยนไปคือรายละเอียดต่างๆ ในคอนเทนต์นั้นๆ อย่างเช่นในสมัยก่อนยุคคุณพ่อคุณแม่อาจจะได้อ่านแต่นิยายรัก แต่รุ่นลูกในสมัยนี้เข้าได้อ่านเรื่องรักเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของเรื่องนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ในนิยายรักสมัยนี้อาจจะมีแฝงเรื่องสิทธิสตรีเอาไว้ด้วย ซึ่งนิยายในสมัยก่อนไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้มากนัก หรือปัจจุบันนี้มีเรื่องชายรักชายเป็นนิยายวาย เป็นแนวที่วัยรุ่นกำลังนิยมอ่านอยู่

-จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ในสมัยใหม่นี้มีความหลากหลายมากขึ้น คือมีแยกย่อยแตกออกไปเยอะ หรือมีเซ็กเม้นท์ (segment) มากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่นักเขียนดังจะครองตลาดอยู่ตลอด เรื่องราวหรือคอนเทนต์ต่างๆ ก็จะซ้ำไปซ้ำมาตลอด

-เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะเห็นว่า ในปัจจุบันนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่เหมือนว่าจะไม่มีคอนเทนต์อะไรให้อ่าน เพราะที่มีอยู่ในตลาดไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ ไม่ใช่เรื่องของวัยเขา หลายสำนักพิมพ์มองข้ามกลุ่มผู้อ่านสูงวัยนี้ไปเลย จะเห็นว่าไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนเลยที่ทำฟอนซ์(ลักษณะของตัวอักษร)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่คนแก่จะได้อ่านได้ บางครั้งตัวหนังสือที่เล็กเกินไปผู้ใหญ่ก็อ่านไม่ได้ ทำให้ความรื่นรมย์ในการอ่านลดน้อยลงไป

-ขอยกตัวอย่างนักเขียนดังที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้คือ ว.วินิจฉัยกุล อาจารย์วินิตามักจะใช้ทฤษฎีทางวรรณคดีมาใช้ในนวนิยายที่ท่านเขียนเยอะมาก อ่านแล้วจะเห็นว่าเรื่องราวปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้เรื่องเป็นสมัยใหม่มากขึ้น และช่วงหลังอาจารย์วินิตาพยายามเอาสังคมผู้สูงวัยเข้ามาใส่ไว้ในนวนิยายของท่านด้วย เช่นเรื่อง “จากฝัน สู่นิรันดร” คุณอรรถชื่นชมเป็นอย่างมาก

-นักเขียนต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้อ่านของเราคือใคร จะได้สร้างเรื่องได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านด้วย เช่นถ้าเป็นผู้อ่านกลุ่มมีอายุสักหน่อย ถ้าจะเขียนเรื่องรักก็อาจจะเป็นรักแบบพีเรียด(ย้อนยุค)ก็ได้

-ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า คอนเทนต์ของใครก็ของมัน ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของเด็ก จึงทำให้เด็กก็ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของผู้ใหญ่ด้วย ผู้ปกครองในสมัยนี้จึงควรต้องเปิดใจให้กว้าง ต้องยอมรับเรื่องราวของพวกเด็กๆ ด้วย ลองเข้าไปอ่านนิยายในเว็บดู อย่างที่ เด็กดี , จอยลดา , ธัญวลัย ฯลฯ ผู้ใหญ่อ่านแล้วอาจจะรู้สึกกรี๊ดกร๊าดบอกว่าอ่านไม่ได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าในสมัยก่อนคุณก็เคยอ่านนิยายประโลมโลกมาก่อน เคยต้องคลุมโปงแอบอ่านก็มี เพราะฉะนั้นอย่างไปว่าเด็กเลย













-คุณเน็ตเอาสถิติจากเว็บ Readery มาโชว์ให้ดูกัน กลุ่มลูกค้าประมาณ 60% เป็นกลุ่มคนอายุ 18-30 ปี โดยเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

-คุณเน็ตจะลองเอา 20 อันดับหนังสือขายดีในปี 2018 มาพูดให้เห็นว่าคนไทยชอบอ่านอะไร? โดยอันดับที่ 20 เป็นหนังสือชื่อ “วัสดุนิยม : เรื่องราวสุดทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” เล่มนี้เป็นหนังสือแปลที่พูดถึงสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยดูว่าใครเป็นคนค้นคิดหรือประดิษฐ์ขึ้นมา หรือผลิตอย่างไร เป็นมาอย่างไร เล่มนี้ขายดีเพราะมีกระแสป๊อปซายน์ (Pop Science) คือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุก

-ซึ่งปีที่แล้วหนังสือในแนวป๊อปซายน์นี้โตขึ้นเยอะมากเลย ป๊อปซายน์ (Pop Science) เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนเรา คือเอาวิทยาศาสตร์มาย่อยเพื่อเขียนให้อ่านสนุกและได้ความรู้ด้วย

-คุณโจ้เสริมว่า ปัจจุบันห้องสมุดควรจะต้องจัดหมวดหมู่หนังสือใหม่เลย เพราะมันมีแนวหนังสือที่เกิดใหม่เยอะมาก ควรจะสร้างแยกออกมาเป็นเซ็กเม้นท์ใหม่เลย

-หนังสือแนวป๊อปซายน์ (Pop Science) อีกเล่มที่น่าสนใจคือเรื่อง “ความงามแห่งฟิสิกส์” เล่มนี้เขียนเรื่องฟิสิกส์ให้เป็นภาษาแบบวรรณกรรมเลย คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเรื่องฟิสิกส์เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป แต่พอได้มาอ่านเล่มนี้แล้วจะรู้เลยว่ามันสนุกมาก อ่านแล้วมหัศจรรย์มาก ไม่คิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์จะเอามาเขียนได้สนุกขนาดนี้

-คุณโจ้เสริมว่า “ความงามแห่งฟิสิกส์” เล่มนี้อ่านสนุกมาก เพราะเขาใช้ภาษาแบบงานวรรณกรรมเลย เราจะอ่านเพื่อเป็นบันทึกประสบการณ์ชีวิตก็ได้ หรือจะอ่านเอาความรู้ก็ได้ หรือจะอ่านเอาความเพลิดเพลินก็ได้

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า ปัจจุบันร้านขายหนังสือมีปัญหาเรื่องการวางหนังสือเหมือนกัน เพราะว่าคนขายไม่ได้อ่านหนังสือ จึงไม่รู้อย่างแท้จริงว่าเล่มไหนควรอยู่ตรงไหน เล่มไหนอยู่ในหมวดไหนกันแน่ เท่าที่เคยพบก็คือ มีร้านหนังสือเอาหนังสือเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ไปวางไว้ในหมวดเกษตรกรรม

-คุณเน็ตบอกว่า สำหรับเรื่อง “ความงามแห่งฟิสิกส์” นี้ ทางสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส ได้เลือกคนแปล (สุนันทา วรรณสินธ์ เบล) ที่เคยแปลงานวรรณกรรมมาก่อนเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้ด้วย

-คุณเน็ตแนะนำต่อหนังสือขายดีอันดับที่ 19 ชื่อเรื่อง “อาทิตย์สิ้นแสง” เล่มนี้เป็นวรรณกรรมคลาสิคของญี่ปุ่นแปลโดยสำนักพิมพ์ JLIT ของคุณอรรถ

-คุณอรรถเสริมให้ว่า จริงๆ แล้วเรื่องแปลญี่ปุ่นเรื่องแรกของทาง JLIT คือเอง “สูญสิ้นความเป็นคน” คือคุณอรรถเคยได้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เคยได้อ่านวรรณกรรมคลาสิคของญี่ปุ่นซึ่งใช้ภาษาเหนือกว่างานทั่วไป จึงลองแปลเรื่องโดยตรงมาจากภาษาญี่ปุ่น แรกเลยมองเห็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะซื้อสักประมาณ 2,000 คน จึงพิมพ์ 2,000 เล่ม แต่เกิดขายดีขึ้นมา จนกลายเป็นกระแสอ่านงานญี่ปุ่น กลายเป็นซับคัลเจอร์ขึ้นมา โดยมาจากกลุ่มฮิปเตอร์เป็นหลักก่อน ประมาณว่า ขี่จักรยานมานั่งทำงานในร้านกาแฟ ใช้ชีวิตสโลไลฟ์













-เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่นที่อ่านหนังสือไม่ใช่กระแสหลัก พวกเขาจะสร้างซับคัลเจอร์ (Sub Culture) ขึ้นมา ในอนาคตกลุ่มนี้อาจจะกลายมาเป็นกลุ่มกระแสหลักก็ได้ จะเห็นว่าในปัจจุบันซับคัลเจอร์แนวฮิบเตอร์กำลังมาแรง กลุ่มคนพวกนี้พยายามจะย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีต กลุ่มนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เพิกเฉยต่อการเมือง ใช้ขีวิตอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก

-คุณโจ้เสริมในประเด็นนี้ว่า ดังนั้นถ้าถามว่าคนไทยชอบอ่านอะไร? ก็คงตอบได้ว่าคนไทยชอบอ่านหนังสือตามกระแส คือตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจบันจะอ่านตามกระแสเป็นหลัก ยุคก่อนอาจจะอ่านตามกระแสที่ละครกำลังออนแอร์ แต่ในยุคปัจจุบันมีกระแสต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและหลากหลายมากว่าเดิม

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า พอมีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ความชอบของคนก็เริ่มหลากหลายมากขึ้นด้วย คนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ชอบได้มากขึ้นและถี่มากกว่าแต่ก่อน ด้วยความที่เซ็กเม้นท์มันหลากหลายมากขึ้น คนก็จะเลือกอ่านตามแต่เรื่องที่ตัวเองชอบ ดังนั้นสำนักพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่ชัดเจนจึงจะอยู่ได้

-อย่างเช่น ถ้ามีนิยายที่ตัวละครเอกเป็นนักปักผ้า ปรากฎว่าตรงกับกลุ่มคนที่ชอบทำงานฝีมือหรืองานดร๊าฟพอดีเขาก็จะรีบซื้อเล่มนี้ทันทีเลย ปัจจุบันจะเห็นว่ามีสังคมกลุ่มปักผ้าเกิดขึ้นมา ยุคนี้เป็นยุคที่มีการสอนงานฝีมือกันเยอะ สอนการปักผ้าก็มีเยอะด้วย การที่มีปากกาเขียนผ้าออกมาจำหน่าย คนกลุ่มนี้ก็จะชอบใจมาก ส่วนคนอื่นทั่วไปก็จะไม่เข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้เลย

-คุณโจ้ ให้คำตอบเดียวกันกับคุณอรรถว่า ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือตามสิ่งที่เขาขอบ

-คุณอรรถ บอกว่าคนไทยยังอ่านอยู่ คนไทยยังอ่านคอนเทนต์อยู่เสมอ ทุกคนอ่านคอนเทนต์ตามรสนิยมของตัวเอง ตามความชื่นชอบของตัวเอง ถึงแม้มันจะหลากหลายขึ้นแต่มันก็ยังมีความชอบส่วนตัวอยู่

-คุณเน็ตไล่อันดับหนังสือขายดีที่เป็นเรื่องแปลญี่ปุ่นให้ฟังต่อ อันดับที่ 19 คือ “อาทิตย์สิ้นแสง” อันดับที่ 14 คือเรื่อง “พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน” เล่มนี้เป็นเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องที่พิเศษมาก ต้องลองไปหาอ่านกันดู , อีกเรื่องคือ “ดวงดาวแห่งเงามืด” และเรื่อง “ฆาตกรรบนเนิน D” สรุปว่าในอันดับหนังสือขายดีมีกระแสหนังสือแปลญี่ปุ่น 5 เรื่อง

-เมื่อปีสองปีที่แล้วมีกระแสการอ่านอย่างหนึ่งมาจากทางเกาหลี คือกระแส “จินยองอ่าน” ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเรื่องทางการตลาด หรือเป็นเรื่องของความชื่นชอบของติ่งจริงๆ แต่ปรากฎว่ามันเป็นกระแสการอ่านที่แรงมาก เป็นโมเดลรักการอ่านจากดาราไอดอลเกาหลีที่ชื่อจินยอง โดยเขาจะถือหนังสืออยู่ในมือตลอดเวลา พวกติ่งทั้งหลายก็จะไปสืบค้นมาว่าจินยองอ่านหนังสือเรื่องใดบ้าง พวกติ่งจะได้ไปหาซื้อมาอ่านบ้าง กระแสจินยองอ่านนี้ทำให้สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งได้ผลพลอยได้ตามไปด้วย

-คุณอรรถขอเสริมในประเด็นกระแส “จินยองอ่าน” ว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเด็กวัยรุ่นไทยจึงไปตามอ่านวรรณกรรมที่จินยองอ่าน เพราะว่าบางเล่มมันไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน อย่างเช่นเรื่อง “โลลิต้า” เห็นเด็กเข้ามาตามหาซื้อแล้วก็ตกใจว่าเด็กจะอ่านเรื่องแบบนี้เหรอ?

-แต่พอลองตามไปดูในทวิเตอร์ของเด็กพวกนี้ เด็กที่ซื้อเรื่อง “โลลิต้า” ไปปรากฎว่าพวกเขาอ่านกันจริง อ่านแล้วพวกเขาเอามาวิพากษ์กันได้ว่า ตรงไหนชอบไม่ชอบอย่างไร ก็แสดงว่าพวกเขาซื้อไปแล้วอ่านจริง ก็ดีเหมือนกันในแง่ที่ว่า เด็กเขาอ่านแล้วจะได้รู้ว่าตัวเองชอบแนวไหน? หรือว่าไม่ชอบแนวไหน? ไม่ต้องตามกระแสไปทั้งหมดก็ได้

-คุณอรรถ พูดเรื่องแปลญี่ปุ่น “สูญสิ้นความเป็นคน” ว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันมืดมนมากๆ เลย เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ตอนแรกที่จะจัดพิมพ์ก็กลัวเหมือนกันว่าคนจะไม่อ่าน แต่ปรากฎว่ามีคนที่เป็นโรคซึมศร้าซื้อไปอ่านเยอะ คนพวกนี้บอกว่าตัวละครฆ่าตัวตายแทนเขาไปแล้ว เขาอ่านแล้วรู้ซึ้งและเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดี เราในฐานะผู้จัดพิมพ์ก็รู้สึกดีใจกับเขาด้วย

-ถามว่าทำไมกระแสเรื่องญี่ปุ่นกลับมาได้ในบ้านเรา ต้องบอกว่าเดิมมันมีกระแสอยู่แล้ว โดยคนไทยชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนมังงะ ฯลฯ เพราะการ์ตูนเป็นสิ่งที่คนรับได้ง่าย เป็นสิ่งที่คนเข้าใจได้ง่าย คนไทยอ่านการ์ตูนโดเรม่อน เห็นสภาพบ้านของโนบีตะ เห็นห้องนอนของโนบีตะ เห็นภาพการกินอาหารของคนญี่ปุ่น ฯลฯ ทำไห้คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมพื้นฐานของญี่ปุ่นผ่านทางการ์ตูนพวกนี้ ทำให้พอมีกระแสญี่ปุ่นเกิดขึ้นคนไทยจึงอ่านตามกันได้เยอะ

-คุณเน็ต บอกว่าจริงๆ แล้วมีกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาหาซื้อเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ไปอ่านกันเยอะ เพราะว่าเขารู้จักเล่มนี้มาจากสื่ออื่นแล้ว

-คุณอรรถ ให้ความเห็นว่า คนไทยชอบความยุ่มแยะ (น่อนเทส) ชอบความขยะแขยงแย่ๆ เช่นในสมัยก่อนจะมีนิตยสารข่าวอาชญากรรม ที่มีภาพศพ ภาพคนตาย ฯลฯ คนไทยชอบอะไรแบบนี้ ในยุคหนึ่งจึงมีคนไทยตามอ่านเรื่องผีของ “สรจักร” กันเยอะมาก

-คนไทยมีความสวยงามอยู่ข้างหน้า แต่ซ่อนความยุ่มแยะไว้ข้างหลัง คนไทยชอบเรื่องผี ชอบเรื่องแย่ๆ ชอบเรื่องคนทะเลาะกัน ชอบเรื่องศพ ฯลฯ คุณอรรถมีคุณแม่ที่เป็นคนญี่ปุ่นซึ่งรับไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง คือการรดน้ำศพ คนญี่ปุ่นไม่ชอบไปเห็นศพเลย แต่คนไทยจัดทำกันเป็นพิธีตรองอย่างดีเลย จึงกลายเป็นว่า คนไทยมีข้อแก้ตัวที่สวยหรูในเรื่องแบบนี้

-คุณเน็ตกลับไปที่หนังสือขายดีต่อ สำหรับเรื่องไทยที่เจอในอันดับหนังสือขายดีเป็นหนังสือที่อยู่ในกลุ่มวรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่กลุ่มกระแสหลักที่เป็นเรื่องรัก โดยมีอยู่สองเรื่องคือ “ร่างของปรารถนา” กับเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา”

-คุณเน็ตขอพูดถึงนิยายไทยที่กำลังขายดีในตอนนี้ โดยเฉพาะที่เป็นนิยายชายรักชายหรือนิยายวายที่ไปขายได้ในไต้หวัน เมื่อสัปดาห์ทีผ่านมามีงานไต้หวันบุ๊คแฟร์ เห็นมีนิยายวายจากไทยกำลังไปได้ดีในตลาดไต้หวันคือเรื่องในชุดโซตัส “SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” และเรื่องในชุด “เดือนเกี้ยวเดือน” ซึ่งนิยายวายจากไทยนี้กำลังได้รับความนิยมมาก ส่วนในไทยก็เห็นว่ากำลังจะทำเป็นละครโทรทัศน์เหมือนกัน

--คุณอรรถให้ความเห็นว่า สำหรับนิยายวายนี้ส่วนใหญ่คนเสพจะเป็นผู้หญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสาว และเห็นผู้หญิงอายุ 40 ขึ้นไปก็เสพนิยายวายเหมือนกัน ยิ่งเขาอายุเยอะเท่าไหร่เขายิ่งชอบนิยายวาย เพราะว่าในยุคของเขาไม่มีให้อ่าน แต่ในยุคปัจจุบันมันโผล่ขึ้นมาอยู่บนดินให้อ่านกันได้อย่างเปิดเผย เคยรู้จักสาวสายหวานคนหนึ่ง สายหวานประมาณแนวแฟชั่นวีคเลย พอเธอได้มาอ่านนิยายวายกลับชอบมาก จากคนที่ไม่เคยมีความเข้าใจเรื่องวายมาก่อน แต่พอเธออ่านแล้วรู้สึกอินมาก แสดงว่านิยายวายมันเป็นเรื่องที่โรแมนติคมาก

-คุณเน็ตให้ความเห็นเสริมว่า นักเขียนรางวัลซีไรท์คนล่าสุด “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” ก็เขียนนิยายแนวชายรักชายด้วย โดยเธอใช้นามปากกาในการเขียนนิยายวายว่า “ร.เรือในมหาสมุท” มีผลงานนิยายวายเรื่อง “วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย” และเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่” มีวางขายอยู่ใน Readery ด้วย

-คุณอรรถให้ความคิดเห็นต่อในประเด็นนี้ว่า สำหรับนิยายวายเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่” นี้ถือเป็นการตั้งชื่อเรื่องที่ดีที่สุดแห่งปีเลย เพราะชื่อเรื่องมีความหมายอยากให้รีบเปิดหนังสืออ่านเลย และเท่าที่ได้อ่านผลงานของ “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” อ่านแล้วก็ต้องขอชื่นชมว่าเธอเขียนได้ดีมาก เรื่องดีเลยไม่ใช่ไก่กานะ มีการวางโครงเรื่องดี สำนวนการเขียนดี มีวรรณศิลป์ที่ดีเยี่ยมด้วย สมแล้วกับที่เธอได้รางวัลซีไรท์

-คุณเน็ตเล่าต่อว่า ปัจจุบันนี้เริ่มมีกระแสที่มองหานักเขียนซึ่งเขียนนิยายวายหรือนิยายออนไลน์อยู่ตามเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเป็นนักเขียนที่พอมีฝีมือดี มีทักษะการเขียนที่ใช้ได้ ทางสำนักพิมพ์จะดึงนักเขียนพวกที่พอมีแววเหล่านี้ให้มาเขียนงานวรรณกรรมที่ดีๆ เพราะเชื่อว่าสามารถสร้างนักเขียนที่เก่งขึ้นมาได้ และนักเขียนเหล่านี้มีกลุ่มแฟนคลับที่คอยติดตามผลงานอยู่แล้วด้วย

-คุณอรรถช่วยเสริมว่า นักเขียนญี่ปุ่นคนที่ได้รางวัลโนเบลคนล่าสุด แต่เดิมเขาก็เคยเขียนนิยายพาฝันมาก่อนเหมือนกัน ก่อนจะหันมาเขียนงานวรรณกรรมที่หนักขึ้น ซึ่งแพล็ตเทิร์นของนักเขียนแบบนี้ในญี่ปุ่นมีเยอะ สำหรับในไทยถ้าเริ่มมีให้เห็นในลักษณะแบบนี้บ้างก็น่าจะดี

-คุณโจ้ออกความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากที่เห็นผลงานเรื่อง “สิงโหนอกคอก” ของจิดานันท์ได้รางวัลซีไรท์ และหนังสือขายดีขึ้น เริ่มจะมองเห็นว่าอาจจะใกล้ถึงยุคที่ไม่มีกระแสหลักแล้วก็ได้ คือคนไม่ได้สนใจอ่านแต่เรื่องรักอย่างเดียวแล้ว คนอ่านมองหาเรื่องที่แสดงความหมายเชิงอุดมคติมากขึ้น

-คุณอรรถบอกว่า ปัจจุบันเป็นยุคอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกไร้พรมแดนแล้ว เอาของจากประเทศหนึ่งไปขายให้อีกประเทศหนึ่งนั้นกลายเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าคนอ่านชอบอ่านแนวไหนเขาก็จะหาแนวนั้นมาอ่าน และเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือจริงๆ ยังต้องการซื้อสิ่งพิมพ์อยู่ (ยังซื้อหนังสือเล่มอยู่) เพราะหนังสือเล่มจะเป็นหลักฐานยืนยันให้คนอื่นรู้ได้ว่า เขาชอบในสิ่งนั้นจริงๆ เขาเป็นติ่งของแนวนั้นจริงๆ

-สังเกตดูได้ ถ้าหนังสือเรื่องใดที่ฮิตเป็นที่นิยม จะมีการทำของที่ระลึกที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น เช่น กระเป๋า แก้วน้ำ เสื้อยืด ฯลฯ ของที่ระลึกพวกนี้จะขายพร้อมกับหนังสือเล่มเลย แล้วก็ขายดีด้วย เพราะสิ่งที่เป็นแบบเก่าเป็นอะนาล็อคคนก็ยังซื้ออยู่ เนื่องจากสิ่งที่เป็นดิจิทัลมันจับต้องไม่ได้ มันหยิบมาอวดกันซึ่งๆ หน้าไม่ได้

-หนังสือเล่มให้สัมผัสที่มากกว่า บางคนอ่านหนังสือแล้วชอบดมกลิ่นหนังสือด้วย บางคนชอบจับหนังสือให้กระชับมือเวลาอ่าน บางคนชอบกัดปลายมุมหนังสือก็มี ยิ่งหนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วฟินมากปลายมุมหนังสือก็จะอร่อยมากตามไปด้วย












-คุณเน็ตช่วยเสริมในประเด็นนี้ว่า การซื้อหนังสือจากร้านออนไลน์ลูกค้าจะไม่ได้จับหนังสือ ไม่มีโอกาสได้ลองเปิดอ่านดูก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นการออกแบบปกจึงกลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อหนังสือทางออนไลน์ จะเห็นว่าในปัจจุบันนี้สำนักพิมพ์เริ่มให้ความสำคัญกับผู้ออกแบบปกมากขึ้น เพราะการที่ปกสวยอาจทำให้ขายได้ดีขึ้น การออกแบบปก ออกแบบฟอนซ์(ลักษณะตัวอักษร)หน้าปกก็สำคัญ

-ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการประกวดการออกแบบปกหนังสือเยอะขึ้น อย่างในบ้านเราในงานหนังสือครั้งก่อนก็มีการประกวดปกหนังสือ บางสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญมาก อย่างสำนักพิมพ์มติชนออกแบบหนังสือชุดนักรบ (ชุดวิถีแห่งอำนาจ จากตัวละครจีน) ออกแบบได้สวยมาก เห็นแล้วอยากซื้อหนังสือเพื่อเก็บสะสมเลย

-และข้อสำคัญอีกประการสำหรับการออกแบบปกคือ ปัจจุบันนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มเข้ามาทำการตลาดในโซเซียลกันเยอะมาก ปกหนังสือที่สวยและดึงดูดสายตาจึงได้เปรียบในการโพสโชว์ภาพปกให้คนอ่านเห็น

-คุณโจ้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันจะมีนักออกแบบปกที่มีชื่อเสียง โดยคนพวกนี้จะเป็นศิลปินมาก่อน ถ้าเขาออกแบบปกไหนจะมีชื่อบอกไว้ที่บนหน้าปกคู่กับชื่อหนังสือเลย มีผลทำให้คนที่ชื่นชอบผลงานของคนออกแบบปกจะตัดสินใจซื้อในทันทีเช่นกัน โดยนักออกแบบปกดังๆ ที่ในบ้านเรารู้จักดีส่วนใหญ่อยู่ในไต้หวัน

-คุณอรรถ พูดถึงการออกแบบปกแล้วอยากพูดถึงนักวาดการ์ตูนไทย โดยคิดว่านักวาดการ์ตูนไทยเป็นชาติที่สร้างคอนเทนต์ได้ดีมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา คือมีรากฐานในการสร้างเรื่องเหมือนกัน ไม่ใช่จะโผล่มาลอยๆ คือมีการสร้างตัวละครที่ชัดเจน บอกว่าตัวละครใดอยู่ในราศรีใดด้วย และสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน อย่างนักวาดการ์ตูนที่ชื่อ วิมล ของแจ่มใส ถ้าเขามาวาดภาพปกหนังสือเล่มไหน เล่มนั้นจะขายดีมากๆ เลย












-กลับมาที่คุณเน็ตมาพูดถึงหนังสือขายดีต่อ โดยเล่มที่น่าสนใจเป็นหนังสือฮาวทูแนวเลี้ยงลูก เป็นหนังสือชุดเลี้ยงลูกของคุณหมอ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่เคยทำนิยตสาร “รักลูก” ซึ่งมีหลายเล่มมากและขายดีทุกเล่ม หนังสือแนวนี้เรียกว่ากระแสแนว EF (Executive Functions: ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ) คือเป็นเรื่องที่ใหม่กว่า IQ และ EQ เพราะว่า EF คือการพัฒนาสมองในรอบด้าน คือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วย จะฉลาดหรือเก่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว หนังสือในแนวนี้พ่อแม่มักจะซื้อเอาไว้เป็นคู่มือสำหรับการเลี้ยงลูก คือถ้ามีลูกก็จะซื้อแน่ๆ ส่วนจะอ่านหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง

-คุณอรรถออกความคิดเห็นว่า ปัจจุบันนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายพยายามจะหาสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ลูก การหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกหรือกระแสแนว EF นี้ก็ใช่ คือทุกวันนี้เนื้อหาที่อยู่ในโลกออนไลน์มันไม่ได้ว่าจะถูกต้องเสมอไป สิ่งต่างๆ ที่โพสลงในออนไลน์มันไม่น่าเชื่อถือเท่าการหาข้อมูลจากหนังสือ จึงทำให้หนังสือแนวนี้ยังขายได้ดีอยู่เสมอ

-คุณเน็ตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่อง EF ปัจจุบันกลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงเหมือนกัน คุณหมอประเสริฐเปิดเพจของตัวเองทางเฟสบุ๊ค เป็นการสร้างแบรนด์ของคุณหมอประเสริฐเองว่าเป็นฐานความรู้ในเรื่องนี้ มีคนที่ติดตามข้อมูลอยู่มาก พอมีหนังสือของคุณหมอประเสริฐออกมาคุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามก็จะซื้อตลอด

-คุณโจ้พูดถึงในประเด็นนี้ว่า เอาไปเทียบกับการขายอีบุ๊คได้เลย ที่อีบุ๊คมักจะมีเรื่องให้คนอ่านฟรีก่อนแล้วค่อยขายหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ขายได้ดีด้วย เหมือนที่คุณหมอประเสริฐเปิดเพจให้คนสนใจอ่านข้อมูลฟรี พอคุณหมอประเสริฐเอาข้อมูลเหล่านั้นที่เคยเผยแพร่แล้วมารวมเล่มก็ยังขายได้ ยังมีคนซื้ออยู่เช่นกัน

-คุณเน็ตบอกถึงหนังสือขายดีต่อ ในกลุ่มที่ขายดีอีกแนวคือกลุ่มวรรณกรรมแปล เล่มที่ขายดีคือ “เนินนางวีนัส” , “หิมะ” และ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” โดยสองเล่มหลังนี้เป็นแม่เหล็กสำคัญของสำนักพิมพ์มติชนเลย

-คุณอรรถขอพูดถึงประเด็นที่มีคนบอกว่า ดิจิทัลจะมาทำลายล้างสิ่งเก่าๆ นั้นคุณอรรถเห็นว่าไม่จริงเสมอไป เพราะในวันนี้มีแนวโน้มว่าจะต้านกลับแล้ว อย่างในไทยตอนนี้คนหันมาสนใจงานดราฟ์มากขึ้น งานประดิษฐ์ประดอยงานการฝีมือมีคนสนใจมากขึ้น ปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีเปิดสอนกันมากด้วย แสดงว่าคนเริ่มหันมาสนใจอะนาล็อกมากกว่าเดิมแล้ว เริ่มชอบแนววินเทจ (Vintage) มากขึ้น

-อย่างในสมัยก่อนจะทำวิทยานิพนธ์สักเรื่องก็หาข้อมูลยากจัง ต้องหาคีย์เวิร์ดเพื่อไปค้นบัตรรายการในห้องสมุด เพื่อหาหนังสือที่มีข้อมูลที่เราต้องการ แต่ยุคใหม่มันง่ายเกินไป แค่เข้ากูเกิ้ลก็ค้นได้แล้ว พอนานๆ เข้าคนรุ่นใหม่เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว ยุคดิจิทัลมันไม่ได้ใช้จิตนาการเลย มันไม่น่าจะดีแล้ว คนรุ่นใหม่จึงหันกลับไปโหยหาอดีตมากขึ้น

-คุณเน็ตช่วยเสริมข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ร้านขายหนังสือในอเมริกามีอยู่แห่งหนึ่ง ที่มีเครื่องพิมพ์ดีดไว้ให้ลูกค้าได้ลองพิมพ์บทกวีของตัวเอง ทุกวันนี้เครื่องพิมพ์ดีดใช้กันน้อยมาก คนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยใช้เครื่องพิมพ์ดีดเลยด้วย อาจจะไม่รู้จักว่า “ปัดแคร่” คืออะไรด้วย คนรุ่นใหม่จึงไปเข้าร้านนี้มาก ถือว่าเป็นการตลาดในรูปแบบของการย้อนหาอดีตได้ดี

-คุณโจ้บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคของกระแส เราสามารถสร้างกระแสขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องไปวิ่งตามคนอื่นตลอด ถ้าเรามีอะไรที่วิเศษกว่าคนอื่น หรือเรามีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น เราก็เอาสิ่งนั้นมาสร้างเป็นกระแสได้ เมื่อเรารู้ว่าเรามีอะไรดี เราก็ควรเอามาอวดคนอื่นจะได้เป็นการสร้างกระแสขึ้นมาได้

-คุณเน็ตบอกว่า อย่างปีที่ผ่านมีสำนักพิมพ์หนึ่งที่พยายามสร้างกระแสจากเรื่อง “เจ้าชายน้อย” โดยมีการจัดพิมพ์ “การกลับมาของเจ้าชายหนุ่มน้อย” ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างกระแสขึ้นมาได้เช่นกัน

-มีหนังสือแปลจากภาษาเกาหลีเรื่อง “เศษเลี้ยวของเธอ” สร้างกระแสเกาหลีได้เหมือนกัน โดยเล่มนี้พิเศษตรงที่คนเขียนเป็นน้องร้องเพลงแร็ปชื่อดังของเกาหลีใต้ โดยเขาเคยเรียนการเขียนสร้างสรรค์มาก่อน จึงเอางานที่เคยเขียนส่งอาจารย์มารวมเล่มขาย แต่งานเขียนของเขาถือว่าดีมากเลยขายได้

-คุณโจ้บอกว่า คนไทยชอบอ่านหนังสือตามกระแส อย่างตอนนี้ถ้าให้ “เฌอปรางค์” วง BNK48 ถือหนังสือเล่มไหนสักเล่ม ถ้าพวกโอตะ(แฟนคลับ)ของเธอเห็น คงไปตามหาซื้อหนังสือกันถล่มทลายแน่ๆ

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า กระแส BNK48 จริงๆแล้วกระแสแบบนี้เคยมีมานานแล้ว ถือว่าเป็นกระแสที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาแล้ว เอามาสร้างเป็นกระแสใหม่ เป็นการทำซ้ำๆ ที่คนไทยชอบ เป็นการสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ แต่เนื้อหายังคงเดิม

-คุณโจ้ตั้งคำถามให้อีกสองท่านลองตอบว่า คิดว่าในปี 2018 นี้กระแสอะไรน่าจะมาบ้าง?

-คุณเน็ต บอกว่าตอนนี้มีนิยายจีนอยู่เล่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจ คือรูปแบบการเขียนมันมาจากข้อความที่เคยเขียนไว้ในทวิเตอร์ โดยทั้งหมดเขียนเรื่องรัก เอามารวมเป็นเล่ม ในประเทศจีนขายได้ถึง 3 ล้านเล่ม ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก แต่ในไทยรูปแบบนี้ก็เคยมีคนทำแล้ว (ชาติ กอบกิตติก็เคยทำ)

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมการอ่านในมือถือของญี่ปุ่นกำลังมาแรง คือเป็นนิยายที่กระทัดรัดสามารถอ่านได้จบทางมือถือในหนึ่งฝ่ามือ ปัจจุบันนี้ไม่อยากให้อะไรก็ตามยาวกว่า 1 Feed ของจอมือถือเลย ถ้าเป็นแบบนี้ได้ คนก็สามารถนั่งอ่าบนรถไฟตอนเช้าได้

-รวมทั้งนิยายในรูปแบบใหม่ที่มีการผสมเอาภาพอีโมจิชั่นลงไปรวมกับเนื้อเรื่องด้วย หรือใช้ภาพสื่อความหมายแทน เพื่อให้เรื่องราวมันกระชัดมากขึ้น

-สำหรับคุณโจ้คิดว่าในปีนี้กระแสที่น่าจะมาคือ แนววรรณกรรมคลาสิคหลัก น่าจะมีหลายสำนักพิมพ์ออกหนังสือในแนวนี้ออกมาเยอะมากแน่ๆ

-คุณโจ้คิดว่าคนไทยยังชอบอ่านนิยายจากนักเขียนไทยอยู่ ถึงแม้ว่ากระแสการอ่านเรื่องแปลจะมาแรงก็ตาม เป็นเพราะว่านักเขียนดังๆ ที่เคยมีฝีมือปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะลงสนามเขียนเรื่องใหม่ให้เห็นกันเท่าไหร่เลย มีแต่นักเขียนรุ่นใหม่สำนวนอ่อนหัดที่อาจจะยังไม่ถึงขั้น คนจึงหนีไปอ่านเรื่องแปลกันหมด อยากให้นักเขียนอาวุโสของไทยกลับมาเขียนเรื่องกันเยอะๆ อยากให้นักเขียนเหล่านี้ได้รับการชื่นชมมากกว่านี้

-คุณอรรถเสริมว่า ถึงแม้จะอ่านหนังสือแปลกันเยอะ แต่ก็ยังอยากอ่านเรื่องแปลจากนักแปลรุ่นเก่าที่ใช้สำนวนดั้งเดิมอยู่ สำนวนเก่าพวกนี้น่าสนใจมีความงดงามในตัว อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองอ่านสำนวนเก่าเหล่านี้ดูบ้าง

-คุณโจ้คิดว่า กระแสบทกวีน่าจะกลับมาได้อีกครั้ง โดยเฉพาะบทกวีที่เกิดขึ้นในโซเซียลทั้งหลาย ในอินตราแกรม ในเฟสบุ๊ค ในไลน์ ฯลฯ ในเมืองนอกกำลังฮิตกันมาก ในการโพสภาพแล้วเขียนแคบชั่นเป็นบทกวี ซึ่งในไทยน่าจะมาได้เหมือนกัน

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า น่าจะมีกระแสการเก็บกลับมา คือของเก่าที่งดงามน่าจะกลับมาได้อีกครั้ง ในสมัยก่อนมีการเขียนกลอนเปล่ากันเยอะ ในยุคใยไหม พวกสำนวนหวานๆ แบบนี้น่าจะกลับมาเป็นกระแสได้อีกครั้ง บอกได้เลยว่างานที่ทำมือ งานแฮนด์เมคก็น่าจะกลับมาเป็นกระแสด้วย

-แนวสยองขวัญก็น่าจะกลับมาเป็นกระแสได้อีกครั้ง คนไทยชอบเรื่องสยองขวัญ เรื่องผี อาจจะมีสรจักรคนใหม่เกิดขึ้นมาก็ได้ คอนเทนต์ที่เป็นเรื่องผีวัยรุ่นอย่างที่ GTH เคยทำ พวก สี่แพร่ง ห้าแพร่ง น่าจะขายได้ดีอยู่

-คุณโจ้บอกว่า ตอนนี้ทางสำนักพิมพ์แจ่มใสกำลังเอาภาพยนต์ทั้งหมดของ GTH มาเขียนใหม่ให้กลายเป็นนวนิยายทั้งหมด พวกติ่ง GTH เตรียมรอซื้อกันได้เลย

-คุณอรรถคิดว่ากระแสที่เป็น โนเวลไลฟ์ (novel-life) น่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ โนเวลไลฟ์คือเรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนซึ่งอ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจ อ่านแล้วสุขใจ ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในญี่ปุ่น

-ในญี่ปุ่นมีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นโนเวลไลฟ์ คือเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สหกรณ์คนหนึ่ง ที่จะต้องคอยตอบคำถามให้แก่นักศึกษาที่มาซื้อของในสหกรณ์ เช่นนักศึกษาเขียนโน๊ตถามว่า ทำไมไม่มีปากกาเมจิควิเศษขาย? เจ้าหน้าที่คนนี้ก็จะเขียนตอบด้วยวิธีการแปลกๆ หรือสำนวนแปลกๆ ซึ่งเป็นที่ชอบใจของนักศึกษามาก นักศึกษาต้องคอยมาอ่านคำตอบที่เขาเขียน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น จนมีการเอาคำถามคำตอบเหล่านั้นมารวมเล่มขายได้

-อย่างในบ้านเราอาจจะจุดกระแสบรรณารักษ์ขึ้นมาก็ได้ ประมาณว่าตามติดชีวิตบรรณารักษ์ ดูว่าวันๆ เขาทำอะไรบ้าง? เขากินอย่างไร? ทำงานอย่างไร? หรือคนในอาชีพอื่นที่น่าสนใจ พวกนี้เอามาสร้างเป็นโนเวลไลฟ์ได้เช่นกัน











Create Date :26 กุมภาพันธ์ 2561 Last Update :26 กุมภาพันธ์ 2561 11:05:00 น. Counter : 3581 Pageviews. Comments :9